สรุปการประชุมวิชาการ เรื่อง “การเชื่อมโยงความรู้ : ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี”(1)

การเข้าสู่สังคมยุคออนไลน์ โดยมีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ เป็นช่องทางเพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายไร้สายได้สะดวกรวดเร็ว คลังความรู้ดิจิทัลและสื่อมัลติมีเดีย จึงมีความสำคัญมากขึ้น จนเกิดความท้าทายในการปรับตัว การตอบสนองการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในศตวรรษที่ 21
 
สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมวิชาการ เรื่อง “การเชื่อมโยงความรู้ : ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี” เมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมสวิซโซเทล เลอ คองลอร์ด กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา

 
วันแรก...เริ่มต้นการบรรยาย เรื่อง Always One Step Ahead! Libraries as community centers hubs for digital  inclusion” โดย Dr. Hannalore Vogt Director of Cologne Public Library, Germany
 
Dr. Vogt ยกตัวอย่างห้องสมุดสาธารณะของเมืองโคโลจ์ญ ประเทศเยอรมนี การตลาดและการยึดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับห้องสมุด และพนักงานควรตระหนักว่าตนเองมีส่วนในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยการสื่อสารเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้
 
ทำไมต้องยึดผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ Dr.Vogt เล่าว่า หากผู้ใช้บริการพอใจจะบอกต่อประสบการณ์เชิงบวกของเขาให้อีก 3 คนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าลูกค้าผิดหวัง ลูกค้าจะเล่าประสบการณ์เชิงลบให้กับคนถึง 10-12 คน ซึ่งควรพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งด้วย แบรนด์จะเป็นภาพลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวของบริษัทที่ฝังใจกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ ใช้บริการถาวร แบรนด์จึงเป็นคำสัญญาในคุณภาพ
 
ห้องสมุดสามารถชักจูงผู้อื่นให้หันมาลงทุนกับห้องสมุดได้อย่างไร Dr. Vogt แนะนำว่า ห้องสมุดควรบริการผู้ใช้บริการเหนือไปอีกขั้น เช่น การเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง การปรับปรุงการให้บริการโดยยึดลูกค้าเป็นหลัก และการรักษาลูกค้า ส่วนสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ภาษากายและสิ่งที่ปรากฎ 55% น้ำเสียง 38% เนื้อหา 7%
 
Dr. Vogt ได้ยกตัวอย่าง รายงานแนวโน้มของ IFLA(International Federation of Library Associations and Institutions) ปี 2013 มี 5 แนวโน้ม ดังนี้
    1. เทคโนโลยีจะทั้งส่งเสริมและสกัดกั้นคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
    2. การศึกษาออนไลน์จะสร้างความเสมอภาค และทำให้กระบวนการเรียนของโลกยุ่งเหยิง
    3. เราต้องนิยามขอบเขตของความเป็นส่วนตัวและการปกป้องทางข้อมูลกันใหม่
    4. สังคมออนไลน์จะรับฟังและส่งเสริมความคิดเห็น
    5. เทคโนโลยีใหม่จะพลิกโฉมสภาวะข้อมูลข่าวสารทั่วโลก

ห้องสมุดสาธารณะต่างๆ จะได้รับผลกระทบโดยการเปลี่ยนมาทำงานกับคนมากกว่าทำงานกับหนังสือ จากผู้จัดหาสินค้าและบริการ มาเป็นผู้ช่วยเหลือให้ผู้ใช้บริการแต่ละคนสามารถพัฒนาสินค้าหรือตอบสนองให้ ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ
 
Dr. Vogt  มองว่า ห้องสมุดในอนาคตต้องเข้าถึงผู้คนในระดับอารมณ์ให้มากกว่าเดิมและเสริมสร้าง บรรยากาศที่สร้างความสุขให้กับผู้ใช้บริการ ตอกย้ำประสบการณ์ผู้ใช้บริการและการมีปฏิสัมพันธ์เป็นสำคัญ ดึงดูดผู้ใช้บริการทุกด้าน ทุกประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นเสียง กลิ่นหอม และแสง มอบโอกาสการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการทุกรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง แบบมีผู้ช่วย และแบบเป็นกลุ่ม และต้องเล็งเห็นการให้บริการห้องสมุดแบบดิจิทัล

แล้วเราจะต้องการอะไรมากขึ้น? ห้องสมุดมีพื้นที่สำหรับเด็ก พื้นที่สำหรับทำกิจกรรม เรื่องราวของคนท้องที่หรือของครอบครัว ห้องสมุดไม่ใช่แค่มีแต่หนังสือ แต่ควรมีนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจ ร้านกาแฟ การจัดวางแบบใหม่เพื่อการเรียนรู้
 
Dr.Vogt ได้ทิ้งท้ายการบรรยายว่า “สร้างมันสมอง พัฒนาบริการใหม่ๆ มองหาพันธมิตรและความร่วมมือ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยไหวพริบ หากห้องสมุดแห่งอื่นเริ่มวางแผนเมื่อไหร่ ถือว่าเราได้ทำพลาดเรียบร้อยแล้ว”
 

ช่วง Best for you : Connecting Knowledge ผู้เขียนเลือกเข้าฟังการบรรยาย เรื่อง Media Convergence กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” 
 
วิทยากร โดย  ดร.จารุวัส หนูทอง วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ดร.บรรพต สร้อยศรี ผู้จัดการศูนย์พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เนตร หงษ์ไกรเลิศ สถาบันสุขภาพอาเซียน
 
การเรียนรู้ของเด็กที่เกิดในโลกดิจิทัล การบรรยายอย่างเดียวไม่สามรถทำให้เด็กเรียนรู้ได้ เราจึงต้องบรูณาการ(Convergence) การสอนด้วยสื่อหลายๆ อย่าง พร้อมๆ กัน ผ่านทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อ และวิธีการ เช่นเดียวกับห้องสมุด ที่บทบาทของบรรณารักษ์จะค่อยๆ ลดลง หากบรรณารักษ์ไม่วิ่งตามสื่อของโลกติจิตอล
 
ทำไมต้องมาใช้ Media Convergence ในศตวรรษที่ 21 ดร.จารุวัส เล่าว่า โลกปัจจุบันไม่จำกัดอุปกรณ์ รูปแบบ ในเนื้อหาเดียวกัน แต่ทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน และคนในศตวรรษที่ 21 จะพูดน้อยลง พิมพ์มากกขึ้น ฉะนั้นต้องเข้าใจและสังคมว่าอยู่กับโลกออนไลน์ ส่งผลให้รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยน วิธีการเปลี่ยน เนื้อหาจึงมีความสำคัญมาก เด็กหรือผู้เรียนจะต้องการความเป็นตัวเองมากขึ้น และผู้สอนต้องปรับตัวเข้าหาผู้เรียน
 
แล้วเราต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง ดร.บรรพต กล่าวว่า เริ่มจากสภาพแวดล้อมและข้อมูลจะเปลี่ยนเป็นเนื้อหาดิจิทัล(Digital Content) ข้อมูลต้องมีคุณภาพ พื้นที่การจัดเก็บต้องเพิ่มมากขึ้น เพื่อดูวิวัฒนาการผลิตของข้อมูล อย่างไรก็ดีผู้เรียนและผู้สอนจะมีสมาธิจะสั้นลง ส่งผลต่อคนทำเนื้อหาต่างๆ ฉะนั้นเนื้อหาจำเป็นต้องสั้นและเข้าใจได้ง่าย นอกจากนี้รูปแบบ(platform) ที่ใช้ผลิตเนื้อหามีผลต่อผู้ใช้บริการ ห้องสมุดควรจะสนับสนุน(Support) อย่างไร เนื่องจากสื่อแต่ละประเภทมีอายุสั้นมากขึ้น เราควรต้องมีการ back-up รูปแบบเดิมเพื่อเก็บไว้หรือไม่

ดร.จารุวัส เสริมว่า ปัจจุบันเด็กอ่านหนังสือน้อยลง ดูภาพและวีดีโอเพิ่มมากขึ้น การรับรู้ของเด็กมีจำกัด แต่เด็กจะมีความสามารถเรียนรู้อะไรได้หลายอย่างพร้อมกัน อย่างไรก็ดีเนื้อหาดิจิทัล(Digital Content) มักจะไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เราจึงควรเอาเนื้อหามาตรวจสอบด้วย ในอนาคตเนื้อหาดิจิทัลเมื่อเพิ่มมากขึ้น การดาวน์โหลดสื่อต่างๆ มาใช้ก็เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เด็กมักจะเรียนรู้อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ๆ หรือประสบการณ์ตรง ครูหรือผู้สอนต้องอัพเดตเนื้อหาต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เท่าทันกับกระแสความรู้เหล่านี้
 
ดร.บรรพต เล่าต่อว่า การเรียนการสอน บุคคลากรของห้องสมุดต้องเตรียมตัวให้พร้อมและหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติม เนื่องจากบทบาทของห้องสมุดจะเปลี่ยนไป บรรณารักษ์ต้องทำ Metadata และสื่อพร้อมกัน ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบ ผู้ใช้บริการก็จะลดน้อยลง ผู้ให้บริการต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะการเรียนรู้ในโลกปัจจุบันมีอยู่ทุกที่และทุกเวลา และต้องทำให้ผู้ใช้บริการพอใจมากที่สุด
 

และช่วง Knowledge Shopping @Learning Plaza ช่วงสุดท้ายของวันนี้ ผู้เขียนเลือกเข้าฟังการบรรยาย เรื่อง “เชี่ยวชาญด้วย 3A(Access @home Activity)” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกรี สินธุภิญโญ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมถึง Social Network ที่กำลังเติบโต การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยเป็นสิ่งสำคัญมาก คนรุ่นใหม่เกิดคำถามว่า อยากได้อะไรจากห้องสมุด ห้องสมุดต้องมีความทันสมัยมากขึ้นไหม ดร.สุกรี มีคำตอบด้วย 3A
 
Access การเข้าถึง เราควรคิดว่าคนรุ่นใหม่หรือเด็กรุ่นใหม่อยากได้อะไร หลักกการหนึ่งของการทำนวัตกรรม ควรเปลี่ยนมุมมองที่มีในอดีต และเปลี่ยนมุมมองที่เคยใช้ในห้องสมุดปัจจุบัน ทำไมหลายคนไม่เข้าห้องสมุด และเราจะเปลี่ยนห้องสมุดเป็นบ้านหลังที่ 3 ได้อย่างไร ที่สามารถหาความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
 
@home ปัจจุบันเราสามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน เช่น อินเตอร์เน็ต ทีวีดิจิทัล และสามารถปลูกฝังการหาความรู้กับสมาชิกครอบครัว เช่น หากิจกรรมที่ไม่มีอยู่ในโรงเรียนมาทำร่วมกัน
 
Activity เราสามารถนำแนวคิดมาสร้างสรรค์และพัฒนาให้คนอยากเข้าห้องสมุดมากขึ้น เช่น information sharing หนังสือออนไลน์ ปัจจุบันการอ่านหนังสือออนไลน์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเนื้อหา(content) ที่เหมาจ่ายจากต่างประเทศ ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการสร้างเนื้อหา(content) เอง
 
ดร.สุกรี กล่าวปิดท้ายว่า เราสามารถนำแนวคิด 3A ไปพัฒนาและเปิดเป็นแนวทางความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานหรือห้องสมุดให้ทัน สมัยได้ และได้ยกตัวอย่าง Activity ที่ดร.สุกรีเคยทำให้กับคนตาบอด ซึ่งร่วมทำกับเพื่อนๆ โดยการนำนิทรรศการภาพถ่ายมาทำปูนปั้นให้คนตาบอดสัมผัสและเรียนรู้

*รูปประกอบจาก เอกสารการประชุมสำนักงานวิทยทรัพยากร ประจำปี 2557 (OAR Conference 2014)

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : วริสรา แสงอัมพรไชย