สรุปการประชุมวิชาการ เรื่อง “การเชื่อมโยงความรู้ : ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี”(2)

วันที่สอง (30 พ.ค. 57)

 
การบรรยาย เรื่อง R/Evolutionary Opportunities for Subject Librarians” โดย Ms. Dianne  Cmor
       
Ms. Dianne Cmor บรรณารักษ์จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยนันยาง ประเทศสิงคโปร์ รับผิดชอบงานด้านพัฒนาห้องสมุด ตลอดจนสนับสนุนและดูแลบรรณารักษ์วิชาชีพเพื่อฝึกอบรมในการปฏิบัติการในต่างประเทศ มีความสนใจพิเศษด้านการวางแผนและจัดการห้องสมุดรวมทั้งการใช้และผลกระทบต่อทรัพยากรและบริการห้องสมุด
       
ทางด้านการพัฒนาบรรณารักษ์ให้เป็น Subject Librarians (บรรณารักษ์เฉพาะทาง จะเชี่ยวชาญสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ห้องสมุดทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีบรรณารักษ์เฉพาะทางด้านต่างๆ เช่น โลกศึกษา เอเซียศึกษา)  

สิ่งแรกที่บรรณารักษ์ต้องทำคือการปรับเปลี่ยนมุมมอง หน้าที่ของบรรณารักษ์ไม่ได้มีแค่สนับสนุน และให้บริการด้านคอลเลคชั่นเท่านั้น แต่บรรณารักษ์ต้องคิดแทนผู้ใช้บริการ ว่าผู้ใช้บริการต้องการอะไรบ้าง บรรณารักษ์จึงต้องเป็นมากกว่าบรรณารักษ์

เพราะต้องวิจัย สอน และเรียนรู้ไปด้วยกันกับผู้ใช้บริการ ดังนั้น Subject Librarians ในฝันจะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ คือ เป็นทั้งได้ที่ปรึกษาด้านการวิจัย เป็นผู้สอนและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ใช้บริการ เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารกับนักวิชาการได้อย่างเข้าใจ และต้องเป็นรอบรู้และเท่าทันเทคโนโลยี
       
Ms. Dianne กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การส่งเสริมให้บรรณารักษ์มีความสามารถเฉพาะด้านเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง





การบรรยาย เรื่อง “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง Academic Solution Provider” โดย ผศ.ดร. พิมพ์รำไพ  เปรมสมิทธ์ และ  รศ.ดร. พสุ เดชะรินทร์  ดำเนินรายการ โดย ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์
       
ผศ.ดร. พิมพ์รำไพ รักษาการแทนผู้อำนวยการสํานักงานวิทยทรัพยากรและ อาจารย์ประจําภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จฬุาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทของห้องสมุดในอนาคตว่า ห้องสมุดจะกลายเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างโลกแห่งความจริง กับโลกดิจิทัล เป็นสถานที่สำหรับสมาคม เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน แต่ไม่นานมานี้มีรายงานเรื่อง Academic Library Autopsy Report, 2050 ของ Brian T. Sullivan(ห้องสมุดจะตายใน ค.ศ. 2050)

        - ต่อไปห้องสมุดจะไม่มีหนังสือ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะกลายเป็นดิจิทัลทั้งหมด
        - ฐานข้อมูลจะเป็นเพิ่มขึ้น และใช้ง่ายขึ้น
        - การเรียนการสอนวิชาบรรณารักษ์และสารสนเทศจะไม่มีอีกต่อไป
        - บรรณารักษ์จะไปผนวก และผสมผสานกับฝ่ายเทคโนโลยี
        - โต๊ะตอบ-ถาม ของบรรณารักษ์จะหายไป
       
รายงานฉบับหนึ่งสร้างกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในแวดวงของบรรณารักษ์ บ้างก็ว่าห้องสมุดไม่มีทางตายอย่างที่รายงานชิ้นนี้กล่าวไว้ บ้างก็ว่าห้องสมุดจะตายก่อน ค.ศ. 2050 ด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องแบบนี้บรรณารักษ์คนใดคงไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องจริง
       
แล้วห้องสมุดจะทำอย่างไรไม่ให้ตนเองต้องเป็นศพที่ถูกชันสูตร? ฉะนั้นห้องสมุดต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการประยุกต์แนวคิดและเทคโนโลยีเว็บ 2.0 และรูปแบบใหม่ของการบริการในห้องสมุด
       
เทคโนโลยีเว็บ 2.0 เป็นโปรแกรมที่มีลักษณะส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล การออกแบบที่เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง และการร่วมสร้างข้อมูลในโลกของอินเทอร์เน็ตเวิลด์ไวด์เว็บ เว็บไซต์ที่ออกแบบโดยใช้หลักการของเว็บ 2.0 ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานสามารถปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกันในลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ โดยกลุ่มผู้ใช้งานเป็นผู้สร้างเนื้อหาขึ้นเอง เว็บ 2.0 จะมีลักษณะและคุณสมบัติ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดดังนี้ :

     - Search หาข้อมูลจากคีย์เวิร์ด
     - Links โยงข้อมูลไปยังเว็บไซต์อื่น
     - Authoring สามารถสร้างหรือแก้ไขข้อมูลร่วมกันได้ เช่น วิกิผู้ใช้สามารถ เพิ่ม แก้ไข หรือลบข้อมูล ในบล็อกผู้ใช้สามารถโพสต์คอมเมนต์ได้
     - Tags จัดหมวดหมู่ให้กับข้อมูลโดยใช้แท็ก - คำสั้นๆ ใช้อธิบายว่าข้อมูลนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
     - Extension ส่วนเสริมสำหรับเว็บแอปพลิเคชัน รวมถึงซอฟต์แวร์จำพวก อะโดบี รีดเดอร์ แฟลช ไมโครซอฟท์
ซิลเวอร์ไลต์ แอ็กทีฟเอ็กซ์ จาวา ควิกไทม์ และอื่นๆ
     - Signals เทคโนโลยีที่แจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา เช่น RSS Atom เป็นต้น
(ตัวอย่างเทคโนโลยีเว็บ 2.0 ได้แก่ wikis, social networking, blogs เป็นต้น)
       
รูปแบบใหม่ของการบริการในห้องสมุด Mobile Service การสร้าง applicationเพื่อให้ผู้ใช้บริการสะดวกสบายไม่ต้องมาถึงห้องสมุดก็สามารถใช้บริการได้ ตัวอย่างเช่น MIT Mobile apps สามารถค้นหาและสั่งจองหนังสือได้ เครื่องมือช่วยค้นสำหรับการทำงานวิจัย เป็นต้น




การบรรยาย เรื่อง Smart Libraries : ต่างคนคิด พลิกมุมมอง” โดย ดร.ยรรยง เต็งอำนวย และ นฤมล กิจไพศาลรัตนา ดำเนินรายการโดย ฐาวรา สิริพิพัฒน์
       
คุณนฤมล บรรณารักษ์เชี่ยวชาญระดับ 9(P4) และผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทางสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงปัญหาที่กำลังเกิดกับห้องสมุดแทบทุกแห่งคือ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนเร็ว ข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น internet google กลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของห้องสมุด พฤติกรรมของผู้ใช้เปลี่ยน เข้าห้องสมุดน้อยลง ยุคสังคมก้มหน้า เป็นต้น
       
การปรับตัวของห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดจากแนวคิดที่ว่า ห้องสมุดต้องเป็นมากกว่าห้องสมุด เป็นห้องสมุดที่มาแล้วประทับใจเกิดภาพจำที่ดีและต้องมาอีก ห้องสมุดที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้มากที่สุด หรือเรียกว่าพยายามปรับตัวให้อยู่รอดจากวิกฤตที่กำลังเผชิญ โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

        การจัดพื้นที่สำหรับห้องละหมาด
        การจัดห้องสมุดเคลื่อนที่ ห้องสมุดรถตู้
        ห้องน้ำสีเขียว ห้องน้ำสะอาด
        Green library ศาลาหนังสือกลางแจ้ง
        Wireless area and cyber zone
        Polsci-ilibrary แอปพลิเคชัน search,renew/hole, e-book, e-journal, link
        Library beep แจ้งเตือนเมื่อถึงวันที่ต้องคืนหนังสือด้วยระบบ SMS
        Coffee@library
        Book delivery ตั้งกล่องสำหรับคืนหนังสือเวลาห้องสมุดปิด
        Welcome drink ในทุกเดือนจะจัดปาร์ตี้เล็กๆ ที่ห้องสมุด ให้ผู้ใช้บริการมาพบปะพูดคุยกัน
        Citation clinic งานบริการถามตอบคำถามสำหรับการใช้อ้างอิง
        Book fair
        ฯลฯ




การบรรยาย เรื่อง “Mind management : ข้อคิดจากขุนเขา” โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร
       
ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักเขียนและวิทยากรรับเชิญด้านการพัฒนาชีวิต จิตวิทยา พุทธปรัชญา
 
ขุนเขาได้บรรยายเรื่องกลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน ซึ่งการสร้างลักษณะนิสัยเช่นนี้ใช้โมเดลที่เรียกว่า PEPSI คือ

        Passion ปลูกฝังให้รัก หาเรื่องที่ชอบ สร้างนิสัยด้วยการอ่านตลอดเวลา อ่านทุกอย่าง “เมื่อคุณทำสิ่งใดนานๆ สมองจะเพียง อยากได้ แต่ สมอง จะรู้สึกเหมือน ขาดมัน ไม่ได้
        Environment พกหนังสือติดกระเป๋าไว้เสมอ
        People
        Sharing เล่าให้คนอื่นฟัง ทำให้คนอื่นสนใจ
        Inspire สร้างแรงบันดาลใจ
 
สุดท้าย สมองเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อน ละเอียดอ่อนและยากที่จะเข้าใจ  “เราไม่ใช่เจ้าของสมองและร่างกาย เราจึงไม่สามารถควบคิดสมองไม่ให้คิดถึงได้ ไม่สามารถสั่งให้กระเพาะหยุดย่อยอาหาร ไม่สามารถบังคับให้จมูกหยุดหายใจได้”




ผช. ดร. พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์ กล่าวสรุปประชุมในตอนท้ายและหวังว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจะนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดพัฒนางานให้ก้าวทันโลกยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดจนสามารถขจัดปัญหาและช่องว่างต่างๆ ในการปรับตัวและแข่งขันกับสังคมการเรียนรู้ยุคปัจจุบันได้อย่างเฉียบคมและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของบรรณารักษ์ นักสารสนเทศ นักคอมพิวเตอร์ นักเทคโนโลยีทางการศึกษา และอื่นๆ ในการเป็นผู้บริหารหรือผู้ให้บริการจำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจความต้องการและสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ของผู้ใช้บริการยุคใหม่ สามารถคิดค้นและแสวงหาวิธีรับมือได้ทันท่วงที เพราะภารกิจของห้องสมุดและสถาบันบริการสารสนเทศต่างๆ ย่อมมีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ในขณะเดียวกัน องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ให้อยู่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

*รูปประกอบจาก เอกสารการประชุมสำนักงานวิทยทรัพยากร ประจำปี 2557 (OAR Conference 2014)

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : นิสา เชยกลิ่น