รายชื่อพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดสองพี่น้อง

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดสองพี่น้อง ก่อตั้งโดยพระครูปลัดมงคล เขมจาโร เจ้าอาวาส ร่วมกับชาวบ้าน โดยใช้กุฏิเจ้าอาวาสหลังเก่าจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้วัดและชุมชนได้เก็บรวบรวมข้าวของ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของชุมชนไว้จำนวนหนึ่ง ตั้งวางรวมกันไว้บนกุฏิ ยังไม่ได้จัดแบ่งหมวดหมู่หรือจัดแสดงแต่อย่างใด วัตถุที่น่าสนใจอาทิ เหรียญหลวงปู่เหม้น อดีตเจ้าอาวาสที่ชาวบ้านศรัทธา นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน อาทิ ปาหยะ เป็นมีดพร้าอย่างหนึ่ง ใช้ถากหญ้า บอกขนมจีนทำจากโลหะประเภททองเหลือง เนียงหรือไหทรงสูง คนโบราณจะใช้เนียงใส่น้ำไว้ดื่มหรือใส่วัตถุดิบอื่นๆ ถ้าใส่ข้าวสาร เรียก เนียงสาร ใส่หมากแช่ เรียก เนียงหมาก เป็นต้น

จ. สงขลา

พิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว

วัดปรางแก้ว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2429 โดยพระครูวิสุทธิโมลี เจ้าคณะเมืองเป็นผู้ขนานนามวัดให้ ที่ดินสร้างวัดนั้น เดิมเป็นของขุนจำนง, นางปราง, ขุนปรีชา, นางจันทร์ ในการสร้างวัดมีพระอธิการคงแก้ว แห่งวัดบางศาลาได้มาเป็นประธานนำสร้างวัด ชาวบ้านมักเรียกนามวัดตามชื่อบ้านว่า “วัดบ้านพร้าว” วัดปรางแก้วได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2442 มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2507 นอกจากนี้ยังได้จัดสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นในวัดเมื่อ พ.ศ.2496 พระครูสุตรัตนคุณ(อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน) ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดปรางแก้ว ไว้ใต้พระอุโบสถหลังใหม่ ข้าวของที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นสมบัติวัดแต่เดิม ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่บริจาคให้แก่วัด เช่น เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบ เครื่องมือทำมาหากิน เครื่องลายคราม เครื่องประดับ และเครื่องยาสมุนไพรสำหรับใช้ปรุงยาพรหมประสิทธิ์

จ. สงขลา

พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล นายอรุณ แก้วสัตยา

นายอรุณ แก้วสัตยา เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถในเชิงช่าง ศิลปะ และการแสดงหลายแขนงของภาคใต้ เชี่ยวชาญด้านการแกะรูปหนังตะลุง งานแกะสลักแทงหยวก งานปรุกระดาษลายไทย การทำหีบศพโบราณ และด้วยความสนใจด้านการแสดงโนรา จึงศึกษาเรื่องเครื่องแต่งกายโนราแบบโบราณ มีความสามารถประดิษฐ์เครื่องแต่งกายโนรา พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล นายอรุณ แก้วสัตยา นำเสนอของสะสมท่านเจ้าของ ทั้งเครื่องแต่งกายโนราที่ของสืบทอดจากบรรพบุรุษ ศาสตราวุธของภาคใต้ ที่นายอรุณได้รับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ และจากการสะสมด้วยความชื่นชอบ เช่น กริช มีดบาดิก มีดอ้ายครก มีดชะน็อก มีดชายธง มีดอ้ายเชียง มีดอ้ายเด้ง มีดเดือยไก่ มีดแกะโผ้ มีดบาแดะ(ประแดะ) มีดอ้ายเคียง(มลายู) ฯลฯ

จ. สงขลา

พิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้า

วัดนางเหล้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ วัดนางเหล้าเป็นวัดเก่าแก่ของสงขลา ตามประวัติสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2225 โดยมีอุบาสิกาชื่อนางลาว บริจาคที่ดินและสร้างวัด เดิมชื่อวัดนางลาว ตามชื่อผู้บริจาคที่ดินและสร้างวัด ต่อมาเรียกชื่อเพี้ยนเป็นวัดนางเหล้า พิพิธภัณฑ์วัดนางเหล้าก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2553 ตามโครงการพัฒนาหอวัฒนธรรมนิทัศน์ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมตำบลชุมพล ที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของชุมชนอย่างครบวงจร ประกอบด้วย ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนด้านศิลปะ การประกอบอาชีพทางวัฒนธรรม และโบราณคดี พิพิธภัณฑ์อยู่ใต้ฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ของวัด ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่ได้รับบริจาคจากคนในท้องถิ่น อาทิ รางบดยาโบราณอายุกว่า 100 ปี กระดานชนวน เสื่อคล้าเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นภาคใต้ที่ได้นำเอาเปลือกของต้นคล้าที่มีในชุมชนมาสานเป็นสาดคล้า กบเซาะร่องไม้ ม้าหั่นยาเส้น ส่วนที่สองเป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9

จ. สงขลา

เรือนมยุรา

เรือนมยุราเป็นบ้านเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีนบนเกาะยอ จังหวัดสงขลา เรือนมยุราเป็นของนายแง่ง และนางยกคุ่ย แซ่ตัน สร้างเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ลักษณะเป็นเรือนไทยยกพื้น หลังคาจั่ว 2 หลัง มีนอกชานคั่นกลาง เสาเรือนไม้วางบนโคนเสา หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ เรือนมยุราตั้งอยู่บนพื้นที่สวนผลไม้และยางพารา มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ อยู่ติดถนนเส้นทางหลัก ด้านทิศตะวันออกของเกาะยอ ในอดีตชุมชนบริเวณนี้ มีการทำเครื่องปั้นดินเผาใช้กันเอง มีเตาทุเรียงสำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาอยู่บริเวณริมทะเลเยื้องกับที่ตั้งของเรือนมยุรา เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรือนมยุราส่วนหนึ่งก็มาจากเตาเผาบนเกาะยอนี่เอง นอกเหนือจากตัวเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นที่น่าสนใจแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงบนเรือนสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเกาะยออย่างน่าสนใจมีอยู่หลายชิ้น อาทิ ก้อต้า หรือ ภาชนะสำหรับใส่ยาสูบและอุปกรณ์การมวนยาสูบ เชี่ยนหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูรับรองแขกของคนโบราณที่นิยมกินหมากกัน เนียงเกาะยอ เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำมาจากดินเหนียว ที่มีการยุบตัวลงขณะที่อยู่ในเตาเผา หมอน้อย หรือ หมอนนมไม้ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการนวด นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายเก่าของครอบครัวที่เห็นบรรยากาศของเกาะยอในอดีต และบางภาพสะท้อนวิถีชีวิตของคนเกาะยอ และแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของสงขลาเมื่อครั้งอดีต

จ. สงขลา

พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง วัดคูเต่า

วัดคูเต่าเป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มริมคลองใกล้ทะเลสาบสงขลา อาคารเสนาสนะต่างๆ ทั้งอุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญที่มีสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น ได้รับการอนุรักษ์และบูรณะจากวัดและคนในชุมชนอย่างดีจนได้รับรางวัลจากทั้งยูเนสโก และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่มาของพิพิธภัณฑ์ เกิดจากการที่วัดคูเต่าได้รับงบประมาณจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2558 ในการบูรณะกุฏิหลังเก่าที่อยู่หน้าโรงธรรมของพ่อท่านหนู อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3 และมีกุฏิยาวอีก 2 หลัง เดิมปลูกสร้างบริเวณหน้าลานโรงธรรม และได้ย้ายมาตั้งคู่กันใกล้ทางเข้าวัด กุฏิหลังดังกล่าวเป็นกุฏิที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย พระครูปราโมทย์สมกิจ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เห็นว่าควรทำเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของคนลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง จึงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยได้รับความเห็นชอบจากทั้งคณะกรรมการวัด และคนในชุมชนมีส่วนร่วมเข้ามบริจาคเงินเพื่อจัดทำ การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติวัดคูเต่า และแสดงถึงวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ผ่านข้าวของเครื่องใช้ท้องถิ่นและภาพถ่ายเก่า อาทิ เครื่องโรยเส้นขนมลา/ฝอยทอง กระเชอ ไม้ตะพด กระต่ายขูดมะพร้าว

จ. สงขลา

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ ใช้อาคารที่ว่าการอำเภอรัตภูมิหลังเก่าเป็นสถานที่จัดแสดง พิพิธภัณฑ์ริเริ่มจากสภาวัฒนธรรมอำเภอรัตภูมิและชมรมฯ ที่เห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมอาคารที่ว่าการอำเภอรัตภูมิหลังเก่า ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ เคยเป็นศูนย์บริหารราชการของอำเภอรัตภูมิมาอย่างยาวนาน ครั้งเวลาผ่านมาหลายสิบปี ที่ว่าการอำเภอหลังดังกล่าวทรุดโทรมลง นายอำเภอขณะนั้นเห็นว่าควรแทงจำหน่ายและรื้อถอน แต่หลังจากหารือกันหลายฝ่ายแล้ว อำเภอจึงมีมติให้คงสภาพเดิมไว้ พร้อมทั้งบูรณะให้ดีขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความประทับใจ ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้ให้โอกาสมาประทับ ณ สถานที่แห่งนั้น เมื่อครั้งเสด็จประพาส ภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2502 มีหลักฐานเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ ประทับยืนที่หน้ามุขของที่ว่าการอำเภอสมัยนั้นว่า “ที่ว่าการอำเภอรัตตภูมิ” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของอำเภอรัตภูมิ การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เป็นหลักแล้ว ยังมีวัตถุวัฒนธรรมที่ได้รับบริจาคจากคนในท้องถิ่นและแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนรัตภูมิ อาทิ หวูดให้สัญญาณเสียงของพ่อค้าขายหมูในอำเภอ กล้องถ่ายภาพขาวดำจากร้านถ่ายภาพแห่งเดียวในอำเภอ ตะเกียงเจ้าพายุ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ

จ. สงขลา

พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก

การถวายมาลัยข้าวตอกเป็นพุทธบูชาในประเพณีบุญเดือนสาม ถือเป็นงานบุญยิ่งใหญ่ของชาวอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เรียกว่าประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จัดขึ้นในช่วงวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี โดยชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมาคั่วในหม้อดิน ได้ข้าวตอกสีขาวนวลใช้แทนดอกมณฑารพ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ นำข้าวตอกไปร้อยเป็นพวงมาลัยสาย ก่อนนำมาตกแต่งให้สวยงามเป็นมาลัยขนาดใหญ่หลากหลายรูปแบบ เมื่อถวายพระแล้ว จะนำไปเก็บไว้ที่ศาลาการเปรียญของวัดและบางส่วนนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก ที่อยู่ภายในวัดหอก่อง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก ตั้งอยู่ภายในวัดหอก่อง ต้องการให้เป็นสถานที่เรียนรู้และส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของตำบลฟ้าหยาด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด สนับสนุนงบประมาณก่อตั้งโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร ภายในจัดแสดงตัวอย่างมาลัยข้าวตอกที่งดงามตระการตาฝีมือชั้นครู

จ. ยโสธร

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดหัวเตย

วัดหัวเตย เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดพัทลุง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มริมฝั่งคลองกั้นเขตระหว่างพัทลุงกับสงขลา คลองสายนี้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในอดีต มีชุมชนจีนตั้งอยู่ริมน้ำไม่ไกล ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งที่มีคนถวายและสมบัติวัดแต่เดิมมีจำนวนมากในวัด อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง สำริด ภายหลังวัดลดความสำคัญลง บางช่วงขาดเจ้าอาวาส เป็นเหตุให้สิ่งของดังกล่าวสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2546 พระปลัดสันทัด ปภสฺสโร (พระครูประภัสร์ธรรมวาที) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ให้ความสำคัญกับสมบัติเก่าแก่ของวัดมาก จึงได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ทางสถาบันทักษิณคดีศึกษา จังหวัดสงขลา ได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ เช่น การลงทะเบียนวัตถุโบราณ การจัดแสดงวัตถุโบราณ การอนุรักษ์วัตถุโบราณ การให้ความรู้ ข้อมูลวัตถุโบราณ การจัดอบรมมัคคุเทศก์ ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะรองรับผู้เยี่ยมชมมากขึ้น เมื่อชาวบ้านเห็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนของวัดมีความมั่นคง จึงได้นำวัตถุโบราณที่ตนเก็บรักษาอยู่มาถวายไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดเพิ่มมากขึ้น ทำให้วัตถุที่มีจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์มีจำนวนมากขึ้นและน่าสนใจในการศึกษาต่อไป

จ. พัทลุง

พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด

พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนจัดทำโดยคุณวราภรณ์ อ๋องเซ่ง ทายาทของโนราเติม บอกเล่าเรื่องราวของสายตระกูลโนราเติม โนราหนูวิน โนราหนูวาด สองศรีภริยาของโนราเติม โนราเติมหรือที่คนใต้เรียกว่าโนราเติม เมืองตรัง เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการขับกลอนมุตโตหรือกลอนสด ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพถ่ายหายากของโนราเติม วิน วาด แลละชาวคณะมโนราห์เติม วิน วาด ในอดีต ตลอดจนวัตถุสิ่งของที่โนราเติมใช้แสดงโนรา เทริดและซุมเทริดอายุกว่า 100 ปี ชุดสากลชุดโปรดของโนราเติม ชุดโนราหนูวิน โนราหนูวาด อันเป็นเอกลักษณ์ของสายตระกูลโนราเติม วัน วาด ตลอดจนผลงานเสียงที่โนราเติมได้ขับไว้หลายวาระที่ล้วนมีคุณค่าในด้านการใช้ภาษาถิ่นใต้ได้อย่างงดงาม

จ. สงขลา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสังกัดกรมศิลปากร แต่เดิมนั้นคือพิพิธภัณฑ์เขื่อนขุนด่านปราการชล ที่ก่อตั้งขึ้นจากแนวพระราชดําริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมาพิพิธภัณฑ์มีสภาพทรุดโทรม สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ หรือ กปร. และกรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารและการจัดแสดงภายใน ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามพิพิธภัณฑ์ใหม่ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนก ชลพัฒน์” มีความหมายว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจําจังหวัดนครนายก ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พัฒนาการ ชลประทานของจังหวัด ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ แบ่งนิทรรศการออกเป็น 4 ส่วน ตามอาคารจัดแสดง 4 อาคาร ได้แก่ อาคาร 1 ปฐมบทการสร้างเขื่อนขุนด่าน อาคาร 2 อดีตชลประทานถึงเขื่อนขุนด่านปราการชล อาคาร 3 พระบารมีปกเกล้าชาวนครนายก อาคาร 4 น้อมสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ

จ. นครนายก

พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราช

ตลอดเวลาร้อยกว่าปี ศัลยศาสตร์ศิริราช เป็นศูนย์รวมหมอผ่าตัดระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รับรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจำนวนมาก เพาะบ่มศัลยแพทย์มามากกว่า 1,000 คน ปัจจุบัน ศัลยศาสตร์ศิริราชประกอบด้วยสาขาวิชามากที่สุดถึง 10 สาขา ได้แก่ สาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม สาขากุมารศัลยศาสตร์ สาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือด สาขาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ สาขาประสาทศัลยศาสตร์ สาขาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา สาขาศัลยศาสตร์ฉุกเฉินและการบริบาลผู้ป่วยนอก สาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป สาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง และสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราช จึงเกิดขึ้นในรูปโฉมใหม่ด้วยการจัดแสดงที่โดดเด่น ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ศัลยศาสตร์ในประเทศไทย สู่ยุคเทคโนโลยีขั้นสูง รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการผ่าตัดด้านต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์วงการศัลยกรรมไทย สู่โซนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของชุดผ่าตัด เครื่องมือและองค์ประกอบพื้นฐานของการผ่าตัด ภายในพิพิธภัณฑ์รวม สิ่งแสดงที่น่าสนใจกว่า 100 รายการ

จ. กรุงเทพมหานคร