บล็อก

“โปเกมอน โก” กับ “พิพิธภัณฑ์”

โพสต์เมื่อ 23 มกราคม 2562

ภาพจาก: http://www.pokemongo.com/             ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา กระแสการเล่นโปเกมอน โก (Pokemon Go) ในประเทศไทยได้แพร่ไปในกลุ่มคนเล่นเกม เด็ก นักเรียน นักศึกษา ไม่เว้นแต่คนในวัยทำงานอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างหันซ้าย หันขวา ก้มๆ หงายๆ ระหว่างมือถือ หรือแทบเล็ตกับพื้นที่ใกล้ตัวตลอดเวลา เพื่อตามจับตัวโปเกมอน (ซึ่งมีมากมายหลายแบบ) ให้เข้ามาอยู่ในความครอบครองของตัวเอง... สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นเกม (อย่างผู้เขียน) อาจจะเกิดความสงสัยว่า โปเกมอน โก คือ อะไร??? ทำไมกระแสการเล่นจึง hot hit ขนาดนี้ แล้วมีผลอะไรกับ “พิพิธภัณฑ์” บ้าง??? ทำไมพิพิธภัณฑ์บางแห่งถึงเชิญชวนให้ผู้คนเข้าไปไล่จับตัวโปเกมอนในพิพิธภัณฑ์  ขณะที่บางแห่งขึ้นป้ายห้ามเล่นเกมนี้ในพิพิธภัณฑ์...                โปเกมอน โก (Pokémon Go)เป็นเกมเสมือนจริง ที่ต้องเล่นผ่าน app บนเครื่องสมาร์ทโฟน (ไม่ว่าจะเป็นมือถือ หรือไอแพด) app จะช่วยให้ผู้เล่นสามารถแสวงหาตัว Pokémon ผ่านเลนส์กล้องของพวกเขา เมื่อ Pokémon ปรากฏขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้เล่นที่เปิด app ไว้จะได้รับสัญณาณเตือนว่า บริเวณนั้นมีโปเกมอนให้ “จับ” โดยผู้เล่นจะต้อง “ฝึกอบรม” ให้โปเกมอนของตัวเองมีความสามารถ (พลัง) นอกจากนี้ยังสามารถหา “ไข่” ที่มีคุณค่าเพื่อทำการ "ฟัก" ให้เป็นตัวโปเกมอนได้ด้วยการสะสมไมล์ (ระยะทาง) การเดินของผู้เล่น เกมนี้ยังช่วยให้ผู้เล่นสามารถส่งโปเกมอนของตัวเองออกไปต่อสู้กับโปเกมอนตัวอื่นได้ที่สนาม ที่เรียกว่า “ยิม” (Pokémon gym) ภาพจาก: http://www.pokemongo.com/             เนื่องจากโปเกมอนมีมากมายหลายตัว แล้วแต่ละตัวก็มีพลัง (ความสามารถ) แตกต่างกันไป ซึ่งคุณสมบัติของโปเกมอนก็จะสอดคล้องกับสถานที่ที่เหล่าผู้เล่นจะตามจับได้ เช่น โปเกมอนทั่วไปมักในพื้นที่ บ้านเรือนทั่วไปและมหาวิทยาลัย ส่วนโปเกมอนธาตุน้ำ มักจะเกิดในบริเวณพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะ/แม่น้ำต่างๆ (ไม่น่าแปลกใจ.. ที่น้ำพุตรงหน้าสยามพารากอน จึงมีผู้คนไปยืนจับโปเกมอนกันวุ่นวาย...) เหล่าโปเกมอน...ภาพจาก:  http://www.gamemonday.com/game-news/pokemon-go            ตัวอย่างสถานที่เกิดโปเกมอน ภาพจาก:  http://www.gamemonday.com/game-news/pokemon-go             ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เล่นเกมยังสามารถตามหาโปเกมอนพิเศษ (พลังพิเศษ) ได้ด้วย ซึ่งสถานที่เกิดก็จะแปลกประหลาด พิเศษกว่าสถานที่ธรรมดาทั่วไป อย่างเช่น โปเกมอนพลังจิต มักจะพบย่านที่พักอาศัยในเวลากลางคืนหรือโรงพยาบาล ส่วนโปเกมอนมังกรจะพบที่สนามกอล์ฟ หรือแลนด์มาร์คสำคัญ เป็นต้น       ตัวอย่างสถานที่เกิดโปเกมอนพิเศษภาพจาก:  http://www.gamemonday.com/game-news/pokemon-go                 ด้วยความหลากหลายของทั้งตัวโปเกมอนและคุณสมบัติ การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อจับจึงเป็นสิ่งที่คนเล่นเกมต้องการ ยิ่งมีการโพสว่า (สถาน)ที่แบบไหนจะจับตัวโปเกมอนอะไรได้ การเดินทางเพื่อออกตามหาโปเกมอนก็ยิ่งมีปริมาณความต้องการมากขึ้น ซึ่ง 1 ในสถานที่ยอดนิยมในการตามจับโปเกมอน ก็คือ “พิพิธภัณฑ์” และ “สถานที่ทางประวัติศาสตร์” พิพิธภัณฑ์ Gardinerภาพจาก: http://www.cbc.ca/beta/arts/                       the Art Gallery of Ontarioภาพจาก: http://www.cbc.ca/beta/arts/             จากกระแสความนิยมดังกล่าว ทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนที่อยู่ในแวดวงพิพิธภัณฑ์/ สถานที่ทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย จากการรวบรวมข่าว บทความจากสื่อออนไลน์ เราพบว่า พิพิธภัณฑ์ต่างมีแนวทางปฏิบัติมีต่อความฟีเวอร์ของเกมนี้ใน 3 แนวทาง คือ             1. ห้ามเล่นเด็ดขาด แนวทางนี้พบในพิพิธภัณฑ์/สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเก่าแก่ทางโบราณสถาน หรือจัดแสดงวัตถุชิ้นสำคัญ หรือมีการจัดแสดงเนื้อหาที่อ่อนไหว อย่าง พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา (The United States Holocaust Memorial Museum) หลังจากมีการโพสว่าพบ โปเกมอน “Koffing” ซึ่งเป็นโปเกมอนมลพิษในห้องจัดแสดงที่นำเสนอเรื่องราวของคนยิวผู้รอดชีวิตจากการรมควันพิษจากนาซี หลายต่อหลายคนเห็นว่า การปรากฎตัวของโปเกมอนตัวดังกล่าวในบริเวณนั้น เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะเท่ากับไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ที่บุคคลอื่นต้องพบเจอ (เหยื่อ) เรื่องที่โหดร้าย และสถานที่ที่แสดงถึงความทรงจำที่เจ็บปวด โปเกมอน Koffing ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภาพจาก: http://www.huffingtonpost.com/             เช่นเดียวกับอนุสรณ์สันติภาพฮิโระชิมะ (Hiroshima Peace Memorial) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “โดมปรมาณู” ที่ตั้งอยู่ในเมืองฮิโระชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ปลอดโปเกมอนอย่างแท้จริง เนื่องจากทั้งอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ และพิพิธภัณฑ์อนุสรณสถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้ทำหนังสือถึงบริษัทผู้พัฒนาเกมโปเกมอน โก ให้ช่วยนำเหล่าโปเกมอน และจุดโปเกมอน (Pokemon Stops) ออกจากสถานที่ดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทเกมก็ได้ดำเนินการให้จนสถานที่ทั้ง 2 แห่งเป็นเขตปลอดโปเกมอน             ขณะที่หลายแห่งในหลายประเทศเลือกที่จะขึ้นป้าย “ห้ามเล่น” เกมนี้ก่อนเข้าสถานที่ อย่างในประเทศอินเดีย  Vadodare historical Center ก็ประกาศห้ามเล่นเกมโปเกมอนภายในห้องจัดแสดงหลัก โดยให้เหตุผลเรื่อง ความปลอดภัยของผู้เข้าชมรายอื่นและศิลปะวัตถุที่จัดแสดง ภาพจาก: http://expressnewshub.com/vadodara-historical-center-bans-pokemon-go-premises/                               2. เล่นได้...แต่โปรดระวัง ในหลายพิพิธภัณฑ์เลือกที่จะไม่ห้าม แต่ขึ้นป้ายเตือนให้เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายโปรดใช้ความระมัดระวังขณะที่เดินเล่นเกม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้เล่น ผู้ชมรายอื่น และวัตถุที่จัดแสดง ภาพจาก: http://www.cbc.ca/beta/arts/                       ส่วนเหตุผลที่หลายพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ห้ามเกมโปเกมอน ก็เพราะเชื่อว่า เกมโปเกมอน โก มีส่วนทำให้พิพิธภัณฑ์มีจำนวนคนเข้าชมเพิ่มสูงขึ้น อย่างที่ Arkansas' Crystal Bridges Museum of American Artพบว่า มีจำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หลังจากทางพิพิธภัณฑ์อนุญาตให้เล่นเกมโปเกมอน โกในพิพิธภัณฑ์ได้ ขณะที่ The Morikami Museum & Japanese Gardens สหรัฐอเมริกา เป็นที่ที่มีจุดพัก (Pokemon Stops) ของโปเกมอนถึง 15 แห่ง พบว่ามีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นกว่า 25 % ในวันเดียว              ถึงแม้พิพิธภัณฑ์จะไม่มีป้ายส่งเสริมให้เล่นเกมโปเกมอนติดอย่างเป็นทางการ แต่การโพสภาพตัวโปเกมอนต่างๆ ที่พบในพิพิธภัณฑ์ ตามสื่อออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊ค (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) พร้อมกับติด “#PokemonGo” ก็เท่ากับพิพิธภัณฑ์เปิดโอกาส และเชิญชวนให้เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายสามารถเข้าไปเล่นเกมโปเกมอน โก ในพิพิธภัณฑ์ได้                                   ภาพจาก: https://twitter.com/artinstitutechi               ภาพจาก: https://twitter.com/museudeldisseny ภาพจาก: https://www.facebook.com/MsuIsanMuseum           3. จัดแพ็กเกจทัวร์ คือ ทางพิพิธภัณฑ์เป็นผู้จัดรอบ เปิดขายตั๋ว และอนุญาตให้เกมเมอร์สามารถเข้าไปจับโปเกมอนภายในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างเสรี แถมมีคนนำทางและชี้เป้าบอกตำแหน่งที่อยู่ของเหล่าโปเกมอน แนวทางนี้ต่างกับแนวปฏิบัติที่ 2 (เล่นได้ แต่โปรดระวัง) ตรงที่พิพิธภัณฑ์จะจัดรอบให้ผู้เล่นโดยเฉพาะ ขณะที่แนวปฏิบัติที่ 2 เป็นการแค่เปิดโอกาสให้เล่น แต่ต้องเล่นร่วมกับผู้ชมคนอื่นๆ             ตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ที่สามารถผสมผสานความต้องการในการเล่นเกมโปเกมอน โก กับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้อย่างลงตัว ก็คือ  พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน (Metropolitan Museum of Art- the Met) สหรัฐอเมริกา ที่มีการจัดแพ็กเกจทัวร์จับโปเกมอนอย่างเป็นรูปธรรม มีระบบการจองรอบ และจำหน่ายตั๋วอย่างเป็นทางการ สำหรับนักเล่นเกมที่ต้องการจับโปเกมอนที่ the Met จะต้องจ่ายคนละ 41 US.เป็นค่าตั๋ว เพื่อเข้าไปเล่นเกมในพิพิธภัณฑ์ภาพจาก: https://museumhack.com/pokemon/                ขั้นตอนในการจองตั๋วเพื่อตามจับโปเกมอนใน the Metภาพจาก: https://museumhack.com/pokemon/             เกมโปเกมอน โก เป็นเกมเสมือนจริงที่สร้างผลกระทบไปในทุกวงการ จากกระแสที่ได้รับความนิยมมาก ทำให้ทุกแวดวงต้องปรับตัวต่อกระแสดังกล่าวในหลากหลายรูปแบบ มีทั้งยอมรับ ส่งเสริม สนับสนุนห้ามปราม ขอร้อง หรือลงโทษ ตามแต่เหตุผลและรายละเอียดของแต่ละสถานที่ ดังนั้นก่อนที่เหล่าเกมเมอร์จะเดินออกจากที่ตั้งไปเพื่อตามจับโปเกมอน โปรดใส่ใจ ศึกษาและปฏิบัติตัวด้วยความ “เคารพ” นะคะ            โปรด “เคารพตัวเอง” ด้วยการไม่นำพาตัวเองไปเสี่ยง หรือกระทำการใดๆ ที่จะทำให้ตัวเองได้รับอันตราย “เคารพสถานที่” ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสถานที่นั้นอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของตัวท่านเอง และผู้อื่น ที่สำคัญอย่าลืม “เคารพซึ่งกันและกัน” ด้วยการไม่ละเมิดสิทธิ์ หรือสร้างความรำคาญให้ผู้อื่นขณะที่เราเล่นเกมนะคะ... ขอให้สนุกกับจับโปเกมอนค่ะ...   อ้างอิงhttp://www.pokemongo.com/  เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559http://www.gamemonday.com/game-news/pokemon-go  เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559https://museumhack.com/pokemon/  เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559http://www.thumbsticks.com/10-places-really-shouldnt-play-pokemon-go/  เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559http://dodeden.com/205494.html  เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559http://www.thaisohot.com/  เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559http://www.huffingtonpost.com/entry/pok%C3%A9mon-go-at-the-holocaust-museum_us_57854a05e4b03fc3ee4e4f94? เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2559http://www.cbc.ca/beta/arts/pok%C3%A9mon-go-is-invading-canadian-museums-so-how-are-they-responding-1.3681364  เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2559http://expressnewshub.com/vadodara-historical-center-bans-pokemon-go-premises/  เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2559http://www.businessinsider.com/pokemon-go-pokestops-removed-from-hiroshima-memorial-and-holocaust-museum-2016-8  เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2559 

UNITED STATES HOLOCAUST MEMORIAL MUSEUM : พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2562

หากนักท่องเที่ยวคนใดได้มีโอกาสไปเยือนกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา คงไม่พลาดที่จะแวะบริเวณพื้นที่ในย่าน National Mall เพราะมีสถานที่สำคัญๆ ของสหรัฐอเมริกาเรียงรายกันอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น อนุสาวรีย์วอชิงตัน (Washington Monument) อนุสาวรีย์ลินคอล์น (Lincoln Memorial)  รวมถึงพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institute) ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในย่าน National Mall นี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The United States Holocaust Memorial Museum) ซึ่งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ลินคอล์น (Lincoln Memorial) เพียงแค่ไม่กี่อึดใจ มีผู้กล่าวไว้ว่าหากผู้ใดได้มีโอกาสสัมผัสเรื่องราวของมนุษยชาติที่แสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เมื่อกลับออกไปแล้วจะไม่อาจลืมเรื่องราวเหล่านี้ได้อีกเลย พิพิธภัณฑ์ในยามเย็น สามารถมองเห็นอนุสาวรีย์วอชิงตันจากด้านหน้าฝั่งตรงข้ามของตึกในปี ค.ศ. 1979 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ประสงค์ให้มีสถานที่รำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นและมีการเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1993 โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดความเกลียดชังกันระหว่างมนุษย์ ป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านบทเรียนจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้ซึ่งมีผู้สังเวยชีวิตกว่าหกล้านคนทั่วโลก นิทรรศการแบ่งออกเป็นนิทรรศการถาวร นิทรรศการพิเศษ และนิทรรศการหมุนเวียน นิทรรศการถาวรกินเนื้อที่สามชั้นและถูกจัดแสดงอยู่ในทางด้านบนของพิพิธภัณฑ์ ส่วนนิทรรศการพิเศษและนิทรรศการหมุนเวียนนั้นกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ “The Tower of Faces” ที่จัดแสดงโฉมหน้าผู้เสียชีวิตใน Eishishokตั้งอยู่ระหว่างชั้นที่หนึ่งและสองของนิทรรศการถาวรใน “ชั้นเปิด” ซึ่งเป็นส่วนแรกของนิทรรศการถาวร ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของนาซีในช่วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 จนถึงช่วงสงครามโลกในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการปฏิบัติการต่างๆ ที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเวลาต่อมา นิทรรศการในชั้นนี้แสดงให้เห็นถึงเครื่องมือต่างๆ ที่รัฐบาลนาซีนำมาใช้ในการปฏิบัติการ โฆษณาชวนเชื่อ การขู่คุกคาม การสนับสนุนการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเป็นสิ่งใช้อธิบายสาเหตุว่าทำไมประชาชนจำนวนมากจึงหันมาสนับสนุนรัฐบาลในการต่อต้านชาวยิว นอกจากนี้ยังมีส่วนของห้องภาพยนตร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาที่ไปของแนวคิด Anti-Semitism ที่กระชับและเข้าใจง่าย รองเท้าจำนวนกว่า 4,000 คู่ ของชาวยิวที่ได้มาจากสถานกักกันใน Auschwitz-Birkenau และ  Majdanek ประเทศโปแลนด์ ที่ได้ยืมจาก The State Museum of Majdanek มาจัดแสดงชั้นต่อมาคือชั้น "คำตอบสุดท้าย" (ค.ศ. 1940 ถึง 1945)เป็นส่วนที่สองของนิทรรศการถาวรซึ่งนำเสนอเรื่องราวของปฏิบัติการของรัฐบาลนาซีตั้งแต่การแบ่งแยกชาวยิวออกจากประชากรที่เหลือ การสร้างกฎหมายเครื่องหมายพิเศษและการให้ชาวยิวย้ายถิ่นฐานไปยังสลัม มีการจัดแสดงการจลาจลในสลัมวอร์ซอ ไปจนถึงการลงมือฆ่าชาวยิวในสถานกักกันซึ่ง สภาพความโหดร้ายของค่ายกักกันและกระบวนการฆ่าภายในค่ายกักกันถูกนำเสนอผ่านแบบจำลองขนาดย่อมของค่ายกักกันและการจัดแสดงโรงนอนในค่ายกักกันที่ผู้เข้าชมสามารถสัมผัสเตียงที่เหยื่อชาวยิวและรับรู้ถึงบรรยากาศอันน่าหดหู่ภายในค่าย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงคำให้การของผู้รอดชีวิตจากสถานกักกันใน Auschwitz และเรื่องราวของแอนน์แฟรงก์เด็กน้อยชาวยิวเจ้าของเรื่องราวสมุดบันทึกที่ตราตรึงอยู่ในใจผู้คนทั่วโลก โมเดลจำลองการฆ่าชาวยิวในค่าย Auschwitzประกอบด้วยห้องต่างๆเช่น รมแก๊สพิษ และห้องเผาศพในชั้นที่สามซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของนิทรรศการถาวรได้ชื่อว่า “บทสุดท้าย” ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในปี ค.ศ. 1945 และปฏิบัติการของฝ่ายสัมพันธมิตรในการช่วยเหลือเหยื่อชาวยิวออกจากสถานกักกัน รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวการช่วยเหลือชาวยิวโดยคนเยอรมันเอง และคนจากชาติอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือโดยกลุ่มคนฝรั่งเศสใน Le Chambon-sur-Lignon ที่ให้ชาวยิวหลบซ่อนตัวจากพวกนาซีและหลบหนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์ได้ในที่สุด ภายในห้องจัดแสดง “From Memory to Action: Meeting the Challenge of Genocide”เมื่อเดินออกจากนิทรรศการถาวร ผู้เข้าชมจะเห็นทางเข้านิทรรศการพิเศษที่มีชื่อว่า From Memory to Action: Meeting the Challenge of Genocide ซึ่งมีเนื้อหาในการกระตุ้นเตือนผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในการนำบทเรียนนี้ไปใช้ในชีวิตจริง โดยให้ความรู้เกี่ยวกฎหมายว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตัวอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยังคงเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเช่นในประเทศรวันดาและซูดาน รวมถึงการตอบสนองต่อความรุนแรงที่พบเห็นโดยการเชิญชวนให้ผู้เข้าชมมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือ แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ และสร้างเครือข่ายการติดต่อทางออนไลน์ร่วมกันเพื่อแบ่งปันข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศต่างๆ ทางเข้าสู่นิทรรศการ “Remember the Children: Daniel’s Story” นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวพาเด็กและเยาวชนอายุ 8 ปีขึ้นไปมาด้วย สามารถเข้าชมห้องจัดแสดงพิเศษทางด้านขวามือของห้องโถงชั้นล่าง ชื่อว่า Remember the Children: Daniel’s Story ซึ่งเป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวจากบันทึกความทรงจำของเด็กชายชาวยิวคนหนึ่งชื่อ Daniel ที่เติบโตขึ้นมาในนาซีเยอรมนีระหว่าง 1933 และ 1945 นิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของผู้รอดชีวิตและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนี้ การนำเสนอนั้นไล่ตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ผ่านการตกแต่งห้องนิทรรศการที่จำลองเอาสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของสถานที่จริง ซึ่งทั้งภาพ เสียง และกลิ่นที่นำมาประกอบในการจัดแสดงทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกราวกับได้เดินทางผ่านช่วงเวลาต่างๆ ไปกับแดเนียล และเมื่อสุดปลายทางของนิทรรศการ นักท่องเที่ยวสามารถเขียนข้อความถึงแดเนียลซึ่งเป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้และในที่อื่นๆ ทั่วโลก  ภายในห้องจัดแสดง “A Dangerous Lie: The Protocols of the Elders of Zion” นอกจากนิทรรศการที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษอื่นๆ ที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์และบอกเล่าเรื่องราวผ่านบันทึกความทรงจำต่างๆของผู้คนที่อยู่ในช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายทั้งรูปถ่าย วิดีโอ สิ่งของ บันทึก และหลักฐานอื่นๆ ได้แก่ “Genocide: The Threat Continues” “Some Were Neighbors: Collaboration & Complicity in the Holocaust” และ “A Dangerous Lie: The Protocols of the Elders of Zion” รวมถึงส่วนของการจัดแสดงภาพระบายสีบนกระเบื้องที่ทำโดยเด็กๆ ชาวยิวที่ต้องการสื่อสารถึงความโศกเศร้าจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเรียกร้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกภาพระบายสีบนกระเบื้องโดยเด็กและเยาวชนชาวยิว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้มีผู้เข้าชมแล้วมากกว่า 38 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงผู้นำประเทศกว่า 96 ประเทศ และมีการนำเสนอในภาษาต่างๆกว่า 15 ภาษา การเข้าชมนั้นไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้เข้าชมจำนวนมากในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม นักท่องเที่ยวจึงควรมารับบัตรคิวล่วงหน้าที่พิพิธภัณฑ์หรือจองบัตรออนไลน์ทางเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อขอรับข้อมูลสำหรับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สามารถค้นได้ที่เว็บไซต์ http://www.ushmm.org/ ภาพประกอบจาก http://www.ushmm.org/

นกคุ่มทั้ง 7 ของวัดคลองแห

โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2562

 ช่วง ต้นเดือน (มีนาคม 2558) ที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปวัดคลองแห และเข้าชมศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห ที่ปรับปรุงจากแหล่งเรียนรู้เดิมของชุมชนมาเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ภายใต้โครงการ "ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช" ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ภายในจัดแสดงเรื่องราวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และประวัติความเป็นมาของชาวคลองแห ผ่านห้องจัดแสดงทั้ง 7 ห้องคือ (1) ห้องเฉลิมองค์ราชา (2) ธาราเล่าขาน (3) ตำนานฆ้องแห่ (4) ผันแปรสู่เมือง (5) รุ่งเรืองวัดคลองแห (6) เผยแพร่วัฒนธรรม และ (7) นำสู่อนาคตนอกจากวัดคลองแหจะมีพิพิธภัณฑ์ในร่ม (ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห) แล้ว ทางวัดยังมีพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็น เรือนภูมิปัญญาคลองแห สวนสมุนไพร ฝายดักขยะ และโคกหลังนกคุ่ม ให้คนที่ไปเที่ยวชมได้เรียนรู้เรื่องของชาวคลองแหในแง่มุมต่างๆ อย่างครบถ้วน และเพื่อให้การชมแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไม่น่าเบื่อจนเกินไป ทางวัดจึงได้นำเอาความเชื่อเรื่อง "นกคุ่ม" กับทรัพย์สมบัติในตำนานโคกหลังนกคุ่ม มาเป็นแนวคิดจัดทำ "ลายแทงขุมทรัพย์" ขึ้น โดยให้นกคุ่มตัวที่ 1 ถึงตัวที่ 7 ชี้ทางให้ผู้มีบุญค้นหาขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ภายในวัดคลองแห เมื่อตามได้จนครบ 7 ตัว ก็จะได้รับ "สมบัติ" (รางวัล) จากทางวัด+เมื่อมาถึงที่ มีหรือที่พวกเราจะพลาดการเดินตามลายแทงเพื่อหาสมบัติ คำใบ้ในการตามหานกคุ่มทั้ง 7 มาเป็นกลอนแปดด้วยภาษาสวยงาม (สมกับเป็นบ้านของศิลปิน- ครูหนังตะลุง ครูโนรา) อธิบายชื่อนก บอกพิกัดที่ตั้งของนกอย่างชาญฉลาด อย่างนกคุ่มตัวที่ 2 คำใบ้บอกว่า                             นกคุ่มตัวที่สองงามผ่องผุด                อยู่ห้องสุดที่ท้ายของปลายห้อง  "นำสู่อนาคต" ท้าทดลอง                                นาม "สกุณีคูหา" สง่างาม               ได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่น      ศิลปินภูมิปัญญาน่าเกรงขาม    มรดกตกทอดมาสง่างาม                               จงไปถาม "คามาวิหกหลง"  เดินลงไปนกคุ่มตัวที่ 1 และตัวที่ 2 ถ่ายรูปมาให้ดูด้วยว่า หน้าตาของนกคุ่มที่ต้องตามหาเป็นเช่นนี้... (แอบเฉลยให้) >.<                                    นกคุ่มตัวที่ 1 อยู่หน้าศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช                   นกคุ่มตัวที่ 2 อยู่ในศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ถ้าให้แต่คำใบ้ก็ดูจะโหดร้ายเกินไป ทางวัดจึงจัดทำแผนที่จุดที่นกคุ่มจะปรากฎกายให้ด้วย  ก็ (เช่นเคย) ถ่ายรูปมาฝาก ท่านที่จะตามหาก็สามารถอ่านคำใบ้และดูแผนที่ได้เลย แล้วก็จะพบกับสมบัติของวัดคลองแหที่แอบซ่อนไว้                                              คำใบ้ในลายแทง                                             แผนที่ขุมทรัพย์ ระหว่างที่ออกตามหาสมบัติก็มีคำถามว่า "ทำไมต้องนกคุ่ม??" "ใช่..นกคุ่มกันไฟที่คนนิยมตั้งบูชาที่หิ้งพระตามบ้านหรือไหม??" แล้วก็ได้คำตอบว่า "นกคุ่ม" ของวัดคลองแหมาจากตำนานโคกหลังนกคุ่ม ซึ่งสัมพันธ์กับประวัติความเป็นมาของคนคลองแหที่เป็นเรื่องเล่าๆ ต่อๆ กันมาว่า เมื่อครั้งที่จะมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองมะตะเลิง หรือ ตามพรลิงค์ (หรือเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองมลายู (กลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี) ต้องการเอาสมบัติ แก้ว แหวน เงิน ทอง ไปร่วมทำบุญ จึงได้ออกเดินทางพร้อมขบวนแห่ จนมาถึงบริเวณเนินสามเหลี่ยมที่คลองทั้งสองสายมาบรรจบกัน (วัดคลองแหในปัจจุบัน) ก็ทราบข่าวว่า งานบรรจุพระธาตุได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะที่เดินทางมาก็ไม่คิดจะนำสมบัติกลับ จึงฝังสมบัติไว้บริเวณเนินนั้น พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอถวายเป็นพุทธบูชา เช่นเดียวกับเครื่องดนตรีที่อยู่ในขบวนแห่ก็จมลงในคลอง จึงเป็นที่มาของชื่อคลองว่า "คลองฆ้องแห่" ต่อมาก็เพี้ยนตามกาลเวลาจนกลายเป็น "คลองแห" ในปัจจุบันส่วนบริเวณเนินที่ฝังสมบัติก็กลายเป็นกองดินสูงขึ้น มีรูปร่างคล้ายนกคุ่มที่กำลังนอนหมอบอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกกองดินดังกล่าวว่า "โคกหลังนกคุ่ม" และเชื่อว่า มีวิญญาณที่ชาวบ้านเรียกว่า "งูทวด" สิงสถิตคอยเฝ้าสมบัติอยู่   โคกหลังนกคุ่ม ที่อยู่ของนกคุ่มตัวที่ 6 นอกจากความเชื่อเรื่อง "โคกหลังนกคุ่ม" แล้ว นกคุ่มยังผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนบ้านคลองแหไม่น้อย เป็นทั้งอาหารและแหล่งรายได้ในการหาเลี้ยงชีพ อย่างที่พ่ออุดม เพ็ชรธนู บอกว่า "...เลี้ยงลูกมาจนโตได้ก็เพราะนกคุ่มนี่แหละ..." เพราะนอกจากจะหาไว้กินแล้ว ยังหาไปขายด้วย หลักฐานความรุ่งเรืองในการหานกคุ่มที่ปรากฎคือ "กรงดักนกคุ่ม" ที่สวยงาม ที่เมื่อก่อนมีกันทุกบ้าน เนื่องจากนกคุ่มเป็นนกขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายนกกระทา ชอบหากินที่พื้นดิน ดังนั้นกรงดักนกคุ่มจึงมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับกรงจับนกเขา แล้ววิธีดักก็จะนำไปวางตามพื้นดินแทนการแขวนบนต้นไม้ พ่ออุดมบอกว่า ปัจจุบันกรงดักนกคุ่มเหลือน้อยมาก เพราะไม่ค่อยมีนกให้ดักแล้ว ประกอบกับช่างทำกรงก็หายากเต็มที ดังนั้นศูนย์วัฒนธรรมฯ จึงนำกรงดักนกคุ่มมาจัดแสดงไว้ให้ลูกหลานได้เข้าใจว่า เมื่อก่อนนกคุ่มมีความสำคัญอย่างไรกับชีวิตคนคลองแห   กรงดักนกคุ่มที่จัดแสดงในศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห แน่นอนว่า ก่อนกลับ เราได้ "รางวัล" จากการตามหานกคุ่ม (หน้าบานกว่าเดิม...)  หลังจากพยายามเดินตามหาจนทั่ววัด เราพบว่า วิธีคิดให้ผู้ชมเล่นเกมส์เดินตามหานกคุ่มในลายแทงขุมทรัพย์นั้น เป็นแผนการอันแยบยลของคนคิดที่ทำให้ผู้เล่น (เรา) ได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญา ความเชื่อ ความศรัทธา ตลอดจนวิถีปฏิบัติของผู้คนชาวคลองแหได้อย่างสนุกสนานและไม่น่าเบื่อ แถมเป็นวิธีการนำเสนอ “ของดี” บ้านตัวเองอย่างพอดี คือ ไม่ยัดเหยียดให้ชมจนเกินไป ฉลาดมากๆ ค่ะ...ดังนั้นขอเชิญชวนนะคะ ถ้ามีโอกาสไปหาดใหญ่ สงขลา อย่าลืมแวะวัดคลองแหเพื่อตามหา "นกคุ่มทั้ง 7" แล้ว...ท่านจะพบกับ "สมบัติ" อย่างที่ใจปรารถนา ปล. เฉลยนกคุ่มให้แล้ว 2 ตัว ส่วน 5 ตัวที่เหลือ หน้าที่ท่านหาค่า.... ^^ภาพถ่ายโดย : เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์, จุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์

สรุปการประชุมวิชาการ เรื่อง “การเชื่อมโยงความรู้ : ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี”(2)

โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2562

วันที่สอง (30 พ.ค. 57) การบรรยาย เรื่อง “R/Evolutionary Opportunities for Subject Librarians” โดย Ms. Dianne  Cmor       Ms. Dianne Cmor บรรณารักษ์จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยนันยาง ประเทศสิงคโปร์ รับผิดชอบงานด้านพัฒนาห้องสมุด ตลอดจนสนับสนุนและดูแลบรรณารักษ์วิชาชีพเพื่อฝึกอบรมในการปฏิบัติการในต่างประเทศ มีความสนใจพิเศษด้านการวางแผนและจัดการห้องสมุดรวมทั้งการใช้และผลกระทบต่อทรัพยากรและบริการห้องสมุด       ทางด้านการพัฒนาบรรณารักษ์ให้เป็น Subject Librarians (บรรณารักษ์เฉพาะทาง จะเชี่ยวชาญสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ห้องสมุดทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีบรรณารักษ์เฉพาะทางด้านต่างๆ เช่น โลกศึกษา เอเซียศึกษา)  สิ่งแรกที่บรรณารักษ์ต้องทำคือการปรับเปลี่ยนมุมมอง หน้าที่ของบรรณารักษ์ไม่ได้มีแค่สนับสนุน และให้บริการด้านคอลเลคชั่นเท่านั้น แต่บรรณารักษ์ต้องคิดแทนผู้ใช้บริการ ว่าผู้ใช้บริการต้องการอะไรบ้าง บรรณารักษ์จึงต้องเป็นมากกว่าบรรณารักษ์เพราะต้องวิจัย สอน และเรียนรู้ไปด้วยกันกับผู้ใช้บริการ ดังนั้น Subject Librarians ในฝันจะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ คือ เป็นทั้งได้ที่ปรึกษาด้านการวิจัย เป็นผู้สอนและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ใช้บริการ เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารกับนักวิชาการได้อย่างเข้าใจ และต้องเป็นรอบรู้และเท่าทันเทคโนโลยี       Ms. Dianne กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การส่งเสริมให้บรรณารักษ์มีความสามารถเฉพาะด้านเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่งการบรรยาย เรื่อง “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง Academic Solution Provider” โดย ผศ.ดร. พิมพ์รำไพ  เปรมสมิทธ์ และ  รศ.ดร. พสุ เดชะรินทร์  ดำเนินรายการ โดย ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์       ผศ.ดร. พิมพ์รำไพ รักษาการแทนผู้อำนวยการสํานักงานวิทยทรัพยากรและ อาจารย์ประจําภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จฬุาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทของห้องสมุดในอนาคตว่า ห้องสมุดจะกลายเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างโลกแห่งความจริง กับโลกดิจิทัล เป็นสถานที่สำหรับสมาคม เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน แต่ไม่นานมานี้มีรายงานเรื่อง Academic Library Autopsy Report, 2050 ของ Brian T. Sullivan(ห้องสมุดจะตายใน ค.ศ. 2050)        - ต่อไปห้องสมุดจะไม่มีหนังสือ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะกลายเป็นดิจิทัลทั้งหมด        - ฐานข้อมูลจะเป็นเพิ่มขึ้น และใช้ง่ายขึ้น        - การเรียนการสอนวิชาบรรณารักษ์และสารสนเทศจะไม่มีอีกต่อไป        - บรรณารักษ์จะไปผนวก และผสมผสานกับฝ่ายเทคโนโลยี        - โต๊ะตอบ-ถาม ของบรรณารักษ์จะหายไป       รายงานฉบับหนึ่งสร้างกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในแวดวงของบรรณารักษ์ บ้างก็ว่าห้องสมุดไม่มีทางตายอย่างที่รายงานชิ้นนี้กล่าวไว้ บ้างก็ว่าห้องสมุดจะตายก่อน ค.ศ. 2050 ด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องแบบนี้บรรณารักษ์คนใดคงไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องจริง       แล้วห้องสมุดจะทำอย่างไรไม่ให้ตนเองต้องเป็นศพที่ถูกชันสูตร? ฉะนั้นห้องสมุดต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการประยุกต์แนวคิดและเทคโนโลยีเว็บ 2.0 และรูปแบบใหม่ของการบริการในห้องสมุด       เทคโนโลยีเว็บ 2.0 เป็นโปรแกรมที่มีลักษณะส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล การออกแบบที่เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง และการร่วมสร้างข้อมูลในโลกของอินเทอร์เน็ตเวิลด์ไวด์เว็บ เว็บไซต์ที่ออกแบบโดยใช้หลักการของเว็บ 2.0 ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานสามารถปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกันในลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ โดยกลุ่มผู้ใช้งานเป็นผู้สร้างเนื้อหาขึ้นเอง เว็บ 2.0 จะมีลักษณะและคุณสมบัติ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดดังนี้ :     - Search หาข้อมูลจากคีย์เวิร์ด     - Links โยงข้อมูลไปยังเว็บไซต์อื่น     - Authoring สามารถสร้างหรือแก้ไขข้อมูลร่วมกันได้ เช่น วิกิผู้ใช้สามารถ เพิ่ม แก้ไข หรือลบข้อมูล ในบล็อกผู้ใช้สามารถโพสต์คอมเมนต์ได้     - Tags จัดหมวดหมู่ให้กับข้อมูลโดยใช้แท็ก - คำสั้นๆ ใช้อธิบายว่าข้อมูลนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร     - Extension ส่วนเสริมสำหรับเว็บแอปพลิเคชัน รวมถึงซอฟต์แวร์จำพวก อะโดบี รีดเดอร์ แฟลช ไมโครซอฟท์ซิลเวอร์ไลต์ แอ็กทีฟเอ็กซ์ จาวา ควิกไทม์ และอื่นๆ     - Signals เทคโนโลยีที่แจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา เช่น RSS Atom เป็นต้น(ตัวอย่างเทคโนโลยีเว็บ 2.0 ได้แก่ wikis, social networking, blogs เป็นต้น)       รูปแบบใหม่ของการบริการในห้องสมุด Mobile Service การสร้าง applicationเพื่อให้ผู้ใช้บริการสะดวกสบายไม่ต้องมาถึงห้องสมุดก็สามารถใช้บริการได้ ตัวอย่างเช่น MIT Mobile apps สามารถค้นหาและสั่งจองหนังสือได้ เครื่องมือช่วยค้นสำหรับการทำงานวิจัย เป็นต้นการบรรยาย เรื่อง “Smart Libraries : ต่างคนคิด พลิกมุมมอง” โดย ดร.ยรรยง เต็งอำนวย และ นฤมล กิจไพศาลรัตนา ดำเนินรายการโดย ฐาวรา สิริพิพัฒน์       คุณนฤมล บรรณารักษ์เชี่ยวชาญระดับ 9(P4) และผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทางสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงปัญหาที่กำลังเกิดกับห้องสมุดแทบทุกแห่งคือ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนเร็ว ข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น internet google กลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของห้องสมุด พฤติกรรมของผู้ใช้เปลี่ยน เข้าห้องสมุดน้อยลง ยุคสังคมก้มหน้า เป็นต้น       การปรับตัวของห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดจากแนวคิดที่ว่า ห้องสมุดต้องเป็นมากกว่าห้องสมุด เป็นห้องสมุดที่มาแล้วประทับใจเกิดภาพจำที่ดีและต้องมาอีก ห้องสมุดที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้มากที่สุด หรือเรียกว่าพยายามปรับตัวให้อยู่รอดจากวิกฤตที่กำลังเผชิญ โดยดำเนินการดังต่อไปนี้        การจัดพื้นที่สำหรับห้องละหมาด        การจัดห้องสมุดเคลื่อนที่ ห้องสมุดรถตู้        ห้องน้ำสีเขียว ห้องน้ำสะอาด        Green library ศาลาหนังสือกลางแจ้ง        Wireless area and cyber zone        Polsci-ilibrary แอปพลิเคชัน search,renew/hole, e-book, e-journal, link        Library beep แจ้งเตือนเมื่อถึงวันที่ต้องคืนหนังสือด้วยระบบ SMS        Coffee@library        Book delivery ตั้งกล่องสำหรับคืนหนังสือเวลาห้องสมุดปิด        Welcome drink ในทุกเดือนจะจัดปาร์ตี้เล็กๆ ที่ห้องสมุด ให้ผู้ใช้บริการมาพบปะพูดคุยกัน        Citation clinic งานบริการถามตอบคำถามสำหรับการใช้อ้างอิง        Book fair        ฯลฯการบรรยาย เรื่อง “Mind management : ข้อคิดจากขุนเขา” โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร       ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักเขียนและวิทยากรรับเชิญด้านการพัฒนาชีวิต จิตวิทยา พุทธปรัชญา ขุนเขาได้บรรยายเรื่องกลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน ซึ่งการสร้างลักษณะนิสัยเช่นนี้ใช้โมเดลที่เรียกว่า PEPSI คือ        Passion ปลูกฝังให้รัก หาเรื่องที่ชอบ สร้างนิสัยด้วยการอ่านตลอดเวลา อ่านทุกอย่าง “เมื่อคุณทำสิ่งใดนานๆ สมองจะเพียง อยากได้ แต่ สมอง จะรู้สึกเหมือน ขาดมัน ไม่ได้        Environment พกหนังสือติดกระเป๋าไว้เสมอ        People        Sharing เล่าให้คนอื่นฟัง ทำให้คนอื่นสนใจ        Inspire สร้างแรงบันดาลใจ สุดท้าย สมองเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อน ละเอียดอ่อนและยากที่จะเข้าใจ  “เราไม่ใช่เจ้าของสมองและร่างกาย เราจึงไม่สามารถควบคิดสมองไม่ให้คิดถึงได้ ไม่สามารถสั่งให้กระเพาะหยุดย่อยอาหาร ไม่สามารถบังคับให้จมูกหยุดหายใจได้”ผช. ดร. พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์ กล่าวสรุปประชุมในตอนท้ายและหวังว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจะนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดพัฒนางานให้ก้าวทันโลกยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดจนสามารถขจัดปัญหาและช่องว่างต่างๆ ในการปรับตัวและแข่งขันกับสังคมการเรียนรู้ยุคปัจจุบันได้อย่างเฉียบคมและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของบรรณารักษ์ นักสารสนเทศ นักคอมพิวเตอร์ นักเทคโนโลยีทางการศึกษา และอื่นๆ ในการเป็นผู้บริหารหรือผู้ให้บริการจำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจความต้องการและสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ของผู้ใช้บริการยุคใหม่ สามารถคิดค้นและแสวงหาวิธีรับมือได้ทันท่วงที เพราะภารกิจของห้องสมุดและสถาบันบริการสารสนเทศต่างๆ ย่อมมีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ในขณะเดียวกัน องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ให้อยู่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21*รูปประกอบจาก เอกสารการประชุมสำนักงานวิทยทรัพยากร ประจำปี 2557 (OAR Conference 2014)

สรุปการประชุมวิชาการ เรื่อง “การเชื่อมโยงความรู้ : ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี”(1)

โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2562

การเข้าสู่สังคมยุคออนไลน์ โดยมีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ เป็นช่องทางเพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายไร้สายได้สะดวกรวดเร็ว คลังความรู้ดิจิทัลและสื่อมัลติมีเดีย จึงมีความสำคัญมากขึ้น จนเกิดความท้าทายในการปรับตัว การตอบสนองการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในศตวรรษที่ 21 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมวิชาการ เรื่อง “การเชื่อมโยงความรู้ : ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี” เมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมสวิซโซเทล เลอ คองลอร์ด กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา วันแรก...เริ่มต้นการบรรยาย เรื่อง “Always One Step Ahead! Libraries as community centers hubs for digital  inclusion” โดย Dr. Hannalore Vogt Director of Cologne Public Library, Germany Dr. Vogt ยกตัวอย่างห้องสมุดสาธารณะของเมืองโคโลจ์ญ ประเทศเยอรมนี การตลาดและการยึดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับห้องสมุด และพนักงานควรตระหนักว่าตนเองมีส่วนในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยการสื่อสารเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ ทำไมต้องยึดผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ Dr.Vogt เล่าว่า หากผู้ใช้บริการพอใจจะบอกต่อประสบการณ์เชิงบวกของเขาให้อีก 3 คนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าลูกค้าผิดหวัง ลูกค้าจะเล่าประสบการณ์เชิงลบให้กับคนถึง 10-12 คน ซึ่งควรพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งด้วย แบรนด์จะเป็นภาพลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวของบริษัทที่ฝังใจกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ ใช้บริการถาวร แบรนด์จึงเป็นคำสัญญาในคุณภาพ ห้องสมุดสามารถชักจูงผู้อื่นให้หันมาลงทุนกับห้องสมุดได้อย่างไร Dr. Vogt แนะนำว่า ห้องสมุดควรบริการผู้ใช้บริการเหนือไปอีกขั้น เช่น การเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง การปรับปรุงการให้บริการโดยยึดลูกค้าเป็นหลัก และการรักษาลูกค้า ส่วนสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ภาษากายและสิ่งที่ปรากฎ 55% น้ำเสียง 38% เนื้อหา 7% Dr. Vogt ได้ยกตัวอย่าง รายงานแนวโน้มของ IFLA(International Federation of Library Associations and Institutions) ปี 2013 มี 5 แนวโน้ม ดังนี้    1. เทคโนโลยีจะทั้งส่งเสริมและสกัดกั้นคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้    2. การศึกษาออนไลน์จะสร้างความเสมอภาค และทำให้กระบวนการเรียนของโลกยุ่งเหยิง    3. เราต้องนิยามขอบเขตของความเป็นส่วนตัวและการปกป้องทางข้อมูลกันใหม่    4. สังคมออนไลน์จะรับฟังและส่งเสริมความคิดเห็น    5. เทคโนโลยีใหม่จะพลิกโฉมสภาวะข้อมูลข่าวสารทั่วโลกห้องสมุดสาธารณะต่างๆ จะได้รับผลกระทบโดยการเปลี่ยนมาทำงานกับคนมากกว่าทำงานกับหนังสือ จากผู้จัดหาสินค้าและบริการ มาเป็นผู้ช่วยเหลือให้ผู้ใช้บริการแต่ละคนสามารถพัฒนาสินค้าหรือตอบสนองให้ ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ Dr. Vogt  มองว่า ห้องสมุดในอนาคตต้องเข้าถึงผู้คนในระดับอารมณ์ให้มากกว่าเดิมและเสริมสร้าง บรรยากาศที่สร้างความสุขให้กับผู้ใช้บริการ ตอกย้ำประสบการณ์ผู้ใช้บริการและการมีปฏิสัมพันธ์เป็นสำคัญ ดึงดูดผู้ใช้บริการทุกด้าน ทุกประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นเสียง กลิ่นหอม และแสง มอบโอกาสการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการทุกรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง แบบมีผู้ช่วย และแบบเป็นกลุ่ม และต้องเล็งเห็นการให้บริการห้องสมุดแบบดิจิทัลแล้วเราจะต้องการอะไรมากขึ้น? ห้องสมุดมีพื้นที่สำหรับเด็ก พื้นที่สำหรับทำกิจกรรม เรื่องราวของคนท้องที่หรือของครอบครัว ห้องสมุดไม่ใช่แค่มีแต่หนังสือ แต่ควรมีนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจ ร้านกาแฟ การจัดวางแบบใหม่เพื่อการเรียนรู้ Dr.Vogt ได้ทิ้งท้ายการบรรยายว่า “สร้างมันสมอง พัฒนาบริการใหม่ๆ มองหาพันธมิตรและความร่วมมือ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยไหวพริบ หากห้องสมุดแห่งอื่นเริ่มวางแผนเมื่อไหร่ ถือว่าเราได้ทำพลาดเรียบร้อยแล้ว” ช่วง Best for you : Connecting Knowledge ผู้เขียนเลือกเข้าฟังการบรรยาย เรื่อง “Media Convergence กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21”  วิทยากร โดย  ดร.จารุวัส หนูทอง วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ดร.บรรพต สร้อยศรี ผู้จัดการศูนย์พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินรายการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เนตร หงษ์ไกรเลิศ สถาบันสุขภาพอาเซียน การเรียนรู้ของเด็กที่เกิดในโลกดิจิทัล การบรรยายอย่างเดียวไม่สามรถทำให้เด็กเรียนรู้ได้ เราจึงต้องบรูณาการ(Convergence) การสอนด้วยสื่อหลายๆ อย่าง พร้อมๆ กัน ผ่านทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อ และวิธีการ เช่นเดียวกับห้องสมุด ที่บทบาทของบรรณารักษ์จะค่อยๆ ลดลง หากบรรณารักษ์ไม่วิ่งตามสื่อของโลกติจิตอล ทำไมต้องมาใช้ Media Convergence ในศตวรรษที่ 21 ดร.จารุวัส เล่าว่า โลกปัจจุบันไม่จำกัดอุปกรณ์ รูปแบบ ในเนื้อหาเดียวกัน แต่ทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน และคนในศตวรรษที่ 21 จะพูดน้อยลง พิมพ์มากกขึ้น ฉะนั้นต้องเข้าใจและสังคมว่าอยู่กับโลกออนไลน์ ส่งผลให้รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยน วิธีการเปลี่ยน เนื้อหาจึงมีความสำคัญมาก เด็กหรือผู้เรียนจะต้องการความเป็นตัวเองมากขึ้น และผู้สอนต้องปรับตัวเข้าหาผู้เรียน แล้วเราต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง ดร.บรรพต กล่าวว่า เริ่มจากสภาพแวดล้อมและข้อมูลจะเปลี่ยนเป็นเนื้อหาดิจิทัล(Digital Content) ข้อมูลต้องมีคุณภาพ พื้นที่การจัดเก็บต้องเพิ่มมากขึ้น เพื่อดูวิวัฒนาการผลิตของข้อมูล อย่างไรก็ดีผู้เรียนและผู้สอนจะมีสมาธิจะสั้นลง ส่งผลต่อคนทำเนื้อหาต่างๆ ฉะนั้นเนื้อหาจำเป็นต้องสั้นและเข้าใจได้ง่าย นอกจากนี้รูปแบบ(platform) ที่ใช้ผลิตเนื้อหามีผลต่อผู้ใช้บริการ ห้องสมุดควรจะสนับสนุน(Support) อย่างไร เนื่องจากสื่อแต่ละประเภทมีอายุสั้นมากขึ้น เราควรต้องมีการ back-up รูปแบบเดิมเพื่อเก็บไว้หรือไม่ดร.จารุวัส เสริมว่า ปัจจุบันเด็กอ่านหนังสือน้อยลง ดูภาพและวีดีโอเพิ่มมากขึ้น การรับรู้ของเด็กมีจำกัด แต่เด็กจะมีความสามารถเรียนรู้อะไรได้หลายอย่างพร้อมกัน อย่างไรก็ดีเนื้อหาดิจิทัล(Digital Content) มักจะไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เราจึงควรเอาเนื้อหามาตรวจสอบด้วย ในอนาคตเนื้อหาดิจิทัลเมื่อเพิ่มมากขึ้น การดาวน์โหลดสื่อต่างๆ มาใช้ก็เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เด็กมักจะเรียนรู้อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ๆ หรือประสบการณ์ตรง ครูหรือผู้สอนต้องอัพเดตเนื้อหาต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เท่าทันกับกระแสความรู้เหล่านี้ ดร.บรรพต เล่าต่อว่า การเรียนการสอน บุคคลากรของห้องสมุดต้องเตรียมตัวให้พร้อมและหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติม เนื่องจากบทบาทของห้องสมุดจะเปลี่ยนไป บรรณารักษ์ต้องทำ Metadata และสื่อพร้อมกัน ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบ ผู้ใช้บริการก็จะลดน้อยลง ผู้ให้บริการต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะการเรียนรู้ในโลกปัจจุบันมีอยู่ทุกที่และทุกเวลา และต้องทำให้ผู้ใช้บริการพอใจมากที่สุด และช่วง Knowledge Shopping @Learning Plaza ช่วงสุดท้ายของวันนี้ ผู้เขียนเลือกเข้าฟังการบรรยาย เรื่อง “เชี่ยวชาญด้วย 3A(Access @home Activity)” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกรี สินธุภิญโญ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมถึง Social Network ที่กำลังเติบโต การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยเป็นสิ่งสำคัญมาก คนรุ่นใหม่เกิดคำถามว่า อยากได้อะไรจากห้องสมุด ห้องสมุดต้องมีความทันสมัยมากขึ้นไหม ดร.สุกรี มีคำตอบด้วย 3A Access การเข้าถึง เราควรคิดว่าคนรุ่นใหม่หรือเด็กรุ่นใหม่อยากได้อะไร หลักกการหนึ่งของการทำนวัตกรรม ควรเปลี่ยนมุมมองที่มีในอดีต และเปลี่ยนมุมมองที่เคยใช้ในห้องสมุดปัจจุบัน ทำไมหลายคนไม่เข้าห้องสมุด และเราจะเปลี่ยนห้องสมุดเป็นบ้านหลังที่ 3 ได้อย่างไร ที่สามารถหาความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา @home ปัจจุบันเราสามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน เช่น อินเตอร์เน็ต ทีวีดิจิทัล และสามารถปลูกฝังการหาความรู้กับสมาชิกครอบครัว เช่น หากิจกรรมที่ไม่มีอยู่ในโรงเรียนมาทำร่วมกัน Activity เราสามารถนำแนวคิดมาสร้างสรรค์และพัฒนาให้คนอยากเข้าห้องสมุดมากขึ้น เช่น information sharing หนังสือออนไลน์ ปัจจุบันการอ่านหนังสือออนไลน์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเนื้อหา(content) ที่เหมาจ่ายจากต่างประเทศ ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการสร้างเนื้อหา(content) เอง ดร.สุกรี กล่าวปิดท้ายว่า เราสามารถนำแนวคิด 3A ไปพัฒนาและเปิดเป็นแนวทางความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานหรือห้องสมุดให้ทัน สมัยได้ และได้ยกตัวอย่าง Activity ที่ดร.สุกรีเคยทำให้กับคนตาบอด ซึ่งร่วมทำกับเพื่อนๆ โดยการนำนิทรรศการภาพถ่ายมาทำปูนปั้นให้คนตาบอดสัมผัสและเรียนรู้*รูปประกอบจาก เอกสารการประชุมสำนักงานวิทยทรัพยากร ประจำปี 2557 (OAR Conference 2014)

Pinterest ?

โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2562

 Pinterest คืออะไร นำมาใช้กับพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไรบ้าง คนไทยยังอาจไม่ค่อยคุ้นชื่อกันนี้เท่าไหร่นัก แต่ในต่างประเทศ Pinterest กำลังเป็นที่นิยม Pinterest มาจากคำว่า Pin และ Interest เมื่อนำความหมายรวมกัน หมายถึง การปักหมุด (Pin) รูปภาพที่สนใจ (Interest) ลงบนบอร์ดที่เราสร้างขึ้นมา โดยสามารถแชร์รูปภาพและวีดีโอ คล้ายกับ Facebook ข้อดีของเครื่องมือออนไลน์ชิ้นนี้ สามารถจัดหมวดหมู่ของรูปภาพที่เราสนใจลงไปในแต่ละบอร์ด พูดง่ายๆ บอร์ดก็คืออัลบั้มรูปภาพนั่นเองค่ะ ส่วนการแชร์รูปภาพ Pinterest จะเรียกว่า Pin ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี1. แชร์รูปภาพจากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือมือถือ2. แชร์รูปภาพจากเพื่อนที่ Pin ไว้ หรือรูปภาพที่เราสนใจตามเว็บไซต์ต่างๆ เรียกว่า Repin การแชร์ลักษณะนี้ ซึ่งจะบอกแหล่งที่มาของรูปภาพด้วยเสมอ ในขณะนี้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำ Pinterest มาใช้กับพิพิธภัณฑ์ด้วยค่ะ มี 1 บอร์ด ชื่อว่า “thammasat museum collection วัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” บอร์ดนี้พูดถึงวัตถุสิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และรวมถึงหนังสือ โครงการอบรมต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์Pinterest อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราก็สามารถแชร์รูปภาพสวยๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ได้ Pinterest คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์http://pinterest.com/tusocant/ บอร์ดวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติhttp://pinterest.com/tusocant/thammasat-museum-collection/ ใครสนใจก็ลองสมัครเล่นดูได้ค่ะhttp://pinterest.com/

ช่วยกันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานและเอกสารโบราณ ในพิพิธภัณฑ์วัด

โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2562

คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย สมุดข่อย  เป็นเอกสารโบราณและวัตถุธรรมที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธ  ที่เรามักเห็นกันตามวัด หรือในพิพิธภัณฑ์   บางวัดเก็บไว้ในหีบธรรมหรือตู้พระธรรม ห่อผ้า แยกประเภท ทำทะเบียน ไว้อย่างดี  หลายวัดโชคดีที่จัดทำพิพิธภัณฑ์และยังอนุรักษ์และเก็บรักษาเอกสารโบราณเอาไว้  แต่หลายแห่งก็ไม่ได้เก็บและทิ้งเอกสารโบราณเหล่านี้ เนื่องเพราะไม่ได้ใช้งาน และยังไม่เห็นความสำคัญ  เคยได้ยินว่าบางวัดไม่เห็นประโยชน์เผาทิ้งไปก็เยอะ  หรือไม่ก็นำคัมภีร์มาบดทำเป็นมวลสารในวัตถุมงคลก็มีตอนนี้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มีโครงการสำรวจ รวบรวม และศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นภาคตะวันตก  เบื้องต้นจะมีนักวิชาการ (คุณดอกรัก พยัคศรี) และทีมงาน  ไปสำรวจและทำสำเนาดิจิทัล ตามวัดต่างๆ  แถบจังหวัดนครปฐม  ราชบุรี   กาญจนบุรี  และจะมีการปริวรรตเอกสารโบราณ เพื่อเผยแพร่ต่อไป  โดยจะทำเป็นฐานข้อมูลออนไลน์   ตอนนี้ยังเพิ่งเริ่มคลานมี  facebook fanpage  สามารถแจ้งข่าวสาร  เข้าไปให้กำลังใจ  และสอบถามความคืบหน้ากันได้ค่ะจริงๆ ก็ยังมีสถาบันทางวิชาการหลายแห่ง ที่ทำงานคล้ายๆ กันในลักษณะนี้ คือ สำรวจ รวบรวม  ศึกษา และเผยแพร่ข้อมูลความรู้ของเอกสารโบราณผ่านฐานข้อมูลดิจิทัล  เช่น  สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ,  โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เป็นต้น ใครสนใจก็ลองเข้าไปสืบค้นข้อมูลกันได้ผู้เขียนชวนชมภาพตัวอย่างบางส่วน อันเนื่องมาจากงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ  ที่ทางศูนย์ฯ เข้าไปร่วมทำงานเช่น พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม จ.ราชบุรี   รวมถึงวัดท่าม่วง จ.ร้อยเอ็ด ที่ผู้เขียนมีโอกาสไปสนทนากับเจ้าอาวาส และทราบว่าทางวัดได้ทำงานอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานอย่างต่อเนื่องภายในโรงธรรมของวัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง เป็นทั้งที่เก็บคัมภีร์ใบลานซึ่งได้ทำทะเบียนและทำการอนุรักษ์เรียบร้อยแล้ว  และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัดที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม   ว่ากันว่าวัดไหล่หินหลวงมีคัมภีร์ใบลานที่จารเป็นอักษรล้านนามีอายุมากกว่า 500 ปี   อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง ห้องคัมภีร์ใบลาน ในพิพิธภัณฑ์วัดท่าม่วง จ.ร้อยเอ็ด  เดิมทางวัดพยายามเก็บรักษาและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานตามแบบของวัด  โดยท่านเจ้าอาวาสมีความสนใจในเรื่องการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน มาตั้งแต่แรกเริ่ม ต่อมาได้ร่วมมือกับโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการทำทะเบียน อนุรักษ์ และปริวรรต  มีการพิมพ์เผยแพร่งานเนื้อหาที่เป็นตำรายา เป็นหนังสือถึง 2 เล่มใหญ่   อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นท่าม่วงBeforeAfter เมื่อปี พ.ศ. 2554  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ร่วมกับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม จ.ราชบุรี  จัดทำโครงการอบรมการอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ ที่วัดคงคาราม  มีการสำรวจสภาพผ้าห่อคัมภีร์  การสอนการอนุรักษ์ผ้าในรูปแบบต่างๆ  รวมถึงการทำกิจกรรมกับเยาวชนในพื้นที่  คลิกชมรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ได้ใน "การจัดเก็บผ้าด้วยวิธีม้วน"  "การอนุรักษ์ผ้าด้วยวิธีเข้ากรอบ"   และ  "กิจกรรมเยาวชนเรียนรู้บ้านตนเอง"

โหม่งฟาก

โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2562

โหม่งฟาก เป็นเครื่องดนตรีสำคัญในการแสดงหนังตะลุง โนรา และลิเกป่า ทำด้วยแผ่นโลหะสองแผ่น  มีขนาด  4x8  นิ้วแขวนตรึงในรางไม้ด้วยเชือกหนังวัว เล่ากันว่าศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้ผลิตขึ้น ต่อมาหนังอิ่ม ห้วยลึก นายหนังตะลุงในจังหวัดพัทลุง ได้นำเอาทองเหลืองและโลหะผสมนำมาหล่อ เพื่อทำโหม่ง เรียกโหม่งหล่อ เป็นที่นิยมใช้แพร่หลาย รูปร่างของโหม่งหล่อคล้ายฆ้องแต่มีขนาดเล็กกว่า  แขวนอยู่ภายในรูปไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีฝาปิดคล้ายหีบ  เพื่อให้นำติดตัวไปมาได้สะดวก   ไม้สำหรับตีโหม่ง  ตรงปลายหุ้มด้วยยาง  หรือถักด้วยด้ายดิบ  โหม่งลูกหนึ่งมีเสียงแหลม  อีกลูกหนึ่งเสียงทุ้ม เสียงของโหม่ง เป็นเสียงสำคัญในการใช้คุมโรง สะกดให้เสียงอื่นๆ ต้องฟัง คนตีโหม่งต้องเป็นคนที่เข้าใจจังหวะ ถ้านายโหม่งตีผิดจังหวะ ดนตรีอื่นๆ ก็เล่นไม่ได้ รวมทั้งช่วยกำกับเสียงร้องของนายโรงให้เข้ากับเสียงเครื่องดนตรีอื่นๆโหม่งฟาก แบบถอดประกอบได้ที่มาภาพ:  ชัย เหล่าสิงห์แม้ว่าโหม่งหล่อจะเป็นทีนิยมแพร่หลาย เพราะมีเสียงไพเราะและหาซื้อได้สะดวก  แต่ก็มีราคาสูงถึงใบละ 3,000 -6,000 บาท ครูชัย เหล่าสิงห์ ซึ่งขณะนั้นเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านทุ่งมะขาม ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โรงเรียนขาดแคลนทุทรัพย์ในการซื้อโหม่งหล่อที่มีราคาแพงมาใช้ในการเรียนการสอน จึงประยุกต์เอาวัสดุที่มีในโรงเรียนเช่น ค้อน จอบ ซึ่งเป็นของที่มีผู้มอบให้โรงเรียนแต่เป็นของคุณภาพต่ำใช้การจริงไม่ได้ นำมาทำโหม่งฟากเพราะนึกถึงวัยเด็กที่เคยเอากระป๋องโลหะมาตีเล่นให้เกิดเสียงต่างๆ และได้รับคำแนะนำในการตีขึ้นรูปจากนายกลั่น ทักษิณไศล ช่างตีเหล็กเก่าแก่ในบ้านเขาพระ ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  ช่วยสอนวิธีตีให้เพราะนายกลั่นอายุมากไม่มีกำลังในการตีเหล็กแล้ว   วิธีการทำจะต้องนำเหล็กแผ่นมาตัดครึ่งแล้วใช้ค้อนหัวกลมค่อยๆ ตี  การตีแต่ละครั้งจะได้เสียงที่ต่างกัน หลังจากนั้นจึงนำไปประกอบเข้ากับรางที่ทำจากลังไม้เพื่อให้เกิดเสียงดังโหม่งหล่อ       ที่มาภาพ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรโหม่งฟาก แบบใหม่ที่ใช้วิธีการทำโหม่งฟากแบบดั้งเดิมขึ้นมานี้ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่คณะแสดงหนังตะลุงและโนรา  ทั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา ภูเก็ต นราธิวาส เพราะราคาเพียง 1,200บาท ที่สำคัญทนทานมากใช้กันนานหลายสิบปี “ตีจนนายหนังตายก็ยังไม่หมด” ครูชัย เหล่าสิงห์กล่าวโหม่งฟากแบบกล่อง สามารถพกพาได้สะดวกที่มาภาพ:  ชัย เหล่าสิงห์  โหม่งฟากของครูชัย เหล่าสิงห์ จึงไม่ใช่แค่เครื่องดนตรีที่สำคัญสำหรับการแสดงหนังตะลุง โนรา ศิลปะการแสดงสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของคนภาคใต้ แต่ยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญา การสังเกต และการรื้อฟื้นภูมิปัญญาทางเชิงช่างในการทำโหม่งแบบโบราณนำมาผสมผสานเก่าใหม่อย่างลงตัวเพื่อการสืบสานสืบทอดศิลปะวัฒนธรรม มาร่วมสัมผัสโหม่งฟาก พร้อมฟังเรื่องเล่าจากครูชัย เหล่าสิงห์ ผู้รื้อฟื้นการทำโหม่งฟาก ได้ที่บูธนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ “ทักษิณถิ่นไทย ใต้ร่มพระบารมี” ที่เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)ร่วมกันจัดขึ้นที่วัดคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2560  นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ และวัตถุที่หาชมได้ยาก  การแสดงพื้นบ้าน และวงเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในภาคใต้กว่า 30 แห่ง  เพื่อแสดงให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวใต้ที่ได้รับการเก็บรักษา และถ่ายทอดผ่านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  รวมทั้งร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อคนในภาคใต้ผ่านนิทรรศการภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในคราวเสด็จภาคใต้ รวมทั้งโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการน้อมนำเอาโครงการหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต งานนี้ ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ให้ข้อมูลประเสริฐ รักษ์วงศ์. 26 มีนาคม 2560ชัย เหล่าสิงห์. 26 มีนาคม 2560

ท่าพูดต่างมุมมอง

โพสต์เมื่อ 08 มกราคม 2562

ผู้เขียนอยากจะแนะนำหนังสือ “ท่าพูด ต่างมุมมอง” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นหนังสือรวมบทความ 6 เรื่อง 6 รส และ 1 บทบรรณาธิการเสริมชูรสให้กลมกล่อมมากยิ่งขึ้น ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ การสะท้อนให้เห็นงานสหวิชาการต่อพื้นที่ชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง  วิธีการ ประสบการณ์ การตีความ และความรู้ของแต่ละท่านอาจต่างกันแต่เมื่อมารวมกันเพื่ออธิบายชุมชนแห่งหนึ่งก็เสริมกันในที นักวิชาการศูนย์ฯ ทั้ง 6 ท่านบอกเล่าประสบการณ์ทำงานและมุมมองที่หลากหลาย อันเนื่องมาจากภูมิหลังและความสนใจแตกต่างกัน ที่มีต่อชุมชนท่าพูดในมิติต่างๆ ทั้งด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และมานุษยวิทยา ได้แก่ “มาดูจารึกที่วัดท่าพูด” - ดร.ตรงใจ หุตางกูร “ตำรายาที่ท่าพูด” - ดอกรัก พยัคศรี “บันทึกเรื่องราวของ ‘กระดาษ’เล่าเรื่องชุมชนท่าพูด" - จุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์ “ตลาดท่าเกวียนในความทรงจำ” และ “หัวโตกับงานบุญของชุมชนริมน้ำ”  - นวลพรรณ บุญธรรม และ “ความศักดิ์สิทธิ์และเรื่องเล่าอภินิหารในองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง” - รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม เป็นหนึ่งในสามกรณีศึกษาที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เข้าไปทำวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เพื่อจะทำความเข้าใจว่าพิพิธภัณฑ์มีความหมายอย่างไรต่อชุมชนและคนทำพิพิธภัณฑ์ หรือมีความเชื่อมโยงกับรากฐานของชีวิตในท้องถิ่นอย่างไร เห็นด้วยกับเสี้ยวหนึ่งของบทบรรณาธิการของชีวสิทธิ์ บุณเกียรติ ว่าหน้าที่และความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ก็คือการส่งต่อ “ความรู้” สู่สาธารณะและคนรุ่นต่อไป แต่ความรู้ดังกล่าวก็ไม่ใช่ความรู้ที่เบ็ดเสร็จ ทุกคนควรตั้งคำถามและอภิปรายต่อ “หัวใจของพิพิธภัณฑ์ในทัศนะของบรรณาธิการจึงไม่ได้อยู่ที่การสร้างชุดนิทรรศการที่มีมูลค่าสูงหรือนำเสนอด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากแต่อยู่ที่ความสามารถของพิพิธภัณฑ์ในการส่งต่อพยานชนิดต่างๆ ให้กับคุนรุ่นต่อไปได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ การส่งต่อพยานหรือกลาวอีกทางหนึ่งคือ “มรดกวัฒนธรรม” ที่เป็นกายภาพและที่เป็นนามธรรม จะช่วยกระตุ้นให้ชนรุ่นหลังได้ตั้งคำถามใหม่และอภิปรายไปอย่างไม่รู้จบ นี่คือเสน่ห์ของการทำงานพิพิธภัณฑ์ที่ช่วยให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตและส่งเสริมให้สังคมเรียนรู้ร่วมกัน “รู้จักเขา รู้จักเรา และรู้จักตัวตน” จนถึงวันนี้เป็นเวลาร่วมสิบกว่าปีแล้ว พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านท่าพูด และชุมชนท่าพูด ยังคงเป็นสนามที่ศูนย์ฯ เข้าไปหาประสบการณ์ ร่วมตั้งคำถาม ชวนสนทนา และเรียนรู้สรรพสิ่งอย่างไม่รู้จบ นักวิชาการของทั้งศูนย์ฯและนักวิจัยจากภายนอก ครูบาอาจารย์ ที่ให้ใจ ทุ่มเท และร่วมหัวจมท้ายกันมาอย่างยาวนาน  และลุงป้าน้าอาที่เคยร่วมทำงานกับศูนย์ฯ ก็ยังคงไปมาหาสู่กันเสมือนญาติสนิท เราต่างพบปะเจอกันทั้งในงานบวช งานแต่ง เรียกได้ว่าทั้งงานราษฎร์งานหลวง  ล่าสุดเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ชุมชนท่าพูดเพิ่งยกพลมาร่วมจัดนิทรรศการ “แม่โพสพในความเปลี่ยนแปลง” และเตรียมพบนิทรรศการเล็กๆ และการเปิดตัวหนังสือท่าพูดต่างมุมมองเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผู้เขียนคิดว่าท่าพูดยังคงเป็นสนามที่น่าสนใจ เป็นชุมชนรอยต่อระหว่างชีวิตเมืองและชนบท ที่สามารถตั้งคำถาม ถกเถียง และเรียนรู้ได้อย่างไม่รู้จบ หากต่างฝ่ายต่างไม่เบื่อกันไปเสียก่อน. ดาวน์โหลดอ่านฟรี หนังสือท่าพูดต่างมุมมอง ดาวน์โหลดอ่านฟรี สูจิบัตรประกอบนิทรรศการแม่โพสพในความเปลี่ยนแปลง  

E-paper เทคโนโลยีป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์

โพสต์เมื่อ 08 มกราคม 2562

    “ป้ายคำอธิบายอิเล็กทรอนิก” นวัตกรรมใหม่ที่ออกมายั่วน้ำลายภัณฑารักษ์ ในบทความเรื่อง Electronic Paper Revitalizes the Museum โดย Ursa Primozic ผู้จัดการด้านการสื่อสารของบริษัทผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง อธิบายว่าปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงใช้ป้ายคำอธิบายที่พริ้นต์ออกมาจากเครื่องพริ้นเตอร์เพื่ออธิบายวัตถุจัดแสดง เธอบอกว่าป้ายคำอธิบายแบบเดิมที่เป็นกระดาษธรรมดาแม้จะดูว่าง่าย แต่เอาเข้าจริงก็น้องๆ งานหัตถกรรมที่ต้องใช้แรงงาน เวลา และมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย           บทความเรื่อง How Shall We Label Our Exhibit Today? Applying the Principles of On-Line Publishing to an On-Site Exhibition ของ Ross Parry, and Mayra Ortiz-Williams, University of Leicester; and Andrew Sawyer, Simulacra, United Kingdom บอกเล่าพัฒนาการและวัฒนธรรมของป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์ว่า  พิพิธภัณฑ์ใช้ป้ายคำอธิบายที่เป็นตัวอักษรในการจัดแสดงเมื่อกว่า 400 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชมในทุกประสาทสัมผัส แม้พิพิธภัณฑ์จึงใช้สื่อดิจิทัลเข้ามาร่วมจัดแสดงมากขึ้น แต่สุดท้ายอย่างไรเสียการ “แปะป้าย” ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด หรือในแพลตฟอร์มใด วิธีการนี้มันก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง           มีกระแสวัฒนธรรมที่ก่อกำเนิดป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์อย่างน้อยสองกระแสในยุโรปคือ วัฒนธรรมของสัญลักษณ์ และวัฒนธรรมของการจำแนกประเภท ในวัฒนธรรมแรกมาจากโลกของผู้อธิบาย บทกวี และการจัดแสดง ส่วนวัฒนธรรมที่สองมาจากโลกปรัชญาทางธรรมชาติ และการทำแคตลาล็อก อย่างที่ทราบกันดีว่าถึงขั้นมีแนวปฏิบัติการเขียนป้ายคำอธิบาย เช่น ควรใช้ฟ้อนต์อะไร ขนาดเท่าไร ความยาวกี่บรรทัด แต่ละบรรทัดควรมีความคิดหลักเพียงอันเดียว หลีกเลี่ยงการเขียนประโยคขยาย ฯลฯ           เมื่อพิพิธภัณฑ์จะขาดป้ายคำอธิบายไม่ได้ ปัจจุบันจึงมีความพยายามวิจัยและคิดค้นป้ายคำอธิบายที่ตอบสนองความต้องการของภัณฑารักษ์เช่น สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้อย่างทันท่วงที หรือกระทั่งคนชมสามารถช่วยสร้างเนื้อหาได้ สามารถอัพเดทเนื้อหาได้จากอุปกรณ์อื่นๆ หรือจากเว็บ ซึ่งบทความของ Ross Parry, and Mayra Ortiz-Williamsเรียกมันว่า LIVE Label ซึ่งเริ่มพัฒนาต้นแบบป้ายคำอธิบายในลักษณะดังกล่าวในปี ค.ศ. 2007        ภายใต้ความเชื่อที่ว่าอนาคตของเทคโนโลยีจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพิพิธภัณฑ์ ทำให้งานพิพิธภัณฑ์ง่ายขึ้น ทางเลือกหนึ่งก็คือ “กระดาษอิเล็กทรอนิกส์” ภาพจาก https://goodereader.com/blog/e-paper/electronic-paper-revitalizes-the-museum                      สิบปีต่อมา คือในปี 2017 บริษัทผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกแห่งหนึ่งจึงทำสำเร็จในเชิงการผลิตเพื่อจำหน่ายภายใต้ชื่อ AMLABEL Digital Displayเรียกอีกอย่างว่ามันคือ กระดาษอิเล็กทรอนิกแบบหนึ่ง Ursa Primozic ผู้จัดการบริษัทผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกดังกล่าว อ้างว่ามีการสำรวจพิพิธภัณฑ์จำนวนหนึ่งพบว่า มีพิพิธภัณฑ์กว่า 66 เปอร์เซ็นต์ที่พริ้นต์ป้ายคำอธิบายมากกว่า 200 ป้ายต่อปี ส่วนอีก 33 เปอร์เซ็นต์พริ้นต์มากกว่า 500 ป้ายต่อปี  ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 70-100 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งป้าย หรือประมาณ 2,450 – 3,500 บาทต่อป้าย ราคานี้รวมทั้งค่าออกแบบและค่าแรง  สำคัญคือหากต้องการเปลี่ยนแปลงป้ายคำอธิบาย วิธีการทำป้ายคำอธิบายแบบเดิมๆ ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายอีกรอบ ดั้งนั้นบ่อยครั้งป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์มักจะเป็นภาษาเดียวและมีขนาดฟ้อนต์เดียวอยู่เสมอ พูดง่ายๆ คือไม่ค่อยมีใครจะเปลี่ยนป้ายคำอธิบายมากนัก อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ภาพจาก https://goodereader.com/blog/e-paper/electronic-paper-revitalizes-the-museum                    บริษัทอธิบายความน่าสนใจของ AMLABEL Digital Displayว่าแตกต่างจากจอแสดงดิจิทัลอื่นๆ ตรงที่มันเป็นกระดาษอิเล็กทรอนิกที่เลียนแบบหมึกพิมพ์บนกระดาษจริง เวลานำไปติดตั้งจะรู้สึกได้ว่าผสานอย่างแนบเนียนกับฉากหลัง สามารถปรับเปลี่ยนฟ้อนต์และภาษา เป็นทางเลือกสำหรับผู้เยี่ยมชมทุกกลุ่มที่สามารถเลือกอ่านภาษาได้ และการเพิ่มขนาดฟ้อนต์ได้เหมาะกับผู้สูงวัย หรือผู้บกพร่องทางสายตา           ขนาดจอมีให้เลือกสองขนาดคือ 6 นิ้ว และ 9.7 นิ้ว สรุปว่ามีคุณสมบัติน่าสนใจอย่างน้อย 6 ข้อคือ ประการแรกจอสามารถปรับไปตามความสว่างของแสงที่อยู่รอบๆ ประการสอง สามารถอัพเดทเนื้อหาผ่านอุปกรณ์ทุกชนิด ผ่านระบบ AMLABEL’s CMSโดยใช้Wi-Fi ที่มี ประการที่สามคือประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานต่ำกว่าจอแอลซีดีถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ประการที่สี่คือ ใช้งานยาวนานถึงหนึ่งเดือนโดยไม่ต้องชาร์ตแบตเตอรี่ ประการที่ห้าคือ เนื่องใช้แบตเตอรี่ให้พลังไม่จำเป็นต้องใช้สายไฟ ติดตั้งง่าย ประหยัดเวลา และสุดท้ายคือไม่ต้องเจาะผนัง ติดตั้งโดยการใช้แผ่นแม่เหล็ก จึงไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่พิพิธภัณฑ์            พิพิธภัณฑ์ที่ทดลองนำ e-label ไปใช้ที่แรกคือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮุสตัน ในบางส่วนของนิทรรศการ CORE 2016 อ้างอิง https://www.museumsandtheweb.com/mw2007/papers/parry/parry.html (accessed 20170929) https://goodereader.com/blog/e-paper/electronic-paper-revitalizes-the-museum(accessed 20170928)