“ป้ายคำอธิบายอิเล็กทรอนิก” นวัตกรรมใหม่ที่ออกมายั่วน้ำลายภัณฑารักษ์ ในบทความเรื่อง Electronic Paper Revitalizes the Museum โดย Ursa Primozic ผู้จัดการด้านการสื่อสารของบริษัทผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง อธิบายว่าปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงใช้ป้ายคำอธิบายที่พริ้นต์ออกมาจากเครื่องพริ้นเตอร์เพื่ออธิบายวัตถุจัดแสดง เธอบอกว่าป้ายคำอธิบายแบบเดิมที่เป็นกระดาษธรรมดาแม้จะดูว่าง่าย แต่เอาเข้าจริงก็น้องๆ งานหัตถกรรมที่ต้องใช้แรงงาน เวลา และมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย
บทความเรื่อง How Shall We Label Our Exhibit Today? Applying the Principles of On-Line Publishing to an On-Site Exhibition ของ Ross Parry, and Mayra Ortiz-Williams, University of Leicester; and Andrew Sawyer, Simulacra, United Kingdom บอกเล่าพัฒนาการและวัฒนธรรมของป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์ว่า พิพิธภัณฑ์ใช้ป้ายคำอธิบายที่เป็นตัวอักษรในการจัดแสดงเมื่อกว่า 400 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชมในทุกประสาทสัมผัส แม้พิพิธภัณฑ์จึงใช้สื่อดิจิทัลเข้ามาร่วมจัดแสดงมากขึ้น แต่สุดท้ายอย่างไรเสียการ “แปะป้าย” ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด หรือในแพลตฟอร์มใด วิธีการนี้มันก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
มีกระแสวัฒนธรรมที่ก่อกำเนิดป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์อย่างน้อยสองกระแสในยุโรปคือ วัฒนธรรมของสัญลักษณ์ และวัฒนธรรมของการจำแนกประเภท ในวัฒนธรรมแรกมาจากโลกของผู้อธิบาย บทกวี และการจัดแสดง ส่วนวัฒนธรรมที่สองมาจากโลกปรัชญาทางธรรมชาติ และการทำแคตลาล็อก อย่างที่ทราบกันดีว่าถึงขั้นมีแนวปฏิบัติการเขียนป้ายคำอธิบาย เช่น ควรใช้ฟ้อนต์อะไร ขนาดเท่าไร ความยาวกี่บรรทัด แต่ละบรรทัดควรมีความคิดหลักเพียงอันเดียว หลีกเลี่ยงการเขียนประโยคขยาย ฯลฯ
เมื่อพิพิธภัณฑ์จะขาดป้ายคำอธิบายไม่ได้ ปัจจุบันจึงมีความพยายามวิจัยและคิดค้นป้ายคำอธิบายที่ตอบสนองความต้องการของภัณฑารักษ์เช่น สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้อย่างทันท่วงที หรือกระทั่งคนชมสามารถช่วยสร้างเนื้อหาได้ สามารถอัพเดทเนื้อหาได้จากอุปกรณ์อื่นๆ หรือจากเว็บ ซึ่งบทความของ Ross Parry, and Mayra Ortiz-Williamsเรียกมันว่า LIVE Label ซึ่งเริ่มพัฒนาต้นแบบป้ายคำอธิบายในลักษณะดังกล่าวในปี ค.ศ. 2007 ภายใต้ความเชื่อที่ว่าอนาคตของเทคโนโลยีจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพิพิธภัณฑ์ ทำให้งานพิพิธภัณฑ์ง่ายขึ้น ทางเลือกหนึ่งก็คือ “กระดาษอิเล็กทรอนิกส์”
ภาพจาก https://goodereader.com/blog/e-paper/electronic-paper-revitalizes-the-museum
สิบปีต่อมา คือในปี 2017 บริษัทผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกแห่งหนึ่งจึงทำสำเร็จในเชิงการผลิตเพื่อจำหน่ายภายใต้ชื่อ AMLABEL Digital Displayเรียกอีกอย่างว่ามันคือ กระดาษอิเล็กทรอนิกแบบหนึ่ง Ursa Primozic ผู้จัดการบริษัทผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกดังกล่าว อ้างว่ามีการสำรวจพิพิธภัณฑ์จำนวนหนึ่งพบว่า มีพิพิธภัณฑ์กว่า 66 เปอร์เซ็นต์ที่พริ้นต์ป้ายคำอธิบายมากกว่า 200 ป้ายต่อปี ส่วนอีก 33 เปอร์เซ็นต์พริ้นต์มากกว่า 500 ป้ายต่อปี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 70-100 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งป้าย หรือประมาณ 2,450 – 3,500 บาทต่อป้าย ราคานี้รวมทั้งค่าออกแบบและค่าแรง สำคัญคือหากต้องการเปลี่ยนแปลงป้ายคำอธิบาย วิธีการทำป้ายคำอธิบายแบบเดิมๆ ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายอีกรอบ ดั้งนั้นบ่อยครั้งป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์มักจะเป็นภาษาเดียวและมีขนาดฟ้อนต์เดียวอยู่เสมอ พูดง่ายๆ คือไม่ค่อยมีใครจะเปลี่ยนป้ายคำอธิบายมากนัก อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น
ภาพจาก https://goodereader.com/blog/e-paper/electronic-paper-revitalizes-the-museum
บริษัทอธิบายความน่าสนใจของ AMLABEL Digital Displayว่าแตกต่างจากจอแสดงดิจิทัลอื่นๆ ตรงที่มันเป็นกระดาษอิเล็กทรอนิกที่เลียนแบบหมึกพิมพ์บนกระดาษจริง เวลานำไปติดตั้งจะรู้สึกได้ว่าผสานอย่างแนบเนียนกับฉากหลัง สามารถปรับเปลี่ยนฟ้อนต์และภาษา เป็นทางเลือกสำหรับผู้เยี่ยมชมทุกกลุ่มที่สามารถเลือกอ่านภาษาได้ และการเพิ่มขนาดฟ้อนต์ได้เหมาะกับผู้สูงวัย หรือผู้บกพร่องทางสายตา
ขนาดจอมีให้เลือกสองขนาดคือ 6 นิ้ว และ 9.7 นิ้ว สรุปว่ามีคุณสมบัติน่าสนใจอย่างน้อย 6 ข้อคือ ประการแรกจอสามารถปรับไปตามความสว่างของแสงที่อยู่รอบๆ ประการสอง สามารถอัพเดทเนื้อหาผ่านอุปกรณ์ทุกชนิด ผ่านระบบ AMLABEL’s CMSโดยใช้Wi-Fi ที่มี ประการที่สามคือประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานต่ำกว่าจอแอลซีดีถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ประการที่สี่คือ ใช้งานยาวนานถึงหนึ่งเดือนโดยไม่ต้องชาร์ตแบตเตอรี่ ประการที่ห้าคือ เนื่องใช้แบตเตอรี่ให้พลังไม่จำเป็นต้องใช้สายไฟ ติดตั้งง่าย ประหยัดเวลา และสุดท้ายคือไม่ต้องเจาะผนัง ติดตั้งโดยการใช้แผ่นแม่เหล็ก จึงไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่พิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ที่ทดลองนำ e-label ไปใช้ที่แรกคือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮุสตัน ในบางส่วนของนิทรรศการ CORE 2016
อ้างอิง
https://www.museumsandtheweb.com/mw2007/papers/parry/parry.html (accessed 20170929)
https://goodereader.com/blog/e-paper/electronic-paper-revitalizes-the-museum(accessed 20170928)