โหม่งฟาก

โหม่งฟาก เป็นเครื่องดนตรีสำคัญในการแสดงหนังตะลุง โนรา และลิเกป่า ทำด้วยแผ่นโลหะสองแผ่น  มีขนาด  4x8  นิ้วแขวนตรึงในรางไม้ด้วยเชือกหนังวัว เล่ากันว่าศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้ผลิตขึ้น ต่อมาหนังอิ่ม ห้วยลึก นายหนังตะลุงในจังหวัดพัทลุง ได้นำเอาทองเหลืองและโลหะผสมนำมาหล่อ เพื่อทำโหม่ง เรียกโหม่งหล่อ เป็นที่นิยมใช้แพร่หลาย รูปร่างของโหม่งหล่อคล้ายฆ้องแต่มีขนาดเล็กกว่า  แขวนอยู่ภายในรูปไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีฝาปิดคล้ายหีบ  เพื่อให้นำติดตัวไปมาได้สะดวก   ไม้สำหรับตีโหม่ง  ตรงปลายหุ้มด้วยยาง  หรือถักด้วยด้ายดิบ  โหม่งลูกหนึ่งมีเสียงแหลม  อีกลูกหนึ่งเสียงทุ้ม เสียงของโหม่ง เป็นเสียงสำคัญในการใช้คุมโรง สะกดให้เสียงอื่นๆ ต้องฟัง คนตีโหม่งต้องเป็นคนที่เข้าใจจังหวะ ถ้านายโหม่งตีผิดจังหวะ ดนตรีอื่นๆ ก็เล่นไม่ได้ รวมทั้งช่วยกำกับเสียงร้องของนายโรงให้เข้ากับเสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ

โหม่งฟาก แบบถอดประกอบได้
ที่มาภาพ:  ชัย เหล่าสิงห์



แม้ว่าโหม่งหล่อจะเป็นทีนิยมแพร่หลาย เพราะมีเสียงไพเราะและหาซื้อได้สะดวก  แต่ก็มีราคาสูงถึงใบละ 3,000 -6,000 บาท ครูชัย เหล่าสิงห์ ซึ่งขณะนั้นเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านทุ่งมะขาม ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โรงเรียนขาดแคลนทุทรัพย์ในการซื้อโหม่งหล่อที่มีราคาแพงมาใช้ในการเรียนการสอน จึงประยุกต์เอาวัสดุที่มีในโรงเรียนเช่น ค้อน จอบ ซึ่งเป็นของที่มีผู้มอบให้โรงเรียนแต่เป็นของคุณภาพต่ำใช้การจริงไม่ได้ นำมาทำโหม่งฟากเพราะนึกถึงวัยเด็กที่เคยเอากระป๋องโลหะมาตีเล่นให้เกิดเสียงต่างๆ และได้รับคำแนะนำในการตีขึ้นรูปจากนายกลั่น ทักษิณไศล ช่างตีเหล็กเก่าแก่ในบ้านเขาพระ ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  ช่วยสอนวิธีตีให้เพราะนายกลั่นอายุมากไม่มีกำลังในการตีเหล็กแล้ว   วิธีการทำจะต้องนำเหล็กแผ่นมาตัดครึ่งแล้วใช้ค้อนหัวกลมค่อยๆ ตี  การตีแต่ละครั้งจะได้เสียงที่ต่างกัน หลังจากนั้นจึงนำไปประกอบเข้ากับรางที่ทำจากลังไม้เพื่อให้เกิดเสียงดัง




โหม่งหล่อ
       ที่มาภาพ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


โหม่งฟาก แบบใหม่ที่ใช้วิธีการทำโหม่งฟากแบบดั้งเดิมขึ้นมานี้ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่คณะแสดงหนังตะลุงและโนรา  ทั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา ภูเก็ต นราธิวาส เพราะราคาเพียง 1,200บาท ที่สำคัญทนทานมากใช้กันนานหลายสิบปี “ตีจนนายหนังตายก็ยังไม่หมด” ครูชัย เหล่าสิงห์กล่าว


โหม่งฟากแบบกล่อง สามารถพกพาได้สะดวก
ที่มาภาพ:  ชัย เหล่าสิงห์ 

 

โหม่งฟากของครูชัย เหล่าสิงห์ จึงไม่ใช่แค่เครื่องดนตรีที่สำคัญสำหรับการแสดงหนังตะลุง โนรา ศิลปะการแสดงสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของคนภาคใต้ แต่ยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญา การสังเกต และการรื้อฟื้นภูมิปัญญาทางเชิงช่างในการทำโหม่งแบบโบราณนำมาผสมผสานเก่าใหม่อย่างลงตัวเพื่อการสืบสานสืบทอดศิลปะวัฒนธรรม 

มาร่วมสัมผัสโหม่งฟาก พร้อมฟังเรื่องเล่าจากครูชัย เหล่าสิงห์ ผู้รื้อฟื้นการทำโหม่งฟาก ได้ที่บูธนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ “ทักษิณถิ่นไทย ใต้ร่มพระบารมี” ที่เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)ร่วมกันจัดขึ้นที่วัดคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2560  นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ และวัตถุที่หาชมได้ยาก  การแสดงพื้นบ้าน และวงเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในภาคใต้กว่า 30 แห่ง  เพื่อแสดงให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวใต้ที่ได้รับการเก็บรักษา และถ่ายทอดผ่านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  รวมทั้งร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อคนในภาคใต้ผ่านนิทรรศการภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในคราวเสด็จภาคใต้ รวมทั้งโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการน้อมนำเอาโครงการหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต งานนี้ ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย




 

ผู้ให้ข้อมูล
ประเสริฐ รักษ์วงศ์. 26 มีนาคม 2560
ชัย เหล่าสิงห์. 26 มีนาคม 2560

อ้างอิง :

ธนาคารไทยพาณิชย์,มูลนิธิ. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทยธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.

ชื่อผู้แต่ง : นวลพรรณ บุญธรรม