ข้อสังเกตเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปนั่งสังเกตการณ์การนำเสนอแนวทางการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จัดโดยบริษัท เฟรนด์ส ฟอร์ แฟมิลี่ จำกัด ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การนำเสนองานในครั้งนี้เป็นการนำเสนอแนวทางการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 7 แห่ง ใน 7 เขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตราษฎร์บูรณะ เขตคลองสาน เขตหนองแขม เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี เสนอต่อตัวแทนของเขตต่างๆ อันประกอบด้วย ประธานชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา สภาวัฒนธรรม ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวเหล่านั้นได้รับทราบและถือเป็นโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลไปด้วยหลังจากทีมงานของบริษัทฯ ได้ทำงานสนามศึกษาข้อมูล รูปแบบเนื้อหาการจัดแสดงกันมาระยะหนึ่งแล้ว
 
การนำเสนองานแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องข้อมูลเนื้อหาที่นำมาใช้จัดแสดง ซึ่งทั้ง 7 เขตเปิดเรื่องโดยให้เห็นภาพกว้างของกรุงเทพฯ เหมือนกันในหัวข้อ "กว่าจะมาเป็นกรุงเทพมหานคร" เท้าความมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ลำดับต่อมาเป็นเรื่องพัฒนาการทางการปกครองของกรุงเทพฯ จากนั้นจึงเข้าสู่ข้อมูลเบื้องต้นของเขตต่างๆ เพื่อปูเรื่องเข้าสู่เนื้อหาของแต่ละเขตพื้นที่ (ให้เป็นที่สงกาว่าจะเอาเขตการปกครองมาขีดคั้นพรมแดนวิถีชีวิตวัฒนธรรมกันได้อย่างไร ช่างกล้าหาญชาญชัยเสียหรือเกินที่กักขังความเป็น "ท้องถิ่น" ไว้ใต้เส้นแบ่งเขตปกครอง)
 
เมื่อเข้าสู่เนื้อหาของท้องถิ่นแต่ละเขตพื้นที่ซึ่งจะแตกต่างกันไป โดยจัดแบ่งรูปแบบการจัดแสดงเป็นโซน อย่างในกรณีเขตหนองแขม โซน A ว่าด้วยเรื่องพัฒนาการของเขตหนองแขม โซน B เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวหนองแขม โซน C เรื่องหนองแขมกับการเปลี่ยนแปลง โซน D เป็นเรื่องสถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญ และของดีหนองแขม สำหรับในสองโซนสุดท้ายนี้จะเหมือนกันทั้ง 7 เขตพื้นที่คือ โซนที่จัดแสดงแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวของแต่ละเขต และชุดสืบค้นข้อมูลท้องถิ่น ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนสำหรับสืบค้นข้อมูลท้องถิ่นและเอกสารข้อมูลของท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนที่สองเป็นการนำเสนอรูปแบบการจัดแสดงโดยอิงกับสถานที่จริงว่าควรจะมีหน้าตาอย่างไร ทางบริษัทก็นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เห็นรูปแบบการจัดแสดงว่าจะมีหน้าตาอย่างไร ในช่วงท้ายของการประชุม เมื่อซักถามทำความเข้าใจตกลงใจในเนื้อหาเรื่องราวถ้อยคำที่จะใช้ในการจัดแสดงแล้ว ทางบริษัทก็เสนอให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้เลือกคณะที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานจัดสร้างพิพิธภัณฑ์จำนวน 5 ท่านโดยมีหน้าที่
 
หน้าที่ 1. ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลเนื้อหา 2. พิจารณาแบบก่อสร้าง 3. แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินงานให้ชุมชนรับทราบ ผู้เขียนให้นึกฉงนนี่จะเป็นองค์กรทางวัฒนรรมทั้งรูปธรรมนามธรรมเพื่อชุมชนโดยชุมชนแล้ว กทม.จัดที่ทางวางคนวางชุมชนไว้ตรงไหน ถึงได้มาอุปโลกน์ที่ปรึกษาจากคนในชุมชนเจ้าของเรื่องเจ้าของพื้นที่กันเมื่อโค้งสุดท้าย แล้วกระบวนการดำเนินงานเป็นอย่างไรหนอ?
 
กรอบแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครa ระบุว่าการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ มาจากมติของที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในการประชุมสามัญที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2544 ให้ความเห็นชอบดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครในแต่ละเขตปกครอง โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาเยาวชน 2 กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบดำเนินการจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2546-2550 จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจำนวน 50 แห่ง ใน 50 เขต ดังนี้
 
ปีงบประมาณ 2546 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ นำร่อง จำนวน 4 แห่งปีงบประมาณ 2547 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ แห่งใหม่จำนวน 23 แห่ง พร้อมๆ ไปกับบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ฯ นำร่อง 4 แห่งดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ปีงบประมาณ 2549 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ แห่งใหม่จำนวน 23 แห่งc และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 27 แห่ง ปีงบประมาณ 2550 บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 50 แห่ง
 
นายนิคม ไวรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กทม. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ไว้ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2547 ว่า
 
"โครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครถือเป็น อีกความพยายามหนึ่งในการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละเขตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนรวมทั้งทำหน้าที่ บอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ กลุ่มคนในสังคมประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น"
 
ด้วยตระหนักถึงความแตกต่างความมีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางแห่งจะทำหน้าที่เพียงบอกเล่าเรื่องราวในอดีตและเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบันแล้วเชิญชวนให้ศึกษาวิถีชีวิตจริงที่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ ในเรื่องขั้นตอนการดำเนินงานนั้น สำนักงานเขตรับผิดชอบพิจารณาสถานที่จัดตั้งโดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าควรมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นที่จะดึงดูดความสนใจแก่ผู้มาเยี่ยมชมได้ และเจ้าของพื้นที่ยินยอมให้เข้าไปใช้พื้นที่นั้น นอกเหนือจากการหาสถานที่เป็นการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพื้นที่ รูปแบบของพิพิธภัณฑ์ในแต่ละเขต การปรับปรุงภูมิทัศน์ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดทำคู่มือนำชม ฯลฯ
 
ทีนี้กลับมาหาชุมชนกันบ้าง ชุมชนรู้อะไร พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครคืออะไร ทำพิพิธภัณฑ์ฯ ไปทำไม กทม. ทำความเข้าใจกับคนกรุงเทพฯ เพียงพอแล้วหรือ คนกรุงเทพฯ มีความเข้าใจรับรู้แล้วหรือที่จะมีพิพิธภัณฑ์ไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของตน หาก กทม.จะใช้เวลาทำความเข้าใจและทบทวนเรื่องนี้สักหน่อย เราคงจะไม่ได้ยินคำพูดเหล่านี้หรอกว่า
 
"กทม.สรุปเรื่องที่ตั้ง ทำไมไม่ถามคนหนองแขม แล้วเชิญมาทำไม"
 
"พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเริ่มในวันนี้พรุ่งนี้ เราอยู่กันมาได้ 100 ปี ไม่เห็นเป็นไร เรื่องวันนี้พรุ่งนี้เป็นเรื่องของพวกคุณ"
 
"บริษัทฯ ไม่ถามชุมชน ชุมชนไม่เคยรู้เลยว่างบประมาณเท่าไหร่ จะทำอะไรต่อไป ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร คณะกรรมการไม่ทราบเรื่องเลย"
 
"คนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม รัฐให้งบมา เรามาคิดกันเองก็ได้ ประสานงานให้มีคณะทำงาน คนหนองแขมต้องรู้"
 
เพราะนั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่จะตามมาจากการบริหารจัดการที่ กทม.จะมอบให้กับสำนักงานเขต สำนักงานเขตมอบให้กับชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการกันต่อ งานนี้ยากยิ่งกว่าที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เสียอีก เพราะเราไม่ต้องการเห็นพิพิธภัณฑ์ที่ไหนเป็นขยะทางวัฒนธรรมที่ถูกทิ้งร้างอย่างไร้ผู้เหลียวแลอีก…
 
-----------------------
กรอบแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร.เอกสารอัดสำเนา. ฝ่ายพัฒนาเยาวชน 2 กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม ซอยจรัลสนิทวงศ์ 32 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ตั้งอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ใกล้ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก จัดตั้งที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซอยเจริญกรุง 43 และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน ตั้งอยู่ที่โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ สุดสายถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล
ได้รับการบอกกล่าวมาอีกทีว่าได้งบประมาณมาที่ละ 3 ล้านบาท
** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2548).
* สรินยา คำเมือง นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 21 มีนาคม 2556