หากนักท่องเที่ยวคนใดได้มีโอกาสไปเยือนกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา คงไม่พลาดที่จะแวะบริเวณพื้นที่ในย่าน National Mall เพราะมีสถานที่สำคัญๆ ของสหรัฐอเมริกาเรียงรายกันอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น อนุสาวรีย์วอชิงตัน (Washington Monument) อนุสาวรีย์ลินคอล์น (Lincoln Memorial) รวมถึงพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institute) ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในย่าน National Mall นี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The United States Holocaust Memorial Museum) ซึ่งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ลินคอล์น (Lincoln Memorial) เพียงแค่ไม่กี่อึดใจ มีผู้กล่าวไว้ว่าหากผู้ใดได้มีโอกาสสัมผัสเรื่องราวของมนุษยชาติที่แสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เมื่อกลับออกไปแล้วจะไม่อาจลืมเรื่องราวเหล่านี้ได้อีกเลย
พิพิธภัณฑ์ในยามเย็น สามารถมองเห็นอนุสาวรีย์วอชิงตันจากด้านหน้าฝั่งตรงข้ามของตึก
ในปี ค.ศ. 1979 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ประสงค์ให้มีสถานที่รำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นและมีการเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1993 โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดความเกลียดชังกันระหว่างมนุษย์ ป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านบทเรียนจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้ซึ่งมีผู้สังเวยชีวิตกว่าหกล้านคนทั่วโลก นิทรรศการแบ่งออกเป็นนิทรรศการถาวร นิทรรศการพิเศษ และนิทรรศการหมุนเวียน นิทรรศการถาวรกินเนื้อที่สามชั้นและถูกจัดแสดงอยู่ในทางด้านบนของพิพิธภัณฑ์ ส่วนนิทรรศการพิเศษและนิทรรศการหมุนเวียนนั้นกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์
“The Tower of Faces” ที่จัดแสดงโฉมหน้าผู้เสียชีวิตใน Eishishok
ตั้งอยู่ระหว่างชั้นที่หนึ่งและสองของนิทรรศการถาวร
ใน “ชั้นเปิด” ซึ่งเป็นส่วนแรกของนิทรรศการถาวร ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของนาซีในช่วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 จนถึงช่วงสงครามโลกในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการปฏิบัติการต่างๆ ที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเวลาต่อมา นิทรรศการในชั้นนี้แสดงให้เห็นถึงเครื่องมือต่างๆ ที่รัฐบาลนาซีนำมาใช้ในการปฏิบัติการ โฆษณาชวนเชื่อ การขู่คุกคาม การสนับสนุนการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเป็นสิ่งใช้อธิบายสาเหตุว่าทำไมประชาชนจำนวนมากจึงหันมาสนับสนุนรัฐบาลในการต่อต้านชาวยิว นอกจากนี้ยังมีส่วนของห้องภาพยนตร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาที่ไปของแนวคิด Anti-Semitism ที่กระชับและเข้าใจง่าย
รองเท้าจำนวนกว่า 4,000 คู่ ของชาวยิวที่ได้มาจากสถานกักกันใน Auschwitz-Birkenau และ Majdanek ประเทศโปแลนด์ ที่ได้ยืมจาก The State Museum of Majdanek มาจัดแสดง
ชั้นต่อมาคือชั้น "คำตอบสุดท้าย" (ค.ศ. 1940 ถึง 1945)เป็นส่วนที่สองของนิทรรศการถาวรซึ่งนำเสนอเรื่องราวของปฏิบัติการของรัฐบาลนาซีตั้งแต่การแบ่งแยกชาวยิวออกจากประชากรที่เหลือ การสร้างกฎหมายเครื่องหมายพิเศษและการให้ชาวยิวย้ายถิ่นฐานไปยังสลัม มีการจัดแสดงการจลาจลในสลัมวอร์ซอ ไปจนถึงการลงมือฆ่าชาวยิวในสถานกักกันซึ่ง สภาพความโหดร้ายของค่ายกักกันและกระบวนการฆ่าภายในค่ายกักกันถูกนำเสนอผ่านแบบจำลองขนาดย่อมของค่ายกักกันและการจัดแสดงโรงนอนในค่ายกักกันที่ผู้เข้าชมสามารถสัมผัสเตียงที่เหยื่อชาวยิวและรับรู้ถึงบรรยากาศอันน่าหดหู่ภายในค่าย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงคำให้การของผู้รอดชีวิตจากสถานกักกันใน Auschwitz และเรื่องราวของแอนน์แฟรงก์เด็กน้อยชาวยิวเจ้าของเรื่องราวสมุดบันทึกที่ตราตรึงอยู่ในใจผู้คนทั่วโลก
โมเดลจำลองการฆ่าชาวยิวในค่าย Auschwitzประกอบด้วยห้องต่างๆ
เช่น รมแก๊สพิษ และห้องเผาศพ
ในชั้นที่สามซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของนิทรรศการถาวรได้ชื่อว่า “บทสุดท้าย” ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในปี ค.ศ. 1945 และปฏิบัติการของฝ่ายสัมพันธมิตรในการช่วยเหลือเหยื่อชาวยิวออกจากสถานกักกัน รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวการช่วยเหลือชาวยิวโดยคนเยอรมันเอง และคนจากชาติอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือโดยกลุ่มคนฝรั่งเศสใน Le Chambon-sur-Lignon ที่ให้ชาวยิวหลบซ่อนตัวจากพวกนาซีและหลบหนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์ได้ในที่สุด
ภายในห้องจัดแสดง “From Memory to Action: Meeting the Challenge of Genocide”
เมื่อเดินออกจากนิทรรศการถาวร ผู้เข้าชมจะเห็นทางเข้านิทรรศการพิเศษที่มีชื่อว่า From Memory to Action: Meeting the Challenge of Genocide ซึ่งมีเนื้อหาในการกระตุ้นเตือนผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในการนำบทเรียนนี้ไปใช้ในชีวิตจริง โดยให้ความรู้เกี่ยวกฎหมายว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตัวอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยังคงเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเช่นในประเทศรวันดาและซูดาน รวมถึงการตอบสนองต่อความรุนแรงที่พบเห็นโดยการเชิญชวนให้ผู้เข้าชมมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือ แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ และสร้างเครือข่ายการติดต่อทางออนไลน์ร่วมกันเพื่อแบ่งปันข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศต่างๆ
ทางเข้าสู่นิทรรศการ “Remember the Children: Daniel’s Story”
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวพาเด็กและเยาวชนอายุ 8 ปีขึ้นไปมาด้วย สามารถเข้าชมห้องจัดแสดงพิเศษทางด้านขวามือของห้องโถงชั้นล่าง ชื่อว่า Remember the Children: Daniel’s Story ซึ่งเป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวจากบันทึกความทรงจำของเด็กชายชาวยิวคนหนึ่งชื่อ Daniel ที่เติบโตขึ้นมาในนาซีเยอรมนีระหว่าง 1933 และ 1945 นิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของผู้รอดชีวิตและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนี้ การนำเสนอนั้นไล่ตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ผ่านการตกแต่งห้องนิทรรศการที่จำลองเอาสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของสถานที่จริง ซึ่งทั้งภาพ เสียง และกลิ่นที่นำมาประกอบในการจัดแสดงทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกราวกับได้เดินทางผ่านช่วงเวลาต่างๆ ไปกับแดเนียล และเมื่อสุดปลายทางของนิทรรศการ นักท่องเที่ยวสามารถเขียนข้อความถึงแดเนียลซึ่งเป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้และในที่อื่นๆ ทั่วโลก
ภายในห้องจัดแสดง “A Dangerous Lie: The Protocols of the Elders of Zion”
นอกจากนิทรรศการที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษอื่นๆ ที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์และบอกเล่าเรื่องราวผ่านบันทึกความทรงจำต่างๆของผู้คนที่อยู่ในช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายทั้งรูปถ่าย วิดีโอ สิ่งของ บันทึก และหลักฐานอื่นๆ ได้แก่ “Genocide: The Threat Continues” “Some Were Neighbors: Collaboration & Complicity in the Holocaust” และ “A Dangerous Lie: The Protocols of the Elders of Zion” รวมถึงส่วนของการจัดแสดงภาพระบายสีบนกระเบื้องที่ทำโดยเด็กๆ ชาวยิวที่ต้องการสื่อสารถึงความโศกเศร้าจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเรียกร้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
ภาพระบายสีบนกระเบื้องโดยเด็กและเยาวชนชาวยิว
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้มีผู้เข้าชมแล้วมากกว่า 38 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงผู้นำประเทศกว่า 96 ประเทศ และมีการนำเสนอในภาษาต่างๆกว่า 15 ภาษา การเข้าชมนั้นไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้เข้าชมจำนวนมากในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม นักท่องเที่ยวจึงควรมารับบัตรคิวล่วงหน้าที่พิพิธภัณฑ์หรือจองบัตรออนไลน์ทางเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อขอรับข้อมูลสำหรับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สามารถค้นได้ที่เว็บไซต์ http://www.ushmm.org/
ภาพประกอบจาก http://www.ushmm.org/
อ้างอิง :
-