พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดบ้านไร่


พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดบ้านไร่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2549 อันเนื่องมาจากโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน กระทรวงวัฒนธรรม ขณะนั้นนางเอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ ประธานสภาวัฒนธรรมประจำอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับแกนนำของชุมชนอย่างน้อยสองท่านคือ อาจารย์นวลสวาท นวลนพดล และนายแปลก ณ สงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้านของชุมชน ได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุของวัด และชาวบ้านได้บริจาคข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่วัดบ้านไร่ อันเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน วัตถุชิ้นสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำพิพิธภัณฑ์คือ “เรือแม่ทรัพย์” เป็นเรือไม้ที่ประวัติยาวนานคู่กับคนในชุมชน กระบอกขนมจีนทองเหลือง ที่มีอยู่ชิ้นเดียวในชุมชนที่ชาวบ้านต้องมาต่อคิวใช้งานจากวัด นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่เป็นของวัดแต่ดั้งเดิม อาทิ หนังสือบุด ยังมีวัตถุจำพวกเครื่องถ้วยกระเบื้อง โถเบญจรงค์ เครื่องแก้ว เครื่องทองเหลือง อีกจำนวนมาก

ที่อยู่:
วัดบ้านไร่ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 90130
โทรศัพท์:
074-300149, 081-2753135 (อาจารย์สุดสวาท นวลนพดล)
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
info@paching.go.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
ของเด่น:
เรือแม่ทรัพย์, เครื่องกระเบื้อง, บอกขนมจีน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดบ้านไร่

         พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดบ้านไร่  เริ่มก่อตั้งเมื่อปี  2549  อันเนื่องมาจากโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน กระทรวงวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นโดยมีสภาวัฒนธรรมประจำตำบล/อำเภอเป็นแกนนำ  ขณะนั้นนางเอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ ประธานสภาวัฒนธรรมประจำอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับแกนนำของชุมชนอย่างน้อยสองท่านคือ อาจารย์นวลสวาท นวลนพดล และนายแปลก ณ สงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้านของชุมชน ได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุของวัด และชาวบ้านได้บริจาคข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  โดยก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่วัดบ้านไร่ อันเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน   เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อ 13 เมษายน  2559  โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอจะนะ  ได้จัดกิจกรรมรวมกันนั่งเล่าเรื่องราวชุมชน ปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิดนำไปสู่การสืบค้นเรื่องราวการตั้งชุมชน ค้นหาบุคคลสำคัญที่พัฒนาต่อยอดรุ่นแล้วรุ่นเล่า     นำมาสู่กิจกรรมสืบโยชน์สาวย่านให้ลูกหลานมานั่งจัดทำผังเครือญาติในชุมชนนำไปสู่ความรักความผูกพันของคนในชุมชน หันมาสืบค้นเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนอย่างจริงจังจากโบราณวัตถุที่หลงเหลืออยู่

            วัตถุชิ้นสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำพิพิธภัณฑ์คือ “เรือแม่ทรัพย์” เป็นเรือไม้ที่ประวัติยาวนานคู่กับคนในชุมชน   เนื่องจากบ้านไร่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนโคก หน้าฝนน้ำท่วมจะรอบๆ ชุมชนเหลือหมู่บ้านเสมือนเป็นไข่แดง น้ำล้อมรอบถูกตัดจากชุมชนอื่นๆ หมดสิ้น  เรือแม่ทรัพย์ลำเดียวเท่านั้นที่ช่วยชาวบ้านให้ติดต่อกับภายนอก    ที่ออกหาอาหารและของใช้จำเป็น   ส่งคนป่วยฉุกเฉินไปสุขศาลาเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน  เรือแม่ทรัพย์เดินทางมายาวนาน บัดนี้ได้จอดสงบนิ่งแต่สง่างามบอกเล่าเรื่องราวชุมชนแก่ลูกหลานภายในพิพิธภัณฑ์          

          กระบอกขนมจีน ทำจากทองเหลือง  ซึ่งเป็นบอกขนมจีนที่มีอยู่อันเดียวในชุมชนที่ชาวบ้านต้องมาหยิบยืมจากวัด ทั้งนี้กระบอกขนมจีนถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อชุมชนเพราะการทำบุญเดือน 5 หรือทำบุญให้กับวิญญาณของบรรพบุรุษตามความเชื่อของคนในชุมชนถือเป็นภารกิจสำคัญมาก  และอาหารหลักสำคัญที่ทุกครอบครัวที่ต้องทำคือขนมจีน  ในอดีตนั้นบ้านไร่ทั้งหมู่บ้านมีกระบอกขนมจีนเพียงกระบอกเดียวทุกบ้านจึงมาทำรวมกันที่วัด  เข้าคิวกันยาวเหยียด  แต่ทุกคนก็ช่วยกันอย่างมีความสุข ปั้นแป้ง  ต้มแป้ง ตำแป้ง เหยียบ  ล้าง  และจับ   เป็นการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขเกิดความรักความสามัคคี  บอกขนมจีนวัดบ้านไร่มิเพียงรับใช้ชุมชนวัดบ้านไร่  เนื่องจากรอบ ๆ หมู่บ้านเป็นชุมชนมุสลิม ต่างพึ่งพาอาศัยกันตลอดมา เมื่อพี่น้องมุสลิมรอบ ๆ  ชุมชนมีงานที่ต้องทำขนมจีนต่างก็มาขอใช้  และนำขนมจีนมาถวายพระ ถือเป็นความงดงามของการอยู่ร่วมกัน แม้ปัจจุบันการหาซื้อขนมจีนสำเร็จรูปง่ายขึ้น การพึ่งพากันลดลงซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านของวิถีชุมชน  อย่างไรก็ตามความรักความผูกพันในอดีตยังคงไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีของคนสองศาสนาที่ชุมชนวัดบ้านไร่

          นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่เป็นของวัดแต่ดั้งเดิม อาทิ หนังสือบุด ซึ่งมีหลายเล่ม บันทึกเรื่องราวที่ต่างกันออกไป เช่น ที่บันทึกด้วยภาษาไทยโบราณ จะมี ตำราไหว้เจ้าที่  ตำราโหราศาสตร์  ตำรายา  ฯลฯ  ส่วนหนังสือบุดที่บันทึกด้วยภาษาขอมโบราณ จะมีเป็นบทสวด และตำราไสยศาสตร์  หนังสือบุดเหล่านี้เป็นของใคร  มีมาตั้งแต่  เมื่อไหร่ไม่มีผู้ทราบความเป็นมา   และยังมีวัตถุจำพวกเครื่องถ้วยกระเบื้อง โถเบญจรงค์ เครื่องแก้ว  เครื่องทองเหลือง อีกจำนวนมาก

 

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

ชื่อผู้แต่ง:
ประเสริฐ รักษ์วงศ์