พิพิธภัณฑ์สึนามิ เพื่อใคร เพื่ออะไร ?

ปีใหม่ 2548 นี้เป็นปีที่เริ่มด้วยความตื่นตระหนกและเศร้าสลดจากภัยธรรมชาติ ที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งในประเทศไทย และที่อื่นๆตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รวมแล้วเป็นเรือนแสน เป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะเคยนึกเคยฝันถึงได้ ดิฉันขอร่วมแสดงความเสียใจกับทุกท่านที่ประสบความสูญเสีย และขอร่วมเป็นกำลังใจในการกอบกู้ฟื้นฟูธรรมชาติ และชีวิตครอบครัวการงานของผู้ประสบภัย ให้แข็งแกร่งขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 
ยังมิทันที่คราบน้ำตาจะเลือนหายไปจากใบหน้าของผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมทั้งหลาย เราก็เริ่มได้ยินข่าวถึงโครงการที่จะสร้าง อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และถาวรวัตถุอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ โครงการเหล่านี้เป็นการริเริ่มที่ควรได้รับความสนใจ ดิฉันจึงอยากจะเชิญชวนให้ชาวชุมชนพิพิธภัณฑ์ ช่วยกันมีส่วนร่วมออกความคิดว่า เราอยากเห็นพิพิธภัณฑ์แบบใดเกิดขึ้น และพิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นมาเพื่อใคร หรือเพื่ออะไร
 
เป็นเรื่องปรกติของสังคม เมื่อผ่านประสบการณ์ร่วมกันที่สร้างความสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวง จะพยายามสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องเตือนความจำ และสร้างบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลัง หน่วยงานของรัฐบาลอาจจะกำลังคิดถึงอนุสรณ์หรือถาวรวัตถุขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางสำหรับบันทึกเรื่องราวฉบับมาตรฐานหรือฉบับทางการ อาจจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ไปในการก่อสร้าง จัดแสดง มีระบบมัลติมีเดีย
 
ล่าสุดแสดงเหตุการณ์อย่างสมจริงสมจัง และมีระบบการดูแลต่อไปในอนาคต แต่ก็คงจะมีประเด็นอีกมากมายหลายเรื่องที่เราจะต้องขบคิดกัน สาระสำคัญก็ดี เป้าหมายและหน้าที่ก็ดี การมีส่วนร่วมของผู้คนกลุ่มต่างๆ ก็ดี บทบาทต่อชุมชนท้องถิ่น ต่อประเทศ หรือต่อนักท่องเที่ยวก็ดี จะมีที่ทางอยู่ด้วยกันได้อย่างไรบ้างจึงจะลงตัวที่สุด
 
ในฐานะที่สมาชิกของเราจำนวนมาก เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ระดับรากหญ้าที่มีส่วนร่วมของชุมชน ย่อมจะมีประสบการณ์ ที่จะนำมาช่วยกันสร้างจินตนาการพิพิธภัณฑ์ ที่มีรูปแบบและเนื้อหาสาระที่แตกต่างออกไปได้อีกมากมาย เช่น เราอาจจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์ในระดับชุมชนมากมายหลายแห่ง ไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่เดียว หรืออาจจะนึกภาพพิพิธภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคาร คิดถึงบริเวณที่ถูกคลื่นยักษ์โถมซัดทั้งหมดในฐานะพิพิธภัณฑ์ เราอาจจะคิดถึงวิธีที่ทำให้ชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ร่วมคิดและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้ เราอาจจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์ที่สร้างความภูมิใจที่คนสามารถร่วมมือกันในสถานการณ์คับขัน หรือพิพิธภัณฑ์ที่กระตุ้นความสำนึกบางประการ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเราเปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์เหมือนกับคน ที่เราอยากจะเห็นมีชีวิต เติบใหญ่ มีลูกหลานงอกงาม พิพิธภัณฑ์ก็น่าจะต้องมีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ อาคารและเครื่องมือ วัตถุสิ่งของ อุปกรณ์ต่างๆ นั้น เป็นร่างกาย แต่จิตวิญญาณ คือข้อคำถามต่างๆ ที่เราจะต้องช่วยกันคิดเหล่านี้
 
ดิฉันเชื่อว่าใครก็ตามที่รอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์ถล่ม ล้วนมีเรื่องราวที่จะเล่าให้คนอื่น หรือลูกหลานฟังไปได้อีกนานแสนนาน หรือหากเจ็บปวดเกินกว่าที่จะเล่าในขณะนี้ เมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลทางกายทางใจได้รับการเยียวยาแล้ว ก็อาจจะต้องการถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้แก่คนอื่นต่อไปได้ ความทรงจำส่วนตัวของแต่ละคน เรื่องราวของคนเล็กๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ที่แสนจะธรรมดาแต่บางครั้งก็ไม่ธรรมดา เป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่ง เรื่องราวของความรัก ความผูกพันของพ่อแม่พี่น้องในวาระสุดท้ายของชีวิต ความเอื้ออาทรของคนแปลกหน้า วีรกรรมการท้าทายมัจจุราชเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น ความกล้าหาญ ทรหดอดทนของอาสาสมัครและผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ พิพิธภัณฑ์แบบไหนที่จะทำให้ทุกๆคนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ในสถานการณ์พิเศษครั้งนี้ ไว้กระตุ้นเตือนมโนธรรมสำนึกของเพื่อนร่วมโลกอื่นๆได้
 
ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เหลือรอดมาได้ในวันนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกเรื่องราว ทั้งที่เป็นส่วนรวม และเรื่องของเฉพาะบุคคล หลายคนอาจจะมีข้าวของเหล่านี้เหมือนๆกันและอาจดูไม่สำคัญนัก แต่ในอีกยี่สิบปีหรือห้าสิบปีข้างหน้า อาจจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยาที่มีค่าควรแก่การศึกษาได้ เช่นมีคนเล่าให้ฟังว่า
 
ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่น มาศึกษารอยกระแทกบนรถยนตร์ที่ถูกคลื่นซัดไปกระแทกสะพาน แล้วสามารถคำนวณได้ว่า คลื่นลูกนั้นวิ่งด้วยอัตราความเร็วกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่ง
 
แต่พิพิธภัณฑ์สึนามีของชาวบ้าน ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดอยู่แต่เหตุการณ์ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เท่านั้น หากยังสามารถเชื่อมโยงไปยังวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนที่อาศัยอยู่กับทะเล และใช้ทรัพยากรจากทะเลในชีวิตประจำวัน เท่าที่อ่านจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ดูจะมีหมู่บ้านบางแห่งที่ชาวบ้านทราบด้วยประสบการณ์ของคนที่รู้จักทะเลหรือภูมิปัญญาใดก็แล้วแต่ สามารถหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงล่วงหน้าได้ทัน รอดชีวิตหมดทั้งหมู่บ้าน กล่าวกันว่า สัตว์บางประเภทมีสัญชาตญานเตือนภัยธรรมชาติ สามารถหลบหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ หากเป็นจริงเช่นนั้น ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า คนบางกลุ่มที่มีภูมิปัญญาสั่งสมมาพอที่จะรู้ใจธรรมชาติ รู้จักสัตว์ดีพอที่จะอ่านสัญญาณจากอาการของมัน ก็จะเหมือนกับมีระบบเตือนภัยธรรมชาติในตัวอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ใช้พิพิธภัณฑ์เป็นที่ถ่ายทอดเรียนรู้ภูมิปัญญาที่อาจจะ สามารถช่วยชีวิตเราไว้ได้ในราคาที่ไม่แพงเท่ากับระบบไฮเทคหลายพันล้าน
 
เราอาจจะนึกถึงพิพิธภัณฑ์ในแง่ที่เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ที่มีชีวิตต่อเนื่องยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ไม่แห้งตายไปเสียง่ายๆ เพราะเสนอเรื่องราวใหม่ๆได้ตลอดเวลา เราอาจจะต้องคิดถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ไม่เพียงแต่ การเรียนรู้จากอดีต แต่รวมถึงการศึกษา และคิดค้นสำหรับปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่กับธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทนุถนอม
 
หรือแม้แต่เรื่องพื้นๆเช่นว่า หากรู้ว่าภัยธรรมชาติกำลังจะมาถึง จะมีวิธีสื่อข่าวกันในชุมชนริมทะเลต่างๆอย่างไร ที่รวดเร็วและได้ผล ในบางประเทศมีการนำธงแดงไปปักชายหาด เป็นสัญญาณอันตรายให้รีบขึ้นบกทันที เราอาจนึกถึงวิธีสื่อสารพื้นบ้านต่างๆ เช่น ตีเกราะเคาะไม้ หรือใช้การลั่นกลองเตือนภัย โดยที่ขอให้ทุกโรงแรม รีสอร์ท หมู่บ้านสร้างหอกลองตามแบบเมืองโบราณไว้ ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ยากและไม่แพง พิพิธภัณฑ์สามารถจะครอบคลุมเรื่องราวเหล่านี้ และสร้างให้คนเกิดสำนึกในเรื่องการอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสติ
 
และท้ายที่สุด ในพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม จึงไม่ควรจะมีเฉพาะเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เจ้าของโรงแรม รีสอร์ท ร้านค้า ชาวประมง คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เช่นระนอง พังงา คือแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะพม่า ที่อพยพเข้ามาทำงานจำนวนมาก คนเหล่านี้ก็ประสบความสูญเสียไม่น้อยไปกว่าคนอื่น ยิ่งกว่านั้นการเป็นแรงงานต่างชาติอาจทำให้เขาประสบเคราะห์กรรมซ้ำสองซ้ำสามหนักหนาสาหัสไปอีก พิพิธภัณฑ์จะมีที่ทางให้แก่เรื่องราวและประสบการณ์ของคนเหล่านี้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราควรจะคำนึงถึงด้วยเป็นอย่างมาก
 
ทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงจินตนาการเล็กๆของคนคนเดียวซึ่งก็มีความจำกัดในทุกๆทาง ดิฉันจึงอยากจะเชิญชวนให้เราช่วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ระหว่างกัน แทนของขวัญที่ให้แก่กันวันปีใหม่ เพื่อให้จินตนาการร่วมเรื่องพิพิธภัณฑ์สึนามิกว้างขวางออกไปอย่างเต็มที่ โดยท่านสามารถเขียนหรือส่งความเห็นของท่านมายังศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเราจะใช้จดหมายข่าวนี้เป็นเวทีเผยแพร่ต่อไป
 
ก่อนจบขออนุญาตยกบทกวีของท่านอาจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2548 ว่าด้วยบทเรียนจากคลื่นสึนามิ ฝากมายังชาวชุมชนพิพิธภัณฑ์ทุกท่าน ดังนี้
 
เมื่อคลื่นคลั่งถั่งโถมมหาศาล ธรรมชาติส่งสัญญาณผ่านความหมาย
ว่าความรักความสุขและความตาย เป็นรอยร่วมเรียงรายใกล้ชิดกัน
เสี้ยวนาทีที่พบก็พลัดพราก แม้ยามยากมีมิตรจิตปลอบขวัญ
เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อยู่ทั้งนั้น รู้เท่าทันอย่าท้อก้าวต่อไป
 
** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2548).
* ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
 
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 21 มีนาคม 2556