การศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย[1]
บุรินทร์ สิงห์โตอาจ [2]
บทคัดย่อ
ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย โดยเฉพาะขั้นตอนการแต่งเติมเขียนลายลงบนเครื่องปั้นดินเผาเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ทักษะทางศิลปะ และการฝึกฝนของนักอนุรักษ์ ผู้เขียนจึงประยุกต์เทคนิคการตกแต่งแบบดั้งเดิมคือ การใช้กระดาษลอกลายมาเป็นทางเลือก สำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับลวดลายบนเครื่องกระเบื้องชิ้นสมบูรณ์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ลวดลายที่ได้จากการศึกษาจะนำมาปรับแต่งสีและขนาดให้ใกล้เคียงกับส่วนที่หายไปของวัตถุโดยใช้โปรแกรมแต่งภาพ จากนั้นนำลายที่พิมพ์ลงบนกระดาษสามาลอกลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไป ซึ่งเป็นวัสดุไม่ส่งผลกระทบต่อวัตถุในระยะยาว ผลปรากฏบนวัตถุจะมีความใกล้เคียงกับภาชนะดั้งเดิม วิธีที่ผู้เขียนนำมาใช้เลียนแบบการพิมพ์ลายนี้จะช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ โดยไม่ต้องอาศัยทักษะทางศิลปะขั้นสูง ช่วยในการศึกษาลักษณะที่สมบูรณ์ และในการจัดนิทรรศการ รวมถึงจับต้องวัตถุเพื่อการเรียนรู้ได้ ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเขียนลายในรูปแบบที่ซ้ำกันได้
คำค้น : การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย
1. บทนำ
เครื่องปั้นดินเผาเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและสุนทรียะ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยกำหนดอายุโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบร่วมกัน เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นวัตถุที่มีการผุพังสูญสลายน้อยมาก เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันสามารถคงสภาพได้ดีกว่าวัตถุที่ทำจากวัสดุอื่น
เครื่องปั้นดินเผาตรงกับคำว่า เซรามิกส์ (Ceramics) หมายถึง วัตถุทุกชนิดที่ทำด้วยดินเหนียวและส่วนผสมอื่น เช่น ทราย แกลบ เป็นต้น มาขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามต้องการ หลังจากนั้นจะนำมาเผาเพื่อให้เกิดความทนทานต่อสภาวะแวดล้อม สังเกตได้จากเครื่องปั้นดินเผาที่พบจากแหล่งขุดค้นโบราณคดีเกือบทุกแห่งยังคงสภาพถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี เครื่องปั้นดินเผาจัดเป็นวัสดุสังเคราะห์ชนิดแรกที่มนุษย์ทำขึ้น เป็นผลจากการค้นพบว่าดินเมื่อได้รับความร้อนจะเปลี่ยนสภาพและมีความแข็งแรงขึ้น (Buys and Oakley, 2014, p.3) ซึ่งการค้นพบว่าดินสามารถใช้ทำสิ่งของเครื่องใช้ได้สามารถย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผายุคเริ่มแรกผ่านกาลเวลาหลายพันปี สะท้อนเรื่องราวของอารยธรรมและสังคมที่ผลิตขึ้น ในหลายส่วนของโลกเทคโนโลยีการผลิตภาชนะดินเผามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ขณะที่ในบางพื้นที่มีพัฒนาการเข้าไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เครื่องปั้นดินเผาจึงจัดเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและสุนทรียะ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยกำหนดอายุโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบร่วมกัน เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นวัตถุที่มีการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติค่อนข้างน้อย และจัดเป็นสิ่งของเครื่องใช้สามัญอย่างหนึ่งที่พบอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ทุกแห่ง เทคโนโลยีของการผลิตและรูปทรงสัณฐานของเครื่องปั้นดินเผา จึงสามารถนำมาใช้เป็นคุณลักษณะพื้นฐานสำหรับการจัดแบ่งยุคสมัยหรือศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี (บุรินทร์ สิงห์โตอาจ, 2556, หน้า 12)
จิราภรณ์ อรัณยะนาค ให้ความเห็นว่าแนวคิดและวิธีการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นที่นิยมในอดีตเน้นกระบวนการหยุดยั้งการเสื่อมสภาพ ซ่อมแซม เสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงโดยใช้วิธีเคมีและวิธีซ่อมเชิงช่างเป็นส่วนใหญ่ ใช้สารเคมีในการทำความสะอาดและเน้นซ่อมแซมต่อเติมส่วนที่ชำรุดหรือทำของใหม่ขึ้นแทนที่ของเดิม โดยขาดการศึกษาวิจัยพิจารณาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพหรือพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและทำโดยบุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ โดยมองข้ามผลเสียในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นและมักไม่มีการประเมินและติดตามผลซึ่งบางครั้งพบว่าก่อให้เกิดความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ ปัจจุบันนี้แนวคิดในการอนุรักษ์ตามหลักสากลจะมุ่งเน้นวิธีการที่ป้องกันการเสื่อมสภาพของวัตถุเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เสมอไป แนวคิดในการอนุรักษ์เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์วิจัยหาเหตุผลที่ทำให้วัตถุเสื่อมสภาพ แล้วใช้ความรู้หลายสาขามาพิจารณาหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา นอกจากนี้นักอนุรักษ์ยังต้องตระหนักถึงขอบเขตศักยภาพ ความรู้ความสามารถ ความถนัดของตนเอง หากสิ่งใดที่ตนเองไม่ถนัดต้องแสวงหาความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นักอนุรักษ์จะใช้สารเคมีก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นและจะใช้อย่างระมัดระวัง มีการศึกษาข้อดีข้อเสียของสารเคมีและวิธีการแต่ละวิธีอย่างละเอียดรอบคอบ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์วิจัยหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุและวิธีการผลิตดั้งเดิม แล้วเลือกใช้วิธีการและเคมีที่สามารถทำให้ย้อนกลับได้ (Reversible) หากยังไม่แน่ใจว่าวิธีการหรือเคมีที่มีอยู่ขณะนี้จะช่วยอนุรักษ์วัตถุที่กำลังเสื่อมสภาพได้หรือไม่จะยังไม่ใช้วิธีการเหล่านั้น แต่จะใช้วิธีการป้องกันหรือชะลอการเสื่อมสภาพแทนเพื่อที่ว่าในอนาคต หากมีการค้นพบวิธีการและเทคโนโลยีที่ดีกว่าจะสามารถใช้วิธีการใหม่ที่ดีกว่าได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อวัสดุเดิม (จิราภรณ์ อรัณยะนาค, 2558, หน้า 8)
ขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในหลักการอนุรักษ์ คุณสมบัติของวัตถุ สาเหตุและกระบวนการชำรุดเสื่อมสภาพ วิธีการอนุรักษ์ วิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการอนุรักษ์จึงมีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาซึ่งประยุกต์ใช้ความรู้หลายสาขา และเนื่องด้วยความรู้ด้านการอนุรักษ์ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและทดลองพบข้อมูลใหม่อยู่ตลอดเวลา วิธีการที่เคยเชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงในอดีตอาจกลายเป็นวิธีการที่เพิ่งค้นพบว่าทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวได้
นักอนุรักษ์จึงต้องศึกษาและเข้าใจวัสดุที่ผลิตและวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์ สาเหตุการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผา และวิธีการป้องกัน การศึกษาในปัจจุบันพบว่ามีหลายกระบวนการที่ส่งผลให้วัสดุเกิดการเสื่อมสภาพ เช่น การดูแลรักษา การจัดเก็บ การจัดแสดง การปฏิบัติการอนุรักษ์ เป็นต้น และเมื่อวัตถุเกิดการเสื่อมสภาพจึงจำเป็นต้องมีวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อหาแนวทางป้องกันและเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพ ซึ่งสาเหตุการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผาใน The Conservation and Restoration of Ceramics (Buys and Oakley, 2014, pp.18-28) ประกอบด้วย การเสื่อมสภาพทางกายภาพ (Physical deterioration) และการเสื่อมสภาพทางเคมี ( Chemical deterioration ) และแบ่งได้ตามปัจจัยสนับสนุนอย่าง ปัจจัยภายในวัสดุและปัจจัยภายนอก อย่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมซึ่งมีได้หลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมสภาพทางกายภาพเนื่องจากการผลิต เครื่องปั้นดินเผามีหลายประเภทและแตกต่างกันในเรื่องอุณหภูมิการเผา ตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินที่เผาอุณหภูมิต่ำ ชนิดเนื้อแกร่ง ไปจนถึงเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องที่เผาอุณหภูมิสูง เครื่องปั้นดินเผามีทั้งแบบเคลือบและแบบไม่เคลือบ องค์ประกอบของเนื้อดินและวิธีการผลิต ซึ่งระดับความเสียหายที่เกิดจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อเครื่องปั้นดินเผาแต่ประเภทแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เครื่องปั้นดินเผาที่เผาไฟอุณหภูมิต่ำจะเสื่อมสภาพได้ง่ายกว่าการเผาในอุณหภูมิที่สูงกว่า สาเหตุประกอบอื่น เช่น วัสดุเนื้อดินที่ไม่บริสุทธิ์ (Compositional defects ) ความผิดพลาดจากการขึ้นรูปทรง (Construction failures ) ความผิดพลาดจากการเผา (Firing flaws) ความผิดพลาดจากการเคลือบ (Glazing errors) ปัจจัยภายในที่มีส่วนต่อการเสื่อมสภาพในตัวเองโดยธรรมชาติจากความไม่เสถียรของวัสดุ และส่วนประกอบของเครื่องปั้นดินเผา สามารถนำไปสู่การเสื่อมสภาพทางกายภาพในตัวเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติภายในตัววัสดุเองจึงเป็นการยากที่จะป้องกัน และการเสื่อมสภาพของวัตถุนี้สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนที่วัตถุนั้นจะถูกใช้งาน ซึ่งจะรวมถึงวัสดุที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ข้อบกพร่องอีกประการมาจากการออกแบบและการผลิตที่ไม่ดี เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่มีหูจับที่บางเกินกว่าที่จะรองรับน้ำหนักของภาชนะได้ ข้อบกพร่องประการสุดท้ายที่จากการผลิต คือ การเผาภาชนะที่ไม่ระมัดระวัง เครื่องปั้นดินเผาที่ถูกเผาเร็วเกินไป หรือปล่อยให้แห้งเร็วเกินไปจะแตกหรือร้าวได้
การเสื่อมสภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสียหายจากน้ำ (Aqueous attack) ความเสียหายจากกรด (Acid attack) ความเสียหายจากด่าง (Alkaline attack) ความเสียหายจากเกลือที่ละลายน้ำได้ (Soluble salts) ความเสียหายจากการฝังดินหรือแช่น้ำ (Encrustations burial or flood) ความเสียหายจากความร้อน (Thermal shock) ความเสียหายจากการกดทับ (Compression damage) ความเสียหายจากฝุ่น (Museum dirt and dust) ความเสียหายจากเชื้อรา (Mold growth) ความเสียหายจากคราบที่เกิดจากไฟ (Fire stains/deposits) เครื่องปั้นดินเผาที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ อาคารประวัติศาสตร์หรือที่อยู่อาศัยทั่วไปจะมีความเสี่ยงมากจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาอ่อนไหวต่อแรงกระแทกทางกล ที่ทำให้เกิดแตกหัก รอยแตกร้าวและบิ่น ส่วนการใช้งานทั่วไปและการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะอาจทำให้เกิดคราบสกปรก หรือร่องรอยบนเครื่องปั้นดินเผา เมื่อเครื่องปั้นดินเผาต้องเผชิญกับภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้จะเกิดความร้อนที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง หรือน้ำท่วมจะทำให้เกิดคราบเปื้อนและความเสียหายทางเคมีอาจเกิดขึ้นได้ เครื่องปั้นดินเผาเมื่อถูกพบร่วมในแหล่งโบราณคดีและถูกนำขึ้นมาสัมผัสกับสภาพแวดล้อมใหม่ทันที อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีซึ่งอาจรุนแรงมากจนทำให้โครงสร้างของเครื่องปั้นดินเผาแตกหักและร่วนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย การเสื่อมสภาพทางเคมียังนำไปสู่ความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับหรือปกปิดได้ เช่น ชั้นเคลือบเปลี่ยนสีหรือเสื่อมสภาพ
ความชื้นสามารถทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นได้ เมื่อเครื่องปั้นดินเผาอยู่ในที่มีความชื้น เกลือในธรรมชาติอาจจะแทรกซึมเข้าสู่เนื้อดินที่เป็นรูพรุนและจะขยายตัวเมื่อได้รับความชื้น ทำให้เกิดแรงกดลงบนเนื้อดินของเครื่องปั้นดินเผาและทำให้วัสดุแตกร้าว ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เกลือที่ละลายน้ำได้จะละลายและเมื่อความชื้นต่ำเกลือจะตกผลึก การเปลี่ยนจากการละลายไปตกผลึกกลับไปมาทำให้พื้นผิวเครื่องปั้นดินเผาเสียหาย เนื่องจากผลึกเกลือจะมีขนาดใหญ่กว่าเกลือในรูปของสารละลายซึ่งจะเกิดการหดตัวและขยายตัวในเนื้อดินของเครื่องปั้นดินเผา ระยะเวลาผ่านไปองค์ประกอบทางกายภาพของเนื้อดินจะแตกร่วนจนกระทั่งถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ (จิราภรณ์ อรัณยะนาค, 2559, หน้า 95-97)
แสงไม่เป็นอันตรายต่อเครื่องปั้นดินเผา แต่ผงสีที่ใช้ในการตกแต่งพื้นผิวเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีอาจได้รับความเสียหายจากการสัมผัสกับแสงมากเกินไป เครื่องปั้นดินเผาเขียนสีสามารถซีดจางหรือเปลี่ยนสีได้อย่างรวดเร็ว หากสัมผัสกับแสงมากเกินไปเช่นกัน โดยแสงสามารถทำอันตรายกับอินทรียวัตถุทุกชนิด โดยทำลายโครงสร้างโมเลกุลของอินทรีย์สาร เกิดการชำรุดเสื่อมสภาพอ่อนแอหรือแตกหักลงได้ อันตรายที่เกิดจากแสงเมื่อวัสดุดูดซับพลังงานจากแสงและความร้อนถูกสะสมเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้วัสดุเกิดการเปลี่ยนแปลงจะเกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีออกซิเจน โอโซน และความชื้นร่วมด้วย อย่างไรก็ตามแสงมีผลกระทบอย่างมากต่อวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์ เช่น กาว หรือวัสดุเติมเนื้อ เช่น อีพอกซี อะคริลิค เรซิ่น อาจเปลี่ยนสีเหลืองได้ไวขึ้นเมื่อสัมผัสกับแสงยูวี
การเสื่อมสภาพทางกายภาพเนื่องจากการใช้งาน แรงกระแทกและการเสียดสี เนื่องจากด้วยธรรมชาติของเครื่องปั้นดินเผาที่ผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะปรากฏร่องรอยจากการใช้งาน เช่น รอยแตก รอยร้าว และรอยด่าง นอกจากนี้ในสภาพแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์อาจสร้างความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บ การบรรจุการหยิบยกและ เคลื่อนย้ายที่ผิดพลาด (Impact damage) ความเสียหายจากรอยขีดข่วน (Abrasion) ความเสียหายจากคราบอาหาร (Food staining) ความเสียหายจากคราบสนิมโลหะ (Metal staining) ความเสียหายจากคราบสะสม (Accretions)
การเสื่อมสภาพเนื่องจากการซ่อมแซมก่อนหน้า (Previous restoration) เช่น ความเสียหายจากการซ่อมแซมอย่างไม่เหมาะสม (Improperly applied ) ความเสียหายที่เกิดจากกาว (Adhesives overpaint) ความเสียหายจากการใช้เครื่องมือ (Mechanical damage) และความเสียหายจากการใช้สารเคมี (Chemical damage) การเสื่อมสภาพทางเคมีของวัตถุโดยทั่วไปไม่ได้เกิดขึ้นในโครงสร้างทางกายภาพของวัตถุ แต่อยู่ในระดับเคมีหรือสารประกอบ การเสื่อมสภาพขององค์ประกอบทางเคมีของวัตถุจะขัดขวางหรือลดความคงทนของวัตถุเมื่อสัมผัสกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ มลพิษ ความร้อน ความชื้น และสิ่งอื่น ๆ
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น สาเหตุหลักของการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศไทย คือ การใช้งาน หยิบ ยก เคลื่อนย้ายที่ผิดพลาด และการเสื่อมสภาพเนื่องจากการซ่อมแซมก่อนหน้า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมยังมีบทบาทสำคัญในการเสื่อมสภาพของเครื่องปั้นดินเผา ขณะที่การเสื่อมสภาพเชิงกายภาพอาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่การเสื่อมสภาพทางเคมีมักจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และด้วยเครื่องปั้นดินเผามีความเสถียรทางเคมีมาก ด้วยเหตุนี้เครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากจึงคงสภาพอยู่ได้ในระยะเวลานับพันปี และเมื่อถูกค้นพบในการขุดค้นทางโบราณคดียังคงมีสภาพดี
สำหรับเครื่องปั้นดินเผาจีนประเภทเนื้อกระเบื้องที่ตกแต่งพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย (Transfer printed) หรือเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย มักพบเป็นรูปทรงชามปากผายเล็กน้อยที่ด้านนอกมีการพิมพ์ลาย ซึ่งผลิตจากกลุ่มเตาย่อยในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 25 และส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทยในราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นวัตถุที่พบได้มากในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์วัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ตามหลักการที่เหมาะสม
รูปที่ 1 เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย
2. การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบัน
การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผามีประวัติยาวนานและมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งเพื่อประโยชน์ในการใช้งานคงทนถาวร รักษาไว้เพื่อคุณค่าทางด้านจิตใจ ชื่นชมความงามทางสุนทรียะ หรือแม้กระทั่งความเชื่อ การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่การจัดการกับความเสียหายทั่วไปแต่ยังเกี่ยวกับความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การเก็บรักษา การจัดการหยิบยกเคลื่อนย้ายวัตถุ เทคนิคการจัดแสดง และแผนการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น นักอนุรักษ์ต้องสำรวจวัสดุและวิธีการที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในอดีตและปัจจุบัน ต้องทำการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาโดยใช้พื้นฐานมาจากความเข้าใจ เห็นคุณค่าของทั้งวัสดุที่ใช้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและวัสดุที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์ เครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับการอนุรักษ์ที่พบในประเทศไทยทั้งในงานโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และวัตถุสะสมของเอกชน มีวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์แตกต่างกัน กรรมวิธีและวัสดุที่ใช้ยังมีความหลากหลายซึ่งวัสดุอาจเกิดการเสื่อมสภาพ และส่งผลกระทบต่อตัววัตถุ เมื่อนักอนุรักษ์ต้องดำเนินการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา จึงต้องเลือกใช้วิธีการ วัสดุที่มีการพัฒนา และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งจะช่วยลดการเสื่อมสภาพและช่วยยืดอายุของเครื่องปั้นดินเผาให้มีสภาพดีให้ยาวนานที่สุด เพื่อแสดงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป อีกทั้งต้องเป็นทางเลือกที่ไม่ขัดแย้งต่อหลักการอนุรักษ์ จริยธรรมและสุนทรียะ
นิยามของการอนุรักษ์ตามที่คณะกรรมการเพื่องานอนุรักษ์ สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM-CC (International Council of museums-Committee for conservation) (ICOM -CC, 2015) ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
การอนุรักษ์ (Conservation) เป็นมาตรการและการดำเนินการที่มุ่งเน้นการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อการเข้าถึงในปัจจุบันและอนาคต การอนุรักษ์รวมถึง การอนุรักษ์เชิงป้องกัน การอนุรักษ์เชิงสงวนรักษาและการบูรณะฟื้นฟู มาตรการและการดำเนินการทั้งหมดควรเคารพในคุณค่า ความสำคัญและคุณสมบัติทางกายภาพของมรดกวัฒนธรรม
การอนุรักษ์เชิงป้องกัน (Preventive Conservation) เป็นการทำงานเพื่อป้องกันความเสียหายจากสภาพแวดล้อม การจัดการความเสี่ยงที่ส่งผลต่อวัสดุ ผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาจะต้องคอยควบคุมสภาพแวดล้อมในการเก็บรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเสื่อมสภาพนั้นหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง มลพิษ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้วัตถุเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก มาตรการและการดำเนินการเหล่านี้เป็นทางอ้อม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับวัสดุและโครงสร้างของมรดกวัฒนธรรม นักอนุรักษ์ไม่ได้แก้ไขลักษณะที่ปรากฏของวัตถุ
การอนุรักษ์เชิงสงวนรักษา (Conservation Treatment) เป็นการดำเนินการที่ต้องคำนึงถึงหลักการและเหตุผลที่เหมาะสมที่สุดในการดำเนินงาน เพื่อชะลอการเสื่อมสภาพและแก้ไขปัญหาที่เกิดความเสียหายขึ้นกับวัตถุ โดยต้องอาศัยหลักทางวิชาการ ในการดำเนินงานอนุรักษ์ต้องแน่ใจว่าหลังจากที่มีการดำเนินงานแล้ว วัตถุจะต้องได้รับการอนุรักษ์เชิงป้องกันหลังจากที่ปฏิบัติงานแล้วทันที
การบูรณะ (Restoration) เป็นการดำเนินการที่กระทำกับวัตถุโดยตรง มีวัตถุประสงค์เพื่อความงามทางสุนทรียะ เพื่อความเข้าใจและการใช้ประโยชน์ การกระทำเหล่านี้จะดำเนินการได้ต่อเมื่อวัตถุนั้นเสียหาย และทำให้ความสำคัญหรือหน้าที่ของวัตถุมีการเปลี่ยนแปลงหรือวัตถุมีการเสื่อมสภาพ การดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความเคารพวัสดุดั้งเดิม การบูรณะส่วนใหญ่จะแก้ไขลักษณะที่ปรากฏของวัตถุ
เมื่อต้องทำการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผามีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและอาศัยทักษะทางศิลปะ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องมีการแต่งเติมสีหรือเขียนลวดลายลงบนเครื่องปั้นดินเผา ขั้นตอนการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาทุกประเภทจะขึ้นอยู่กับหลักการพื้นฐานการดำเนินงานที่เหมือนกัน โดย Repairing pottery and porcelain: a practical guide. Second Edition ได้เสนอขั้นตอนการอนุรักษ์ไว้ (Acton and McAuley, 2003) ดังนี้
ในขั้นตอนสุดท้าย ผู้เขียนมีแนวคิดที่จะนำวิธีการเดียวกันกับเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม คือใช้กระดาษลอกลายมาเป็นทางเลือกสำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับลวดลายดั้งเดิมบนเครื่องกระเบื้องชิ้นสมบูรณ์และจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ลวดลายที่ได้จากการศึกษาจะนำมาปรับแต่งสีและขนาดให้ใกล้เคียงกับส่วนที่หายไปโดยใช้โปรแกรมแต่งภาพ จากนั้นเป็นการทดลองหาวิธีการลอกลายที่แตกต่างกันจากลายที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษหลายชนิด เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและไม่เกิดผลกระทบต่อวัสดุในระยะยาว ซึ่งความรู้ในปัจจุบันที่ใกล้เคียงกับวิธีการที่เลือกใช้ คืองานของนักอนุรักษ์ Gregory S. Byrne (1995) และ Tiago Oliveira (2015)
Gregory S. Byrne นักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาของ U.S. National Park Service สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองใช้ฟิล์มที่ทำจากกาวโพลียูรีเทน ฉีดพ่นทับหลายชั้นลงบนกระดาษที่พิมพ์ลวดลายด้วยเครื่องพิมพ์เลเซอร์ แล้วใช้ความชื้นลอกชั้นกระดาษออกให้เหลือเพียงชั้นสีและชั้นฟิล์ม เพื่อนำมาติดแทนที่ลวดลายที่สูญหายไปของเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่นแบบอิมาริ เป็นความพยายามที่จะหาเทคนิคและวัสดุ มาใช้ในกระบวนการอนุรักษ์ในขั้นตอนการตกแต่งลวดลายบนเครื่องกระเบื้องเขียนลาย โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพ ตกแต่งลวดลาย และสร้างฟิล์มรูปลอกโดยใช้วัสดุสำหรับการอนุรักษ์
Tiago Oliveira นักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาในประเทศอังกฤษ เสนอผลการศึกษาเทคนิคการลอกลายชั่วคราว ทางเลือกในงานอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาใน Temporary Transfer Papers as Retouching Media for Ceramics Conservation โดยอธิบายถึงการใช้กระดาษรูปลอกแบบชั่วคราว มาเป็นทางเลือกสำหรับการตกแต่งเติมลวดลายลงบนปูนปลาสเตอร์ ที่ใช้เป็นวัสดุเติมเต็มในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้อง นอกจากนี้ยังนำเสนอผลการวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของสีที่ใช้ในการพิมพ์โดยการเร่งปฏิกิริยาจากแสง ตัวอย่างใช้ในการศึกษาคือ โถลายคราม (Tureen) ที่ใช้เทคนิคการตกแต่งด้วยการลอกลาย โดยมีหลักการสำคัญคือ นำลวดลายในส่วนที่หายไปมาปรับแต่งด้วยโปรแกรมแต่งภาพ Adobe Photoshop เพื่อให้ตรงกับสีและรูปร่างของวัตถุ พิมพ์ลายลงบนกระดาษรูปลอกและลอกลายลงบนพื้นที่ที่ต้องการ
เทคนิควิธีที่ใช้ในการศึกษา คือ การตรวจสอบคุณสมบัติและความสามารถในการใช้งาน (workability) ของกระดาษรูปลอกโดยประเมินจากรูปลักษณ์ที่ปรากฏ การทดสอบประเภทกระดาษรูปลอกและวิธีการลอกลาย การทดสอบความคงทนต่อแสง โดยนำตัวอย่างของกระดาษรูปลอกมาเร่งอายุให้มากขึ้นภายใต้แสงไฟนีออน และวัดค่าการเปลี่ยนสีด้วยเครื่องวัดการดูดกลืนแสง (UV-Vis spectrophotometer ) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่วัดการดูดกลืนแสงของสารในช่วงความยาวคลื่นอัลตราไวโอเลต และช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ และวิธีการทดสอบความคงทนต่อแสง (light fastness ) ที่อ้างอิงกับผ้าขนสัตว์ย้อมสีน้ำเงินมาตรฐาน (Blue wool standard : BWS) ที่วางไว้คู่กับตัวอย่าง โดยผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่ากระดาษรูปลอกมีระยะเวลาการสัมผัสกับแสงที่เทียบเท่าระยะเวลา 50 ถึง 100 ปี ตัวอย่างของกระดาษรูปลอกที่ยังไม่ผ่านการพิมพ์ถูกวางทดสอบภายใต้แสงฟลูออเรสเซนต์และวัดการเปลี่ยนสีด้วยเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ ตัวอย่างทั้งหมดแสดงค่าความแตกต่างของสีต่ำกว่า 1 (0.6-0.8) แสดงถึงคุณภาพความคงทนต่อแสงที่ดีมากหากจัดแสดงและจัดเก็บอย่างเหมาะสม
3. วิธีการศึกษา
ในการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลาย จึงต้องทำความเข้าใจกระบวนการผลิตเพื่อที่จะสามารถเลียนแบบกระบวนการตกแต่งเครื่องกระเบื้องด้วยการพิมพ์ลาย ผู้เขียนจึงศึกษาวิธีการตกแต่งด้วยการพิมพ์ลายแบบดั้งเดิม ซึ่งปรากฏครั้งแรกในยุโรปช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 (ค.ศ. 1750) เทคนิคการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย เป็นการพิมพ์ลวดลายโดยใช้แม่พิมพ์โลหะลงบนกระดาษ แล้วจึงนำกระดาษที่มีลายอยู่มาติดกับภาชนะ ตัวอย่างที่สำคัญของการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาอังกฤษและสกอตแลนด์ อีกเทคนิคการสร้างลายบนเนื้อกระเบื้องที่ใกล้เคียงกันคือ การพิมพ์ลายด้วยเทคนิคสเตนซิล (Stencil) เป็นการพิมพ์ลวดลายโดยใช้การประดิษฐ์ลวดลายด้วยลายฉลุ แล้วใช้สีทาลงบนลายฉลุ ตัวอย่างที่สำคัญของการพิมพ์ลายด้วยเทคนิคสเตนซิล ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่น เรียกศิลปะการพิมพ์ลายประเภทนี้ว่า คาตากามิ (Katagami stencils) ซึ่งเป็นเทคนิคที่พบได้ในงานย้อมผ้า งานไม้และเครื่องปั้นดินเผา
รูปที่ 2 เปรียบเทียบเทคนิคการตกแต่งลวดลายเครื่องกระเบื้อง
การศึกษาวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาโดยเฉพาะวัสดุเติมเต็ม(Filler) การใช้วัสดุเพื่อเติมเต็มพื้นที่ที่ขาดหายไปในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงหรือเพื่อเหตุผลด้านสุนทรียภาพ เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับในการอนุรักษ์และซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผา การใช้วัสดุเติมเต็มมีประวัติอันยาวนานเพื่อการยึดเกาะหรือแทนที่ส่วนที่สูญหายขนาดใหญ่ มีการใช้วัสดุจำนวนมากเป็นวัสดุเติมเต็มเนื้อเครื่องปั้นดินเผาและมีเทคนิคที่หลากหลายตั้งแต่ การทากาวหนาหลายชั้น การนำชิ้นส่วนจากภาชนะอื่นมาติดแทนที่ การใช้ชิ้นส่วนทำจากเซรามิคส์ที่ผลิตขึ้นเฉพาะ การใช้ชิ้นส่วนเรซิ่นหล่อและขี้ผึ้ง วัสดุและเทคนิคการเติมเต็มพื้นที่ในช่วงแรกเหล่านี้แม้จะมีประสิทธิภาพ สามารถคาดเดาการเสื่อมสภาพได้และสามารถนำออกได้ แต่วิธีการเหล่านี้ถูกจัดว่าล้าสมัย ถึงกระนั้นนักอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาก็จะต้องพบกับวัสดุเหล่านี้อยู่เสมอ
วัสดุและเทคนิคที่ใช้ในการเติมเนื้อของเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันที่พบมากที่สุด คือ วัสดุที่ทำจากแคลเซียมซัลเฟต (Calcium sulfate) เช่น ปูนปลาสเตอร์ (Plaster of Paris) ในขณะที่วัสดุสังเคราะห์จากอีพอกซี (Epoxy) อะคริลิคเรซิ่น (Acrylicresins) นิยมใช้แต่มีผลกระทบในระยะยาวต่อวัตถุและมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง หรือวัสดุที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ เช่น โพลีเอสเตอร์เรซิ่น (Polyester resins ) ซึ่งมีความแข็งแรงและไม่เป็นอันตรายต่อวัตถุเดิม
วัสดุเติมเต็ม เช่น ปูนปลาสเตอร์และวัสดุเติมเต็มที่มีอะคริลิกเป็นส่วนประกอบหลัก (acrylic - based fillers ) ใช้สำหรับเติมช่องว่างในเครื่องปั้นดินเผาที่เนื้อดินอ่อนและมีรูพรุน ส่วนอีพอกซี่เรซิ่นและโพลีเอสเตอร์ เรซิ่น ใช้ในกรณีของเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องที่มีความหนาแน่น ในขณะที่การใช้วัสดุเซรามิคส์ เช่น ดินเหนียวหรือดินขาวเพื่อการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผานั้นไม่ได้รับการนิยม เนื่องจากการหดตัวของเนื้อดินในระหว่างการอบแห้งและการเผา
การนำวัสดุเติมเต็มที่ใช้ในอนุรักษ์ก่อนหน้าออก ทำได้ทั้งโดยวิธีกลหรือใช้สารเคมี การแทนที่ด้วยวัสดุเติมเต็มใหม่สามารถช่วยให้เครื่องปั้นดินเผาแข็งแรงและมั่นคง วัสดุเติมเต็มที่สามารถนำออกได้ทางกายภาพโดยวิธีการกลขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุ เช่น ปูนซีเมนต์สามารถสกัดด้วยค้อนและสิ่วทีละน้อย ปูนปลาสเตอร์จะถูกเอาออกได้อย่างง่ายดายผ่านวิธีกล เช่น สกัดและแกะออกด้วยเครื่องมือที่มีคม สามารถใช้เลื่อย สว่านและเครื่องมืออื่นๆ อย่างไรก็ตามการนำวัสดุเติมเต็มที่ใช้ก่อนหน้าจำนวนมากออกไป ต้องระมัดระวังรอยขีดข่วน ชิ้นส่วนหลุด รอยร้าว และรอยแยกที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวเลือกที่สองในการนำวัสดุเติมเต็มออกคือใช้สารเคมี โดยทั่วไปแล้วสารเคมีจะถูกใช้เมื่อวัสดุเติมเต็มเดิมถูกนำออกไปแล้วให้เหลือเพียงส่วนน้อย วัสดุเติมเต็มมีความแตกต่างจากกาวคือมีแนวโน้มที่จะนำออกจากเครื่องปั้นดินเผาได้ง่ายกว่ากาว เช่น ปูนปลาสเตอร์ที่แยกออกมาได้ง่าย
การใช้ปูนปลาสเตอร์ในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา มีข้อดีหลายประการ เนื่องจากปูนปลาสเตอร์มีความแข็งแรงและผิวหน้าเรียบ สามารถเก็บรายละเอียดได้ดี มีความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity, SG) ใกล้เคียงกับเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน คือ ยิปซัมมี SG 2.32 ขณะที่เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินมี SG 2.4 ถึง 2.6 (Buys and Oakley, 2014, p.198) นอกจากนั้นยังมีราคาถูกอีกด้วย ข้อควรระวังในการทำแบบปูนปลาสเตอร์คือ จะต้องกำจัดฟองอากาศที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำปฏิกิริยาระหว่างปูนปลาสเตอร์กับน้ำออกให้หมด มิฉะนั้นจะทำให้เกิดรูพรุนขนาดใหญ่ซึ่งจะส่งผลต่อความแข็งแรง และการดูดซึมน้ำ
เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกใช้ปูนปลาสเตอร์ในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากมีคุณสมบัติในการขึ้นรูปหล่อแบบเป็นชิ้นงานได้ง่าย สามารถเพิ่มผงสีเพื่อทำให้ใกล้เคียงกับเนื้อเครื่องปั้นดินเผา เป็นวัสดุที่สามารถทำการเคลือบผิวได้ เป็นวัสดุที่มีความสามารถยึดเกาะกับเนื้อภาชนะเครื่องปั้นดินเผา มีความแข็งแรงและความหนาแน่นที่เหมาะสมกับเนื้อเครื่องปั้นดินเผา มีความทนทานและไม่สร้างความเสียหายให้กับภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เป็นวัสดุที่สามารถเอาออกจากวัตถุได้ง่าย มีความปลอดภัยในการใช้งาน หาง่ายและราคาถูก
แต่ปูนปลาสเตอร์มีข้อจำกัดในการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา เช่น ไม่เหมาะที่จะใช้กับเครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้องเพราะไม่มีแรงยึดเกาะเพียงพอ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผสมสารเติมแต่งเพื่อช่วยในการยึดเกาะ ในบางกรณีไม่สามารถเอาออกจากวัตถุได้สมบูรณ์เมื่อปูนอยู่ตัวเต็มที่ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้พาราลอยด์ บี 72 (Palaroid B-72) หรือ กาวโพลีไวนิลแอซีเตต (PVA) ทาเคลือบพื้นผิวเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการเอาออกจากวัตถุภายหลังได้ ปูนปลาสเตอร์มีระยะเวลาในการทำงานที่สั้น และคุณภาพของน้ำมีผลต่อคุณสมบัติ การใช้ปูนปลาสเตอร์ที่ไม่มีการตกแต่งผิวจะมีเนื้อพรุนมากและดูดความชื้นได้ดี ความชื้นอาจทำให้เกลือซัลเฟตถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อภาชนะดินเผาที่มีรูพรุน น้ำอาจละลายฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกเข้ามาสะสมในเนื้อปูนได้
กล่าวโดยสรุป ปูนปลาสเตอร์เป็นวัสดุเติมเต็มในงานอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาง่าย ราคาถูก สามารถผสมสารเติมแต่งเพื่อช่วยในการยึดเกาะหรือผสมผงสีและตกแต่งสีทับได้ถ้าต้องการ ขึ้นรูปทรงและตกแต่งได้ง่าย ปัจจุบันมีวัสดุที่ใช้ปูนปลาสเตอร์เป็นส่วนผสมหรือวัสดุเติมเต็มที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก (Calcium - based fillers) ที่พัฒนาเพื่อลดข้อจำกัดของปูนปลาสเตอร์ เช่น Polyfilla (Polycell) เป็นต้น
ผู้เขียนทำการศึกษาตัวอย่างเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์เดิมและเก็บรักษาไว้ที่ห้องคลังโบราณวัตถุและห้องปฏิบัติการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญของพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ กล่าวคือเป็นพื้นที่ตั้งของกลุ่มวังจำนวน 5 วัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวังพระราชทานพระเจ้าลูกเธอเรียกรวมกันว่า วังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทำการศึกษาประวัติความเป็นมา วิเคราะห์แหล่งที่มาของเครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลาย ศึกษากระบวนการผลิตเครื่องกระเบื้องที่ตกแต่งด้วยการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย ศึกษากระบวนการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา ทดลองวัสดุและวิธีการที่ทดแทนการเขียนตกแต่งลวดลาย ผู้เขียนได้คัดเลือกตัวอย่างเพื่อทดลองวิธีการและวัสดุที่เลียนแบบการผลิตดังเดิมที่เหมาะสม โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกตัวอย่างกลุ่มเครื่องกระเบื้องที่สามารถขึ้นรูปทรงให้ใกล้เคียงรูปทรงเดิมมากที่สุด เครื่องกระเบื้องส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเตาย่อยในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ในราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 25 และส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทยประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และเป็นวัตถุที่พบได้มากในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์วัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ตามหลักการที่เหมาะสม เครื่องกระเบื้องจีนกลุ่มตัวอย่างใช้กระบวนการผลิตด้วยเทคนิคการพิมพ์ลายด้วยกระดาษลอกลาย โดยใช้แม่พิมพ์โลหะแกะลวดลายจีนที่เป็นเอกลักษณ์ พิมพ์ลายลงบนกระดาษ แล้วจึงนำกระดาษที่มีลายอยู่มาติดกับภาชนะ ใช้ขั้นตอนเดียวกับเครื่องถ้วยยุโรป เมื่อนำเข้าเตาเผา หมึกที่เหลือจากการเผาไหม้ได้ออกมาเป็นสีน้ำเงินจากปฏิกิริยาของหมึกที่ส่วนผสมของโคบอลต์ออกไซด์
รูปที่ 3 ขั้นตอนการอนุรักษ์
ผู้เขียนได้ทดลอง 1) คัดเลือกและทำความสะอาดตัวอย่าง 2) ต่อชิ้นส่วนตัวอย่างที่สามารถนำกลับมาติดได้ 3) ทำการขึ้นแบบส่วนที่สูญหายด้วยขี้ผึ้งสำหรับทันตกรรม ( Dental wax) 4) หล่อแบบด้วยปูนปลาสเตอร์ 5) ติดส่วนที่หล่อแบบเข้ากับตัวอย่าง 6) ตัวอย่างที่พร้อมสำหรับเทคนิคการเลียนแบบการพิมพ์ลาย จากนั้นผู้เขียนนำภาพแบบลายที่หลงเหลือจากตัวอย่างและแบบลายชิ้นสมบูรณ์ที่ได้จากการศึกษาจากแหล่งข้อมูล มาปรับแต่งลายด้วยโปรแกรมแต่งภาพให้ได้ขนาด สัดส่วนและสีใกล้เคียงกับแบบลายบนตัวอย่าง เพื่อเตรียมเลียนแบบการลอกลายลงบนเนื้อปูนปลาสเตอร์ต่อไป
ขั้นตอนการปรับแต่งลวดลายด้วยโปรแกรมแต่งภาพ Photoshop โดยมีแนวทางการเลือกลวดลายที่จะมาใช้คือ ลวดลายที่คงเหลืออยู่บนชิ้นตัวอย่างที่มีลายละเอียดเพียงพอ หรือลวดลายตกแต่งจากแหล่งข้อมูลอื่นที่เป็นลายเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน จากนั้นใช้โปรแกรมตัดภาพพื้นหลังออกได้เป็นภาพพื้นหลังแบบโปร่งแสง (transparent background ) จากนั้นปรับขนาดสัดส่วนและสีใกล้เคียงให้กับแบบลายบนชิ้นตัวอย่าง และสลับรูปภาพด้วยคำสั่ง เมนู Edit > Transform > เลือก Flip Horizontal เป็นการสลับ ซ้าย – ขวา ก่อนสั่งพิมพ์ลงบนกระดาษลอกลายต่อไป
กระดาษสาเป็นวัสดุอีกชนิดที่ผู้เขียนเลือกใช้เป็นกระดาษลอกลายในการศึกษา กระดาษสาเป็นกระดาษที่ทำจากเปลือกของต้นปอสา เป็นพืชเส้นใยชนิดหนึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับหม่อนและขนุน มีชื่อเรียกกันหลายชื่อตามท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ปอสา ปอกะสา ภาคใต้ เรียก ปอฝ้าย เป็นต้น เส้นใยปอสาส่วนใหญ่ได้จากเปลือกของลำต้น ใช้เป็นวัตถุดิบคุณภาพดีในการผลิตกระดาษสา เปลือกลำต้นสาที่ผ่านกระบวนการต้มเยื่อแล้วขึ้นแผ่นกระดาษบนตะแกรง นำไปตากให้แห้ง มีลักษณะเป็นแผ่นมีความเหนียวนุ่มไม่ขาดง่าย มีคุณสมบัติดีคือ ทนทานไม่กรอบเปื่อยยุ่ย เก็บรักษาได้นาน ปัจจุบันผลผลิตปอสาส่วนใหญ่ใช้ทำกระดาษด้วยมือ (hand - made paper) และเป็นวัสดุในงานอนุรักษ์ โดยผู้เขียนใช้กระดาษสาเป็นสื่อในการพิมพ์แบบลายที่ได้จากการปรับแต่ง ซึ่งแบบลายที่ได้จะถูกพิมพ์กลับด้านด้วยเครื่องพิมพ์ ตัดส่วนลายที่ต้องการ นำวางทาบลงบนตำแหน่งที่กำหนดไว้ จากนั้นใช้ มีเดียมเจล (Acrylic Gel Medium) เป็นสื่อผสมชนิดเจล ซึ่งใช้ผสมสีเพื่อทำให้เป็นมันเงาและมีความหนืด เหมาะกับงานเทคนิค Mix Media และสามารถใช้งานเหมือนกาว ทาลงบนกระดาษพิมพ์ลายที่ด้านหน้าที่มีหมึกพิมพ์ แล้วนำไปทาบบนลงลงบนเนื้อปูนปลาสเตอร์ ทิ้งไว้จนแห้งสนิท จากนั้นใช้ความชื้นช่วยในการลอกเนื้อเยื่อกระดาษสาออก และเหลือชั้นหมึกพิมพ์บนเนื้อปูนปลาสเตอร์
รูปที่ 4 การทดลองใช้กระดาษและหมึกพิมพ์ต่างชนิดและลอกลายลงบนชิ้นงาน
4. ความเป็นไปได้และข้อเสนอแนะ
ผู้เขียนได้นำเทคนิคการตกแต่งแบบดั้งเดิมคือ ใช้กระดาษลอกลายที่ทำจากกระดาษสามาเป็นทางเลือกสำหรับการแต่งเติมลวดลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปของเครื่องปั้นดินเผา มาลอกแบบลายลงบนวัสดุที่ใช้เติมส่วนที่หายไปซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวัตถุในระยะยาว ผลที่ได้วัตถุจะมีลวดลายใกล้เคียงกับภาชนะดั้งเดิมที่ใช้วิธีการพิมพ์ลาย วิธีการนี้ยังไม่เคยนำมาใช้กับการอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายที่พบในประเทศไทย วิธีการเลียนแบบการพิมพ์ลายนี้จะช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ ไม่ต้องอาศัยทักษะทางศิลปะขั้นสูง ช่วยในการศึกษาลักษณะที่สมบูรณ์และในการจัดนิทรรศการ หรือแม้แต่เพื่อการผลิตของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำวิธีการนี้ไปประยุกต์ใช้กับเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเขียนลายในรูปแบบที่ซ้ำกันอื่นๆ เช่น ภาชนะเขียนลายสีดำใต้เคลือบจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย หรือเครื่องปั้นดินเผาเขียนลายบนเคลือบ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น
การอนุรักษ์เครื่องกระเบื้องจีนพิมพ์ลายด้วยวิธีเลียนแบบการพิมพ์ลายในบทความนี้ เป็นหนึ่งในวิธีการที่เป็นทางเลือกสำหรับการตกแต่งลวดลายเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการทดสอบและดำเนินการวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับอิทธิพลของอุณหภูมิและความชื้นที่มีต่อชิ้นงาน การทดลองกับวัสดุกระดาษประเภทอื่น เช่น กระดาษฟอกสีที่ใช้ในงานพิมพ์ทั่วไป กระดาษไข กระดาษสติ๊กเกอร์ที่ใช้ในการลอกลายโดยเฉพาะ รวมถึงกระดาษลอกลายที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกส์ปัจจุบัน รวมถึงการตรวจสอบการเสื่อมสภาพในระยะยาวของหมึก สีที่ใช้ในการพิมพ์ ประเภทของหมึกและเครื่องพิมพ์ เป็นต้น
ผู้เขียนได้รวบรวมและเปรียบเทียบเทคนิคการอนุรักษ์ภาชนะดินเผาในขั้นตอนตกแต่งลวดลาย Retouching ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกใช้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการในขั้นตอนนี้ย่อมต้องผ่านการตกลงร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ว่าต้องการผลสุดท้ายที่ขั้นตอนใด เนื่องจากการตกแต่งลวดลายเป็นกระบวนการที่ทำการเปลี่ยนแปลงสภาพของวัตถุ วิธีการที่ผู้เขียนนำเสนอเป็นวิธีการที่สามารถทำซ้ำได้ง่ายและทำให้ย้อนกลับได้ (reversible) ในกรณีที่วัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือเมื่อเกิดความเสียหายกับวัสดุที่นำมาใช้ และในอนาคตอาจมีวิธีการที่เหมาะสมสะดวกรวดเร็วกว่า
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของเทคนิคการอนุรักษ์ภาชนะดินเผาในขั้นตอนสุดท้าย
เทคนิค |
ข้อดี |
ข้อด้อย |
เติมวัสดุทดแทน ไม่ลงสี |
ทำงานง่าย รวดเร็ว |
ไม่กลมกลืน ไม่สวยงาม |
ตกแต่งสีพื้นเลียนแบบของเดิม |
ดูกลมกลืน |
ไม่มีรายละเอียด |
ตกแต่งสีพื้นและเขียนลายแบบของเดิม |
กลมกลืน มีรายละเอียด |
ใช้เวลา และทักษะทางศิลปะ |
ตกแต่งสีพื้นและลอกลายแบบของเดิม |
ค่อนข้างกลมกลืน ประหยัดเวลา |
ใช้ทักษะทางการตกแต่งภาพ |
เอกสารอ้างอิง
จิราภรณ์ อรัณยะนาค. (2558). การดูแลรักษาวัตถุพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
———. (2559). การทำความสะอาดวัตถุพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
บุรินทร์ สิงห์โตอาจ. (2556). คู่มือพิชิตองค์ความรู้ "เครื่องปั้นดินเผา". กรุงเทพ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
ปรีดา พิมพ์ขาวขำ. (2547). เซรามิกส์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วันชัย เพี้ยมแตง. (2547). การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาด้วยรูปลอกเซรามิก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
สันติ พงษ์พรต. (2562). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปูนปลาสเตอร์. เข้าถึงได้จาก e-Learning มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์: http://elearning.nsru.ac .th/web_elearning/ceramic/lesson1.php
อายุวัฒน์ สว่างผล. (2543). วัตถุดิบที่ใช้แพร่หลายในงานเซรามิกส์ (Raw Materials of Ceramics). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
Acton, Lesley. and McAuley, Paul. (2003). Repairing pottery and porcelain: a practical guide. Second Edition . London: Lyons & Burford.
Atkinson, .Josephine. (2009). Practical Conservation: Our guide to caring for your treasures. Kuala Lumpur: Islamic Arts Museum Malaysia.
Buys, Susan. and Oakley, Victoria. (2014). The Conservation and Restoration of Ceramics. London: Routledge.
Byrne, Gregory S. (1995). Compensating for losses in design with decals. Objects Specialty Group Postprints, Volume Three, 1995, 86-93.
Caple, Chris. (2012). Conservation Skills: Judgement, Method and Decision Making. London: Routledge.
Geschke, Rainer. (2004). Ceramic gap-fills for ceramic restoration. The Conservator, 74-83.
ICOM-CC. (2015). Terminology to characterize the conservation of tangible cultural heritage. เข้าถึงได้จาก icom-cc.org: http://www.icom-cc.org /242/about/terminology-for-conservation/#.XfUmNmQzZhE
Oliveira, Tiago. (2015). Stick it on! Temporary Transfer Papers as Retouching Media for Ceramics Conservation. e-conservation Journal 3.
Sokha, Tep. (2011). Conservation of Ceramics from Phnom Borei Burials. GLASS & CERAMICS CONSERVATION
Williams, Nigel. (2002). Porcelain Repair and Restoration: A Handbook. London: British Museum Press.
[1]บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] หลักสูตรอนุรักษ์ศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร E-mail: burinsingtoaj@gmail.com
คำสำคัญ: