ท่าพูดต่างมุมมอง

ผู้เขียนอยากจะแนะนำหนังสือ “ท่าพูด ต่างมุมมอง” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นหนังสือรวมบทความ 6 เรื่อง 6 รส และ 1 บทบรรณาธิการเสริมชูรสให้กลมกล่อมมากยิ่งขึ้น

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ การสะท้อนให้เห็นงานสหวิชาการต่อพื้นที่ชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง  วิธีการ ประสบการณ์ การตีความ และความรู้ของแต่ละท่านอาจต่างกันแต่เมื่อมารวมกันเพื่ออธิบายชุมชนแห่งหนึ่งก็เสริมกันในที

นักวิชาการศูนย์ฯ ทั้ง 6 ท่านบอกเล่าประสบการณ์ทำงานและมุมมองที่หลากหลาย อันเนื่องมาจากภูมิหลังและความสนใจแตกต่างกัน ที่มีต่อชุมชนท่าพูดในมิติต่างๆ ทั้งด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และมานุษยวิทยา ได้แก่

“มาดูจารึกที่วัดท่าพูด” - ดร.ตรงใจ หุตางกูร
“ตำรายาที่ท่าพูด” - ดอกรัก พยัคศรี
“บันทึกเรื่องราวของ ‘กระดาษ’เล่าเรื่องชุมชนท่าพูด" - จุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์
“ตลาดท่าเกวียนในความทรงจำ” และ “หัวโตกับงานบุญของชุมชนริมน้ำ”  - นวลพรรณ บุญธรรม
และ “ความศักดิ์สิทธิ์และเรื่องเล่าอภินิหารในองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง” - รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์



พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม เป็นหนึ่งในสามกรณีศึกษาที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เข้าไปทำวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เพื่อจะทำความเข้าใจว่าพิพิธภัณฑ์มีความหมายอย่างไรต่อชุมชนและคนทำพิพิธภัณฑ์ หรือมีความเชื่อมโยงกับรากฐานของชีวิตในท้องถิ่นอย่างไร

เห็นด้วยกับเสี้ยวหนึ่งของบทบรรณาธิการของชีวสิทธิ์ บุณเกียรติ ว่าหน้าที่และความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ก็คือการส่งต่อ “ความรู้” สู่สาธารณะและคนรุ่นต่อไป แต่ความรู้ดังกล่าวก็ไม่ใช่ความรู้ที่เบ็ดเสร็จ ทุกคนควรตั้งคำถามและอภิปรายต่อ

“หัวใจของพิพิธภัณฑ์ในทัศนะของบรรณาธิการจึงไม่ได้อยู่ที่การสร้างชุดนิทรรศการที่มีมูลค่าสูงหรือนำเสนอด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากแต่อยู่ที่ความสามารถของพิพิธภัณฑ์ในการส่งต่อพยานชนิดต่างๆ ให้กับคุนรุ่นต่อไปได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ การส่งต่อพยานหรือกลาวอีกทางหนึ่งคือ “มรดกวัฒนธรรม” ที่เป็นกายภาพและที่เป็นนามธรรม จะช่วยกระตุ้นให้ชนรุ่นหลังได้ตั้งคำถามใหม่และอภิปรายไปอย่างไม่รู้จบ นี่คือเสน่ห์ของการทำงานพิพิธภัณฑ์ที่ช่วยให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตและส่งเสริมให้สังคมเรียนรู้ร่วมกัน “รู้จักเขา รู้จักเรา และรู้จักตัวตน”



จนถึงวันนี้เป็นเวลาร่วมสิบกว่าปีแล้ว พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านท่าพูด และชุมชนท่าพูด ยังคงเป็นสนามที่ศูนย์ฯ เข้าไปหาประสบการณ์ ร่วมตั้งคำถาม ชวนสนทนา และเรียนรู้สรรพสิ่งอย่างไม่รู้จบ นักวิชาการของทั้งศูนย์ฯและนักวิจัยจากภายนอก ครูบาอาจารย์ ที่ให้ใจ ทุ่มเท และร่วมหัวจมท้ายกันมาอย่างยาวนาน  และลุงป้าน้าอาที่เคยร่วมทำงานกับศูนย์ฯ ก็ยังคงไปมาหาสู่กันเสมือนญาติสนิท เราต่างพบปะเจอกันทั้งในงานบวช งานแต่ง เรียกได้ว่าทั้งงานราษฎร์งานหลวง  ล่าสุดเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ชุมชนท่าพูดเพิ่งยกพลมาร่วมจัดนิทรรศการ “แม่โพสพในความเปลี่ยนแปลง” และเตรียมพบนิทรรศการเล็กๆ และการเปิดตัวหนังสือท่าพูดต่างมุมมองเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ผู้เขียนคิดว่าท่าพูดยังคงเป็นสนามที่น่าสนใจ เป็นชุมชนรอยต่อระหว่างชีวิตเมืองและชนบท ที่สามารถตั้งคำถาม ถกเถียง และเรียนรู้ได้อย่างไม่รู้จบ หากต่างฝ่ายต่างไม่เบื่อกันไปเสียก่อน.

ดาวน์โหลดอ่านฟรี หนังสือท่าพูดต่างมุมมอง
ดาวน์โหลดอ่านฟรี สูจิบัตรประกอบนิทรรศการแม่โพสพในความเปลี่ยนแปลง

 

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี