บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

บาดแผลของสงครามและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

21 มีนาคม 2556

ประวัติอันยาวนาน   ศาสตราจารย์ จอห์น รุซเซล ผู้ช่วยที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมอาวุโสขององค์กรความร่วมมือ Coalition Provisional Authority (CPA) พรรณนาถึงประเทศอิรักว่าเป็นประเทศอันดับหนึ่งในหลายอย่าง ทั้งการตั้งสร้างบ้านแปงเมือง วรรณกรรมและภาษา ศาสนาและศาสนสถาน การสงครามและอาวุธ รวมถึงเศรษฐกิจโลกและการแผ่อำนาจ พิพิธภัณฑ์อิรักในกรุงแบคแดดเป็นเสมือนแอ่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายนับหมื่นแสน ขนานไปกับการเป็นดินแดนอิรักยุคใหม่ เป็นพื้นที่วัฒนธรรมเมืองแรกๆ ของโลก มีเมืองหลายแห่งที่ล้อมด้วยป้อมปราการ ราชวังที่ซับซ้อน มหึมา และสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ที่ได้พัฒนาและวิวัฒน์ผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษ เหล่านี้ได้กลายเป็นถาวรสถานในภูมิทัศน์ของดินแดนระหว่างแม่น้ำ ความรู้มากมายที่เกี่ยวกับดินแดนเมโสโปเตเมียมาจากการค้นคว้าทางโบราณคดี หรือถ้าจะมองให้ดีแล้วอิรักทั้งประเทศเลยกระมังที่เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี แหล่งที่สำรวจแล้วมีจำนวนมากกว่า 10,000 แห่ง และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่รอคอยการค้นพบ การวิจัยแหล่งทางโบราณคดีขณะนี้ดำเนินการไปแล้วเพียง 1,500 แห่ง สิ่งที่ขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีเกือบทั้งหมดเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก ในกรุงแบกแดด จะมีเพียงชิ้นสำคัญบางชิ้นเท่านั้นที่เก็บรักษาและจัดแสดงในสถาบันใหญ่ๆ เช่น บริติช มิวเซียม ประเทศอังกฤษ และพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ประเทศฝรั่งเศส   พิพิธภัณฑ์ในอิรักกำเนิดขึ้นในปี 1923 โดยทำหน้าที่ในการรักษาดูแลโบราณวัตถุที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีอัสซีเรียน (Assyrian Site) บาบิโลเนียน (Babylonian Site) และสุมาเรียน (Sumerian Site) พิพิธภัณฑ์เป็นห้องใหญ่ที่ตั้งอยู่ภายใน al-Qushlah หรือทำเนียบรัฐบาลอิรัก อยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไทกริส เมื่อมีวัตถุจากการขุดค้นจำนวนมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอาคารที่แยกเป็นอิสระ อาคารใหม่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเดียวกัน ใกล้สะพาน al-Shuhada และได้รับการเรียกขานว่า พิพิธภัณฑ์ อิรัก (Iraq Museum) หญิงสาวอาหรับเชื้อสายอังกฤษ เกอร์ทรูด เบลล์ (Gertrude Bell) ผู้เป็นทั้งนักสำรวจและนักโบราณคดีสมัครเล่น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ จนกระทั่งการจากไปของเธอในปี 1926   พิพิธภัณฑ์รับวัตถุสะสมอีกจำนวนมาก จนในปี 1966 จึงสร้างอาคารเพิ่มเติมบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ และขนานนามว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก (Iraq National Museum) เป็นอาคารปูนสองชั้น พร้อมด้วยชั้นใต้ดิน ห้องจัดแสดงจำนวนมากมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้าง 13 - 18 เมตร มีสวนและสนามหญ้าโดยรอบ มีความยาวประมาณ 50 เมตร และยังมีเฉลียงทางเดินที่มีหลังคาคลุมโดยรอบ   20 ปีให้หลัง พิพิธภัณฑ์ก่อสร้างอาคารในลักษณะเดียวกันเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีห้องจัดแสดงเพิ่มเติมจำนวน 20 ห้อง เป็นพื้นที่ทั้งหมด 11,000 ตารางเมตร ห้องจัดแสดงจัดแบ่งตามเงื่อนไขของเวลา จากยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสุมาเรียนในชั้นแรก และชั้นใต้ดินจัดแสดงวัตถุที่ได้จากการขุดค้นพบในยุคของอาซิเรียนและอิสลาม ห้องจัดแสดงส่วนที่เกี่ยวข้องกับโบราณสมัยอาซิเรียน สร้างบรรยากาศด้วยการแสดงรูปสลักขนาดใหญ่ ซึ่งมีความยาว 15 เมตร และสูง 5 เมตร รูปสลักบอกเล่าเรื่องราวของพิธีกรรมในอดีตสมัยไนน์เวห์ (Nineveh) และ อเชอร์ (Ashur) รวมทั้งรูปสลักยักษ์ที่มีหัวเป็นมนุษย์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทวารบาลของอาซิเรียนนครในยุคไนน์เวห์และคอร์ซาแบด (Khorsabad) ตั้งตระหง่านอยู่บนฐานหินในห้องเช่นกัน   ส่วนห้องจัดแสดงที่เหลือนำเสนอวัตถุมากกว่า 10,000 ชิ้น จากตราประทับรูปทรงกระบอกชิ้นเล็กไปจนถึงรูปปั้น รูปสลักขนาดใหญ่ วัตถุต่างๆ เหล่านี้มีทั้งที่ทำด้วยดิน ดินเผา โลหะ กระดูก ผ้า กระ ดาษ แก้ว ไม้ หินปูน พยานวัตถุที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นอารยธรรมของมนุษยชาติกว่า 10,000 ปี จากช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่สมัยสุมาเรียน บาบิโลเนียน อาซิเรียน ฮาเทรอน์ (Hartrene) พาร์เธียน (Parthian) ซาซ์ซานิด (Sassanid) จนถึงยุคอิสลาม วัตถุที่จัดแสดงเป็นจำนวนเพียง 3 % ของมรดกอิรัก ทั้งอักษรดินปั้นคูนิฟอร์มกว่า 100,000 ชิ้น หมายรวมถึงระบบการเขียนคูนิฟอร์มเดิมจากอูรูค (Uruk) บัญญัติดั้งเดิมของมนุษยชาติ (ศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล) รวมทั้งจดหมายเหตุที่ประเมินค่ามิได้ของซิปปาร์ (Sippar) ซึ่งกอปรด้วยอักษรดินกว่า 800 ชิ้นจากยุคบาร์บิโลเนียนใหม่ (Neo-Babylonian ประมาณ 625 - 539 ปี ก่อนคริสตกาล) ทรัพย์สินทั้งหมดนี้ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก เป็นแอ่งมรดกทางวัฒนธรรมของตะวันออกใกล้อันเก่าแก่ และเป็นแหล่งที่จะพลาดไม่ได้เลยสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนาน   ในระหว่างที่มีสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 กระทรวงการสื่อสาร ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิด และส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์และวัตถุจัดแสดงจำนวนหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ปิดตัวลง เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเคลื่อนย้ายวัตถุสะสมไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันงานสะสมจากการทิ้งระเบิด ด้วยความคิดที่ว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อมากกว่า 2-3 เดือน เจ้าหน้าที่จัดเก็บวัตถุที่มีค่าไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคลือบดินเผา งาช้าง อักษรดินเผาคูนิฟอร์ม ไว้ในขนสัตว์และสำลี ส่วนวัตถุที่ทำด้วยโลหะห่อหุ้มด้วยยาง วัตถุทั้งหมดได้รับการบรรจุใส่หีบเหล็กที่มีการลงกุญแจ และนำไปเก็บไว้ที่ชั้นใต้ดินของอาคารคลังเดิมของพิพิธภัณฑ์   เป็นที่น่าเสียดายว่า เหตุการณ์มิได้เป็นอย่างที่คาดหมายไว้ ไม่เพียงแต่การทิ้งระเบิดยังคงดำเนินต่อไป การจ่ายไฟฟ้าเกิดขัดข้องเนื่องด้วยการทำลายแหล่งจ่ายไฟฟ้า จากนั้นเป็นการงดจ่ายไฟฟ้า ทำให้เครื่องปั๊มน้ำที่ติดตั้งไว้ที่ชั้นใต้พื้นดินไม่สามารถทำงานตามปกติ น้ำนองอยู่ที่พื้นชั้นใต้ดิน หีบเหล็กเริ่มเป็นสนิม เป็นเหตุให้ความชื้นแทรกเข้าไปยังหนังสัตว์และยางที่ปกป้องวัตถุที่เคลื่อนย้ายจากที่จัดแสดง ที่สุดกลายเป็นที่เพาะแบคทีเรีย แมลงกินผ้า และจุลินทรีย์อื่นที่เป็นอันตราย วัตถุจำนวนนับร้อยจัดส่งให้นักอนุรักษ์ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากขาดสารเคมีที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์ และสารเคมีเหล่านั้นเป็นสิ่งต้องห้าม ตามประกาศคณะกรรมการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในขณะนั้น   ในเดือนเมษายน 2000 หรือ 9 ปีให้หลังจากการปิดให้บริการ พิพิธภัณฑ์เปิดต้อนรับสาธารณชนอีกครั้ง วัตถุนับร้อยที่มีอายุกว่า 2,000 - 3,000 ปี ได้รับความเสียหาย และบ้างมีสภาพไม่สามารถซ่อมแซมได้ในสภาพดังเดิม ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 หรือประมาณ 3 ปี หลังจากที่การให้บริการใหม่ พิพิธภัณฑ์กลับตกอยู่ในสภาพที่จะต้องปิดตัวเองอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งการหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับวัตถุสะสม ผลกระทบในครั้งนี้สร้างความเสียหายต่องานสะสมมากกว่าครั้งที่แล้ว ภาวะภายหลังสงครามที่ขาดความเป็นระเบียบนำมาซึ่งโจรและการปล้น มิใช่แต่เพียงที่ทำงานของรัฐบาลหรือธุรกิจเอกชนที่เป็นเป้าของการแย่งชิงทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติของพิพิธภัณฑ์กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่มีคนขโมย บางชิ้นมีอายุเก่าถึง 7,000 ปี วันที่เกิดการขโมยทรัพย์สินมากที่สุด คือ วันพฤหัสบดีที่10 เมษายน พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องประจัญหน้ากลุ่มคนที่ต้องการเจ้ามาลักสิ่งของล้อรถไถ เกวียน รูปปั้นรูปหล่อที่ประเมินค่ามิได้ ภาชนะ และอักษรดิน ฯลฯ ห้องจัดแสดงว่างเปล่ายกเว้นเศษกระจกจากตู้จัดแสดง หรือเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่เรียงรายอยู่บนพื้น   วันที่ 3 กรกฎาคม กองกำลังรักษาความมั่นคงชั่วคราวจัดนิทรรศการ 1 วันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิ่งที่จัดแสดงเป็นเครื่องทองที่มาจากสุสานของกษัตริย์อูร์ (Ur) รวมทั้งของจำลองเช่นแจกันวาร์กา (Warka Vase) แต่ดาวเด่นของการแสดงครั้งนี้ คือ สมบัติของนิมรูด (Nimrud) เป็นเครื่องทองที่ขุดค้นโดยนักโบราณคดีชาวอิรักที่นิมรูดในช่วงปี 1988 ถึง 1990 ณ นครแห่งวัฒนธรรมอาซิเรียนใหม่นี้ ตั้งอยู่ทางตะวันตออกเฉียงใต้ของโมสุล (Mosul) ปรากฏที่ฝั่งพระศพจำนวน 4 แห่งอยู่ใต้ชั้นของพระราชวังตะวันตกเฉียงเหนือของกษัตริย์อชูร์นาซิปาลที่ 2 (883 - 859 ปีก่อนคริสตกาล) มรดกเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ธนาคารกลางของอิรักตั้งแต่เกิดสงครามอ่าวในปี 1991 เมื่อพิพิธภัณฑ์โรมิช-เยอรมนิชในเมนซ์ ประเทศเยอรมนีต้องการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมข้างต้น ไม่มีบริษัทประกันภัยใดรับเป็นนายประกัน เพราะค่าของมันที่สูงเกินไป   นิทรรศการเดือนกรกฎาคมเป็นสิ่งที่กองกำลังรักษาความมั่นคงชั่วคราวต้องการแสดงให้เห็นว่าสภาพสังคมทั่วไปกลับสู่สภาพปกติ แต่เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งว่าภายหลังจากที่ปิดนิทรรศการประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ทหารชาวอเมริกาถูกปลิดชีพโดยมือสังหารที่สุ่มยิงจากระยะไกล และ 2 - 3 วันต่อมานักข่าวชาวอังกฤษถูกฆาตกรรมในอีกฝากหนึ่งของถนน   ความสูญเสียของมวลมนุษยชาติทั้งมวล   ในวันนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก อยู่ภายใต้เงาทะมึนของความรุ่งเรืองในอดีต ตามข้อมูลล่าสุด วัตถุขนาดใหญ่ 30 ชิ้น และวัตถุเล็กจำนวนมากถึง 12,000 ชิ้นหายไป แต่ละชิ้นเป็นชิ้นเอกที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ แต่ละชิ้นมีลักษณะเฉพาะและมีเรื่องราวของมันเอง ประวัติความเป็นมาเหล่านั้นเป็นฐานรากหนึ่งของสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน มรดกโบราณคดีไม่ใช่ทรัพยากรทดแทนได้ และเมื่อส่วนใดถูกทำลายไป ส่วนนั้นก็จะสูญไปชั่วนิรันดร์   การทำงานร่วมกันเพื่อให้แอ่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแห่งนี้กลับมาทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิเป็นหน้าที่ของชุมชนโลก และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว องค์การยูเนสโกในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศแห่งเดียวที่มีศักยภาพทำหน้าที่เป็นกองหน้าป้องกันมรดกของมนุษยชาตินี้ ดำเนินงานมากมายทั้งในระหว่างที่มีการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก่อนการรบครั้งล่าสุด และจวบจนทุกวันนี้ ในปี 1999 องค์การยูเนสโกติดตั้งระบบปรับอากาศและรักษาความปลอดภัยภายในพิพิธภัณฑสถาน และยังจะดำเนินการอื่นๆ เพื่อสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มหาศาลของอิรักต่อไป   ปัจจุบัน องค์การยูเนสโกดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะซ่อมแซมพิพิธภัณฑ์ในทุกส่วนและทุกด้าน นอกจากส่วนพื้นที่จัดแสดงและสำนักงานที่ได้รับความเสียหายอย่างมากจากการขโมยแล้ว ส่วนห้องปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์ได้รับความเสียหายไม่น้อยไปกว่ากัน ช่วงปีที่เกิดวิกฤตดังกล่าวเป็นเงื่อนไขให้นักอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการใช้เครื่องมือและวัสดุที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ วัสดุโดยส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่จะต้องนำเข้า แต่กลับเป็นสิ่งต้องห้าม การบุกเข้าปล้นทั้งในระหว่างและภายหลังการต่อสู้ ทำให้สถานการณ์ของห้องปฏิบัติการแย่ลง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของพิพิธภัณฑ์ ระบบความปลอดภัยได้รับความเสียหายเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดกับงานมาตรการพื้นฐานเหล่านี้นำไปสู่การตัดสินในการวางระบบรักษาความปลอดภัยของวัตถุสะสม ทั้งความเสี่ยงต่ออัคคีภัย การลักลอบขโมย โจรผู้ร้าย ฯลฯ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจะได้รับการทบทวนและออกแบบใหม่ โดยคำนึงถึงคุณค่าของงานสะสมที่เฉพาะและมีความพิเศษเช่นนี้   ในขณะนี้ ทรัพยากรบุคคลกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากยิ่งกว่าที่เคยเป็น ผู้ปฏิบัติงานได้อุทิศตนเองเพื่อความปลอดภัยของมรดกทางวัฒนธรรม และเพื่อทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่สภาพปกติ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนความชำนาญการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศึกษา การสร้างความทันสมัยและการปรับเปลี่ยนการใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม   การปฏิสังขรณ์พิพิธภัณฑ์อิรักและงานสะสมที่ประเมินค่ามิได้จะต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างเร่งด่วน และเป็นความรับผิดชอบของชุมชนนานาชาติทั้งมวล ในปัจจุบัน การดำเนินงานดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีงจากองค์กรชำนาญการต่างๆ สถาบันทางวัฒนธรรม และด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศนี้จะผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ของแบคแดดกลับมาตั้งตระหง่าน และเปิดประตูต้อนรับกลุ่มผู้ชมอย่างภาคภูมิทัดเทียมกับพิพิธภัณฑสถานอื่นของโลก   แปลและเรียบเรียงจาก Usam Ghaidan and Anna Paolini, A Short History of the Iraq National Museum. (Museum International. No. 219-220. Vol. 55, 2003), pp. 97-101.   *ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน

09 พฤษภาคม 2556

มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานอาจเรียกได้ว่าเป็นงานมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ หรือมานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑ์ แต่ละชื่อเรียกมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกัน และมาจากความแตกต่างของทฤษฎีและการปฏิบัติ   นานมาแล้วที่มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานหมายถึงนักมานุษยวิทยาที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาย่อยของมานุษยวิทยา อันได้แก่ นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (นักชาติพันธุ์วิทยาและนักชาติพันธุ์วรรณา) นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยากายภาพ และนักภาษาศาสตร์ บุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา   วัฒนธรรมวัตถุเป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่ว่าจะเรียกว่า "ศิลปะวัตถุ" หรือ "วัตถุ" โดยทั่วไป ทั้งสองคำย่อมสื่อถึงความหมายว่า เป็นสิ่งของที่ประดิษฐ์หรือใช้โดยมนุษย์ และแสดงออกถึงความหมายและการใช้ประโยชน์เช่นไร กระแสการศึกษาในปัจจุบันคือ การตรวจสอบว่าวัตถุเหล่านั้นนำเสนอวัฒนธรรมอย่างไร ในต้นทศวรรษ 1970 นักวิชาการในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยพยายามคิดค้นทฤษฎีและวิธีการวิเคราะห์ที่อธิบายการสื่อความหมายของวัฒนธรรม (วัตถุและการตีความที่เกี่ยวข้อง) จุดนี้เองเป็นแนวทางการศึกษาที่แตกต่างจากงานที่นักมานุษยวิทยาปฏิบัติกันมาในพิพิธภัณฑ์ ในช่วงทศวรรษ 1980 การศึกษายิ่งแตกต่างมากขึ้น รวมทั้งความสนใจที่มีต่อกลุ่มผู้ชมของพิพิธภัณฑ์เป็นประเด็นการศึกษาเช่นกัน   การประชุมเพื่ออภิปรายในประเด็นดังกล่าวจัดขึ้นโดยสภาการมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน (the Council for Museum Anthropology - CMA) พร้อมการจัดนิทรรศการที่เนื้อหาบางส่วนมาจากวารสาร American Anthropologists การประชุมดังกล่าวนำเสนอข้อมูลใหม่ๆในการทำความเข้าใจกับมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ และมานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑสถาน อย่างไรก็ดี สมาคมการพิพิธภัณฑ์อเมริกาสนใจต่อประเด็นดังกล่าวตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970   มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีลักษณะการพัฒนาคู่ขนานกัน อย่างไรก็ดี งานพิพิธภัณฑ์ของทั้งสองทวีปขยายตัวสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาของกระแสลัทธิทุนนิยมและการล่าอาณานิคม ด้วยสภาวการ์ณเช่นนี้จึงนำไปสู่การวิพากษ์พิพิธภัณฑ์และมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน ภายใต้แนวคิด "การแก้ไขข้อผิดพลาดทางการเมือง" ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา อันถือว่าเป็นการตอบโต้แนวคิดชาติพันธุ์นิยมและลัทธิการล่าเมืองขึ้น   พิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมที่ได้รับการจัดตั้งในประเทศที่สถาปนาขึ้นใหม่ พิพิธภัณฑ์ในประเทศเหล่านั้นได้สร้างนิยามและความหมายของงานพิพิธภัณฑ์ในบริบทของตนเอง นอกจากนี้ยังเปิดมิติการทำงานพิพิธภัณฑ์ไปสู่เรื่องของสาธารณสุขเฉกเช่นเดียวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มรดกจึงกลายเป็นเครื่องหลอมรวมความรู้สึก อัตลักษณ์กลุ่ม และความเป็นชาติที่นอกเหนือไปจากความต้องการใหม่ๆ บ้างประดิษฐ์ธรรมเนียมประเพณี บ้างรวบรวมเรื่องเล่าและเสียงผู้คนไว้ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์   การวิพากษ์งานพิพิธภัณฑ์เป็นข้อที่สร้างความตระหนักประเด็นการเมืองร่วมสมัย ทั้งการแบ่งแยกดินแดนของชุมชนชาติพันธุ์ การสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มชนดั้งเดิมของอเมริกา เช่นข้อกฎหมาย NAGPRA - Native American Grave Protection and Repatriation Act ในปี 1990 George H.J. Abrams ได้ทำการศึกษากรณีการส่งวัตถุแทนเงินของอินเดียนในอเมริกาเหนือจากพิพิธภัณฑ์อินเดียนในกรุงนิวยอร์ก กลับคืนให้แก่กลุ่มสมาพันธ์หกชาติ (Six Nations Confederacy) ใน Brantford Ontario Canada หรือกรณีการส่งวัตถุคืนถิ่นข้ามประเทศในแอฟริกาโดย Ekpo Eyo ตามสนธิสัญญายูเนสโกฉบับเดิม (1970) ทั้งสองกรณีนำเราไปสู่ข้อสรุปที่ว่าการแก้ปัญหาไม่ควรจะคำนึงเฉพาะข้อกฎหมาย แต่ต้องพิจารณาเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม   การส่งวัตถุคืนถิ่นยังเป็นประเด็นการถกเถียงต่อไป W. Richard West, Jr. (1990) ในฐานะผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อเมริกันอินเดียน วอชิงตัน ดี.ซี. วางนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง William C. Sturtevant ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสมิธโซเนียน นิยามปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นการหลุดพ้นจาก "หลักปรัชญาพิพิธภัณฑ์ การจัดการวัตถุ และการบริหารที่เคยยอมรับกัน" และนำไปสู่ข้อนิยามใหม่   ประวัติพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (ธรรมชาติวิทยา)   สมาคมและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแรกๆ ที่จัดตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วย Charleston Museum ใน South Calorina (1783) Peale’s Museum ใน Philadelphia (1785) และ East India Marine Society ซึ่งในปัจจุบันคือ Peabody Museum of Salem (1799) จากนั้น พิพิธภัณฑ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี งานพิพิธภัณฑ์ในยุโรปขยายตัวและพัฒนาก่อนหน้านั้นมาก ในประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแรก หรือ Ashmolean Museum ตั้งขึ้นในปี 1683 ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอรด์ ห้องสมุดและวัตถุสะสมหลายประเภทที่เป็นของราชบัณฑิตนักฟิสิกส์และนักธรรมชาติวิทยา เซอร์ ฮานส์ ซโลแอน (Sir Hans Sloane) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นกำเนิดของ บริติช มิวเซียม (1753) และก่อนหน้านั้น งานสะสมและ "ห้องแห่งความอยากรู้อยากเห็น" (cabinet of curiosities) ของนักวิชาการมือสมัครเล่นและพวกมนุษย์นิยมในศตวรรษที่ 15 อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นงานพิพิธภัณฑสถาน   พิพิธภัณฑ์เคยเป็นผลผลิตของการหาความรู้และข้อมูล เนื่องจากการสำรวจ การค้า การประดิษฐ์คิดค้น การพิมพ์ ของศตวรรษที่ 15 และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในยุโรป รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคมบางแห่งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกา งานมานุษยวิทยาและโบราณคดีในงานพิพิธภัณฑ์ของทั้งสองทวีปสามารถอ่านได้จากรายงานและสิ่งพิมพ์ของสถาบันต่างๆ ในอเมริกา เช่น Bureau of Ethnology, the Smithsonian Institution, the American Museum of Natural History, the Peabody Museum of Salem, the Peabody Museum at Harvard University, the University of Pennsylvania Museum, the Academy of Natural Sciences of Philadelphia, the Brooklyn Museum และสถาบันอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากในทวีปอเมริกาและยุโรป   George W. Stocking, Jr. (1985) เสนอข้อมูลความเป็นมาของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน และยังแสดงให้เห็นความสำคัญ รวมทั้งตั้งคำถามสำหรับอนาคต จากปี 1980 งานศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ งานสะสม นักสะสม งานจัดแสดงระดับนานาชาติ และเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุ โดยนักมานุษยวิทยา นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ มีจำนวนมากขึ้น และนำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และการจัดแสดงอย่างจริงจัง รวมทั้งยังสร้างความสนใจใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับวัตถุ ให้แก่นักมานุษยวิทยา (Appadurai 1986)   งานเขียนของ Susan Pearce (1989) แสดงให้เห็นถึงประวัติของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน โบราณคดีพิพิธภัณฑสถาน (Museum Archaeology) ในประเทศอังกฤษ และขบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกิดขึ้นบนทวีปทั้งสองแห่งของมหาสมุทรแอตแลนติค นอกจากนี้ งานศึกษาของ Ian Hodder, Christopher Tilley, Michael Shanks และนักโบราณคดีคนอื่นๆ เพิ่มความตระหนักว่า นักโบราณคดีและมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานควรแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างมหาวิทยาลัย และ สาธารณชนทั่วไป เพื่อการสนับสนุนทางวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อนึ่ง ในการจัดประชุมประจำปีครั้งที่ 59 ของสมาคมโบราณคดีอเมริกา The Plenary Session of the American Society for Conservation Archaeology (1994) เน้นถึงการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเป็นเส้นทางที่มองไปสู่อนาคตร่วมกัน   ประเด็นวิจารณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน กลายเป็นแนวทางการศึกษาของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน และปรากฎงานวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรมในปี 1991 ในหนังสือ "จัดแสดงวัฒนธรรม" (Exhibiting Cultures) บรรณาธิการโดย Ivan Karp และ S. D. Lavine ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่วัตถุเป็นแก่นแกนของงานศึกษาของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกมาช้านาน ตอนนี้ทั้งนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ นักรัฐศาสตร์ และผู้สนใจจากสาขาอื่นๆ ให้ความสนใจกับการศึกษาวัตถุเช่นกัน Eilean Hooper-Greenhill ศึกษาธรรมชาติของนิทรรศการและการสื่อสารร่วมกับผู้เขียนบทความ 25 คนในหนังสือ พิพิธภัณฑสถาน สื่อ สาร (Museum, Media, Message - 1994)   Anna Laura Jones ได้แสดงข้อคิดเห็นของเธอในงานเขียน "กัมปนาทปืนใหญ่: มานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑสถาน" (Exploding Canons: The Anthropology of Museums) ในวารสาร Annual Review of Anthropology (1993) เป็นการวิเคราะห์ข้อวิพากษ์วิจารณ์และการถกเถียงเกี่ยวกับมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดแสดงวัตถุ Jones ได้ศึกษามานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานอย่างเป็นศาสตร์เฉพาะ และอภิปรายการจัดแสดงศิลปะและวัตถุวัฒนธรรมของสังคมที่มิใช่ตะวันตกในพิพิธภัณฑสถาน ประเด็นการวิจารณ์ยังเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและความชอบธรรมของมานุษยวิทยาและผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ ในฐานะผู้ตีความวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑสถานและในสายงานวิชาการ   Jones ได้กะเทาะปัญหาการยึดติดกับการตีความจากรูปทรงภายนอก (formalism’s persistence in interpretation) และชี้ให้เห็นปัญหาของการปฏิบัติต่อวัตถุที่ซับซ้อนอย่างง่ายๆ ในนิทรรศการ โดยเลือกงานของ Susan Vogel, Center for African Art (ปัจจุบันคือ the Museum for African Art) เป็นตัวอย่าง เธอกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการวิเคราะห์ของสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ทั้งนั้น วัตถุประสงค์ของเธอคือ การสร้างความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ควรเกิดขึ้นกับมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในแคนนาดา และหลายประเทศในยุโรป ได้ตระหนักถึงผลพวงที่เกิดขึ้นในมุมมองเกี่ยวกับประเทศอาณานิคม สำนึกชาติพันธุ์ และ ชนชั้น   Michael Amies ในบทความ "ทวิวัฒนธรรมนิยมในนิทรรศการ" (Biculturalism in Exhibitions in Museum Anthropology - May 1991) ได้ทดลองวิเคราะห์นิทรรศการในประเทศแคนนาดาโดยใช้มุมมองมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน เขาพยายามนำเสนอความคิดต่างๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของความหลากหลายในโลกปัจจุบัน และย้ำถึงความร่วมมือเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอันเกิดจากสิ่งที่นำเสนอ (representing) และสิ่งที่ถูกนำเสนอ (represented) Aimes ขยายความคิดของสิ่งที่เขาเรียกว่า "การขโมยเสียง" (theft of voice) ของนักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์ศิลปะ Aimes ยังชี้ให้เห็นประเด็นการเมืองในการเรียกร้องดินแดนกับรัฐบาลแคนานาดา และเชื่อมโยงกับเวลาที่ใช้ในการจัดนิทรรศการ ซึ่งตรงกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว ที่ Glenbow Museum ใน Calgary   เฉกเช่นเดียวกับนิทรรศการเรื่อง "สู่ใจกลางแอฟริกา" ของ the Royal Ontario Museum ที่หยิบยกประเด็นประวัติศาสตร์การล่าเมืองขึ้นของแคนนาดา นิทรรศการนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย ในกลุ่มบางกลุ่มของชุมชนแอโฟร-แคนานดา และนักวิชาการบางคน คำอธิบายของภัณฑารักษ์ว่า ใคร อะไร อย่างไร เกี่ยวกับนิทรรศการ กลายเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับการศึกษามานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานร่วมสมัย   การวิเคราะห์พิพิธภัณฑ์ในเชิงวิชาการและทั่วไป เป็นทั้งบทสะท้อนและความตระหนักต่อผลกระทบของประวัติศาสตร์ความคิด ต่อการศึกษาข้ามสาขาวิทยาการ และต่อการรับรู้สาธารณะ นอกจากนี้ ยังเป็นเสียงที่เรียกร้องให้พึงระวังการนำเสนอวัฒนธรรมที่บอกเล่าโดย "ผู้อื่น"   ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อีกประการคือ ผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และบุกเบิกการศึกษาวัฒนธรรมวัตถุ และวิธีวิทยาต่างๆ การศึกษาในประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์มานุษยวิทยา อย่างในกรณี Margot Blum Schevill ที่ทำการศึกษาชีวิตและผลงานของ Lila M. O’Neale ในบทความที่ลงใน Museum Anthropology (มิถุนายน 1993) หรือบทความต่างๆ ของ Kroeber Anthropological Society, University of California at Berkeley (1986) และในบางบทตอนของหนังสือ The Early Years of Native American Art History: the Politics of Scholarship and Collecting, บรรณาธิการโดย J.C. Berlo (1992)   นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างงานวิชาการที่ว่าด้วยชีวประวัติของ Isabell Kelly เขียนโดย Grace W. Buzalijko ใน Museum Anthropology (มิถุนายน 1993) งานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมวัตถุในพิพิธภัณฑสถาน และกลายเป็นสนามการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ขยายตัวมากขึ้นในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 การวิเคราะห์ยังสร้างความตระหนักในบทบาทของเพศสภาวะในสายงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานในช่วงเริ่มแรกเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่ายินดีคือ เรื่องราวของผู้หญิงที่ได้รับการมองข้ามในงานพิพิธภัณฑ์กลับได้รับการศึกษา (Babcock and Parezo 1988) และบอกเล่าชีวประวัติ (Glaser and Zenetou 1994)   ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองเป็นเชื้อไฟให้เกิดการทบทวนบทบาทของนักมานุษยวิทยา และการนำเสนอภาพแทนของ "ผู้อื่น" ที่หลากหลายในพิพิธภัณฑ์ (ทั้งประเด็นเชื้อชาติ ชนชั้น สำนึกชาติพันธุ์ กลุ่ม และเพศสภาวะ) แนวการศึกษาที่กล่าวมานี้ ยังผลให้มานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑสถาน และทฤษฎีเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถานในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมที่เติบโตในสังคมตะวันตกมีความตื่นตัวมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ศึกษาและพิพิธภัณฑ์วิทยากลายมาเป็นสาขาวิชาใหม่ หรือเป็นสาขาวิชาย่อยของสังคมศาสตร์ และ/หรือ มนุษยศาสตร์ เฉกเช่น มานุษยวิทยา (พิพิธภัณฑสถาน) สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะ และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสาขาวิชา อย่างที่ปรากฎในมหาวิทยาลัยและพิพิธภัณฑ์ (Kaplan 1992)   แปลและเรียบเรียงจาก Kaplan, Flora Edouwaye S. "Museum Anthropology", in David Levinson and Melvin Ember. Encyclopedia of Cultural Anthropology.Vol.3 (New York: Henry Helt and Company, 1996), pp. 813 - 816.

พบกันครึ่งทาง: ระหว่างวัฒนธรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว

21 มีนาคม 2556

โครงการการจัดการทางวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของสะพานแห่งการ์ด (le Pont du Gard) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการป้องกันตัวถาวรสถาน และสภาพแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าของแหล่งโบราณสถานโดยรวม พื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่เป็นสื่อกลางบอกเล่าประวัติศาสตร์ของสะพานและพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน เรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของพื้นที่งานวัฒนธรรมใหม่แห่งนี้ อุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานก็มิอาจจะขวางกั้นประโยชน์จากโครงการ และเส้นทางสู่อนาคตข้อมูลต่อไปนี้มาจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและบริหารของโบราณสถานสะพานแห่งการ์ด อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดโดยสังเขป   สะพานแห่งการ์ดเป็นส่วนหลักของระบบชลประทานโบราณของนครนีมส์ (Nîmes) ที่ออกแบบและสร้างโดยชาวโรมันประมาณปีที่ 50 ของยุคเรา เพื่อเป็นการนำน้ำมาสู่เมืองนีมส์ การชลประทานสามารถนำน้ำในปริมาณเฉลี่ย 20,000 ลูกบาศก์เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์และสะอาดสำหรับหล่อเลี้ยง น้ำพุในเมือง ห้องอาบน้ำสาธารณะ และสวนต่างๆ ของนีมส์ หรือมหานครแห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาวกาลโล-โรมัน ระบบดังกล่าวใช้งานถึง 450 ปี จนในที่สุดน้ำไม่สามารถใช้งานได้ดังเดิม เนื่องจากการขาดการดูแลรักษาจนปล่อยให้หินปูนเกาะติดทางลำเลียงน้ำ ด้วยเหตุนี้ น้ำจึงไม่สะอาดเพียงพอสำหรับการบริโภคอุปโภค   พยานเทคนิคการจัดการน้ำของวิศวกรชาวโรมันเป็นผลงานที่สร้างความประทับใจให้กับนักเดินทางมาแล้วหลายชั่วศตวรรษ เป็นเส้นทางที่ศิลปินพื้นบ้านแกะสลักหินต้องเดินทางผ่านในเส้นทางการเดินทางทั่วฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ถาวรสถานถูกทิ้งร้างและมีอินทรีย์พืชที่เจริญเติบโต จนทำให้สภาพทั่วไปเสื่อมโทรม จนในปี 1840 สะพานแห่งการ์ดอยู่ในรายนามของแหล่งโบราณคดีในทำเนียบของ Prosper M?rim?e จากนั้นงานอนุรักษ์ซ่อมแซมจึงได้เริ่มดำเนินการ ในปี 1973 สะพานแห่งการ์ดขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมของกระทรวงสิ่งแวดล้อม และตั้งแต่ปี 1985 ถาวรสถานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประกาศโดยองค์การยูเนสโก   แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า สาเหตุที่โบราณสถานเป็นที่รู้จักมิได้มาจากความเสื่อมโทรมของโบราณสถานที่ผ่านมาในอดีต   พื้นที่ธรรมชาติที่งดงาม ซึ่งตรึงนักท่องเที่ยวและผู้คนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง นำเอาผู้คนจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ในหลายปีที่ผ่านมา (ผู้ชมจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี) ด้วยเหตุที่ว่าส่วนประกอบต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกเส้นทาง การก่อสร้างเพิ่มเติมที่ไม่เหมาะสม จำนวนพืชพรรณที่ไม่พอเพียง บางครั้งพืชตกอยู่ในอันตรายด้วยขาดการอนุรักษ์ เหล่านี้กลายเป็นภาพลักษณ์ของสะพาน ความทรุดโทรมของภูมิทัศน์เพิ่มมากขึ้น เส้นทางที่ "รกชัฏ" และพื้นที่หินปูนที่มากขึ้น ตลิ่งแม่น้ำที่มีการใช้งานโดยปราศจากการเอาใส่ใจต่อสิ่งมีชีวิตทั่งพืชและสัตว์ที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ   แม้ว่าจะมีการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่กลับไม่ได้ช่วยให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าเยี่ยมชมประมาณหกพันถึงหมื่นคนต่อวันในช่วงที่ฤดูร้อน เข้ามาในพื้นที่โดยเฉลี่ยไม่มากกว่าหนึ่งชั่วโมง ดังนั้น ความประทับใจเพียงการค้นพบอย่างฉาบฉวย จึงทำให้โบราณสถานเป็นที่ "ไร้เสียง" ที่ผู้ชมไม่ได้สังเกตเลยว่ามันตั้งอยู่ที่ใด   ความเป็นมาในการตระหนักถึงความจำเป็นในการสงวนรักษาและเพิ่มคุณค่าให้กับโบราณสถานเป็นอย่างไร   ตั้งแต่ปี 1985 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นการ์ดประกาศโครงการการจัดการทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของโบราณสถานแห่งการ์ด เพื่อการสงวนรักษาและเพิ่มคุณค่า และในปี 1995 คณะกรรมการการบริหารงานส่วนจังหวัดนีมส์มอบหมายให้หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งนีมส์จัดการแหล่งประวัติศาสตร์และนิเวศน์ของสะพานแห่งการ์ด ในปี 1997 สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนโครงการ และให้ปรับชื่อเป็นโครงการสำคัญของ ยุโรปอันเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว (le Label Grand Projet Europ?en environmental, culturel et touristique)   ในเดือนพฤษภาคม 2000 สัญญาความร่วมมือพัฒนาแหล่งโบราณสถานสำคัญแห่งนี้ เป็นการลงนามร่วมระหว่างกระทรวงการจัดการท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคลองดอก-รูซิออง (Lanquedoc-Roussillon) องค์การบริหารท้องถิ่นการ์ด หน่วยงานรับผิดชอบสะพานแห่งการ์ด และหอการค้าและอุตสาหกรรมของนีมส์   ขั้นตอนหลักในการดำเนินงานเป็นอย่างไร   การดำเนินงานทั้งการป้องกันและการจัดการมีพื้นที่ทั้งหมด 165 เฮคเตอร์ นั่นหมายถึงแหล่งธรรมชาติของถาวรสถานมีพื้นที่อยู่ใน 3 ท้องที่ [คาสตีออง-ดู-การ์ด (Castillon-du-Gard) แวร์ส-ปง-ดู-การ์ด (Vers-Pont-du-Gard) เรอมูแลงส์ (Remulins)] และมีแม่น้ำการ์ดอง (Gardon) ไหล่ผ่าน   การจัดการดำเนินงานภายใต้แนวคิดของการพบกันครึ่งทางระหว่างการใช้พื้นที่และการปฏิบัติตัวของผู้เยี่ยมชมที่แตกต่างหลากหลายต่อแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ หรือเรียกว่าเป็นการประสานทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และการพักผ่อนหย่อนใจ การจัดการแนวใหม่เป็นความสอดประสานระหว่างการต้อนรับกลุ่มผู้ชมจำนวนมากและความมหัศจรรย์ของสถานที่ ความมหัศจรรย์ที่มาพร้อมกับหินผาน้ำของการ์ดอง และพรรณพืชในแถบเมดิเตอร์เรเนียน   วัตถุประสงค์พื้นฐานของการดำเนินงานคือ การป้องกันโบราณสถานและสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกัน ยังคงให้แหล่งทำหน้าที่ต้อนรับกลุ่มคนที่เข้ามาเยี่ยมชม รวมทั้งให้ความเคารพต่อการใช้พื้นที่ของคนในท้องถิ่น และที่แน่นอนคือ กลุ่มผู้ชมจะต้องได้ "กุญแจ" ในการไขประตูไปสู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์ของแหล่งเช่นกัน   การปรับปรุงสะพานแห่งการ์ดเพื่อกลุ่มผู้ชมดำเนินการทุกอย่างในแนวทางที่จะทำให้ภูมิทัศน์ "บริสุทธิ์" จากสิ่งที่บดบังทัศนะวิสัยของโบราณสถานและบริบทแวดล้อม ตั้งแต่ก้าวแรก ผู้เยี่ยมชมจะได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าไปในประวัติศาสตร์ของสะพาน พื้นที่โดยรอบ และท่อลำเลียงน้ำ จากจุดที่ตรึงผู้ชมไว้ชั่วขณะหนึ่ง ณ เบื้องล่างของถาวรสถาน ผู้ชมจะเพิ่มพูนความรู้ และปรารถนาที่จะเยี่ยมชมนานมากขึ้นด้วยการค้นพบสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายออกไป   การเข้าเยี่ยมชมสะพานและธารน้ำยังคงเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างที่เป็นมาในอดีต แต่จากนี้ไปชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่จะไม่ทำร้ายและทำลายพื้นที่ มันจะกลายเป็นสถานที่ของนักเดินสำรวจทุกคน ในทางกลับกันรอยทางของยวดยานพาหนะทุกประเภทจะต้องถูกลบออกไป ผู้ชมจะต้องจอดรถไว้ในที่ให้บริการด้านใดด้านหนึ่งของลำน้ำ จากนั้น เส้นทางที่ชัดเจนจะนำผู้คนเข้าสู่สะพาน โดยคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กในรถเข็น   การจัดการแหล่งโบราณสถานและพื้นที่โดยรอบดำเนินการใน 3 จุดใหญ่ คือ พื้นที่ชีวิตชายตลิ่งของสะพานแห่งการ์ด เป็นพื้นที่ใกล้น้ำมีขนาด 43 เฮคเตอร์ ซึ่งรวมสิ่งก่อสร้างต่างๆ พื้นที่ธรรมชาติของการสำรวจร่องรอยท่อส่งน้ำ เป็นพื้นที่มีอาณาบริเวณ 72 เฮคเตอร์ และเป็นเส้นทางเดินเล็กๆ เพื่อการสำรวจ พื้นที่ธรรมชาติสงวน เป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่แทบจะไม่สามารถย่างกรายเข้าไปได้ และเป็นผืนดินแบบเมดิเตอร์เรเนียน ขนาด 50 เฮคเตอร์ เปรียบเสมือนกับสิ่งห่อหุ้มโบราณสถาน     โบราณสถานสะพานแห่งการ์ด พื้นที่สำหรับคนเดินสำรวจ จะเป็นสถานที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและเพื่อการสำรวจ ผู้ชมจะสามารถเข้าเยี่ยมสถานที่ได้ตามความต้องการ ตามเวลาที่เปิดทำการในแต่ละช่วงของปี เรียกได้ว่า เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้เยี่ยมชมในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความรุ่มรวยของมรดกวัฒนธรรมด้วยความเพลิดเพลิน   แง่มุมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณสถานสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ พื้นที่ที่ได้รับการจัดการใหม่นี้อย่างไร   เพื่อสร้างความพอใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสร้างสรรค์สื่อกลางทางวัฒนธรรมโดยดำเนินการอย่างเป็นวิชาการและเป็นระบบ ทีมงานที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่หลากหลาย (นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ สถาปนิก นักประวัติศาสตร์ภูมิทัศน์ นักชาติพันธุ์วิทยา นักพืชวิทยา นักชลวิทยา) ภายใต้การควบคุมของ ฌอง-ลุค ฟิชส์ (Jean-Luc Fiches) นักโบราณคดีและผู้อำนวยการส่วนวิจัย ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดโครงการงานวัฒนธรรมที่มีชื่อว่า มนุษย์ หินผา และน้ำ ในพื้นที่เมดิเตอร์เรเนียน   โครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องประเด็นที่ครอบคุลมและเกี่ยวเนื่องกับแหล่งโบราณสถาน สาระหลักไม่ได้สัมพันธ์เฉพาะสะพานแห่งการ์ด แต่เป็นการชลประทานโบราณของเมืองนีมส์ในบริบทสิ่งแวดล้อม และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับสะพาน สามารถแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ ดังนี้ ศิลปะของการดำเนินชีวิตชาวโรมัน การควบคุมน้ำ ประวัติของท่อส่งน้ำโบราณแห่งนีมส์ ภูมิทัศน์ของเมดิเตอร์เรเนียน     การทำงานเป็นทีมของผู้ชำนาญการข้างต้นก่อให้เกิดการผสมผสาน จนกลายเป็นงานวัฒนธรรมที่หลากหลายและพร้อมที่นำเสนอให้กับแหล่งถาวรสถานสะพานแห่งการ์ด ผู้ชมสามารถสร้างความรู้จากพื้นที่ทางวัฒนธรรม 8 แห่งในระหว่างการเยี่ยมชม นิทรรศการมัลติมีเดียเรื่อง ประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดและท่อส่งน้ำโรมันแห่งนีมส์ ที่จะนำผู้ชมย้อมเวลากลับไปในโลกของโรมัน หรือเมื่อ 20 ศตวรรษที่แล้ว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอารยธรรมแห่งน้ำ ตลอดเส้นทางการเดินชมการเดินชมในพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร และสื่อการจัดแสดงต่างๆ ที่หลากหลาย (แบบจำลองย่อส่วน วัตถุจัดแสดง ภาพปรากฏบนจอภาพหลายผืน วีดิทัศน์ บรรยากาศเสียง…) ผู้ชมจะได้เอิบอิ่มไปกับสายสัมพันธ์ระหว่างน้ำและชีวิตของชาวโรมัน ความน่าอัศจรรย์ใจในการสร้างท่อส่งน้ำแห่งนีมส์ (วัสดุและเทคนิค การช่าง และองค์ความรู้) หรือในอีกแง่หนึ่ง เป็นภาพสะท้อนของศิลปะและเทคนิคของสะพานที่ได้รับความสนใจจากผู้รู้ วิศวกร และสถาปนิก ตั้งแต่สมัยเรอเนสซอง ภาพยนตร์ที่มีความยาว 23 นาที (จัดฉายในห้องภาพยนตร์และระบบเครื่องเสียงเต็มรูปแบบ) เรื่อง ธารแห่งการ์ดอง (le Vaisseau du Gardon) เป็นเรื่องเล่า (การพบกันระหว่างหนุ่มโรมันและสาวนีมส์ในสมัยปัจจุบัน) ที่ย้อนเวลากลับไปตามสายธารแห่งประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดและผู้ที่สร้างสรรค์ผลงาน พื้นที่ ลูโด (Ludo) ขนาด 600 ตารางเมตร สำหรับกลุ่มผู้ชมรุ่นเยาว์ (5 -12 ปี) เป็นการนำเสนอเส้นทางสำรวจที่ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ ท่องเที่ยวไปในอดีต การจัดการน้ำ ค้นหาร่องรอยของอดีต และสังเกตการณ์ธรรมชาติ ด้วยการนำเสนอแบบ "ของเล่น" (เกม การสืบสวน) และการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดง (การจับสัมผัส การมีประสบการณ์โดยตรง) เด็กจะกลายเป็นตัวหลักของการสำรวจ ศูนย์ข้อมูล Biblio ที่เปิดบริการสำหรับทุกคน และเป็นการตรึงผู้คนให้เยี่ยมชมแหล่งโบราณสถานนานมากขึ้น เก็บรักษาและให้บริการหนังสือกว่า 600 เรื่อง และวารสารกว่า 100 ชื่อเรื่อง รวมถึงการให้บริการอินเตอร์เนตที่ได้คัดสรรเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ (พื้นที่ในเมดิเตอร์เรเนียน หินผา สะพาน ประวัติศาสตร์…)   นอกจากนี้ ยังมีการแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ งานแสดงที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าการทำมาหากินในอดีต และเส้นทางสำรวจเพื่อความเข้าในในภูมิทัศน์เมดิเตอร์เรเนียน ความทรงจำของพื้นที่แบบเมดิเตอร์เรเนียน และในช่วงทุกเย็นค่ำของฤดูร้อน ผู้ชมสามารถชมสะพานที่ประดับแสงไฟอย่างสวยงามโดยศิลปินเจมส์ ตรูเรล (James Turrell)   หนึ่งในวัตถุประสงค์การปรับปรุงแหล่งโบราณสถานสะพานแห่งการ์ด เพื่อเป็นการต้อนรับกลุ่มเด็กเยาวชนที่มากับครอบครัว แต่ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ของสถานศึกษาด้วย ในจุดนี้มีการเตรียมการเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายบริการการศึกษาอย่างไร   เรียนรู้ เข้าใจ สนุกสนาน ผ่อนคลาย เหล่านี้เป็นแนวคิดพื้นฐานสำหรับการทำงานของงานบริการการศึกษา (เริ่มต้นในปี 1998) สำหรับเด็กและเยาวชนของสถานศึกษาหรือในหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง ในการทำงานดังกล่าวนี้ หน่วยดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการศึกษาความต้องการของกลุ่มนักเรียนและเยาวชน การคำนวณอัตราการบริการเฉพาะ การประชาสัมพันธ์ต่อหน่วยงานการศึกษาใกล้เคียง ศูนย์กิจกรรม และองค์กรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว   การนำเสนอจะเน้นที่ความหลากหลายในบริการต่างๆ ของแหล่ง รวมทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของการศึกษาในระบบ อันประกอบด้วยประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม โบราณคดี และอารยธรรมโรมัน ลักษณะเฉพาะของสถานที่สอดคล้องกับกิจกรรมทั้งในร่ม (พื้นที่งานวัฒนธรรม) และกิจกรรมกลางแจ้ง (พื้นที่ของการสำรวจ ขนาด 72 เฮคเตอร์) จากการจัดกิจกรรมการเยี่ยมชมแบบง่ายๆ ที่ใช้เวลาเพียงครึ่งวันหรือหนึ่งวันสู่การสร้างสรรค์กิจกรรมร่วม ผู้สอนที่มากับกลุ่มนักเรียนจะพบกิจกรรมที่มีตัวเลือกหลากหลาย (การเยี่ยมชม-การเดินสำรวจ ซึ่งอาจจะมีการทำกิจกรรมในพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กหรือไม่ก็ได้…) เพื่อทำให้การเยี่ยมชมมีความสมบูรณ์มากขึ้น   ฝ่ายบริการการศึกษาเตรียมการเยี่ยมชมเฉพาะสำหรับผู้สอนที่ต้องการจัดเตรียมเอกสารสำหรับนักเรียนในการเข้าชมสถานที่ กิจกรรม M?mento ที่จัดขึ้นสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือ วัฒนธรรมและมรดก กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เอกสารที่ให้กับผู้สอนที่เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยประเด็นดังนี้ o    เด็กน้อยชาวโรมัน o    เทคนิคการก่อสร้างในสมัยโรมัน o    การช่างและอาชีพต่างๆ o    ชีวิตของชาวโรมัน   เอกสารเหล่านี้จะทำให้ผู้สอนสามารถเตรียมการเข้าชมพร้อมไปกับนักเรียน ทั้งในลักษณะของการแนะนำเบื้องต้น และจะกลายเป็นการยืดเวลาให้กลุ่มผู้ชมใช้เวลาในพื้นที่มากขึ้นเช่นกัน   หลังจากที่ได้ชมโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ เด็กๆ จะได้รับบันทึกช่วยจำเล่มน้อยที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละวัย (ระดับเริ่มต้นสำหรับเด็กอายุ 5 - 7 ปี ระดับการสำรวจสำหรับเด็กอายุ 8 - 11 ปี ระดับเรียนรู้ลึกซึ้ง สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป) และมีเนื้อหาเฉพาะในแต่ละแบบหัวข้อการเยี่ยมชม เอกสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น การตระหนัก ด้วยกลวิธีเชิงละเล่น และแน่นอนว่า จะเป็นเครื่องมือช่วยในการเยี่ยมชม เอกสารประกอบการทำงานและการศึกษาเพิ่มเติม   เรื่องของความคุ้มทุนในการปรับปรุงแหล่งการเรียนรู้เชิงท่องเที่ยว และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินการโครงการได้ตระหนักหรือไม่   นอกจากมิติงานมรดกและวัฒนธรรมของโครงการ สภาการปกครองท้องถิ่นได้นำมิติเศรษฐกิจรวมเข้าไปในโครงการด้วย ความปรารถนาหนึ่งของโครงการที่ไม่ใช่เพียงเพื่อการพัฒนาในมิติงานวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคือ การพัฒนาให้สะพานแห่งการ์ดเป็นเสมือนบัตรเชิญให้ผู้คนเข้ามาสำรวจภูมิภาคและสิ่งนำเสนออื่นๆ เป็นเฉกเช่นคันฉ่องสะท้อน "ความรุ่มรวยของการ์ด" เพื่อให้เขาและเธอเหล่านั้นปรารถนาในการสำรวจแหล่งอื่นๆ ในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง   เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน พร้อมไปกับการให้ความเคารพต่อประวัติศาสตร์และสถานที่ การดำเนินงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมของนีมส์อยู่บนพื้นฐานของการคำนึงต่อผลพวงและผลกระทบทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น การจัดการในครั้งนี้จึงเป็นโครงการที่อยู่ในกรอบของเศรษฐศาสตร์งานมรดก อันนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดประสานกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องภายในท้องถิ่น ทั้งเอกชนที่จัดการการท่องเที่ยวและการพักผ่อน และชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่   แปลและเรียบเรียงจาก Serge Lochot. "Le grand site du Pont du Gard",la Lettre de de l’OCIM, no.81, 2002, pp. 13 - 17.  * ชีวสิทธิ บุณยเกียรติ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

การตอบโต้ของโลกตะวันออก การท่องเที่ยว เสน่ห์ตะวันออก และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์

20 มีนาคม 2556

นักวิจัยจำนวaนมากให้ความสนใจกับผลกระทบทางสังคมของการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ประกอบด้วยแนวทางการสิวิจัยกระแสหลักๆ มีอย่างน้อย3 แนว ได้แก่ แนวแรกซึ่งพบมากจะกล่าวถึงประเด็นที่สัมพันธ์กับปัญหาต่างๆ เช่น ปริมาณความหนาแน่นของแหล่งมรดก การลดคุณค่าของงานหัตถกรรมท้องถิ่น การขายวัฒนธรรมพื้นถิ่น การสร้างให้คติชนของชนพื้นถิ่นเป็นเรื่องน่าพิศมัย ไปจนถึงภาวะเงินเฟ้อและปัญหาการลักลอบขนถ่ายวัตถุวัฒนธรรม (Cohen 1988; Philo and Kearns 1993; Van der Borg, Costa and Gotti 1996; Watson and Kropachevsky 1994) หรือนักวิชาการบางคนถึงขนาดมองการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบหนึ่งของการล่าอาณานิคมและ “การขายตัว” (Mathews 1975: 201)   แต่ใช่ว่าผลกระทบทางสังคมของการท่องเที่ยวจะเป็นไปในเชิงลบเสียทั้งหมด การศึกษาจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกระทบเชิงวัฒนธรรมที่เกิดจากการท่อง เที่ยวกลับได้รับความชื่นชมและการต้อนรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจุดหมายปลาย ทาง(Boissevain 1996; Erb 2000; Martinez 1996; Picard 1995) และนักวิจัยอีกหลายคนพยายามสร้างสรรค์แนวทางการจัดการที่สมดุลย์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว (Chang 1997; Jenkins 1997; Newby 1994; Teo and Yeoh 1997)   งานวิจัยกระแสที่สองมองไปที่มิติทางการเมืองในการนิยามและจัดการสิ่งที่เรียก ว่าเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สมดุลย์และให้ความเป็นธรรม ในขณะที่นักวิจัยและผู้ปฏิบัติบางคนกลับไม่เห็นด้วยกับความต้องการที่จะ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสมดุลย์ เพราะคำถามอยู่ที่ว่าแล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร ตัวอย่างเช่นการใช้แนวคิด “ทางเลือกที่สาม” ของกิดเดน ในงานเขียนของเบิร์น (2004) ได้กล่าวถึงมุมมองแบบแยกขั้วของการท่องเที่ยว ในมุมมองหนึ่ง หากมองแบบ “ซ้ายจัด” การพัฒนาต้องมาก่อน (leftist development first) นั่น หมายความว่า “การพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยจะต้องมาจากคนในท้องถิ่นและความรู้จากถิ่นที่นั้น” คำถามหลักของการพัฒนาต้องมองว่า “สิ่งใดบ้างที่การท่องเที่ยวให้กับเราได้โดยไม่ทำร้ายเรา” (Burn 2004: 6) ส่วนมุมมองที่สองมองจาก “ขวาจัด” ที่การท่องเที่ยวต้องมาก่อน (rightist tourism first) มุม มองที่เน้นว่าการตลาดต้องได้ผลประโยชน์อย่างสูงสุด และทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุด ผลิตภัณฑ์จากทุกแหล่งทุกลักษณะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดโดยนักวางแผนภายนอกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ (Burns 2004: 26)   ทางเลือกที่สามได้หาทางออกให้กับผลประโยชน์และเป้าหมายที่ต่างกันให้เป็น ฉันทามติร่วมกัน ทางเลือกที่สามของเบิร์นส์ยังคงเป็นแนวคิดที่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ สังคมที่เป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว(host society) แต่ละแห่งได้พบทางออกของตนเองในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างเดนมาร์กกับสิงคโปร์ กลยุทธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวของเดนมาร์กเน้นไปที่การป้องกันผลกระทบทาง สังคมอันเกิดจากการท่องเที่ยว ในขณะที่ สิงคโปร์กลับซึมซับผลกระทบและจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยโครงการวิศวกรรมทาง สังคม2  (Ooi 2002a) ทั้งทางการสิงคโปร์และเดนมาร์กกล่าวอ้างถึงโครงการต่างๆ ของตนว่าได้สร้างความสมดุลย์ ระหว่างการท่องเที่ยวและความต้องการของท้องถิ่น (Ooi 2002a) วิถี ทางที่สมดุลย์ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและการเมืองของสังคมที่เป็นเจ้าบ้าน กระบวนการทางการเมืองเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดผลประโยชน์ว่าจะตกแก่กลุ่ม ใด   กระแสการวิจัยที่สามที่ศึกษาผลกระทบของการท่องเที่ยวมองไปที่ว่า “ตะวันตก” จินตนาการอย่างไรถึงภาพของแหล่งการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ตะวันตกและที่มีว่า สภาพพัฒนาน้อยกว่า จินตนาการของสังคมตะวันตกส่งผลต่อสังคมเจ้าบ้านและกลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง การล่าอาณานิคม นอกไปจากงานเขียนจำนวนน้อยนิด เช่นงานของมอร์แกนและพริตชาร์ด (1998) อุย, คริสเตนเซน และพีเดอเซน (2004) เซวีน (1993) และซิลเวอร์ (1993) แนวทางการวิจัยแนวนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างจำกัด บทความนี้จัดวางตัวเองอยู่ในกระแสการวิจัยสายนี้ด้วยเช่นกัน   การศึกษาในกระแสดังกล่าวสนใจศึกษาผลกระทบที่ซับซ้อนของภาพลักษณ์แหล่งท่อง เที่ยวของสังคมเจ้าบ้าน ไม่ใช่เพียงภาพตื้นๆ และภาพที่มองอย่างล้อเล่น แต่เป็นภาพส่งอิทธิพลต่อสังคมเจ้าบ้าน และได้รับผลจากสิ่งที่เรียกว่าอิทธิพลตะวันตกต่อชุมชนเจ้าบ้านที่พัฒนาน้อย กว่า การศึกษาดังกล่าวนี้มาจากมุมมองเชิงวิพากษ์ของเอดเวิร์ด ดับเบิลยู. ซาอิด ที่กล่าวถึงแนวคิดนิยมตะวันออก (Orientalism) (Said 1979)   บทความชิ้นนี้จะเปรียบเทียบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์3 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ (SHM) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (SAM) และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย (ACM) ทั้ง สามแห่งนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นเอเชียและแตกต่างกันไปในแต่ละทิศทาง ผู้เขียนขอกล่าวว่ากระบวนการนี้เป็นการสร้างภาพของความเป็นตะวันออกด้วยตนเอง (self-Orientalization) ใน สิงคโปร์ บทความจะแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเรียกร้องอย่างไรต่อแหล่ง ท่องเที่ยวอย่างสิงคโปร์ให้เป็นมากกว่าเอเชีย จุดเน้นของบทความจะอยู่ที่การพิจารณาว่าหน่วยงานการท่องเที่ยวสิงคโปร์และ รัฐบาลสร้างภาพความเป็นตะวันออกของสิงคโปร์ผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง สามแห่งอย่างไร เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวและการสร้างชาติสิงคโปร์ บทความจะย้อนกลับไปตั้งคำถามตามมุมมองของซาอิดเกี่ยวกับอิทธิพลตะวันตกต่อ ตะวันออกในประเด็นที่ว่า สังคมเจ้าบ้านได้ยอมรับและประดิษฐ์สร้างภาพความเป็นตะวันออกในโครงการสร้าง อัตลักษณ์ของตนเองอย่างไร การอภิปรายแนวคิดนิยมตะวันออกไม่ควรจำกัดอยู่เพียงการมองว่าตะวันตกส่ง อิทธิพลต่อตะวันออกที่ “อยู่ใต้อาณัติ” อย่างไร กลุ่มอำนาจในสังคมแหล่งท่องเที่ยวได้เลือกรับและปรับใช้ภาพความเป็นตะวันออก ที่จะยังประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการสร้างภาพอัตลักษณ์ท้อง ถิ่นขึ้นใหม่อย่างไร การสร้างภาพของความเป็นตะวันออกของสังคมเจ้าบ้านจะต้องได้รับการศึกษาและทำ ความเข้าใจจากบริบททางสังคมและการเมืองของท้องถิ่นแห่งนั้น   ในลำดับถัดไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นรูปแบบของอิทธิพลภายในกรอบการ มองของซาอิด ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอกรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์3 แห่งของสิงคโปร์ พิพิธภัณฑสถานสามแห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (STB) เพื่อ สร้างสิงคโปร์ให้เป็นเอเชียมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ได้สร้างให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความโดน เด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านศิลปะของเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียได้ขุดรากเหง้าของบรรพชนสิงคโปร์ที่เชื่อมโยง กับจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง   จากนั้น เป็นการสำรวจว่าพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งสร้างภาพความเป็นตะวันออกของสิงคโปร์ อย่างไร และแต่ละแห่งสร้างเรื่องเล่าใหม่เพื่อปั้นแต่งจินตนาการสนองการท่องเที่ยว และท้องถิ่นอย่างไร ในทำนองเดียวกัน การจะเข้าใจเรื่องเล่าเหล่านี้จะต้องคำนึงสภาพและเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของสิงคโปร์ ส่วนสุดท้ายจะสรุปข้อโต้แย้งและข้อสนับสนุนความเข้าใจที่คลุมเครือของการ ท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นรูปแบบทรงอิทธิพลในการศึกษาการท่องเที่ยวเชิง วิพากษ์   การท่องเที่ยวและแนวคิดนิยมตะวันออก จากแนวทางการวิพากษ์ของฟูโกต์ ซาอิด(1979) ได้ ตั้งคำถามและท้าทายแนวคิดนิยมตะวันออก ซาอิดได้ควบเกลียวของจักรวรรดินิยมทั้งทางวัฒนธรรมและการเมืองเข้าด้วยกัน และได้กล่าวว่า ผู้ที่สร้างภาพของความเป็นตะวันออก ทั้งนักเขียนและนักวิชาการ ‘ตะวันตก’ ผู้ที่ศึกษาความเป็นตะวันออก ได้เคยเสนอภาพที่ผิดพลาด และยังคงนำเสนอภาพที่ผิดพลาดของโลกอิสลามในตะวันออกกลางในลักษณะที่ดูเหมือน ว่าตะวันตกจะครอบงำความเป็นตะวันออกได้ง่ายดาย ซาอิดเชื่อว่าความเป็นตะวันออกไม่ใช่เพียงสาขาวิชา แต่เป็นวาทกรรมเชิงอุดมการณ์ที่ยังคงพันเกี่ยวกับอำนาจของโลกตะวันตกอย่าง ไม่สิ้นสุด ซาอิดให้เหตุผลว่า นักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาตะวันออกได้นำเสนอและแพร่ขยายภาพเฉพาะบางอย่างของ โลกตะวันออก โดยเน้นที่ความแตกต่างของจิตวิญญาณของโลกตะวันออกที่ต่างออกไปจากsinvตรง ข้ามกับจิตวิญญาณของโลกตะวันตก ภาพเช่นนั้นได้สร้าง คัดสรร และกล่าวถึงโลกตะวันออกในลักษณะที่เกินจริง และภาพต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามความจริงเชิงประจักษ์ และลดทอนความสำคัญของความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม รูปแบบสังคม และโครงสร้างการเมืองในสิ่งที่เรียกว่าเป็นตะวันออก แนวคิดที่ซ่อนไว้เมื่อกล่าวถึงความเป็นตะวันออก จึงเป็นภาพของความต่ำต้อย การแสดงอำนาจบาทใหญ่ และไร้ซึ่งอารยธรรม   ตรรกะและหลักการที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีของซาอิดเกี่ยวกับความเป็นตะวันออก บันดาลใจให้นักวิชาการหลายคนได้ขบคิดเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการที่ผู้คนคิดกับ สังคมอื่นอย่างไร และผู้คนเหล่านั้นจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไรในกิจกรรมต่างๆ การอภิปรายด้วยแนวคิดนิยมตะวันออกได้จับประเด็นการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ แอฟริกา(Jeyifo 2000; Mazuri 2000) เอเชียตะวันออก (Clarke 1997; Dirlik 1996; Hill 2000; Hung 2003) และยุโรปตะวันออก (Ash 1989; Kumar 1992; Ooi et al. 2004) การ วิเคราะห์ด้วยมุมมองนิยมตะวันออกยังผลักดันให้นักวิชาการกำหนดกรอบการนำเสนอ ความเป็นอื่นอย่างผิดพลาดและกล่าวอย่างกวาดรวมๆ ไป ทั้งเรื่องเพศและเพศสภาพ (ในงานของ Albet-Mas and Nogue-Font 1998; Lewis 1996; Mann 1997; Prasch 1996) เชื้อชาติและสำนึกชาติพันธุ์ (Jeyifo 2000; Mazrui 2000) และศาสนา (Amstutz 1997; Burke III 1998; Kahani-Hopkins and Hopkins 2002; Zubaida 1995) การ จัดแบ่งระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกไม่ได้แตกต่างไปจากการแยกขั้ว ระหว่างเหนือกับใต้และความจนกับความรวย ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการตอบโต้ต่อโลกาภิวัตน์ ทั้งอิทธิพลทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกตะวันตก (Chua 2003; Klein 2000; Shipman 2002) นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเช่น Clifford (1997) Echtner และ Prasad (2003) Morgan และ Pritchard (1998) Ooi และคณะ (2004) และ Silver (1993) ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของซาอิดทั้งสิ้น   ข้อท้าทายของซาอิดต่อแนวคิดนิยมตะวันออกมีความสำคัญและมีนัยทางการเมือง มุมมองเชิงวิพากษ์แสดงให้เห็นว่าใครได้ประโยชน์ ใครถูกทำลาย ใครเป็นผู้แพร่ภาพ/ แนว คิดเกี่ยวกับตะวันตก และผลจากการรับภาพนั้น แนวทางในการวิเคราะห์จึงเป็นการมองหาสารที่อยู่ในภาพจากการเผยแพร่และความ หมายเชิงอุดมการณ์ที่อยู่ในสารดังกล่าว สารทั้งหมดถูกพิจารณาในฐานะของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างกลุ่มที่นำเสนอภาพความเป็นอื่นอย่างผิดพลาดและตัวผู้ที่ “เป็นอื่น” นั้นเอง คำบางคำจะถูกเลือกเพื่อนำเสนอในสาร ความหมายถูกทำให้เข้มข้นขึ้น แต่ขณะเดียวกันมีความหมายหลายอย่างที่ถูกเลือกทิ้งไป อย่างเช่นภาพของสิงคโปร์ที่ถูกกล่าวถึงในสถานีวิทยุอังกฤษเกี่ยวกับรายการ ท่องเที่ยวพักร้อน งานเขียนของ Morgan และ Pritchard (1998: 225-228) แสดงให้เห็นความน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับว่าสิงคโปร์ถูกสร้างขึ้นอย่างไร ภาพอดีตอาณานิคม ยาแผนจีน (สัตว์เลื้อยคลาน ม้าน้ำ และแมงป่องตากแห้ง) และ กฎเกณฑ์ที่เด็ดขาดเข้มงวด วิทยุไม่ได้พูดถึงว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ขับไล่เจ้า อาณานิคมอังกฤษออกไปในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ มีคนสิงคโปร์จำนวนน้อยมากที่ใช้แพทย์แผนจีนเพื่อการรักษาเป็นทางเลือกแรกใน ปัจจุบัน ส่วนกฎและระเบียบต่างๆ ที่เข้มงวดก็ปรากฏในทุกประเทศรวมทั้งอังกฤษด้วย ฉะนั้น ภาพที่ปรากฏในสื่อจึงเป็นการเสนอว่า สิงคโปร์คือความสำเร็จของอาณานิคมที่ชอบธรรม (ขอบคุณอังกฤษ) สิงคโปร์ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่เปี่ยมด้วยเสนอเอเชียอย่างไม่เสื่อมคลาย และสิงคโปร์ไม่เป็นประชาธิปไตย คนที่มองภาพของสิงคโปร์จะเห็นถึงประสบการณ์ของมรดกอาณานิคมอังกฤษในสิงคโปร์ ได้มองเห็นการเยียวยารักษาของคนเอเชีย และชีวิตที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ภาพและสารประเภทนี้จะเร้าผู้ชม ขายจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยว และให้ภาพของสังคมเจ้าบ้านอย่างดาดๆ   ภาพเช่นว่านี้มีลักษณะที่เป็นแนวคิดนิยมตะวันออก(การสร้างภาพของเสน่ห์ตะวันออก) ประการ แรกภาพดังกล่าวมีลักษณะที่ผิวเผินและมาจากการนำเสนอภาพที่ผิดพลาด แต่กลับถูกนำเสนอด้วยสื่อที่น่าเชื่อถือและปรากฏในลักษณะที่เป็นข้อเท็จจริง ประการที่สอง ภาพดาดๆ ดังกล่าวมุ่งหมายในการย้ำภาพกว้างๆ ของ “ความเป็นอื่น” อยู่แล้ว ในกรณีของสิงคโปร์ก็คือเป็นมรดกอาณานิคมที่ยังคงมีความเคลื่อนไหว ชาวสิงคโปร์ชอบการรักษา “แปลกๆ” และสิงคโปร์ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเสียทีเดียว ประการที่สาม การนำเสนอภาพที่ผิดพลาดกลับได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางและผ่านสถาบัน ต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน กิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และสิ่งที่ได้ยินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ประการที่สี่ สารที่สร้างความเป็นอื่นถูกสร้างผ่านมุมมองของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตัดสินคนอื่นจากสายตาของโลกตะวันตก ผู้เขียนขอชี้แจงดังนี้   สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแล้ว การได้รู้จักกับสังคมที่พวกเขาจะเดินทางไปนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทั้งนี้เพราะการเดินทางมีระยะสั้น พวกเขาขาดความรู้ท้องถิ่น และได้รับข้อมูลที่ผ่านการกรองแล้วจากสื่อการท่องเที่ยวต่างๆ(Ooi 2002b) นัก ท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีภาพที่ฉาบฉวย ซ้ำซาก และคัดสรรมาแล้วเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพราะภาพเหล่านั้นสร้างขึ้นจากแหล่งข้อมูลจำเพาะ จากบทความแนะนำการท่องเที่ยว เรื่องในข่าว หนังสือท่องเที่ยว และเรื่องเล่าจากครอบครัวและเพื่อน แหล่งข้อมูลเหล่านี้จำนวนมากไม่น่าเชื่อถือ เช่น ภาพยนตร์ที่สร้างความน่าสนใจและสร้างเรื่องเล่าต่างๆ เพื่อกระตุ้นความปรารถนาที่จะไปยังสถานที่นั้นๆ ภาพยนตร์อย่างเรื่อง Braveheart และ Lord of the Ring ทำ ให้สก็อตแลนด์และนิวซีแลนด์กลายเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว แต่ใช่ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องจะสร้างเรื่องและภาพในเชิงบวกและถูกต้องตามที่ เป็นจริง ภาพยนตร์ทำเงินของฮอลลีวูด เช่น Tomb Raider ได้ใช้สถานที่บางส่วนของนครวัด (กัมพูชา) และนำไปเชื่อมโยงสถานที่ลึกลับ (ที่ไม่มีจริง) แต่กลับปรากฏอักษรภาพอียิปต์ (ในศาสนสถานทางพุทธศาสนา!) และเป็นสถานที่ของคนพื้นถิ่น (ที่ไปสัมพันธ์กับคนเลว) สำหรับ นักอนุรักษ์ การอ้างอิงเช่นนี้สร้างเรื่องเล่าใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งความพยายามในการอนุรักษ์ศาสนสถานทางพุทธศาสนา และเป็นวิถีทางที่จะชักนำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Winter 2003)   ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมุ่งมองหาภาพเสน่ห์ตะวันออก ภาพเหล่านี้ก็ได้การสร้างอย่างเป็นทางการและส่งเสริมโดยองค์กรในประเทศนั้นๆ เอง ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยมีบทบาทสำคัญยิ่งกับ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่น และการที่นักท่องเที่ยวมีภาพฝังใจเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวเป็นดังที่ว่านี้ จึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางดัง กล่าว เช่น สิงคโปร์มีความสะอาด ได้รับการพัฒนา และพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่การโฆษณาที่พูดถึงเฉพาะความทันสมัยกลับไม่เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ มาเยือนสิงคโปร์(Ooi 2002b) ทั้ง ที่ความสะดวกสบายทันสมัยเยี่ยงในทุกวันนี้ ยังมีความสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย คือ ภาพความเป็นเอเชียยังเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอขายการท่องเที่ยวให้กับนักท่อง เที่ยวชาวตะวันตก แน่นอนว่าความทันเสมัยและความสะดวกสบายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว (Ooi 2002b: 127) นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจำนวนมากที่สนใจไปเยือนสถานที่ที่แตกต่างและไม่ถูกปรับเปลี่ยนไปกับความเป็นสมัยใหม่ (Errington and Gewertz 1989; Jacobsen 2000; MacCannell 1976; Silver 1993; Srrensen 2003) และภาพที่ได้รับการเผยแพร่ยิ่งย้ำเข้าไปใน “ความสำนึกของตะวันตก” (Silver 1993:303)   นอกไปจากภาพนำเสนอตามที่นักท่องเที่ยวต้องการ ตัวแทนส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้ภาพที่ตรึงอยู่ในความคิดของนักท่อง เที่ยวว่าส่งผลต่อประสบการณ์ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมองหาภาพในจินตนาการระหว่างการท่องเที่ยวของเขา(McLean and Cooke 2003; Prentice 2004; Prentice and Andersen 2000; Waller and Lea 1999) แต่ ภาพในจินตนาการของนักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นไปแบบเดี่ยวหรือแข็งทื่อ ตัวแทนส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงพยายามมองหาภาพในจินตนาการที่ชาวตะวันตกหวัง จากแหล่งท่องเที่ยวนั้น ตัวแทนเหล่านี้อาศัยความช่วยเหลือของบริษัทโฆษณาที่มีฐานอยู่ในประเทศตะวัน ตก ดังที่ Pritchard และ Morgan (2000) ได้สำรวจความต้องการที่หลากหลายของนักท่องเที่ยวตะวันตก (และมิใช่ตะวันตก) ตัว แทนเหล่านี้ไม่เพียงนำเสนอภาพของเสน่ห์ตะวันออก แต่ยังทำภาพเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น นั่นคือการสร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็น “ความจริงแท้” เพื่อนักท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีตั้งแต่การแสดง “วูดู” ในไฮติ (Goldberg 1983) จนถึงการขายวัตถุ “ทางศาสนา” ของยิว (เช่น หมวกครอบศีรษะและเทียน) ในอิสราเอล (Shenhav-Keller 1995) และการเยี่ยมเยือนหมู่บ้านมังกาไร “ดั้งเดิม” ในอินโดนีเซีย (Allerton 2003) ภาพลึกลับและน่าพิศมัย (exotic images) แช่ แข็งสังคมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้กับอดีต และไม่ได้สนใจความเปลี่ยนแปลงและสังคมที่เคลื่อนไปสู่การพัฒนา ภาพและการสร้างให้เป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้ย้ำจินตนาการของนักท่องเที่ยวที่ใฝ่ หาเสน่ห์ตะวันออก ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยอย่าง Echter และ Prasad (2003) และ Silver (1993) วิเคราะห์ ให้เห็นว่าภาพตัวแทนที่นำเสนอเกี่ยวกับโลกที่สามในการท่องเที่ยวจัดช่วงชั้น ความสัมพันธ์ของประเทศกำลังพัฒนาไว้ในลักษณะที่ด้อยกว่า สถานที่ต่างๆ มีสภาพที่ล้าหลัง ผู้คนกระตือรือร้นที่จะให้บริการ และแหล่งท่องเที่ยวเช่นนั้นก็เป็นเพียงสนามเด็กเล่นทางวัฒนธรรม   แม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและความเป็นวิชาการ ยังคงตอกย้ำกับภาพจินตนาการเสน่ห์ตะวันออก พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เป็น“บริเวณสัมพันธ์” (contact zones) (Clifford 1997: 188-219) บริเวณสัมพันธ์คือสถานที่ที่ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของกลุ่มถูกแยกออกไปจากกัน ทั้งๆ ที่ยังคงมีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง Clifford (1997) ได้ กล่าวถึงสังคม “ดั้งเดิม” ที่ถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ “อารยะ” การจัดแสดงได้ผลิตซ้ำภาพของชนเผ่า “ดั้งเดิม” ตามที่คนในสังคม “อารยะ” รับรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สร้างภาพของความเป็นอื่นด้วยข้อสมมติฐานและโลกทัศน์ของตนเอง และความเป็นอื่นกลับสร้างภาพของตนเองตามสิ่งจัดแสดงนั้น และสนองตอบต่อการจัดแสดงเช่นนั้น พิพิธภัณฑ์กลายสภาพเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสร้างจินตนาการว่าเขาเป็นใคร และแม่พิมพ์ที่อยู่เบื้องหลังตัวตนที่จัดแสดงนั้นมาจากจินตนาการที่มีต่อผู้ อื่น   โดยสรุปแล้ว นักวิจัยแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบของอิทธิพล ไม่ใช่เพียงแค่การปรากฏตัวของนักท่องเที่ยวหรือความต้องการต่างๆ แต่การท่องเที่ยวยังได้สืบทอดวาทกรรมที่ไม่เที่ยงตรงและการนำเสนอภาพที่ผิด เพี้ยนของประเทศด้อยพัฒนาและไม่ใช่ตะวันตก(Morgan and Pritchard 1998; Ooi et al. 2004; Selwyn 1993; Silver 1993)   ผลลัพธ์หนึ่งคือ“ตลาดการท่องเที่ยวกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอภาพของโลกที่สาม ซึ่งในบางครั้งเป็นไปอย่างซับซ้อน แต่ไม่จริงจัง ภาพที่สืบทอดและย้ำเน้นภาวะอาณานิคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” (Echtner and Prasad 2003: 672) ไม่ ทางใดก็ทางหนึ่ง ภาพที่นำเสนออย่างหยาบๆ สร้างแหล่งข้อมูลพื้นฐานให้แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ตะวันตกได้จินตนาการ ประดิษฐ์สร้าง และเปลี่ยนแปรตัวพวกเขาเอง (Morgan and Pritchard 1998; Ooi et al. 2004)   เมื่อพิจารณาการท่องเที่ยวในรูปแบบของจักรวรรดินิยม แนวโน้มของการวิเคราะห์มักมองอิทธิพลของนักท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อแหล่งท่อง เที่ยว ประหนึ่งว่าสังคมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นฝ่ายตั้งรับและยอมจำนนแต่เพียง แง่เดียว การมองสังคมต้อนรับในลักษณะของฝ่ายตั้งรับและยอมจำนนอาจไม่ถูกต้องนัก ดังที่จะได้แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสิงคโปร์ได้สร้างเสน่ห์ ตะวันออกให้กับรัฐเมือง(city-state) อย่างไร โลกตะวันออกตอบโต้ในเชิงรุกและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์   การสร้างความเป็นเอเชียให้กับสิงคโปร์อย่างเป็นรูปธรรม ในปี1995 ขณะที่สิงคโปร์เผชิญหน้ากับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 3  คณะกรรมการสนับสนุนการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourist Promotion Board – STPB) 4  และกระทรวงข่าวสารและศิลปะ (Ministry of Information and the Arts – MITA) แถลงแบบโครงร่างการพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็น “นครแห่งศิลปะ” (Global City for the Arts) หนึ่งในโครงการต่างๆ คือ สิงคโปร์จะมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ 5  พิพิธภัณฑ์ศิลปะ สิงคโปร์ 6  และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย 7  (Chang 2000; Chang and Lee 2003; STPB and MITA 1995; STPB 1996) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งสามแห่งจะแสดงอัตลักษณ์จำเพาะของรัฐเมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะ ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 สิงคโปร์ ค้นพบว่าภาพของความทันสมัยลดความดึงดูดลง นักท่องเที่ยวกลับเดินทางไปดินแดนที่มีความน่าตื่นตาตื่นใจอื่นๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ (National Tourism Plan Committees 1996) สิงคโปร์จึงกลายเป็นดินแดนที่เคยถูกมองและยังคงได้รับการพิจารณาว่าเป็นเมืองที่ทันสมัยเมืองหนึ่งเท่านั้น   แรงผลักของกลยุทธ์การท่องเที่ยวตั้งแต่กลางทศวรรษที่1990 คือการสื่อสารภาพของสิงคโปร์ในฐานะของแหล่งท่องเที่ยวที่ความทันสมัยคลุกเคล้าไปกับความเก่าแก่ ตะวันออกกลั้วไปกับตะวันตก (Ooi 2004) แม้ จะพบเห็นความทันสมัยอย่างดาดดื่นทั่วสิงคโปร์ แต่คณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์พยายามสร้างภาพของโลกตะวันออกที่น่าพิศ มัยและฝังอยู่ในการพัฒนาและความก้าวหน้าของสิงคโปร์ ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวจะได้รับการบอกเล่าถึงตึกระฟ้าในสิงคโปร์ในทำนองของการสร้าง ตามหลักฮวงจุ้ยของจีนโบราณ ร้านค้ามากมายที่ให้บริการอาหารตะวันตกกับเครื่องเทศเอเชีย และชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษในแบบฉบับของตนเอง (อย่างที่รู้จักกันว่า Singlish) นอกไปจากภาษาอังกฤษแบบมาตรฐาน ความพยายามอื่นๆ ที่ทำให้สิงคโปร์มีความเป็นเอเชียมากขึ้น ด้วยการอนุรักษ์และส่งเสริมเขตจีน (Chinatown) อินเดียน้อย (Little India) และ หมู่บ้านมาเลย์ รวมไปถึงการขายทัวร์นำเที่ยวไปสัมผัสกับวิญญาณเอเชียท่ามกลางเมืองที่ทัน สมัย รวมไปถึงการผลิตของที่ระลึกซึ่งตอกย้ำความเป็นเอเชีย (Chang and Teo 2001; Leong 1997; Ooi 2002b) การ สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสามแห่งยังเป็นความพยายามในการสร้างสิงคโปร์ที่ มีความเฉพาะตัวและเป็นเอเชียมากขึ้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งสามแห่งได้รับการจัดการโดยคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ (National Heritage Board) พิพิธภัณฑ์ เหล่านี้จะกล่าวถึงคนท้องถิ่นและชาวต่างประเทศเกี่ยวกับ “ความเป็นเอเชีย” แบบสิงคโปร์ แต่ละพิพิธภัณฑ์ก่อร่าง ตีความ และสร้างความเฉพาะตัวของความเป็นเอเชียที่แตกต่างกันไปสำหรับสิงคโปร์   อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อคณะกรรมการมรดกแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติLim Siok Peng กล่าวในรายงานประจำปีขององค์กรของเธอ ดังนี้   ในเดือนพฤษภาคม2003 มีโรคซาร์ (Severe Acute Respiratory Syndrome) ระบาด จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 177,808 คน หรือมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนในปี 2002 สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีจำนวนลดลงตามไปด้วย คือมีจำนวนผู้เข้าชมเพียง 17,073 คนในเดือนพฤษภาคม จำนวนดังกล่าวน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เข้าชมโดยเฉลี่ยต่อเดือน (NHB 2004: 4)   เธอยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการตลาดของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติและการประสานงาน กับกรมการคมนาคมสื่อสารที่ร่วมมือกับหน่วยงานการท่องเที่ยวอื่น ได้พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงวิกฤต   เราได้ร่วมมือกับคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ด้วยโปรแกรม ก้าวสู่! สิงคโปร์ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากองค์กรต่างๆ สายการบินสิงคโปร์มีข้อเสนอพิเศษสำหรับเที่ยวบิน เทศกาลสินค้าลดราคา และโปรแกรมการท่องเที่ยวต่างๆโดยสมาคมแหล่งท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Association of Singapore Attractions - ASA) (NHB 2004: 4)   และนอกไปจากนี้คณะกรรมการมรดกแห่งชาติยังพยายามตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ เช่น ตลาดนักท่องเที่ยวจากเมืองจีน   เพื่อการทำตลาดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน เราได้ผลิตแผ่นพับทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เอกสารหนึ่งแสนชุดได้รับการจัดพิมพ์และแจกไปยังสมาคมแหล่งท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม แหล่งท่องเที่ยวประเภทต่างๆ และศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ตามจุดต่างๆ แผ่นพับยังส่งไปยังศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ทั่วทั้งทวีปเอเชีย(NHB 2004:4)   บททบทวนในรายงานประจำปีที่เขียนโดยเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงท่านนั้นยังเน้นถึงการท่องเที่ยวอย่างมาก(NHB 2004: 4-5) นอกจากนี้ยังมีเงินทุนสนับสนุนองค์กรต่างๆ สำหรับการจัดนิทรรศการด้วย   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์เป็นอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแบบนีโอ-คลาสสิค พิพิธภัณฑ์มีประวัติที่ยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่การเริ่มตั้งเมื่อปี 1887 และเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายใต้ชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อปี 1965 ภายหลังจากที่สิงคโปร์ได้รับอิสรภาพ ต่อมาจึงปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ในปี 1996 และในปี 2006 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการขนานนามอีกครั้งว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนและขยายรูปทรงอาคาร (SHM 2005)   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ตอบโต้ต่อภาพที่ผู้คนมักคิดถึงสิงคโปร์ในลักษณะที่ เหมือนๆ กับประเทศอื่นในเอเชีย พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์แสดงแนวโน้มและพัฒนาการสร้างบุคลิกภาพและ ส่งอิทธิพลต่อความเป็นสิงคโปร์ ด้วยการเน้นย้ำถึงสิงคโปร์ร่วมสมัย(STPB and MITA 1995: 17) อดีตอาณานิคมของสิงคโปร์ (ค.ศ. 1819 – ค.ศ. 1963) สงครามโลกครั้งที่ 2 และ การต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองจากเจ้าปกครองอาณานิคมอังกฤษ ประวัติศาสตร์ที่ผันผวนกับประเทศมาเลเซียและการเรียกร้องอิสรภาพของสิงคโปร์ เมื่อปี 1965 เรื่อง ราวเหล่านี้เป็นจุดเน้นของพิพิธภัณฑ์ เมื่อเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์อีกสองแห่ง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์มีส่วนร่วมในโปรแกรมการศึกษาแห่งชาติมากที่ สุด พิพิธภัณฑ์ได้ต้อนรับกลุ่มนักเรียนจำนวนมาก นิทรรศการทำหน้าที่เป็นบทเรียนเสริมประวัติศาสตร์ที่สอนกันในโรงเรียน   อัตลักษณ์เฉพาะของสิงคโปร์ถูกไล่เรียงไปตามลำดับ ดังนี้ สิงคโปร์ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่อังกฤษไม่สามารถปกป้องสิงคโปร์ได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่2 สิงคโปร์ ตกอยู่ในสภาพที่หดหู่ระหว่างการครอบงำของญี่ปุ่น และดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของอังกฤษ จนเปลี่ยนสถานภาพของตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์รัฐมาเลเซีย (1963-1965) แต่ การณ์กลับไม่ดีขึ้น ในท้ายที่สุด แนวคิดของการเป็นรัฐสิงคโปร์เบิกบาน และนำไปสู่การสร้างประเทศให้มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง นี่เองแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ไม่ใช่ทั้งของอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือมาเลเซีย แต่มีองค์อธิปัตย์เป็นของตนเอง ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์บอกกับผู้เข้าชมเกี่ยวสถานการณ์ของสิงคโปร์ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 ว่า   ญี่ปุ่นก้าวล่วงมายังดินแดนแห่งนี้และประกาศตนเป็นผู้ปลดปล่อยเอเชียจากชาติเจ้า อาณานิคม แต่พวกเขากลับทำตนเป็นปฏิปักษ์ด้วยเช่นกัน กระทั่งปฏิบัติต่อราษฎรเลวร้ายยิ่งไปกว่าที่อังกฤษเคยกระทำเสียอีก(NHB 1998: 31)   ข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ย้ำเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในอุษาคเนย์ คือ ความไม่กลมกลืนและไม่เป็นเนื้อเดียวกันของภูมิภาคแห่งนี้ มาเลเซียเกิดขึ้นในปี1963 ด้วย การรวมมาลายา ซาบา ซาราวัค และสิงคโปร์ ประเทศที่เกิดใหม่นี้ไม่ได้รับการต้อนรับจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ยังคงอ้างสิทธิอำนาจเหนือซาบาเมื่อปี 1962 อินโดนีเซีย ไม่ต้องการให้มาเลเซียมีอิทธิพลเหนือเกาะบอร์เนียว ความรุนแรงและการจับตัวประกันเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของมาเลเซียรวมทั้ง สิงคโปร์ เมื่อมีการสถาปนาสหพันธรัฐใหม่เมื่อกันยายน 1963 ความรุนแรงทั้งหลายยุติลงเมื่อซูฮาร์โตก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อตุลาคม 1965 (NHB 1998: 70-71)   พิพิธภัณฑ์บอกกับผู้ชมเกี่ยวกับเรื่องราววุ่นวายต่างๆ ของสิงคโปร์ และขณะเดียวกัน ได้เฉลิมฉลองความสำเร็จทางสังคมและเศรษฐกิจ และภาวะผู้นำของพรรคกิจประชาชน พรรคการเมืองนี้ปกครองสิงคโปร์ตั้งแต่ช่วงปกครองตนเองภายใต้การปกครองของ อังกฤษในปี1959   นโยบายสิงคโปร์เพื่อคนสิงคโปร์เป็นการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนสิงคโปร์โดยไม่ เลือกชาติพันธุ์ สนับสนุนให้คนสิงคโปร์ยังคงรักษาความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และการสร้างรูปแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม เหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะของสิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ยังมองว่าที่สิงคโปร์ก้าวหน้าและพัฒนาไปได้มากกว่าเพื่อนบ้านเช่น นี้ เป็นผลมาจากรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีความซื่อสัตย์   โดยสรุป เรื่องราวที่บอกเล่าในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์บอกกับผู้ชมว่า ชาวสิงคโปร์มีอัตลักษณ์ของตนเอง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ได้อวดอ้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจของรัฐ เมือง และกล่าวกระทบกระเทียบถึงเพื่อนบ้านที่พัฒนาไปได้น้อยกว่า สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือการพยายามบอกเล่าให้เห็นว่าสิงคโปร์ก็เหมือนกับประเทศ เพื่อนบ้านในอุษาคเนย์   พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ ด้วยลักษณะที่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์แสดงอัตลักษณ์ของภูมิภาคอุษาคเนย์ พิพิธภัณฑ์เปิดเมื่อปี1996 และจัดแสดงงานทัศนศิลป์ร่วมสมัยของอุษาคเนย์   พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งแรกๆที่มีการจัดการในระดับ มาตรฐานสากลในภูมิภาคอุษาคเนย์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้สร้างคลังสะสมและจัดแสดงงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย ของศิลปินในสิงคโปร์และอุษาคเนย์ นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังเข้าร่วมกับพิพิธภัณฑ์กระแสใหม่ในการสร้างสรรค์นิทรรศการและ การทำกิจกรรมที่ออกไปพบปะกับชุมชน พิพิธภัณฑ์ได้ดูแลคลังศิลปะของชาติสิงคโปร์และเรียกได้ว่ามีคลังศิลปะศตวรรษ ที่20 ของภูมิภาคนี้ที่ใหญ่ที่สุด และดำเนินการโดยองค์กรสาธารณะอันเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ (SAM 2005)   พิพิธภัณฑ์ศิลปะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้สิงคโปร์เป็นเมืองแห่งศิลปะและเป็นศูนย์ กลางกิจกรรมทางวัฒนธรรมในอุษาคเนย์ นอกจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ยังมีโรงละครแห่งใหม่ หรือEsplanade – Theatres on the Bay (ศูนย์ครบวงจรขนาดมหึมาริมทะเลและอยู่ใจกลางเมือง) สถาบัน แห่งนี้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันให้สิงคโปร์เป็นแหล่งศิลปะร่วมสมัย รวมไปถึงทัศนศิลป์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์วางแผนขยายงาน นอกไปจากการใช้โรงเรียนเก่าของมิชชันนารี พิพิธภัณฑ์จะขยายไปยังศาลาว่าการและอาคารเก่าของศาลสูงสุด   สารที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ส่งไปยังผู้ชมแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ สิงคโปร์ในประเด็นลักษณะเฉพาะของสิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์นำเสนอสิงคโปร์ในแง่ของความสัมพันธ์ที่ร้อยรัดภูมิ ภาคอุษาคเนย์เอาไว้อย่างมั่นคง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ผูกร้อยอุษาคเนย์ไว้เป็นองค์รวมเชิงสุนทรียะ อุษาคเนย์คือความหลากหลายและไม่ได้มีอัตลักษณ์ที่กลั่นรวมเป็นหนึ่งเดียว แม้ผู้คนมากมายจะมองอุษาคเนย์ในฐานะที่เป็นภูมิภาคหนึ่ง และด้วยเหตุที่ประเทศต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันในทางภูมิศาสตร์ จึงทำให้ผู้คนเหมารวมเอาว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการตั้งสมาคมอาเซียน อันประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เพื่อผนึกรวมกันในการต่อต้านคอมมิวนิสต์เมื่อปี1967 ต่อมาภายหลังบรูไน พม่า (เมียนมา) กัมพูชา ลาว และเวียดนามได้เข้าร่วมสมทบ ในปัจจุบันประเทศสมาชิก 10 ประเทศ นับถือศาสนาที่แตกต่างกัน พูดภาษาที่แตกต่างกัน และเคยตกเป็นอาณานิคมของเจ้าอาณานิคมที่ต่างกันเมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่บางประเทศเพิ่งกลายสภาพจากคู่อริกันเมื่อไม่นานมานี้เอง อย่างกรณีเวียดนามที่เข้าครอบครองกัมพูชาระหว่างปี 1979 – 1989 และ ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศก่อตั้งสมาคมอาเซียนเดิม ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์จึงได้สร้างอัตลักษณ์ของอุษาคเนย์ขึ้นอีกประการ หนึ่งคือ ภูมิภาคแห่งสุนทรียะ   พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์สร้างการรับรู้ว่าชุมชนศิลปะในอุษาคเนย์และประสบการณ์ของชุมชนมีทั้งความหลากหลายและรุ่มรวย(Sabapathy 1996) พิพิธภัณฑ์ จึงใช้ยุทธศาสตร์ของความกลมกลืนในความหลากหลายในการสร้างอุษาคเนย์เป็นองค์ รวมสุนทรียะ ประเด็นที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานอย่างเอกอุร่วมกันคือ “ชาตินิยม ปฏิวัติ และความคิดทันสมัย” “ประเพณีของความจริง” “วิถีนามธรรม” “เทพปกรณัมและศาสนา : ประเพณี ในความอัดอั้น” “ฉันและความเป็นอื่น” และ “ความเป็นเมืองและวัฒนธรรมสามัญนิยม” ประเด็นเหล่านี้เชื่อมต่อนิทรรศการหลากหลายในพิพิธภัณฑ์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์พึงระลึกว่า พวกเขาจะต้องนำเสนอลักษณะเฉพาะของพิพิธภัณฑ์ด้วยการกล่าวถึงอัตลักษณ์อุษา คเนย์ในนิทรรศการ   อย่างไรก็ตาม การสร้างความเป็นภูมิภาคแห่งสุนทรียะเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง แม้จะมีการประกาศถึงมิตรภาพที่สนิทชิดเชื้อระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอาเซียนประกาศว่า“ด้วยความเคารพต่ออธิปไตยและสิทธิทรัพย์สินแห่งชาติของประเทศสมาชิก สมาคมอาเซียนเห็นพ้องให้มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติของประเทศสมาชิก สถาปนาเป็นมรดกของอุษาคเนย์ที่จะได้รับการปกป้องจากอาเซียนในฐานะของความ ร่วมมือที่เป็นหนึ่งเดียวกัน” (ASEAN 2000: point1) แต่ กิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ดำเนินการ กลับแสดงให้เห็นถึงจักรวรรดิทางวัฒนธรรมของสิงคโปร์ที่ครอบงำประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ แต่ละประเทศต้องการเก็บสมบัติศิลปะไว้ที่ประเทศของตน และประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ก็ต้องการเป็นศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยด้วยเช่นกัน หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้มีสิทธิ์เช่นเดียวกันในการที่จะสร้างอัตลักษณ์อุษา คเนย์ และเป็นคู่แข่งในการเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของภูมิภาค   พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย(ACM) เป็น พิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภูมิภาคที่นำเสนอมุมมองที่กว้างแต่เป็นอันหนึ่งอันเดียว กันของอารยธรรมและวัฒนธรรมเอเชีย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในกำกับของคณะกรรมการมรดกแห่ง ชาติ เราพยายามสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่มากและหลากหลาย ซึ่งประกอบขึ้นเป็นสังคมสิงค-โปร์ที่หลากชาติพันธุ์ (ACM 2005b).   ปีกแรกของพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียเปิดขึ้นเมื่อปี1997 ที่อาคารโรงเรียนเถ้าหนานบนถนนอารเมเนียน และได้ขยายไปยังอาคารยุคอาณานิคมที่เอมเพรส เพลส (Empress Place) ด้วยพื้นที่ 14,000 ตารางเมตร เมื่อปี 2003 สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำสิงคโปร์ ใจกลางของพื้นที่ด้านธุรกิจการเงิน   ขณะที่บรรพบุรุษของสิงคโปร์จากหลายๆ พื้นที่ในเอเชีย ได้เข้ามาตั้งรกรากบนเกาะสิงคโปร์ในช่วง200 ปี ที่ผ่านมา วัฒนธรรมนั้นถูกนำเข้ามายังดินแดนแห่งนี้โดยผู้คนหลากหลายมีความเก่าแก่ อย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ในแง่นี้จึงเป็นจุดรวมความสนใจของพิพิธภัณฑ์อารยธรรม เอเชีย งานสะสมของพิพิธภัณฑ์จึงเน้นไปที่วัตถุทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่มีรากเหง้ามาจากจีน อุษาคเนย์ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันตก (ACM 2005b).   นอกเหนือจากการเป็นชาวสิงคโปร์ พลเมืองชาวสิงคโปร์ยังถูกกำหนดอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ พวกเขาถูกวางตัวแบบชาติพันธุ์(ethnic model) ให้เป็นชาวจีน (Chinese) มาเลย์ (Malay) อินเดีย (Indian) และอื่นๆ (Others) หรือ CMIO ประชากรสิงคโปร์จำนวน 99% ได้รับการพิจารณาว่าเป็นชาวจีน (77%) มาเลย์ (14%) หรืออินเดีย (8%) และยังมีประเภทเบ็ดเตล็ด (1%) ตัวแบบชาติพันธุ์ CMIO มีนัยทางการเมืองและเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเป็นรัฐชาติ และโครงการจัดการวิศวกรรมทางสังคม (Benjamin 1976; Chua 1995; Pereira 1997; Rudolph 1998; Siddique 1990) บรรพบุรุษของชุมชนจีน มาเลย์ และอินเดียได้รับการนิยามกว้างๆ ว่ามาจากพื้นที่ต่างๆ ของทวีปเอเชีย จีน มาเลเซีย/อินโดนีเซีย และอินเดีย ตามลำดับ การกำหนดตัวแบบชาติพันธุ์กลายเป็นการมองแบบแผนการอพยพและวัฒนธรรมของ บรรพบุรุษอย่างง่ายๆ เกินไป เพราะอันที่จริงแล้ว ประเทศหรือภูมิภาคทั้งสามไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันในตัว พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียใส่ใจต่อความหลากหลาย แต่ไม่ได้พิถีพิถันนัก ตัวอย่างเช่น   จีนเป็นภาคส่วนที่กอปรด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละภูมิภาค และได้รับการร้อยรัดด้วยระบบต่างๆ เช่น ระบบปกครองจักรพรรดิ ระบบการเขียนร่วมกัน และการจัดช่วงชั้นทางสังคมที่มาจากแนวคิดของลัทธิเต๋า จีนมิได้เป็นประเทศที่มีกำเนิดเป็นหนึ่งเดียวที่อารยธรรมถูกครอบงำด้วย วัฒนธรรมฮั่น(ACM 2005b)   ด้วยการย้ำแนวคิดกว้างของการเป็นจีน อินเดีย มาเลย์มุสลิม พิพิธภัณฑ์เสนอว่าชาวสิงคโปร์ควรภูมิใจกับอดีตของบรรพบุรุษ เพราะอดีตเหล่านั้นเป็นแหล่งของการสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์เอเชียของชาว สิงคโปร์ กรอบการมองสิงคโปร์ดังกล่าวต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่มอง สิงคโปร์ในฐานะของประเทศเกิดใหม่ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียอ้างอิงสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ขณะที่สิงคโปร์ตั้งอยู่ท่ามกลางโลกมุสลิมมาเลย์ แต่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียเลือกย้อนรอยประชากรสิงคโปร์ที่เป็นมุสลิมมา เลย์ไปยังตะวันออกกลาง มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง การย้ำอัตลักษณ์ของสิงคโปร์โดยผูกโยงกับอดีตของประเทศอื่นนั้นเป็นเหมือนดาบ สองคม ขณะที่ชาวสิงคโปร์เชื่อมโยงตัวเขาเองกับอดีตของประเทศต่างๆ ตามที่พิพิธภัณฑ์ได้เสนอไว้ พวกเขากลับเชื่อมโยงตัวเองกับสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในปัจจุบันของ ประเทศนั้นๆ ได้ง่ายกว่า ด้วยเหตุที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด รัฐบาลสิงคโปร์ยอมรับอย่างชัดแจ้งว่า ชาวสิงคโปร์มาเลย์สามารถละทิ้งสำนึกรัฐชาติไปได้ ในกรณีที่สิงคโปร์เกิดขัดแย้งกับประเทศใดในสองประเทศนั้น(Ooi 2003: 82-83) ด้วยเหตุว่ามาเลย์ทั้งหมดในสิงคโปร์เป็นมุสลิม พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียจึงมุ่งมองประชากรสิงคโปร์มาเลย์โดยเชื่อมโยงกับตะวันออกกลาง   พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียได้รวบรวมมรดกวัตถุที่ประเมินค่ามิได้จากสถานที่ที่กล่าวไว้ แล้ว และนำเสนอให้ผู้ชมได้เห็น “มรดกบรรพบุรุษ” ของชาวสิงคโปร์ (STPB and MITA 1995: 17) วัตถุจัดแสดงบางชิ้นหมายรวมถึง วัตถุที่ปรากฏลายมือเขียนศตวรรษที่ 18 จากอิหร่านและตุรกี ประติมากรรมราชวงศ์ถังศตวรรษที่ 7 จาก จีน และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมจากวัดนาคหลายแห่งในอินเดีย ในการประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ได้จัดส่วนที่เรียกว่านิทรรศการยอดนิยมเพื่อดึงดูดผู้ชมให้มาก ขึ้น นิทรรศการเหล่านี้รวมถึงพุทธศิลป์จากอินโดจีนและสมบัติจากวาติกัน   ดังนั้น พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียจึงเป็นแหล่งที่แสดงมรดกเอเชียเก่าอันยิ่งใหญ่ ความยิ่งใหญ่และชัยชนะของบรรพบุรุษสิงคโปร์ได้รับการกล่าวขวัญ และคุณค่าที่บอกเล่าผ่านมรดกวัตถุได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนสิงคโปร์ทุก วันนี้ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่เน้น ความแตกต่างของสิงคโปร์จากประเทศเพื่อนบ้าน ต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ที่พยายามนำเสนอความเป็นอุษาคเนย์ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเซียกลับสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของสิงคโปร์ด้วยการ อ้างอิงสายสัมพันธ์บรรพบุรุษกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่คัดเลือกกับ บางกลุ่มประเทศและบางชุมชน สายสัมพันธ์เหล่านี้คือรากลึกของความเป็นเอเชียของสิงคโปร์   กระบวนการการสร้างนักท่องเที่ยวและเสน่ห์ตะวันออกในบริบท (Touristification and Orientalization processes in context) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย เป็นสถาบันในระดับประเทศที่สร้างความเป็นเอเชียของสิงคโปร์ สถาบันเหล่านี้ไม่ได้เพียงแสดงบทบาทตามโครงการวิศวกรรมทางสังคม(social engineering programmes) แต่ ยังแสดงบทบาทสำคัญต่อการสร้างสิงคโปร์ให้เป็นเอเชียมากขึ้นสำหรับนักท่อง เที่ยวชาวตะวันตก อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สิงคโปร์ได้พัฒนาสู่เมืองที่ทันสมัย และกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ตระหนักว่า สิงคโปร์ได้สูญเสียเสน่ห์ตะวันออกซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวคาดหวังและ เรียกร้อง พิพิธภัณฑ์จึงพยายามสร้างเสน่ห์ตะวันออกให้กับสิงคโปร์เสียเอง   Adorno และ Horkheimer (1972) วิเคราะห์ ไว้ว่ามีแนวโน้มของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในการแทรกความหมายที่สองอย่างเป็นระบบ และเข้าไปแทนที่ความหมายเดิม กระบวนการสร้างเสน่ห์ตะวันออกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์สามารถทำความเข้าใจได้ในบริบทนี้ ผู้เขียนขออธิบายดังต่อไปนี้ ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เรื่องราวจะถูกนำเสนอ และความหมายจะถูกผนวกเข้าไปในวัตถุทางวัฒนธรรม การตีความใหม่และความหมายใหม่นี้เกิดขึ้นในการจัดแสดง ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์สก็อตแลนด์บอกเล่าเรื่องราวและนำเสนอนิยายปรัมปราของสก็อตแลนด์ใน สภาพแวดล้อมของความเข้าใจทางวัฒนธรรมการเมืองร่วมสมัยของประเทศ (Cooke and McLean 2002; Mclean and Cooke 2003; Newman and McLean 2004) ความหมายและบริบทเบื้องหลังสิ่งจัดแสดงถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ นักวิชาการอย่าง Hudson (1987) และ O’Doherty (1986) ชี้ ให้เห็นว่าสิ่งจัดแสดงชิ้นหนึ่ง เช่น ภาพเขียนเก่าหรือประติมากรรม มักมีหน้าที่บางอย่างในความหมายแวดล้อมเดิม เช่น โบสถ์ วัด หรือบ้าน เพื่อสร้างศรัทธาและอารมณ์ร่วม แต่เมื่อกลายมาเป็นสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ วัตถุกลับถูกถอนรากและเข้ามาอยู่ใน “บรรยากาศว่างเปล่าและไม่เป็นธรรมชาติ ในพื้นที่ท่ามกลางงานศิลปะอื่นๆ และแข่งขันกันดึงดูดความสนใจ ในสภาพและเงื่อนไขเช่นนั้น ความรู้สึกกลับหมดความหมาย ความรู้เข้ามาแทนที่และพิพิธภัณฑ์กลายเป็นอารามแห่งความเป็นวิชาการ (temple of scholarship)” (Hudson 1987: 175) พิพิธภัณฑ์ ในฐานะพื้นที่ที่นำเสนอภาพตัวแทน ได้เข้าไปตีความและสร้างบริบทให้กับวัตถุจัดแสดงใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียได้สร้างและสอดใส่เรื่องราวและคำบรรยายเข้าไปใน วัตถุจัดแสดง เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสน่ห์ตะวันออกของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในกระบวนการสร้างเสน่ห์ตะวันออกในพิพิธภัณฑ์ ทั้งสามแห่งนี้   ประการแรกและสำคัญยิ่ง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียใช้กระบวน “การสร้างเอเชียใหม่” (‘reasianization’ process) (Hein and Hammond 1995) กระบวน การนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสิงคโปร์ กระบวนการสร้างเอเชียใหม่พบได้ในประเทศต่างๆ ของเอเชียที่ต้องการค้นหาและสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในเอเชีย (Hein and Hammond 1995) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 เมื่อ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลายประเทศในเอเชีย อย่างญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ พยายามแสดงอิทธิพลของตน นักวิชาการและนักวิจัยหลายคนทำนายถึงเศรษฐกิจของตะวันออกไกลที่จะเข้ามามี อิทธิพลเหนือเศรษฐกิจตะวันตก มุมมองดังกล่าวบันดาลใจให้เกิดกระบวนการสร้างเอเชียใหม่ ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการ เมืองในศตวรรษที่ 21 กระบวนการสร้างเอเชียใหม่เป็นกระบวนการ “เสน่ห์ตะวันออกแบบย้อนกลับ”   กระบวนการ(เสน่ห์ตะวันออกย้อนกลับ) นี้ นำมาซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมชุดใหม่ให้กับสังคมในเอเชียตะวันออกและอุษาคเนย์ โดยนักสังคมศาสตร์ชาวตะวันตก เพื่อเทียบให้เห็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นล่าสุดในเอเชียกับความนิ่งสนิทและ ความไร้ระเบียบของระบบเศรษฐกิจและสังคมตะวันตกร่วมสมัย การเปรียบดังกล่าวสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายการสร้างชาติของผู้นำทางการ เมืองในประเทศเหล่านั้น เช่น สิงคโปร์ และนำไปสู่ความพยายามในการนิยามและสร้างความเป็นสถาบันให้กับคุณค่าหลัก (Hill 2000).   ผู้คนจำนวนมากมองว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเหมือนการแตก กิ่งก้านจากลัทธิเต๋า คุณค่าของเต๋าอย่างที่ปรากฏในญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเสือเอเชีย(ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง) ได้สร้างชุดจริยธรรมของการทำงานคือ การทำงานหนัก คิดถึงกลุ่มร่วมงาน สะสมทรัพย์ เรียกได้ว่ามีความใกล้ชิดกับลัทธิทุนนิยม (Hofheinz and Calder 1982; Kahn and Pepper 1979; Vogel 1979) ลัทธิเต๋าและคุณค่าแบบเต๋าได้รับการยอมรับในเชิงบวกขึ้นมาในบัดดล   คุณค่าเหล่านี้เคยถูกมองว่าต่อต้านความก้าวหน้าและต่อต้านการพัฒนา(Hill 2000) เมื่อทศวรรษ 1980 นี้เองที่รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มให้ความสำคัญกับรากความเป็นเอเชียของสิงคโปร์ และเริ่มกระบวนการสร้างเสน่ห์ตะวันออกแบบย้อนกลับ (Hill 2000) กระบวนการไม่เคยหยุด ลัทธิเต๋าเบ่งบานขึ้นมาจากวาทกรรมตะวันออกอีกชุดหนึ่ง (Chua 2005) คุณ ค่าแบบเต๋ากลายความหมายมาเป็นคุณค่าแบบเอเชียของสิงคโปร์ การเน้นที่ลัทธิเต๋าเพียงประการเดียวในสิงคโปร์ ได้มอบสิทธิพิเศษให้กับชาวจีน และกันชาวมาเลย์และอินเดียให้อยู่ชายขอบ โดยมิได้ตระหนัก รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้สร้างโปรแกรมวิศวกรรมสังคม ที่ได้กลายรูปไปตามแนวคิดของเต๋า เพื่อให้ชาวสิงคโปร์ได้เรียนรู้วินัยทางสังคม เอกภาพของสังคม และความรับผิดชอบต่อชุมชน (Chua 1995; Hill 2000; Lam and Tan 1999) ความภาคภูมิใจในความเป็นเอเชียได้รับการถ่ายทอดไปสู่การท่องเที่ยว ตามแบรนด์ของการประชาสัมพันธ์สิงคโปร์ “เอเชียใหม่” เมื่อปี 1996 (Ooi 2004) ทั้งแบรนด์นั้นและแบรนด์ปัจจุบัน “สิงคโปร์ที่เป็นหนึ่ง” (Uniquely Singapore) ต้องการสื่อสารให้เห็นว่าสิงคโปร์อยู่ในภูมิภาคที่มีพลวัตทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Ooi 2004)   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเอเชียใหม่เพื่อฉลองการผงาดขึ้นของเอเชีย สิงคโปร์สร้างเสน่ห์ตะวันออกอย่างภาคภูมิใจ เพราะภาพลักษณ์ในสายตาโลกกำลังเป็นไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์รู้จักเลือกใช้ส่วนดีของวาทกรรมตะวันออกในการวางโครงการสร้าง ความคล้อยตาม และเชิญชวนชาวสิงคโปร์ให้เป็นประชากรที่ทำงานหนักและเคารพต่อฝ่ายบ้านเมือง(Chua 1995) แต่กลยุทธ์ในการสร้างเสน่ห์ตะวันออกก็แตกต่างกันไปในพิพิธภัณฑ์ทั้งสามแห่ง   ขณะที่ให้ความสำคัญกับความเป็นสิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ได้พยายามถอดภาพเดิมของตะวันออกจากสายตาของ ผู้มาเยือนที่มีต่อสิงคโปร์ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ภาพลักษณ์ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กล่าวถึงสิงคโปร์คือภาพจำเพาะเจาะจงและลงลึก ในรายละเอียด พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์มุ่งแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของสิงคโปร์ในอุษา คเนย์ สิงคโปร์มีความแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ให้ตัวอย่างประวัติศาสตร์ทั้งของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเชีย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นซึ่งมีความไม่ลงรอยและความขัดแย้งอย่างรุนแรง นิทรรศการยังมีส่วนที่บอกเล่าความแตกต่างของชุมชนชาวจีนในสิงคโปร์ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าชาวจีนเหล่านั้นพูดภาษาที่ต่างกัน และมีแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ และการปฏิบัติที่แตกต่างกัน นอกไปจากนี้ สิงคโปร์ได้รับการนำเสนอถึงความพิเศษ เพราะได้พัฒนาเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเนื่องด้วยมีรัฐบาลที่ ดี ไม่เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ หรือกล่าวได้ว่าสิงคโปร์ทั้งเป็นเอเชียและทั้งทันสมัยด้วยวิถีทางของตนเอง   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ท้าทายภาพของเสน่ห์ตะวันออกที่นักท่องเที่ยวอาจมีอยู่ เกี่ยวกับสิงคโปร์ ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย พิพิธภัณฑ์อวดอ้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐเมืองทั้งที่ต้อง เผชิญหน้ากับความขัดแย้งและสถานการณ์ที่คลุมเครือของเอเชีย   พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์มีลักษณะที่แย้งกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์กลับสร้างวาทกรรมเสน่ห์ตะวันออกขึ้นใหม่ พิพิธภัณฑ์ได้สร้างภาพของตะวันออกให้กับสิงคโปร์และภูมิภาค พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์พยายามยืนยันการเป็นผู้นำในอุษาคเนย์และสร้างเรื่อง เล่าแบบเสน่ห์ตะวันออก ด้วยการสร้างให้อุษาคเนย์เป็นภูมิภาคแห่งสุนทรียะ(aesthetic region) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ภูมิภาคมีความหลากหลาย และมีประชากรมากกว่า 500 ล้านคนในปัจจุบัน ภูมิภาคประกอบด้วย 10 ประเทศ ที่ต่างกัน และในแต่ละแห่ง มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม หากกล่าวถึงศิลปะร่วมสมัย ก็มีรูปแบบที่หลากหลายในทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ภาพเขียนหมึกจีนจนถึงผ้าบาติกชวา ภาพอิมเพรสชั่นนิสม์เวียดนามจนถึงประติมากรรมเชิงนามธรรมของสิงคโปร์ ด้วยเหตุที่การสร้างลักษณะของศิลปะที่เรียกว่าเป็นของอุษาคเนย์โดยแท้ ไม่ใช่เรื่องง่าย พิพิธภัณฑ์จึงนำเสนอความหลากหลายของรูปแบบทัศนศิลป์ที่ปรากฏในภูมิภาคอย่าง ตรงไปตรงมา แล้วจึงจัดแบ่งกลุ่มของผลงาน   คณะกรรมการมรดกแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ยังต้องทำงานไปตามแผนงานของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย(STPB and MITA 1995) ด้วย เหตุนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์จึงเชิดชูกับความหลากหลายในอุษาคเนย์ พร้อมกันนั้นก็ต้องสร้างภาพของภูมิภาคที่มีความกลมกลืนทางศิลปะ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ได้ประดิษฐ์สร้างอัตลักษณ์ภูมิภาคอุษาคเนย์ ไปอีกลักษณะหนึ่ง เรื่องเล่าที่นำเสนอดังกล่าวสถาปนาให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางศิลปะของภูมิภาค ฉะนั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์จึงพยายามเข้ามาลบภาพเสน่ห์ตะวันออกเก่าที่มีต่อ อุษาคเนย์ ซึ่งปฏิเสธศิลปะในภูมิภาค และทดแทนด้วยภาพในมุมมองใหม่ที่สร้างให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางศิลปะและ วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์สร้างภาพตะวันออกใหม่ให้กับสิงคโปร์และภูมิภาคด้วยเรื่องเล่าของ ตนเอง   พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียย้ำภาพเสน่ห์ตะวันออกบางภาพ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียมีความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะ สิงคโปร์ ด้วยการนำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรมของอารยธรรมใหญ่ของเอเชีย พิพิธภัณฑ์ไม่ได้อ้างถึงรากทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ร่วมกัน ระหว่างจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง แต่เป็นการสร้างกรอบของภาพร่วมระหว่างจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง

พิพิธภัณฑ์ลาว: จินตนาการเรื่องชาติและความทรงจำทางประวัติศาตร์

21 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์เป็นผลผลิตอันเนื่องมาจากจินตนาการชาตินิยมยุคสมัยใหม่และเป็นสถานที่แสดงความทรงจำของชาติ พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากสำนึกของมนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ตระหนักในความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ สิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนในสำนึกดังกล่าวคือการรักษาไว้ซึ่ง "มรดก" (heritage) แม้บางครั้งมรดกที่ว่านั้นมีอายุเพียงแค่ไม่กี่สิบปี การพยายามอนุรักษ์มรดกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดัชนีชี้วัดอย่างดีต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่า "มรดก" ของพวกเขานั้นกำลังจะสูญสลายไปในไม่ช้านี้ รัฐเองก็มีจินตนาการเรื่องพิพิธภัณฑ์และให้ความสำคัญในเรื่องของ "มรดก" โดยจินตนาการพิพิธภัณฑ์ของรัฐลาวสมัยใหม่กำเนิดขึ้นในช่วงอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (The Ecole Francaise d’Extreme Orient) ก่อตั้งขึ้นที่ไซ่ง่อน ในปี ค.ศ. 1898 และได้จัดตั้งคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งอินโดจีนขึ้น (Directorate of Museums and Historical Monuments of Indochina) เพื่อปฏิบัติงานในด้านการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่าง ๆ ทั่วอินโดจีน เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศเข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเวียงจันทน์ ฝรั่งเศสจึงเริ่มกระบวนการปฏิสังขรณ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันได้แก่ธาตุหลวงและโบราณสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศลาว ต่อมาสถานที่ดังกล่าวเหล่านั้นถูกผนึกรวมเป็นชุดภาพสัญลักษณ์อาณานิคมฝรั่งเศส เหมือนว่าถ้าเห็นธาตุหลวงต้องนึกถึงลาว หรือเห็นนครวัดต้องนึกถึงกัมพูชา ต่อมาภายหลังชุดภาพสัญลักษณ์เกิดขึ้นทั่วประเทศลาว อาทิ วัดเชียงทองเป็นตัวแทนของหลวงพระบาง ทุ่งไหหินเป็นตัวแทนของเชียงขวาง ธาตุอิงฮังเป็นตัวแทนของสะหวันนะเขต และวัดพูเป็นตัวแทนของจำปาศักดิ์ ธาตุหลวงเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ หรือในบางครั้งใช้ประตูชัยเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ การให้ความหมายของภาพชุด "มรดก" ลาวดังกล่าวยังพบอยู่ในธนบัตรและแสตมป์ ภาพตัวแทนที่ปรากฏในบริบทต่าง ๆ กลายเป็นภาพที่ทรงอำนาจอย่างมากในการสร้างจินตนาการความเป็นชาติลาว ความเกี่ยวข้องของคนลาวเองในพิพิธภัณฑ์วิทยาเกิดขึ้นก็ เมื่อล่วงเข้าทศวรรษที่ 1930 เมื่อเจ้าสุวันนะพูมา (เจ้าสุวันนะพูมาเป็นโอรสองค์ที่สามของมหาอุปราชบุนคง(วังหน้าของกษัตริย์ ลาว) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศลาว สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง-ผู้แปล) สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และได้เข้ามารับผิดชอบงานปฏิสังขรณ์หอพระแก้วในปี ค.ศ. 1936 โดยมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วย เจ้าสุวันนะพูมาได้เขียนไว้ในรายงานการปฏิสังขรณ์หอพระแก้วว่า "คนลาวแม้จะไม่ได้มั่งมีอะไรแต่เต็มใจที่จะทำบุญและบริจาคเงินเพื่อซ่อมแซม ศาสนสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของประเทศของพวกเขา" 30 ปีให้หลังมีงานเขียนเกี่ยวกับประวัติการบูรณะหอพระแก้ว แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสแต่อย่างใด "หอพระแก้วได้รับการปฏิสังขรณ์โดยคนลาวเอง และไม่ใช่เป็นความภาคภูมิเพียงเล็กน้อยสำหรับฉัน(เจ้าสุวันนะพูมา-ผู้แปล) ต่อเกียรติภูมิของหอพระแก้วที่เป็นจุดศูนย์รวมใจของเพื่อนรวมชาติ แต่การบูรณะหอพระแก้วถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติลาว" (ปัจจุบันหอพระแก้วเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป กลองสำริด -ผู้แปล) ชัดเจนอยู่แล้วว่าการเลือกเน้นย้ำและตีความเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัย อาณานิคมเสียใหม่เกิดขึ้นเป็นปกติในกลุ่มลัทธิหลังอาณานิคม แม้กระทั่งหลังปี ค.ศ. 1975 ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ลาวหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของธาตุ หลวงที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1985 ก็ไม่กล่าวถึงงานปฏิสังขรณ์ที่ทำโดยรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ผลงานที่ระบอบเก่าเคยทำก็ถูกขับออกไปจากประวัติศาสตร์ของรัฐบาลในระบอบใหม่ในปี ค.ศ.1980 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาว(Lao Museum of the Revolution) ก่อตั้งขึ้นภายในอาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลบนถนนสามแสนไท ในกรุงเวียงจันทน์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำงานของเจ้าสุวันนะพูมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องการต่อสู้ปฏิวัติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรค รวมถึงการสร้างประเทศใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม เมื่อนโยบายจินตนาการใหม่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1986 ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจของลาวผ่อนคลายจากแนวทางสังคมนิยมมากขึ้น การเล่าเรื่องและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จึงผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยเช่นกัน "ห้องเลนิน" ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตถูกปิดลง การเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันมีน้อยลง นิทรรศการแสดงความขัดแย้งทางพรมแดนไทย-ลาวที่เกิดขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1980 เริ่มลดน้อยลง(กรณีบ้านร่มเกล้าและสามหมู่บ้าน-ผู้แปล) คนลาวจำนวนไม่มากนักที่จะเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนดูส่วนหนึ่งคือเด็กนักเรียนและสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาวรุ่นเยาว์ที่ถูกเกณฑ์มาชม กลุ่มผู้ชมที่ดูจะกระตือรือล้นในการเข้าชมดูเหมือนจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย แม้เพียงแค่แม่น้ำโขงกั้น ในสายตาของคนไทยประเทศลาวคือความเป็นอื่น คนไทยต้องการสัมผัสกับคอมมิวนิสต์จริง ๆ หลังจากที่เคยได้ยินแต่การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์ แม้คนไทยจะเห็นว่าวัดวาอารามและโบราณสถานต่าง ๆ ของลาวคล้ายคลึงกับไทยก็ตาม แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยเห็นว่าพัฒนาการชาติลาวและการประสานรวมความเป็นชาติลาวแตกต่างจากไทยอย่างไร ในปี ค.ศ. 1997 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ" (Lao National Museum)ในปี ค.ศ. 1994 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "สวนวัฒนธรรมบรรดาเผ่าแห่งชาติ" ตั้งอยู่ชานกรุงเวียงจันทน์ เพื่อให้เป็นสถานที่ดำรงรักษา ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปหัตถกรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว อย่างไรก็ดีเมื่อพิพิธภัณฑ์นี้เปิด มันกลับกลายเป็นสถานที่ปิกนิกและพักผ่อนหย่อนใจของชาวลาวและนักท่องเที่ยวชาวไทยไป ด้านหนึ่งทำเป็นสวนสัตว์ ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้จำลองบ้านบรรดาชนเผ่าในลาวมาให้ชมได้แก่ "บ้านลาวสูง" "บ้านลาวเทิง" และ "บ้านลาวลุ่ม" แต่ทั้งที่อ้างตั้งแต่แรกก่อสร้างว่า "วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ก่อสร้างในสวนแห่งนี้จะสะท้อนคุณค่าทางศิลปะ ทักษะ และเทคนิค" ของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าบ้านลาวสูงและลาวเทิงกลับมีส่วนที่สร้างด้วยคอนกรีต มีแต่เพียงบ้านของลาวลุ่มเท่านั้นที่ดูจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง การจัดแสดงบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ลาวต้องการบอกให้รู้ว่าประเทศลาวมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเท่านั้น นัยหนึ่งที่สวนแห่งนี้จัดให้มีสวนสัตว์ ศูนย์แสดงรูปจำลองไดโนเสาร์ (เป็นการอ้างถึงว่ามีการขุดพบซากกระดูกไดโนเสาร์ในแขวงสะหวันนะเขต) และบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ในบริเวณเดียวกัน จึงคล้ายกับเป็นสิ่งยืนยันอคติในส่วนลึกที่มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นพวกที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม (primitive) และล้าหลัง (backward)กล่าวได้ว่าโครงการพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในลาวเกิด ขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เมื่อยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก สถาปัตยกรรมทั้งวัดวาอาราม ที่อยู่อาศัย รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเมืองได้รับการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาวได้ กล่าวถึงบทบาทของเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวงว่าเป็นผู้มีส่วนในการปฏิสังขรณ์ โบราณสถานในหลวงพระบางหลังจากถูกทำลายในศตวรรษที่ 19 (จากศึกฮ่อ-ผู้แปล) แม้เป็นการกล่าวถึงอย่างรวบรัด แต่แสดงให้เห็นว่าบทบาทของกษัตริย์กลายเป็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของรัฐบาลลาว ในระบอบใหม่ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการเลือกตีความหรือกีดกันบทบาทของ กษัตริย์เมื่อต้องเล่าเรื่องเมืองหลวงพระบางแปลและเรียบเรียงจาก Evans, Grant. 1998. "Statue and Museums." in The Politics of Ritual and Remembrance Laos since 1975. Chiang Mai: Silkworm Books, pp. 114-128.

เรื่องเล่า ประสบการณ์ และเสียงของผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทย

08 สิงหาคม 2562

          เมื่อสองสามปีที่แล้วในงานสัมมนาทางวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ของมิวเซียมสยาม คุณฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) นำเสนอเรื่อง “เสียงของผู้ชนะ: เล่าเรื่องชาติจากมุมของผู้หญิงเวียดนาม” [1] เธอเล่าถึงวีรกรรมหรือวีรสตรีผู้กอบกู้ชาติ ที่เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดา แต่พวกเธอมีส่วนในขบวนการกอบกู้เอกราชและสร้างชาติ และกลายมาเป็นเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์อย่างภาคภูมิ ซึ่งจุดประกายให้ผู้เขียนกลับมาย้อนคิดถึงเรื่อง “ผู้หญิง” ในพิพิธภัณฑ์ของไทย           คำถามที่เกิดขึ้นคือ พิพิธภัณฑ์ในไทยเปิดพื้นที่สำหรับเรื่องเล่าและเรื่องราวของผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน ผู้หญิงแบบไหนที่ถูกเล่าในพิพิธภัณฑ์ พวกเธอถูกนำเสนอในบริบทใด การตีความ สร้างความหมาย เพื่อสื่อสารกับสาธารณะเป็นอย่างไร ข้อเขียนนี้เป็นมุมมองของผู้เขียนต่อพิพิธภัณฑ์ไทยที่ว่าด้วยเรื่องผู้หญิง ผ่านประสบการณ์การเยี่ยมชม การสัมภาษณ์ การทบทวนจากหนังสือ งานเขียน และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนจะเริ่มจากการมองภาพรวม ทบทวนให้เห็นความหลากหลายของพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง จากนั้นเลือกกรณีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับผู้หญิง 3 แห่ง เพื่อฉายภาพเชิงลึกให้เห็นเรื่องเล่า เสียง และประสบการณ์ของผู้หญิง ว่าพวกเธอต้องการสนทนาอะไรกับสังคม อันได้แก่ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ จังหวัดนนทบุรี เงื่อนไขสำคัญที่เลือกพิพิธภัณฑ์สามแห่งดังกล่าวมีอย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือพิพิธภัณฑ์ทั้งสามแห่งแสดงถึงความหลากหลายของเรื่องราวและเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ และประการที่สองคือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมและได้สัมภาษณ์เจ้าของหรือภัณฑารักษ์ที่มีส่วนในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ ผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทย: ภาพจากการสำรวจเบื้องแรก           จากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร แสดงตัวเลขให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง คือ 1,470 แห่ง(ณ มกราคม 2561) (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547) มีทั้งพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยรัฐหรือราชการ และพิพิธภัณฑ์ที่ทำโดยชาวบ้าน สัดส่วนเกือบครึ่งต่อครึ่ง เนื้อหาที่นำเสนอก็หลากหลายมาก ส่วนใหญ่กว่าครึ่งว่าด้วยเรื่องวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ นอกนั้นเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โบราณคดี ฯลฯ           ในเบื้องแรกผู้เขียนลองเจาะจงไปดูพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเกี่ยวกับผู้หญิง ทั้งจากฐานข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของผู้เขียนเอง เห็นว่าแม้จำนวนพิพิธภัณฑ์ไทยที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงมีไม่มากนัก แต่หากจะมองทะลุไปถึงหัวข้อ(theme)ของการเล่าเรื่อง พบว่า “พื้นที่ผู้หญิง” ที่ได้รับการนำเสนอมีความน่าสนใจและค่อนข้างหลากหลาย อาทิ วีรกรรม งานสาธารณะประโยชน์ ครอบครัว ผลงาน การหาเลี้ยงชีพ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก           “วีรสตรี” ในตำนานและประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่อยู่ในแวดวงชนชั้นปกครอง ส่วนใหญ่เป็นชื่อที่คนทั่วไปคุ้นเคยเช่น ท้าวสุรนารี ท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร พระนางจามเทวี วีรกรรมของกลุ่มสตรีดังกล่าวผู้เขียนพบว่ามักได้รับการบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์เมือง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในต่างจังหวัด ที่มีส่วนจัดแสดงย่อยว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำเสนอวีรกรรมระดับชาติ หากแต่เป็นความภาคภูมิใจของถิ่นกำเนิด เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต จัดแสดงเรื่องราวของท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมานำเสนอเรื่องของท้าวสุรนารี          ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสตรีในประวัติศาสตร์ที่มิใช่ชนชั้นนำในพิพิธภัณฑ์บ้างแล้ว คือ พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่หยิบยกเรื่อง “นางสุด” หญิงมอญที่ได้สามีเป็นชาวฮอลันดาและมีบทบาททางการค้าและสายสัมพันธ์กับต่างชาติ มาเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าของพิพิธภัณฑ์ ด้วยเหตุว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเลือกใช้เอกสารจากเนเธอร์แลนด์เพื่อต้องการอธิบายสังคม วิถีชีวิต การค้าผ่านผู้คนธรรมดา นางสุดจึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถานีการค้าฮอลันดากับราชสำนักมากกว่าที่จะเสนอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ราชวงศ์ต่อราชวงศ์ (ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, 2559, pp. 255-256)          “พระราชกรณียกิจ” ของเจ้านายเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร ประเด็นนี้มักได้รับการบอกเล่าอยู่ในกลุ่มพิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญที่เป็นชนชั้นปกครอง อาทิ ชีวประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเกี่ยวกับงานสาธารณสุข ในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี จังหวัดชลบุรี หรือการพัฒนาฐานะและคุณภาพชีวิตราษฎรไทยผ่านการส่งเสริมงานทอผ้าและศิลปาชีพรวมถึงความงดงามในฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าประวัติชีวิตเจ้าดารารัศมี ผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมล้านนาเข้ากับสยาม พิพิธภัณฑ์วังสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ที่ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมอาชีพของพสกนิกรในจันทบรีและชีวิตบั้นปลายที่เรียบง่ายในวังสวนแก้วจันทบุรีของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  การค้นหาที่มาของบ้านเกิดของสมเด็จย่าและพระราชกรณียกิจของพระองค์ ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรุงเทพฯ และหอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเชียงราย          อย่างไรก็ดีกลุ่มพิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญที่เล่าเรื่องงานสาธารณะประโยชน์ของเจ้านายฝ่ายใน ยังมีบางพิพิธภัณฑ์ที่มิได้เล่าเรื่องประวัติชีวิต วีรกรรมหรือพระราชกรณียกิจที่เรามักรู้อยู่แล้ว แต่เปิดมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในครอบครัว ที่เป็น “ลมใต้ปีก” คอยสนับสนุนหน้าที่การงานของสามีและลูก ซึ่งที่ไม่ว่าจะสูงศักดิ์หรือสามัญต่างก็มีแง่มุมดังกล่าวที่ไม่ต่างกัน ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ในส่วนต่อไป ในกรณีของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯกลุ่มช่างทอ ที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จ.เชียงใหม่ (ภาพโดยศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)           “กิจกรรมเพศภาวะหญิง” เช่น งานทอผ้า งานตัดเย็บเสื้อผ้า หรือเย็บปักถักร้อย อาหารงานครัว เป็นอีกหัวข้อของพิพิธภัณฑ์ที่พบว่ามักจะเล่าเกี่ยวกับผลงานของผู้หญิง อาทิ สปัน แกลเลอรี่ กรุงเทพฯ ที่จัดแสดงผลงานตัดเย็บเสื้อผ้าของสปัน เธียรประสิทธิ์ เจ้าของห้องเสื้อที่มีชื่อเสียงในอดีต พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตพระนครใต้ ที่มีส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับจักรเย็บผ้ากับสตรี พิพิธภัณฑ์กลุ่มผ้าและสิ่งทอต่างๆ ที่จัดแสดงอุปกรณ์ทอผ้า เทคนิคการทอ และผลงานของช่างทอที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จังหวัดแพร่ สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ จังหวัดสุโขทัย พิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทครั่ง บ้านเนินขาม จังหวัดชัยนาท มุมจัดแสดงครัวไฟของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ที่นำเสนอเสียงแม่กำลังสอนลูกสาวทำแกงส้ม เป็นต้น          นอกจากนี้ยังเห็นประเด็นเกี่ยวกับ “อาชีพ” ของผู้หญิง หนึ่งในนั้นคืออาชีพหมอตำแย ภายในหอประวัติศาสตร์สุขภาพ จังหวัดนนทบุรี เป็นเรื่องเล็กๆของ“ยายเนียมและยายสวาด” หมอตำแยกับภูมิปัญญาทำคลอดที่กำลังสาบสูญ  นำเสนอเรื่องราวและจดจำสิ่งที่พวกเธอได้ทำหรือทิ้งไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมของสังคม            น่าสนใจว่าเรื่อง “ความรักหรืออารมณ์ความรู้สึก” ของผู้หญิง มีนำเสนอในมุมจัดแสดงเล็กๆ ในพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองที่อำเภอขุนยวม การเล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองของอนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งไม่ได้เพียงแต่นำเสนอภาพสงคราม สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐหรือกองทัพ หากให้ภาพของคนเล็กคนน้อยท่ามกลางเหตุการณ์ใหญ่ทางประวัติศาสตร์ โดยมีมุมที่สื่อถึงมิตรภาพและความผูกพันในฐานะเพื่อนมนุษย์  ให้ความสำคัญต่อ “อารมณ์และความรู้สึก” ของทั้งทหารญี่ปุ่นและชาวบ้าน โดยเฉพาะผ่านการนำเสนอ “ความรัก”ของแม่อุ๊ยแก้ว จันทสีมา หญิงสาวชาวขุนยวมกับทหารญี่ปุ่นที่เป็น “รักระหว่างรบ” ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง           ผู้เขียนขอเลือกพิพิธภัณฑ์สามแห่งเป็นตัวแทนได้แก่ 1.พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯ 2.พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ และ3.พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ จังหวัดนนทบุรี เพื่ออธิบายในแง่ลึกเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่แตกต่างกัน ผ่านเรื่องเล่า เสียง และประสบการณ์ของพวกเธอ ผ่านพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์และกระบวนการจัดการของภัณฑารักษ์หรือเจ้าของพิพิธภัณฑ์ 1. พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า: เรื่องเล่าของผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อผู้อื่น           สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ถือได้ว่าเป็นผู้หญิงในแวดวงชนชั้นสูงคนหนึ่งท่ามกลางไม่กี่พระองค์ที่มีเรื่องราวบอกเล่าเป็นการเฉพาะในพิพิธภัณฑ์อย่างน้อย 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ ภายในโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยอนุรักษ์ตึกพระพันวัสสา ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อใช้เป็นตึกอำนวยการและตรวจโรค เป็นตึก 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรปประยุกต์ อีกแห่งหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม อาคารจัดแสดงสำคัญคือพระตำหนักใหญ่ ที่เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2498          ที่มาของกำเนิดและความสำคัญของการมีพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งอยู่ในบริบทสำคัญสองประการ ประการแรกคือเป็นพิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีส่วนในการริเริ่มก่อตั้ง สภากาชาดในกรณีพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ และมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่พระองค์ทรงเป็นประธานในกรณีวังสระปทุม เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระราชปนัดดาของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า การเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงมีเกร็ดเกี่ยวกับครอบครัวที่คนทั่วไปอาจไม่เคยรู้มาก่อนหรือไม่ได้ปรากฏในประวัติศาสตร์นิพนธ์ทั่วไป ประการที่สองลักษณะของพิพิธภัณฑ์ทั้งสองเป็นอาคารประวัติศาสตร์ โดยปกติพิพิธภัณฑ์อาคาร/บ้านประวัติศาสตร์มักมีพลังในการถ่ายทอดและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ชมกับการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์  เพราะตัวอาคารประวัติศาสตร์เองเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์หรือช่วงเวลาสำคัญในอดีต  สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่มีความสำคัญทางสังคมและการเมือง จึงง่ายที่จะสร้างจินตนาการของผู้ชมผ่านพื้นที่จริงที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้งานจริง  และเหมาะที่จะเล่าชีวประวัติและ “การทำงาน” ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับพื้นที่จริงที่เป็นอาคารจัดแสดง          พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายใน ที่นำเสนอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชีนี พระบรมราชเทวี พระบรมวงศานุวงศ์ ล้วนแล้วแต่มีแกนหลักการเล่าเรื่องที่ไม่แตกต่างกัน คือเป็นการเฉลิมพระเกียรติ แสดงให้เห็นพระราชจริยวัตร และแสดงพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือภาพแทนของสตรีชนชั้นสูงดังกล่าวไม่ได้เล่าเรื่องเพียงแค่ประวัติ แต่มักมาพร้อมกับ “การทำงาน” เสมอ การทำงานในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังคมสงเคราะห์ เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีการสมทบทุนก่อตั้งโรงพยาบาล กิจการสภากาชาด การสนับสนุนการศึกษาผ่านการก่อตั้งโรงเรียน พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียน  การทำนุบำรุงพุทธศาสนา หรือกิจกรรมเพศภาวะหญิง เช่น การส่งเสริมงานฝีมือ งานเย็บปักถักร้อย เช่น ทอผ้า  และเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกร           พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี จังหวัดชลบุรี เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการจัดแสดง “การทำงาน” ของพระองค์ท่านอย่างตรงๆ พิพิธภัณฑ์อุทิศพื้นที่อาคารที่เคยเป็นตึกอำนวยการและตรวจโรคของโรงพยาบาลมาก่อนในการนำเสนอเรื่องราวของผู้ให้กำเนิดโรงพยาบาล  แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกจัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนกระทั่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5  ดำรงพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 6 รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่เป็นพระราชนัดดา ส่วนที่สองจัดแสดงเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณ ที่เป็นเรื่องด้านการแพทย์ เล่าถึงการสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา  เพื่อรักษาประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับอาคารที่จัดแสดงที่ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง งานสังคมสงเคราะห์ที่ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เสื้อผ้า อาหารและยารักษาโรคแก่ประชาชนในยามที่บ้านเมืองและประชาชนมีความเดือดร้อน มีการจัดแสดงโมเดลจำลองสถานการณ์งานสังคมสงเคราะห์ของพระองค์ งานสภากาชาดไทย ทรงริเริ่มจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม หรือ สภากาชาดไทยในปัจจุบัน ส่วนที่สามจัดแสดงเครื่องเรือนของพระองค์ในพระตำหนักที่ประทับ และส่วนสุดท้ายว่าด้วยเรื่องประวัติและพัฒนาการของโรงพยาบาล          ในขณะที่แกนการเล่าเรื่องในพระตำหนักใหญ่ของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯแตกต่างออกไป คือเป็นการผสมผสานระหว่าง “การทำงาน” และ “ครอบครัว” เพราะนี่คือ “บ้าน” ของพระองค์ท่าน วิธีเล่าเรื่องคือการไล่ลำดับตามห้องในพระตำหนัก และตามช่วงชีวิตของ “ลูกชาย” คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก   การเล่าเรื่องแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา สัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย (ตามคำอธิบายในเอกสารของพิพิธภัณฑ์)          ช่วงที่ 1 ช่วงเวลาที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสั่งซื้อเครื่องเรือนจากต่างประเทศ เพื่อเตรียมการรับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายหลังที่ทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือจากประเทศเยอรมนี และเสด็จฯกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2457 (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555) มีห้องรับแขก และห้องพิธี เป็นห้องตัวแทนที่นำเสนอเหตุการ์สำคัญอาทิ งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็นนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระตำหนักใหญ่ และงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ(ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร) เมื่อปี พ.ศ.2493 รวมถึงงานวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 65-68)          ช่วงที่ 2 ช่วงที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการสาธารณสุขจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใน พ.ศ. 2466 การจัดแสดงในช่วงนี้ได้แก่ ห้องบรรทมสมเด็จพระราชบิดา(ห้องเทา) และห้องทรงพระอักษร (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555) ซึ่งจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่แสดงถึงการทรงงานของสมเด็จพระราชบิดา เช่น หนังสือเกี่ยวกับวิชาแพทย์ สาธารณสุข กิจการทหารเรือ ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน และไทย อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ และพระรูปพระราชธิดาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เป็นต้น(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 70-71)          ช่วงที่ 3 ช่วงที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์จากสหรัฐอเมริกา และเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชโอรสธิดา 3 พระองค์ ครอบครัวมหิดลประทับที่พระตำหนักใหม่ที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสร้างประทาน ส่วนสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าประทับที่ตำหนักใหญ่ การจัดแสดงในช่วงนี้ได้แก่ ห้องทรงพระสำราญ ห้องทรงนมัสการ ห้องบรรทม และส่วนที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าบริเวณระเบียงชั้น 2 หน้าห้องบรรทม (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555, pp. 10-11) ในหนังสือประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์เขียนอธิบายถึงความสำคัญไว้ว่า “ที่ประทับแห่งนี้(เฉลียงพระตำหนักชั้นบน-ผู้เขียน) มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าคือ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ...”(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 77)          การนำชมและเอกสารประกอบการเยี่ยมชมของพิพิธภัณฑ์ ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่มิได้หรูหราฟุ่มเฟือย การเลือกใช้เครื่องเรือนคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเช่น ระหว่างสั่งเครื่องเรือนจากฝรั่งเศสได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ประสงค์ที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย ทรงพยายามยกเลิกการสั่งเครื่องเรือนดังกล่าวหรือปรับเปลี่ยนการประดับตกแต่งเป็นแบบไม้ล้วนไม่ปิดทองเป็นต้น    ทรงอบรมพระราชนัดดาให้รู้จักประยุกต์สร้างสรรค์ข้าวของที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่โปรดให้ซื้อของฟุ่มเฟือยราคาแพง ภาพถ่ายพระพระราชโอรสและพระราชนัดดา ของเล่น ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดง ล้วนแสดงความผูกพันใกล้ชิดกับพระราชโอรสและพระราชนัดดา           อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การจัดแสดงในพื้นที่ห้องทรงพระสำราญ ที่แสดงโต๊ะทรงพระอักษร พระรูป เอกสารและสิ่งของที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจต่อสาธารณชน เช่น กิจการด้านสภากาชาด ความสนพระราชหฤทัยเหตุการณ์บ้านเมืองและต่างประเทศ หรือเรียกว่าการมีบุคลิกภาพของการมี “ความรู้” และ “ความทันสมัย”ของพระองค์ สื่อผ่านส่วนจัดแสดงโต๊ะวางหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่พระองค์ท่านเคยทรง ได้แก่ The Queen, Country Life และ The National Geographic Magazine   สำหรับผู้เขียนห้องทรงพระสำราญคือพื้นที่ส่วนตัว แต่กลับเลือกนำเสนอเรื่องทางการคือ “การทำงาน” ของพระองค์ท่านเป็นสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ห้องทรงอักษรหรือห้องทำงานกลับจัดแสดงเรื่องการทรงงานของพระราชโอรส คล้ายกำลังจะบอกว่า “งาน” ที่แม้จะเกี่ยวกับบ้านเมืองหรืออาจเรียกว่าเป็นงานในพื้นที่สาธารณะ แต่เมื่อผู้หญิงทำ งานนั้นจะถูกทำให้ “เบา” ลงไปในทันที จึงง่ายที่จะผลักไปสู่พื้นที่ส่วนตัว           กล่าวโดยสรุป การเล่าเรื่องชีวประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าแบบเป็นทางการแบบพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ แต่เป็นการเล่าที่ซ้อนอยู่ภายใต้สองพื้นที่ พื้นที่แรกคือ ซ้อนอยู่ภายใต้ประวัติชีวิตของ “ลูกชาย” คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สะท้อนอุดมคติในฐานะการเป็นแม่ที่เลี้ยงดูและเอาใจใส่พระราชโอรสอย่างดี รวมถึงความผูกพันที่มีต่อพระราชโอรสและพระราชนัดดา และพื้นที่ที่สองคือ การเล่าเรื่องการทำงาน(ที่บ้าน)ที่เป็นเรื่องทางการและสาธารณะ ซ้อนลงไปในพื้นที่ส่วนตัว อย่างไรก็ดีการนำเสนอสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าผ่านการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งฉายภาพการเป็น “ผู้หญิง” ที่สละตัวตนเพื่ออุทิศให้แก่ทั้งสมาชิกในครอบครัวและคนอื่น และสำคัญคือพิพิธภัณฑ์ช่วยเปิดพื้นที่สนทนาถึง “ข้างหลัง” ของความสำเร็จในการเมืองการปกครองของผู้ชายที่ผู้หญิงมีส่วนสำคัญอยู่ด้วย ซึ่งไม่ค่อยปรากฏมากนักในงานเขียนประวัติศาสตร์ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆชั้นบนพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ภาพโดยพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) 2. พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา: ประสบการณ์ของผู้หญิงบนผืนผ้า           “พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา” หรือบางคนเรียกขานว่า “บ้านไร่ไผ่งาม” เพราะอุโมงค์ทิวไผ่สีเขียวสดทอดตัวยาวกว่าครึ่งกิโลเมตร ตลอดสองฝั่งระยะทางจากถนนใหญ่เข้าสู่พิพิธภัณฑ์  สถานที่แห่งการอนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาภูมิปัญญาการทอผ้า และที่รำลึกและเชิดชูชีวิตและผลงาน ของ “ป้าดา” หรือนางแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินช่างทอผ้า เพชรน้ำเอกของวงการทอผ้าของล้านนา ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ             “ป้าดา” (พ.ศ. 2462- 2536) เกิดและเติบโตที่บ้านห้วยม่วง ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สมรสกับร้อยตรีมาลัย บันสิทธิ์ มีบุตรสาวเพียงคนเดียว คือ นางเสาวนีย์ บันสิทธิ์   ในสมัยก่อนผู้หญิงกับการทอผ้าเพื่อใช้เองเป็นเรื่องปกติในสังคมเกษตรกรรม   ป้าดาปั่นฝ้ายเป็นตั้งแต่อายุเพียง 7-8 ขวบ และเริ่มทอเมื่ออายุราว 12 ขวบ โดยได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดโดยแม่อุ้ยเลี่ยม  ป้าดาเริ่มทอผ้าอย่างจริงจังราวปี พ.ศ. 2503 หลังจากที่สามีเสียชีวิต  โดยชักชวนเพื่อนบ้านมารวมกลุ่มทอผ้าใต้ถุนบ้านของป้าดา เริ่มจากกี่ 4 หลัง จนขยายเป็น 30 หลังในเวลาต่อมา(อำนวย จั่นเงิน, 2545, หน้า 34-37)           ชื่อเสียงของผ้าฝ้ายทอมือของบ้านไร่ไผ่งาม เริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความงดงามของผืนผ้าที่สะท้อนความนึกคิด ฝีมือ และพลังสร้างสรรค์ของป้าดา คุณสมบัติที่โดดเด่นของป้าดาและผ้าทอของบ้านไร่ไผ่งามที่ไม่เหมือนใคร คือ การใช้ฝ้ายพันธุ์พื้นเมือง  ย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากพันธุ์ไม้พื้นเมืองหลากชนิดที่ป้าดาทดลองและคิดค้น การออกแบบลวดลายการทอเฉพาะตัวจากประสบการณ์และธรรมชาติรอบตัว ทำให้คุณภาพ สีสัน และลายผ้างดงามมีเอกลักษณ์ชัดเจน           หลังจากที่ป้าดาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2536 คุณเสาวนีย์ บันสิทธิ์ บุตรสาวคนเดียวของป้าดา และคุณเนาวรัตน์ หลานสาว ได้สานต่องานอันเป็นที่รักของแม่และยาย คือการทอผ้า และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดาขึ้น  โดยใช้เรือนไม้โบราณซึ่งเป็นบ้านที่ป้าดาอาศัยมาตั้งแต่ย้ายกลับมาจากเมืองเชียงใหม่ ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิแสงดา บันสิทธิ์ ในช่วงเวลาเดียวกัน           พิพิธภัณฑ์ไม่ได้จัดแสดงเพียงลวดลายผ้าว่ามีกี่แบบกี่ประเภท แต่สะท้อนงานทอผ้า ลวดลายผ้า เสมือนเป็นจดหมายเหตุของครอบครัว ที่หลอมรวมความทรงจำระหว่างคนในครอบครัวและป้าดาเข้าด้วยกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เกี่ยวพันกับผู้หญิง แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงความเป็นบ้าน ครอบครัว  แม่ ยาย ทวด ผสานกับงานศิลปะ รวมถึงการนำเสนอเรื่องธุรกิจในแง่การส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับผู้หญิงในหมู่บ้านที่ป้าดาและครอบครัวจ้างมาทอผ้าหรือรับซื้อวัตถุดิบต่างๆ             ชั้นบนของตัวบ้าน ยังคงรักษาพื้นที่ใช้สอยแบบเดิมของบ้านเอาไว้ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ฝาผนังแขวนภาพถ่ายป้าดา และครอบครัว ในช่วงวัยต่างๆ  รวมถึงผลงานที่ลงตามหนังสือและสื่อต่างๆ ทำให้ผู้ชมร่วมจินตนาการถึงวิถีการดำเนินชีวิตของป้าดาที่เรียบง่าย เป็นชีวิตที่ผูกพันกับการทอผ้ามาเกือบทั้งชีวิต ในขณะที่โถงกลางบ้านจัดเป็นส่วนจัดแสดงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า  มีตัวอย่างลายผ้าหลากหลายไม่ซ้ำกันที่ป้าดาได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว การนำชมและสื่อประชาสัมพันธ์ล้วนขับเน้นความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของป้าดา  ที่ลองผิดลองถูกกับการย้อมเส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติจากชิ้นส่วนต่างๆ ของพรรณไม้           ส่วนใต้ถุนบ้านยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศและหน้าที่เดิม คือเป็นสถานที่สนับสนุนการทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติของบรรดาช่างทอผ้าของบ้านไร่ไผ่งาม ที่เป็นแม่อุ๊ย คุณป้า คุณน้า ที่มีฝีมือในการย้อมและทอผ้า ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง เวียนกันมาทอผ้า หากว่างเว้นจากการทำสวนไร่นา                    อาณาบริเวณของบ้านไร่ไผ่งาม ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ที่ป้าปลูกไว้สำหรับใช้ย้อมด้วย เช่น คำเงาะ มะตูม และยังมีโรงไม้ที่ปลูกสร้างอย่างง่ายๆ เพื่อจัดแสดงอุปกรณ์และกรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติ ตัวอย่างเมล็ด เปลือกไม้ หรือใบไม้สำหรับย้อม เช่น ฝาง  คราม  คำเงาะ มะเกลือ เพกา  มีบ่อหมักสีธรรมชาติ  มีฉางเก็บข้าวขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บฝ้าย  มีโรงเก็บเปลือกไม้ เมล็ด ฝัก และส่วนต่างๆ ของพันธุ์ไม้นานาชนิดสำหรับย้อม สมัยที่ป้าดายังมีชีวิต เมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยือนป้าดาจะนำชมการย้อมและทอ และอธิบายให้ความรู้เรื่องการทอผ้าและขั้นตอนต่างๆ ด้วยตนเอง  นอกจากนี้ยังมีอาคารหลังเล็กที่เป็นส่วนจำหน่ายผ้าฝ้ายทอมือ หนังสือ ของที่ระลึก สำหรับผู้สนใจ           ความเป็น “ผู้หญิงพิเศษ” ของป้าแสงดาได้รับการบอกเล่าของถ่ายทอดผ่านทั้งหนังสือที่วางขายในพิพิธภัณฑ์และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ รวมถึงคำพูดของหลานสาวคนเดียวของป้าดา ขณะนำชมพิพิธภัณฑ์           “ความรักที่ป้ามีต่อพืชพันธุ์นั้นมากล้น และบอกได้ด้วยว่ามันงามอย่างไร น้ำหมอกน้ำเหมยที่จับดอกฝ้ายตุ่น คุณลองนึก ฝ้ายชนิดเป็นปุยขาวกับผ้าฝ้ายตุ่นสีน้ำตาลอ่อนๆ หายาก เวลาจับหยดน้ำเล็กๆ จะพราวสวย...ทุกอย่างเอาไปจากธรรมชาติรอบตัว ตรงนี้แหละที่คนทั่วไปไม่เห็น” (อำนวย จั่นเงิน บก., 2536, หน้า 34-35)           “ป้าได้พบว่าผ้าที่ย้อมมะเกลือแล้วย้อมสีอื่นทับ สีจะติดดี แล้วป้าก็ยังได้สังเกตว่า น้ำยางกล้วยเปื้อนผ้าแล้วซักไม่ออก จึงลองใช้ใบตองเผาไฟทำน้ำด่างขี้เถ้า ผสมกับมะเกลือย้อมเป็นสีรองพื้น ปรากฏว่าสีติดดี และซักแล้วสีไม่ตก ไม่ซีด...” (อำนวย จั่นเงิน บก., 2536, หน้า 81)           “เวลาคุณยายขายผ้าคุณยายบอกลูกค้าว่าผ้าคุณยายมีหมื่นสีหมื่นลาย เราโกรธว่าคุณยายทำไมโกหก หมื่นสีหมื่นลายเป็นไปได้อย่างไร เราไม่ยอม ไปเอาผ้าที่มีสีเยอะที่สุด นับกันเลยกับคุณยาย คุณยายอมยิ้ม คุณยายยกผ้าผืนที่พี่เอามาให้ ยายบอกว่าหนูเอาไปใช้ หนูดูนะทุกครั้งที่ซักจะมีสีใหม่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ หนูเด็กแต่คลิกอ่ะ พี่น้ำตาซึม คุณยายฉันเป็นผู้หญิงพิเศษจริงๆ  แล้วทุกครั้งที่เราซัก ก็จะมีสีใหม่ผุดขึ้นมา ไม่ต้องพูดเยอะ แต่เราเก็ตเลย...ทุกคนมาอยู่ห้องนี้จะรู้สึกได้ถึงคุณยาย ถึงความพิเศษของงานที่คุณยายทำ มันเกินกว่าผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาๆ ทำ พี่ว่าคุณยายเป็นผู้หญิงที่วาดรูปบนผืนผ้า เราเคยคุยกับเขาอย่างนั้น คุณยายก็ยิ้ม อ้าวเหรอ...ผ้าของคุณยายมีวิญญาณของคุณยาย มีความรู้สึก มีความสุข ความรักของคุณยายในการออกแบบผ้า ทุกคนเห็นรู้สึกได้เลย ไม่ใช่ผ้าผืนธรรมดาเพราะมันผ่านความคิดการกรองของคุณยาย” (เนาวรัตน์ บันสิทธิ์, 2559)           จะเห็นได้ว่าภาพของป้าแสงดาทั้งในพิพิธภัณฑ์และในสื่อต่างๆ คือศิลปิน การทอผ้าและผลงานของป้าแสงดาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงงานฝีมือ(craft) แต่ถูกมองว่าเป็นงานศิลปะ(art) งานทอผ้าที่เคยถือเป็นงานเชิงประเพณีของผู้หญิง ถูกยกฐานะเป็นการแสวงหาความรู้ มีการคิดวิเคราะห์และสร้างความหมาย เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การฝึกฝนด้วยตนเอง ผ่านคำอธิบายที่ปรากฏในสื่อนิทรรศการ หนังสือที่จัดพิมพ์โดยพิพิธภัณฑ์และมูลนิธิที่เขียนถึงป้าแสงดา และตลอดจนหลานสาวผู้ใกล้ชิด           ความเป็นศิลปินที่แสดงออกผ่านทักษะการทอผ้าและการออกแบบลวดลายและเทคนิควิธีที่ไม่เหมือนใคร ล้วนต่างฉายออกมาให้ผู้คนได้ประจักษ์ ผ่านการยกย่องเชิดชูป้าแสงดาทั้งการให้รางวัลศิลปินแห่งชาติ และพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่ทายาทก่อตั้งหลังจากที่เธอเสียชีวิตแล้วเพียง 1 ปี และการสนับสนุนของเหล่านักวิชาการสายวัฒนธรรมและการศึกษา สะท้อนการไม่ได้ “เพิกเฉย” ของสังคมต่อประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ได้บรรลุถึงความหวังและความปรารถนา ได้ทอผ้า ได้สร้างสรรค์งานอันเป็นที่รัก ได้สร้างฐานะทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับยังดำรงบทบาทของความเป็นแม่ เป็นเมีย เป็นยายของคนในครอบครัวโถงนอกชานชั้นบนของตัวบ้าน ปัจจุบันจัดแสดงภาพถ่ายป้าดา วัตถุดิบ และอุปกรณ์ในการทอผ้า (ภาพโดยศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) 3. พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์: เสียงของผู้หญิงบริการในสงครามแห่งศีลธรรม           โสเภณีและการค้าประเวณีมักมีภาพลักษณ์หรือถูกให้ความหมายว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายผิดศีลธรรมของสังคม เชื่อว่าหญิงที่ค้าประเวณีเป็น “คนแปดเปื้อน” ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือปลดปล่อย เป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำ เป็นความเบี่ยงเบน เป็นความตกต่ำของผู้หญิง (ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2546, หน้า 17)  แม้จะถูกสังคมตราว่าผิดศีลธรรม แต่ในความเป็นจริงการค้าประเวณีเพิ่งจะถือว่าผิดกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการออกพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 เพื่อต้องการป้องกันและควบคุมการแพร่กามโรค มีการจดทะเบียนสำนักโสเภณี ทำทะเบียนรายชื่อโสเภณี มีการแขวนโคมเขียวหน้าที่ประกอบการ พระราชบัญญัติดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโสเภณีฉบับแรกของไทยและเป็นจุดเริ่มต้นของการค้าประเวณีแบบถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก  จนเมื่อปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลไทยได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 ดังกล่าว และประกาศใช้พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ขึ้นแทน ระบุโทษถึงขั้นปรับ จำคุก และบังคับฝึกอาชีพอื่น เหตุมาจากการปฏิบัติตามประกาศของสหประชาชาติในเรื่องการกำจัดการค้าประเวณี ปัจจุบันพรบ.นี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนำมาใช้แทน (ปฐม ทรัพย์เจริญ, 2549, หน้า 123-124 และน้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557) ในปัจจุบันโสเภณีจึงถูกประณามจากสังคมทั้งด้านศีลธรรม และด้านเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมายที่รัฐพิจารณาว่าต้องกำจัดให้หมดไปจากสังคมไทย           “ปัญหานี้เป็นปัญหาของสังคม เพราะฉะนั้นต้องแก้ด้วยสังคม ไม่ใช่แก้ด้วยทัศนคติผิดศีลธรรมอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องศีลธรรม แล้วก็แก้ไม่ได้ด้วยกฎหมาย ต้องแก้ด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษย์เท่านั้นเอง” (จันทวิภา, 2559)           น้อย เจริญสุข เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมโอกาสด้านต่างๆ ให้กับผู้หญิงที่ทำงานในสถานบริการในประเทศ เธอมองว่าหญิงบริการมิใช่คนที่ชั่วร้ายผิดศีลธรรม  แต่เธอมีทัศนะว่าความขั่วร้ายที่ควรกำจัดคือ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบหรือการแสวงหาผลประโยชน์ในร่างกายของผู้หญิงมากกว่า ไม่ใช่ตัวการค้าประเวณี  เธอสนับสนุนแนวคิดการทำให้การค้าประเวณีให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย มองหญิงบริการในฐานะอาชีพสุจริตอาชีพหนึ่งในสังคม เป็น “พนักงานบริการ” (sex worker) ไม่ใช่ “โสเภณี”(prostitute)           เอ็มพาวเวอร์ (Empower) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2528 ช่วงเวลาเดียวกับที่เพลง One Night in Bangkok กำลังฮิต ตลอดการทำงานกว่าสามสิบปี เอ็มพาวเวอร์เป็นทั้งสถานที่พบปะสังสรรค์ของพนักงานบริการ เป็นโรงเรียนกศน.สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวทีสะท้อนเสียงและมุมมองจากพนักงานบริการ เป็นองค์กรตัวแทนประสานความร่วมมือกับองค์ภาครัฐและเอกชนที่ทำงานในประเด็นปัญหาใกล้เคียงกัน  เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตสื่อเผยแพร่มุมมองเกี่ยวกับธุรกิจบริการทางเพศ และในปี พ.ศ. 2559 ได้เปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสังคมในนามพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ (น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557, pp. XII-XIII)           การทำงานของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ตลอดหลายสิบปี กลายเป็นที่สนใจของกลุ่มคนและองค์กรทั้งในและนอกประเทศ เป็นที่อบรม ฝึกงาน ดูงานของนักศึกษาด้านสังคมศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แพทย์ ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรู้สึกว่าคนหน้าใหม่เหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เข้ามาใช้บริการและแสวงหาความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานบริการจากมูลนิธิมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงพนักงานบริการที่เป็นเป้าหมายแรกเริ่ม ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การก่อตั้ง “นี่คือเรา พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์” ขึ้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แต่เปิดอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.  2559 (จันทวิภา อภิสุข, 2559)           พื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์อยู่บนชั้น 3 ของมูลนิธิ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือ ประวัติศาสตร์การค้าประเวณีในประเทศไทย และกิจกรรมของมูลนิธิ โดยกำหนดไว้บนแนวคิดพื้นฐานที่มองว่าหญิงบริการหรือพนักงานบริการคือ “อาชีพ” หนึ่งที่ควรได้รับสิทธิและโอกาสทางสังคมที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ดังที่ระหว่างการนำชมส่วนจัดแสดงถุงยางอนามัย จันทวิภา เปรียบเทียบความเป็นอาชีพที่ไม่ต่างกับอาชีพอื่น           “ถุงยางอนามัยควรจะเป็นอุปกรณ์ในการทำงาน เหมือนกับช่าง ช่างทั้งหลายเวลาไปทำงาน เขาก็จะมีค้อน มีคีม มีไขควงมีอะไรอยู่ในนี้ แล้วเขาก็จะถือไป ของเราก็มีเหมือนกันเป็นอุปกรณ์การทำงาน”            “No more Sewing Machine พอกันทีจักรเย็บผ้า!” เอ็มพาวเวอร์ได้รับบริจาคจักรเย็บผ้าจำนวนมากในยุคที่คนมองว่างานเย็บผ้าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับฝึกอาชีพหญิงบริการ  จักรเย็บผ้าหลังหนึ่งจึงถูกเก็บไว้เป็นระลึกและนำมาจัดแสดงตรงทางเข้า เรียกว่าเป็นการโหมโรงที่สั่นคลอนทัศนคติของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับหญิงบริการ  สื่อให้เห็นมุมมองของสังคมที่มักมองผู้หญิงแบบเหมารวมว่า ผู้หญิง=งานเย็บปักถักร้อย ในระยะแรกจักรเย็บผ้าถูกนำมาเป็นเครื่องมือฝึกอาชีพให้กับผู้กระทำผิดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ถูกจับมารับโทษในสถานสงเคราะห์ โดยรัฐหวังว่าโครงการการฝึกอาชีพเย็บผ้าจะทำให้หญิงบริการมีอาชีพใหม่แทนการขายบริการทางเพศ ในขณะที่การทำงานของมูลนิธิต่างออกไปคือทุกคนสามารถเข้ามาเรียนหนังสือ ฝึกอาชีพได้ สามารถเข้าออกได้อิสระ ดังทัศนะของจันทวิภาที่ว่า           "โครงการต่างๆ ที่นั่นมันก็เหมือนกับว่า เป็นโครงการสำหรับคนทำผิดเท่านั้นและเป็นโครงการที่มาแทนความผิดทางกฎหมาย ถ้าเกิดไม่ได้รับความผิดไม่ได้ถูกขัง ก็จะไม่ได้รับโครงการแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนก็รู้สึกว่าได้อยู่ในโครงการนี้ได้เพราะทำความผิด ไม่ใช่ว่าได้เพราะจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ก็เลยต่างกันตรงนี้นิดเดียว”(จันทวิภา อภิสุข, 2559)           ส่วนจัดแสดงที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การค้าประเวณี นำเสนอให้เห็นว่าธุรกิจการค้าประเวณีในไทยมีมาตั้งแต่อดีต รูปแบบวิวัฒน์ไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มด้วยการย้อนไปถึงปี พ.ศ. 2223 สมัยอยุธยาที่มีบันทึกว่ามีการออกใบอนุญาตให้ข้าราชการเปิดซ่องโสเภณีในนามของรัฐ ในช่วงอยุธยาตอนนั้น มีหญิงทำงานในนี้ถึง 600 คน ลูกค้ามีทั้งคหบดีไทย ชาวต่างชาติ กะลาสีเรือ นักเดินทางและพ่อค้า การค้าประเวณีในไทยขยายตัวมากขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของชุมชนคนจีน ในปี พ.ศ. 2393 ธุรกิจการค้าประเวณีย่านบางกอกมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านคนจีน “ตรอกสำเพ็ง”  ในปี พ.ศ.2432 เฉพาะตรอกสำเพ็งมีโรงโสเภณี 71 โรง โรงฝิ่น 245 โรง โรงพนัน 128 โรง เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มีทหารกองทัพสัมพันธมิตรเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ชาวตะวันตกกลายเป็นลูกค้าใหม่ และธุรกิจนี้ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่มีการตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในไทย พัทยากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของบรรดาจีไอ ลูกค้ารายใหญ่คนสำคัญที่ว่ากันว่าทำรายได้เข้าประเทศไทยหลายร้อยล้านบาทต่อปี (มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, 2559, หน้า 11-25)           พิพิธภัณฑ์ยังได้จำลองลักษณะสถานบริการรูปแบบต่างๆ มาให้ผู้ชมที่ไม่เคยเข้าได้สัมผัสบรรยากาศอย่างใกล้ชิด อาทิ บาร์อะโกโก้ มีที่มาจากนวนิยายชื่อ วิสกี้กาลอร์(Whiskey Galore) เกี่ยวกับเรือสินค้าที่มีเหล้าวิสกี้อยู่บนเรือ ต่อมานวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ เมื่อถูกฉายในฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเป็น Whiskey A Gogo ซึ่ง  a gogo หรือ au gogo ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Galore คือมากมายเหลือเฟือ  จริงๆ ข้อดีของเสาอะโกโก้คือ เป็นการเซฟคนเต้นไม่ให้ตกเวที ขณะที่เต้นโคโยตี้อาจจะตกเวทีก็เป็นได้  ผู้ชมจะขึ้นไปโหนเสาอะโกโก้ก็ได้ไม่มีใครห้าม แต่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547 ที่เชียงใหม่เจ้าหน้าที่ได้รื้อเสาอะโกโก้ออกจากบาร์ ด้วยเหตุผลว่าเสาอะโกโก้ทำให้ดูไม่สุภาพและไม่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของดินแดนล้านนา           พื้นที่อีกครึ่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยเรื่องกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ของเอ็มพาวเวอร์ หนึ่งในนั้นคือ “บาร์แคนดู-บาร์ยุติธรรมเราทำเองได้”   สื่อสารผ่านงานศิลปะดินปั้นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า mini-bar series ของ “เล็ก” สมาชิกหนึ่งของเอ็มพาวเวอร์ที่ต้องการสร้างบาร์ในฝันของตนเองจึงทำงานศิลปะนี้ถ่ายทอดลักษณะบาร์ที่ตัวเองอย่างจะทำ ส่วนจัดแสดงนี้สะท้อนถึงความรักและจิตใจที่อ่อนโยนของมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งผ่านงานศิลปะ แม้เธอจะทำอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับแต่มีผลงานศิลปะที่สะท้อนประสบการณ์และตัวตนอย่างชัดเจน และในที่สุดบาร์ในฝันก็เกิดขึ้นได้จริง บาร์แคนดูตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นบาร์ที่พนักงานลงหุ้นกันเองและบริหารงานกันเอง พนักงานมีเวลาหยุดพักระหว่างการทำงาน มีห้องพักผ่อน ไม่มีการเก็บหัวคิวพนักงาน ไม่มีบังคับดื่ม บังคับออฟ ฯลฯ ตอนกลางวันบาร์นี้เป็นศูนย์เอ็มพาวเวอร์เชียงใหม่ด้วย           สื่อและวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ ใช้วิธีการอุปมาอุปไมยเข้ามาอธิบายหลักคิดและการทำงานของมูลนิธิ  หนึ่งในนั้นคือส่วนจัดแสดงที่เป็นเวทีมวยด้านหนึ่งมีตัวการ์ตูนที่ชื่อฮันนี่-บีกำลังต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เช่น การล่อซื้อ  พรบ.การค้ามนุษย์  ตราบาป  ฯลฯ และข้อเขียนว่า “Learning by Doing”  อุปมาอุปไมยว่ามวยไทยเป็นศิลปะการป้องกันตัว ผู้ที่เป็นนักมวยต้องมีความกล้าหาญ ได้รับการฝึกฝนและออกอาวุธอย่างถูกวิธีและถูกเวลา การเป็นพนักงานบริการก็เช่นกัน ต้องเรียนรู้ว่าเมื่อไรจะรุกเมื่อไรจะถอย จะลดการถูกเอาเปรียบได้อย่างไร รวมถึงการหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รักษากฎหมายอย่างไร           ในช่วงที่โรคเอดส์กำลังระบาดและสังคมไทยขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับโรคเอดส์ ทำให้คนตื่นตระหนักและรังเกียจหญิงบริการซึ่งถูกตีตราว่าเป็นผู้แพร่เชื้อ เอ็มพาวเวอร์จึงพยายามรณรงค์เรื่องนี้อย่างหนักจนถึงทุกวันนี้ ด้วยหลักคิดที่ว่า “อาชีพไม่ใช่สาเหตุของการแพร่เชื้อ แต่ร่วมเพศที่ไม่ปลอดภัย แพร่เชื้อได้” มุมหนึ่งของห้องนิทรรศการจัดแสดงหุ่นอาชีพต่างๆ ที่ล้วนต้องพกถุงยางอนามัย เพื่อการร่วมเพศอย่างปลอดภัยไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร เป็นการเตือนสติตัวเอง           กิจกรรมที่ดูจะเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จคือ “โครงการแรงงานไร้พรมแดน” หรือรู้จักกันดีในนาม “การเดินทางของคำจิ่ง” ที่เริ่มจากการพบว่าเริ่มมีผู้หญิงข้ามแดนเข้ามาสู่ธุรกิจค้ามนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ  การเดินทางของคำจิ่งเป็นโครงการศิลปะเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ความคิด ความฝัน ของผู้คนที่อพยพจากต่างถิ่นมาอยู่แถวชายแดนประเทศไทย โดยใช้ชื่อคำจิ่งเรียกแทนแรงงานผู้อพยพ โดยให้บรรดาแรงงานข้ามแดนสร้างหุ่นตุ๊กตาปั้นกระดาษหรือเปเปอร์มาเช่เป็นรูปครึ่งตัวคนเพื่อแทนตัวเอง ดั้งนั้นหุ่นกว่า 250 ตัวหน้าตาจะไม่เหมือนกันเลย จากนั้นจึงพาหุ่นคำจิ่งเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศที่เป็นความฝันของคนปั้นตุ๊กตา มีการบันทึกภาพถ่ายไว้ทุกที่ๆ คำจิ่งเดินทางไป การเดินทางของคำจิ่งได้รับรางวัล “อิสรภาพแห่งการสร้างสรรค์” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2552           ตุ๊กตาคำจิ่งที่หลงเหลือจากการทำโครงการถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ พร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ของ “คำจิ่ง” เมื่อครั้งตอนที่อพยพเข้าประเทศไทย เช่น ปิ่นโตสนามที่พวกเธอใส่ข้าวมากินระหว่างรอนแรมเป็นเวลากว่า 3 วันกว่าจะถึงเมืองไทย  ผ้าห่ม  กระบอกน้ำ           จันทวิภา อภิสุข เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ครั้งหนึ่งว่า “มีคนบอกว่ากลุ่มทำเหมือนสนับสนุนให้มีอาชีพโสเภณี  ถ้าคิดสั้นๆ ก็อาจเหมือนใช่ แต่ถ้ารู้จักมองยาวๆ สักหน่อยก็จะเห็นว่า การช่วยคนๆ หนึ่งให้รู้จักต่อสู้กับชีวิตอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น เสียเปรียบน้อยลง ถูกขูดรีดน้อยลงก็เป็นการดีไม่ใช่หรือ...” (น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557, หน้า 7)           ท่ามกลางปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนของการค้าประเวณี พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ผู้หญิงบริการยังสามารถส่งเสียง บอกเล่าความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก มีเหตุมีผล ให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจสถานภาพการทำงานของพวกเธอ แม้ว่าจะตกอยู่ในเงื่อนไขที่เป็นรองและเป็นความที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเธอ สถานบริการ หรือลูกค้าก็ตาม ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ (ภาพโดย ศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)ส่งท้าย: พิพิธภัณฑ์กับพื้นที่สนทนากับสังคม          ผู้เขียนเห็นว่า แม้พิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในไทยจะมีไม่มากนัก แต่น่ายินดีที่เห็นพิพิธภัณฑ์เปิดพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าเธอจะเป็นใครทำอาชีพใด แม้พิพิธภัณฑ์ในหน่วยงานภาครัฐหรือเชิงสถาบันที่เล่าเรื่องผู้หญิงมักเป็นเรื่องผู้หญิงชนชั้นสูง เรื่องราวที่จัดแสดงผูกโยงกับประวัติศาสตร์ชาตินิยม การเมืองเรื่องของชนชั้นนำ สถาบันกษัตริย์  “เรื่องเล่า” ของหญิงชนชั้นนำจะเป็นเรื่องการทำงานในแง่สังคมสงเคราะห์ และกิจกรรมเชิงประเพณีของผู้หญิง แต่อย่างน้อยพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่ได้เปิดพื้นที่ให้เห็นแง่มุมของผู้หญิงที่มีบทบาทไม่ต่างกัน ไม่ว่าเธอจะสูงศักดิ์หรือสามัญ คือบทบาทของครอบครัว ความเป็นแม่ ความเป็นย่า ที่หล่อหลอม สนับสนุน และอยู่เบื้องหลังการทำงานและความสำเร็จของ “ผู้ชาย” คือพระราชโอรส พระราชนัดดา เป็นความเสียสละของเจ้านายฝ่ายหญิงที่แทบไม่ปรากฏในงานเขียนประวัติศาสตร์ไทย ตำราเรียน หรือในพื้นที่อื่นๆ           พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เล่าถึงประวัติชีวิตและประสบการณ์ของนางแสงดา บันสิทธิ์ “ความเป็นผู้หญิงเก่ง” ของผู้หญิงสามัญ ที่ไม่ใช่เก่งหรือเชี่ยวชาญที่ทำกิจกรรมแบบที่ผู้ชายทำ แต่เก่งในกิจกรรมของเพศภาวะผู้หญิง คือการทอผ้า อาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกๆ ที่เปิดพื้นที่สำหรับ “ประสบการณ์” ของหญิงชาวบ้าน ที่แสดงให้เห็นถึงความรักและการอุทิศตนในงาน ความผูกพันในครอบครัว และความเรียบงามในการดำเนินชีวิต คู่ขนานไปกับการทำงานเชิงประเพณีของผู้หญิงแต่ได้รับการยกระดับว่าเป็นงานศิลปะระดับสูง           “เสียง” ของผู้หญิงบริการที่ได้รับการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ เปิดโอกาสแก่ผู้หญิงที่มีภาพลักษณ์ในด้านลบและแทบจะไม่มีที่ยืนในสังคม ให้บอกเล่าชีวิต ประสบการณ์ ความฝัน และโลกของผู้หญิงบริการจากมุมของพวกเธอ เสียงดังกล่าวกระตุกให้ผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนทัศนคติของตัวเองต่อผู้หญิงบริการ ถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่สนทนากับสังคมอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อถกเถียงกับบรรทัดฐานทางเพศ แบบแผนการเจริญพันธุ์และเพศสัมพันธ์ ความฉ้อฉลของระบบกฎหมาย หรือพูดอีกอย่างว่าพิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือที่คนเล็กคนน้อยใช้ในการส่งเสียง เสริมกำลัง ต่อสู้กับอคติและความไม่เท่าเทียมในสังคม           เรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทยทั้งสามกรณีที่ยกมา ทำให้เห็นบริบทใหม่ที่น่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ไทยอย่างน้อยสามประการ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำพิพิธภัณฑ์ เกิดกระแสพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ในระยะสามสิบปีที่ผ่านมา ที่ไม่ได้เน้นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เป็นของชิ้นเอก ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติ แต่ขยายความหมายกว้างขวางครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิต เหตุการณ์หรือความทรงจำในชีวิตประจำวันที่อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่หรืองดงาม สิ่งที่จัดแสดงไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุศิลปะชิ้นเอก แต่อาจเป็นเรื่องราวหรือวัฒนธรรมของสามัญชนคนทั่วไป (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2557, หน้า 8-9)   ผู้คนภาคภูมิที่จะเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตนเองที่แตกต่างหรือไม่มีในเรื่องเล่าของรัฐ กล้านำเสนอวัฒนธรรม ประเพณี ข้าวของ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ทำให้เราได้มีโอกาสรับรู้เรื่องของป้าแสงดา แม่อุ๊ยแก้ว หรือยายเนียมกับยายสวาด และคาดว่าจะมีเรื่องของผู้หญิงอีกไม่น้อยที่เป็นคนเล็กคนน้อย ไม่ได้เป็นเลิศในด้านใด หากแต่มีคุณค่าหรือคุณลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างที่ควรค่าแก่การบันทึก เรียนรู้ และจดจำ           ประการที่สอง การตีความและเล่าเรื่องด้วยวัตถุหรือหลักฐานใหม่ๆ เปิดให้พิพิธภัณฑ์สนทนากับสังคมในหลากแง่มุมมากขึ้น เช่น การเลือกใช้เอกสารจากเนเธอร์แลนด์เพื่ออธิบายสังคม วิถีชีวิต การค้า ผ่านผู้คนธรรมดามากกว่าเสนอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ นำไปสู่การเล่าเรื่องผ่าน “นางสุด” หญิงมอญ ของพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา  หรือการตีความและนำเสนอความเป็นครอบครัวและเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายในครอบครัวของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเรามักไม่ค่อยได้พบในประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือในพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องบุคคลสำคัญในราชวงศ์ที่เคยมีมา           ประการที่สาม การนำเสนอเหตุการณ์ร่วมสมัย เรื่องราวด้านมืดของมนุษย์ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ เป็นการพลิกกลับขนบบางอย่างของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความรับรู้โดยทั่วไป ว่าเป็นพื้นที่ของการนำเสนอเรื่องราวที่งดงาม ศิลปวิทยาการของมนุษยชาติ การรำลึกนึกถึงและยกย่องบุคคลสำคัญบุคคลในความทรงจำ การนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงบริการของพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ เป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่แห่งของพิพิธภัณฑ์ไทยที่หลุดจากกรอบความคิดของการทำพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ ที่เราพบเห็นโดยทั่วไป           สุดท้ายนอกเหนือการสดุดีคุณงามความดี ความรู้ และประสบการณ์ของผู้หญิงในเรื่อง “การบ้าน” แล้ว หากพิพิธภัณฑ์ไทยจะเขยิบไปสู่การเล่าเรื่อง การรับฟังประสบการณ์ และบทบาทของผู้หญิงในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทาง “การเมือง” ซึ่งแทบไม่ปรากฏในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ไทย ดังที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในประเทศเวียดนาม น่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สนทนาเรื่องบทบาทของผู้หญิงให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น บรรณานุกรม จันทวิภา อภิสุข, 2559. พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ [บทสัมภาษณ์] (28 มิถุนายน 2559). ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2546. ผู้หญิงกับความรู้ในจักรวาลของผู้ชาย: ความหมาย การมองเห็นโลก และระบอบอำนาจความจริง. ใน: ส. สิทธิรักษ์, บ.ก. ผู้หญิงกับความรู้ 1 (ภาค 2). กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 1-22. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, 2559. ห้องเรียนประวัติศาสตร์ในงานพิพิธภัณฑ์. ใน: อ. ชูศรี, บ.ก. พิ(ศ)พิธภัณฑ์ บทความเลือกสรรจากการประชุมวิชาการ MUSEUM REFOCUSED. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, หน้า 253-256. น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557. Reading Between Lines: empower in the press, since 1985 ระหว่างบรรทัด: เอ็มพาวเวอร์ในหน้า นสพ. ตั้งแต่ 2528. 1st บ.ก. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเอ็มพาวเวอร์. เนาวรัตน์ บันสิทธิ์, 2559. พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา [บทสัมภาษณ์] (21 ธันวาคม 2559). ปฐม ทรัพย์เจริญ, 2549. โสเภณี(Prostitution): แนวความคิดที่แตกต่าง. วารสารรามคำแหงฉบับมนุษยศาสตร์, มกราคม-มิถุนายน, 1(26), หน้า 121-137. ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555. การศึกษารูปแบบกืจกรรมทางการศึกษาของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า,กรุงเทพฯ: วิทยานิพนธ์สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2549. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: ระยะที่ 2 ปีที่ 1 วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : กรณีศึกษา,กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2557. คำให้การของคนทำพิพิธภัณฑ์. ใน: ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, บ.ก. คนทำพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, หน้า 6-23. มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551. เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิดพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, 2559. นี่คือเรา พิพิธภัณฑ์ งานบริการทางเพศ ในสังคมไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเอ็มพาวเวอร์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. [ออนไลน์] Available at: http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/index.php [เข้าถึง1 พฤษภาคม 2560]. อำนวย จั่นเงิน บก., 2536. แสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศศิลป์(การทอผ้า). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. อำนวย จั่นเงิน, 2545. แสงดา บันสิทธิ์ เพชรน้ำเอกของวงการทอผ้าแห่งล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิแสงดา บันสิทธิ์ และนางเสาวนีย์ บันสิทธิ์.   [1] สามารถชมวิดีโอย้อนหลังการบรรยายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในเวียดนามได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9RcsZFnLa4Qหมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์, 2562, 25 ปี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รวมบทความจากสนาม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ความพัวพัน: ประวัติศาสตร์อาณานิคม ศิลปะ และวัตถุชาติพันธุ์ ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนี*

11 เมษายน 2562

*แปลและเรียบเรียงจาก Iris Edenheiser, 2017, ‘Entanglements: colonial history, arts, and “ethnographic object”- examples from German Museums. In Zvjezdana Antos, Annette B. Fromm, Viv Golding (eds), Museum and Innovations. Newcastle-Upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing.  โดย ปณิตา สระวาสี นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)--------------------เหมือนกันหรือแตกต่าง? การพัฒนาล่าสุดของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในเยอรมนี                 ในช่วง 10 ปีหลังนี้ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์หลายแห่งในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันมีการออกแบบการจัดแสดงใหม่และเปิดให้บริการอีกครั้ง ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้านี้และถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Humboldt Forum  โครงการด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดและได้รับงบประมาณสนับสนุนมากที่สุดจากรัฐบาลเยอรมนี  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้วางไว้ว่าจะเปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 เป็นการนำคอลเล็กชั่นของ Ethnologisches Museum หนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีคอลเล็กชั่นทางชาติพันธุ์จากทั่วโลกมากที่สุด มาจัดแสดงกลางเมืองเบอร์ลิน โดยแผนงานของโครงการ จะมีซีรี่ย์ของกลุ่มนิทรรศการชั่วคราวเชิงทดลอง  หลายอันจัดแสดงในเชิงศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรรค์ขึ้นเพื่อจะทดลองรูปแบบใหม่ของการนำเสนอวัตถุชาติพันธุ์  อย่างไรก็ดีในส่วนนิทรรศการถาวรจะยังคงนำเสนอวัฒนธรรมที่แบ่งตามภูมิภาคของคอลเล็กชั่นที่มี หลักการคล้ายๆ กันนี้ถูกใช้ต่อมาโดยพิพิธภัณฑ์ Grassi Museum fur Volkerkunde zu Leipzig ที่เพิ่งเปิดบริการส่วนห้องจัดแสดงวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ ใหม่อีกครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2009             แนวโน้มในภาพรวมของการจัดแสดง ที่มีลักษณะการเชิญศิลปินและนักออกแบบมาทำงานกับคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ เป็นหลักการที่นำโดย Clementine Deliss ผู้อำนวยการคนก่อนของพิพิธภัณฑ์ Frankfurter Weltkulturen ผู้ซึ่งเสนอมุมมองที่ท้าทายของ “พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์” (ethnographic museum) ที่เป็นการวางกรอบใหม่ในฐานะ “พิพิธภัณฑ์หลังชาติพันธุ์” (post-ethnographic museum)  นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Musuem-Kulturen der Welt ในเมืองโคโลญจน์ ที่เปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในปี ค.ศ. 2010 และได้ชื่อว่าว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ยุโรปแห่งปีใน ปี ค.ศ. 2012  สำหรับการจัดแสดงในนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินตามแนวทางการทำนิทรรศการของตนเองตั้งแต่ทศวรรษ 1980   โดยมุ่งเน้นการจัดแสดงแบบธีมมากกว่าการแบ่งตามภูมิภาค เช่น “พิธีกรรม” “พื้นที่อยู่อาศัย” “ศาสนา” “ความตายและชีวิตหลังความตาย” ซึ่งนำเสนอด้วยการเน้นวัตถุจัดแสดงที่ดึงดูดสายตาผู้ชมอย่างทรงพลัง  การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Museum-Kulturen der Welt ที่มาภาพ: www.museenkoeln.de/rautenstrauch-joest-museum             ในสวิตเซอร์แลนด์  พิพิธภัณฑ์ Museum der Kulturen Basel  ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างเมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 2011  โดยใช้แนวคิดมานุษยวิทยาร่วมสมัยเช่น เรื่อง “ผู้กระทำการ” (agency)  “ความรู้” (knowledge) และ “การสร้างความหมาย” (enactment) เป็นตัวร้อยเรียงนิทรรศการ และทำให้วัตถุแลดูพิเศษภายใต้การจัดแสดงในกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว  เป็นการสร้างสรรค์ที่คล้ายคลึงกันอย่างมากในแบบที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะนิยมกระทำกัน ส่วนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ Volkerkundemuseum der Universitat  Zurich ที่ทำการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 2004 ได้หันกลับไปสู่รากเดิม คือการวิเคราะห์ชาติพันธุ์จากวัฒนธรรมวัตถุ และเน้นไปที่ทักษะการผลิตและการใช้งานวัตถุ             การพัฒนาล่าสุดดังกล่าวนำไปสู่ความสนใจใหม่ต่อคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในความรับรู้เชิงสาธารณะของคนเยอรมัน ขอบเขตของบทความนี้จะไม่ได้สำรวจสถานภาพของแนวทางพัฒนาที่หลากหลายทั้งหมดเกี่ยวกับนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องวัตถุชาติพันธุ์ แต่จะเน้นไปที่สองนิทรรศการที่เป็นโครงการโดยตรงของผู้เขียน นิทรรศการแรกจัดแสดงไปแล้ว ส่วนอีกนิทรรศการกำลังจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะแสดงให้เห็นสองธีมหลักของข้อถกเถียงในปัจจุบัน และยังแสดงถึงเป้าหมายสำคัญของการประชุม International Committee for Museums of Ethnography ปี ค.ศ. 2014  โดยในส่วนแรกจะแสดงตัวอย่าง World Cultures Collections ของพิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen ที่เมือง Mannheim ผู้เขียนมีข้อโต้เถียงเรื่องความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคม ปัจจุบันไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดที่อธิบายข้างต้นที่หันความสนใจในประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในการจัดแสดงนิทรรศการถาวรของตนเองยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ที่แฟรงค์เฟิร์ต  คือส่วนใหญ่นิทรรศการพิเศษเหล่านั้นมักที่ให้สุ้มเสียงศิลปินมากกว่าการตีความคอลเล็กชั่นในทางประวัติศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานเชิงวิชาการ  ในส่วนที่สองผู้เขียนจะพลิกกลับแนวโน้มที่มักเชิญชวนศิลปะและศิลปินเข้ามาสู่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยจะทำให้เห็นมานุษยวิทยาและการอภิปรายทางการเมืองในผลงานศิลปะและนิทรรศการศิลปะ ความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์             คอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อาณานิคม กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกเน้นย้ำกันมากเมื่อไม่นานมานี้ในแวดวงวิชาการและการรับรู้สาธารณะของประวัติศาสตร์อาณานิคมเยอรมนี ในเชิงวิชาการและสังคมโดยรวมให้ความสำคัญกับระบอบนาซีและสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองเรื่องครอบงำวาทกรรมประวัติศาสตร์เยอรมันเป็นอย่างมาก เยอรมนีเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจอาณานิคมในยุคหลังๆแล้ว และปัจจุบันได้หยิบยกประวัติศาสตร์อาณานิคมขึ้นมาพิจารณากันใหม่  มีการดีเบตสาธารณะเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยเฉพาะตั้งแต่การวางแผนโครงการHumboldt-Forum โดยมีจุดยืนสำคัญที่เป็นแนวโพสต์โคโลเนียล/ถอดรื้อโคโลเนียลในเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการได้มาและการเมืองในการสร้างภาพตัวแทนในบริบทอาณานิคมระหว่างช่วงเวลาการก่อรูปพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์และหลังจากนั้น การวิพากษ์เหล่านี้ถูกพูดในวงกว้างโดยคนวงการต่างๆ แต่เกือบจะยังไม่มีมาจากคนในวงการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์  ยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ในแฟรงเฟิร์ต             การโต้เถียงในประเด็นนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วกับ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) เมือง Mannheim ที่กำลังอยู่ในช่วงวางแผนนำคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์กลับมาสู่การรับรู้สาธารณะผ่านการจัดแสดงชุดใหม่หลังจากที่ปิดตัวไปเกือบสิบปี ในกระบวนการดังกล่าว เป้าประสงค์หลักเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์คอลเล็กชั่นอย่างถี่ถ้วน โดยการเน้นเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับอาณานิคมในตัววัตถุและจดหมายหมายเหตุที่เกี่ยวข้อง กรอบคิดใหม่นี้วางบนพื้นฐานการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าการวิจัยหรือปฏิบัติการเชิงศิลปะ ที่นิยมประยุกต์ใช้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้  ที่ในบางกรณีคนที่บุกเบิกแนวคิดนั้นมาใช้ มองราวกับว่าศิลปะในตัวมันเองไม่มีอคติ เข้าใจ “วัตถุทางชาติพันธุ์” ว่าเป็นสิทธิพิเศษมากกว่าเรื่องเความชอบธรรม             วัตถุและภาพถ่าย รวมถึงจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) พัวพันกับอาณานิคมในหลากหลายระดับ คอลเล็กชั่นพูดถึงผู้กระทำการระดับเมือง Mannheim และเมืองรอบๆ ซึ่งเกี่ยวพันในทางการเมืองและการค้าอาณานิคมระดับโลก เช่น Theodor Bumiller ผู้แทนของกองกำลัง Kaiserliche Schutztruppe อาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก และยังเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับท้องถิ่นใน Mannheim เขาเขียนบันทึกราชการประจำวันเกี่ยวกับกองทัพในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่ REM พร้อมกับภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของ Bumiller ในช่วงที่เขาบังคับการในอาณานิคม นอกจากนี้เขายังนำวัตถุจำนวนมหาศาลจากแอฟริกาตะวันออกกลับมา ซึ่งต่อมาเขาและภรรยาได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ วัตถุชิ้นหนึ่งคืองาช้างสีขาวใหญ่ยักษ์ที่ยังไม่ได้แกะสลัก ที่สามารถอธิบายอีกแง่มุมของระบอบอาณานิคมนั่นคือ เรื่องของผู้กระทำการที่เป็นชนพื้นเมืองในอาณานิคมและกลยุทธ์ต่างๆ ของพวกเขาที่จะดีลกับอำนาจยุโรปและบรรดาตัวแทน  งาช้างดังกล่าวเป็นของขวัญที่ Bumiller ได้รับจากมือของ Tippu Tip พ่อค้าซื้อขายทาสและงาช้างที่สร้างตัวเองจากการค้าผูกขาดทั่วแอฟริกาตะวันออก เมื่อเกิดสงครามอาณานิคมและเกิดความระส่ำระสายในสถาบันทางสังคมและอำนาจของแอฟริกาตะวันออก เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในช่วงสุญญากาศ และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลสูงที่สุดและร่ำรวยที่สุดในสังคมอาณานิคมแอฟริกาตะวันอก ของขวัญชิ้นล้ำค่า เช่นงาช้าง สื่อถึงความมั่งคั่งและอำนาจ ในเวลาเดียวกันทำให้เข้าใจถึงการกระชับมิตรของผลประโยชน์ของผู้ให้ในความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตของเขา Tippu Tip พ่อค้าทาสและงาช้างผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tippu_Tip_1889.jpg             คอลเล็กชั่นยังประกอบด้วยวัตถุที่หลากหลายจากคณะผู้เดินทางของ Franz และ Pauline Thorbecke ที่เมือง Bamender Grassfields ในแคเมรูน ซึ่งเป็นอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตก ในปี ค.ศ. 1912-13 รวมถึงคอลเล็กชั่นภาพสีน้ำของ Pauline Thorbecke ที่เป็นภาพกษัตริย์ Njoya แห่งอาณาจักร Bamum และพระมารดา Niapundunke ท่ามกลางสมาชิกสภาขุนนาง และยังมีวัตถุอีกราว 1,300 ขิ้น เช่น หน้ากากหมวกเหล็กจากคลังสมบัติของกษัตริย์  กษัตริย์ Njoya ใช้นโยบายที่เอาอกเอาใจเจ้าอาณานิคมเยอรมัน โดยการยอมรับอำนาจของเจ้าอาณานิคมและยอมรับกฎทางการค้าใหม่ เขาหวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์อย่างสันติ ที่จะไม่ทำให้โลกศาสนา การเมือง และสังคมของอาณาจักร Bamum ถูกรบกวน จากการบุกรุกของเจ้าอาณานิคม             เหตุการณ์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมในนามิเบีย อดีตอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ที่รู้จักกันในนาม Herero and Nama uprising นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สองกลุ่มชาติพันธุ์ มีผู้ล้มตายเป็นพันคน  คอลเล็กชั่นของ REM เก็บรักษาลายมือของ Samuel Maharero และจดหมายของ Jacob Morenga ผู้นำของเผ่า Herero และ Nama ระหว่างการลุกฮือต่อต้านเจ้าอาณานิคม และวัตถุทางวัฒนธรรมของชาว Herero ซึ่งได้มาจากทหารเยอรมันที่ตั้งกองทัพระหว่างการทำสงครามในปี ค.ศ. 1904 และ 1908             นอกจากนี้การบอกเล่าเรื่องราวของอาณานิคมเยอรมัน คอลเล็กชั่นและนิทรรศการเผยให้เห็นการพัวพันของเจ้าอาณานิคมเยอรมันและเครือข่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากเขตแดนของประเทศตนเองเช่น การเกี่ยวข้องในการปราบปรามกบฎนักมวยในเมืองจีนระหว่างปี ค.ศ. 1899 และ 1901 ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกบอกเล่าด้วยวัตถุที่มาจากพระราชวังต้องห้ามในปักกิ่งและที่อื่นๆ             ท้ายสุด  กระบวนวิธีในการสะท้อนย้อนตนเองของคอลเล็กชั่นและนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ REM เมือง Mannheim ก็สามารถเริ่มขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การค้นคว้าบันทึกข้อมูลของนิทรรศการเกี่ยวกับอาณานิคมในปี ค.ศ. 1937 เพื่ออธิบายให้เห็นวิธีการที่นิทรรศการสนับสนุนเป้าหมายของการล่าอาณานิคมอย่างไร โดยวิธี “การขุดค้นคอลเล็กชั่น” และการย้อนหาเรื่องราวของสถานการณ์ในอาณานิคมซึ่งผูกติดกับวัตถุต่างๆ ชีวประวัติ และความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่สำคัญ  วัตถุจึงมิได้ใช้เป็นเพียงภาพแทนของชาวยุโรปที่เหนือกว่า หรือมีความเป็นวัฒนธรรมที่มีขอบเขตชัดเจนตายตัวและแช่แข็งอยู่ในกาลเวลาอีกต่อไป ความเป็นมานุษยวิทยาของนิทรรศการศิลปะ                 ในปี ค.ศ. 2010 คอลเล็กชั่น Staatliche Ethnographische Sammlungen Sachsena (SES, คอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ของเมืองแซกโซนี) กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Staatliche Kunstsammlungen Dresden (SKD) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างการทำงานกัอย่างในกล้ชิดระหว่างศิลปะและคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ สิ่งหลักที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันดังกล่าวคือ โครงการความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วาติกันในการทำ “พิพิธภัณฑ์อินเดียน” ของ Ferdinand Pettrich(1798-1872) ศิลปินประติมากรที่กำเนิดในเมืองเดรสเดน ผลงานประติมากรรมของเขาได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิก  ช่วงทศวรรษ 1830  Pettrich อาศัยและทำงานในวอชิงตันดีซีและฟิลาเดลเฟีย เขาผลิตงานปูนปั้นชนพื้นเมืองอเมริกันผู้ซึ่งเป็นตัวแทนเพื่อไปต่อรองสนธิสัญญาเรื่องที่ดินและสันติภาพ พิพิธภัณฑ์วาติกันเป็นเจ้าของผลงานเหล่านี้ โดยจัดแสดงที่ Albertinum ในเมืองเดรสเดน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก็บรักษาผลงานศิลปะโมเดิร์นและร่วมสมัยและคอลเล็กชั่นรูปปั้นที่มีชื่อเสียง    โดยทำนิทรรศการชื่อ “Tecumseh, Keokuk, Black Hawk: Portrayals of Native American in Times of Treaties and Removal”  จะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อลักษณะนี้ ไม่ใคร่จะเกี่ยวกับศิลปะหรือตัวศิลปินแต่อย่างใด             ประติมากรรมชนพื้นเมืองอเมริกันของ Pettrich ถูกตีความว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะสกุลนีโอคลาสสิก เป็นกลาง และแปลกตาในฉบับศิลปะยุคอาณาจักรโรมัน ภัณฑารักษ์ต้องการแสดงถึงบริบททางการเมืองระหว่างที่ Pettrich สร้างผลงานและนำเอาเสียงชนพื้นเมืองอเมริกันในตอนนั้นออกมาให้เห็น  โดยในปี ค.ศ. 1830 กฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกันเพิ่งผ่านสภาคองเกรส ตัดสินว่าชนพื้นเมืองที่อาศัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของชาติสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นิทรรศการ Cherokee Trail of Tears เป็นผลพวงมาจากการบังคับย้ายถิ่นครั้งนั้นซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของชนพื้นเมือง ผลงานศิลปะในตัวมันเองไม่ได้ส่งผ่านหรือแสดงถึงบริบททางการเมือง ดังนั้นวิธีการที่เราเอามาใช้จัดแสดงคือการให้ผู้ชมเข้าใจบริบทในการสร้างงาน             ทางเข้านิทรรศการนำเสนอตัวบทกฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกัน จัดแสดงติดกันต่อจากภาพวาดลายเส้นของ Pettrich ที่วาดชนพื้นเมืองกำลังต่อสู้กับปิศาจแห่งท้องทะเล ทั้งนี้มีมุมมองสองอย่างที่นำเสนอไปพร้อมกันในผลงานศิลปะนี้  คือมองศิลปะในแง่ความเก่าแก่และแปลกตา และความเป็นจริงทางการเมืองไปพร้อมกัน   ส่วนต่อมาเป็นผลงานประติมากรรมที่นำเสนอในโถงนิทรรศการหลัก เน้นรูปแบบความงาม  ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ถึงความงดงาม ความแปลกตาต่อชิ้นงาน ขณะที่ฝาผนังโดยรอบจะโค้ดคำพูดของชนพื้นเมืองที่ปรากฏในงานของ Pettrich รวมถึงคำพูดนักการเมืองอเมริกัน-ยุโรปและบรรดาศิลปินด้วย คล้ายกับเป็นแนวนำเรื่องเพื่อให้เห็นบริบทการเมือง ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ถูกคุกคามของชนพื้นเมืองในตอนนั้นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ป้ายคำอธิบายผลงานรายชิ้นจะสนทนากับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นแบบปั้น โดยแทบจะไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะเลย             การจัดแสดงในส่วนการดำเนินชีวิตของ Pettrich เป็นรูปปั้นครึ่งตัวเขา หนึ่งในวัตถุส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียง บ่งบอกความเป็นชนชั้นกลางไปจนถึงระดับบน แสดงถึงสถานภาพในสังคมและความสำเร็จในชีวิตของเขา คู่ขนานไปความหมายดังกล่าวเป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมและศิลปะของชนพื้นเมือง เราเลือกวัตถุจากช่วงเวลาเดียวกันจากชนพื้นเมืองเฉพาะกลุ่มที่สื่อความหมายไปในทางเดียวกัน คือเรื่องของการประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น สถานภาพทางสังคม, อำนาจ, และชื่อเสียงในสังคมของชนพื้นเมือง  นำเสนอวัตถุที่ตกทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกันกับรูปปั้นครึ่งตัวในบริบทสังคมยุโรปที่มักเป็นมรดกในครอบครัว วัตถุพื้นเมืองในนิทรรศการดังกล่าวยังรวมถึงเสื้อคลุมที่ทำจากหนังควายที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของเจ้าของและสร้อยคอที่ทำจากอุ้งตีนหมี             ผลงานชิ้นเอกของนิทรรศการนี้คือ งานประติมากรรมที่ชื่อ “Dying Tecumseh”  Shawnee Tecumseh เป็นทั้งผู้นำทางการเมือง นักรบ นักคิด ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองอเมริกัน-ยุโรป เขาพยายามจะรวมกลุ่มพันธมิตรชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยวิธีการสู้รบ เขาตายในสงครามบริติช-อเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1813  Pettrich ปั้นเขาในฐานะวีรบุรุษที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด  ทั้งนี้การหลอมรวมความเป็นชนพื้นเมืองร่วมสมัยและการให้มุมมองที่ไม่สิ้นหวังของเขาถูกนำเสนอไปพร้อมๆ กันผ่านการนำเสนอหนังเรื่อง “Tecumseh’s Vision”  ซึ่งฉายในห้องแยกต่างหากออกไป ในหนังเล่าถึง Shawnee และนักคิดชนพื้นเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงความหมายของ Tecumseh ที่มีต่ออัตลักษณ์ชนพื้นเมืองอเมริกันในปัจจุบัน             Black Hawk เป็นหัวหน้าอีกชนเผ่าหนึ่งที่ Pettrich ปั้นขึ้น ความทรงจำในชีวิตของเขาถูกเล่าและให้ล่ามบันทึกตามคำพูดของเขา ซึ่งทุกวันนี้บันทึกดังกล่าวถือเป็นอัตชีวประวัติชิ้นแรกของชนพื้นเมืองอเมริกัน คล้ายกับการจัดแสดงของ Tecumseh คือมีการติดตั้งห้องสี่เหลี่ยมดำที่เปิดเสียงของผู้ที่อ่านบันทึกของ Black Hawk ขณะที่เขาเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังวอชิงตัน ซึ่งเป็นบริบทสำคัญของชิ้นงานนี้ของ Pettrich ผลงาน Dying Tecumseh ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ferdinand_Pettrich_-_The_Dying_Tecumseh_-_Smithsonian.jpg             ท้ายสุดคือการนำเสนอผลงานร่วมสมัยชื่อ “Ghost in the machine” เป็นรูปปั้นเทพีอาเธนาของไมรอนที่ถูกผูกติดอยู่กับตู้เย็น โดยศิลปินชื่อ Jimmie Durham ซึ่งตั้งแสดงอยู่บริเวณทางออกนิทรรศการ หากภาพตัวแทนของชนพื้นเมืองโดยผลงานของ Pettrich ได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิกที่หยังรากลึกในประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรป ผลงานของ Durham ก็ได้นำเอาพื้นฐานรากศิลปะของยุโรปดังกล่าวมาบิดอย่างเย้ยหยัน             ตลอดข้อเขียนข้างต้น ผู้เขียนมองความพัวพันในสองลักษณะ คือ ทั้ง “วัตถุชาติพันธุ์” และผลงานศิลปะ พัวพันอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์อาณานิคมกระแสหลักและประวัติส่วนบุคคล ซึ่งสามารถนำเสนอความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาในศิลปะในการจัดแสดงนั้น แต่สิ่งที่เป็นความพัวพันระหว่างกระบวนการวิจัยและการจัดแสดงวัตถุเหล่านี้เป็นมุมมองเชิงหลักวิชาต่างๆ ที่ต้องมองวัตถุด้วยการตั้งคำถาม  ทั้งนี้ด้วยการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากหลายสาขาวิชา เราสามารถแสดงให้เห็นความต่าง ทั้งจากมุมผู้สร้างสรรค์ผลงานและจากผู้ใช้งาน.

พิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames

22 มีนาคม 2556

แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เมือง และความหมายของพิพิธภัณฑ์ที่ไอคอม (ICOM)นิยาม มีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศแถบตะวันตกในเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม แนวคิดดังกล่าวมีนัยยะสองประการ ประการแรกคือมองว่าคอลเล็กชั่นเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องมรดกวัฒนธรรม ดังนั้นประชาชนจะต้องให้ความสนใจต่องานพิพิธภัณฑ์ ประการที่สอง งานพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งดีงามที่ทุกชุมชนควรยอมรับและปรารถนาจะได้มา บทความนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อฐานคิดสองประการดังกล่าวถูกนำไปใช้กับชุมชนท้องถิ่น จะก่อให้เกิดทัศนคติและผลที่ตามมาภายหลังอย่างไร และสนใจว่าอะไรที่ได้รับพิจารณาว่าเป็นมรดกอันทรงคุณค่า และอะไรคือบทบาทที่เหมาะสมของพิพิธภัณฑ์ โดยทั่วไปแล้วผู้ชมกลุ่มหลักของพิพิธภัณฑ์คือ คนชนชั้นกลางและชนชั้นสูง คำถามต่อมาคือ แล้วกลุ่มคนที่พิพิธภัณฑ์ไม่เคยสนใจมาก่อน พิพิธภัณฑ์ควรจะให้อะไรบ้างหรือไม่แก่คนในสังคมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนชายชอบ พิพิธภัณฑ์กระแสหลักจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมคนกลุ่มน้อย คนยากจน หรือคนที่ถูกเลือกปฏิบัติได้อย่างไร? หลายคนกล่าวว่านักพิพิธภัณฑ์วิทยาเป็นเรื่องของคอลเล็กชั่นมากกว่าชุมชน ดังนั้นการที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาให้ชุมชนสนใจงานวัฒนธรรมด้วยตนเองนั้น จำเป็นต้องมีฐานคิดและความชำนาญอีกอย่างหนึ่ง แม้ด้วยเจตนารมณ์อันดีของผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ ที่รับเอาแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ อาจทำให้การทำงานกับชุมชนมีแนวโน้มที่จะปลอมแปลงข้อเท็จจริงของชุมชนด้วยการผลิตสร้างความคิดที่ว่า ชุมชนต้องพึ่งพาบริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยิ่งผู้คนถูกกระตุ้นให้พึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพัฒนาความคิดริเริ่มของตนเองได้น้อยลงเท่านั้น ดังนั้นการนำแนวคิดพิพิธภัณฑ์มาใช้กับชุมชนท้องถิ่นโดยปราศจากการปรึกษาหารือกันอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอได้ จากนี้ต่อไปบทความนี้จะพิจารณาถึงรูปแบบที่ผิดปกติของการสร้างภาพตัวแทนด้วยตนเอง (self- representation) ในบทความได้นำเสนอตัวอย่าง โครงการ Clemente Humanities Programme ของ Earl Shorris นักวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ โครงการดังกล่าวเป็นการให้การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์แก่ผู้ยากจนในเมือง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่เขาได้สัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยติดคุกและติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เขาสะดุดคิดกับคำตอบของผู้หญิงคนนี้ที่พูดถึงโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและระดับชั้นทางสังคมมีผลต่อความยากจน การจะขจัดความยากจนได้ จะต้องสอนให้คนเหล่านั้นมีความรู้เกี่ยวกับหลักประพฤติสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง (moral life of downtown) และวิธีหนึ่งที่จะให้ความรู้คือ พาไปชมการแสดงละคร พิพิธภัณฑ์ คอนเสิร์ต ฟังบรรยายทางวิชาการ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการคิดตรึกตรอง เกิดบทสนทนา และการอภิปรายอย่างมีเหตุผล จากเรื่องราวดังกล่าว ทำให้ Shorris เริ่มโครงการ Clemente Humanities Programme ขึ้นในปี 1995 โดยสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์แก่เด็กวัยรุ่นผู้ยากไร้ในนิวยอร์ก 30 คน หลักการของโครงการดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางรวมถึงงานพิพิธภัณฑ์ ที่ปรารถนาจะทำงานกับคนกลุ่มน้อย ผู้อ่อนแอ ผู้เสียเปรียบหรือไม่มีเสียงในสังคม เพราะการทำให้เกิดความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์หรือกระบวนการสร้างมโนสำนึก (conscientization) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง และแสดงตัวตนต่อผู้ที่มาครอบงำหรือกดบังคับ เอารัดเอาเปรียบ หรือมาครอบครองสิ่งที่เป็นภาพตัวแทนทางวัฒนธรรมของพวกเขา การมีโอกาสได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ การแสดงโอเปร่า และงานศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การสร้างมโนสำนึก การมีจิตสำนึกและการสร้างภาพแทนของตนเอง สามารถเพิ่มอำนาจให้คนแสดงตัวตนในฐานะเป็นผู้กระทำ(agents) ต่อสู้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับตนเอง ผลจากโครงการ Clemente Humanities Programme กลายเป็นตัวแบบก่อให้เกิดโครงการอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ โครงการทดลอง Humanities 2 โครงการ ในเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา โครงการแรกเกิดในมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ที่เปิดที่ให้คนที่ไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยสามารถเข้าเรียนวิชาเรียนมนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 วิชานี้เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อยหลายร้อยคนได้เรียนรู้ผลงานระดับคลาสสิกในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แม้วิชาดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในแง่จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน แต่มันกลับมีผลเพียงเล็กน้อยต่อปัญหาทางสังคมโดยรวมของชุมชน อาทิ ความยากจน การติดยาเสพติด การไร้ที่อยู่ เป้าหมายโครงการที่ต้องการก่อให้เกิด การตระหนักรู้ด้วยตนเองและการสร้างภาพแทนด้วยตนเองจึงยังอยู่ห่างไกลมาก มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดั้งเดิมของชาว Musqueam คนพื้นเมืองของแคนาดา มหาวิทยาลัยจึงพยายามสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับคนพื้นเมืองนี้ขึ้น ก่อให้เกิดอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งเป็นการเปิดวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ที่เปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจเข้าเรียน โดยเรียนกันที่ชุมชน Musqueam และมีชาว Musqueam เป็นผู้ประสานงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยด้วย ภายใต้หลักสูตรดังกล่าวทำให้ชาว Musqueam สนใจในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองมากเสียยิ่งกว่าการเรียนวิชาด้านสังคมศาสตร์ทั่วไป เพราะพวกเขามีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตนเองที่จะเล่ามากมาย นักวิชาการที่เป็นชนพื้นเมืองจากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยต่างสละเวลาให้กับการทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชน มีการสัมมนานำเสนอผลงานวิจัย และเปิดงานด้วยการให้ลิ้มรสอาหารพื้นเมือง เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี มีผู้เข้าเรียนมีความกล้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะพูดถึงประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวของพวกเขาว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างไร สภาปกครองท้องถิ่นและสมาชิกในชุมชนต่างให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มกำลัง วิชาMusqueam เบื้องต้น 101 ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนตามมามากมาย อาทิ โครงการฝึกการเขียนอย่างสร้างสรรค์ งานเทศกาลปลูกฝังความเป็นผู้นำแก่เยาวชนพื้นเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ดีกล่าวได้ว่าวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับวิชามนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 แต่วิชาดังกล่าวส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อยต่อสวัสดิการโดยรวมของชุมชน ดังนั้นจะเห็นถึงขีดจำกัดของหลักสูตรที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมว่า การได้มาซึ่งทุนทางวัฒนธรรมโดยผ่านการร่ำเรียนจากตำรา อาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์และการสร้างภาพแทนตนเอง แต่ยังไม่เพียงพอ และการตระหนักรู้อย่างเดียวก็ไม่พอที่จะทำให้คนมีอิสรภาพ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสุขุม แต่ปฏิบัติการทางการเมืองในสังคมเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่แค่การศึกษาเชิงวิพากษ์ในห้องเรียน Shorris ผู้ริเริ่มโครงการ Humanities Programme บอกว่าจริง ๆ แล้วจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ไม่ได้อยู่ที่การชี้นำประชาชน หากอยู่ที่การให้อำนาจแก่พวกเขา พวกเขาจะใช้อำนาจอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งฐานคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นน้อยมากในงานพิพิธภัณฑ์ เขายังบอกอีกว่าคนชายขอบเหล่านี้ถูกห้อมล้อมด้วย "แรงกดดัน" (surround of force) เช่น การโดนกีดกัน ความยากจน ความหิวโหย อาชญากรรม นโยบายรัฐ ฯลฯ คนเหล่านี้มีโอกาสจำกัดมากที่จะได้เข้าไปเรียนรู้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และยากที่จะมีหนทางในการเอาชนะแรงกดดันรอบตัวเหล่านี้ Jane และ Conaty ได้บอกไว้ว่า บทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อสังคม คือ การเข้าไปมีส่วนช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์การถูกเอารัดเอาเปรียบและจัดการกับแรงกดดันที่แวดล้อมของคนชายขอบเหล่านั้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าละทิ้งหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่เคยมีมา ซึ่งในบทความได้เสนอ 2 ตัวแบบ ให้พิพิธภัณฑ์พิจารณาเพื่อนำไปใช้ด้วยวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน ตัวแบบแรกเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาพ และการให้ความเคารพต่อความรู้พื้นถิ่น ตัวแบบที่สองเป็นความสัมพันธ์กันลักษณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกับลูกค้า (professional-client relationship) ลูกค้าก็คือชุมชน ที่อาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผนออกแบบและจัดทำนิทรรศการ งานสำคัญอันดับแรกสำหรับการที่พิพิธภัณฑ์จะทำงานร่วมกับชุมชนคือ จะต้องพยายามให้ชุมชนเรียนรู้ถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในเมืองที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาทั้งเรื่อง การกีดกันทางเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และสภาวะการเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม ส่วนงานที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเสนอความช่วยเหลือให้แก่ชุมชนในการพัฒนาสิ่งที่ชุมชนระบุเองว่ามีความสำคัญต่อพวกเขา ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้หมายความว่าให้นักพิพิธภัณฑ์วิทยาเลิกปฏิบัติสิ่งที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคอลเล็กชัน การตีความวัตถุ แต่ต้องการเรียกร้องให้บรรดานักพิพิธภัณฑ์วิทยาหยุดฟังเสียงของคนที่เราปรารถนาจะให้ความช่วยเหลือแก่เขา นี่อาจจะช่วยเปิดมุมมองให้แก่แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ตะวันตกแบบดั้งเดิมได้ สรุปความจากบทความพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames ในการประชุมเรื่อง พิพิธภัณฑ์กับชุมชน: มุมมองเปรียบเทียบข้ามพรมแดนวัฒนธรรม ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ วันที่ 28-29 กันยายน 2548.

ข้อสังเกตเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

21 มีนาคม 2556

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปนั่งสังเกตการณ์การนำเสนอแนวทางการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จัดโดยบริษัท เฟรนด์ส ฟอร์ แฟมิลี่ จำกัด ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การนำเสนองานในครั้งนี้เป็นการนำเสนอแนวทางการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 7 แห่ง ใน 7 เขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตราษฎร์บูรณะ เขตคลองสาน เขตหนองแขม เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี เสนอต่อตัวแทนของเขตต่างๆ อันประกอบด้วย ประธานชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา สภาวัฒนธรรม ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวเหล่านั้นได้รับทราบและถือเป็นโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลไปด้วยหลังจากทีมงานของบริษัทฯ ได้ทำงานสนามศึกษาข้อมูล รูปแบบเนื้อหาการจัดแสดงกันมาระยะหนึ่งแล้ว   การนำเสนองานแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องข้อมูลเนื้อหาที่นำมาใช้จัดแสดง ซึ่งทั้ง 7 เขตเปิดเรื่องโดยให้เห็นภาพกว้างของกรุงเทพฯ เหมือนกันในหัวข้อ "กว่าจะมาเป็นกรุงเทพมหานคร" เท้าความมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ลำดับต่อมาเป็นเรื่องพัฒนาการทางการปกครองของกรุงเทพฯ จากนั้นจึงเข้าสู่ข้อมูลเบื้องต้นของเขตต่างๆ เพื่อปูเรื่องเข้าสู่เนื้อหาของแต่ละเขตพื้นที่ (ให้เป็นที่สงกาว่าจะเอาเขตการปกครองมาขีดคั้นพรมแดนวิถีชีวิตวัฒนธรรมกันได้อย่างไร ช่างกล้าหาญชาญชัยเสียหรือเกินที่กักขังความเป็น "ท้องถิ่น" ไว้ใต้เส้นแบ่งเขตปกครอง)   เมื่อเข้าสู่เนื้อหาของท้องถิ่นแต่ละเขตพื้นที่ซึ่งจะแตกต่างกันไป โดยจัดแบ่งรูปแบบการจัดแสดงเป็นโซน อย่างในกรณีเขตหนองแขม โซน A ว่าด้วยเรื่องพัฒนาการของเขตหนองแขม โซน B เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวหนองแขม โซน C เรื่องหนองแขมกับการเปลี่ยนแปลง โซน D เป็นเรื่องสถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญ และของดีหนองแขม สำหรับในสองโซนสุดท้ายนี้จะเหมือนกันทั้ง 7 เขตพื้นที่คือ โซนที่จัดแสดงแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวของแต่ละเขต และชุดสืบค้นข้อมูลท้องถิ่น ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนสำหรับสืบค้นข้อมูลท้องถิ่นและเอกสารข้อมูลของท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนที่สองเป็นการนำเสนอรูปแบบการจัดแสดงโดยอิงกับสถานที่จริงว่าควรจะมีหน้าตาอย่างไร ทางบริษัทก็นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เห็นรูปแบบการจัดแสดงว่าจะมีหน้าตาอย่างไร ในช่วงท้ายของการประชุม เมื่อซักถามทำความเข้าใจตกลงใจในเนื้อหาเรื่องราวถ้อยคำที่จะใช้ในการจัดแสดงแล้ว ทางบริษัทก็เสนอให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้เลือกคณะที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานจัดสร้างพิพิธภัณฑ์จำนวน 5 ท่านโดยมีหน้าที่   หน้าที่ 1. ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลเนื้อหา 2. พิจารณาแบบก่อสร้าง 3. แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินงานให้ชุมชนรับทราบ ผู้เขียนให้นึกฉงนนี่จะเป็นองค์กรทางวัฒนรรมทั้งรูปธรรมนามธรรมเพื่อชุมชนโดยชุมชนแล้ว กทม.จัดที่ทางวางคนวางชุมชนไว้ตรงไหน ถึงได้มาอุปโลกน์ที่ปรึกษาจากคนในชุมชนเจ้าของเรื่องเจ้าของพื้นที่กันเมื่อโค้งสุดท้าย แล้วกระบวนการดำเนินงานเป็นอย่างไรหนอ?   กรอบแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครa ระบุว่าการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ มาจากมติของที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในการประชุมสามัญที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2544 ให้ความเห็นชอบดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครในแต่ละเขตปกครอง โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาเยาวชน 2 กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบดำเนินการจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2546-2550 จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจำนวน 50 แห่ง ใน 50 เขต ดังนี้   ปีงบประมาณ 2546 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ นำร่อง จำนวน 4 แห่งb ปีงบประมาณ 2547 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ แห่งใหม่จำนวน 23 แห่ง พร้อมๆ ไปกับบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ฯ นำร่อง 4 แห่งดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ปีงบประมาณ 2549 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ แห่งใหม่จำนวน 23 แห่งc และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 27 แห่ง ปีงบประมาณ 2550 บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 50 แห่ง   นายนิคม ไวรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กทม. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ไว้ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2547 ว่า   "โครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครถือเป็น อีกความพยายามหนึ่งในการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละเขตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนรวมทั้งทำหน้าที่ บอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ กลุ่มคนในสังคมประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น"   ด้วยตระหนักถึงความแตกต่างความมีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางแห่งจะทำหน้าที่เพียงบอกเล่าเรื่องราวในอดีตและเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบันแล้วเชิญชวนให้ศึกษาวิถีชีวิตจริงที่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ ในเรื่องขั้นตอนการดำเนินงานนั้น สำนักงานเขตรับผิดชอบพิจารณาสถานที่จัดตั้งโดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าควรมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นที่จะดึงดูดความสนใจแก่ผู้มาเยี่ยมชมได้ และเจ้าของพื้นที่ยินยอมให้เข้าไปใช้พื้นที่นั้น นอกเหนือจากการหาสถานที่เป็นการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพื้นที่ รูปแบบของพิพิธภัณฑ์ในแต่ละเขต การปรับปรุงภูมิทัศน์ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดทำคู่มือนำชม ฯลฯ   ทีนี้กลับมาหาชุมชนกันบ้าง ชุมชนรู้อะไร พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครคืออะไร ทำพิพิธภัณฑ์ฯ ไปทำไม กทม. ทำความเข้าใจกับคนกรุงเทพฯ เพียงพอแล้วหรือ คนกรุงเทพฯ มีความเข้าใจรับรู้แล้วหรือที่จะมีพิพิธภัณฑ์ไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของตน หาก กทม.จะใช้เวลาทำความเข้าใจและทบทวนเรื่องนี้สักหน่อย เราคงจะไม่ได้ยินคำพูดเหล่านี้หรอกว่า   "กทม.สรุปเรื่องที่ตั้ง ทำไมไม่ถามคนหนองแขม แล้วเชิญมาทำไม"   "พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเริ่มในวันนี้พรุ่งนี้ เราอยู่กันมาได้ 100 ปี ไม่เห็นเป็นไร เรื่องวันนี้พรุ่งนี้เป็นเรื่องของพวกคุณ"   "บริษัทฯ ไม่ถามชุมชน ชุมชนไม่เคยรู้เลยว่างบประมาณเท่าไหร่ จะทำอะไรต่อไป ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร คณะกรรมการไม่ทราบเรื่องเลย"   "คนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม รัฐให้งบมา เรามาคิดกันเองก็ได้ ประสานงานให้มีคณะทำงาน คนหนองแขมต้องรู้"   เพราะนั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่จะตามมาจากการบริหารจัดการที่ กทม.จะมอบให้กับสำนักงานเขต สำนักงานเขตมอบให้กับชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการกันต่อ งานนี้ยากยิ่งกว่าที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เสียอีก เพราะเราไม่ต้องการเห็นพิพิธภัณฑ์ที่ไหนเป็นขยะทางวัฒนธรรมที่ถูกทิ้งร้างอย่างไร้ผู้เหลียวแลอีก…   ----------------------- a กรอบแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร.เอกสารอัดสำเนา. ฝ่ายพัฒนาเยาวชน 2 กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร b พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม ซอยจรัลสนิทวงศ์ 32 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ตั้งอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ใกล้ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก จัดตั้งที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซอยเจริญกรุง 43 และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน ตั้งอยู่ที่โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ สุดสายถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล c ได้รับการบอกกล่าวมาอีกทีว่าได้งบประมาณมาที่ละ 3 ล้านบาท ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2548). * สรินยา คำเมือง นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

พิพิธภัณฑ์สึนามิ เพื่อใคร เพื่ออะไร ?

21 มีนาคม 2556

ปีใหม่ 2548 นี้เป็นปีที่เริ่มด้วยความตื่นตระหนกและเศร้าสลดจากภัยธรรมชาติ ที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งในประเทศไทย และที่อื่นๆตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รวมแล้วเป็นเรือนแสน เป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะเคยนึกเคยฝันถึงได้ ดิฉันขอร่วมแสดงความเสียใจกับทุกท่านที่ประสบความสูญเสีย และขอร่วมเป็นกำลังใจในการกอบกู้ฟื้นฟูธรรมชาติ และชีวิตครอบครัวการงานของผู้ประสบภัย ให้แข็งแกร่งขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง   ยังมิทันที่คราบน้ำตาจะเลือนหายไปจากใบหน้าของผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมทั้งหลาย เราก็เริ่มได้ยินข่าวถึงโครงการที่จะสร้าง อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และถาวรวัตถุอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ โครงการเหล่านี้เป็นการริเริ่มที่ควรได้รับความสนใจ ดิฉันจึงอยากจะเชิญชวนให้ชาวชุมชนพิพิธภัณฑ์ ช่วยกันมีส่วนร่วมออกความคิดว่า เราอยากเห็นพิพิธภัณฑ์แบบใดเกิดขึ้น และพิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นมาเพื่อใคร หรือเพื่ออะไร   เป็นเรื่องปรกติของสังคม เมื่อผ่านประสบการณ์ร่วมกันที่สร้างความสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวง จะพยายามสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องเตือนความจำ และสร้างบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลัง หน่วยงานของรัฐบาลอาจจะกำลังคิดถึงอนุสรณ์หรือถาวรวัตถุขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางสำหรับบันทึกเรื่องราวฉบับมาตรฐานหรือฉบับทางการ อาจจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ไปในการก่อสร้าง จัดแสดง มีระบบมัลติมีเดีย   ล่าสุดแสดงเหตุการณ์อย่างสมจริงสมจัง และมีระบบการดูแลต่อไปในอนาคต แต่ก็คงจะมีประเด็นอีกมากมายหลายเรื่องที่เราจะต้องขบคิดกัน สาระสำคัญก็ดี เป้าหมายและหน้าที่ก็ดี การมีส่วนร่วมของผู้คนกลุ่มต่างๆ ก็ดี บทบาทต่อชุมชนท้องถิ่น ต่อประเทศ หรือต่อนักท่องเที่ยวก็ดี จะมีที่ทางอยู่ด้วยกันได้อย่างไรบ้างจึงจะลงตัวที่สุด   ในฐานะที่สมาชิกของเราจำนวนมาก เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ระดับรากหญ้าที่มีส่วนร่วมของชุมชน ย่อมจะมีประสบการณ์ ที่จะนำมาช่วยกันสร้างจินตนาการพิพิธภัณฑ์ ที่มีรูปแบบและเนื้อหาสาระที่แตกต่างออกไปได้อีกมากมาย เช่น เราอาจจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์ในระดับชุมชนมากมายหลายแห่ง ไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่เดียว หรืออาจจะนึกภาพพิพิธภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคาร คิดถึงบริเวณที่ถูกคลื่นยักษ์โถมซัดทั้งหมดในฐานะพิพิธภัณฑ์ เราอาจจะคิดถึงวิธีที่ทำให้ชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ร่วมคิดและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้ เราอาจจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์ที่สร้างความภูมิใจที่คนสามารถร่วมมือกันในสถานการณ์คับขัน หรือพิพิธภัณฑ์ที่กระตุ้นความสำนึกบางประการ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเราเปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์เหมือนกับคน ที่เราอยากจะเห็นมีชีวิต เติบใหญ่ มีลูกหลานงอกงาม พิพิธภัณฑ์ก็น่าจะต้องมีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ อาคารและเครื่องมือ วัตถุสิ่งของ อุปกรณ์ต่างๆ นั้น เป็นร่างกาย แต่จิตวิญญาณ คือข้อคำถามต่างๆ ที่เราจะต้องช่วยกันคิดเหล่านี้   ดิฉันเชื่อว่าใครก็ตามที่รอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์ถล่ม ล้วนมีเรื่องราวที่จะเล่าให้คนอื่น หรือลูกหลานฟังไปได้อีกนานแสนนาน หรือหากเจ็บปวดเกินกว่าที่จะเล่าในขณะนี้ เมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลทางกายทางใจได้รับการเยียวยาแล้ว ก็อาจจะต้องการถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้แก่คนอื่นต่อไปได้ ความทรงจำส่วนตัวของแต่ละคน เรื่องราวของคนเล็กๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ที่แสนจะธรรมดาแต่บางครั้งก็ไม่ธรรมดา เป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่ง เรื่องราวของความรัก ความผูกพันของพ่อแม่พี่น้องในวาระสุดท้ายของชีวิต ความเอื้ออาทรของคนแปลกหน้า วีรกรรมการท้าทายมัจจุราชเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น ความกล้าหาญ ทรหดอดทนของอาสาสมัครและผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ พิพิธภัณฑ์แบบไหนที่จะทำให้ทุกๆคนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ในสถานการณ์พิเศษครั้งนี้ ไว้กระตุ้นเตือนมโนธรรมสำนึกของเพื่อนร่วมโลกอื่นๆได้   ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เหลือรอดมาได้ในวันนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกเรื่องราว ทั้งที่เป็นส่วนรวม และเรื่องของเฉพาะบุคคล หลายคนอาจจะมีข้าวของเหล่านี้เหมือนๆกันและอาจดูไม่สำคัญนัก แต่ในอีกยี่สิบปีหรือห้าสิบปีข้างหน้า อาจจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยาที่มีค่าควรแก่การศึกษาได้ เช่นมีคนเล่าให้ฟังว่า   ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่น มาศึกษารอยกระแทกบนรถยนตร์ที่ถูกคลื่นซัดไปกระแทกสะพาน แล้วสามารถคำนวณได้ว่า คลื่นลูกนั้นวิ่งด้วยอัตราความเร็วกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่ง   แต่พิพิธภัณฑ์สึนามีของชาวบ้าน ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดอยู่แต่เหตุการณ์ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เท่านั้น หากยังสามารถเชื่อมโยงไปยังวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนที่อาศัยอยู่กับทะเล และใช้ทรัพยากรจากทะเลในชีวิตประจำวัน เท่าที่อ่านจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ดูจะมีหมู่บ้านบางแห่งที่ชาวบ้านทราบด้วยประสบการณ์ของคนที่รู้จักทะเลหรือภูมิปัญญาใดก็แล้วแต่ สามารถหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงล่วงหน้าได้ทัน รอดชีวิตหมดทั้งหมู่บ้าน กล่าวกันว่า สัตว์บางประเภทมีสัญชาตญานเตือนภัยธรรมชาติ สามารถหลบหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ หากเป็นจริงเช่นนั้น ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า คนบางกลุ่มที่มีภูมิปัญญาสั่งสมมาพอที่จะรู้ใจธรรมชาติ รู้จักสัตว์ดีพอที่จะอ่านสัญญาณจากอาการของมัน ก็จะเหมือนกับมีระบบเตือนภัยธรรมชาติในตัวอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ใช้พิพิธภัณฑ์เป็นที่ถ่ายทอดเรียนรู้ภูมิปัญญาที่อาจจะ สามารถช่วยชีวิตเราไว้ได้ในราคาที่ไม่แพงเท่ากับระบบไฮเทคหลายพันล้าน   เราอาจจะนึกถึงพิพิธภัณฑ์ในแง่ที่เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ที่มีชีวิตต่อเนื่องยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ไม่แห้งตายไปเสียง่ายๆ เพราะเสนอเรื่องราวใหม่ๆได้ตลอดเวลา เราอาจจะต้องคิดถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ไม่เพียงแต่ การเรียนรู้จากอดีต แต่รวมถึงการศึกษา และคิดค้นสำหรับปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่กับธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทนุถนอม   หรือแม้แต่เรื่องพื้นๆเช่นว่า หากรู้ว่าภัยธรรมชาติกำลังจะมาถึง จะมีวิธีสื่อข่าวกันในชุมชนริมทะเลต่างๆอย่างไร ที่รวดเร็วและได้ผล ในบางประเทศมีการนำธงแดงไปปักชายหาด เป็นสัญญาณอันตรายให้รีบขึ้นบกทันที เราอาจนึกถึงวิธีสื่อสารพื้นบ้านต่างๆ เช่น ตีเกราะเคาะไม้ หรือใช้การลั่นกลองเตือนภัย โดยที่ขอให้ทุกโรงแรม รีสอร์ท หมู่บ้านสร้างหอกลองตามแบบเมืองโบราณไว้ ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ยากและไม่แพง พิพิธภัณฑ์สามารถจะครอบคลุมเรื่องราวเหล่านี้ และสร้างให้คนเกิดสำนึกในเรื่องการอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสติ   และท้ายที่สุด ในพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม จึงไม่ควรจะมีเฉพาะเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เจ้าของโรงแรม รีสอร์ท ร้านค้า ชาวประมง คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เช่นระนอง พังงา คือแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะพม่า ที่อพยพเข้ามาทำงานจำนวนมาก คนเหล่านี้ก็ประสบความสูญเสียไม่น้อยไปกว่าคนอื่น ยิ่งกว่านั้นการเป็นแรงงานต่างชาติอาจทำให้เขาประสบเคราะห์กรรมซ้ำสองซ้ำสามหนักหนาสาหัสไปอีก พิพิธภัณฑ์จะมีที่ทางให้แก่เรื่องราวและประสบการณ์ของคนเหล่านี้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราควรจะคำนึงถึงด้วยเป็นอย่างมาก   ทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงจินตนาการเล็กๆของคนคนเดียวซึ่งก็มีความจำกัดในทุกๆทาง ดิฉันจึงอยากจะเชิญชวนให้เราช่วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ระหว่างกัน แทนของขวัญที่ให้แก่กันวันปีใหม่ เพื่อให้จินตนาการร่วมเรื่องพิพิธภัณฑ์สึนามิกว้างขวางออกไปอย่างเต็มที่ โดยท่านสามารถเขียนหรือส่งความเห็นของท่านมายังศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเราจะใช้จดหมายข่าวนี้เป็นเวทีเผยแพร่ต่อไป   ก่อนจบขออนุญาตยกบทกวีของท่านอาจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2548 ว่าด้วยบทเรียนจากคลื่นสึนามิ ฝากมายังชาวชุมชนพิพิธภัณฑ์ทุกท่าน ดังนี้   เมื่อคลื่นคลั่งถั่งโถมมหาศาล ธรรมชาติส่งสัญญาณผ่านความหมาย ว่าความรักความสุขและความตาย เป็นรอยร่วมเรียงรายใกล้ชิดกัน เสี้ยวนาทีที่พบก็พลัดพราก แม้ยามยากมีมิตรจิตปลอบขวัญ เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อยู่ทั้งนั้น รู้เท่าทันอย่าท้อก้าวต่อไป   ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2548). * ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร