พิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames

แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เมือง และความหมายของพิพิธภัณฑ์ที่ไอคอม (ICOM)นิยาม มีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศแถบตะวันตกในเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม แนวคิดดังกล่าวมีนัยยะสองประการ ประการแรกคือมองว่าคอลเล็กชั่นเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องมรดกวัฒนธรรม ดังนั้นประชาชนจะต้องให้ความสนใจต่องานพิพิธภัณฑ์ ประการที่สอง งานพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งดีงามที่ทุกชุมชนควรยอมรับและปรารถนาจะได้มา

บทความนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อฐานคิดสองประการดังกล่าวถูกนำไปใช้กับชุมชนท้องถิ่น จะก่อให้เกิดทัศนคติและผลที่ตามมาภายหลังอย่างไร และสนใจว่าอะไรที่ได้รับพิจารณาว่าเป็นมรดกอันทรงคุณค่า และอะไรคือบทบาทที่เหมาะสมของพิพิธภัณฑ์

โดยทั่วไปแล้วผู้ชมกลุ่มหลักของพิพิธภัณฑ์คือ คนชนชั้นกลางและชนชั้นสูง คำถามต่อมาคือ แล้วกลุ่มคนที่พิพิธภัณฑ์ไม่เคยสนใจมาก่อน พิพิธภัณฑ์ควรจะให้อะไรบ้างหรือไม่แก่คนในสังคมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนชายชอบ พิพิธภัณฑ์กระแสหลักจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมคนกลุ่มน้อย คนยากจน หรือคนที่ถูกเลือกปฏิบัติได้อย่างไร?

หลายคนกล่าวว่านักพิพิธภัณฑ์วิทยาเป็นเรื่องของคอลเล็กชั่นมากกว่าชุมชน ดังนั้นการที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาให้ชุมชนสนใจงานวัฒนธรรมด้วยตนเองนั้น จำเป็นต้องมีฐานคิดและความชำนาญอีกอย่างหนึ่ง แม้ด้วยเจตนารมณ์อันดีของผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ ที่รับเอาแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ อาจทำให้การทำงานกับชุมชนมีแนวโน้มที่จะปลอมแปลงข้อเท็จจริงของชุมชนด้วยการผลิตสร้างความคิดที่ว่า ชุมชนต้องพึ่งพาบริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยิ่งผู้คนถูกกระตุ้นให้พึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพัฒนาความคิดริเริ่มของตนเองได้น้อยลงเท่านั้น ดังนั้นการนำแนวคิดพิพิธภัณฑ์มาใช้กับชุมชนท้องถิ่นโดยปราศจากการปรึกษาหารือกันอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอได้ จากนี้ต่อไปบทความนี้จะพิจารณาถึงรูปแบบที่ผิดปกติของการสร้างภาพตัวแทนด้วยตนเอง (self- representation)

ในบทความได้นำเสนอตัวอย่าง โครงการ Clemente Humanities Programme ของ Earl Shorris นักวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ โครงการดังกล่าวเป็นการให้การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์แก่ผู้ยากจนในเมือง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่เขาได้สัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยติดคุกและติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เขาสะดุดคิดกับคำตอบของผู้หญิงคนนี้ที่พูดถึงโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและระดับชั้นทางสังคมมีผลต่อความยากจน การจะขจัดความยากจนได้ จะต้องสอนให้คนเหล่านั้นมีความรู้เกี่ยวกับหลักประพฤติสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง (moral life of downtown) และวิธีหนึ่งที่จะให้ความรู้คือ พาไปชมการแสดงละคร พิพิธภัณฑ์ คอนเสิร์ต ฟังบรรยายทางวิชาการ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการคิดตรึกตรอง เกิดบทสนทนา และการอภิปรายอย่างมีเหตุผล

จากเรื่องราวดังกล่าว ทำให้ Shorris เริ่มโครงการ Clemente Humanities Programme ขึ้นในปี 1995 โดยสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์แก่เด็กวัยรุ่นผู้ยากไร้ในนิวยอร์ก 30 คน หลักการของโครงการดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางรวมถึงงานพิพิธภัณฑ์ ที่ปรารถนาจะทำงานกับคนกลุ่มน้อย ผู้อ่อนแอ ผู้เสียเปรียบหรือไม่มีเสียงในสังคม เพราะการทำให้เกิดความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์หรือกระบวนการสร้างมโนสำนึก (conscientization) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง และแสดงตัวตนต่อผู้ที่มาครอบงำหรือกดบังคับ เอารัดเอาเปรียบ หรือมาครอบครองสิ่งที่เป็นภาพตัวแทนทางวัฒนธรรมของพวกเขา การมีโอกาสได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ การแสดงโอเปร่า และงานศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การสร้างมโนสำนึก การมีจิตสำนึกและการสร้างภาพแทนของตนเอง สามารถเพิ่มอำนาจให้คนแสดงตัวตนในฐานะเป็นผู้กระทำ(agents) ต่อสู้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับตนเอง

ผลจากโครงการ Clemente Humanities Programme กลายเป็นตัวแบบก่อให้เกิดโครงการอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ โครงการทดลอง Humanities 2 โครงการ ในเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา โครงการแรกเกิดในมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ที่เปิดที่ให้คนที่ไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยสามารถเข้าเรียนวิชาเรียนมนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 วิชานี้เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อยหลายร้อยคนได้เรียนรู้ผลงานระดับคลาสสิกในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แม้วิชาดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในแง่จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน แต่มันกลับมีผลเพียงเล็กน้อยต่อปัญหาทางสังคมโดยรวมของชุมชน อาทิ ความยากจน การติดยาเสพติด การไร้ที่อยู่ เป้าหมายโครงการที่ต้องการก่อให้เกิด การตระหนักรู้ด้วยตนเองและการสร้างภาพแทนด้วยตนเองจึงยังอยู่ห่างไกลมาก

มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดั้งเดิมของชาว Musqueam คนพื้นเมืองของแคนาดา มหาวิทยาลัยจึงพยายามสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับคนพื้นเมืองนี้ขึ้น ก่อให้เกิดอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งเป็นการเปิดวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ที่เปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจเข้าเรียน โดยเรียนกันที่ชุมชน Musqueam และมีชาว Musqueam เป็นผู้ประสานงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยด้วย ภายใต้หลักสูตรดังกล่าวทำให้ชาว Musqueam สนใจในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองมากเสียยิ่งกว่าการเรียนวิชาด้านสังคมศาสตร์ทั่วไป เพราะพวกเขามีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตนเองที่จะเล่ามากมาย นักวิชาการที่เป็นชนพื้นเมืองจากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยต่างสละเวลาให้กับการทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชน มีการสัมมนานำเสนอผลงานวิจัย และเปิดงานด้วยการให้ลิ้มรสอาหารพื้นเมือง

เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี มีผู้เข้าเรียนมีความกล้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะพูดถึงประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวของพวกเขาว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างไร สภาปกครองท้องถิ่นและสมาชิกในชุมชนต่างให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มกำลัง วิชาMusqueam เบื้องต้น 101 ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนตามมามากมาย อาทิ โครงการฝึกการเขียนอย่างสร้างสรรค์ งานเทศกาลปลูกฝังความเป็นผู้นำแก่เยาวชนพื้นเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ดีกล่าวได้ว่าวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับวิชามนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 แต่วิชาดังกล่าวส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อยต่อสวัสดิการโดยรวมของชุมชน

ดังนั้นจะเห็นถึงขีดจำกัดของหลักสูตรที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมว่า การได้มาซึ่งทุนทางวัฒนธรรมโดยผ่านการร่ำเรียนจากตำรา อาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์และการสร้างภาพแทนตนเอง แต่ยังไม่เพียงพอ และการตระหนักรู้อย่างเดียวก็ไม่พอที่จะทำให้คนมีอิสรภาพ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสุขุม แต่ปฏิบัติการทางการเมืองในสังคมเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่แค่การศึกษาเชิงวิพากษ์ในห้องเรียน

Shorris ผู้ริเริ่มโครงการ Humanities Programme บอกว่าจริง ๆ แล้วจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ไม่ได้อยู่ที่การชี้นำประชาชน หากอยู่ที่การให้อำนาจแก่พวกเขา พวกเขาจะใช้อำนาจอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งฐานคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นน้อยมากในงานพิพิธภัณฑ์ เขายังบอกอีกว่าคนชายขอบเหล่านี้ถูกห้อมล้อมด้วย "แรงกดดัน" (surround of force) เช่น การโดนกีดกัน ความยากจน ความหิวโหย อาชญากรรม นโยบายรัฐ ฯลฯ คนเหล่านี้มีโอกาสจำกัดมากที่จะได้เข้าไปเรียนรู้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และยากที่จะมีหนทางในการเอาชนะแรงกดดันรอบตัวเหล่านี้

Jane และ Conaty ได้บอกไว้ว่า บทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อสังคม คือ การเข้าไปมีส่วนช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์การถูกเอารัดเอาเปรียบและจัดการกับแรงกดดันที่แวดล้อมของคนชายขอบเหล่านั้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าละทิ้งหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่เคยมีมา ซึ่งในบทความได้เสนอ 2 ตัวแบบ ให้พิพิธภัณฑ์พิจารณาเพื่อนำไปใช้ด้วยวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน ตัวแบบแรกเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาพ และการให้ความเคารพต่อความรู้พื้นถิ่น ตัวแบบที่สองเป็นความสัมพันธ์กันลักษณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกับลูกค้า (professional-client relationship) ลูกค้าก็คือชุมชน ที่อาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผนออกแบบและจัดทำนิทรรศการ

งานสำคัญอันดับแรกสำหรับการที่พิพิธภัณฑ์จะทำงานร่วมกับชุมชนคือ จะต้องพยายามให้ชุมชนเรียนรู้ถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในเมืองที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาทั้งเรื่อง การกีดกันทางเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และสภาวะการเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม ส่วนงานที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเสนอความช่วยเหลือให้แก่ชุมชนในการพัฒนาสิ่งที่ชุมชนระบุเองว่ามีความสำคัญต่อพวกเขา

ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้หมายความว่าให้นักพิพิธภัณฑ์วิทยาเลิกปฏิบัติสิ่งที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคอลเล็กชัน การตีความวัตถุ แต่ต้องการเรียกร้องให้บรรดานักพิพิธภัณฑ์วิทยาหยุดฟังเสียงของคนที่เราปรารถนาจะให้ความช่วยเหลือแก่เขา นี่อาจจะช่วยเปิดมุมมองให้แก่แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ตะวันตกแบบดั้งเดิมได้

สรุปความจากบทความพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames ในการประชุมเรื่อง พิพิธภัณฑ์กับชุมชน: มุมมองเปรียบเทียบข้ามพรมแดนวัฒนธรรม ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ วันที่ 28-29 กันยายน 2548.



วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 22 มีนาคม 2556