บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 83 บทความ

นักสะสมกับการสะสม (Collectors and Collecting)

20 มีนาคม 2556

          บทความนี้มุ่งไปยังกิจกรรมการสะสมส่วนบุคคล แม้จะเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า  “การสะสมคือการบริโภค(consumption) นักสะสมมีความสุขตรงที่ได้แสวงหาสิ่งของเพื่อเติมเต็มคอลเล็กชั่นของตนให้สมบูรณ์ แม้ของเหล่านั้นเป็นของฟุ่มเฟือยที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้”  แต่ในขณะเดียวกันข้าพเจ้า(ผู้เขียนบทความ) ก็ยังเชื่อด้วยว่า การสะสมอาจเป็นกิจกรรมที่ต่อต้านวัตถุนิยม (anti-materialistic)ได้ด้วยเช่นกัน          Abbas(1988) กับ Appadurai(1986) บอกว่า สำหรับนักสะสมแล้ว การเสาะหาวัตถุเพื่อเข้าสู่คอลเล็กชั่นเป็นการกระทำของการทำให้เกิดการโดดเด่นขึ้น(singularizing) กับเป็นการลดทอนการเป็นสินค้าทั่วไป(decommoditizing)โดยเมื่อวัตถุเข้าสู่คอลเล็กชั่น การเป็นสินค้าที่ซื้อมาขายไปแบบเดิมของมันจะยุติทันที และกลายเป็นของที่โดดเด่นที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนอย่างเสรีกับสิ่งของที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่ากันอีกต่อไป มูลค่าของมันได้ไปผูกติดกับคอลเล็กชั่นทั้งหมด ซึ่งคอลเล็กชั่นก็คือ กลุ่มสิ่งของที่นักสะสมสร้างขึ้นมา บ่อยครั้งเป็นการนำวัตถุออกมาจากวงจรเศรษฐกิจเดิมของมัน หรือชุบตัวมันจากของไร้ค่ากลายเป็นของขึ้นหิ้งไป จะเห็นว่าการบูชา (ritual act) วัตถุแบบนี้ ได้แยกเรื่องประโยชน์ใช้สอยของวัตถุที่เป็นเพียงสินค้าที่สร้างขึ้นด้วยเป้าหมายที่ตายตัวออกไป นักสะสมถูกมองว่า เป็นผู้ขี่ม้าขาวและผู้ช่วยชีวิตวัตถุมากกว่า เป็นนักบริโภคที่เห็นแก่ตัวและละโมบ          มุมมองที่หลากหลายว่าด้วยเรื่องนักสะสมในฐานะผู้บริโภคที่เห็นแก่ตัว และนักสะสมในฐานะฮีโร่โรแมนติก ต่างก็มีปรากฏอยู่ในงานวิจัยและบทความเกี่ยวกับการสะสมดังที่จะกล่าวต่อไปจากนี้ในบทความจะทบทวนประเด็นต่างๆ  ดังนี้-       นิยามของการสะสมและความพิเศษของมันที่ทำให้ต่างกับกิจกรรมอื่น ๆ-       สถานภาพของการสะสมในมิติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เน้นที่จุดกำเนิดและการแพร่หลาย-       ใครคือนักสะสม, การสะสมเกิดขึ้นได้อย่างไร และผลที่ตามมาของการสะสมทั้งในแง่ปัจเจกและสังคม-       ทบทวนงานวิจัยและทฤษฎีเกี่ยวกับการสะสม วีธีวิทยาและแนวคิดต่าง ๆ-       พื้นที่ที่จะต้องการการวิจัยเพิ่มเติม นิยามการสะสม            ถ้าการสะสมเป็นการบริโภค มันก็คือประเภทของการบริโภคที่พิเศษกว่าแบบอื่น ในทางภาษาการบริโภคหมายถึงการใช้ให้หมดไป การตะกลาม หรือการล้างผลาญ แต่ในทางกลับกัน การสะสมก็เกี่ยวกับการเก็บ(keeping)รักษา(preserving)และสะสม(accumulating)หรือแม้แต่การสะสมประสบการณ์ที่จับต้องไม่ได้(เช่น คอลเล็กชั่นรายชื่อประเทศที่เคยไปเที่ยวมาแล้ว, การดูนก หรือจำนวนการเปลี่ยนคู่นอน) มีความรู้สึกของการเก็บไว้ในความทรงจำเข้ามาเกี่ยว สำหรับบางคนมื้ออาหารอาจหมายถึงการได้กินดื่ม ในขณะที่อีกคนมื้ออาหารเป็นประสบการณ์ในเชิงสังคมและรสชาติที่ทำให้เจริญอาหารและติดอยู่ในความทรงจำ ยกตัวอย่างการสะสมไวน์ ไวน์เป็นทั้งของสะสมและการบริโภคด้วย ช่องว่างในตู้ไวน์อาจหมายถึงตัวแทนของวาระสำคัญ, อาหาร และการสังสรรค์กับคนรู้ใจ ดังนั้น คอลเล็กชั่นอาจจะเป็นลำดับเหตุการณ์ต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงวัตถุที่อยู่ในความครอบครองในปัจจุบัน แต่อาจเป็นสิ่งที่เคยอยู่ในการครอบครองด้วยก็ได้            เมื่อมีการสะสมสินค้าอุปโภคบริโภค เราต่างแยกการสะสมให้โดดเด่นออกจากการสะสมประเภทอื่นและกิจกรรมการบริโภคแบบอื่น ในที่นี้การสะสมจึงหมายถึง            “กระบวนการการได้มาและการครอบครองของวัตถุที่เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น, การเลือกสรร  และความหลงไหล ที่เคลื่อนย้ายวัตถุออกจากประโยชน์การใช้สอยเดิม และวัตถุนั้นถูกรับรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดของวัตถุหรือประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน”            นิยามนี้แยกการสะสมออกจากการบริโภคธรรมดาทั่วไป ขึ้นกับนักสะสมที่เคลื่อนย้ายวัตถุออกจากการใช้งานเดิมและวางพวกมันอยู่ในชุดที่ตัวเองนิยามไว้ ในขณะที่บางคอลเล็กชั่นเป็นวัตถุที่มีประโยชน์ใช้สอยเช่น ที่ใส่เกลือกับพริกไทย แต่เมื่อของสิ่งนี้เข้าไปสู่คอลเล็กชั่น มันก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องปรุงรสอีกต่อไป การนิยามยังแยกการสะสมออกจากการรวบรวมหรือการกองระเกะระกะ แต่คอลเล็กชั่นต้องถูก “เลือก” อย่างน้อยอยู่บนฐานของขอบเขตชุดของวัตถุที่จะสร้างขึ้นเป็นคอลเล็กชั่น และการสะสมก็ต่างจากโกดัง(stock) ตรงที่จะไม่เก็บของที่ซ้ำกัน ตั้งอยู่บนกฎที่ว่าไม่เก็บของซ้ำกันสองชิ้น (no two alike)            จากนิยามข้างต้นคงจะช่วยให้แยกแยะได้ว่าของธรรมดาในบ้าน เช่น แผ่นเสียง หนังสือ หรือภาพถ่าย จะถือว่าเป็นการสะสมหรือไม่ ถ้าของเหล่านี้ถูกหยิบฟังได้อย่างเสรี ถูกหยิบมาอ่าน หรือภาพถ่ายที่เก็บไว้เป็นที่ระลึกเตือนความทรงจำ การใช้งานอย่างธรรมดานี้ไม่นับว่ามันคือส่วนหนึ่งของการสะสม แต่ถ้ามันถูกให้ค่าว่ามีการเก็บเป็นหมวดหมู่โดยไม่ว่าเป็นเกณฑ์ทางด้านความงามหรือวิทยาศาสตร์ นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นการสะสม(collecting)            นิยามของการสะสมที่จะใช้ในที่นี้อีกประการหนึ่งคือ การแยกออกจากกันระหว่างนักสะสมที่กระตือรือล้นในการแสวงหาวัตถุ กับภัณฑารักษ์ที่ไม่ได้ดิ้นรนในการหาของ ภัณฑารักษ์อาจจะเป็นนักสะสมที่เสาะแสวงหาวัตถุสำหรับคอลเล็กชั่นหนึ่ง แต่เมื่อการค้นหาสิ้นสุดลง การสะสมก็หยุดลงด้วย ในทำนองเดียวกัน ผู้รับมรดกบางคนหรือคนที่ซื้อคอลเล็กชั่นเข้ามาโดยปราศจากการหามาเพิ่ม หรือแทนที่วัตถุชิ้นหนึ่งด้วยวัตถุอีกชิ้น ก็เป็นได้เพียงภัณฑารักษ์ ไม่ใช่นักสะสม แต่นิยามนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า คอลเล็กชั่นยังคงเป็นคอลเล็กชั่นต่อไปแม้นักสะสมสิ้นสุดการเป็นเจ้าของมันแล้ว ตราบใดที่วัตถุนั้นยังคงถูกแสวงหาอย่างเลือกสรร เพื่อที่จะถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของชุดวัตถุที่ไม่เหมือนกัน คอลเล็กชั่นจึงสามารถอยู่คงทนกว่านักสะสม กล่าวได้ว่าการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของคอลเล็กชั่น เป็นสัญลักษณ์ของวัตถุซึ่งไม่มีวันตาย ถือเป้าหมายสูงสุดของนักสะสมหลายคน จุดกำเนิดและการแพร่หลายของการสะสม            เมื่อการสะสมเป็นกิจกรรมการบริโภคอย่างหนึ่ง จึงอาจคาดได้ว่าการสะสมอาจพัฒนาและเฟื่องฟูในยุคที่ลัทธิบริโภคนิยมเฟื่องฟูด้วย มีหลักฐานบางอย่างสนับสนุนสมมติฐานนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าราชสำนัก และวัด ก็มีคอลเล็กชั่น งานศิลปะ สรรพาวุธ และทรัพย์สินมีค่า อยู่ก่อนหน้านั้นแล้วจากงานวิจัยของ Rigby (1944) ชี้ให้เห็นว่าการสะสมเกิดขึ้นแพร่หลายหลังจากอาณาจักรกรีกถูกรวมเป็นปึกแผ่นโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล อันเนื่องมาจากการทะลักเข้ามาของสินค้าฟุ่มเฟือยจากตะวันออก โดยเฉพาะจากเปอร์เซีย วัตถุที่สะสมอาทิ ภาพเขียน ประติมากรรม งานเขียนต้นฉบับ อัญมณี เครื่องปั้นดินเผา พรม เครื่องแขวนผนัง และผ้าปัก เมือง Sicyon กลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตและขายงานศิลปะ โดยอาศัยพวกดีลเลอร์เป็นผู้จัดหาของแก่พวกเศรษฐีใหม่เมื่อเมือง Pergamum ที่รุ่มรวยด้วยงานศิลปะ ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรโรมันเมื่อ 133 ปี ก่อนคริสตกาล ยิ่งทำให้กระตุ้นความสนใจในการสะสมให้แพร่หลาย เกิดความสนใจใหม่ในศิลปะกรีกและเอเชียในกลุ่มเศรษฐีชาวโรมัน โดยเริ่มขึ้นในอาณาจักรโรมันช่วง 27 ปีก่อนคริสตกาล ดังที่ Rigby(1944) บอกไว้ว่า“ทุกวัน ผู้คนสามารถหาของสะสมได้ตลอดเวลา” ของที่ว่านี้รวมถึง งานศิลปะ, หนังสือ, ของเก่า, เหรียญ, รูปปั้น, เครื่องทองเหลือง, เซรามิก, พรม, เครื่องประดับ, อัญมณี, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องเงิน, ฟอสซิล, แมลงในอำพัน ฯลฯ Sicyonยังคงเป็นเมืองศูนย์กลางนักท่องเที่ยวที่มักจะมีของติดไม้ติดมือกลับไปบ้านจำพัก เสื้อผ้าของOdysseusและเกราะของ Achillesระหว่างยุคกลางในยุโรป การสะสมเป็นกิมกรรมหลักของโบสถ์, ราชสำนัก และคนรวย เช่น Duke Jean de Berryและตระกูล  Medici อย่างไรก็ตามการขุดค้นสมบัติอาณาจักรโรมันในระหว่างปี ค.ศ. 1450 – 1550 ทำให้เกิดการสะสมเหรียญ, รูปปั้น และวัตถุโบราณอื่น ๆ แต่ยุคการสะสมเฟื่องฟูที่แท้จริงของคนธรรมดาทั่วไป ในยุโรปและจีนและญี่ปุ่น เริ่มในศตวรรษที่ 16 และ 17 ในแต่ละประเทศดังกล่าว การเติบโตของการสะสมสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่ใช่การค้าในประเทศก็เป็นการค้าต่างประเทศในเอเชียมีความแตกต่างบ้างในชุดของการวัตถุสะสม ของที่นิยม ได้แก่ ชุดน้ำชา, เฟอร์นิเจอร์เครื่องเขิน, ศิลปะการคัดลายมือและหินฝนหมึก, ม้วนภาพวาด, หิน, พิณ, ผ้า, ไม้หายาก, ภาชนะเผาเครื่องหอม, และเครื่องทองเหลืองโบราณ ของสะสมอื่น ๆ อาทิ อัญมณี, เครื่องประดับ, อาวุธ และหนังสือ ซึ่งเหมือนกับพวกยุโรป สำหรับนักสะสมชาวญี่ปุ่นในช่วงยุคเอโดะ(ค.ศ. 1603-1868)ของจากจีนและเกาหลี (ชุดน้ำชา, เครื่องดนตรี, ศิลปะคัดลายมือและกลอน) เป็นของสะสมที่ได้รับความนิยม นักสะสมชาวจีนที่มีชื่อเสียงในยุคกลางราชวงศ์หมิง(1550-1650)คือพวกพ่อค้าเศรษฐีใหม่ ความนิยมที่มากขึ้นแต่งานฝีมือยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับพวกช่าง ทำให้เกิดการขาดแคลนงานศิลปะของแท้ ของเลียนแบบจึงเกิดขึ้น ว่ากันว่าเป็นธรรมดาที่ 1 ใน 10 ของภาพวาดที่มีทั้งหมดเท่านั้นที่จะเป็นของจริงแรงผลักสำคัญของการสะสมในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันคือ การเข้ามาของสิ่งมีค่าจากสหรัฐฯ และจากการค้ากับเอเชีย ระหว่างศตวรรษที่ 16-17 ชาวยุโรปหลายพันสร้างตู้ Wunderkammernที่ใส่ของสะสมที่มาจากดินแดนอื่น  โดยเป็นของจำพวก ฟันสัตว์ รองเท้า ขลุ่ย กระจก เรือแคน ตู้ Wunderkammernเป็นคอลเล็กชั่นของมหาชนที่เป็นต้นกำเนิดของสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ขึ้น แสดงถึงความหลงใหลของชาวยุโรปต่อความเป็นอื่นที่แตกต่างจากตนเองทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา การเติบโตของการสะสมมีแนวโน้มที่เป็นผลมาจากการพัฒนาวัฒนธรรมการบริโภค เช่น การแพร่หลายของการสะสมภาพวาดสีน้ำมัน, งานแกะสลัก, หัวทิวลิป, เปลือกหอย, เหรียญ, ก้อนแร่ และวัตถุอื่น ๆ การสะสมกลายเป็นที่นิยมสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การสะสมกลายเป็นสิ่งเฉพาะมากขึ้น ไม่เพียงแค่ประเภทของวัตถุสะสม แต่ยังรวมถึงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์, เพศ, ชนิด, ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการแยกประเภทแบบอื่น ๆที่ถูกกำหนดเข้ามา แม้แต่คอลเล็กชั่นของตุ๊กตา หนังสือการ์ตูน กระป๋องเบียร์หากจะบอกว่าการสะสมเป็นเพียงการแสดงออกถึงวัฒนธรรมบริโภคก็คงจะไม่ถูกซะเดียวที เพราะมีหลักฐานว่าการสะสมเกิดขึ้นก่อนยุคประวัติศาสตร์เสียอีก โดยพบการสะสมก้อนกรวดเมื่อ 8000 ปีที่แล้วในถ้ำของฝรั่งเศส นอกจากนี้ก็ยังพบของสะสมอื่น เช่น ฟอสซิล ควอตซ์  หอยทะเล ในถ้ำอื่น  ๆด้วย นอกจากนี้ชุดของวัตถุเหล่านี้สามารถถูกมองได้ว่าเป็นคอลเล็กชั่นของส่วนบุคคลหรือกลุ่ม แนวโน้มที่ของการเกิดการสะสมจึงชัดเจนว่ามีมาก่อนวัฒนธรรมบริโภคนิยม และก็ไม่ได้ปฏิเสธด้วยว่านักสะสมยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความรู้สึกถึงการเสาะแสวงหาและการเป็นเจ้าของ ที่จริงแล้ว ความเชื่อที่ว่าเมื่อคนตายแล้วควรถูกฝังไปพร้อมกับสิ่งของของเขาทำให้เห็นว่าการผูกติดของคนกับวัตถุยังคงมีต่อเนื่องไปถึงโลกหลังความตาย  วัตถุสะสมต่าง ๆ จึงอาจจะรับบางสิ่งบางอย่างมาจากต้นกำเนิดของมัน เหมือนกับที่Miller(2001)บอกว่าบ้านเก่าอาจจะมีผีอยู่ด้วยการแพร่หลายของการสะสมส่วนบุคคลส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่คอลเล็กชั่นที่มักจะอยู่ทนกว่าเจ้าของ นอกจากนี้ยังมีเหตุมาจากคอลเล็กชั่นที่ดีในพิพิธภัณฑ์ ก็มาจากคอลเล็กชั่นส่วนบุคคลที่ดีที่สุดด้วย พิพิธภัณฑ์ได้ให้รูปแบบว่าอะไรคือคอลเล็กชั่นที่ดี ซึ่งเป็นการให้ความชอบธรรมต่อการสะสม คอลเล็กชั่นเหล่านี้นอกจากถูก “บูชา” ในพิพิธภัณฑ์ ยังช่วยนิยามความรู้สึกของอัตลักษณ์ท้องถิ่น, ภูมิภาค และชาติด้วย เมื่อการสะสมของส่วนบุคคลเติบโตขึ้น บางครั้งพิพิธภัณฑ์จึงโตขึ้นตามไปด้วย แม้การสะสมจะแพร่หลายและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสะสมกับมีจำกัดมาก งานวิจัยที่สำคัญเรื่องการสะสม            งานวิจัยส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้เรื่องการสะสมคือ งานเชิงประวัติศาสตร์และเน้นไปที่กิจกรรมการสะสมของวัฒนธรรมชนชั้นสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะ Rigby(1944) ได้ทบทวนกว้าง ๆ เกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าวและยังอธิบายแรงจูงใจของนักสะสมด้วย และมีงานศึกษาที่น่าสนใจด้านอื่น ๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ของนักสะสม(ทั้งชีวประวัติ และอัตชีวประวัติ) เช่น Walter Benjamin, Sigmund Freud, Engelman และ Andy Warhol            มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ตรวจสอบการสะสมในแง่กิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ ในขณะที่พ่อค้าคนกลางและผู้ผลิตของสะสมอาจจะมองการสะสมในเชิงเศรษฐกิจ แต่นักสะสมส่วนใหญ่ไม่ใช่ นักสะสมดูเหมือนว่าจะได้ประโยชน์แบบอื่นจากกิจกรรมการสะสมของพวกเขา บางครั้งทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับการสะสมที่เยี่ยมที่สุดคือ การพยายามเข้าใจว่าประโยชน์ที่ว่านั้นคืออะไร คำถามเรื่องแรงผลักดันของนักสะสมที่ถูกพูดถึงมักจะบอกว่า นักสะสมเป็นคนแปลก, หมกหมุ่น, ต่อต้านสังคม หรือบางคนชอบวัตถุมากกว่าคน ดังที่ Jean Baudrillard (1994)บอกว่า ลักษณะของนักสะสมเหมือนทารกและเป็นพวกขาดบุคลิกภาพ ส่วน Muensterberger (1994)  บอกว่า การสะสมกับอำนาจไสยศาสตร์ของสังคมมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา เดินคู่ขนานไปด้วยกัน และมีบางคนก็บอกว่า การสะสมเป็นธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้ซึ่งมาจากมรดกวิวัฒนาการของมนุษย์ ข้อเสนอเหล่านี้บ่อยครั้งมองว่าการสะสมคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของเก็บสะสมของสัตว์ แต่จะเห็นว่านิยามของการสะสมที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ ไม่เหมือนการเก็บสะสม(เชิงหวง/ซ่อน)ของสัตว์ ยิ่งกว่านั้น ความโดดเด่นของนักสะสมคือ เขาจะมีความต้องการที่จะสะสม และมีความปรารถนาอันแรงกล้า การสะสมของพวกเขาจึงน่าจะแตกต่างจากพฤติกรรมของสัตว์ นักเขียนในนิตยสารไทม์ของลอนดอน นำจดหมายถึงบรรณาธิการที่พูดถึงเรื่องนี้ว่า            “หมาที่เก็บกระดูกเก่า ซึ่งเกือบจะไม่มีเนื้อติดเอาไว้ ก็เหมือนกับนักสะสมที่เก็บของที่ล้าสมัยแล้วไว้ แสตมป์ที่ใช้แล้วสำหรับคนแล้วก็เหมือนกระดูกที่ไม่มีเนื้อติดของหมา แต่นักสะสมแสตมป์ก้าวไปไกลยิ่งกว่าหมาตรงที่ชอบแสตมป์เก่ามากกว่าใหม่ ในขณะที่หมาไม่ใช่ นักสะสมมีอะไรซับซ้อนมากกว่า เนื่องจากเขามักมีจินตนาการอยู่ก่อนแล้วเกี่ยวกับคอลเล็กชั่นที่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่มีหมาที่ไหนจะฝันถึงการได้มาของกระดูกแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก”            Clifford(1985) บอกว่า เมื่อเราสอนเด็กถึงกฎของการเลือกเฟ้นและระบบการตั้งชื่อ เพื่อแนะแนวทางการสะสมให้พวกเขา ในขณะเดียวกันเราก็กระตุ้นให้เขาเสาะหาและเกิดความต้องการในการเป็นเจ้าของในสิ่งที่สะสมด้วย            แนวคิดอื่น ๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจของนักสะสมเป็นเรื่องเชิงจิตวิทยามากขึ้น มีผู้เสนอว่าการสะสมเกิดมาจากความต้องการทางเพศและความหมกหมุ่นของนักสะสมที่ชอบการมอง การได้มา และหลงใหลในวัตถุที่สะสม โดยเป็นรูปแบบหนึ่งของความรู้สึกทางเพศก่อนการร่วมสังวาสและการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีคนอธิบายว่าการสะสมเหมือนกับกิจกรรมการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เหมือนกับการล่าหรืออยู่ในสมรภูมิ บางคนบอกว่าการสะสมคือโรคหรือภาวะที่ถูกครอบงำอย่างหนึ่ง และบางคนบอกว่านักสะสมพยายามที่จะเติมเต็มสิ่งที่เขารักที่เขารู้สึกว่าขาดหายใจในวัยเด็ก            นักจิตวิทยาการศึกษาได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการสะสมของเด็กในระหว่างครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 การศึกษาในปี 1900 พบว่านักเรียนมีคอลเล็กชั่นโดยเฉลี่ยระหว่าง 3-4 อย่าง มีมากสุดในเด็กอายุ 8-11 ปี การสะสมเริ่มลดน้อยลงในปี 1927 ในระหว่างเศรษฐกิจขาลงในทศวรรษที่ 1930 โดยพบกว่าเด็กอายุ 10 ปี มีคอลเล็กชั่น 12.7 อย่าง ซึ่งการสะสมนี้เกิดจากการว่างงานและขาดความหวัง และถูกมองว่าเป็นในเชิงการผลิตมากกว่าการบริโภค บางคนเรียกว่าเป็น “ความบันเทิงที่เอาจริงเอาจัง” (serious leisure)            อย่างไรก็ตามในสังคมบริโภคนิยม ก็มีการบริโภคในแง่มุมของการสะสมเช่นกัน อาทิ การสะสมตุ๊กตา, การ์ด,โปเกม่อน, เครื่องบินจำลอง แม้แต่ศาสนาก็ถูกทำให้เป็นสินค้า เมื่อเด็กอิสราเอลสะสมการ์ดRabbiอย่างไรก็ดีการสะสมก็มีขึ้นได้ในสังคมที่ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบตลาด อย่างในโซเวียตและโรมาเนีย การสะสมแสตมป์, ป้ายรูปประธานเหมา และแผนที่ ก็มีให้เห็นทั่วไป            Campbell (1987) บอกว่าการพัฒนาของวัฒนธรรมการบริโภคนำไปสู่การทำให้โรแมนติก ทำให้เกิดความหลงใหล วัตถุในคอลเล็กชั่นที่ไม่มีราคาเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโรแมนซ์มากกว่าเศรษฐกิจสินค้าเงินตรา วัตถุกลายเป็นของพิเศษ การสะสมคืออาณาจักรของตำนานที่เกี่ยวกับวัตถุจำพวกที่น่าศรัทธา เชิงพิธีกรรม และมีความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยตำนานแบบนี้ บางครั้งนักสะสมมักมองว่าตัวเองเป็นผู้ชุบชีวิตทรัพย์สินที่ใช้การไม่ได้ให้กลับมามีคุณค่า ซึ่งเขามองว่าตนเองต่างกับพ่อค้าคนกลาง ด้วยกิจกรรมการสะสมที่ถูกทำให้โรแมนติกและวัตถุที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้นักสะสมปฏิเสธได้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นพวกวัตถุนิยม            หลังจากจุดสูงสุดของการสะสมในวัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นการสะสมจะน้อยลง แม้ว่าเด็กไม่ทั้งหมดจะทิ้งคอลเล็กชั่นของตน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น กิจกรรมการสะสมจะเกิดอีกครั้งในช่วงวัยกลางคน โดยเฉพาะในผู้ชาย ซึ่งอาจสะท้อนถึงอำนาจทางเศรษฐกิจที่มากกว่าผู้หญิง, การแข่งขัน หรือการอำนาจในการตัดสินใจ  แม้ว่าการสะสมจะถูกมองว่าเป็นแบบฉบับที่มีในผู้หญิง แต่ความแตกต่างในเพศสภาพ(gender)ไม่ค่อยมีอิทธิพลมากต่อการสะสม ร้อยละ41 ของคนอเมริกันที่เป็นนักสะสมเหรียญคือผู้หญิง และเกือบครึ่งหนึ่งของพวกนี้ก็เป็นนักสะสมแสตมป์ด้วย ในอังกฤษนักสะสมหญิงมีพอ ๆ กับชาย แต่นักสะสมหญิงมักจะถูกมองว่าสะสมเพียง “งานฝีมือกระจุกกระจิก” (bibelot) อย่างไรก็ดีชนิดของสะสมของหญิงและชายยังคงแตกต่างกัน ของสะสมผู้ชายเช่น กลไกต่าง ๆ, เครื่องใช้, อาวุธ ส่วนของผู้หญิง อาทิ ของตกแต่ง, ของใช้ในบ้าน, ของสวยงาม การวิพากษ์เกี่ยวกับงานสะสม            ท่ามกลางการวิจารณ์ต่าง ๆ ประเด็นหนึ่งคือ มองว่าคอลเล็กชั่นคือ วัตถุเล่นๆไม่จริงจังของการบริโภค(consumption)มากกว่าจะเป็นวัตถุที่สร้างสรรค์ของงานผลิต (production) การวิพากษ์ทำนองนี้มุ่งตรงไปยังนักสะสมผู้หญิง Saiselin (1984) ตั้งข้อสังเกตว่า ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ตามแบบฉบับ(stereotype)ผู้ชายถูกมองว่าเป็นนักสะสมที่เอาจริงเอาจัง ในขณะที่ผู้หญิงถูกมองเชิงเหยียดว่าเป็น “เพียงคนซื้อของกระจุกกระจิก” มีงานศึกษาเกี่ยวกับคู่สามีภรรยาของ Belk et. al. (1991)พบว่ามีความแตกต่างอย่างเป็นระบบของคอลเล็กชั่นระหว่างชายและหญิง คอลเล็กชั่นผู้ชายจะถูกมองว่าเป็นของจำพวก ขนาดใหญ่, แข็งแรง, โลกียวิสัย, กลไก, หายาก, เป็นวิทยาศาสตร์, จริงจัง, มีประโยชน์ใช้สอย, เตะตา, และไม่สดใส ในขณะที่ของผู้หญิงจะถูกมองว่าเป็นของที่ เล็ก, อ่อนแอ, อบอุ่น, เป็นธรรมชาติ, น่าทะนุถนอม, ดูเป็นงานศิลปะ, สนุกสนาน, ประดับประดา, สงบเสงี่ยม และสดใส จะเห็นว่าการวิพากษ์เช่นนี้ที่มีอคติในเพศสภาพ ไม่ต่างอะไรไปจากขบวนการทำให้โรแมนติกที่ Campbell(1987) บอกไว้ว่ามันเป็นแรงผลักดันในวัฒนธรรมการบริโภค เราอาจจัดคุณลักษณะของการวิพากษ์แบบนี้ว่า เป็นความเกินพอดีของการทำให้โรแมนติกท่ามกลางนักสะสม            การวิพากษ์แบบอื่นๆ ในการสะสม ได้แก่ การเผยให้เห็นว่าบุคลิกภาพในของหมกหมุ่นของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งสูญเสียการควบคุม และเสพติดกับการเสาะแสวงหาและความต้องการเป็นเจ้าของ แม้ว่ามีนักสะสมจำนวนน้อยที่อาจจะเป็นพวกหมกหมุ่น แต่ก็ยังมีคนที่สามารถควบคุมกิจกรรมการสะสมของตนเองได้ ซึ่งตรงจุดนี้เราสามารถเห็นความเชื่อมโยงของรูปแบบที่โรแมนติก(romanticism) กับศิลปินแบบอุดมการณ์แบบโรแมนติก แม้ว่าอาจจะถูกแย้งว่า ศิลปินเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตผลงานมากกว่าการบริโภค แต่ดังที่เคยกล่าวไว้ข้างต้นว่า แท้จริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นนักสะสมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ได้ด้วยเช่นกัน            ส่วนหนึ่งที่ยุ่งยากเกี่ยวกับการวิพากษ์งานสะสม เนื่องจากมีนักสะสมที่หลากหลาย และมีเหตุผลมากมายในการสะสม งานวิพากษ์หนึ่งที่เด่นคือ Danet and Katriel(1989) พวกเขาแยกประเภทนักสะสมเป็นแบบ A ที่มุ่งมั่นสะสมให้ครบคอลเล็กชั่น และแบบ Bที่เห็นความงามเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นคอลเล็กชั่นสมบูรณ์ก็ได้ ซึ่งมีผู้วิพากษ์นักสะสมแบบ A ว่าอยู่ในพวกหมกหมุ่น ในขณะที่การวิพากษ์ในแบบ B มองว่าเป็นพวกโรแมนติก มูลเหตุ, การใช้เหตุผลตัดสิน และความพอใจในการสะสม            การวิพากษ์โดยตรงในการสะสมส่วนใหญ่ละเลยเรื่องคำถามว่า ทำไมนักสะสมจำนวนมากเลือกสะสมสิ่งของบางอย่าง และเราจะอธิบายกิจกรรมการสะสมนี้อย่างไร วัตถุบางอย่างไม่ได้ตั้งใจที่จะสะสม นักสะสมบางคนสะสมเพราะมีสิ่งเฉพาะตัวที่ไปเชื่อมโยงกับ ชื่อเล่นตัวเอง, มรดกของชาติหรือชาติพันธุ์, อาชีพ, หรือประสบการณ์ แต่บางครั้งการสะสมเริ่มจากการได้ “ของขวัญ” จากเพื่อนหรือครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น การที่เราตะหนักว่าเรามีของชนิดหนึ่งสองหรือสามชิ้น ก็เป็นจุดเริ่มของคอลเล็กชั่น งานศึกษาของ Belk (1995)พบว่าประโยชน์ที่ได้มาจากการสะสมคือ ความรู้สึกถึงการมีอำนาจและการเป็นผู้เชี่ยวชาญ            สำหรับการสะสมแล้ว วัตถุที่สะสมก่อให้เกิดโลกใบเล็กที่ซึ่งนักสะสมตั้งกฎเกณฑ์ของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกถึงชัยชนะในอาณาจักรที่นิยามไว้แคบ ๆ ของวัตถุที่หายาก ก่อให้เกิดทั้งความเชื่อมั่นในทักษะของตน, การติดตามต่อเนื่อง และความเชี่ยวชาญ และจะเพิ่มความรู้สึกตื่นเต้นไปด้วยเมื่อโชคดีที่มีโอกาสพบวัตถุที่ต้องการในราคาที่ต่อรองได้ เรามักได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการค้นหาของได้โดยบังเอิญอยู่เสมอ งานศึกษาของ Denefer (1980)บอกไว้ว่า ความรู้และความเชี่ยวชาญของนักสะสม เป็นแหล่งที่มาของสถานะภายในกลุ่มเพื่อนนักสะสมด้วยกันเอง บางคนถูกให้ความสำคัญว่ามีคุณูปการต่อวงการประวัติศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และศิลปะ(แม้แต่คอลเล็กชั่นวัตถุที่ถูกมองว่าต่ำต้อย เช่นกระป๋องเบียร์ หรือ หุ่นจำลองช้าง) การรวบรวมและจัดประเภทสิ่งของเป็นสิ่งที่สนุกในตัวของมันเอง และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในกลุ่มคนที่สนใจเหมือนกัน การได้สังคมกับเพื่อนนักสะสมก็อาจก็สร้างความเพลิดเพลินทางสังคมและมีความรู้สึกของชุมชนเกิดขึ้นด้วย            คอลเล็กชั่นอาจสะท้อนความโหยหาอดีตของความสนุกและอิสระในวัยเด็ก นักสะสมบางคนพยายามหาความสำราญกับคอลเล็กชั่นที่สูญหายไปนานในวัยเด็ก เพราะนักสะสมวัยผู้ใหญ่มักเป็นอยู่ในช่วงเวลาที่ลูกหลานแยกตัวออกไป พวกเขาจึงมีทั้งช่องว่างที่จะเติมเต็มความเป็นครอบครัวอบอุ่นที่เคยมีก่อนหน้านี้ และมีเงินเหลือเฟือพอที่จะอุทิศให้กับคอลเล็กชั่น แต่ในขณะที่บางครั้งสมาชิกในครอบครัวก็เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการสะสม และบ่อยครั้งที่สมาชิกในครอบครัวก็เริ่มขุ่นเคืองที่นักสะสมอุทิศเวลา, ความรัก, ความพยายาม และเงิน ให้กับงานสะสม คอลเล็กชั่นจึงกลายเป็นคู่ปรับ หรือ “เมียเก็บ” ของนักสะสม บรรดาสมาชิกในครอบครัวจึงไม่เต็มใจที่จะเก็บคอลเล็กชั่นพวกนี้ไว้เมื่อเจ้าของเสียชีวิต (ดังนั้นความหวังของการไม่มีวันตายของคอลเล็กชั่นที่นักสะสมแสวงหาก็เป็นอันจบสิ้น) ด้วยมูลเหตุนี้นักสะสมบางคนจึงพยายามหาทายาทส่งต่อคอลเล็กชั่นนอกจากคนในครอบครัว            แม้ว่านักสะสมอาจมีมูลเหตุการตัดสินใจสะสมว่า คอลเล็กชั่นของพวกเขาคือ การลงทุนทางเศรษฐกิจแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังมีการอ้างว่าคอลเล็กชั่นของพวกเขาก็คือ บ้านสำคัญหลังการเกษียณ หรือเป็นมรดกสำหรับลูกหลาน เหล่านี้เป็นความพยายามของนักสะสมที่จะสร้างความชอบธรรมในการสะสมของพวกเขาว่าป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเหตุผลมากกว่าการทำสิ่งที่ประหลาด นอกจากนี้ตลาดงานศิลปะ, การมีคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ และสื่อมวลชนที่สนใจต่อคอลเล็กชั่นที่โด่งดัง ก็ช่วยสร้างความชอบธรรมแก่การสะสมด้วย            การสะสมบางอย่างยังสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์” ให้ตัวมันเองด้วย และกลายเป็นของที่ “ราคาสูงจนหาค่าไม่ได้” Belk (1995b) ยกตัวอย่างว่า  ฟรอย์(Freud) กล่าวอรุณสวัสดิ์กับวัตถุโบราณของเขา และ Jungเห็นว่าหนังสือในคอลเล็กชั่นของเขามีชีวิตจิตใจเหมือนคน ก่อนหน้านี้ที่เรากล่าวถึงการสะสมที่อยู่บนฐานของความโรแมนติก และการเปรียบเทียบวัตถุนิยมกับการต่อต้านวัตถุนิยม และการอธิบายการสะสมในฐานะกิจกรรมที่ทำให้สินค้าหมดสิ้นความเป็นสินค้า(decommoditization)เป็นการย้ายวัตถุออกจากวงจรการตลาดและบูชามันในคอลเล็กชั่น วัตถุที่สะสมจึงไม่ใช่สิ่งที่แลกเปลี่ยนได้อีกต่อไป เมื่อมันเข้ามาอยู่ในคอลเล็กชั่น มันมักจะกลายเป็นของที่ได้รับการยกเว้นจากการตีค่าในเชิงตัวเงิน เนื่องจากนักสะสมให้ค่ามันในลักษณะมันเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนคอลเล็กชั่น วัตถุสะสมที่เคยมีประโยชน์ในเชิงใช้สอยก็จะไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป คุณค่าในการใช้งานของวัตถุถูกจัดการใหม่และเปลี่ยนไปสู่คุณค่าเชิงสัญลักษณ์มากขึ้น การสะสมสามารถถูกมองว่าเป็นเครื่องบูชาที่เชื่อมต่อกับความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับของขวัญที่ได้จากคนรักก็ทำให้มันเปลี่ยนรูปไปในเชิงพิธีกรรม จากของตลาดทั่วไปกลายเป็นสมบัติส่วนตัว ดังนั้นวัตถุที่อยู่ในคอลเล็กชั่นจึงถูกสร้างบริบทใหม่และเลื่อนไหลไปสู่สถานที่ของการเทิดทูน การเคลื่อนของวัตถุตลาด ๆ ไปสู่ตำแหน่งใหม่ดังกล่าว เป็นทั้งการเชิดชูและปฏิเสธวัฒนธรรมบริโภคไปในขณะเดียวกัน  ทิศทางการวิจัยในอนาคต            การสะสมไม่ว่าจะโดยบุคคลและพิพิธภัณฑ์เป็นงานสมัยใหม่ที่สำคัญในแง่ การรวบรวม, จัดการ และควบคุมกองสมบัติของโลก ไม่ใช่แค่การล่าและเก็บหาของ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากการสะสมในยุคแรกคือ การที่คอลเล็กชั่นถูกทำให้กลายเป็นสินค้าในตลาดของสะสมหลายแห่ง และการเกิดขึ้นของ “คอลเล็กชั่นสำเร็จรูป” (instant collections) ที่สำหรับขายล็อตใหญ่แก่สาธารณชน ในยุคอาหารสำเร็จรูป,uอินเตอร์เนตพร้อมใช้ และความพอใจสำเร็จรูปที่มีมากขึ้นในทุกวันนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับคอลเล็กชั่นสำเร็จรูป ถูกมองว่าไม่ได้เกิดจากความพอใจในการสะสมอีกต่อไป  ไม่มีการเสาะแสวงหาและการตามล่าของหายาก   รวมไปถึงไม่มีการได้ลองใช้ทักษะและโชคในการเสาะหาของ และเกิดความยินดีที่ได้คิดและเห็นคอลเล็กชั่นที่เกิดขึ้น คอลเล็กชั่นสำเร็จรูปจากบริษัทอย่าง Franklin Mint,Danbury Mint, Lenox Collectionsและ Bradford Exchange  อาจจะมีเสน่ห์ต่อพวกภัณฑารักษ์ แต่ถ้าไม่มีการเสาะแสวงหาของอื่นในชุดสะสมจากบริษัทเหล่านี้ การเป็นผู้ซื้อแบบนั้นคงจะไม่เรียกว่านักสะสม อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำให้กลายเป็นสินค้า, โลกาภิวัตน์ และการทำให้เป็นธุรกิจของงานสะสม สมควรได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เช่น ผลกระทบการของประมูลใน eBay  บริษัทที่อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการสะสมจะเห็นได้ว่าพ่อค้าคนกลางในตลาดของสะสมมีมาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมันโบราณ และศิลปินที่มีชื่อเสียงก็มักได้รับการอุปถัมภ์จากนักสะสม แต่ในปัจจุบันเรื่องของพ่อค้าคนกลางหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการสะสมอาจไม่เพียงแค่เรื่องความรู้และทุนที่จะสร้างการสะสมขึ้น หากแต่เป็นเรื่องของการโปรโมชั่น และแฟชั่นด้วย            นอกจากนี้การเกิดขึ้นของความต้องการในการสะสมสิ่งของ อาจจะต้องดูเพิ่มเติมในเรื่องขอบเขตหรือเส้นแบ่งระหว่างการสะสมและการบริโภค ดูวิธีการสร้างสินค้าธรรมดาให้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์หรือของควรค่าแก่การสะสมได้อย่างไร  บางทีก็น่าขำ เมื่อ Walter Benjamin(1968) เป็นกังวลเกี่ยวกับงานศิลปะในยุคที่เกิดการทำของเลียนแบบ ในขณะเดียวกันเขากลับบูชากลไกการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้ครั้งละมาก ๆ อย่างไรก็ดี ขั้วตรงกันข้ามที่เห็นได้ชัดนี้ทำให้เห็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ของเรากับเรื่องวัฒนธรรมวัตถุ (material culture)ในสังคม ในแง่การอุทิศตนและความชำนาญเรื่องวัตถุของนักสะสมช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการสะสม แม้ในวรรณกรรม นักสะสมมักถูกมองในแง่ลบว่าเป็นคนสันโดษที่ตระหนี่ก็ตาม  อย่างไรก็ดีถ้าอย่างน้อยการสะสมถูกมองว่าคือการบริโภคอย่างหนึ่ง ธรรมชาติคู่กันของมันก็คือเป็นได้ทั้งวัตถุนิยมหรือตรงกันข้าม และเนื่องจากวัฒนธรรมวัตถุนิยมที่อยู่ในสังคมบริโภคนิยมเป็นพื้นที่ที่ซับซ้อนของการแสดงตัวตน เต็มไปด้วยการย้อนแย้งต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นการสะสมอาจถูกมองว่าเป็นการหมกหมุ่นที่ไม่มีสาระ และก็ไม่แน่อีกเหมือนกันว่า มันก็อาจถูกมองว่าเป็นความลึกซึ้งได้เช่นเดียวกัน สรุปความจาก Russell Belk. (2006) “Collectors and Collecting” in Handbook of Material Culture/ edited by Christopher Tilley. London : Sage Publications. โดยปณิตา สระวาสี   รายชื่อหนังสืออ้างอิง(เฉพาะที่ปรากฏในบทความแปล)Abbas, Acbar(1988)‘Walter Benjamin’s collector; the fate of modern experience’, New Literary History,20(autumn): 217-38.Appadurai, Arjun(1986) ‘Introduction: commodities and the politics of value’, in Arjun Appadurai(ed.),The Social Life of Things: Commodities in Cultural Perspective. Cambridge: Cambridge University Press,pp. 3-63.Baudrillard, Jean(1994)‘The system of collecting’, in John Elsner and Roger Cardinal(eds), The Cultures of Collection. Cambridge. MA: Harvard University Press,pp. 7-24.Belk et. al. (1991)‘Collection in a consumer culture’, in Highways and Buyways: Naturalistic Research from the Consumer Behavior Odyssey. Provo, UT: Association for Consumer Research, pp.178-215.Belk, Russell W. (1995a)‘Collecting as luxury consumption: effects on individuals and households’,Journal of Economic Psychology, 16(February): 477-90.Belk, Russell W. (1995b)Collecting in a Consumer Society. London; Routledge.Benjamin, Walter(1968)‘The work of art in the Age of Mechanical Reproduction’, in Hannah Arendt (ed.),trans. Harry Zohn, Illuminations. New York: Harcourt Brace, pp. 291-53.Campbell, Colin (1987) The Romantic Ethic and the Spirit of Modern Consumerism. Oxford: Blackwell.CliffordJames (1985)‘Objects and selves: an after word’, in Goerge W. Stocking,Jr(ed.), Objects and Others: Essays on Museums and Material Culture. Madison, WI: University of Wisconsin Press, pp.236-46.Danet, Brenda and Katriel, Tamar(1989)‘No two alike: the esthetics of collecting’, Play and Culture, 2(3): 253-77.Denefer, Dale (1980)‘rationality and passion in private experience: modern consciousness and the socialworld of old-car collections’, Social Problems, 22(April): 392-412.Miller, Daniel (2001) ‘Possessions’, in Daniel Miller(ed.), Home Possessions. Oxford:Berg, pp. 107-21.Muensterberger, Werner (1994) Collecting: an Unruly Passion: Psychological Perspectives. Princeton,NJ: Princeton University Press.Rigby, Douglas and Rigby, Elizabeth (1944)Lock, Stock and Barrel: the Story of Collecting.Philadelphia, PA: Lippincott.Saiselin, Remy G. (1984) Bricobracomania: The Bourgeois and the Bebelot. New Brunswick, NJ: RutgersUniversity Press.

เยาวราช: คุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม

22 มีนาคม 2556

หากพูดถึงเยาวราช หลายคนจะนึกถึงภาพบรรยากาศที่คราคร่ำไปด้วยสินค้าและผู้คนมากมายโดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ยิ่งช่วงใกล้เทศกาลสารทจีน หรือตรุษจีน ตลาดเก่าเยาวราชจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้ รวมไปถึงกระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป เทียน เพื่อเตรียมการสำหรับพิธีไหว้บรรพบุรุษ ในยามค่ำคืน ถนนสายเยาวราชยังเต็มไปด้วยกลิ่นคละคลุ้งของอาหารหลากชนิด หลากรสชาติ ที่ตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวของถนนสายนี้ ตั้งแต่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว กระเพาะปลา ลูกเกาลัค จนถึงหูฉลาม รังนก ไก๋ตุ๋นยาจีนในภัตตาคารอันหรูหรา ทำให้ถนนสายเยาวราชแห่งนี้มีเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาชื่นชมและดื่มด่ำกับบรรยากาศแบบเดินไป ชิมไปได้เป็นอย่างดี นอกจากถนนสายเยาวราชจะเป็นย่านธุรกิจที่มีเงินไหลเวียนเข้าออกอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวันแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังถือเป็นชุมชนที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่อาศัยมากที่สุด ตั้งแต่การอพยพมาจากโพ้นทะเลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่โดดเด่น ต่างไปจากกลุ่มสังคมอื่นในเมือง อีกทั้งการรวมกลุ่มในรูปขององค์กรการค้า และองค์กรทางสังคม โดยผ่านแซ่ ผ่านความเป็นท้องถิ่นเดียวกัน ผ่านสำเนียงพูด ผ่านองค์กรการกุศล ทำให้คำสั่งสอน ความเชื่อ ประเพณี ธรรมเนียม พิธีปฏิบัติถูกถ่ายทอดมายังชนรุ่นหลังรุ่นแล้วรุ่นเล่า วัดจีนและศาลเจ้าจีนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อ เป็นที่พึ่งด้านจิตใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันทางสังคม ของชาวจีน โพ้นทะเลที่อพยพเข้ามา ตลอดรวมถึงเป็นองค์กรการกุศลสงเคราะห์ ที่ช่วยเหลือคนยากจนและผู้ประสบภัยต่างๆ ดังเช่น มูลนิธิเทียนฟ้า ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. 227 สามารถดำรงอยู่ได้จากการบริจาคของพ่อค้า นักธุรกิจ รวมทั้งยังเปิดเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย ทั้งทางแผนจีนและแผนปัจจุบัน อนึ่ง การเกิดขึ้นของศาลเจ้ายังแฝงไปด้วยความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ มากมายที่ถูกเล่าขานและปฏิบัติต่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การเคารพนับถือเทพเจ้า การกราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่ปกปักรักษาให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข การกราบไหว้บูชาเทพทั้งหลาย ตลอดจนเครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ในการบูชา แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมาย นอกจากนี้ผลงานทางด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมได้สะท้อนพื้นฐานทางความเชื่อ และความเชื่อมโยงสอดคล้องกับตำนานในประวัติศาสตร์ของชาวจีน หากพิจารณาในแง่คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของ UNESCO แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนย่านเยาวราชถือเป็นชุมชนที่มีคุณค่ามากมายในหลายแง่มุม อันได้แก่ คุณค่าทางวัตถุ (Materialistic Value) ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมายผ่านทางวัตถุต่างๆ เช่น รูปปั้นมังกรเป็นตัวแทนของความเป็นชาย โคมไฟสื่อถึงแสงที่ส่องสว่างในการส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historical Value) หลักฐานจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยริมถนนและในตรอกซอกซอยสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน และวิถีชีวิตตั้งแต่ครั้งชาวจีนอพยพเข้ามาพร้อมกับเสื่อผืนหมอนใบในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีระยะเวลายาวนานนับร้อยปี คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึก (Spiritual Value) ซึ่งปรากฏในคำสั่งสอนและการปฏิบัติที่มีสืบทอดกันมายาวนาน ทำให้ชาวจีนมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือ มีความกตัญญู รู้คุณคน ขยัน พากเพียร หนักเอาเบาสู้ ประหยัด มัธยัสถ์ อดออม คุณค่าทางศิลปะ (Artistic Value) และ คุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) ที่ดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก ถูกถ่ายทอดผ่านช่าง และศิลปินที่บรรจงสร้างงานศิลปะต่างๆ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง การออกแบบทางสถาปัตยกรรม ที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและตำนานทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวัฒนธรรม (Culture Value) ที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดออกมาผ่านธรรมเนียม ปฏิบัติ รวมถึงคติธรรม คำสอน การใช้ชีวิตประจำวันที่ยึดถือกันมาจวบจนทุกวันนี้ เพื่อความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพื่อลูกหลานได้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นชุมชนเยาวราช จึงถือได้ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ สังคม และวัฒนธรรม โดยสะท้อนผ่านทางธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี พิธีกรรม คำสอน ความเชื่อต่างๆ สถาปัตยกรรม ฯลฯ การเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นศูนย์รวมอีกจุดหนึ่งที่แสดงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมภายในชุมชน ดั่งคำที่ว่า "สายสัมพันธ์ไทยจีน ถิ่นการค้าร่วมสมัย ไชน่าทาวน์เมืองไทย แหล่งประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจใหญ่รัตนโกสินทร์" จากการพูดคุยกับคุณรณวัฒน์ เอมะสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร คุณปรีดา ปรัตถจริยา และคุณปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ วิทยากรชาวจีนในท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ และความพร้อมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทำให้ยังคงมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ อยู่บ้าง เช่น ด้านงบประมาณบริหารจัดการ กิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสามารถถ่ายทอดและจัดแสดงเรื่องราวในอดีตได้เพียงบางส่วน แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือชาวจีนในเยาวราชได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอด เรื่องราวในอดีตเพื่อเป็นเนื้อหาของนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ มิเพียงเท่านั้น คุณค่าทางวัฒนธรรมและความรู้นั้น ยังคงแฝงอยู่ตามตรอกซอกซอย ในที่ต่างๆ ของย่านเยาวราช ตลอดรวมถึงผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีก็คือ ผู้คนที่อยู่ในชุมชนที่สืบทอดความรู้ ความเชื่อ ผ่านการบอกเล่าและการกระทำกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เรื่องที่น่ายินดีสำหรับพิพิธภัณฑ์ก็คือ ชาวจีนเยาวราชมีความตั้งใจที่จะร่วมบริจาคเงินก้อนใหญ่ในการขยาย "พิพิธภัณฑ์เยาวราช" ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องราวของชาวจีนต่อไปในอนาคต ปัจจุบันแม้เยาวราชจะเป็นถนนที่ทุกคนรู้จักกันดี มีความรุ่งเรืองทางด้านธุรกิจ การค้า และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์เมืองไทย ศิลปวัฒนธรรมของชาวจีนที่เกิดจาก การถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคนนั้นทรงคุณค่า แต่ขณะเดียวกันบางสิ่งบางอย่างกำลังจะจางหายไป หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย การอนุรักษ์ รักษาศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามเพื่อการเรียนรู้ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะสร้างคุณค่า ความหมาย และความงาม เพื่อสืบสานให้แก่ชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป เอกสารและหนังสืออ้างอิง ต้วนลี่เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ . (2543). ความเป็นมาของวัดจีนปละศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา : กรุงเทพ ฯ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2540). "การรวมกลุ่มของจีนสยาม".ศิลปวัฒนธรรม , ปีที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ หน้า 104 - 109. * กุมารี ลาภอาภรณ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล  

“ผู้หญิง” ในห้วงเวลาแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (WOMEN DURING THE HOLOCAUST)

10 เมษายน 2558

ชาวยิวทั้งหญิงและชายล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายในการทำลายล้างของระบอบลัทธินาซี แต่กลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีเพียงผู้หญิงชาวยิวเท่านั้น หากยังรวมไปถึงกลุ่มผู้หญิงยิปซี หญิงชาวโปแลนด์ และกลุ่มผู้หญิงที่มีความพิการที่อาศัยอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในค่ายกักกันบางแห่งและในบางพื้นที่ของค่ายนั้นถูกกำหนดให้เป็นเขตเฉพาะสำหรับนักโทษหญิง ในเดือนพฤษภาคมปี 1939 หน่วย SS (Schutzstaffel) หรือหน่วยทหารเอสเอส ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่มีความจงรักภักดีอย่างสูงต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือผู้นำรัฐบาลนาซีในขณะนั้น ได้เปิดค่ายกักกันที่เมือง Ravensbrück ซึ่งถือเป็นค่ายกักกันสำหรับผู้หญิงที่ใหญ่ที่สุด และในช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อยชาวยิวในปี 1945 พบว่ามีผู้หญิงนับแสนคนได้ถูกคุมขังในสถานกักกันแห่งนี้ในปี 1942 เจ้าหน้าที่ของหน่วยเอสเอสได้รวบรวมชาวยิวจากค่ายต่างๆ มายังค่าย Auschwitz-Birkenau หรือที่รู้จักในชื่อ Auschwitz IIเพื่อกักขังนักโทษหญิง ในบรรดานักโทษกลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มที่ย้ายมาจากค่ายกักกันที่ Ravensbrückและค่ายกักกันที่ Bergen-Belsen ผู้คุมค่ายได้สร้างค่ายเพื่อกักขังนักโทษหญิงขึ้นอีกครั้งในปี 1944 ซึ่งหน่วยเอสเอสได้ย้ายนักโทษหญิงชาวยิวจาก Ravensbrückและ Auschwitz ไปยังค่ายกักกันที่ Belsen-Belsen ในช่วงปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารที่พักของผู้หญิงในค่าย Auschwitz-Birkenau ปี 1944ภาพจาก National Museum of Auschwitz-Birkenau ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ กลุ่มนาซีและกลุ่มผู้สนับสนุนได้ยกระดับการทำลายล้างอย่างสมบูรณ์ด้วยการฆ่าโดยไม่คำนึงถึงอายุหรือเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือแม้กระทั่งเด็ก ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือไม่ใช่ยิว โดยหน่วยเอสเอสและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตามนโยบายภายใต้ชื่อ “Final Solution” ซึ่งเป็นการปลิดชีวิตชาวยิวทั้งหญิงและชายด้วยการยิงปืนในหลายพื้นที่ทั่วอาณาจักรโซเวียต ทั้งนี้ ในระหว่างปฏิบัติการเคลื่อนย้ายนักโทษชาวยิว กลุ่มหญิงมีครรภ์และกลุ่มผู้หญิงที่มีเด็กเล็กจะถูกจัดให้เป็นพวก “ไม่สามารถทำงานได้” โดยคนเหล่านี้จะถูกส่งไปยังศูนย์ปฏิบัติการสังหารชาวยิวซึ่งเจ้าหน้าที่นาซีมักจัดให้ผู้หญิงเหล่านี้อยู่ในกลุ่มแรกที่ถูกส่งไปยังห้องรมแก๊สพิษผู้หญิงชาวยิวนิกายออร์โธดอกซ์ที่มีลูกเล็กๆติดสอยห้อยตามมาด้วยก็มักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะถูกค้นพบหรือทรมานจากกลุ่มนาซีเนื่องจากการแต่งกายนั้นคงรูปแบบของชาวยิวในยุคดั้งเดิม อีกทั้งครอบครัวชาวยิวนิกายออร์โธดอกซ์มักมีบุตรจำนวนมาก ทำให้ผู้หญิงในครอบครัวตกเป็นเป้าของพวกนาซีได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงกลุ่มอื่นๆที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนี้ เช่นกลุ่มผู้หญิงยิปซีที่ถูกฆาตกรรมหมู่โดยรัฐบาลนาซีในค่ายกักกันที่ Auschwitz นอกจากนี้ หญิงที่มีความพิการทางกายและทางจิตใจก็ถูกเข่นฆ่าไปเป็นจำนวนมากในระหว่างการปฏิบัติการ T-4 ของพวกนาซี (โครงการการุณยฆาตแก่ผู้ที่บกพร่องทางจิตและกายอย่างร้ายแรง) และในปฏิบัติการการุณยฆาตอื่น ๆในระหว่างปี 1943-1944 รัฐบาลนาซียังฆ่าหญิงและชายชาวโซเวียตตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่นาซีถือว่าเป็น“Partisans” หรือเป็นกลุ่มผู้เข้าข้างหรือเป็นพรรคพวกกับชาวยิว อีกทั้งเจ้าหน้าที่นาซียังบังคับให้นักโทษหญิงใช้แรงงานอย่างหนักในสลัมและค่ายกักกันซึ่งมักจะลงเอยด้วยการเสียชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นแพทย์และนักวิจัยทางการแพทย์ชาวเยอรมันยังนำผู้หญิงชาวยิวและยิปซีมาเป็นหนูทดลองในการศึกษาการฆ่าเชื้อและในการทดลองทางการแพทย์อื่นๆที่ปราศจากศีลธรรม Emmi G.สาวน้อยวัย 16 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภทเธอได้ถูกทำการฆ่าเชื้อและส่งไปยังศูนย์การุณยฆาต Meseritz-Obrawaldeเพื่อฆ่าเธอด้วยการให้ยาระงับประสาทในปริมาณเกินขนาด ในวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1942 วันและปีที่บันทึกภาพไม่ปรากฏ  (ภาพจาก Karl-Bonhoeffer-NervenklinikFachkrankenhausfuerNeurologie)ในค่ายกักกันและสลัม กลุ่มผู้หญิงมักจะมีความเสี่ยงที่จะถูกทุบตีและข่มขืนมากเป็นพิเศษ หญิงชาวยิวที่มีครรภ์มักพยายามที่จะปกปิดว่าตนเองนั้นกำลังตั้งครรภ์ หรือหากถูกจับได้มักจะถูกส่งไปทำแท้ง ดังเช่นกลุ่มนักโทษหญิงที่ถูกพวกนาซีเคลื่อนย้ายออกจากโปแลนด์และสหภาพโซเวียตมายังอาณาจักรเยอรมนีเพื่อใช้แรงงานมักถูกทุบตี ข่มขืน หรือถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยเพื่อแลกกับอาหารหรือสิ่งจำเป็นในการยังชีพอื่นๆ การตั้งครรภ์ของหญิงชาวโปแลนด์และโซเวียตที่เป็นผลมาจากการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ชายนาซีก็เช่นกัน กลุ่มคนที่นาซีเรียกว่า "Race experts" หรือ “ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติ” กำหนดว่าเด็กที่เกิดมานั้นจะไม่นับว่าเป็นคนเยอรมัน ดังนั้นผู้หญิงเหล่านี้จึงถูกบังคับให้ทำแท้งหรือถูกส่งไปคลอดที่สถานรับเลี้ยงเด็กชั่วคราวซึ่งมักจบลงด้วยความตายของเด็กทารก บางครั้งหญิงผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ได้ถูกส่งกลับไปยังถิ่นที่เคยอยู่อาศัยโดยปราศจากอาหารและการรักษาพยาบาลระหว่างการเดินทาง นอกจากนี้พวกนาซียังสร้างซ่องขึ้นในค่ายกักกัน ค่ายทหาร และพื้นที่ใช้แรงงานบางแห่ง ซึ่งกลุ่มนักโทษหญิงถูกบังคับให้ทำงานในซ่องเหล่านี้ นักโทษหญิงหลายคนในสถานกักกันได้สร้างกลุ่มในการ “ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ขึ้นแบบลับๆ ด้วยการแบ่งปันข้อมูล อาหาร และเสื้อผ้าแก่กัน บ่อยครั้งที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกันทางครอบครัวหรือสายเลือดหรือมาจากเมืองหรือจังหวัดเดียวกันทำให้มีระดับการศึกษาและรูปแบบการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ผู้หญิงอีกบางส่วนสามารถอยู่รอดในสถานกักกันได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ค่ายได้แยกให้ไปทำงานในส่วนงานซ่อมแซมเสื้อผ้า ทำอาหาร ซักรีด หรืองานทำความสะอาดทั่วไปหญิงชาวยิวที่ถูกกักขังเพื่อเป็นแรงงานในการแยกประเภทเสื้อผ้าที่ริบมาจากเชลยชาวยิวภาพถูกบันทึก ณ สลัมเมือง Lodz โปแลนด์วันเวลาถ่ายไม่ปรากฏ (ภาพจาก Beit LohameiHaghettaot หรือ Ghetto Fighters' House Museum)นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านนาซีในหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หรือขบวนการเยาวชนไซออนนิสต์ ในโปแลนด์ ผู้หญิงหลายคนทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้อมูลไปยังสลัมที่กักกันเขตที่อยู่ชาวยิว ผู้หญิงหลายคนที่หนีไปอยู่ในบริเวณป่าทางตะวันออกของโปแลนด์และสหภาพโซเวียตได้ทำหน้าที่ในหน่วยพลเรือนติดอาวุธที่สนับสนุนชาวยิว ผู้หญิงในฝรั่งเศสยังมีบทบาทสำคัญในขบวนการต่อต้านนาซี นอกจากนี้ โซฟีชอลนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิคผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มกุหลาบสีขาวได้ถูกจับกุมและฆ่าในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1943 โทษฐานที่แจกใบปลิวต่อต้านกลุ่มนาซีในสลัมที่ชาวยิวถูกกักกันเขตให้อาศัยอยู่นั้น มีผู้หญิงบางคนเป็นผู้นำหรือเป็นสมาชิกของขบวนการต่อต้านนาซี ในเมืองเบียลีสต็อก (Bialystok)  HaikaGrosman เป็นหนึ่งในผู้นำหญิงในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงหลายคนที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อต้านนาซีภายในค่ายกักกัน เช่นในค่ายกักกันที่ Auschwitz ผู้หญิงชาวยิวจำนวนห้าคนถูกสั่งแยกให้ไปทำงานใน Vistula-Union-Metal Works detachmentซึ่งทั้งห้าท่านนั้นประกอบไปด้วย Ala Gertner, Regina Safirsztajn (aka Safir), EsterWajcblum, RozaRobota และหญิงนิรนามอีกคนหนึ่ง (สันนิษฐานกันว่าหญิงผู้นั้นคือ Fejga Segal) ผู้หญิงทั้งห้าคนนี้เป็นผู้ลักลอบนำดินปืนส่งให้แก่สมาชิกของ Jewish Sonderkommando (Special Detachment) เพื่อใช้ในขบวนการต่อต้านนาซี ซึ่งดินปืนนี้ถูกนำมาใช้ในการระเบิดห้องรมแก๊สและโรงเผาศพที่ 4 ที่ค่าย Auschwitz-Birkenau ในช่วงการจลาจลเดือนตุลาคมปี 1944 และการระเบิดครั้งนี้ยังส่งผลให้ทหารในหน่วยเอสเอสเสียชีวิตไปหลายรายอีกด้วย Haika Grosman หนึ่งในผู้ร่วมปฏิบัติการปฏิวัติสลัมในเมือง Bialystok ภาพถูกบันทึกเมื่อปี 1945 ประเทศโปแลนด์ (ภาพจาก Moreshet Mordechai Anilevich Memorial)  ภาพของ Ala Gartner ที่ถ่ายไว้ก่อนเกิดสงคราม ผู้ซึ่งถูกกักขังในค่ายกักกันที่ Auschwitz เธอได้ร่วมขบวนการต่อต้านนาซีภายในค่ายดังกล่าว และภายหลังถูกแขวนคอเนื่องจากลักลอบนำดินปืนที่ถูกนำมาใช้ในการระเบิดโรงเผาศพที่ 4หรือ Crematorium 4 แห่งค่ายกักกัน Auschwitzภาพถูกบันทึกราวปี 1930 ณ เมือง Bedzin ประเทศโปแลนด์(ภาพจาก US Holocaust Memorial Museum) นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีกเป็นจำนวนมากที่มีส่วนช่วยในปฏิบัติการของชาวยิวในพื้นที่ต่างๆที่อยู่ใต้อิทธิพลของนาซีในขณะนั้น หนึ่งในนั้นคือ Hannah Szenes นักโดดร่มชาวยิว และ Gisi Fleischmann  นักเคลื่อนไหวในขบวนการไซออนนิสต์  ซึ่งในปี 1944 Szènes ได้โดดร่มลงไปในเขตพื้นที่ของฮังการีเพื่อช่วยในปฏิบัติการการหยุดการเคลื่อนย้ายชาวยิวออกจากสโลวาเกีย โดยมี Fleischmann เป็นหัวหน้าคณะทำงาน (PracovnaSkupina) ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบของสภาชาวยิวในเมืองบราติสลาวา (Bratislava) Hannah Szenes นักโดดร่มชาวยิวและพี่ชายของเธอภาพถูกบันทึก ณ กรุงปาเลสไตน์ ในเดือนเมษายนปี 1944ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการช่วยเหลือชาวยิวในฮังการี(ภาพจาก Beit Hannah Szenes) ถึงแม้ว่าในระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้จะมีผู้หญิงถูกทำร้ายและสังหารเป็นจำนวนหลายล้านคน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การคร่าชีวิตผู้หญิงครั้งนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเพศสภาพของพวกเธอแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพราะแนวคิดและจุดยืนในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา และการเมืองของพวกนาซีต่างหากยาไพร สาธุธรรม / แปลและเรียบเรียงอ้างอิงUnited States Holocaust Memorial Museum.“Women during the Holocaust.” Holocaust Encyclopedia. http://www.ushmm.org/wlc/en/article.php?ModuleId=10005176. Accessed on March 20, 2015.*ภาพถ่ายในบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ United States Holocaust Memorial Museum, Washington, DC

ความหมายสากลของพิพิธภัณฑ์ และพัฒนาการของ "พิพิธภัณฑ์แห่งกรุงสยาม"

20 มีนาคม 2556

(ตอนที่ 1) “พิพิธภัณฑ์” ในความรับรู้ของคนทั่วไปอาจจะหมายถึง สถานที่หนึ่ง ๆ ซึ่งจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม แต่อย่างไรก็ตาม ในทางพิพิธภัณฑวิทยาที่ยอมรับกันในปัจจุบันแล้ว “พิพิธภัณฑ์” มีความหมายกว้างขวางมากกว่าสถานที่และการจัดแสดง แต่เทียบเท่าได้กับคำว่า“แหล่งเรียนรู้” เลยทีเดียว กล่าวคือ สภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ[1] (International Council of Museum) หรือICOMได้ให้คำจัดของคำว่า“พิพิธภัณฑ์”[2] ไว้ดังนี้ “พิพิธภัณฑ์ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เปิดเป็นสถานที่สาธารณะ และเป็นสถาบันถาวรที่ให้บริการแก่สังคมและมีส่วนในการพัฒนาสังคม มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดง วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการค้นคว้า การศึกษา และ ความเพลิดเพลินใจ” คำจำกัดความข้างต้น ได้แจงหน้าที่หลัก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ไว้ 5 ประการ คือ 1. รวบรวม 2. สงวนรักษา 3. ค้นคว้าวิจัย  4. เผยแพร่ความรู้ และ 5. จัดแสดงวัตถุ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนทางด้านสถานภาพว่าองค์กร หรือสถาบันใด มีคุณสมบัติของ “พิพิธภัณฑ์”หรือไม่  ดังนั้น ICOM จึงได้อธิบายเงื่อนไข และจำแนก “สถาบัน” ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติของ “พิพิธภัณฑ์” ไว้อีก 8 ข้อ ดังนี้คือ (ก)  คำจำกัดความข้างต้นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้โดยปราศจากข้อจำกัดใด ๆ ที่เกิดจากรูปแบบของคณะบริหาร ลักษณะของพื้นที่ โครงสร้างหน้าที่ หรือวิธีการศึกษาสิ่งของสะสมของสถาบันนั้นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ข)  นอกจากสถาบันที่ถูกระบุว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์” แล้ว สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ จัดได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นพิพิธภัณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของคำนิยามนี้ ซึ่งได้แก่ I.           แหล่งและอนุสรณ์สถานทางธรรมชาติ โบราณคดี และชาติพันธุ์วรรณา แหล่งและอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเก็บรวบรวม สงวนรักษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ II.      สถาบันที่รวบรวมและจัดแสดงตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตวศาสตร์ สถานที่แสดงสัตว์น้ำ และศูนย์ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ III.    ศูนย์วิทยาศาสตร์ และท้องฟ้าจำลอง IV.    หอศิลปที่จัดแสดงงานโดยไม่แสวงหาผลกำไร V.      สถานที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่สงวน VI.    องค์กรพิพิธภัณฑ์ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น กระทรวง หรือกรม หรือหน่วยงานเอกชนใดก็ตามทั้งที่มีส่วนในการรับผิดชอบพิพิธภัณฑ์ หรือมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดนี้ VII.      สถาบัน หรือองค์กร ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา การฝึกอบรม การจัดทำเอกสารวิชาการ และกิจกรรมอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ และวิชาพิพิธภัณฑ์วิทยา VIII.     ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ การสืบสาน และการบริหารจัดการทรัพยากรอันเป็นมรดกที่จับต้องได้ และมรดกที่จับต้องไม่ได้ (มรดกที่มีชีวิต และกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดยเทคโนโลยีดิจิตอล) IX.    สถาบันใด ๆ อย่างเช่น สภาบริหาร ซึ่งหลังจากการร้องขอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการที่ปรึกษาแล้ว ได้รับการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติบางส่วนหรือทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์ หรือมีส่วนในการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ และบุคลากรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์เป็นอาชีพ ตลอดจนการสนับสนุนงานวิจัย การศึกษา หรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์   ความหมายตามรูปศัพท์ของ “มิวเซียม” และ “พิพิธภัณฑ์” อันที่จริงคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ถ้าแปลตามรูปศัพท์แล้ว จะมีความหมายเพียง “สิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงสถานที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของแต่อย่างใด คำที่ถูกต้องตามความหมายนั้น ต้องเป็นคำว่า “พิพิธภัณฑ-สถาน” ซึ่งหมายถึง “สถานที่สำหรับสิ่งของนานาชนิด” และจากรูปศัพท์นี้ ถ้านำไปเปรียบเทียบกับ คำว่า “มิวเซียม” แล้ว จะเห็นว่า รูปศัพท์ทั้ง 2 นั้น มีความหมายไม่ตรงกัน คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” แสดงออกแค่เพียงเป็นสถานที่เก็บของ ในขณะที่คำว่า “มิวเซียม” กลับมีความหมายว่าเป็นสถานที่สิงสถิตของคณะเทพธิดามูซา[3] (Musa) คณะเทพธิดามูซานี้ เป็นคณะแห่งสรรพวิชาด้านต่าง ๆ ดังนั้น คำว่า “มิวเซียม” จึงมีความหมายอยู่ในตัวเองว่า “หอแห่งสรรพวิชา” หรือ “แหล่งเรียนรู้” ด้วยเหตุแห่งความต่างกันนี้ ก่อนจะกล่าวถึงพัฒนาด้านความหมายของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” จะขอกล่าวถึงความหมายของ“มิวเซียม” เสียก่อนเพื่อจะได้เข้าใจเกี่ยวกับความแตกแต่งทางด้านความหมายระหว่างคำว่า “มิวเซียม” กับ “พิพิธภัณฑ์” ดังนั้น ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกำหนดของ ICOM ที่จะนำเสนอให้เห็นพัฒนาการของความหมายนั้น จะขอใช้คำทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” เพื่อที่จะแยกสายพัฒนาการของความหมายให้ชัดเจนระหว่างโลกตะวันตกที่ใช้ “มิวเซียม” กับ ประเทศไทย ที่ใช้ “พิพิธภัณฑ์” ความหมายตามรูปศัพท์ของ “มิวเซียม” “มิวเซียม” เป็นคำยืมมาจากภาษาละติน ว่า “มูเซอุม”[4] มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า “มูเซออน” (Mouseion) ซึ่งหมายถึง“สถานที่สิงสถิตของหมู่เทพธิดามูซา” คณะเทวีนี้มีอยู่ด้วยกัน 9 องค์[5] ทั้งหมดล้วนเป็นพระธิดาของเทพเจ้าเซอุส ราชาแห่งเทพทั้งมวล กับเทวีเนโมซีเน เทวีแห่งความทรงเจ้า กล่าวกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นตัวแทนของดนตรี บทเพลง และ นาฏศิลป์ โดยมีอำนาจดลใจให้กวีสามารถแต่งกวีนิพนธ์ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงถือกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นผู้อุปถัมภ์เหล่านักปราชญ์และกวีให้สามารถแต่งตำราและบทประพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นมาได้ และเป็นเหล่าเทพแห่งสรรพวิชาด้วยเช่นกัน โดยในช่วงยุคคลาสสิกตอนปลาย ได้มีการจำแนกหน้าที่อุปถัมภ์ให้แก่เทพธิดาแต่ละองค์ แทนด้วยสรรพวิชาต่าง ๆ ดังนี้คือ                   ๑.  คลีโอ (Cleo) เทพธิดาแห่งประวัติศาสตร์นิพนธ์                 ๒. ยูเตอร์เป (Euterpe) เทพธิดาแห่งกวีนิพนธ์และทำนองเสนาะ                 ๓. ธาเลีย (Thalia) เทพธิดาแห่งบทร้อยกรอง และสุขนาฏกรรม                 ๔. เมลโปเมเน (Melpomene) เทพธิดาแห่งโศกนาฏกรรม                 ๕. เติร์ปซิโคเร (Terpsichore) เทพธิดาแห่งการขับรำและฟ้อนรำ                 ๖. เอราโต (Erato) เทพธิดาแห่งกวีนิพนธ์เรื่องรักใคร่ และการล้อเลียนท่าทาง                 ๗. โปลิฮิมเนีย (Polyhymnia) เทพธิดาแห่งบทเพลงสรรเสริญอันศักดิ์สิทธิ์                 ๘. ยูราเนีย (Eurania) เทพธิดาแห่งดาราศาสตร์ หรือ งานนิพนธ์ด้านดาราศาสตร์                 ๙. คาลลิโอเป (Calliope) เทพธิดาแห่งบทประพันธ์ประเภทมหากาพย์   พัฒนาการทางด้านความหมายของ “มิวเซียม” ในโลกตะวันตก                 “มูเซออน” ในสมัยกรีกโบราณเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติสมาธิ เป็นสถาบันด้านปรัชญา หรือ เป็นวิหารสำหรับคณะเทพธิดามูซา ต่อมาในสมัยโรมันเรืองอำนาจ “มิวเซียม” หมายถึงสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านปรัชญาซึ่งกันและกัน และคงความหมายในลักษณะนี้เรื่อยมาจนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) ซึ่งเป็นยุคเรเนสซองส์ ความหมายของ “มิวเซียม” จึงเริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยที่เมืองฟลอเรนส์ “มิวเซียม” จะหมายถึง “สถานที่ที่มีสิ่งสะสมต่างๆ” ซึ่งก็จะมีความแฝงว่าเป็นสถานที่แห่งความรู้ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23) เป็นต้นมา กลับเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไปในความหมายที่ว่า “สถานที่สำหรับเก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยาและประวัติศาสตร์”[6] แนวความคิดเช่นนี้ ได้สืบต่อมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (กลางพุทธศตวรรษที่ 25) จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งสภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ หรือ ICOM จึงได้เริ่มสร้างนิยามของคำว่า“มิวเซียม” ขึ้นเพื่อให้เป็นที่เข้าใจตรงกันระหว่างประเทศสมาชิก และได้มีการปรับปรุงนิยามเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า “มิวเซียม” สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่าชาติ หรือ ICOM จึงได้ให้คำนิยามไว้ในเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ.1946)[7] ว่า “คำว่า มิวเซียม มีความหมายรวมไปถึงงานเก็บสะสมทุกประเภทที่เปิดบริการแก่สาธารณะ ซึ่งได้แก่วัตถุทางศิลปะ งานช่าง วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี รวมไปถึงสวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ แต่ไม่รวมถึงห้องสมุด ยกเว้นเสียแต่ว่าห้องสมุดเหล่านั้น จะมีส่วนจัดแสดงถาวรอยู่ในความดูแล” ในการประชุมครั้งต่อมา ได้มีการเพิ่มเติมคำนิยามข้างต้นนี้ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นกล่าวคือ ในปี พ.ศ.2499 (ค.ศ.1956) ได้นิยามว่า“มิวเซียม” คือสถานที่ใดก็ตามที่มีรูปแบบการบริหารที่มีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ การศึกษา และการส่งเสริม ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยวิธีการจัดแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ด้านสาระและความบันเทิง ที่จะได้รับจากวัตถุต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ได้แก่ สิ่งสะสมประเภทงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และยังรวมไปถึงสวนสัตวศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์ และสถานที่แสดงสัตว์น้ำ  นอกจากนี้ ห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุที่มีห้องจัดแสดงถาวรก็จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ด้วยเช่นกัน ต่อมาในปี พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) ได้มีการเพิ่มเติมอนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และสถานที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่สงวนเข้าไปด้วย เช่น อุทยาน หรือ วนอุทยาน ปี พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) เริ่มระบุเป็นครั้งแรกว่า “มิวเซียม” คือองค์กรก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นครั้งแรกที่ระบุถึงหน้าที่ 5 ประการของ “มิวเซียม” คือ รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงวัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งเป็นคำนิยามที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมให้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และท้องจำลองเป็น “มิวเซียม” ได้ด้วยเช่นกัน ปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) เป็นครั้งแรกที่เริ่มนิยามมิให้ “มิวเซียม” ผูกติดกันรูปแบบของการบริหาร ขอเพียงเป็นสถานที่ถาวรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และให้ความรู้ความบันเทิงแก่สาธารณะก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมศูนย์ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ และ หน่วยงานที่ทำงานด้านบริหารที่มีคุณสมบัติบางส่วนสอดคล้องกับนิยามที่ ICOM ตั้งไว้ หรือ มีส่วนในการสนับสนุนงาน”มิวเซียม”และบุคลากรของ “มิวเซียม” ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านการวิจัย การศึกษา และ การฝึกอบรม ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ได้เช่นกัน ปี พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีก 2 ประเภทคือ หน่วยงานใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับ “มิวเซียม” และมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของ ICOM ก็จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” และ สถาบันหรือองค์กรใดก็ตาม ที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงผลกำไร และทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัย ให้การศึกษา จัดการฝึกอบรม จัดทำเอกสารวิชาการ และจัดกิจกรรมเกี่ยวข้องกับงาน “มิวเซียม”และ วิชา “มิวเซียมศึกษา” ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” คำนิยามล่าสุดที่ใช้ในขณะนี้ เป็นคำนิยามของปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีกประเภทหนึ่ง คือ ศูนย์วัฒนธรรม หรือ นิติบุคคลใด ที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ สืบสาน และ บริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าพิจารณาจากนิยามของ ICOM ในช่วงเวลากว่า 55 ปี (พ.ศ. 2489 – 2544) แล้วจะเห็นว่า ICOM พยายามที่จะนิยามคำว่า“มิวเซียม” ให้ครอบคลุมให้มากที่สุด ในชั้นแรกนั้น คงเน้นไปยังกลุ่มองค์กรที่สะสมวัตถุและจัดแสดงวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนั้นรวมไปถึงสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ด้วย ด้วยเหตุว่าเป็นสถานที่ “สะสม” พืชและสัตว์ (จากนิยามปี พ.ศ. 2489 และ 2499) อีก 5 ปี ต่อมาได้เพิ่มเติมหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจได้ โดยที่เนื้อหาของสถานที่เองก็จะให้ความรู้เรื่องของธรรมชาติวิทยาและโบราณคดี เช่น อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ (จากนิยามปี พ.ศ.2504)  ต่อมาอีก 13 ปี คือปี พ.ศ.2517 คำนิยามเริ่มมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานของคำนิยามในการประชุมครั้งต่อ ๆ มาของ ICOM ในครั้งนี้ และได้นิยามเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดแสดงนั้นว่า “วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำนิยามที่กว้างและครอบคลุมวัตถุหรือหลักฐานทุกประเภทที่จัดแสดงอยู่ใน “มิวเซียม” นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตรวมเอาอนุสรณ์สถานที่มีเนื้อหาในเชิงชาติพันธุ์วรรณา และองค์กรต่างๆ ที่จัดแสดงให้ความรู้เรื่องราวที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น (จากนิยามปี พ.ศ. 2517) จากนั้นต่อมาอีก 15 ปี คือ เริ่มต้นแต่ ปี พ.ศ. 2532 - 2544 ดูเหมือนว่า ICOM จะขยายขอบเขตคำนิยามออกไปอีก โดยในช่วงเวลานี้ มีการประชุมกัน 3 ครั้ง คือ พ.ศ. 2532, 2538 และ 2544 ทั้ง 3 ครั้งนี้ มีการพูดถึงองค์กรที่มีอำนาจบริหาร องค์กร หรือสถาบันที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่หวังผลกำไร หน่วยงานทั้งของภาครัฐ และ เอกชน ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลใดก็ตาม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน การค้นคว้าวิจัย การอนุรักษ์ และการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม และมีคุณสมบัติบางประการ หรือทั้งหมดตามข้อกำหนดของ ICOM ก็ถือได้ว่า องค์กรเหล่านี้ เป็น ”มิวเซียม” ทั้งสิ้น ดังนั้น ความหมายตามรูปคำของ “มิวเซียม” จึงอาจพิจารณาตามแต่ยุคสมัยได้ว่า ในสมัยอาณาจักรอิยิปต์โบราณยุคราชวงศ์ปโตเลมีตอนต้นนั้น การตั้ง “หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย” (Museum of Alexandria) น่าจะหมายถึง “สถานที่เก็บรวบรวมองค์ความรู้และสรรพวิชาต่าง ๆ” ซึ่งโดยมากแล้วสิ่งของสะสมนั้นมาจากรูปแบบของหนังสือ ดังนั้นในบางครั้งก็จะเรียกว่าหอสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรียก็มี แต่สำหรับในยุคปัจจุบันนั้น ความหมายของ “มิวเซียม” ได้ขยายความออกไปเป็นอย่างมาก  โดยการนิยามของ ICOM กล่าวคือ จากกรอบแนวคิดที่ว่า “มิวเซียม” เป็น “แหล่งเรียนรู้ที่ได้รับความเพลิดเพลินจากการศึกษาของสะสม” พัฒนามาจนเป็น “แหล่งเรียนรู้และองค์กรที่สนับสนุนการเรียนรู้ ที่มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้า เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงเรื่องราวอันเป็นเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่ทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้และความเพลิดเพลินใจ” จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในอนาคต ICOM จะมีการเพิ่มเติมนิยามนี้อีกหรือไม่   แรกใช้คำว่า “มิวเซียม” ในความหมายของ “หอสรรพวิชา” คำว่า “มิวเซียม” ได้ถูกนำมาใช้เรียกสถานที่เก็บสะสมหนังสือและสิ่งของต่าง ๆ ครั้งแรกที่เมืองอเล็กซานเดรียของอาณาจักรอิยิปต์โบราณ เมื่อราว ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยพระเจ้าปโตเลมีที่ ๒ โซเตอร์ ได้ทรงสร้าง “หอสรรพวิชา”[8] แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (Museum of Alexandria) เพื่อเก็บงานวรรณกรรมในสมัยไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ดังนั้น อีกนัยหนึ่งหอสรรพวิชาในที่นี้ก็ทำหน้าที่เป็นหอสมุดด้วยเช่นกัน แนวความคิดสะสมหนังสือนี้ เกิดขึ้นมาจากพระราชดำริของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๑ ด้วยความปรารถนาที่จะรวบรวมงานวรรณกรรมของโลกไว้ในเดียวกันคือ ที่เมืองอเล็กซานเดรีย  ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๒ โซเตอร์ จึงทรงสร้างสถานที่เก็บหนังสือที่พระเจ้าปโตเลมีที่ ๑ ทรงสะสมไว้ โดยเรียกสถานที่นั้นว่า “หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย” จนถึงในรัชสมัยของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๓  เล่ากันว่าพระองค์มีวิธีการสะสมหนังสือคือ การยืมมาแล้วคัดลอก โดยทรงส่งพระราชสาสน์ไปยังพระราชาแห่งเมืองต่าง ๆ เพื่อขอยืมหนังสือมาคัดลอก เมืองเอเธนส์เป็นเมืองแรกที่ส่งเอกสารมาให้ ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะถูกคัดลอกโดยเจ้าหน้าที่ของหอสมุดและหอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย เมื่อคัดลอกแล้วเสร็จ หอสมุดและหอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรียจะเก็บต้นฉบับไว้ที่หอสมุด และจะส่งสำเนาที่คัดลอกขึ้นมาใหม่กลับคืนไปให้กับเมืองเอเธนส์ เล่ากันว่า เนื่องจากเมืองอเล็กซานเดรีย เป็นเมืองท่าสำคัญของอาณาจักรอิยิปต์โบราณ ดังนั้นจึงมีเรือมาจากทั่วทุกสารทิศ เรือเหล่านี้ ก็ไม่เว้นที่จะถูกสำรวจว่ามีหนังสือหรือบันทึกอะไรที่น่าสนใจพอที่จะคัดลอกเก็บไว้บ้างหรือไม่ และด้วยเหตุที่เป็นสถานที่สะสมหนังสือมากมายหลากหลายสาขาวิชาที่ได้มาจากเมืองต่าง ๆ นี้เอง จึงทำให้เมืองอเล็กซานเดรีย เป็นที่กล่าวขวัญกันว่าเป็นเมืองแห่งวิทยาการ หอสรรพวิชาจึงเป็นที่พบประสังสรรค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเหล่านักปราชญ์และนักเรียน[9] ด้วยเหตุนี้ หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย จึงได้กลายเป็นสถาบันทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกยุคโบราณ   ความเข้าใจคำว่า “มิวเซียม” ในโลกตะวันออก ด้วยเหตุที่คำว่า “หอสรรพวิชา” หรือ “มิวเซียม” ของกรีก-โรมัน มีใช้กันมานานแล้วในโลกตะวันตก ในความหมายที่เน้นไปยังเรื่องของสถานที่อันเป็นที่สถิตแห่งความรู้ และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนกันระหว่างนักปราชญ์กับลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาปรัชญา คำว่า “หอสรรพวิชา” หรือ “มิวเซียม” จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในการเรียกชื่อสถานที่อันทำหน้าที่เสมือนคลังแห่งความรู้ ที่ถ่ายทอดโดยการเก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยาตั้งแต่ยุคเรเนสซองส์เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “มิวเซียม” จะถูกจำกัดให้หมายถึง “สถานที่จัดเก็บและแสดงสิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น และความคิดเช่นนี้เองได้ส่งผ่านมายังมายังประเทศต่าง ๆ ทางโลกตะวันออก โดยพิจารณาได้จากความหมายของคำว่า “มิวเซียม” ที่ได้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ โดยที่คำที่ผูกขึ้นมาใหม่นี้ ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงกรอบความคิดที่ว่า “มิวเซียม” คือ “สถานที่จัดเก็บและจัดแสดงสิ่งของนานาชนิด”ตัวอย่างเช่น ภาษาจีนกลางบัญญัติว่า “โป๋อู้ก่วน”[10] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันมีสิ่งของมากมาย” ภาษาฮินดีบัญญัติว่า “วัสตุสังครหาลัย”[11] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันเป็นที่เก็บรักษาวัตถุต่าง ๆ” หรือในภาษาเวียดนามบัญญัติว่า “เวียนบ๋าวตั่ง”[12] ตามรูปศัพท์แปลว่า“เรือนอันเป็นที่เก็บรักษา” หรือในภาษาไทยบัญญัติว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันมีสิ่งของมากมาย” จะเห็นได้ว่าชื่อเหล่านี้อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “มิวเซียม” หมายถึง สถานที่เก็บหรือรวบรวมวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ทั้งสิ้น ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาพม่าบัญญัติว่า “เปี๊ยะไต๊”[13] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนสำหรับจัดแสดง” หรือ ภาษามอญบัญญัติว่า “ตั๊กปละ”[14] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนสำหรับจัดแสดง” เช่นกัน ก็ยังคงให้ความรู้สึกว่าเป็นสถานที่สำหรับ “จัดแสดงสิ่งของ” แต่อย่างไรก็ตาม ในภาษาเขมรได้บัญญัติคำว่า “มิวเซียม” ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “สารมณเฑียร”[15] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับความหมายดั้งเดิมของ “มิวเซียม” มากที่สุด   ความหมายตามรูปศัพท์ของ “พิพิธภัณฑ์” ถ้าพิจารณาถึงความหมายตามรูปศัพท์แล้ว “พิพิธภัณฑ์” มิได้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “มิวเซียม” แต่ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า “มิวเซียม” คือ “พิพิธภัณฑ์” และ “พิพิธภัณฑ์” คือ “มิวเซียม” ประกอบกับนิยามของ ICOM จึงทำให้กรอบแนวคิดในการนิยามความหมายให้กับคำว่า “พิพิธภัณฑ์” เปลี่ยนแปลงไปจากยุคแรก ๆ ที่เริ่มปรากฏคำนี้เป็นอย่างมาก “พิพิธภัณฑ์” ตามรูปศัพท์แปลว่า “สิ่งของนานาชนิด” คำนี้เป็นการสมาสกันระหว่างคำว่า “พิพิธ” ซึ่งแปลว่า นานาชนิด กับคำว่า“ภัณฑ์” ซึ่งแปลว่าสิ่งของ รากศัพท์ของ ”พิพิธภัณฑ์” มาจากภาษาบาลีคือ คำว่า “วิวิธ” กับคำว่า “ภณฺฑ” รวมกันเป็น “วิวิธภณฺฑ” แปลว่า สิ่งของนานาชนิด อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นราว 140 ปีเท่านั้น จากพจนานุกรมไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่ชื่อ “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท – Dictionarium Linguae Thai” แต่งโดยชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว เมื่อปี พ.ศ. 2397ไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่อย่างใด จะมีก็เพียงคำว่า “พิพิธ” ซึ่งหมายถึง สิ่งต่าง ๆ มากมาย[16]   “วัดโพธิ์” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นแรกแห่งกรุงสยาม (ราว พ.ศ. 2337 – 2400) ถึงแม้จะยังไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในช่วงก่อน พ.ศ.2400 แต่สิ่งก่อสร้างที่ทำหน้าเสมือน “มิวเซียม” ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ตั้งแต่ที่ยังไม่มีคนไทยรู้จักคำว่า “มิวเซียม” และ “พิพิธภัณฑ์” กล่าวคือ ถ้า “มิวเซียม” ในรูปแบบที่ง่ายที่สุดคือ สถานที่สะสมสิ่งของ จัดแสดงสิ่งของ ให้ความรู้ และความเพลิดเพลินใจแล้ว “มิวเซียม” แห่งแรกของประเทศไทยเท่าที่ยังมีหลักฐานเหลืออยู่คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” แม้ว่า “วัดโพธิ์” จะเป็นที่กล่าวถึงกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย[17] หรือเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย[18] แต่อันที่จริงถ้าพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของวัดโพธิ์แล้ว ดูเหมือนว่าจะเข้าได้ดีกับคำว่า “มิวเซียม” หรือ “พิพิธภัณฑสถาน” ได้ด้วยเช่นกัน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2332 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการบูรณะวัดโพธิ์ (สมัยนั้นเรียกวัดโพธาราม) เนื่องจากยามนั้น วัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือได้รับผลกระทบจากสงครามทำให้วัดบางแห่งถูกทิ้งร้างไปบ้าง หรือไม่ก็ขาดการบำรุงรักษาบ้าง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2337จึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ อัญเชิญพระพุทธรูปสำริดกว่า 1,248 องค์ มาจากเมืองเหนือ เพื่อมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ ดังที่ปรากฏเรื่องราวอยู่ใน “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 1” ความว่า   “… แลในพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้น เชิญพระพุทธปติมากรอันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพังอยู่ ณะ เมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุกโขไท เมืองลพบุรี เมืองกรุงเก่า วัดศาลาสี่หน้าใหญ่น้อย พันสองร้อยสี่สิบแปด พระองค์ลงมา ให้ช่างหล่อต่อพระสอ พระเศียร พระหัตถ์ พระบาท แปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลาสี่หน้า น่าตักห้าศอก คืบสี่นิ้ว เชิญมาบุณะปติสงขรณเสรจ์แล้ว ประดิษถานเปน พระประธานในพระอุโบสถ บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวปติมากร…”[19]   นอกจาก “การสะสม” พระพุทธรูปดังกล่าวแล้ว ที่วัดโพธิ์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตกแต่งบริเวณภายในวัดให้เกิด “ความรื่นรมย์” แก่ผู้มาเยือน โดยขุดสระน้ำ ปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ และ มีการเขียนเรื่องชาดก 550 ชาติ ตำรายา และฤๅษีดัดตน ไว้ตามศาลาต่าง ๆ ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ “ไว้เป็นทาน” แก่ผู้เข้ามาที่วัดโพธิ์[20]  แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของ “การสะสม” ดังที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะให้คนในกรุงเทพฯ มาดูเพื่อชื่นชมความสวยงามของพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว แต่เป็น “การสะสม” เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กล่าวคือ พระพุทธรูปเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากความคิดที่สะสมความสวยงาม แต่เป็นความคิดที่สะสมสิ่งยึดเหนี่ยวจิตของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ในช่วงเวลาแห่งการสร้างชาติ ดังนั้น พระพุทธรูปเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นวัตถุที่จัดแสดงอยู่ที่วัดโพธิ์ แต่เนื่องจากเป็นพระพุทธรูป ดังนั้นจึงยังคงได้รับความเคารพกราบไหว้จากผู้ที่มาวัดโพธิ์อยู่เสมอมา เปรียบเสมือนพระพุทธรูปเหล่านั้นยังคงทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชนอยู่นั่นเอง ซึ่งแตกต่างพระพุทธรูปต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันนี้ ที่ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ โดยได้รับการปฏิบัติเหมือน “วัตถุจัดแสดงชนิดหนึ่ง” แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจเป็นเพราะวัตถุประสงค์ในเรื่องความปลอดภัยของตัวโบราณวัตถุเองก็เป็นได้ คำที่น่าสนใจในจารึกดังกล่าวคือ คำว่า “ไว้เป็นทาน” ซึ่งแสดงว่า รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้วัดแห่งนี้ เป็นสถานที่สำหรับประชาชนได้มีโอกาสเข้ามากราบนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ของประเทศไทยกว่า 1,248 องค์ และได้เข้ามาแสวงหาความรู้ทางด้านวรรณกรรมทางพุทธศาสนาและวรรณกรรมสมัยนิยม โดยผ่านทางโคลงกลอน และภาพจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ คือจากนิทานชาดกและรามเกียรติ์ และยังสามารถเข้ามาศึกษาวิชาแพทย์แผ่นโบราณได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับความรื่นรมย์และความเพลิดเพลินใจ เมื่อเดินชมพรรณไม้และสระน้ำที่สร้างไว้ภายในวัดโพธิ์ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ วัดโพธิ์ จึงสมควรที่จะถูกขนานนามว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของกรุงสยาม” ถึงแม้จะพ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มาแล้วก็ตาม แต่การทำหน้าที่สะสมความรู้ของวัดโพธิ์นั้น ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ โดยมีพระราชประสงค์คือ ทรงต้องการให้วัดโพธิ์เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน ไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการมีการรวบรวมและเลือกสรรตำรับตำราต่าง ๆ มาชำระแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้บนแผ่นศิลา แล้วนำไปประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ[21] โดยมีเนื้อหาวิชาการต่าง ๆ ที่จำแนกได้พอสังเขปเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้คือ ตำรายา ตำราฉันท์-กลอน-กลบท ประวัติวัดพระเชตุพน สุภาษิต ศาสนา การปกครองอาณาจักรและศาสนจักร วรรณคดี อนามัย เบ็ดเตล็ด และประเพณี[22] หรือ ถ้าจะจำแนกตามหลักวิชาบรรณารักษศาสตร์ระบบดิวอี้แล้ว ก็อาจจำแนกได้เป็น หมวดปรัชญา หมวดพุทธศาสนา หมวดสังคมศาสตร์ หมวดมานุษยวิทยา หมวดสัตววิทยา หมวดการแพทย์ หมวดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม และ หมวดวรรณกรรม[23] ดังนั้น ถ้าอาศัยนิยามของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในปัจจุบันแล้ว วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์ ถือได้ว่า เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของกรุงสยาม” ถึงแม้ว่าในสมัยนั้น ยังไม่มีคำว่า “มิวเซียม” หรือ“พิพิธภัณฑ์" ใช้กันก็ตาม และที่สำคัญคือ วัดโพธิ์เปิดเป็นที่สาธารณะ ซึ่งจะต่างจาก “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ที่เป็น “พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป     “พระที่นั่งราชฤดี” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 2 แห่งกรุงสยาม (ราว พ.ศ. 23?? – 2400) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเสด็จประทับเป็นที่รโหฐาน และจัดตั้งสิ่งของต่างๆ ขึ้นที่ริมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางด้านตะวันออก ชื่อว่า “พระที่นั่งราชฤดี”[24] จึงกล่าวได้ว่า พระที่นั่งราชฤดีนี้คือ “พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 2 แห่งกรุงสยาม” เมื่อเซอร์จอห์น เบาริง อัครราชฑูตอังกฤษเดินทางมาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี เมื่อ พ.ศ.2398 รัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ที่พระที่นั่งราชฤดีแห่งนี้[25] หลังจากที่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งราชฤดีแล้ว จึงได้บันทึกสิ่งที

การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย ในบริบทของนโยบายรัฐ

24 มิถุนายน 2556

การพิจารณาถึงประวัติการก่อตัวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย พยายามที่จะสื่อให้เห็นถึงเงื่อนไข และบริบทบางประการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการก่อเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอยู่ด้วยกันหลายรูปลักษณ์ ซึ่งไม่อาจที่จะแบ่งช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการเหลื่อมซ้อนในเรื่องของเวลาอยู่มาก แต่ก็พยายามที่จะลำดับภาพให้เห็นหลักเขตเด่น ๆ ในเชิงโครงสร้างว่า ในห้วงเวลาประมาณหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น “นโยบายของรัฐ” ผ่านหน่วยงานราชการและกลไกทางการต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจแก่การเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของในท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์การเรียนรู้ ขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค และในระดับชุมชนในท้องถิ่นอย่างไร  วัตถุประสงค์ของการนำเสนอก็เพื่อให้เป็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ระดับมหภาค ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรายละเอียดเฉพาะกรณีที่จะนำเสนอในส่วนต่อไป   การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในระยะเริ่มแรก: พิพิธภัณฑสถานในวังและวัด เป็นการยากที่จะระบุอย่างชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในไทยเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด หากเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในความหมายที่เกี่ยวพันกับมิติของพื้นที่ ซึ่งหมายถึงพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ แล้ว มีประวัติย้อนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหัวเมืองมณฑลอยุธยาได้มีความเคลื่อนไหวในเรื่องพิพิธภัณฑสถานกล่าวคือ พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ผู้ซึ่งได้รับแนวคิดในเรื่องการสะสมอนุรักษ์สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงไว้ในแผ่นดินมิให้สูญสลายหายไป จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น พระยาโบราณราชธานินทร์เป็นผู้หนึ่งที่สนใจด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และเป็นผู้ที่ได้รวบรวมเก็บรักษาศิลปวัตถุและโบราณวัตถุในพื้นที่ไว้เป็นจำนวนมาก และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานขึ้นมา ณ พระราชวังจันทรเกษม เรียกว่า “โบราณพิพิธภัณฑ” เมื่อปี พ.ศ. 2445 28 ปี หลังก่อตั้ง “มิวเซียม” ณ ศาลาสหทัยสมาคม ต่อมาเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จทอดพระเนตร และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายสิ่งของมาจากโรงม้าพระที่นั่งไปจัดแสดงที่พลับพลาจตุรมุข และสร้างระเบียงตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและตะวันออก สำหรับจัดตั้งศิลาจารึกและประติมากรรมศิลาตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า “อยุธยาพิพิธภัณฑ”[1] พิพิธภัณฑสถานประจำท้องถิ่นที่เกิดขึ้นแห่งแรกนี้ กลายเป็นแบบอย่างของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ให้กับสมุหเทศาภิบาลอื่น ๆ ในเวลาต่อมา[2] การรับรู้ความหมายและแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ในยุคนั้น จึงเป็นเรื่องของการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เป็น “ของมีค่าและของแปลก” เพื่อนำมาจัดแสดง การจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ได้ต้องมี “ของ” ก่อน ซึ่งแหล่งที่มีของมีค่าหรือโบราณวัตถุมากที่สุดในท้องถิ่นก็คือวัด เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแต่อดีต พุทธศาสนิกชนไทยมักจะบริจาคของให้วัด วัดจึงเป็นที่รวมของศิลปวัตถุและโบราณวัตถุในท้องถิ่น สิ่งของเครื่องใช้ ศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น สมุหเทศาภิบาลจึงไปหาวัดสำคัญที่มีการเก็บสะสมของมีค่าไว้แล้วสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ อาทิ วัดพระปฐมเจดีย์ วัดพระธาตุหริภุญไชย เป็นต้น[3] นอกจากนี้เป็นได้มากว่าการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในหัวเมืองต่าง ๆ อีกนัยหนึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนความพยายามของผู้ปกครองไทย ที่ต้องการแสดงถึงการเป็นชาติที่มีอารยะในยุคที่กำลังเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยม เมื่อส่วนกลางส่งต่อแนวคิดและวิธีการจัดการพิพิธภัณฑ์ผ่านผู้ปกครองในท้องถิ่นเข้ามายังวัดสำคัญ ๆ ที่มีของมีค่าสะสม การก่อตัวและแพร่กระจายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในไทยในระยะแรกจึงเกิดขึ้นในวัด และได้แพร่ขยายต่อไปทั่วประเทศ อาทิ พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครปฐม (พ.ศ. 2454)[4] พิพิธภัณฑสถานวัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน (พ.ศ. 2470)[5] พิพิธภัณฑสถานวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ. 2472)[6] พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (พ.ศ. 2478)[7]  ศรีธรรมราชพิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2480)[8] พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก (พ.ศ. 2480)[9] พิพิธภัณฑ์วัดโบสถ์ จังหวัดสิงห์บุรี (พ.ศ. 2482)[10] พิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2483)[11] พิพิธภัณฑ์วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา (พ.ศ. 2497)[12] เป็นต้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์วัดเหล่านี้ ต่อมาได้ถูกประกาศเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2504 ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ด้านสังคมวัฒนธรรมและเงื่อนไขทางการเมือง ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าที่จะบรรยายในที่นี้ ทำให้เกิดนโยบายพัฒนาจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์วัฒนธรรมขึ้นในท้องถิ่น นโยบายการพัฒนาวัดของกรมศาสนาก็เป็นนโยบายหนึ่ง โดยการประกาศใช้ปี พ.ศ.2507 และปรับปรุงร่างโครงการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2513 ความหมายของการพัฒนาวัดคือ การปรับปรุงสภาพวัดและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด เพื่อสนับสนุนให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน เกณฑ์การจัดวัดเข้าสู่ทำเนียบ “วัดพัฒนาตัวอย่าง” การพัฒนาด้านศาสนวัตถุเป็นหนึ่งในหน้าที่ของวัดที่ต้องทำ พันธกิจหนึ่งก็คือ การพัฒนาเขตสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งเป็นบริเวณที่วัดกันไว้เพื่อสงเคราะห์แก่ประชาชน  การสร้างแหล่งเรียนรู้ของชุมชนนอกเหนือจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมและห้องสมุดแล้ว พิพิธภัณฑ์ก็อยู่ในขอบข่ายงานนี้[13] จากนั้นในปี พ.ศ. 2525 กรมการศาสนาได้ประกาศโครงการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยให้เริ่มเปิดดำเนินการภูมิภาคละหนึ่งแห่ง จำนวน 4 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ฯ แห่งแรกคือ ที่วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม[14] ชื่อว่า “ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ซึ่งวัดมหาชัยก็มีความพร้อมอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เนื่องจากเจ้าอาวาสได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2513[15]   พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในสถานศึกษา ราวต้นทศวรรษที่ 2520 เกิดปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นระลอกใหม่ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในสถาบันการศึกษา สืบเนื่องมาจากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) โดยหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งสวช. ตามพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2522 แล้ว ได้จัดให้มีการก่อตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม” ขึ้นในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาวัฒนธรรมของชาติดำเนินไปได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ โดยให้พิจารณาจัดตั้งขึ้นในสถาบันที่มีความพร้อมโดยเฉพาะควรเป็นสถาบันการศึกษา และมีบุคลากรพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้[16] ต่อมาในปี 2524 ได้มีการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม พ.ศ. 2523 และประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2524 แทน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งตามระเบียบนี้มีผลให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วัฒนธรรม” และเพื่อให้ทราบว่าศูนย์วัฒนธรรมนั้น ๆ ตั้งอยู่ที่ใด การเขียนชื่อศูนย์วัฒนธรรม จึงใช้คำว่า ศูนย์วัฒนธรรมขึ้นต้น ตามด้วยจังหวัดหรืออำเภอ แล้วตามด้วยชื่อสถานศึกษาที่จัดตั้งเป็นศูนย์ฯ นั้น ๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี วิทยาลัยครูกาญจนบุรี เป็นต้น[17] ที่มาของการใช้คำว่า “ศูนย์วัฒนธรรม” เนื่องมาจากสวช.พยายามจะนิยามความหมายและหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมให้แตกต่างจากความหมายพิพิธภัณฑ์ และสภาพของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอยู่ในตอนนั้นที่เป็นสถานที่หรือเป็นคลังสะสมวัตถุสิ่งของ ละเลยการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของประชาชน มุ่งรับใช้นักวิชาการมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้ง โดยศูนย์วัฒนธรรมนอกจากจะจัดแสดงของ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของจริงแต่อาจจะจำลองมา ทำให้ไม่ต้องผูกพันกับการมีคลังสะสมของและงานอนุรักษ์ และยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสารที่ทางศูนย์วัฒนธรรมต้องการจะสื่อ[18] ในปี พ.ศ.2531 ได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2531 ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20กันยายน พ.ศ. 2531 โดยมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอำเภอขึ้นด้วยในอำเภอต่าง ๆ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม[19] ส่วนใหญ่จัดตั้งที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ เพื่อทำหน้าที่ทางด้านวิชาการในการเก็บข้อมูล วิจัย ศึกษา พัฒนา ส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมของท้องถิ่นต่าง ๆ ในอำเภอ[20] ศูนย์วัฒนธรรมมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2531 ดังนี้ 1)  ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรม 2)  อนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่วัฒนธรรม 3)  ฝึกอบรมและสนับสนุนการฝึกอบรมวิทยากรและบุคลากรวัฒนธรรม 4)  จัดนิทรรศการด้านวัฒนธรรมและหรือจัดดำเนินการหอวัฒนธรรม 5)  ประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานวัฒนธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน 6)  หน้าที่อื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจาก สวช. คณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัด หรือคณะกรรมการวัฒนธรรมอำเภอแล้วแต่กรณี[21] แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะพยายามส่งเสริมและพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมมาโดยตลอด โดยมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรมหลายครั้ง และมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้มี 77 ศูนย์ครบทุกจังหวัด[22] แต่ศูนย์วัฒนธรรมกลับไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขหลายประการ ศูนย์วัฒนธรรมกลายเป็น “งานฝาก” ของสถาบันการศึกษา บุคลากรที่จะมารับผิดชอบโดยตรงไม่มี มีงบประมาณสนับสนุนน้อยมาก[23] สถานที่ที่จะจัดเป็นศูนย์วัฒนธรรมต้องอาศัยห้องเรียน ซึ่งบางแห่งมีปัญหาเนื่องจากจำนวนห้องเรียนไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอนอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงโครงสร้างของระบบราชการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการ[24] แม้ตอนก่อตั้งเริ่มแรก ศูนย์วัฒนธรรมพยายามจะนิยามความหมายของตนให้แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑสถานของรัฐที่เป็นเสมือนคลังสะสมของ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่หยุดนิ่ง ไม่มีชีวิต มีคนไปใช้บริการค่อนข้างน้อย แต่กาลต่อมาปรากฏว่าศูนย์วัฒนธรรมไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้   พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : ปฏิกิริยาต่อกระแสโลกาภิวัตน์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเริ่มได้รับการกล่าวถึงขึ้นมาอีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2530 โดยความเคลื่อนไหวงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในครั้งนี้ไม่ได้มาจากกลไกภาครัฐ แต่เป็นกลไกนอกภาครัฐคือ ชาวบ้านและนักวิชาการ ปัญญาชนชั้นนำ กลุ่มของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งเข้าไปมีส่วนกระตุ้นและช่วยเหลือชาวบ้านในการตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รู้จักตนเอง โดยมีแนวคิดว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมิใช่เรื่องของอาคารสถานที่และบรรดาโบราณวัตถุแต่เพียงอย่างเดียวใด หากจะต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาทั้งในด้านประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม และชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน ทั้งนี้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคมและชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นจะเป็นตัวตั้งหรือเป็นสิ่งกำหนดว่า จะนำโบราณวัตถุชนิดใดมาแสดง ทิศทางและหัวข้อในการแสดง และเป็นสิ่งที่แสดงลักษณะเฉพาะที่มักเรียกกันว่า “เอกลักษณ์ท้องถิ่น” ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การแลเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม เมื่อมีการนำเอาเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละแห่งมาเปรียบเทียบกัน[25] โดยเนื้อหาจะเน้นองค์รวม คือมองเห็นชุมชนเชื่อมโยงกันหลาย ๆ ส่วน กลายมาเป็นท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นคืออาณาบริเวณแห่งหนึ่งที่มีมนุษย์ พืช สัตว์ ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวเองกับสภาพแวดล้อมเพื่อมีชีวิตอยู่ร่วมกัน กระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทำให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นที่มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ที่จะเข้าใจรูปแบบวัฒนธรรมดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและลุ่มลึก คงไม่มีใครดีไปกว่าคนในท้องถิ่นนั้น การดำเนินการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในรูปแบบนี้ จึงยึดความต้องการจากคนในท้องถิ่นมาก่อน และการได้มาซึ่งเนื้อหาในเรื่องที่จะแสดงนั้นนับเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองวัฒนธรรมอย่างหยุดนิ่งว่าจะต้องอนุรักษ์ แต่มองในลักษณะเป็นการเคลื่อนไหว พิพิธภัณฑ์จะต้องเล่าเรื่องอดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย เพื่อให้เห็นพัฒนาการของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร[26] แนวคิดดังกล่าวเป็นการหวนหาความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตอบโต้ต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ที่พยายามเปลี่ยนให้โลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับท้องถิ่นในการสร้างความมีตัวตนของตนเองขึ้นผ่านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองจากชาวบ้านและนักวิชาการในท้องถิ่น ที่ต้องการแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง ที่แตกต่างไปจากภาพของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นฉบับทางการที่ผลิตมาจากศูนย์กลาง ตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดนี้ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จังหวัดราชบุรี ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2535 โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยศิลปากร[27] เป็นตัวอย่างแรก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดดังกล่าว และกลายเป็นแบบอย่างการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดนี้ที่เกิดขึ้นตามมา อาทิ พิพิธภัณฑ์วัดจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ (พ.ศ. 2538)[28] พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม (พ.ศ. 2539)[29] พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี (อยู่ในระหว่างดำเนินการ) เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเวลานี้ยังไม่พ้นที่จะเกิดขึ้นจากพระสงฆ์และวัด ในขณะที่สังคมมักเชื่อกันว่าวัดได้ถูกลดทอดบทบาทจากการเป็นศูนย์กลางในการสร้าง แลกเปลี่ยน และพัฒนาชีวิตทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมากว่าศตวรรษแล้ว ในขณะเดียวกันการจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของหน่วยงานต่าง ๆ ก็มีส่วนทำให้บรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น อาทิ งานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (พ.ศ. 2539) “สัมมนาเชิงปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ (พ.ศ. 2539) “สัมมนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนบน” จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ (พ.ศ. 2540) “สัมมนาพิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษใหม่” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2544) เป็นต้น การสัมมนาดังกล่าวก่อให้เกิดบรรยากาศที่จะกระตุ้นให้นักวิชาการทั้งในส่วนกลาง นักวิชาการท้องถิ่น สถาบันการศึกษา รวมถึงชุมชน มีความตื่นตัวและสนใจงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น   อำนาจของท้องถิ่นในการจัดการพิพิธภัณฑ์ พลังของภาคประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่องานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อสังคมไทยมีการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญที่ยอมรับสิทธิของชุมชนมากขึ้น ทั้งพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2537 สาระสำคัญคือการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น โดยหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นข้อหนึ่งระบุไว้คือ บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2540 ตามมาตรา 46 ที่ให้สิทธิแก่ท้องถิ่นในการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตประเพณีท้องถิ่นด้วยตนเอง บริบทที่เปลี่ยนไปนี้เปิดช่องทางให้กับการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในรูปของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้สะดวกขึ้น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลายเป็นองค์กรที่ต้องเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปรไป ความอยากมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นรวมทั้งสำนึกร่วมของชุมชนที่อยากเป็นตัวของตัวเองนั้นมีมากจนกลายเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งเกิดขึ้นจากการได้รับงบสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้การให้งบประมาณสนับสนุนโครงการกิจกรรมต่าง ๆ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีงบประมาณหมวดที่เรียกว่าเงินอุดหนุน โดยการตั้งงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนนี้ ไม่ได้มีการกำหนดวงเงินเอาไว้ แต่คำนึงถึงฐานะการคลังขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และโครงการกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายประจำปี[30] พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจากเทศบาลตำบล เช่น ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ได้รับงบประมาณอุดหนุนการดำเนินงานจากเทศบาลตำบลกะทู้ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู จังหวัดสตูล ได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างอาคารจัดแสดงจากเทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ จังหวัดสงขลา ที่ดำเนินงานและบริหารจัดการโดยเทศบาลนครสงขลา[31] ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางแห่งที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นอกจากจะการสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในท้องถิ่นแล้ว ยังคำนึงถึงผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวตามกระแสส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกระแสหลักของสังคมไทยในเวลานี้ อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู ชั้นล่างของอาคารทำเป็นศูนย์บริการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลกำแพง  พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์เป็นศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา เหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้คือ หน้าที่ข้อหนึ่งในบทบัญญัติตามกฎหมายของเทศบาลนคร คือการส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาล หน้าที่อีกประการหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลข้อหนึ่งคือ ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้อบต.เข้าไปผูกพันกับงานด้านสร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนด้วย นั่นคือการจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542  “ศรช.” ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกลักษณะหนึ่ง โดยมี อบต.เป็นผู้กำกับดูแล และมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเป็นศูนย์กลางจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนในชุมชน เป็นสถานที่เสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิทยาการ ตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน นอกจากนี้ยังมีกลไกใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐและนอกภาครัฐ เข้ามาเป็นเฟืองจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างแหล่งเรียนรู้ในรูปของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้แพร่กระจายลงสู่ท้องถิ่น อาทิ โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2545 อันเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มูลนิธิชุมชนไท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรชุมชนเมือง โดยเมืองน่าอยู่นั้นจะต้องมีลักษณะเป็นองค์รวมที่หลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกายภาพ[32]  ซึ่งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ “เมืองน่าอยู่” พิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ อาทิ พิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ชุมชน อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น[33] นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ได้มีแนวนโนบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมออกมา ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของรัฐ โดยส่วนไทยนิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดตั้ง “หอวัฒนธรรมนิทัศน์” ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 เพื่อสนองตอบนโยบายการกระจายอำนาจการบริหารงานวัฒนธรรม การขยายเครือข่ายการดำเนินงานวัฒนธรรมให้แพร่หลาย[34] โดยสวช. พยายามให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนโยบายที่ว่า “…มีแนวนโยบายในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งต้องเกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นนั้นๆ และให้ท้องถิ่นได้รับผิดชอบการศึกษา การจัดตั้งและบริหารงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อเป็นแหล่งกลางในการเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม….”[35] สวช.พยายามสร้างให้หอวัฒนธรรมนิทัศน์ เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมและถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยการสร้างความมั่นใจให้คนในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้รวมตัวกันทำการศึกษาค้นคว้า เก็บข้อมูล และนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจในการดำเนินชีวิตของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น[36] พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในรูปแบบของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ จึงเป็น “แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต” อันสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตราที่ 25 ที่รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬา และนันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งเรียนรู้อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ[37] ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2544 เครือข่ายหอวัฒนธรรมนิทัศน์ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 44 แห่ง มีทั้งที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เช่น หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา หอวัฒนธรรมนิทัศน์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก จังหวัดเชียงราย หอวัฒนธรรมนิทัศน์ลุ่มน้ำโขง จังหวัดนครพนม เป็นต้น บางแห่งเป็นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด หรือเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเข้าร่วมโครงการอบรมผู้บริหารหอไทยนิทัศน์ จึงถือเป็นเครือข่ายหอวัฒนธรรมนิทัศน์ด้วย เช่น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดตราด โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง จังหวัดสมุทรปราการ พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม จังหวัดกระบี่ หอวัฒนธรรมบ้านละไม เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดฝั่งคลอง (ไทยพวน) จังหวัดนครนายก เป็นต้น[38] ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชม เป็นอีกโครงการของสวช. ที่เชื่อมโยงกับงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โครงการดังกล่าวออกมาในปี พ.ศ. 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสืบค้น การถ่ายทอด การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหนึ่งในหกส่วนของศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมสายใยชุมชนนี้ สวช.ได้ตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากที่ตั้งศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนครบทุกจังหวัดแล้ว จะเตรียมขยายศูนย์ให้ครบทุกอำเภอ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มจัดตั้งแล้ว 5 ศูนย์ ใน 5 อำเภอของจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี และเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2548 เตรียมขยายไปทุกตำบล[39] ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนงานที่สวช.ตั้งไว้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากนี้จะกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย   [1] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532), หน้า 132. [2] สมลักษณ์  เจริญพจน์, “พัฒนาการพิพิธภัณฑสถานตามแนวพระราชดำริ”, ใน พระมหากษัตริย์ไทยกับการพิพิธภัณฑ์, (กรุงเทพฯ: บริษัทกราฟิคฟอร์แมท(ประเทศไทย) จำกัด, 2539), หน้า 58. [3] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 147,174. [4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 147. [5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 174. [6] สมลักษณ์  เจริญพจน์, เรื่องเดิม, หน้า 78. [7] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 209. [8] พระสุทธิสารสุธี ศรีสงคราม, วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช, (มปพ.มปป.). [9] สมลักษณ์  เจริญพจน์, เรื่องเดิม, หน้า 85. [10] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 138. [11] กรมศิลปากร, ประวัติวัดมัชฌิมาวาสและนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส(ภัทรศีลสังวร), (เอกสารประกอบเนื่องในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิสุทธิคุณ(เลี่ยม อลีนเถร) และพระราชศีลสังวร(ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส วันที่ 28 สิงหาคม 2525). [12] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 195. [13] กรมการศาสนา กองพุทธศาสนสถาน, วัดพัฒนา ’26, ( กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, 2526), หน้า 191–192. [14] กรมการศาสนา กองพุทธศาสนสถาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 40–41. [15] ข้อมูลจากการประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ระหว่างวันที่ 27–28ธันวาคม 2546 ณ จังหวัดมหาสารคาม. [16] ดำรง ทองสม, “ศูนย์วัฒนธรรม”, ใน สู่โฉมหน้าใหม่ของวัฒนธรรมกับการพัฒนา, (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 2532), หน้า 91–92. [17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 91. [18] หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู, รายงานผลการสัมมนาเรื่อง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมในฐานะพิพิธภัณฑ์เมือง, (หอประชุมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ วันที่ 18–20 สิงหาคม 2536), หน้า 15–17. [19] ดำรง  ทองสม, เรื่องเดิม, หน้า 92. [20] พยุงศักดิ์  จันทรสุรินทร์, วิสัยทัศน์การดำเนินงานวัฒนธรรม, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2539), หน้า 27. [21] ดำรง  ทองสม, เรื่องเดิม, หน้า 92. [22] พยุงศักดิ์  จันทรสุรินทร์, เรื่องเดิม, หน้า 26. [23] หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู, เรื่องเดิม, หน้า 12–13. [24] ข้อมูลจากการประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคใต้) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธุ์ 2547 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช. [25] ศรีศักร  วัลลิโภดม, “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน”, ใน เอกสารประกอบการสัมมนา พิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษใหม่, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544), หน้า 2. [26] ศรีศักร  วัลลิโภดม. เอกสารรายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. (วันที่ 7-9 กันยายน 2539  จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์, 2539), หน้า 4. [27] มหาวิทยาลัยศิลปากร, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ, (กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535). [28] ข้อมูลจากการสัมมนาเนื่องในวาระขึ้นรอบปีที่ 5 พิพิธภัณฑ์จันเสน เรื่อง ความรู้และความเข้าใจใหม่จากการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ณ ศาลาประชาชนวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ วันที่ 28 ตุลาคม 2543 ณ ศาลาประชาชนวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์. [29] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), สังคมและวัฒนธรรมชุมชนคนยี่สาร, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2545), หน้า 45. [30] ว.สุวรรณ (นามแฝง), ไขปัญหาอบต, (ก

บาดแผลของสงครามและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

21 มีนาคม 2556

ประวัติอันยาวนาน   ศาสตราจารย์ จอห์น รุซเซล ผู้ช่วยที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมอาวุโสขององค์กรความร่วมมือ Coalition Provisional Authority (CPA) พรรณนาถึงประเทศอิรักว่าเป็นประเทศอันดับหนึ่งในหลายอย่าง ทั้งการตั้งสร้างบ้านแปงเมือง วรรณกรรมและภาษา ศาสนาและศาสนสถาน การสงครามและอาวุธ รวมถึงเศรษฐกิจโลกและการแผ่อำนาจ พิพิธภัณฑ์อิรักในกรุงแบคแดดเป็นเสมือนแอ่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายนับหมื่นแสน ขนานไปกับการเป็นดินแดนอิรักยุคใหม่ เป็นพื้นที่วัฒนธรรมเมืองแรกๆ ของโลก มีเมืองหลายแห่งที่ล้อมด้วยป้อมปราการ ราชวังที่ซับซ้อน มหึมา และสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ที่ได้พัฒนาและวิวัฒน์ผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษ เหล่านี้ได้กลายเป็นถาวรสถานในภูมิทัศน์ของดินแดนระหว่างแม่น้ำ ความรู้มากมายที่เกี่ยวกับดินแดนเมโสโปเตเมียมาจากการค้นคว้าทางโบราณคดี หรือถ้าจะมองให้ดีแล้วอิรักทั้งประเทศเลยกระมังที่เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี แหล่งที่สำรวจแล้วมีจำนวนมากกว่า 10,000 แห่ง และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่รอคอยการค้นพบ การวิจัยแหล่งทางโบราณคดีขณะนี้ดำเนินการไปแล้วเพียง 1,500 แห่ง สิ่งที่ขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีเกือบทั้งหมดเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก ในกรุงแบกแดด จะมีเพียงชิ้นสำคัญบางชิ้นเท่านั้นที่เก็บรักษาและจัดแสดงในสถาบันใหญ่ๆ เช่น บริติช มิวเซียม ประเทศอังกฤษ และพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ประเทศฝรั่งเศส   พิพิธภัณฑ์ในอิรักกำเนิดขึ้นในปี 1923 โดยทำหน้าที่ในการรักษาดูแลโบราณวัตถุที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีอัสซีเรียน (Assyrian Site) บาบิโลเนียน (Babylonian Site) และสุมาเรียน (Sumerian Site) พิพิธภัณฑ์เป็นห้องใหญ่ที่ตั้งอยู่ภายใน al-Qushlah หรือทำเนียบรัฐบาลอิรัก อยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไทกริส เมื่อมีวัตถุจากการขุดค้นจำนวนมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอาคารที่แยกเป็นอิสระ อาคารใหม่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเดียวกัน ใกล้สะพาน al-Shuhada และได้รับการเรียกขานว่า พิพิธภัณฑ์ อิรัก (Iraq Museum) หญิงสาวอาหรับเชื้อสายอังกฤษ เกอร์ทรูด เบลล์ (Gertrude Bell) ผู้เป็นทั้งนักสำรวจและนักโบราณคดีสมัครเล่น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ จนกระทั่งการจากไปของเธอในปี 1926   พิพิธภัณฑ์รับวัตถุสะสมอีกจำนวนมาก จนในปี 1966 จึงสร้างอาคารเพิ่มเติมบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ และขนานนามว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก (Iraq National Museum) เป็นอาคารปูนสองชั้น พร้อมด้วยชั้นใต้ดิน ห้องจัดแสดงจำนวนมากมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้าง 13 - 18 เมตร มีสวนและสนามหญ้าโดยรอบ มีความยาวประมาณ 50 เมตร และยังมีเฉลียงทางเดินที่มีหลังคาคลุมโดยรอบ   20 ปีให้หลัง พิพิธภัณฑ์ก่อสร้างอาคารในลักษณะเดียวกันเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีห้องจัดแสดงเพิ่มเติมจำนวน 20 ห้อง เป็นพื้นที่ทั้งหมด 11,000 ตารางเมตร ห้องจัดแสดงจัดแบ่งตามเงื่อนไขของเวลา จากยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสุมาเรียนในชั้นแรก และชั้นใต้ดินจัดแสดงวัตถุที่ได้จากการขุดค้นพบในยุคของอาซิเรียนและอิสลาม ห้องจัดแสดงส่วนที่เกี่ยวข้องกับโบราณสมัยอาซิเรียน สร้างบรรยากาศด้วยการแสดงรูปสลักขนาดใหญ่ ซึ่งมีความยาว 15 เมตร และสูง 5 เมตร รูปสลักบอกเล่าเรื่องราวของพิธีกรรมในอดีตสมัยไนน์เวห์ (Nineveh) และ อเชอร์ (Ashur) รวมทั้งรูปสลักยักษ์ที่มีหัวเป็นมนุษย์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทวารบาลของอาซิเรียนนครในยุคไนน์เวห์และคอร์ซาแบด (Khorsabad) ตั้งตระหง่านอยู่บนฐานหินในห้องเช่นกัน   ส่วนห้องจัดแสดงที่เหลือนำเสนอวัตถุมากกว่า 10,000 ชิ้น จากตราประทับรูปทรงกระบอกชิ้นเล็กไปจนถึงรูปปั้น รูปสลักขนาดใหญ่ วัตถุต่างๆ เหล่านี้มีทั้งที่ทำด้วยดิน ดินเผา โลหะ กระดูก ผ้า กระ ดาษ แก้ว ไม้ หินปูน พยานวัตถุที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นอารยธรรมของมนุษยชาติกว่า 10,000 ปี จากช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่สมัยสุมาเรียน บาบิโลเนียน อาซิเรียน ฮาเทรอน์ (Hartrene) พาร์เธียน (Parthian) ซาซ์ซานิด (Sassanid) จนถึงยุคอิสลาม วัตถุที่จัดแสดงเป็นจำนวนเพียง 3 % ของมรดกอิรัก ทั้งอักษรดินปั้นคูนิฟอร์มกว่า 100,000 ชิ้น หมายรวมถึงระบบการเขียนคูนิฟอร์มเดิมจากอูรูค (Uruk) บัญญัติดั้งเดิมของมนุษยชาติ (ศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล) รวมทั้งจดหมายเหตุที่ประเมินค่ามิได้ของซิปปาร์ (Sippar) ซึ่งกอปรด้วยอักษรดินกว่า 800 ชิ้นจากยุคบาร์บิโลเนียนใหม่ (Neo-Babylonian ประมาณ 625 - 539 ปี ก่อนคริสตกาล) ทรัพย์สินทั้งหมดนี้ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก เป็นแอ่งมรดกทางวัฒนธรรมของตะวันออกใกล้อันเก่าแก่ และเป็นแหล่งที่จะพลาดไม่ได้เลยสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนาน   ในระหว่างที่มีสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 กระทรวงการสื่อสาร ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิด และส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์และวัตถุจัดแสดงจำนวนหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ปิดตัวลง เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเคลื่อนย้ายวัตถุสะสมไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันงานสะสมจากการทิ้งระเบิด ด้วยความคิดที่ว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อมากกว่า 2-3 เดือน เจ้าหน้าที่จัดเก็บวัตถุที่มีค่าไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคลือบดินเผา งาช้าง อักษรดินเผาคูนิฟอร์ม ไว้ในขนสัตว์และสำลี ส่วนวัตถุที่ทำด้วยโลหะห่อหุ้มด้วยยาง วัตถุทั้งหมดได้รับการบรรจุใส่หีบเหล็กที่มีการลงกุญแจ และนำไปเก็บไว้ที่ชั้นใต้ดินของอาคารคลังเดิมของพิพิธภัณฑ์   เป็นที่น่าเสียดายว่า เหตุการณ์มิได้เป็นอย่างที่คาดหมายไว้ ไม่เพียงแต่การทิ้งระเบิดยังคงดำเนินต่อไป การจ่ายไฟฟ้าเกิดขัดข้องเนื่องด้วยการทำลายแหล่งจ่ายไฟฟ้า จากนั้นเป็นการงดจ่ายไฟฟ้า ทำให้เครื่องปั๊มน้ำที่ติดตั้งไว้ที่ชั้นใต้พื้นดินไม่สามารถทำงานตามปกติ น้ำนองอยู่ที่พื้นชั้นใต้ดิน หีบเหล็กเริ่มเป็นสนิม เป็นเหตุให้ความชื้นแทรกเข้าไปยังหนังสัตว์และยางที่ปกป้องวัตถุที่เคลื่อนย้ายจากที่จัดแสดง ที่สุดกลายเป็นที่เพาะแบคทีเรีย แมลงกินผ้า และจุลินทรีย์อื่นที่เป็นอันตราย วัตถุจำนวนนับร้อยจัดส่งให้นักอนุรักษ์ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากขาดสารเคมีที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์ และสารเคมีเหล่านั้นเป็นสิ่งต้องห้าม ตามประกาศคณะกรรมการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในขณะนั้น   ในเดือนเมษายน 2000 หรือ 9 ปีให้หลังจากการปิดให้บริการ พิพิธภัณฑ์เปิดต้อนรับสาธารณชนอีกครั้ง วัตถุนับร้อยที่มีอายุกว่า 2,000 - 3,000 ปี ได้รับความเสียหาย และบ้างมีสภาพไม่สามารถซ่อมแซมได้ในสภาพดังเดิม ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 หรือประมาณ 3 ปี หลังจากที่การให้บริการใหม่ พิพิธภัณฑ์กลับตกอยู่ในสภาพที่จะต้องปิดตัวเองอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งการหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับวัตถุสะสม ผลกระทบในครั้งนี้สร้างความเสียหายต่องานสะสมมากกว่าครั้งที่แล้ว ภาวะภายหลังสงครามที่ขาดความเป็นระเบียบนำมาซึ่งโจรและการปล้น มิใช่แต่เพียงที่ทำงานของรัฐบาลหรือธุรกิจเอกชนที่เป็นเป้าของการแย่งชิงทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติของพิพิธภัณฑ์กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่มีคนขโมย บางชิ้นมีอายุเก่าถึง 7,000 ปี วันที่เกิดการขโมยทรัพย์สินมากที่สุด คือ วันพฤหัสบดีที่10 เมษายน พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องประจัญหน้ากลุ่มคนที่ต้องการเจ้ามาลักสิ่งของล้อรถไถ เกวียน รูปปั้นรูปหล่อที่ประเมินค่ามิได้ ภาชนะ และอักษรดิน ฯลฯ ห้องจัดแสดงว่างเปล่ายกเว้นเศษกระจกจากตู้จัดแสดง หรือเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่เรียงรายอยู่บนพื้น   วันที่ 3 กรกฎาคม กองกำลังรักษาความมั่นคงชั่วคราวจัดนิทรรศการ 1 วันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิ่งที่จัดแสดงเป็นเครื่องทองที่มาจากสุสานของกษัตริย์อูร์ (Ur) รวมทั้งของจำลองเช่นแจกันวาร์กา (Warka Vase) แต่ดาวเด่นของการแสดงครั้งนี้ คือ สมบัติของนิมรูด (Nimrud) เป็นเครื่องทองที่ขุดค้นโดยนักโบราณคดีชาวอิรักที่นิมรูดในช่วงปี 1988 ถึง 1990 ณ นครแห่งวัฒนธรรมอาซิเรียนใหม่นี้ ตั้งอยู่ทางตะวันตออกเฉียงใต้ของโมสุล (Mosul) ปรากฏที่ฝั่งพระศพจำนวน 4 แห่งอยู่ใต้ชั้นของพระราชวังตะวันตกเฉียงเหนือของกษัตริย์อชูร์นาซิปาลที่ 2 (883 - 859 ปีก่อนคริสตกาล) มรดกเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ธนาคารกลางของอิรักตั้งแต่เกิดสงครามอ่าวในปี 1991 เมื่อพิพิธภัณฑ์โรมิช-เยอรมนิชในเมนซ์ ประเทศเยอรมนีต้องการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมข้างต้น ไม่มีบริษัทประกันภัยใดรับเป็นนายประกัน เพราะค่าของมันที่สูงเกินไป   นิทรรศการเดือนกรกฎาคมเป็นสิ่งที่กองกำลังรักษาความมั่นคงชั่วคราวต้องการแสดงให้เห็นว่าสภาพสังคมทั่วไปกลับสู่สภาพปกติ แต่เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งว่าภายหลังจากที่ปิดนิทรรศการประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ทหารชาวอเมริกาถูกปลิดชีพโดยมือสังหารที่สุ่มยิงจากระยะไกล และ 2 - 3 วันต่อมานักข่าวชาวอังกฤษถูกฆาตกรรมในอีกฝากหนึ่งของถนน   ความสูญเสียของมวลมนุษยชาติทั้งมวล   ในวันนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก อยู่ภายใต้เงาทะมึนของความรุ่งเรืองในอดีต ตามข้อมูลล่าสุด วัตถุขนาดใหญ่ 30 ชิ้น และวัตถุเล็กจำนวนมากถึง 12,000 ชิ้นหายไป แต่ละชิ้นเป็นชิ้นเอกที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ แต่ละชิ้นมีลักษณะเฉพาะและมีเรื่องราวของมันเอง ประวัติความเป็นมาเหล่านั้นเป็นฐานรากหนึ่งของสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน มรดกโบราณคดีไม่ใช่ทรัพยากรทดแทนได้ และเมื่อส่วนใดถูกทำลายไป ส่วนนั้นก็จะสูญไปชั่วนิรันดร์   การทำงานร่วมกันเพื่อให้แอ่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแห่งนี้กลับมาทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิเป็นหน้าที่ของชุมชนโลก และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว องค์การยูเนสโกในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศแห่งเดียวที่มีศักยภาพทำหน้าที่เป็นกองหน้าป้องกันมรดกของมนุษยชาตินี้ ดำเนินงานมากมายทั้งในระหว่างที่มีการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก่อนการรบครั้งล่าสุด และจวบจนทุกวันนี้ ในปี 1999 องค์การยูเนสโกติดตั้งระบบปรับอากาศและรักษาความปลอดภัยภายในพิพิธภัณฑสถาน และยังจะดำเนินการอื่นๆ เพื่อสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มหาศาลของอิรักต่อไป   ปัจจุบัน องค์การยูเนสโกดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะซ่อมแซมพิพิธภัณฑ์ในทุกส่วนและทุกด้าน นอกจากส่วนพื้นที่จัดแสดงและสำนักงานที่ได้รับความเสียหายอย่างมากจากการขโมยแล้ว ส่วนห้องปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์ได้รับความเสียหายไม่น้อยไปกว่ากัน ช่วงปีที่เกิดวิกฤตดังกล่าวเป็นเงื่อนไขให้นักอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการใช้เครื่องมือและวัสดุที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ วัสดุโดยส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่จะต้องนำเข้า แต่กลับเป็นสิ่งต้องห้าม การบุกเข้าปล้นทั้งในระหว่างและภายหลังการต่อสู้ ทำให้สถานการณ์ของห้องปฏิบัติการแย่ลง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของพิพิธภัณฑ์ ระบบความปลอดภัยได้รับความเสียหายเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดกับงานมาตรการพื้นฐานเหล่านี้นำไปสู่การตัดสินในการวางระบบรักษาความปลอดภัยของวัตถุสะสม ทั้งความเสี่ยงต่ออัคคีภัย การลักลอบขโมย โจรผู้ร้าย ฯลฯ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจะได้รับการทบทวนและออกแบบใหม่ โดยคำนึงถึงคุณค่าของงานสะสมที่เฉพาะและมีความพิเศษเช่นนี้   ในขณะนี้ ทรัพยากรบุคคลกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากยิ่งกว่าที่เคยเป็น ผู้ปฏิบัติงานได้อุทิศตนเองเพื่อความปลอดภัยของมรดกทางวัฒนธรรม และเพื่อทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่สภาพปกติ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนความชำนาญการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศึกษา การสร้างความทันสมัยและการปรับเปลี่ยนการใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม   การปฏิสังขรณ์พิพิธภัณฑ์อิรักและงานสะสมที่ประเมินค่ามิได้จะต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างเร่งด่วน และเป็นความรับผิดชอบของชุมชนนานาชาติทั้งมวล ในปัจจุบัน การดำเนินงานดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีงจากองค์กรชำนาญการต่างๆ สถาบันทางวัฒนธรรม และด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศนี้จะผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ของแบคแดดกลับมาตั้งตระหง่าน และเปิดประตูต้อนรับกลุ่มผู้ชมอย่างภาคภูมิทัดเทียมกับพิพิธภัณฑสถานอื่นของโลก   แปลและเรียบเรียงจาก Usam Ghaidan and Anna Paolini, A Short History of the Iraq National Museum. (Museum International. No. 219-220. Vol. 55, 2003), pp. 97-101.   *ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ประวัติศาสตร์ สำนักชาติพันธุ์ และพลเมือง บทความของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ในประเทศพหุชาติพันธุ์

20 มีนาคม 2556

ในปี 2005 พิพิธภัณฑ์แมคคอร์ดได้รับการมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างพิพิธภัณฑ์ ชุมชนชาติพันธุ์ และมรดกทางวัฒนธรรมในมอนทริออล การศึกษานี้แสดงให้เห็นอย่างประหลาดใจว่า เป็นสิ่งที่ยากที่จะทำให้สำเร็จลุล่วง และยังขีดให้เราจะต้องทบทวนกับสัมพันธภาพที่ซับซ้อนระหว่างสำนึกชาติพันธุ์ เรื่องราวของวัตถุ และการทำงานของพิพิธภัณฑ์สาธารณะ ให้ลึกมากยิ่งขึ้น  แมคคอร์ดเป็นพิพิธภัณฑสถานสาธารณะแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ควิเบก จังหวัดหนึ่งที่มีความสำนึกชาติในการเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาฝรั่งเศส (francophone) ทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของประเทศ ในปี 1971 แคนาดาได้แถลงนโยบาย “พหุวัฒนธรรม” อย่างเป็นทางการ และในปี1988 สภาประกาศใช้รัฐบัญญัติพหุวัฒนธรรมคานาดา ซึ่งหมายรวมถึง “การยอมรับในความหลากหลายของชาวแคนาดา ทั้งที่สัมพันธ์กับเชื้อชาติรากเหง้าของชาติหรือชาติพันธุ์ สีผิว และศาสนา เสมือนฐานรากของสังคมแคนาดา” และส่งเสริมการสงวนรักษามรดกพหุวัฒนธรรม ควิเบกซึ่งมีสถานภาพพิเศษภายในสมาพันธ์แคนาดา ยังได้เผยแพร่นโยบายสหสัมพันธ์วัฒนธรรม (interculturalisme) เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ในสังคมที่พูดภาษาฝรั่งเศส บทความจะสำรวจเห็นวิถีทางในอันที่สำนึกชาติพันธุ์ได้รับการนิยามและแสดงออกทั้งความเป็นแคนาดาและควิเบก วิเคราะห์ข้อท้าทายต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์เผชิญในการสร้างคลังสะสมและการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาวแคนาดา ในแนวการสรรเสริญความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และทิศทางทางการเมืองที่หลากหลาย และจะสรุปให้เห็นความพยายามในการทำความเข้าใจกับบทบาทของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สาธารณะในการสร้างช่องทางให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ รวมถึงสัมพันธภาพระหว่างการมีส่วนร่วมและการพัฒนาความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม(sentiment d’appartenance/ sense of belonging) และความเป็นพลเมืองร่วม   ภูมิทัศน์วัฒนธรรมชาติพันธุ์ของคานาดา                 แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุดในโลก และความหลากหลายเป็นผลจากการอพยพขนานใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 20 คานาดาได้ต้อนรับคนอพยพ 13.4 ล้านคนในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา และในปี 2002 หนึ่งในสี่ของประชากรเกิดในต่างแดน ภายในบริบทของคานาดาความหลากหลายเป็นนิยามที่เกิดขึ้นจากงานสำรวจความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (Ethnic Diversity Survey)(ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่องจนถึงปี 2001) งานศึกษาดังกล่าวเป็นการสำรวจประชากรตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่รวมตัวเป็นแคนาดา ด้วยการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ “สิ่งแสดง” (markers)สำนึกชาติพันธุ์ เชื้อชาติ และศาสนา  ในปี 1931 สิ่งแสดงเหล่านี้จะหมายถึงผู้คนที่มาจากยุโรปในช่วงแรกๆ แต่ทุกวันนี้สิ่งแสดงหมายรวมถึงสเปกตรัมของคนที่ใหญ่กว่า ผู้มาจากทุกๆ ส่วนของโลก และเป็นผู้ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือศาสนา ตั้งแต่กลุ่มประชาการที่เก่าแก่ที่สุด                 ความหลากหลายทางชาติพันธ์ที่กำหนดใหม่นี้เป็นลักษณะเฉพาะของศูนย์กลางเมืองต่างๆ โดยเฉพาะตัวอย่างเช่น ประชากรกว่า 50% ของเมืองโตรอนโตเกิดนอกประเทศแคนาดา และอีกกว่า 40% ของชาวโตรอนโตประกาศตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ชนกลุ่มน้อยที่ปรากฏชัด” (visible minority)2  ในการสำรวจเมื่อปี 2001 กว่า 30% ของคนที่อาศัยในแวนคูเวอร์มองตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกชาติพันธุ์เอเชีย โดยมีชาวแคนาดา เชื้อสายจีนถึง 17.7% ของจำนวนประชากรที่อยู่ในเมืองทั้งหมด3    ในเมืองมอนเทรออล เมืองใหญ่ที่พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นอันดับสองของโลก สำนึกชาติพันธุ์สัมพันธ์ไปกับความซับซ้อนของสายสัมพันธ์ทางภาษา ด้วยประชากรกว่า 29% จัดแบ่งตนเองเป็น “allophones” ชาวคานาดาที่มีภาษาแม่ไม่ใช่ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรัง่เศส4  และในขณะที่มอนทริออลเป็นเมืองที่มีผู้นับถือโรมันคาทอลิกเป็นจำนวนมาก แต่อิสลามกำลังขายตัวมากขึ้น และยังเป็นความเชื่อสำคัญเป็นอันดับสามในควิเบก ด้วยจำนวนชาวมุสลิมประมาณ 3%ของประชากรที่อยู่ในเมืองมอนทริออล5   นโยบายของการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน                 แคนาดาจะตั้งรับกับความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา สำนึกชาติพันธุ์ และภาษาอย่างไร? ตามรัฐบัญญัติว่าด้วยพหุวัฒนธรรมคานาดา ค.ศ. 1988 กล่าว ไว้ว่ารัฐบาลแคนาดารับรองความหลากหลายของชาวแคนาดา ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ความเป็นมาชาติหรือชาติพันธุ์ สีผิว และศาสนา ซึ่งเป็นฐานรากของสังคมแคนาดา และรัฐบาลมีส่วนรับผิดชอบต่อการสร้างนโยบายพหุวัฒนธรรม ในอันที่จะสงวนรักษาและเสริมให้มรดกความหลากหลายทางวัฒนธรรม พร้อมๆ ไปกับการสร้างความเท่าเทียมให้กับชาวคานาดาทุกคน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองของแคนาดา6                 สำหรับวิลล์ คิมลิคกา (Will Kymlicka) มหาวิทยาลัยควีนกล่าวไว้ว่า หลักของพหุวัฒนธรรมนิยมคือการดำเนินการให้ได้มาซึ่ง “ข้อตกลงของความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ยุติธรรม” ขณะที่ยังมีเสียงวิพากษ์ภายในที่มองว่ารัฐบัญญัติกลับจะส่งเสริมให้สังคมแบ่งแยกเป็นเสี่ยงตามแต่ละชาติพันธุ์ 7 คิมลิคกากลับยืนยันถึงแนวคิดข้อตกลงของความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างยุติธรรมว่า มีความชัดเจนเพียงพอที่จะนำไปสู่การสร้างสถาบันและคุณค่าร่วมกัน เขาเล็งเห็นสิ่งที่ปรากฏชัดในควิเบก นั่นคือ ความเป็นสังคมอยู่รวมในสมาพันธ์แคนาดา ในควิเบก นโยบาย สหสัมพันธ์วัฒนธรรมนิยม (interculturalisme) เรียกร้องให้ผู้อพยพเข้ามาใหม่ในพื้นที่และสมาชิกของสิ่งที่เรียกว่า ‘ชุมชนวัฒนธรรม’ (communautées culturelles) ดำรงอยู่ภายใต้หลักการสามประการ ซึ่งเป็นฐานของ “สัญญาจริยธรรม” (moral contract) ระหว่างควิเบกและพลเมืองใหม่ (ก) รับรองภาษาฝรัง่เศสเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตสาธารณะ (ข) ให้ความเคารพต่อคุณค่าประชาธิปไตย รวมไปถึงสิทธิพลเรือนและการเมืองและความเท่าเทียมกันในโอกาส และ (ค) ความเคารพในพหุลักษณ์นิยม รวมถึงการเปิดใจและยอมรับ“ความแตกต่าง” ของผู้อื่น9                 สหสัมพันธ์วัฒนธรรม อาจพิจารณาว่าเป็นปฏิกิริยาของการไม่มีสิ่งที่เรียกว่า“วัฒนธรรมแห่งชาติ” ด้วยเหตุที่แคนาดาต้องเผชิญกับหินผาทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมตามภูมิภาค และอัตลักษณ์ภาษา10 การมีอยู่ของรัฐชาติที่ก่อตัง้ 2 ชาติ ที่แตกต่างไปตามภาษา วัฒนธรรม และศาสนา รวมไปถึงการรับรองกลุ่มที่สามในคานาดาตามกฏบัตร อันได้แก่ ชนพื้นเมืองหรืออะบอริจิน เหล่านี้ดูจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าชาตินิยมชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่ฟงัไม่ขึ้นแต่อย่างใดทั้งในควิเบกเองและในคานาดา   ความเข้าใจในสำนึกชาติพันธุ์                 แล้วสำนึกชาติพันธุ์ได้รับการตีความอย่างไรในบริบทความหลากหลายและความเป็น พลเมืองของแคนาดา สำนึกชาติพันธุ์สามารถพิจารณาในฐานะที่เป็นคุณค่าทางสังคม เป็นความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง(sentiment d’appartenance หรือ feeling of belonging) ปัจเจกบุคคลอาจรู้สึกว่าเขาหรือเธอเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบางกลุ่ม และความรู้สึกนี้อาจคงอยู่หลายชั่วอายุคน ตัวอย่างเช่น กรณีของกลุ่ม Scots หรือกลุ่มประชากรหลักของแคนาดาที่สืบทอดหลายชั่วอายุคน หลายคนยังคงความรู้สึกของการ “เป็นสกอต”อย่างเหนียวแน่นดังจะเห็นได้จาการเป็นสมาชิกของสมาคมวัฒนธรรม เช่น สมาคมเชนต์แอนดรู(St. Andrew’s Society) สมาชิกยังคงปฏิบัติ วัฒนธรรมที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นสก็อต เช่น การเต้นรำประจำชาติ การใส่กระโปรงสก็อต อาหารแบบฮากีส์ ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาสมาชิกภาพขององค์กร “สก็อต” หลายแห่งสะท้อนให้เห็นว่าลักษณะที่สัมพันธ์ของสมาคมกับความเป็นชาติพันธุ์เฉพาะกลุ่ม ก็ยากที่จะนิยาม ลองดูตัวอย่างกกลุ่ม Black Watch ที่เป็นคนบนพื้นที่สูงกลุ่มใหญ่ในแคนาดา และสมาชิกในปัจจุบันมีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์และเชื้อชาติ อย่างน้อยๆ ก็เห็นได้จากเว็บไซต์ของสมาคม11                 สำนึกชาติพันธุ์อาจต้องทำความเข้าใจในบริบทของมานุษยวิทยา ซึ่งหมายถึงคนรุ่นหลังที่มีสายสัมพันธ์ทางพันธุ์กรรมเฉพาะกลุ่ม คนๆ หนึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งเพราะสืบสายมาจากพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนั้นๆ สำนึกชาติพันธุ์มักได้รับการธำรงไว้ด้วยการแต่งงานภายในกลุ่ม (in-marriage) ส่วนการแต่งงานนอกกลุ่ม (out-marriage) มักถือเป็นการปฏิเสธสำนึกชาติพันธุ์จากสมาชิกคนอื่นๆใน สังคม ดังจะเห็นได้จากการแจ้งชาติพันธุ์ของประชาการว่ามีบรรพบุรุษมากกว่า ชาติพันธุ์เดียว นั่นเป็นเพราะการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ (intermarriage) ในปี 2001 จำนวนประชากร 11.3ล้านคน หรือ 38 % ของประชากร รายงานตนเองว่ามีบรรพบุรุษจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ซึ่งมากขึ้นกว่าการสำรวจประชากรครั้งที่ผ่านมา การสำรวจความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการนิยามกลุ่มชาติพันธุ์  (selfcharacterization) อาจ เหมือนหรือแตกต่างไปจากบรรพบุรุษตั้งแต่รุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย สมาชิกในรุ่นที่สองและสาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะกล่าวว่าตนเองเป็นชาวคานาดา หรือจะกล่าวว่าเป็นสมาชิกในระดับภูมิภาคลงไปคือ กลุ่มชนตะวันตก (Westerner) หรือกลุ่มผู้พบดินแดนใหม่ (Newfoundlander)12             สำนึกชาติพันธุ์สามารถอ้างอิงกับกลุ่มทางศาสนาหรือเชื้อชาติ (race) ชุมชน ชาวยิว ซึ่งถึงแม้จะเป็นสมาชิกของคนที่มาจากสัญชาติ ชาติพันธุ์ หรือบรรพบุรุษต่างเชื้อชาติ แต่กลับมีสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอย่างแน่นแฟ้น ด้วยการนับถือศาสนาร่วมกันและมีแบบแผนทางศาสนาอย่างเดียวกัน (และรวมถึงประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ร่วมกัน) หรือชุมชนชนคนดำ ซึ่งมักถูกมองจากคนภายนอกว่าเป็นกลุ่มแปลกแยกด้วยสีผิว ก็มาจากสมาชิกที่แตกต่างกันทัง้ทางสัญชาติ วัฒนธรรม และภาษา ฉะนั้นการกล่าวถึงสำนึกชาติพันธุ์ของคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีความซับซ้อนอย่างมาก เพราะสมาชิกแต่ละคนที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งๆ ย่อมมีระดับความเข้มข้น จากมากไปถึงน้อยต่างกันไป และสำนึกชาติพันธุ์ยังไปสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอีกเช่นกัน   วัฒนธรรมวัตถุ สำนึกชาติพันธุ์ และพิพิธภัณฑ์                 อย่างนั้นแล้ว อะไรคือบทบาทของพิพิธภัณฑ์สาธารณะ และที่สำคัญที่สุดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ในประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างแคนาดา และในกรณีของเมืองที่เป็นใช้สองภาษาและ เป็นพหุวัฒนธรรมอย่างกรณีมอนเทรออล แล้วชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ จะเข้ามาสัมพันธ์กับสถาบันพิพิธภัณฑ์อย่างไร และเมื่อชุมชนต่างๆ เข้ามาสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ สถานที่ใดในชุมชนนี้จะเอื้อให้กับพิพิธภัณฑ์ ตามการ ศึกษาของพิพิธภัณฑ์แมคคอร์ด เราได้ทบทวนบทความทั้งในภาษาอังกฤษและฝรัง่เศสที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ชาติพันธุ์ และความหลากหลาย เราได้รวบรวมสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาก่อนหน้านั้น และได้สัมภาษณ์กลุ่มเฉพาะ และสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบกับสมาชิกกลุ่มวัฒนธรรมในมอนเทรออล สิ่งที่ได้จากความพยายามในการศึกษาครั้งนี้คือความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ ระหว่างพิพิธภัณฑ์สาธารณะกับชุมชนวัฒนธรรม อย่างน้อยในมอนเทรออล และอาจหมายถึงแคนาดาในภาพที่กว้างออกไปนั้น มีความสำคัญอย่างมากทั้งต่อการวิเคราะห์และการลงมือปฏิบัติการ                 พิพิธภัณฑ์สาธารณะในสังคมตะวันตกมีพันธกิจสำคัญสองประการคือ การรักษาอนุรักษ์และการเข้าถึงการรักษาอนุรักษ์หมายถึงการอนุรักษ์วัตถุไว้ ในคลังวัตถุที่ปลอดภัยและการอนุรักษ์ความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ วัตถุด้วยการจัดเก็บเอกสารและการจัดพิมพ์เผยแพร่ ส่วนการเข้าถึงหมายรวมทัง้สิ่งที่เป็นกึ่งสาธารณะและสาธารณะ คำวิจารณ์สุดที่กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์วนอยู่กับปัญหาของความใส่ใจและความรับผิดชอบต่อสังคมพิพิธภัณฑ์ ในสายตาของนักวิชาการและสมาชิกของสังคมจำนวนมากเห็นตรงกันว่า พิพิธภัณฑ์กีดกันหรือละเลยประวัติศาสตร์บางส่วน การสร้างสรรค์ทางศิลปะ และเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบต่อสาธารณะอย่างไรก็ตาม หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องของการสะสม “อดีต” หรือ บอกเล่าเรื่องราวด้วยการจัดแสดง แต่เป็นการสะสมและอนุรักษ์วัตถุบางอย่างด้วยกรอบการคัดสรร และการเปิดโอกาสให้เข้าถึงสิ่งเหล่านั้นนี่คือการนิยามพิพิธภัณฑ์ที่แคบ ผู้เขียนจะย้อนกลับไปที่วาระของพิพิธภัณฑ์ต่อสังคมที่กว้างมากกว่า เพื่อแสดงให้ฃเห็นวิถีทางที่คลังสะสมอันเป็นรากฐานของพิพิธภัณฑ์ ได้รับการนิยามและพัฒนาการต่อมา กรอบของการจัดการและการคัดเลือกวัตถุสะสมที่ใช้โดยพิพิธภัณฑ์สะท้อนให้เห็นความสนใจของสังคมใน ขณะนั้นๆ ความสนใจของสังคมย่อมส่งผลต่อการจัดประเภทของพิพิธภัณฑ์ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการกีดกันบางอย่างออกไป จนวัตถุนั้นๆ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ จึงส่งผลให้วัตถุเหล่านั้นไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกเชิงวัตถุ ของอดีต และยงิ่ ดูลดความสำคัญลงไปในสายตาของนักประวัติศาสตร์ในฐานะของ “เอกสาร” ที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประวัติศาสตร์หรือนิทรรศการสาธารณะ ช่องว่างของคลังสะสมที่เกิดขึ้นต้องอาศัยเวลาหลายชั่วอายุคนในการเติมเต็ม ส่วนที่ขาดไป ดังนั้นสำนึกชาติพันธุ์จะได้รับการถ่ายทอดลงไปในวัฒนธรรมทางวัตถุ หรืออีกนัยหนึ่งคลังของพิพิธภัณฑ์                 สำหรับวัตถุแล้ว สำนึกชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่ยากนักสำหรับการพรรณนา รูปแบบที่ง่ายที่สุด วัตถุ “ชาติพันธุ์” มักสัมพันธ์กับวัฒนธรรมชีวิตชาวบ้านหรือวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์เฉพาะและบ่อยครั้งเป็นกลุ่มที่สัมพันธ์กับความเป็นชาติ จนกลายเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกชาติพันธุ์ไปในตัว (ธรรมเนียมการร่ายรำของยูเครน กระเบื้องแบบโปรตุเกส ถ้วยชาหรือตะเกียบแบบจีน ceitnture fléchée (เข็มขัดที่ทำจากขนแกะพื้นสีแดงและมีลายลูกศร พบในคานาดา) วัตถุ เหล่านี้ถูกใช้อธิบายความเป็นชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ง่ายๆ ทั้งภายในกลุ่มวัฒนธรรมเอง และคนนอกชุมชนชน และบ่อยครั้งทีเดียวที่ชนอพยพจะนำวัตถุเหล่านี้มาจากประเทศของตนเองหรือประดิษฐ์สิ่งเหล่านี้ขึ้นในประเทศที่ตนอพยพเข้าไปอยู่ตามคำสอนของธรรมเนียมประเพณี(ชุมชนผู้อพยพอนุรักษ์ธรรมเนียมประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันแล้วในประเทศที่ตนจากมา) สิ่งที่ซับซ้อนมาขึ้นไปอีกคือ วัตถุที่ถูกกลืนกลายเข้าไปสู่กระแสวัฒนธรรมหลัก และถูกดัดแปลงเพื่อการใช้ภายในชุมชนชาติพันธุ์ เช่น กระดุมหรือเสื้อยืดที่มีคำโปรย “หอมซิ ฉันคือชาวยูเครน” สิ่งที่ซับซ้อนเหนืออื่นใด การบ่งชี้ว่าวัตถุนั้นๆ เป็นตัวแทนความเป็นชาติพันธุ์ วัตถุในกระแสหลักที่รับใช้ชุมชนวัฒนธรรม และบ่งชี้ความเป็นชุมชนและประวัติศาสตร์ (ดังจะเห็นได้จากการกล่าวถึงลักษณะที่พักอาศัยแรกๆ ในมอนเทรออลที่สร้างขึ้นโดยคนอพยพชาวโปรตุเกส ชุดแต่งกายจากปารีสในพิธีแต่งงานที่นิยมกันในมอนเทรออล เพื่อบ่งบอกการแต่งงานตามประเพณีของยิว) หากปราศจากความรู้เกี่ยวกับที่มาที่ไปและประวัติศาสตร์ของสิ่งของ วัตถุเหล่านี้ก็มาได้สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นผู้สร้างสรรค์แต่อย่างใด                 ท้ายที่สุด คำถามที่เราควรตัง้ขื้นต่อไปก็คือ เมื่อวัตถุที่เชื่อมโยงโดยตรงกับชุมชนชาติพันธุ์ใดก็ตาม ได้เปลี่ยนสถานภาพเข้าไปอยู่ในกระแสหลัก ก็ควรได้รับการตรวจสอบด้วยเช่นกัน (ในแคนาดา กะทะแบบเอเชีย จานใส่พาสต้าแบบอตาลี เสื้อปักลายแบบจีน และแหวนรูปหัวใจแบบเซลติก) ปัญหาของการนิยามความเป็นชาติพันธุ์เช่นนี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนในการจัดแบ่งประเภทวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่ปรากฏในฐานของมูลคลังสะสม ตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ของเราไม่รวมการจัดประเภท “ความเป็นชาติพันธุ์”เข้าไปกับผู้บริจาค นอกเสียจากว่าชื่อของผู้บริจาคเองที่บ่งชี้ความเป็นชาติพันธุ์ เช่น วัตถุกระแสหลัก (ของที่พบอย่างดาดๆ) เช่นตุ๊กตาบาร์บี้ที่บริจาคโดยสมาชิกชุมชนชาติพันธุ์ ย่อมกลายเป็นหลักฐานของการพูดถึงสิ่งของนั้นๆ ที่สัมพันธ์กับความเป็นชาติพันธุ์โดยปริยาย   ความคาดหวังของชุมชน                 สิ่งที่จะแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างเล็กโดยกลุ่มตัวอย่างเพื่อศึกษาควิเบก และด้วยการสนทนา แสดงให้เห็นมุมมองที่จำกัดของชุมชนภายนอกหรือ “สาธารณะ” ที่มีต่อ พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์มักถูกมองจากเลนส์ของนิทรรศการ คือเป็นสถานที่สำหรับการจัดแสดง หรือการเยี่ยมชมของครอบครัวและโรงเรียน การพูดคุยกับชุมชนวัฒนธรรมต่างๆ เผยให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในบทบาทสำคัญพื้นฐานของหน้าที่ในการสะสม สงวนรักษา และวิจัย ในขณะที่มีคนอีกหลายกลุ่มที่ชื่นชมกับคุณค่าของจดหมายเหตุ โดยเฉพาะจดหมาย อนุทิน และภาพถ่ายซึ่งถือเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของชุมชน พิพิธภัณฑ์ในฐานะสถาบันจัดเก็บอนุรักษ์รักษาวัตถุ เพื่อชนรุ่นหลัง มักมีการตั้งข้อกังขา เช่น ในระหว่างการสัมภาษณ์กลุ่ม สมาชิกของชุมชนคนดำมอนเทรออล โยงให้เห็นว่า คนจากพิพิธภัณฑ์แมคคอร์ดอาจไม่ได้ตระหนักถึงทาสที่มีอยู่ในควิเบกช่วงศตวรรษ ที่ 18 และเขาเข้าใจเองว่าพิพิธภัณฑ์คงไม่ได้สะสมวัตถุที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ไม่มี ใครกล่าวถึง จริงๆ แล้วพิพิธภัณฑ์แมคคอร์ดเหมือนกับพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่ง ที่พยายามจัดหาวัตถุที่เกี่ยวข้องกับชนชั้น แรงงานและกลุ่ม “ชายขอบ” ไม่ใช่เพียงว่าเจ้าหน้าที่จะตระหนักสิ่ง เหล่านี้ แต่เราได้จัดหาภาพสีน้ำในยุคแรกๆ ที่แสดงให้เห็นถึงบทบาคนดำในการเป็นคนรับใช้ และบางครั้งเป็นทาส (ด้วยเหตุนี้ สถานภาพก็ยากที่จะตัดสินจากภาพภายนอกเพียงอย่างเดียว)                 เมื่อพิพิธภัณฑ์เริ่มหันมาใส่ใจต่อสิ่ง ทีเคยมองข้ามและจัดเก็บสิ่ง ต่างๆ ในชุมชนวัฒนธรรมแห่งนั้นพิพิธภัณฑ์ต้องเผชิญกับความเข้าใจผิด และลักษณะร่วมสมัยของการเก็บสะสมสิ่งของ ในบางกรณีเจ้าของวัฒนธรรมแสดงความกังวลที่ “คนอื่น” กำลัง ครอบครองมรดกของพวกเขา แล้วซ่อนเร้นไว้ ในหลายๆ กรณีก็อาจกล่าวได้ในทำนองนั้น สำหรับพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ที่เก็บของที่จัดแสดงของเพียงเล็กน้อยในนิทรรศการ สมาชิกหลาย คนของชุมชนชาติพันธุ์และวัฒนธรรมคงสบายใจมากกว่าที่จะเก็บของเหล่านั้นไว้ใน ชุมชนของตนเอง ที่ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงต่อการสูญหายและทำลาย แต่พวกเขายังคงเห็นสิ่ง เหล่านั้น และเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ของชุมชน ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่ง ที่น่ากังวลใจมากไปกว่าเรื่องการครอบครองและการสูญหาย คือความไม่สอดคล้องของการให้คุณค่าและการนำเสนอวัตถุ สิ่งที่ภัณฑารักษ์ได้เรียนรู้อาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่กลุ่มวัฒนธรรมหรือสมาชิกในสังคมใหญ่ให้คุณค่า ตัวอย่างเช่น ภัณฑารักษ์เชื้อสายอิตาลี-แคนาดาที่จัดนิทรรศการล่าสุดที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมแคนาดา เกี่ยวกับชาวแคนาดาเชื้อสายอิตาลีได้เลือกที่จะกล่าวถึง ฟิล เอสโปซิโตนักเล่นฮอกกีชาวแคนาดาที่มีเชื้อเสียงเชื้อสายอิตาลี ไม้ฮอกกี้ไม่ได้มีความหมายสัมพันธ์กับความเป็นอิตาลี แต่ดูจะเป็นสิ่ง ที่แสดงถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่และความสำเร็จในการเป็นสมาชิก ของชุมชนวัฒนธรรมในสิ่งที่เรียกว่า “เกมแคนาดา” คำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นตั้งประเด็นต่อ “วัฒนธรรมระดับสูง” ที่สัมพันธ์กับอิตาลี บรรดาศิลปินอิตาลีผู้มีชื่อเสียง ลีโอนาโดหรือกาลิเลโอที่มีส่วนในการสร้างสังคมอิตาลี-แคนาดา ไม่ใช่อิตาลีที่อพยพนำพาสิ่ง เหล่านั้นมาสู่แคนาคาหรอกหรือ? (ชื่อศูนย์วัฒนธรรมอิตาลีในมอนเทรออลได้รับการขนานนามตามชื่อของลีโอนาโด ดา วินชี) ใน อีกทางหนึ่งผู้หญิงในชุมชนอิตาลีกล่าวอย่างชัดเจนว่าข้อมูลในนิทรรศการที่ กล่าวถึงความรุนแรงที่มีต่อสตรี เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งร่องรอยดังกล่าวกลับปรากฏไม่มากนักในบันทึกต่างๆ   คุณค่าและภารกิจ                 ความยุ่งยากที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของ “วัตถุพิพิธภัณฑ์” วัตถุที่มีคุณค่าเพียงพอที่จะเข้าไปอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑ์ ดังได้แสดงไว้ข้างต้น สำหรับผู้เขียนแล้ว เหล่านี้เป็นผลมาจากพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ในสังคม พิพิธภัณฑ์ในโลกตะวันตกมีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์ไปในทิศทางที่เป็นสถาบัน ที่มีอำนาจเต็ม ทัง้ในกำหนดว่าสิ่งใดเป็นที่ควรเก็บสะสมไว้เป็นสมบัติแห่งชาติ และจัดแสดงนิทรรศการเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่เป็นมาตรฐาน ดังนั้น พิพิธภัณฑ์จึงมีลักษณะที่คลุมเครือต่อการเผชิญกับสังคมสมัยใหม่ พิพิธภัณฑ์ดูจะไม่ให้ความใส่ใจต่อชุมชนเฉพาะที่มีความต่างออกไปจาก “มาตรฐาน” และหลีกเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึง ทัง้ที่ในความเป็นจริงพิพิธภัณฑ์สามารถนิยามคุณค่าของของมรดกชุมชนด้วยสมบัติของแต่ละแห่ง สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์อาจมองพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บและแสดงวัฒนธรรมวัตถุของตนที่นิยามโดยชุมชนเอง และเล่าเรื่องที่ชุมชน ปรารถนาจะเล่า เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สาธารณะในอีกทางหนึ่ง ผู้ซึ่งต้องการแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับคุณค่าที่สัมพันธ์กับการทำงานทางวิชาการและพิพิธภัณฑ์ปฏิบัติการ การเก็บวัตถุที่สัมพันธ์กับเนื้อหาประวัติศาสตร์ การจัดลำดับความสำคัญของวัตถุจากวัตถุธรรมาสามัญจนถึงของหายาก เช่น ชุดในของคนงานระดับแรงงานกับชุดต่างงานที่เป็นสมบัติสืบทอด พิพิธภัณฑ์นำเสนอสิ่งเหล่านี้ในนิทรรศการ ซึ่ง“เสียง” ได้เผยออกและนำไปสู่การถกเถียง การนำเสนอมุมมองหนึ่งของประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของกลุ่มหนึ่ง แต่อาจจะไม่ตรงต่อตัวตนของอีกกลุ่มหนึ่ง                 ในส่วนของการจัดแบ่งระหว่างมรดกและประวัติศาสตร์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ David Lowenthal ได้แสดงให้เห็นไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง The heritage Crusade and the Spoils of History (1998) เขาได้มองว่าขณะที่มรดกสามารถย้ำและร่างตัวตน หากมองไปในเนื้อแล้วจะพบลักษณะของการกีดกันมรดกของคนๆ หนึ่งมีความเฉพาะและไม่สามารถมีความหมายหรือคุณค่ากับคนภายนอกกลุ่ม มรดกใช้ตัวเองเพื่อการสรรเสริญมากกว่าเพื่อการตรวจสอบ และเมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้ ความขัดแย้งที่มาจากเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์สาธารณะ และเป้าหมายของกลุ่มที่ใช้มรดกเพื่อการยืนยันถึงตัวตนและการสรรเสริญพื้นฐานงานพิพิธภัณฑ์มีแนวคิดของการเข้าถึง ก็คือการเข้าถึงวัตถุและข้อมูล ซึ่งตีกรอบความเข้าใจในประวัตถุและถือเป็นสาระสำคัญของประวัติศาสตร์ของ สาธารณชน ประวัติศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์สาธารณะบอกเล่าอาจไปไม่ใช่เรื่องราวที่ชุมชนของวัฒนธรรมหนึ่งต้องการฟัง หรือกลุ่มมรดกต้องการที่จะได้ยิน ชาวอเมริกันอาจจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับ Enola Gay (เครื่องบินทิ้งระเบิดปรมาณูสมัยสงครามโลกครัง้ที่ 2 – ผู้แปล) แม้เรื่องราวของEnola Gay ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นชาติพันธุ์ แต่การซ่อมแซมและจัดนิทรรศการกลับสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่ชื่นชมกับมรดกของการทหารที่แสดงให้เห็นแสนยานุภาพของระเบิดและภารกิจที่เกี่ยวข้องกับนักประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ ที่ต้องการสำรวจและตั้งคำถามกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาและปฏิบัติการระเบิดปรมาณู หลังจากที่มีการประท้วงจากกลุ่มทหารที่ร่วมสงครามและผู้สนับสนุน นิทรรศการถูกยกเลิกไปและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ขอลาออก Sam Johnson ในฐานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาและคณะกรรมการคนหนึ่งของสถาบันสมิธโซเนียนได้ประกาศว่า อเมริกันชน “ต้องการให้สถาบันสมิธโซเนียนสะท้อนความเป็นอเมริกันจริงๆ และไม่ใช้บางสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ฝันขึ้น”13 แรงกดดันระหว่างมรดกและประวัติศาสตร์มักไม่ได้รับการตีแผ่อย่างตรงไปตรงมามากนัก   บทบาทของพิพิธภัณฑ์สาธารณะ                 ผู้เขียนคิดว่าความแตกต่างที่ Lowenthal ได้ กล่าวไว้มีความสำคัญอย่างมากในบริบทของประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย อย่างประเทศคานาดา ข้อชี้แจงดังกล่าวกระเทาะถึงหัวใจของบทบาทพิพิธภัณฑ์สาธารณะและหน้าที่ในฐานะสถาบันทางสังคม งานเขียนล่าสุดของ Stephen Weil เป็นผู้ที่ย้ำถึงการ “ประเมินที่มีผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง” (outcome-base evaluation) สำหรับพิพิธภัณฑ์ ในปาฐกถางานประชุมประจำปีพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษเมื่อปี 1999 เขาได้กล่าวไว้ว่า “ถ้า พิพิธภัณฑ์ของเราไม่ดำเนินการด้วยเป้าหมายปลายทางคือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้คน แล้วเราสามารถเรียกร้องการสนับสนุนจากสาธารณะเพื่อสิ่งใด?” เขาได้ปิดท้ายปาฐากถาด้วย คำยืนยันต่อความภาคภูมิใจของคนทำงานในพิพิธภัณฑ์ทีที่ควรจะเป็น ควรเป็นความภาคภูมิใจที่เชื่อมโยงกับความแตกต่างของคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ดีขึ้น ซึ่งมีได้หลายทิศทางและหลายแบบ เพื่อสร้างสภาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชุมชนของเรา”14                 แนวคิดของ Weil ที่มองว่าพิพิธภัณฑ์จะได้ความสนับสนุนจากสาธารณะก็ต่อเมื่อพิพิธภัณฑ์ได้ทำงานเพื่อ “ความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกัน” ของผู้คน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ Weilไม่ได้นิยามคำว่าความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกัน แต่ผู้เขียนประสงค์ที่จะสานต่อความคิดของเขาเข้ากับความคิดต่างๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวแคนาดา John Helliwell ได้กล่าวถึงผลกระทบของทุนทางสังคมกับความเป็นอยู่ที่ดี Helliwellได้ตั้งข้อสังเกตในงานเขียนล่าสุดว่า “ผู้ คนดูจะให้ความใส่ใจต่อบริบทสังคม ซึ่งพวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าพวกเขาจะเล่นอยู่ในบทบาทใดพวกเขาให้คุณค่าและความไว้วางใจต่อเพื่อน บ้าน สถานที่ทำงาน บริการสาธารณะ และข้ารัฐการ”15นโยบายการอพยพและการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของควิเบก (1991) ทั้งที่ปฏิบัติอยู่ในสถาบันเอกชนและสาธารณะ จะต้องปรับให้เข้ากับความจริงที่เป็นพหุวัฒนธรรม เพื่อช่วยให้คนอพยพและลูกหลานของพวกเขาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมควิเบก16 ผู้ เขียนอยากจะเสนอแนะให้พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่ทางสังคมกับผู้คนมากกว่าที่จะเป็น สถานที่ทำงานหรือสำนักงานรัฐบาล และด้วยความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของพิพิธภัณฑ์นี่เองที่จะทำให้ผู้คนมีความรู้สึกของความเป็นอยู่ที่ดีและความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นั่นคือความรู้สึกถึงความเป็นพลเมือง17 ความรู้สึกเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพิพิธภัณฑ์อย่างเช่นแมคคอร์ด ซึ่งมีคลังสะสมวัฒนธรรมวัตถุของคานาดา และนำเสนอนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์และบนเว็บไซต์ทั้งภาษาฝรัง่เศสและภาษาอังกฤษ ผู้เขียนขอย้ำ ถึงว่าเราได้สร้างความรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยใช้วัตถุในคลังสะสมและการนำเสนอเรื่องราวผ่าประวัติศาสตร์วัตถุของประเทศ ของเรา ผู้เขียนใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์” อย่างระมัดระวังด้วยคำอธิบายความแตกต่างของ Lowenthal ระหว่างมรดก ซึงมีการกีดกันบางสิ่งบางอย่างออกไป และแก่นแกนของประวัติศาสตร์ที่เปิดรับและมีลักษณะที่ให้พื้นที่การเข้ามามีส่วนร่วม พิพิธภัณฑ์ของเราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะดึงเอาคลังวัตถุมาสะท้อนประวัติศาสตร์ของสถานที่นี้ สถานที่ของเรามีตัง้แต่ต้นศตวรรษที่ 20 ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แมคคอร์ด David Ross McCord เชื่อว่าประวัติศาสตร์คานาดา หากกล่าวอย่างกว้าง สามารถเชื่อมให้พลเมืองของประเทศมองเห็นอัตลักษณ์แห่งชาติที่พัมนามาจากอารยธรรมฝรัง่เศสและอังกฤษ และเสริมความเป็นอินเดียนเข้าไปในฐานะ “เจ้าของดัง้เดิมบนแผ่นดิน” ชาวคานาดายอมรับอย่างเต็มภาคภูมิ

การศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย

19 กุมภาพันธ์ 2564

การศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย[1] บุรินทร์ สิงห์โตอาจ [2]   บทคัดย่อ ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย โดยเฉพาะขั้นตอนการแต่งเติมเขียนลายลงบนเครื่องปั้นดินเผาเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ทักษะทางศิลปะ และการฝึกฝนของนักอนุรักษ์ ผู้เขียนจึงประยุกต์เทคนิคการตกแต่งแบบดั้งเดิมคือ การใช้กระดาษลอกลายมาเป็นทางเลือก สำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับลวดลายบนเครื่องกระเบื้องชิ้นสมบูรณ์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ลวดลายที่ได้จากการศึกษาจะนำมาปรับแต่งสีและขนาดให้ใกล้เคียงกับส่วนที่หายไปของวัตถุโดยใช้โปรแกรมแต่งภาพ จากนั้นนำลายที่พิมพ์ลงบนกระดาษสามาลอกลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไป ซึ่งเป็นวัสดุไม่ส่งผลกระทบต่อวัตถุในระยะยาว ผลปรากฏบนวัตถุจะมีความใกล้เคียงกับภาชนะดั้งเดิม วิธีที่ผู้เขียนนำมาใช้เลียนแบบการพิมพ์ลายนี้จะช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ โดยไม่ต้องอาศัยทักษะทางศิลปะขั้นสูง  ช่วยในการศึกษาลักษณะที่สมบูรณ์ และในการจัดนิทรรศการ รวมถึงจับต้องวัตถุเพื่อการเรียนรู้ได้ ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเขียนลายในรูปแบบที่ซ้ำกันได้   คำค้น : การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย   1. บทนำ เครื่องปั้นดินเผาเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและสุนทรียะ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยกำหนดอายุโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบร่วมกัน เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นวัตถุที่มีการผุพังสูญสลายน้อยมาก เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันสามารถคงสภาพได้ดีกว่าวัตถุที่ทำจากวัสดุอื่น เครื่องปั้นดินเผาตรงกับคำว่า เซรามิกส์ (Ceramics) หมายถึง วัตถุทุกชนิดที่ทำด้วยดินเหนียวและส่วนผสมอื่น เช่น ทราย แกลบ เป็นต้น มาขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามต้องการ หลังจากนั้นจะนำมาเผาเพื่อให้เกิดความทนทานต่อสภาวะแวดล้อม สังเกตได้จากเครื่องปั้นดินเผาที่พบจากแหล่งขุดค้นโบราณคดีเกือบทุกแห่งยังคงสภาพถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี เครื่องปั้นดินเผาจัดเป็นวัสดุสังเคราะห์ชนิดแรกที่มนุษย์ทำขึ้น เป็นผลจากการค้นพบว่าดินเมื่อได้รับความร้อนจะเปลี่ยนสภาพและมีความแข็งแรงขึ้น (Buys and Oakley, 2014, p.3) ซึ่งการค้นพบว่าดินสามารถใช้ทำสิ่งของเครื่องใช้ได้สามารถย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผายุคเริ่มแรกผ่านกาลเวลาหลายพันปี สะท้อนเรื่องราวของอารยธรรมและสังคมที่ผลิตขึ้น ในหลายส่วนของโลกเทคโนโลยีการผลิตภาชนะดินเผามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ขณะที่ในบางพื้นที่มีพัฒนาการเข้าไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เครื่องปั้นดินเผาจึงจัดเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและสุนทรียะ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยกำหนดอายุโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบร่วมกัน เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นวัตถุที่มีการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติค่อนข้างน้อย และจัดเป็นสิ่งของเครื่องใช้สามัญอย่างหนึ่งที่พบอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ทุกแห่ง เทคโนโลยีของการผลิตและรูปทรงสัณฐานของเครื่องปั้นดินเผา จึงสามารถนำมาใช้เป็นคุณลักษณะพื้นฐานสำหรับการจัดแบ่งยุคสมัยหรือศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี (บุรินทร์ สิงห์โตอาจ, 2556, หน้า 12) จิราภรณ์ อรัณยะนาค ให้ความเห็นว่าแนวคิดและวิธีการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นที่นิยมในอดีตเน้นกระบวนการหยุดยั้งการเสื่อมสภาพ ซ่อมแซม เสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงโดยใช้วิธีเคมีและวิธีซ่อมเชิงช่างเป็นส่วนใหญ่ ใช้สารเคมีในการทำความสะอาดและเน้นซ่อมแซมต่อเติมส่วนที่ชำรุดหรือทำของใหม่ขึ้นแทนที่ของเดิม โดยขาดการศึกษาวิจัยพิจารณาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพหรือพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและทำโดยบุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ โดยมองข้ามผลเสียในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นและมักไม่มีการประเมินและติดตามผลซึ่งบางครั้งพบว่าก่อให้เกิดความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ ปัจจุบันนี้แนวคิดในการอนุรักษ์ตามหลักสากลจะมุ่งเน้นวิธีการที่ป้องกันการเสื่อมสภาพของวัตถุเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เสมอไป แนวคิดในการอนุรักษ์เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์วิจัยหาเหตุผลที่ทำให้วัตถุเสื่อมสภาพ แล้วใช้ความรู้หลายสาขามาพิจารณาหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา นอกจากนี้นักอนุรักษ์ยังต้องตระหนักถึงขอบเขตศักยภาพ ความรู้ความสามารถ ความถนัดของตนเอง หากสิ่งใดที่ตนเองไม่ถนัดต้องแสวงหาความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นักอนุรักษ์จะใช้สารเคมีก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นและจะใช้อย่างระมัดระวัง มีการศึกษาข้อดีข้อเสียของสารเคมีและวิธีการแต่ละวิธีอย่างละเอียดรอบคอบ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์วิจัยหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุและวิธีการผลิตดั้งเดิม แล้วเลือกใช้วิธีการและเคมีที่สามารถทำให้ย้อนกลับได้ (Reversible) หากยังไม่แน่ใจว่าวิธีการหรือเคมีที่มีอยู่ขณะนี้จะช่วยอนุรักษ์วัตถุที่กำลังเสื่อมสภาพได้หรือไม่จะยังไม่ใช้วิธีการเหล่านั้น แต่จะใช้วิธีการป้องกันหรือชะลอการเสื่อมสภาพแทนเพื่อที่ว่าในอนาคต หากมีการค้นพบวิธีการและเทคโนโลยีที่ดีกว่าจะสามารถใช้วิธีการใหม่ที่ดีกว่าได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อวัสดุเดิม (จิราภรณ์ อรัณยะนาค, 2558, หน้า 8) ขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในหลักการอนุรักษ์ คุณสมบัติของวัตถุ สาเหตุและกระบวนการชำรุดเสื่อมสภาพ วิธีการอนุรักษ์ วิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการอนุรักษ์จึงมีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาซึ่งประยุกต์ใช้ความรู้หลายสาขา และเนื่องด้วยความรู้ด้านการอนุรักษ์ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและทดลองพบข้อมูลใหม่อยู่ตลอดเวลา วิธีการที่เคยเชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงในอดีตอาจกลายเป็นวิธีการที่เพิ่งค้นพบว่าทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวได้ นักอนุรักษ์จึงต้องศึกษาและเข้าใจวัสดุที่ผลิตและวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์ สาเหตุการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผา และวิธีการป้องกัน การศึกษาในปัจจุบันพบว่ามีหลายกระบวนการที่ส่งผลให้วัสดุเกิดการเสื่อมสภาพ เช่น การดูแลรักษา การจัดเก็บ การจัดแสดง การปฏิบัติการอนุรักษ์ เป็นต้น และเมื่อวัตถุเกิดการเสื่อมสภาพจึงจำเป็นต้องมีวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อหาแนวทางป้องกันและเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพ ซึ่งสาเหตุการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผาใน The Conservation and Restoration of Ceramics (Buys and Oakley, 2014, pp.18-28) ประกอบด้วย การเสื่อมสภาพทางกายภาพ (Physical deterioration) และการเสื่อมสภาพทางเคมี ( Chemical deterioration ) และแบ่งได้ตามปัจจัยสนับสนุนอย่าง ปัจจัยภายในวัสดุและปัจจัยภายนอก อย่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมซึ่งมีได้หลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมสภาพทางกายภาพเนื่องจากการผลิต เครื่องปั้นดินเผามีหลายประเภทและแตกต่างกันในเรื่องอุณหภูมิการเผา ตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินที่เผาอุณหภูมิต่ำ ชนิดเนื้อแกร่ง ไปจนถึงเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องที่เผาอุณหภูมิสูง เครื่องปั้นดินเผามีทั้งแบบเคลือบและแบบไม่เคลือบ องค์ประกอบของเนื้อดินและวิธีการผลิต ซึ่งระดับความเสียหายที่เกิดจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อเครื่องปั้นดินเผาแต่ประเภทแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เครื่องปั้นดินเผาที่เผาไฟอุณหภูมิต่ำจะเสื่อมสภาพได้ง่ายกว่าการเผาในอุณหภูมิที่สูงกว่า สาเหตุประกอบอื่น เช่น วัสดุเนื้อดินที่ไม่บริสุทธิ์ (Compositional defects ) ความผิดพลาดจากการขึ้นรูปทรง (Construction failures ) ความผิดพลาดจากการเผา (Firing flaws) ความผิดพลาดจากการเคลือบ (Glazing errors) ปัจจัยภายในที่มีส่วนต่อการเสื่อมสภาพในตัวเองโดยธรรมชาติจากความไม่เสถียรของวัสดุ และส่วนประกอบของเครื่องปั้นดินเผา สามารถนำไปสู่การเสื่อมสภาพทางกายภาพในตัวเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติภายในตัววัสดุเองจึงเป็นการยากที่จะป้องกัน และการเสื่อมสภาพของวัตถุนี้สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนที่วัตถุนั้นจะถูกใช้งาน ซึ่งจะรวมถึงวัสดุที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ข้อบกพร่องอีกประการมาจากการออกแบบและการผลิตที่ไม่ดี เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่มีหูจับที่บางเกินกว่าที่จะรองรับน้ำหนักของภาชนะได้ ข้อบกพร่องประการสุดท้ายที่จากการผลิต คือ การเผาภาชนะที่ไม่ระมัดระวัง เครื่องปั้นดินเผาที่ถูกเผาเร็วเกินไป หรือปล่อยให้แห้งเร็วเกินไปจะแตกหรือร้าวได้ การเสื่อมสภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสียหายจากน้ำ (Aqueous attack) ความเสียหายจากกรด (Acid attack) ความเสียหายจากด่าง (Alkaline attack) ความเสียหายจากเกลือที่ละลายน้ำได้ (Soluble salts) ความเสียหายจากการฝังดินหรือแช่น้ำ (Encrustations burial or flood) ความเสียหายจากความร้อน (Thermal shock) ความเสียหายจากการกดทับ (Compression damage) ความเสียหายจากฝุ่น (Museum dirt and dust) ความเสียหายจากเชื้อรา (Mold growth) ความเสียหายจากคราบที่เกิดจากไฟ (Fire stains/deposits) เครื่องปั้นดินเผาที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ อาคารประวัติศาสตร์หรือที่อยู่อาศัยทั่วไปจะมีความเสี่ยงมากจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาอ่อนไหวต่อแรงกระแทกทางกล ที่ทำให้เกิดแตกหัก รอยแตกร้าวและบิ่น ส่วนการใช้งานทั่วไปและการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะอาจทำให้เกิดคราบสกปรก หรือร่องรอยบนเครื่องปั้นดินเผา เมื่อเครื่องปั้นดินเผาต้องเผชิญกับภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้จะเกิดความร้อนที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง หรือน้ำท่วมจะทำให้เกิดคราบเปื้อนและความเสียหายทางเคมีอาจเกิดขึ้นได้ เครื่องปั้นดินเผาเมื่อถูกพบร่วมในแหล่งโบราณคดีและถูกนำขึ้นมาสัมผัสกับสภาพแวดล้อมใหม่ทันที อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีซึ่งอาจรุนแรงมากจนทำให้โครงสร้างของเครื่องปั้นดินเผาแตกหักและร่วนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย การเสื่อมสภาพทางเคมียังนำไปสู่ความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับหรือปกปิดได้ เช่น ชั้นเคลือบเปลี่ยนสีหรือเสื่อมสภาพ ความชื้นสามารถทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นได้ เมื่อเครื่องปั้นดินเผาอยู่ในที่มีความชื้น เกลือในธรรมชาติอาจจะแทรกซึมเข้าสู่เนื้อดินที่เป็นรูพรุนและจะขยายตัวเมื่อได้รับความชื้น ทำให้เกิดแรงกดลงบนเนื้อดินของเครื่องปั้นดินเผาและทำให้วัสดุแตกร้าว ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เกลือที่ละลายน้ำได้จะละลายและเมื่อความชื้นต่ำเกลือจะตกผลึก การเปลี่ยนจากการละลายไปตกผลึกกลับไปมาทำให้พื้นผิวเครื่องปั้นดินเผาเสียหาย เนื่องจากผลึกเกลือจะมีขนาดใหญ่กว่าเกลือในรูปของสารละลายซึ่งจะเกิดการหดตัวและขยายตัวในเนื้อดินของเครื่องปั้นดินเผา ระยะเวลาผ่านไปองค์ประกอบทางกายภาพของเนื้อดินจะแตกร่วนจนกระทั่งถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ (จิราภรณ์ อรัณยะนาค, 2559, หน้า 95-97) แสงไม่เป็นอันตรายต่อเครื่องปั้นดินเผา แต่ผงสีที่ใช้ในการตกแต่งพื้นผิวเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีอาจได้รับความเสียหายจากการสัมผัสกับแสงมากเกินไป เครื่องปั้นดินเผาเขียนสีสามารถซีดจางหรือเปลี่ยนสีได้อย่างรวดเร็ว หากสัมผัสกับแสงมากเกินไปเช่นกัน โดยแสงสามารถทำอันตรายกับอินทรียวัตถุทุกชนิด โดยทำลายโครงสร้างโมเลกุลของอินทรีย์สาร เกิดการชำรุดเสื่อมสภาพอ่อนแอหรือแตกหักลงได้ อันตรายที่เกิดจากแสงเมื่อวัสดุดูดซับพลังงานจากแสงและความร้อนถูกสะสมเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้วัสดุเกิดการเปลี่ยนแปลงจะเกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีออกซิเจน โอโซน และความชื้นร่วมด้วย อย่างไรก็ตามแสงมีผลกระทบอย่างมากต่อวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์ เช่น กาว หรือวัสดุเติมเนื้อ เช่น อีพอกซี อะคริลิค เรซิ่น อาจเปลี่ยนสีเหลืองได้ไวขึ้นเมื่อสัมผัสกับแสงยูวี การเสื่อมสภาพทางกายภาพเนื่องจากการใช้งาน แรงกระแทกและการเสียดสี เนื่องจากด้วยธรรมชาติของเครื่องปั้นดินเผาที่ผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะปรากฏร่องรอยจากการใช้งาน เช่น รอยแตก รอยร้าว และรอยด่าง นอกจากนี้ในสภาพแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์อาจสร้างความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บ การบรรจุการหยิบยกและ เคลื่อนย้ายที่ผิดพลาด (Impact damage) ความเสียหายจากรอยขีดข่วน (Abrasion) ความเสียหายจากคราบอาหาร (Food staining) ความเสียหายจากคราบสนิมโลหะ (Metal staining) ความเสียหายจากคราบสะสม (Accretions) การเสื่อมสภาพเนื่องจากการซ่อมแซมก่อนหน้า (Previous restoration) เช่น ความเสียหายจากการซ่อมแซมอย่างไม่เหมาะสม (Improperly applied ) ความเสียหายที่เกิดจากกาว (Adhesives overpaint) ความเสียหายจากการใช้เครื่องมือ (Mechanical damage) และความเสียหายจากการใช้สารเคมี (Chemical damage) การเสื่อมสภาพทางเคมีของวัตถุโดยทั่วไปไม่ได้เกิดขึ้นในโครงสร้างทางกายภาพของวัตถุ แต่อยู่ในระดับเคมีหรือสารประกอบ การเสื่อมสภาพขององค์ประกอบทางเคมีของวัตถุจะขัดขวางหรือลดความคงทนของวัตถุเมื่อสัมผัสกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ มลพิษ ความร้อน ความชื้น และสิ่งอื่น ๆ จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น สาเหตุหลักของการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศไทย คือ การใช้งาน หยิบ ยก เคลื่อนย้ายที่ผิดพลาด และการเสื่อมสภาพเนื่องจากการซ่อมแซมก่อนหน้า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมยังมีบทบาทสำคัญในการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผา ขณะที่การเสื่อมสภาพเชิงกายภาพอาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่การเสื่อมสภาพทางเคมีมักจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และด้วยเครื่องปั้นดินเผามีความเสถียรทางเคมีมาก ด้วยเหตุนี้เครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากจึงคงสภาพอยู่ได้ในระยะเวลานับพันปี และเมื่อถูกค้นพบในการขุดค้นทางโบราณคดียังคงมีสภาพดี สำหรับเครื่องปั้นดินเผาจีนประเภทเนื้อกระเบื้องที่ตกแต่งพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย (Transfer printed) หรือเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย มักพบเป็นรูปทรงชามปากผายเล็กน้อยที่ด้านนอกมีการพิมพ์ลาย ซึ่งผลิตจากกลุ่มเตาย่อยในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 25 และส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทยในราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นวัตถุที่พบได้มากในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์วัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ตามหลักการที่เหมาะสม   รูปที่ 1 เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย   2. การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบัน การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผามีประวัติยาวนานและมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งเพื่อประโยชน์ในการใช้งานคงทนถาวร รักษาไว้เพื่อคุณค่าทางด้านจิตใจ ชื่นชมความงามทางสุนทรียะ หรือแม้กระทั่งความเชื่อ การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่การจัดการกับความเสียหายทั่วไปแต่ยังเกี่ยวกับความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การเก็บรักษา การจัดการหยิบยกเคลื่อนย้ายวัตถุ เทคนิคการจัดแสดง และแผนการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน   เป็นต้น นักอนุรักษ์ต้องสำรวจวัสดุและวิธีการที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในอดีตและปัจจุบัน ต้องทำการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาโดยใช้พื้นฐานมาจากความเข้าใจ เห็นคุณค่าของทั้งวัสดุที่ใช้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและวัสดุที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์ เครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับการอนุรักษ์ที่พบในประเทศไทยทั้งในงานโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และวัตถุสะสมของเอกชน       มีวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์แตกต่างกัน กรรมวิธีและวัสดุที่ใช้ยังมีความหลากหลายซึ่งวัสดุอาจเกิดการเสื่อมสภาพ และส่งผลกระทบต่อตัววัตถุ เมื่อนักอนุรักษ์ต้องดำเนินการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา จึงต้องเลือกใช้วิธีการ วัสดุที่มีการพัฒนา และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งจะช่วยลดการเสื่อมสภาพและช่วยยืดอายุของเครื่องปั้นดินเผาให้มีสภาพดีให้ยาวนานที่สุด เพื่อแสดงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป อีกทั้งต้องเป็นทางเลือกที่ไม่ขัดแย้งต่อหลักการอนุรักษ์ จริยธรรมและสุนทรียะ นิยามของการอนุรักษ์ตามที่คณะกรรมการเพื่องานอนุรักษ์ สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM-CC (International Council of museums-Committee for conservation) (ICOM -CC, 2015) ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ การอนุรักษ์ (Conservation) เป็นมาตรการและการดำเนินการที่มุ่งเน้นการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อการเข้าถึงในปัจจุบันและอนาคต การอนุรักษ์รวมถึง การอนุรักษ์เชิงป้องกัน การอนุรักษ์เชิงสงวนรักษาและการบูรณะฟื้นฟู มาตรการและการดำเนินการทั้งหมดควรเคารพในคุณค่า ความสำคัญและคุณสมบัติทางกายภาพของมรดกวัฒนธรรม การอนุรักษ์เชิงป้องกัน (Preventive Conservation) เป็นการทำงานเพื่อป้องกันความเสียหายจากสภาพแวดล้อม การจัดการความเสี่ยงที่ส่งผลต่อวัสดุ ผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาจะต้องคอยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเก็บรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเสื่อมสภาพนั้นหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง มลพิษ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้วัตถุเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก มาตรการและการดำเนินการเหล่านี้เป็นทางอ้อม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับวัสดุและโครงสร้างของมรดกวัฒนธรรม นักอนุรักษ์ไม่ได้แก้ไขลักษณะที่ปรากฏของวัตถุ การอนุรักษ์เชิงสงวนรักษา (Conservation Treatment) เป็นการดำเนินการที่ต้องคำนึงถึงหลักการและเหตุผลที่เหมาะสมที่สุดในการดำเนินงาน เพื่อชะลอการเสื่อมสภาพและแก้ไขปัญหาที่เกิดความเสียหายขึ้นกับวัตถุ โดยต้องอาศัยหลักทางวิชาการ ในการดำเนินงานอนุรักษ์ต้องแน่ใจว่าหลังจากที่มีการดำเนินงานแล้ว วัตถุจะต้องได้รับการอนุรักษ์เชิงป้องกันหลังจากที่ปฏิบัติงานแล้วทันที การบูรณะ (Restoration) เป็นการดำเนินการที่กระทำกับวัตถุโดยตรง มีวัตถุประสงค์เพื่อความงามทางสุนทรียะ เพื่อความเข้าใจและการใช้ประโยชน์ การกระทำเหล่านี้จะดำเนินการได้ต่อเมื่อวัตถุนั้นเสียหาย และทำให้ความสำคัญหรือหน้าที่ของวัตถุมีการเปลี่ยนแปลงหรือวัตถุมีการเสื่อมสภาพ การดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความเคารพวัสดุดั้งเดิม การบูรณะส่วนใหญ่จะแก้ไขลักษณะที่ปรากฏของวัตถุ เมื่อต้องทำการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผามีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและอาศัยทักษะทางศิลปะ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องมีการแต่งเติมสีหรือเขียนลวดลายลงบนเครื่องปั้นดินเผา ขั้นตอนการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาทุกประเภทจะขึ้นอยู่กับหลักการพื้นฐานการดำเนินงานที่เหมือนกัน โดย Repairing pottery and porcelain: a practical guide. Second Edition ได้เสนอขั้นตอนการอนุรักษ์ไว้ (Acton and McAuley, 2003) ดังนี้ 1.       การตรวจสภาพวัตถุ บันทึกภาพ ทำรายงานการตรวจสภาพ และระบุอัตลักษณ์เครื่องปั้นดินเผา (Examination and identification) 2.       การความสะอาด (Cleaning) ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับเนื้อวัสดุของเครื่องปั้นดินเผา3.       การนำวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์ก่อนหน้าออก (Removal of previous restoration) 4.       การเสริมความแข็งแรง (Reinforcement and consolidation)5.       การเชื่อมต่อ (Bonding) การใช้วัสดุเติมเต็มส่วนที่สูญหาย เช่น เติมพื้นที่ การหล่อแบบ การจำลองแบบ และการขึ้นรูป (Replace of lost materials, Filling, Casting,Modelling and Moulding)7.       การแต่งเติมสีหรือลวดลาย (Retouching)  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ทักษะทางศิลปะและการฝึกฝน เพื่อให้เกิดผลงานอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ ในขั้นตอนสุดท้าย ผู้เขียนมีแนวคิดที่จะนำวิธีการเดียวกันกับเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม คือใช้กระดาษลอกลายมาเป็นทางเลือกสำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับลวดลายดั้งเดิมบนเครื่องกระเบื้องชิ้นสมบูรณ์และจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ลวดลายที่ได้จากการศึกษาจะนำมาปรับแต่งสีและขนาดให้ใกล้เคียงกับส่วนที่หายไปโดยใช้โปรแกรมแต่งภาพ จากนั้นเป็นการทดลองหาวิธีการลอกลายที่แตกต่างกันจากลายที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษหลายชนิด เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและไม่เกิดผลกระทบต่อวัสดุในระยะยาว ซึ่งความรู้ในปัจจุบันที่ใกล้เคียงกับวิธีการที่เลือกใช้ คืองานของนักอนุรักษ์ Gregory S. Byrne (1995) และ Tiago Oliveira (2015) Gregory S. Byrne นักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาของ U.S. National Park Service สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองใช้ฟิล์มที่ทำจากกาวโพลียูรีเทน ฉีดพ่นทับหลายชั้นลงบนกระดาษที่พิมพ์ลวดลายด้วยเครื่องพิมพ์เลเซอร์ แล้วใช้ความชื้นลอกชั้นกระดาษออกให้เหลือเพียงชั้นสีและชั้นฟิล์ม เพื่อนำมาติดแทนที่ลวดลายที่สูญหายไปของเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่นแบบอิมาริ เป็นความพยายามที่จะหาเทคนิคและวัสดุ มาใช้ในกระบวนการอนุรักษ์ในขั้นตอนการตกแต่งลวดลายบนเครื่องกระเบื้องเขียนลาย โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพ ตกแต่งลวดลาย และสร้างฟิล์มรูปลอกโดยใช้วัสดุสำหรับการอนุรักษ์ Tiago Oliveira นักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในประเทศอังกฤษ เสนอผลการศึกษาเทคนิคการลอกลายชั่วคราว ทางเลือกในงานอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาใน Temporary Transfer Papers as Retouching Media for Ceramics Conservation โดยอธิบายถึงการใช้กระดาษรูปลอกแบบชั่วคราว มาเป็นทางเลือกสำหรับการตกแต่งเติมลวดลายลงบนปูนปลาสเตอร์ ที่ใช้เป็นวัสดุเติมเต็มในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้อง นอกจากนี้ยังนำเสนอผลการวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของสีที่ใช้ในการพิมพ์โดยการเร่งปฏิกิริยาจากแสง ตัวอย่างใช้ในการศึกษาคือ โถลายคราม (Tureen) ที่ใช้เทคนิคการตกแต่งด้วยการลอกลาย โดยมีหลักการสำคัญคือ นำลวดลายในส่วนที่หายไปมาปรับแต่งด้วยโปรแกรมแต่งภาพ Adobe Photoshop เพื่อให้ตรงกับสีและรูปร่างของวัตถุ พิมพ์ลายลงบนกระดาษรูปลอกและลอกลายลงบนพื้นที่ที่ต้องการ เทคนิควิธีที่ใช้ในการศึกษา คือ การตรวจสอบคุณสมบัติและความสามารถในการใช้งาน (workability) ของกระดาษรูปลอกโดยประเมินจากรูปลักษณ์ที่ปรากฏ การทดสอบประเภทกระดาษรูปลอกและวิธีการลอกลาย การทดสอบความคงทนต่อแสง โดยนำตัวอย่างของกระดาษรูปลอกมาเร่งอายุให้มากขึ้นภายใต้แสงไฟนีออน และวัดค่าการเปลี่ยนสีด้วยเครื่องวัดการดูดกลืนแสง (UV-Vis spectrophotometer ) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่วัดการดูดกลืนแสงของสารในช่วงความยาวคลื่นอัลตราไวโอเลต และช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ และวิธีการทดสอบความคงทนต่อแสง (light fastness ) ที่อ้างอิงกับผ้าขนสัตว์ย้อมสีน้ำเงินมาตรฐาน (Blue wool standard : BWS) ที่วางไว้คู่กับตัวอย่าง โดยผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่ากระดาษรูปลอกมีระยะเวลาการสัมผัสกับแสงที่เทียบเท่าระยะเวลา 50 ถึง 100 ปี ตัวอย่างของกระดาษรูปลอกที่ยังไม่ผ่านการพิมพ์ถูกวางทดสอบภายใต้แสงฟลูออเรสเซนต์และวัดการเปลี่ยนสีด้วยเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ ตัวอย่างทั้งหมดแสดงค่าความแตกต่างของสีต่ำกว่า 1 (0.6-0.8) แสดงถึงคุณภาพความคงทนต่อแสงที่ดีมากหากจัดแสดงและจัดเก็บอย่างเหมาะสม   3. วิธีการศึกษา ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย จึงต้องทำความเข้าใจกระบวนการผลิตเพื่อที่จะสามารถเลียนแบบกระบวนการตกแต่งเครื่องกระเบื้องด้วยการพิมพ์ลาย ผู้เขียนจึงศึกษาวิธีการตกแต่งด้วยการพิมพ์ลายแบบดั้งเดิม ซึ่งปรากฏครั้งแรกในยุโรปช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 (ค.ศ. 1750) เทคนิคการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย เป็นการพิมพ์ลวดลายโดยใช้แม่พิมพ์โลหะลงบนกระดาษ แล้วจึงนำกระดาษที่มีลายอยู่มาติดกับภาชนะ ตัวอย่างที่สำคัญของการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาอังกฤษและสกอตแลนด์ อีกเทคนิคการสร้างลายบนเนื้อกระเบื้องที่ใกล้เคียงกันคือ การพิมพ์ลายด้วยเทคนิคสเตนซิล (Stencil) เป็นการพิมพ์ลวดลายโดยใช้การประดิษฐ์ลวดลายด้วยลายฉลุ แล้วใช้สีทาลงบนลายฉลุ ตัวอย่างที่สำคัญของการพิมพ์ลายด้วยเทคนิคสเตนซิล ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่น เรียกศิลปะการพิมพ์ลายประเภทนี้ว่า คาตากามิ (Katagami stencils) ซึ่งเป็นเทคนิคที่พบได้ในงานย้อมผ้า งานไม้และเครื่องปั้นดินเผา   รูปที่ 2 เปรียบเทียบเทคนิคการตกแต่งลวดลายเครื่องกระเบื้อง   การศึกษาวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาโดยเฉพาะวัสดุเติมเต็ม(Filler) การใช้วัสดุเพื่อเติมเต็มพื้นที่ที่ขาดหายไปในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงหรือเพื่อเหตุผลด้านสุนทรียภาพ เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับในการอนุรักษ์และซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผา การใช้วัสดุเติมเต็มมีประวัติอันยาวนานเพื่อการยึดเกาะหรือแทนที่ส่วนที่สูญหายขนาดใหญ่ มีการใช้วัสดุจำนวนมากเป็นวัสดุเติมเต็มเนื้อเครื่องปั้นดินเผาและมีเทคนิคที่หลากหลายตั้งแต่ การทากาวหนาหลายชั้น การนำชิ้นส่วนจากภาชนะอื่นมาติดแทนที่ การใช้ชิ้นส่วนทำจากเซรามิคส์ที่ผลิตขึ้นเฉพาะ การใช้ชิ้นส่วนเรซิ่นหล่อและขี้ผึ้ง วัสดุและเทคนิคการเติมเต็มพื้นที่ในช่วงแรกเหล่านี้แม้จะมีประสิทธิภาพ สามารถคาดเดาการเสื่อมสภาพได้และสามารถนำออกได้ แต่วิธีการเหล่านี้ถูกจัดว่าล้าสมัย ถึงกระนั้นนักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาก็จะต้องพบกับวัสดุเหล่านี้อยู่เสมอ วัสดุและเทคนิคที่ใช้ในการเติมเนื้อของเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันที่พบมากที่สุด คือ วัสดุที่ทำจากแคลเซียมซัลเฟต (Calcium sulfate) เช่น ปูนปลาสเตอร์ (Plaster of Paris) ในขณะที่วัสดุสังเคราะห์จากอีพอกซี (Epoxy) อะคริลิคเรซิ่น (Acrylicresins) นิยมใช้แต่มีผลกระทบในระยะยาวต่อวัตถุและมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง หรือวัสดุที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ เช่น โพลีเอสเตอร์เรซิ่น (Polyester resins ) ซึ่งมีความแข็งแรงและไม่เป็นอันตรายต่อวัตถุเดิม วัสดุเติมเต็ม เช่น ปูนปลาสเตอร์และวัสดุเติมเต็มที่มีอะคริลิกเป็นส่วนประกอบหลัก (acrylic - based fillers ) ใช้สำหรับเติมช่องว่างในเครื่องปั้นดินเผาที่เนื้อดินอ่อนและมีรูพรุน ส่วนอีพอกซี่เรซิ่นและโพลีเอสเตอร์ เรซิ่น ใช้ในกรณีของเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องที่มีความหนาแน่น ในขณะที่การใช้วัสดุเซรามิคส์ เช่น ดินเหนียวหรือดินขาวเพื่อการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผานั้นไม่ได้รับการนิยม เนื่องจากการหดตัวของเนื้อดินในระหว่างการอบแห้งและการเผา การนำวัสดุเติมเต็มที่ใช้ในอนุรักษ์ก่อนหน้าออก ทำได้ทั้งโดยวิธีกลหรือใช้สารเคมี การแทนที่ด้วยวัสดุเติมเต็มใหม่สามารถช่วยให้เครื่องปั้นดินเผาแข็งแรงและมั่นคง วัสดุเติมเต็มที่สามารถนำออกได้ทางกายภาพโดยวิธีการกลขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุ เช่น ปูนซีเมนต์สามารถสกัดด้วยค้อนและสิ่วทีละน้อย ปูนปลาสเตอร์จะถูกเอาออกได้อย่างง่ายดายผ่านวิธีกล เช่น สกัดและแกะออกด้วยเครื่องมือที่มีคม สามารถใช้เลื่อย สว่านและเครื่องมืออื่นๆ อย่างไรก็ตามการนำวัสดุเติมเต็มที่ใช้ก่อนหน้าจำนวนมากออกไป ต้องระมัดระวังรอยขีดข่วน ชิ้นส่วนหลุด รอยร้าว และรอยแยกที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวเลือกที่สองในการนำวัสดุเติมเต็มออกคือใช้สารเคมี โดยทั่วไปแล้วสารเคมีจะถูกใช้เมื่อวัสดุเติมเต็มเดิมถูกนำออกไปแล้วให้เหลือเพียงส่วนน้อย วัสดุเติมเต็มมีความแตกต่างจากกาวคือมีแนวโน้มที่จะนำออกจากเครื่องปั้นดินเผาได้ง่ายกว่ากาว เช่น ปูนปลาสเตอร์ที่แยกออกมาได้ง่าย การใช้ปูนปลาสเตอร์ในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา มีข้อดีหลายประการ เนื่องจากปูนปลาสเตอร์มีความแข็งแรงและผิวหน้าเรียบ สามารถเก็บรายละเอียดได้ดี มีความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity, SG) ใกล้เคียงกับเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน คือ ยิปซัมมี SG 2.32 ขณะที่เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินมี SG 2.4 ถึง 2.6 (Buys and Oakley, 2014, p.198) นอกจากนั้นยังมีราคาถูกอีกด้วย ข้อควรระวังในการทำแบบปูนปลาสเตอร์คือ จะต้องกำจัดฟองอากาศที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำปฏิกิริยาระหว่างปูนปลาสเตอร์กับน้ำออกให้หมด มิฉะนั้นจะทำให้เกิดรูพรุนขนาดใหญ่ซึ่งจะส่งผลต่อความแข็งแรง และการดูดซึมน้ำ เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกใช้ปูนปลาสเตอร์ในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากมีคุณสมบัติในการขึ้นรูปหล่อแบบเป็นชิ้นงานได้ง่าย สามารถเพิ่มผงสีเพื่อทำให้ใกล้เคียงกับเนื้อเครื่องปั้นดินเผา เป็นวัสดุที่สามารถทำการเคลือบผิวได้ เป็นวัสดุที่มีความสามารถยึดเกาะกับเนื้อภาชนะเครื่องปั้นดินเผา มีความแข็งแรงและความหนาแน่นที่เหมาะสมกับเนื้อเครื่องปั้นดินเผา มีความทนทานและไม่สร้างความเสียหายให้กับภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เป็นวัสดุที่สามารถเอาออกจากวัตถุได้ง่าย มีความปลอดภัยในการใช้งาน หาง่ายและราคาถูก แต่ปูนปลาสเตอร์มีข้อจำกัดในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เช่น ไม่เหมาะที่จะใช้กับเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องเพราะไม่มีแรงยึดเกาะเพียงพอ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผสมสารเติมแต่งเพื่อช่วยในการยึดเกาะ ในบางกรณีไม่สามารถเอาออกจากวัตถุได้สมบูรณ์เมื่อปูนอยู่ตัวเต็มที่ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้พาราลอยด์ บี 72 (Palaroid B-72) หรือ กาวโพลีไวนิลแอซีเตต (PVA) ทาเคลือบพื้นผิวเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการเอาออกจากวัตถุภายหลังได้ ปูนปลาสเตอร์มีระยะเวลาในการทำงานที่สั้น และคุณภาพของน้ำมีผลต่อคุณสมบัติ การใช้ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่มีการตกแต่งผิวจะมีเนื้อพรุนมากและดูดความชื้นได้ดี ความชื้นอาจทำให้เกลือซัลเฟตถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อภาชนะดินเผาที่มีรูพรุน น้ำอาจละลายฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกเข้ามาสะสมในเนื้อปูนได้ กล่าวโดยสรุป ปูนปลาสเตอร์เป็นวัสดุเติมเต็มในงานอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาง่าย ราคาถูก สามารถผสมสารเติมแต่งเพื่อช่วยในการยึดเกาะหรือผสมผงสีและตกแต่งสีทับได้ถ้าต้องการ ขึ้นรูปทรงและตกแต่งได้ง่าย ปัจจุบันมีวัสดุที่ใช้ปูนปลาสเตอร์เป็นส่วนผสมหรือวัสดุเติมเต็มที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก (Calcium - based fillers) ที่พัฒนาเพื่อลดข้อจำกัดของปูนปลาสเตอร์ เช่น Polyfilla (Polycell) เป็นต้น ผู้เขียนทำการศึกษาตัวอย่างเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์เดิมและเก็บรักษาไว้ที่ห้องคลังโบราณวัตถุและห้องปฏิบัติการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญของพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ กล่าวคือเป็นพื้นที่ตั้งของกลุ่มวังจำนวน 5 วัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวังพระราชทานพระเจ้าลูกเธอเรียกรวมกันว่า วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทำการศึกษาประวัติความเป็นมา วิเคราะห์แหล่งที่มาของเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย ศึกษากระบวนการผลิตเครื่องกระเบื้องที่ตกแต่งด้วยการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย ศึกษากระบวนการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา ทดลองวัสดุและวิธีการที่ทดแทนการเขียนตกแต่งลวดลาย ผู้เขียนได้คัดเลือกตัวอย่างเพื่อทดลองวิธีการและวัสดุที่เลียนแบบการผลิตดังเดิมที่เหมาะสม โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกตัวอย่างกลุ่มเครื่องกระเบื้องที่สามารถขึ้นรูปทรงให้ใกล้เคียงรูปทรงเดิมมากที่สุด เครื่องกระเบื้องส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเตาย่อยในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ในราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 25 และส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทยประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และเป็นวัตถุที่พบได้มากในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์วัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ตามหลักการที่เหมาะสม เครื่องกระเบื้องจีนกลุ่มตัวอย่างใช้กระบวนการผลิตด้วยเทคนิคการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย โดยใช้แม่พิมพ์โลหะแกะลวดลายจีนที่เป็นเอกลักษณ์ พิมพ์ลายลงบนกระดาษ แล้วจึงนำกระดาษที่มีลายอยู่มาติดกับภาชนะ ใช้ขั้นตอนเดียวกับเครื่องถ้วยยุโรป เมื่อนำเข้าเตาเผา หมึกที่เหลือจากการเผาไหม้ได้ออกมาเป็นสีน้ำเงินจากปฏิกิริยาของหมึกที่ส่วนผสมของโคบอลต์ออกไซด์รูปที่ 3 ขั้นตอนการอนุรักษ์   ผู้เขียนได้ทดลอง 1) คัดเลือกและทำความสะอาดตัวอย่าง 2) ต่อชิ้นส่วนตัวอย่างที่สามารถนำกลับมาติดได้                    3) ทำการขึ้นแบบส่วนที่สูญหายด้วยขี้ผึ้งสำหรับทันตกรรม ( Dental wax) 4) หล่อแบบด้วยปูนปลาสเตอร์ 5) ติดส่วนที่หล่อแบบเข้ากับตัวอย่าง 6) ตัวอย่างที่พร้อมสำหรับเทคนิคการเลียนแบบการพิมพ์ลาย จากนั้นผู้เขียนนำภาพแบบลายที่หลงเหลือจากตัวอย่างและแบบลายชิ้นสมบูรณ์ที่ได้จากการศึกษาจากแหล่งข้อมูล มาปรับแต่งลายด้วยโปรแกรมแต่งภาพให้ได้ขนาด สัดส่วนและสีใกล้เคียงกับแบบลายบนตัวอย่าง เพื่อเตรียมเลียนแบบการลอกลายลงบนเนื้อปูนปลาสเตอร์ต่อไป ขั้นตอนการปรับแต่งลวดลายด้วยโปรแกรมแต่งภาพ Photoshop โดยมีแนวทางการเลือกลวดลายที่จะมาใช้คือ ลวดลายที่คงเหลืออยู่บนชิ้นตัวอย่างที่มีลายละเอียดเพียงพอ หรือลวดลายตกแต่งจากแหล่งข้อมูลอื่นที่เป็นลายเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน จากนั้นใช้โปรแกรมตัดภาพพื้นหลังออกได้เป็นภาพพื้นหลังแบบโปร่งแสง (transparent background ) จากนั้นปรับขนาดสัดส่วนและสีใกล้เคียงให้กับแบบลายบนชิ้นตัวอย่าง และสลับรูปภาพด้วยคำสั่ง เมนู Edit > Transform > เลือก Flip Horizontal เป็นการสลับ ซ้าย – ขวา ก่อนสั่งพิมพ์ลงบนกระดาษลอกลายต่อไป           กระดาษสาเป็นวัสดุอีกชนิดที่ผู้เขียนเลือกใช้เป็นกระดาษลอกลายในการศึกษา กระดาษสาเป็นกระดาษที่ทำจากเปลือกของต้นปอสา เป็นพืชเส้นใยชนิดหนึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับหม่อนและขนุน มีชื่อเรียกกันหลายชื่อตามท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ปอสา ปอกะสา ภาคใต้ เรียก ปอฝ้าย เป็นต้น เส้นใยปอสาส่วนใหญ่ได้จากเปลือกของลำต้น ใช้เป็นวัตถุดิบคุณภาพดีในการผลิตกระดาษสา เปลือกลำต้นสาที่ผ่านกระบวนการต้มเยื่อแล้วขึ้นแผ่นกระดาษบนตะแกรง นำไปตากให้แห้ง มีลักษณะเป็นแผ่นมีความเหนียวนุ่มไม่ขาดง่าย มีคุณสมบัติดีคือ ทนทานไม่กรอบเปื่อยยุ่ย เก็บรักษาได้นาน ปัจจุบันผลผลิตปอสาส่วนใหญ่ใช้ทำกระดาษด้วยมือ (hand - made paper) และเป็นวัสดุในงานอนุรักษ์ โดยผู้เขียนใช้กระดาษสาเป็นสื่อในการพิมพ์แบบลายที่ได้จากการปรับแต่ง ซึ่งแบบลายที่ได้จะถูกพิมพ์กลับด้านด้วยเครื่องพิมพ์ ตัดส่วนลายที่ต้องการ นำวางทาบลงบนตำแหน่งที่กำหนดไว้ จากนั้นใช้ มีเดียมเจล (Acrylic Gel Medium) เป็นสื่อผสมชนิดเจล ซึ่งใช้ผสมสีเพื่อทำให้เป็นมันเงาและมีความหนืด เหมาะกับงานเทคนิค Mix Media และสามารถใช้งานเหมือนกาว ทาลงบนกระดาษพิมพ์ลายที่ด้านหน้าที่มีหมึกพิมพ์ แล้วนำไปทาบบนลงลงบนเนื้อปูนปลาสเตอร์ ทิ้งไว้จนแห้งสนิท จากนั้นใช้ความชื้นช่วยในการลอกเนื้อเยื่อกระดาษสาออก และเหลือชั้นหมึกพิมพ์บนเนื้อปูนปลาสเตอร์   รูปที่ 4 การทดลองใช้กระดาษและหมึกพิมพ์ต่างชนิดและลอกลายลงบนชิ้นงาน   4. ความเป็นไปได้และข้อเสนอแนะ ผู้เขียนได้นำเทคนิคการตกแต่งแบบดั้งเดิมคือ ใช้กระดาษลอกลายที่ทำจากกระดาษสามาเป็นทางเลือกสำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา มาลอกแบบลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวัตถุในระยะยาว ผลที่ได้วัตถุจะมีลวดลายใกล้เคียงกับภาชนะดั้งเดิมที่ใช้วิธีการพิมพ์ลาย วิธีการนี้ยังไม่เคยนำมาใช้กับการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายที่พบในประเทศไทย วิธีการเลียนแบบการพิมพ์ลายนี้จะช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ ไม่ต้องอาศัยทักษะทางศิลปะขั้นสูง ช่วยในการศึกษาลักษณะที่สมบูรณ์และในการจัดนิทรรศการ หรือแม้แต่เพื่อการผลิตของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำวิธีการนี้ไปประยุกต์ใช้กับเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเขียนลายในรูปแบบที่ซ้ำกันอื่นๆ เช่น ภาชนะเขียนลายสีดำใต้เคลือบจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย หรือเครื่องปั้นดินเผาเขียนลายบนเคลือบ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น การอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลายในบทความนี้ เป็นหนึ่งในวิธีการที่เป็นทางเลือกสำหรับการตกแต่งลวดลายเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการทดสอบและดำเนินการวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับอิทธิพลของอุณหภูมิและความชื้นที่มีต่อชิ้นงาน การทดลองกับวัสดุกระดาษประเภทอื่น เช่น กระดาษฟอกสีที่ใช้ในงานพิมพ์ทั่วไป กระดาษไข กระดาษสติ๊กเกอร์ที่ใช้ในการลอกลายโดยเฉพาะ รวมถึงกระดาษลอกลายที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกส์ปัจจุบัน รวมถึงการตรวจสอบการเสื่อมสภาพในระยะยาวของหมึก สีที่ใช้ในการพิมพ์ ประเภทของหมึกและเครื่องพิมพ์ เป็นต้น ผู้เขียนได้รวบรวมและเปรียบเทียบเทคนิคการอนุรักษ์ภาชนะดินเผาในขั้นตอนตกแต่งลวดลาย Retouching ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกใช้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการในขั้นตอนนี้ย่อมต้องผ่านการตกลงร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ว่าต้องการผลสุดท้ายที่ขั้นตอนใด เนื่องจากการตกแต่งลวดลายเป็นกระบวนการที่ทำการเปลี่ยนแปลงสภาพของวัตถุ วิธีการที่ผู้เขียนนำเสนอเป็นวิธีการที่สามารถทำซ้ำได้ง่ายและทำให้ย้อนกลับได้ (reversible) ในกรณีที่วัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือเมื่อเกิดความเสียหายกับวัสดุที่นำมาใช้ และในอนาคตอาจมีวิธีการที่เหมาะสมสะดวกรวดเร็วกว่า   ตารางที่ 1 เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของเทคนิคการอนุรักษ์ภาชนะดินเผาในขั้นตอนสุดท้าย เทคนิค ข้อดี ข้อด้อย เติมวัสดุทดแทน ไม่ลงสี ทำงานง่าย รวดเร็ว ไม่กลมกลืน ไม่สวยงาม ตกแต่งสีพื้นเลียนแบบของเดิม ดูกลมกลืน ไม่มีรายละเอียด ตกแต่งสีพื้นและเขียนลายแบบของเดิม กลมกลืน มีรายละเอียด ใช้เวลา และทักษะทางศิลปะ ตกแต่งสีพื้นและลอกลายแบบของเดิม ค่อนข้างกลมกลืน ประหยัดเวลา ใช้ทักษะทางการตกแต่งภาพ   เอกสารอ้างอิง จิราภรณ์ อรัณยะนาค. (2558). การดูแลรักษาวัตถุพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ———. (2559). การทำความสะอาดวัตถุพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. บุรินทร์ สิงห์โตอาจ. (2556). คู่มือพิชิตองค์ความรู้ "เครื่องปั้นดินเผา". กรุงเทพ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ปรีดา พิมพ์ขาวขำ. (2547). เซรามิกส์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วันชัย เพี้ยมแตง. (2547). การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาด้วยรูปลอกเซรามิก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. สันติ พงษ์พรต. (2562). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปูนปลาสเตอร์. เข้าถึงได้จาก e-Learning มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์: http://elearning.nsru.ac .th/web_elearning/ceramic/lesson1.php อายุวัฒน์ สว่างผล. (2543). วัตถุดิบที่ใช้แพร่หลายในงานเซรามิกส์ (Raw Materials of Ceramics). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.   Acton, Lesley. and McAuley, Paul. (2003). Repairing pottery and porcelain: a practical guide. Second Edition . London: Lyons & Burford. Atkinson, .Josephine. (2009). Practical Conservation: Our guide to caring for your treasures. Kuala Lumpur: Islamic Arts Museum Malaysia. Buys, Susan. and Oakley, Victoria. (2014). The Conservation and Restoration of Ceramics. London: Routledge. Byrne, Gregory S. (1995). Compensating for losses in design with decals. Objects Specialty Group Postprints, Volume Three, 1995, 86-93. Caple, Chris. (2012). Conservation Skills: Judgement, Method and Decision Making. London: Routledge. Geschke, Rainer. (2004). Ceramic gap-fills for ceramic restoration. The Conservator, 74-83. ICOM-CC. (2015). Terminology to characterize the conservation of tangible cultural heritage. เข้าถึงได้จาก icom-cc.org: http://www.icom-cc.org /242/about/terminology-for-conservation/#.XfUmNmQzZhE Oliveira, Tiago. (2015). Stick it on! Temporary Transfer Papers as Retouching Media for Ceramics Conservation. e-conservation Journal 3. Sokha, Tep. (2011). Conservation of Ceramics from Phnom Borei Burials. GLASS & CERAMICS CONSERVATION Williams, Nigel. (2002). Porcelain Repair and Restoration: A Handbook. London: British Museum Press.   [1]บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) [2] หลักสูตรอนุรักษ์ศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร E-mail: burinsingtoaj@gmail.com

ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม: ประวัติศาสตร์(ที่อยาก)บอกเล่า

01 พฤษภาคม 2557

หากพูดถึงข้าวของที่หลายๆ วัดเก็บดูแลรักษา และเก็บสะสมทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจที่จะเก็บ อาจมีรายชื่อของผ้าห่อคัมภีร์อยู่ใน ลำดับต้นๆ ประโยชน์ใช้สอยของผ้าห่อคัมภีร์ก็ตรงตามชื่อ คือเป็นผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ และหนังสือธรรม เพื่อปกป้องพระธรรมคำสอนตามพระพุทธศาสนา ที่บันทึกอยู่บนเนื้อวัสดุที่บอบบางไม่ให้เกิดริ้วรอยความเสียหาย  วัสดุที่ใช้ทำผ้าห่อคัมภีร์นั้นมีหลากหลาย แตกต่างกันทั้งฐานะของผู้สร้าง พื้นที่  และยุคสมัย ในสมัยที่การพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย คัมภีร์ใบลานมีบทบาทมากในการเผยแผ่พุทธศาสนา ผู้ชายสามารถบวชเรียนได้ มีโอกาสอุทิศตนตามหลักศาสนา ส่วนผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญที่จะทำนุบำรุงศาสนาในทุกๆ ด้าน เช่น การเป็นโยมอุปปัฏฐายิกา  การทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ  การสร้างศาสนสถาน-วัตถุ ฯลฯ  การทำผ้าห่อคัมภีร์ก็เป็นโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ด้วยการอุทิศแรงกายและความตั้งใจจริงในการถักทอ และตัดเย็บผ้าห่อคัมภีร์ให้เป็นเครื่องปกป้องพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา นอกจากคุณค่าทางด้านพุทธศาสนาแล้ว ผ้าห่อคัมภีร์ยังสะท้อนให้เห็นศรัทธาความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คน โครงการอบรม/สร้างเวทีเพื่อสร้างพลังท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พ.ศ. 2554 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม และชาวบ้าน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี  ในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ และได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากอาจารย์ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าซึ่งศึกษาผ้ามาเป็นเวลากว่า 20 ปี มาร่วมกันรื้อค้น สำรวจ และบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม  ขณะเดียวกันอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และชาวชุมชนวัดคงคารามเกี่ยวกับผ้าชนิดต่างๆ (ที่เราแทบจะไม่มีความรู้ด้านนี้เลย) เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ ความสำคัญ และคุณค่าที่แฝงอยู่เบื้องหลังของผ้า  ผ้ากว่า 200 ผืนที่เราแก้ห่อออกมา จึงไม่ได้มีเพียงร่องรอยความชำรุดความเก่าคร่ำที่ปรากฏให้เห็นบนผืนผ้าแต่แฝงให้เห็นร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชุมชนที่สัมพันธ์กับบ้านเมือง รอบข้าง และพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ผ้าห่อคัมภีร์ที่พบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม มีมากมายหลายชนิด และมีแหล่งผลิตจากหลายประเทศ เรียกได้ว่าเป็นผ้านานาชาติ แต่ที่มีจำนวนมากที่สุด คือผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากประเทศอินเดีย รองลงมาคือผ้าพิมพ์จากญี่ปุ่น ผ้าพื้นเมือง ผ้าจากยุโรป อินโดนีเซียและจีน มีทั้งแบบมีโครงไม้ไผ่และแบบที่ไม่มีโครงไม้ไผ่ ผ้าแบบที่มีโครงไม้ไผ่นี้เป็นผ้าที่ทำขึ้นสำหรับใช้ห่อคัมภีร์โดยเฉพาะ โครงไม้ไผ่จะช่วยรับน้ำหนักคัมภีร์ที่มีน้ำหนักมากได้  อาจารย์ประภัสสร บรรยายให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของผ้านานานาชนิด ที่น่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกับผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม ให้กับทีมพิพิธภัณฑ์และชาวชุมชนวัดคงคารามว่า  วัดคงคารามมีผ้าที่ในอดีตถือว่าเป็นผ้าชั้นสูงอยู่จำนวนมาก  ซึ่งผ้าชั้นสูง ผ้าชั้นดีแบบนี้พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานให้เท่านั้น  เพราะข้าราชการสมัยก่อนไม่ได้รับเงินเดือนประจำ ดังนั้นค่าตอบแทนความดีความชอบ จึงเป็นผ้าบ้าง ของใช้มีค่าบ้าง มีหลักฐานว่ามีการให้ผ้าลักษณะพิเศษที่ใช้เฉพาะราชสำนักและจะพระราชทานให้เป็นค่าเบี้ยหวัดข้าราชการเท่านั้น เช่น ผ้าสมปัก   ผ้าสมปักเป็นเครื่องแบบของข้าราชการไทยสมัยก่อน คำว่าสมปักเป็นมาจากคำว่าสมพจ (ภาษาเขมร แปลว่าผ้านุ่ง) มี 2 ชนิดคือ สมปักปูม และสมปักลาย สมปักปูม เป็นผ้าไหมทอแบบมัดหมี่ สมปักลายเป็นผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากอินเดีย ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามก็พบผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะสมปักปูม หรือเรียกสั้นๆ ว่าผ้าปูม ผ้าปูมที่พบในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามมีหลายสี ทั้งสีม่วง สีแดง-ชมพู และสีเขียวส่วนผ้าสมปักลาย กษัตริย์จะพระราชทานให้กับข้าราชการสำหรับนุ่งเข้าเฝ้า ในจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วิหาร รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม มักจะมีภาพของลูกน้อง/ข้ารับใช้ ยื่นผ้าให้เจ้านายเพื่อเปลี่ยนก่อนเข้าเฝ้า ซึ่งในสมัย ร.4  เริ่มมีประกาศให้ข้าราชการนุ่งเสื้อเข้าเฝ้าแล้ว   ผ้าลายจากอินเดียเป็นที่นิยมมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5  ผ้าแบบนี้ไม่ค่อยซักกันบ่อย เพราะค่อนข้างมีราคาจึงจะนุ่งเฉพาะตอนเข้าเฝ้าเท่านั้น พอออกมาก็เปลี่ยนเป็นผ้าธรรมดา  ผ้าสมปักบางผืนมีเชิงหลายชั้นส่วนใหญ่ผู้นุ่งคือผู้ชายและเป็นข้าราชการ ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าเชิงเดียว จึงมีคนพูดกันว่าผู้ชายมีชั้นเชิงมากกว่าผู้หญิง  ผ้าลายของผู้หญิงจะดอกเล็ก ถ้ามีหลายเชิงก็จะใช้นุ่งในโอกาสสำคัญ ในสมัยรัชกาลที่ 5 กฎระเบียบเรื่องการใช้ผ้าของราชสำนักก็เริ่มลดลง ผ้าลายจึงเริ่มออกจากราชสำนักสู่สามัญชน โดยเฉพาะสมัย ร. 6 นิยมแต่งกายแบบฝรั่ง นุ่งซิ่น สำหรับการทำผ้าลายมีหลักฐานว่าไทยออกแบบลวดลายแล้วส่งไปให้ประเทศอินเดียผลิตเรียกว่าผ้าลายอย่าง (มาจากผ้าลายอย่างไทย)  บริษัทที่ส่งผ้าเข้ามาขาย เช่น มัสกาตี ที่วัดคงคารามยังพบหลักฐานสำคัญของผ้าจากอินเดีย คือผ้าที่ใช้ห่อผ้าจากอินเดียมาขาย เป็นผ้าฝ้ายสีแดงเนื้อหยาบ พิมพ์อักษรสีดำเป็นภาษาอินเดีย  ซึ่งอาจารย์ประภัสสรดั้นด้นไปให้เจ้าของวัฒนธรรมอ่านได้ว่า "ผ้าลายมัสกาตี" ปัจจุบันบริษัทนี้เลิกนำผ้าอินเดียเข้ามาขายแล้วตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไทยจึงผลิตผ้าลายไทยขึ้นใช้ ผ้าลายอินเดียก็เลยหมดไป ผ้าอินเดียเข้ามาได้อย่างไร และกระจายตัวมาตามหมู่บ้านได้อย่างไร อ.ประภัสสรสันนิษฐานว่า อาจมาตามตลาดใหญ่ๆก่อน  แล้วแพร่จากตลาดไปยังชุมชน โดยแขกและคนจีนจะหาบผ้ามาขายตามบ้าน  สมัยรัชกาลที่ 4 ไทยส่งข้าวเป็นสินค้าออก ช่วงนั้นคนหันไปปลูกข้าว และทอผ้าน้อยลง ผ้าตลาด และผ้าอินเดีย จึงเข้ามาตีตลาด และมีหลักฐานว่ามีการนำข้าวไปแลกกับผ้าด้วย การพบผ้าชั้นสูงที่เป็นผ้าของระดับเจ้าพระยาจำนวนมากที่วัดคงคาราม อาจเป็นเพราะบริเวณบ้านคงคารามเป็นศูนย์กลางชุมชนเดิมที่มีคนมอญเป็นข้าราชการอยู่มาก ซึ่งตอนหลังทายาทคงมอบให้กับทางวัด ซึ่งทางวัดนำมาใช้เป็นผ้าห่อคัมภีร์ จากการสำรวจผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์พบว่า ผ้าบางผืนเป็นผ้านุ่งที่มีขนาดยาวมาก แต่ยาวเกินไปสำหรับห่อคัมภีร์ก็มีการตัดแบ่ง ซึ่งสามารถนำมาต่อกันได้  บางผืนเป็นเสื้อ  ผ้าบางผืนมีการซ่อมแซมรอยชำรุดรอยขาดก่อนที่จะนำมาถวายวัด   คุณภุชงค์ ยกกระบัด ชาวชุมชนวัดคงคาราม เล่าให้ฟังว่า ท่านได้มอบผ้าของบรรพบุรุษให้กับพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ผ้านี้เมื่อก่อนเป็นของ.... ได้จากการทำค้าขายกับคนมอญแถบเมืองสังขละบุรี เมื่อ....เสียชีวิต ก็นำมามอบให้พิพิธภัณฑ์   ผ้าห่อคัมภีร์จากผ้าพื้นเมืองพื้นบ้าน  นอกจากผ้าต่างประเทศแล้ว ยังพบผ้าห่อคัมภีร์แบบมอญโบราณ คือจะมีแกนไม้ไผ่อยู่ด้านในแล้วถักทอด้วยเส้นด้ายเป็นลวดลายต่างๆ  ผ้าแบบนี้พบนอกจากจะพบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามลัว ยังพบที่บ้านม่วง เป็นชุมชนชาวมอญใน อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลุ่มคนยองทางภาคเหนือ และในพม่า ส่วนผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ผ้าลายตาราง   พบเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่ใช้เป็นผ้าห่อจริงกับผ้าที่ใช้เป็นผ้าดามพื้นหลังเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผ้าห่อคัมภีร์ มีทั้งทำจากผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ผ้าโสร่งไหมอาจไม่ใช่ของชาวมอญ  เพราะที่นี่ไม่เลี้ยงไหม แต่อาจมาจากภาคอีสานโดยมีผู้ซื้อมาถวาย หรือมีคนอีสานเข้ามาขายผ้าแถบนี้ เพราะในสมัยก่อนเมื่อหมดฤดูทำนา คนจากภาคอีสาน เช่นจากปักธงชัย โคราช จะหาบผ้ามาขาย  ผ้าแบบนี้มีลักษณะเหมือนสไบ หน้าแคบมีลายขวาง ซึ่งพบที่เดียวคือที่วัดคงคาราม          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอินเดียก็ไม่ส่งผ้ามาขายแล้ว แต่มีผ้าลายจากญี่ปุ่นและยุโรป ที่ผลิตจากโรงงานด้วยวิธีใช้แม่พิมพ์แบบลูกกลิ้งพิมพ์ลาย ซึ่งผลิตได้ง่ายและราคาถูกกว่า ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามเราพบผ้าห่อคัมภีร์ที่น่าจะเป็นผ้าจากญี่ปุ่นจำนวนมาก ผ้าญี่ปุ่นจะเป็นลายเล็กๆ น่ารัก บางทีก็ลอกเลียนแบบลายของอินเดีย ผ้าเหล่านี้บ้างก็ใช้เป็นผ้ารองด้านใน  บ้างก็เย็บเป็นผ้าสำหรับห่อคัมภีร์โดยตรง และบางผืนก็มีลักษณะคล้ายกับผ้าห่อกล่องข้าวแบบญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนญี่ปุ่นได้มาเปิดร้านขายผ้าในจังหวัดกาญจนบุรีและในพื้นที่จ.ราชบุรี ซึ่งทั้งอำเภอโพธาราม และอำเภอบ้านโป่ง ก็เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณยายฉลาด ชาวชุมชนวัดคงคาราม เล่าว่าในสมัยที่คุณยายยังเด็ก เคยเห็นทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านบริเวณนี้ด้วย   นอกจากการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องผ้าชนิดต่างๆ ให้กับชาวชุมชนแล้ว ศูนย์ฯ และชาวชุมชน ยังได้ร่วมกันอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์เพื่อยืดอายุของผ้าในฐานะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางด้านศิลปะและพลังศรัทธาของชุมชน อาจารย์ประภัสสรได้เสริมความรู้และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ผ้าอย่างง่ายให้กับชาวบ้าน ทั้งการเก็บรักษาผ้าให้คงสภาพดีด้วยวิธีการม้วนผ้ากับแกนเพื่อไม่ให้เส้นใยผ้าหักงอ การจัดแสดงผ้าด้วยการตรึงผ้ากับกรอบไม้ และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผืนผ้าด้วยการทำผ้าดามหลัง รวมทั้งการซ่อมแซมผ้าซึ่งมีทั้งวิธีการตามหลักการอนุรักษ์ และวิธีแบบพื้นบ้านผสมผสานกัน โดยได้ความร่วมมือร่วมใจจากลุงป้าน้าอาชาวคงคาราม และพระวัดคงคาราม มาช่วยกันอย่างแข็งขัน กิจกรรมอนุรักษ์ผ้าวัดคงคาราม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องผ้าให้กับชาวชุมชนเพื่อให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ให้คงอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น การสร้างโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ การดูแลรักษาข้าวของในพิพิธภัณฑ์ ยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่าง พิพิธภัณฑ์ วัด และชุมชนมากขึ้น นับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์กับชุมชนเกิดการเรียนรู้และได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ และจะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ ชุมชน รวมถึงหน่วยงานทั้งในและนอกชุมชนในรูปแบบต่างๆ ในอนาคต   อ้างอิง: เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่องผ้า โดยประภัสสร โพธิศรีทอง ในกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ณ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี  และการเก็บข้อมูลในชุมชน โครงการอบรม/ สร้างเวทีเพือสร้างพลังชุมชนท้องถินและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ชุมชนวัดคงคาราม จ.ราชบุรี พ.ศ.2554.

มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน

09 พฤษภาคม 2556

มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานอาจเรียกได้ว่าเป็นงานมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ หรือมานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑ์ แต่ละชื่อเรียกมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกัน และมาจากความแตกต่างของทฤษฎีและการปฏิบัติ   นานมาแล้วที่มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานหมายถึงนักมานุษยวิทยาที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาย่อยของมานุษยวิทยา อันได้แก่ นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (นักชาติพันธุ์วิทยาและนักชาติพันธุ์วรรณา) นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยากายภาพ และนักภาษาศาสตร์ บุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา   วัฒนธรรมวัตถุเป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่ว่าจะเรียกว่า "ศิลปะวัตถุ" หรือ "วัตถุ" โดยทั่วไป ทั้งสองคำย่อมสื่อถึงความหมายว่า เป็นสิ่งของที่ประดิษฐ์หรือใช้โดยมนุษย์ และแสดงออกถึงความหมายและการใช้ประโยชน์เช่นไร กระแสการศึกษาในปัจจุบันคือ การตรวจสอบว่าวัตถุเหล่านั้นนำเสนอวัฒนธรรมอย่างไร ในต้นทศวรรษ 1970 นักวิชาการในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยพยายามคิดค้นทฤษฎีและวิธีการวิเคราะห์ที่อธิบายการสื่อความหมายของวัฒนธรรม (วัตถุและการตีความที่เกี่ยวข้อง) จุดนี้เองเป็นแนวทางการศึกษาที่แตกต่างจากงานที่นักมานุษยวิทยาปฏิบัติกันมาในพิพิธภัณฑ์ ในช่วงทศวรรษ 1980 การศึกษายิ่งแตกต่างมากขึ้น รวมทั้งความสนใจที่มีต่อกลุ่มผู้ชมของพิพิธภัณฑ์เป็นประเด็นการศึกษาเช่นกัน   การประชุมเพื่ออภิปรายในประเด็นดังกล่าวจัดขึ้นโดยสภาการมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน (the Council for Museum Anthropology - CMA) พร้อมการจัดนิทรรศการที่เนื้อหาบางส่วนมาจากวารสาร American Anthropologists การประชุมดังกล่าวนำเสนอข้อมูลใหม่ๆในการทำความเข้าใจกับมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ และมานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑสถาน อย่างไรก็ดี สมาคมการพิพิธภัณฑ์อเมริกาสนใจต่อประเด็นดังกล่าวตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970   มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีลักษณะการพัฒนาคู่ขนานกัน อย่างไรก็ดี งานพิพิธภัณฑ์ของทั้งสองทวีปขยายตัวสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาของกระแสลัทธิทุนนิยมและการล่าอาณานิคม ด้วยสภาวการ์ณเช่นนี้จึงนำไปสู่การวิพากษ์พิพิธภัณฑ์และมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน ภายใต้แนวคิด "การแก้ไขข้อผิดพลาดทางการเมือง" ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา อันถือว่าเป็นการตอบโต้แนวคิดชาติพันธุ์นิยมและลัทธิการล่าเมืองขึ้น   พิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมที่ได้รับการจัดตั้งในประเทศที่สถาปนาขึ้นใหม่ พิพิธภัณฑ์ในประเทศเหล่านั้นได้สร้างนิยามและความหมายของงานพิพิธภัณฑ์ในบริบทของตนเอง นอกจากนี้ยังเปิดมิติการทำงานพิพิธภัณฑ์ไปสู่เรื่องของสาธารณสุขเฉกเช่นเดียวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มรดกจึงกลายเป็นเครื่องหลอมรวมความรู้สึก อัตลักษณ์กลุ่ม และความเป็นชาติที่นอกเหนือไปจากความต้องการใหม่ๆ บ้างประดิษฐ์ธรรมเนียมประเพณี บ้างรวบรวมเรื่องเล่าและเสียงผู้คนไว้ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์   การวิพากษ์งานพิพิธภัณฑ์เป็นข้อที่สร้างความตระหนักประเด็นการเมืองร่วมสมัย ทั้งการแบ่งแยกดินแดนของชุมชนชาติพันธุ์ การสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มชนดั้งเดิมของอเมริกา เช่นข้อกฎหมาย NAGPRA - Native American Grave Protection and Repatriation Act ในปี 1990 George H.J. Abrams ได้ทำการศึกษากรณีการส่งวัตถุแทนเงินของอินเดียนในอเมริกาเหนือจากพิพิธภัณฑ์อินเดียนในกรุงนิวยอร์ก กลับคืนให้แก่กลุ่มสมาพันธ์หกชาติ (Six Nations Confederacy) ใน Brantford Ontario Canada หรือกรณีการส่งวัตถุคืนถิ่นข้ามประเทศในแอฟริกาโดย Ekpo Eyo ตามสนธิสัญญายูเนสโกฉบับเดิม (1970) ทั้งสองกรณีนำเราไปสู่ข้อสรุปที่ว่าการแก้ปัญหาไม่ควรจะคำนึงเฉพาะข้อกฎหมาย แต่ต้องพิจารณาเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม   การส่งวัตถุคืนถิ่นยังเป็นประเด็นการถกเถียงต่อไป W. Richard West, Jr. (1990) ในฐานะผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อเมริกันอินเดียน วอชิงตัน ดี.ซี. วางนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง William C. Sturtevant ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสมิธโซเนียน นิยามปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นการหลุดพ้นจาก "หลักปรัชญาพิพิธภัณฑ์ การจัดการวัตถุ และการบริหารที่เคยยอมรับกัน" และนำไปสู่ข้อนิยามใหม่   ประวัติพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (ธรรมชาติวิทยา)   สมาคมและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแรกๆ ที่จัดตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วย Charleston Museum ใน South Calorina (1783) Peale’s Museum ใน Philadelphia (1785) และ East India Marine Society ซึ่งในปัจจุบันคือ Peabody Museum of Salem (1799) จากนั้น พิพิธภัณฑ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี งานพิพิธภัณฑ์ในยุโรปขยายตัวและพัฒนาก่อนหน้านั้นมาก ในประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแรก หรือ Ashmolean Museum ตั้งขึ้นในปี 1683 ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอรด์ ห้องสมุดและวัตถุสะสมหลายประเภทที่เป็นของราชบัณฑิตนักฟิสิกส์และนักธรรมชาติวิทยา เซอร์ ฮานส์ ซโลแอน (Sir Hans Sloane) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นกำเนิดของ บริติช มิวเซียม (1753) และก่อนหน้านั้น งานสะสมและ "ห้องแห่งความอยากรู้อยากเห็น" (cabinet of curiosities) ของนักวิชาการมือสมัครเล่นและพวกมนุษย์นิยมในศตวรรษที่ 15 อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นงานพิพิธภัณฑสถาน   พิพิธภัณฑ์เคยเป็นผลผลิตของการหาความรู้และข้อมูล เนื่องจากการสำรวจ การค้า การประดิษฐ์คิดค้น การพิมพ์ ของศตวรรษที่ 15 และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในยุโรป รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคมบางแห่งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกา งานมานุษยวิทยาและโบราณคดีในงานพิพิธภัณฑ์ของทั้งสองทวีปสามารถอ่านได้จากรายงานและสิ่งพิมพ์ของสถาบันต่างๆ ในอเมริกา เช่น Bureau of Ethnology, the Smithsonian Institution, the American Museum of Natural History, the Peabody Museum of Salem, the Peabody Museum at Harvard University, the University of Pennsylvania Museum, the Academy of Natural Sciences of Philadelphia, the Brooklyn Museum และสถาบันอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากในทวีปอเมริกาและยุโรป   George W. Stocking, Jr. (1985) เสนอข้อมูลความเป็นมาของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน และยังแสดงให้เห็นความสำคัญ รวมทั้งตั้งคำถามสำหรับอนาคต จากปี 1980 งานศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ งานสะสม นักสะสม งานจัดแสดงระดับนานาชาติ และเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุ โดยนักมานุษยวิทยา นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ มีจำนวนมากขึ้น และนำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และการจัดแสดงอย่างจริงจัง รวมทั้งยังสร้างความสนใจใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับวัตถุ ให้แก่นักมานุษยวิทยา (Appadurai 1986)   งานเขียนของ Susan Pearce (1989) แสดงให้เห็นถึงประวัติของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน โบราณคดีพิพิธภัณฑสถาน (Museum Archaeology) ในประเทศอังกฤษ และขบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกิดขึ้นบนทวีปทั้งสองแห่งของมหาสมุทรแอตแลนติค นอกจากนี้ งานศึกษาของ Ian Hodder, Christopher Tilley, Michael Shanks และนักโบราณคดีคนอื่นๆ เพิ่มความตระหนักว่า นักโบราณคดีและมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานควรแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างมหาวิทยาลัย และ สาธารณชนทั่วไป เพื่อการสนับสนุนทางวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อนึ่ง ในการจัดประชุมประจำปีครั้งที่ 59 ของสมาคมโบราณคดีอเมริกา The Plenary Session of the American Society for Conservation Archaeology (1994) เน้นถึงการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเป็นเส้นทางที่มองไปสู่อนาคตร่วมกัน   ประเด็นวิจารณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน กลายเป็นแนวทางการศึกษาของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน และปรากฎงานวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรมในปี 1991 ในหนังสือ "จัดแสดงวัฒนธรรม" (Exhibiting Cultures) บรรณาธิการโดย Ivan Karp และ S. D. Lavine ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่วัตถุเป็นแก่นแกนของงานศึกษาของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกมาช้านาน ตอนนี้ทั้งนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ นักรัฐศาสตร์ และผู้สนใจจากสาขาอื่นๆ ให้ความสนใจกับการศึกษาวัตถุเช่นกัน Eilean Hooper-Greenhill ศึกษาธรรมชาติของนิทรรศการและการสื่อสารร่วมกับผู้เขียนบทความ 25 คนในหนังสือ พิพิธภัณฑสถาน สื่อ สาร (Museum, Media, Message - 1994)   Anna Laura Jones ได้แสดงข้อคิดเห็นของเธอในงานเขียน "กัมปนาทปืนใหญ่: มานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑสถาน" (Exploding Canons: The Anthropology of Museums) ในวารสาร Annual Review of Anthropology (1993) เป็นการวิเคราะห์ข้อวิพากษ์วิจารณ์และการถกเถียงเกี่ยวกับมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดแสดงวัตถุ Jones ได้ศึกษามานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานอย่างเป็นศาสตร์เฉพาะ และอภิปรายการจัดแสดงศิลปะและวัตถุวัฒนธรรมของสังคมที่มิใช่ตะวันตกในพิพิธภัณฑสถาน ประเด็นการวิจารณ์ยังเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและความชอบธรรมของมานุษยวิทยาและผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ ในฐานะผู้ตีความวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑสถานและในสายงานวิชาการ   Jones ได้กะเทาะปัญหาการยึดติดกับการตีความจากรูปทรงภายนอก (formalism’s persistence in interpretation) และชี้ให้เห็นปัญหาของการปฏิบัติต่อวัตถุที่ซับซ้อนอย่างง่ายๆ ในนิทรรศการ โดยเลือกงานของ Susan Vogel, Center for African Art (ปัจจุบันคือ the Museum for African Art) เป็นตัวอย่าง เธอกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการวิเคราะห์ของสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ทั้งนั้น วัตถุประสงค์ของเธอคือ การสร้างความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ควรเกิดขึ้นกับมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในแคนนาดา และหลายประเทศในยุโรป ได้ตระหนักถึงผลพวงที่เกิดขึ้นในมุมมองเกี่ยวกับประเทศอาณานิคม สำนึกชาติพันธุ์ และ ชนชั้น   Michael Amies ในบทความ "ทวิวัฒนธรรมนิยมในนิทรรศการ" (Biculturalism in Exhibitions in Museum Anthropology - May 1991) ได้ทดลองวิเคราะห์นิทรรศการในประเทศแคนนาดาโดยใช้มุมมองมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน เขาพยายามนำเสนอความคิดต่างๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของความหลากหลายในโลกปัจจุบัน และย้ำถึงความร่วมมือเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอันเกิดจากสิ่งที่นำเสนอ (representing) และสิ่งที่ถูกนำเสนอ (represented) Aimes ขยายความคิดของสิ่งที่เขาเรียกว่า "การขโมยเสียง" (theft of voice) ของนักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์ศิลปะ Aimes ยังชี้ให้เห็นประเด็นการเมืองในการเรียกร้องดินแดนกับรัฐบาลแคนานาดา และเชื่อมโยงกับเวลาที่ใช้ในการจัดนิทรรศการ ซึ่งตรงกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว ที่ Glenbow Museum ใน Calgary   เฉกเช่นเดียวกับนิทรรศการเรื่อง "สู่ใจกลางแอฟริกา" ของ the Royal Ontario Museum ที่หยิบยกประเด็นประวัติศาสตร์การล่าเมืองขึ้นของแคนนาดา นิทรรศการนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย ในกลุ่มบางกลุ่มของชุมชนแอโฟร-แคนานดา และนักวิชาการบางคน คำอธิบายของภัณฑารักษ์ว่า ใคร อะไร อย่างไร เกี่ยวกับนิทรรศการ กลายเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับการศึกษามานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานร่วมสมัย   การวิเคราะห์พิพิธภัณฑ์ในเชิงวิชาการและทั่วไป เป็นทั้งบทสะท้อนและความตระหนักต่อผลกระทบของประวัติศาสตร์ความคิด ต่อการศึกษาข้ามสาขาวิทยาการ และต่อการรับรู้สาธารณะ นอกจากนี้ ยังเป็นเสียงที่เรียกร้องให้พึงระวังการนำเสนอวัฒนธรรมที่บอกเล่าโดย "ผู้อื่น"   ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อีกประการคือ ผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และบุกเบิกการศึกษาวัฒนธรรมวัตถุ และวิธีวิทยาต่างๆ การศึกษาในประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์มานุษยวิทยา อย่างในกรณี Margot Blum Schevill ที่ทำการศึกษาชีวิตและผลงานของ Lila M. O’Neale ในบทความที่ลงใน Museum Anthropology (มิถุนายน 1993) หรือบทความต่างๆ ของ Kroeber Anthropological Society, University of California at Berkeley (1986) และในบางบทตอนของหนังสือ The Early Years of Native American Art History: the Politics of Scholarship and Collecting, บรรณาธิการโดย J.C. Berlo (1992)   นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างงานวิชาการที่ว่าด้วยชีวประวัติของ Isabell Kelly เขียนโดย Grace W. Buzalijko ใน Museum Anthropology (มิถุนายน 1993) งานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมวัตถุในพิพิธภัณฑสถาน และกลายเป็นสนามการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ขยายตัวมากขึ้นในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 การวิเคราะห์ยังสร้างความตระหนักในบทบาทของเพศสภาวะในสายงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานในช่วงเริ่มแรกเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่ายินดีคือ เรื่องราวของผู้หญิงที่ได้รับการมองข้ามในงานพิพิธภัณฑ์กลับได้รับการศึกษา (Babcock and Parezo 1988) และบอกเล่าชีวประวัติ (Glaser and Zenetou 1994)   ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองเป็นเชื้อไฟให้เกิดการทบทวนบทบาทของนักมานุษยวิทยา และการนำเสนอภาพแทนของ "ผู้อื่น" ที่หลากหลายในพิพิธภัณฑ์ (ทั้งประเด็นเชื้อชาติ ชนชั้น สำนึกชาติพันธุ์ กลุ่ม และเพศสภาวะ) แนวการศึกษาที่กล่าวมานี้ ยังผลให้มานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑสถาน และทฤษฎีเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถานในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมที่เติบโตในสังคมตะวันตกมีความตื่นตัวมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ศึกษาและพิพิธภัณฑ์วิทยากลายมาเป็นสาขาวิชาใหม่ หรือเป็นสาขาวิชาย่อยของสังคมศาสตร์ และ/หรือ มนุษยศาสตร์ เฉกเช่น มานุษยวิทยา (พิพิธภัณฑสถาน) สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะ และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสาขาวิชา อย่างที่ปรากฎในมหาวิทยาลัยและพิพิธภัณฑ์ (Kaplan 1992)   แปลและเรียบเรียงจาก Kaplan, Flora Edouwaye S. "Museum Anthropology", in David Levinson and Melvin Ember. Encyclopedia of Cultural Anthropology.Vol.3 (New York: Henry Helt and Company, 1996), pp. 813 - 816.