พิพิธภัณฑ์ลาว: จินตนาการเรื่องชาติและความทรงจำทางประวัติศาตร์

พิพิธภัณฑ์เป็นผลผลิตอันเนื่องมาจากจินตนาการชาตินิยมยุคสมัยใหม่และเป็นสถานที่แสดงความทรงจำของชาติ พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากสำนึกของมนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ตระหนักในความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ สิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนในสำนึกดังกล่าวคือการรักษาไว้ซึ่ง "มรดก" (heritage) แม้บางครั้งมรดกที่ว่านั้นมีอายุเพียงแค่ไม่กี่สิบปี การพยายามอนุรักษ์มรดกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดัชนีชี้วัดอย่างดีต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่า "มรดก" ของพวกเขานั้นกำลังจะสูญสลายไปในไม่ช้านี้

รัฐเองก็มีจินตนาการเรื่องพิพิธภัณฑ์และให้ความสำคัญในเรื่องของ "มรดก" โดยจินตนาการพิพิธภัณฑ์ของรัฐลาวสมัยใหม่กำเนิดขึ้นในช่วงอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (The Ecole Francaise d’Extreme Orient) ก่อตั้งขึ้นที่ไซ่ง่อน ในปี ค.ศ. 1898 และได้จัดตั้งคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งอินโดจีนขึ้น (Directorate of Museums and Historical Monuments of Indochina) เพื่อปฏิบัติงานในด้านการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่าง ๆ ทั่วอินโดจีน

เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศเข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเวียงจันทน์ ฝรั่งเศสจึงเริ่มกระบวนการปฏิสังขรณ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันได้แก่ธาตุหลวงและโบราณสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศลาว ต่อมาสถานที่ดังกล่าวเหล่านั้นถูกผนึกรวมเป็นชุดภาพสัญลักษณ์อาณานิคมฝรั่งเศส เหมือนว่าถ้าเห็นธาตุหลวงต้องนึกถึงลาว หรือเห็นนครวัดต้องนึกถึงกัมพูชา ต่อมาภายหลังชุดภาพสัญลักษณ์เกิดขึ้นทั่วประเทศลาว อาทิ วัดเชียงทองเป็นตัวแทนของหลวงพระบาง ทุ่งไหหินเป็นตัวแทนของเชียงขวาง ธาตุอิงฮังเป็นตัวแทนของสะหวันนะเขต และวัดพูเป็นตัวแทนของจำปาศักดิ์ ธาตุหลวงเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ หรือในบางครั้งใช้ประตูชัยเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ การให้ความหมายของภาพชุด "มรดก" ลาวดังกล่าวยังพบอยู่ในธนบัตรและแสตมป์ ภาพตัวแทนที่ปรากฏในบริบทต่าง ๆ กลายเป็นภาพที่ทรงอำนาจอย่างมากในการสร้างจินตนาการความเป็นชาติลาว

ความเกี่ยวข้องของคนลาวเองในพิพิธภัณฑ์วิทยาเกิดขึ้นก็ เมื่อล่วงเข้าทศวรรษที่ 1930 เมื่อเจ้าสุวันนะพูมา (เจ้าสุวันนะพูมาเป็นโอรสองค์ที่สามของมหาอุปราชบุนคง(วังหน้าของกษัตริย์ ลาว) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศลาว สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง-ผู้แปล) สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และได้เข้ามารับผิดชอบงานปฏิสังขรณ์หอพระแก้วในปี ค.ศ. 1936 โดยมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วย เจ้าสุวันนะพูมาได้เขียนไว้ในรายงานการปฏิสังขรณ์หอพระแก้วว่า "คนลาวแม้จะไม่ได้มั่งมีอะไรแต่เต็มใจที่จะทำบุญและบริจาคเงินเพื่อซ่อมแซม ศาสนสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของประเทศของพวกเขา" 30 ปีให้หลังมีงานเขียนเกี่ยวกับประวัติการบูรณะหอพระแก้ว แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสแต่อย่างใด "หอพระแก้วได้รับการปฏิสังขรณ์โดยคนลาวเอง และไม่ใช่เป็นความภาคภูมิเพียงเล็กน้อยสำหรับฉัน(เจ้าสุวันนะพูมา-ผู้แปล) ต่อเกียรติภูมิของหอพระแก้วที่เป็นจุดศูนย์รวมใจของเพื่อนรวมชาติ แต่การบูรณะหอพระแก้วถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติลาว" (ปัจจุบันหอพระแก้วเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป กลองสำริด -ผู้แปล) ชัดเจนอยู่แล้วว่าการเลือกเน้นย้ำและตีความเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัย อาณานิคมเสียใหม่เกิดขึ้นเป็นปกติในกลุ่มลัทธิหลังอาณานิคม แม้กระทั่งหลังปี ค.ศ. 1975 ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ลาวหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของธาตุ หลวงที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1985 ก็ไม่กล่าวถึงงานปฏิสังขรณ์ที่ทำโดยรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ผลงานที่ระบอบเก่าเคยทำก็ถูกขับออกไปจากประวัติศาสตร์ของรัฐบาลในระบอบใหม่




ในปี ค.ศ.1980 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาว(Lao Museum of the Revolution) ก่อตั้งขึ้นภายในอาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลบนถนนสามแสนไท ในกรุงเวียงจันทน์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำงานของเจ้าสุวันนะพูมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องการต่อสู้ปฏิวัติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรค รวมถึงการสร้างประเทศใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม เมื่อนโยบายจินตนาการใหม่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1986 ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจของลาวผ่อนคลายจากแนวทางสังคมนิยมมากขึ้น การเล่าเรื่องและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จึงผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยเช่นกัน "ห้องเลนิน" ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตถูกปิดลง การเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันมีน้อยลง นิทรรศการแสดงความขัดแย้งทางพรมแดนไทย-ลาวที่เกิดขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1980 เริ่มลดน้อยลง(กรณีบ้านร่มเกล้าและสามหมู่บ้าน-ผู้แปล) คนลาวจำนวนไม่มากนักที่จะเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนดูส่วนหนึ่งคือเด็กนักเรียนและสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาวรุ่นเยาว์ที่ถูกเกณฑ์มาชม กลุ่มผู้ชมที่ดูจะกระตือรือล้นในการเข้าชมดูเหมือนจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย แม้เพียงแค่แม่น้ำโขงกั้น ในสายตาของคนไทยประเทศลาวคือความเป็นอื่น คนไทยต้องการสัมผัสกับคอมมิวนิสต์จริง ๆ หลังจากที่เคยได้ยินแต่การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์ แม้คนไทยจะเห็นว่าวัดวาอารามและโบราณสถานต่าง ๆ ของลาวคล้ายคลึงกับไทยก็ตาม แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยเห็นว่าพัฒนาการชาติลาวและการประสานรวมความเป็นชาติลาวแตกต่างจากไทยอย่างไร ในปี ค.ศ. 1997 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ" (Lao National Museum)


ในปี ค.ศ. 1994 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "สวนวัฒนธรรมบรรดาเผ่าแห่งชาติ" ตั้งอยู่ชานกรุงเวียงจันทน์ เพื่อให้เป็นสถานที่ดำรงรักษา ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปหัตถกรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว อย่างไรก็ดีเมื่อพิพิธภัณฑ์นี้เปิด มันกลับกลายเป็นสถานที่ปิกนิกและพักผ่อนหย่อนใจของชาวลาวและนักท่องเที่ยวชาวไทยไป ด้านหนึ่งทำเป็นสวนสัตว์ ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้จำลองบ้านบรรดาชนเผ่าในลาวมาให้ชมได้แก่ "บ้านลาวสูง" "บ้านลาวเทิง" และ "บ้านลาวลุ่ม" แต่ทั้งที่อ้างตั้งแต่แรกก่อสร้างว่า "วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ก่อสร้างในสวนแห่งนี้จะสะท้อนคุณค่าทางศิลปะ ทักษะ และเทคนิค" ของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าบ้านลาวสูงและลาวเทิงกลับมีส่วนที่สร้างด้วยคอนกรีต มีแต่เพียงบ้านของลาวลุ่มเท่านั้นที่ดูจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง การจัดแสดงบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ลาวต้องการบอกให้รู้ว่าประเทศลาวมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเท่านั้น นัยหนึ่งที่สวนแห่งนี้จัดให้มีสวนสัตว์ ศูนย์แสดงรูปจำลองไดโนเสาร์ (เป็นการอ้างถึงว่ามีการขุดพบซากกระดูกไดโนเสาร์ในแขวงสะหวันนะเขต) และบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ในบริเวณเดียวกัน จึงคล้ายกับเป็นสิ่งยืนยันอคติในส่วนลึกที่มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นพวกที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม (primitive) และล้าหลัง (backward)

กล่าวได้ว่าโครงการพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในลาวเกิด ขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เมื่อยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก สถาปัตยกรรมทั้งวัดวาอาราม ที่อยู่อาศัย รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเมืองได้รับการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาวได้ กล่าวถึงบทบาทของเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวงว่าเป็นผู้มีส่วนในการปฏิสังขรณ์ โบราณสถานในหลวงพระบางหลังจากถูกทำลายในศตวรรษที่ 19 (จากศึกฮ่อ-ผู้แปล) แม้เป็นการกล่าวถึงอย่างรวบรัด แต่แสดงให้เห็นว่าบทบาทของกษัตริย์กลายเป็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของรัฐบาลลาว ในระบอบใหม่ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการเลือกตีความหรือกีดกันบทบาทของ กษัตริย์เมื่อต้องเล่าเรื่องเมืองหลวงพระบาง


แปลและเรียบเรียงจาก Evans, Grant. 1998. "Statue and Museums." in The Politics of Ritual and Remembrance Laos since 1975. Chiang Mai: Silkworm Books, pp. 114-128.


วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 21 มีนาคม 2556