ความพัวพัน: ประวัติศาสตร์อาณานิคม ศิลปะ และวัตถุชาติพันธุ์ ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนี*

*แปลและเรียบเรียงจาก Iris Edenheiser, 2017, ‘Entanglements: colonial history, arts, and “ethnographic object”- examples from German Museums. In Zvjezdana Antos, Annette B. Fromm, Viv Golding (eds), Museum and Innovations. Newcastle-Upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing.  โดย ปณิตา สระวาสี นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

--------------------

เหมือนกันหรือแตกต่าง? การพัฒนาล่าสุดของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในเยอรมนี

                ในช่วง 10 ปีหลังนี้ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์หลายแห่งในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันมีการออกแบบการจัดแสดงใหม่และเปิดให้บริการอีกครั้ง ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้านี้และถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Humboldt Forum  โครงการด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดและได้รับงบประมาณสนับสนุนมากที่สุดจากรัฐบาลเยอรมนี  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้วางไว้ว่าจะเปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 เป็นการนำคอลเล็กชั่นของ Ethnologisches Museum หนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีคอลเล็กชั่นทางชาติพันธุ์จากทั่วโลกมากที่สุด มาจัดแสดงกลางเมืองเบอร์ลิน โดยแผนงานของโครงการ จะมีซีรี่ย์ของกลุ่มนิทรรศการชั่วคราวเชิงทดลอง  หลายอันจัดแสดงในเชิงศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรรค์ขึ้นเพื่อจะทดลองรูปแบบใหม่ของการนำเสนอวัตถุชาติพันธุ์  อย่างไรก็ดีในส่วนนิทรรศการถาวรจะยังคงนำเสนอวัฒนธรรมที่แบ่งตามภูมิภาคของคอลเล็กชั่นที่มี หลักการคล้ายๆ กันนี้ถูกใช้ต่อมาโดยพิพิธภัณฑ์ Grassi Museum fur Volkerkunde zu Leipzig ที่เพิ่งเปิดบริการส่วนห้องจัดแสดงวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ ใหม่อีกครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2009

            แนวโน้มในภาพรวมของการจัดแสดง ที่มีลักษณะการเชิญศิลปินและนักออกแบบมาทำงานกับคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ เป็นหลักการที่นำโดย Clementine Deliss ผู้อำนวยการคนก่อนของพิพิธภัณฑ์ Frankfurter Weltkulturen ผู้ซึ่งเสนอมุมมองที่ท้าทายของ “พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์” (ethnographic museum) ที่เป็นการวางกรอบใหม่ในฐานะ “พิพิธภัณฑ์หลังชาติพันธุ์” (post-ethnographic museum)  นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Musuem-Kulturen der Welt ในเมืองโคโลญจน์ ที่เปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในปี ค.ศ. 2010 และได้ชื่อว่าว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ยุโรปแห่งปีใน ปี ค.ศ. 2012  สำหรับการจัดแสดงในนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินตามแนวทางการทำนิทรรศการของตนเองตั้งแต่ทศวรรษ 1980   โดยมุ่งเน้นการจัดแสดงแบบธีมมากกว่าการแบ่งตามภูมิภาค เช่น “พิธีกรรม” “พื้นที่อยู่อาศัย” “ศาสนา” “ความตายและชีวิตหลังความตาย” ซึ่งนำเสนอด้วยการเน้นวัตถุจัดแสดงที่ดึงดูดสายตาผู้ชมอย่างทรงพลัง 

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Museum-Kulturen der Welt

ที่มาภาพ: www.museenkoeln.de/rautenstrauch-joest-museum


            ในสวิตเซอร์แลนด์  พิพิธภัณฑ์ Museum der Kulturen Basel  ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างเมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 2011  โดยใช้แนวคิดมานุษยวิทยาร่วมสมัยเช่น เรื่อง “ผู้กระทำการ” (agency)  “ความรู้” (knowledge) และ “การสร้างความหมาย” (enactment) เป็นตัวร้อยเรียงนิทรรศการ และทำให้วัตถุแลดูพิเศษภายใต้การจัดแสดงในกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว  เป็นการสร้างสรรค์ที่คล้ายคลึงกันอย่างมากในแบบที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะนิยมกระทำกัน ส่วนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ Volkerkundemuseum der Universitat  Zurich ที่ทำการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 2004 ได้หันกลับไปสู่รากเดิม คือการวิเคราะห์ชาติพันธุ์จากวัฒนธรรมวัตถุ และเน้นไปที่ทักษะการผลิตและการใช้งานวัตถุ

            การพัฒนาล่าสุดดังกล่าวนำไปสู่ความสนใจใหม่ต่อคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในความรับรู้เชิงสาธารณะของคนเยอรมัน ขอบเขตของบทความนี้จะไม่ได้สำรวจสถานภาพของแนวทางพัฒนาที่หลากหลายทั้งหมดเกี่ยวกับนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องวัตถุชาติพันธุ์ แต่จะเน้นไปที่สองนิทรรศการที่เป็นโครงการโดยตรงของผู้เขียน นิทรรศการแรกจัดแสดงไปแล้ว ส่วนอีกนิทรรศการกำลังจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะแสดงให้เห็นสองธีมหลักของข้อถกเถียงในปัจจุบัน และยังแสดงถึงเป้าหมายสำคัญของการประชุม International Committee for Museums of Ethnography ปี ค.ศ. 2014  โดยในส่วนแรกจะแสดงตัวอย่าง World Cultures Collections ของพิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen ที่เมือง Mannheim ผู้เขียนมีข้อโต้เถียงเรื่องความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคม ปัจจุบันไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดที่อธิบายข้างต้นที่หันความสนใจในประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในการจัดแสดงนิทรรศการถาวรของตนเองยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ที่แฟรงค์เฟิร์ต  คือส่วนใหญ่นิทรรศการพิเศษเหล่านั้นมักที่ให้สุ้มเสียงศิลปินมากกว่าการตีความคอลเล็กชั่นในทางประวัติศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานเชิงวิชาการ  ในส่วนที่สองผู้เขียนจะพลิกกลับแนวโน้มที่มักเชิญชวนศิลปะและศิลปินเข้ามาสู่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยจะทำให้เห็นมานุษยวิทยาและการอภิปรายทางการเมืองในผลงานศิลปะและนิทรรศการศิลปะ

ความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์

            คอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อาณานิคม กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกเน้นย้ำกันมากเมื่อไม่นานมานี้ในแวดวงวิชาการและการรับรู้สาธารณะของประวัติศาสตร์อาณานิคมเยอรมนี ในเชิงวิชาการและสังคมโดยรวมให้ความสำคัญกับระบอบนาซีและสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองเรื่องครอบงำวาทกรรมประวัติศาสตร์เยอรมันเป็นอย่างมาก เยอรมนีเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจอาณานิคมในยุคหลังๆแล้ว และปัจจุบันได้หยิบยกประวัติศาสตร์อาณานิคมขึ้นมาพิจารณากันใหม่  มีการดีเบตสาธารณะเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยเฉพาะตั้งแต่การวางแผนโครงการHumboldt-Forum โดยมีจุดยืนสำคัญที่เป็นแนวโพสต์โคโลเนียล/ถอดรื้อโคโลเนียลในเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการได้มาและการเมืองในการสร้างภาพตัวแทนในบริบทอาณานิคมระหว่างช่วงเวลาการก่อรูปพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์และหลังจากนั้น การวิพากษ์เหล่านี้ถูกพูดในวงกว้างโดยคนวงการต่างๆ แต่เกือบจะยังไม่มีมาจากคนในวงการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์  ยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ในแฟรงเฟิร์ต

            การโต้เถียงในประเด็นนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วกับ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) เมือง Mannheim ที่กำลังอยู่ในช่วงวางแผนนำคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์กลับมาสู่การรับรู้สาธารณะผ่านการจัดแสดงชุดใหม่หลังจากที่ปิดตัวไปเกือบสิบปี ในกระบวนการดังกล่าว เป้าประสงค์หลักเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์คอลเล็กชั่นอย่างถี่ถ้วน โดยการเน้นเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับอาณานิคมในตัววัตถุและจดหมายหมายเหตุที่เกี่ยวข้อง กรอบคิดใหม่นี้วางบนพื้นฐานการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าการวิจัยหรือปฏิบัติการเชิงศิลปะ ที่นิยมประยุกต์ใช้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้  ที่ในบางกรณีคนที่บุกเบิกแนวคิดนั้นมาใช้ มองราวกับว่าศิลปะในตัวมันเองไม่มีอคติ เข้าใจ “วัตถุทางชาติพันธุ์” ว่าเป็นสิทธิพิเศษมากกว่าเรื่องเความชอบธรรม

            วัตถุและภาพถ่าย รวมถึงจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) พัวพันกับอาณานิคมในหลากหลายระดับ คอลเล็กชั่นพูดถึงผู้กระทำการระดับเมือง Mannheim และเมืองรอบๆ ซึ่งเกี่ยวพันในทางการเมืองและการค้าอาณานิคมระดับโลก เช่น Theodor Bumiller ผู้แทนของกองกำลัง Kaiserliche Schutztruppe อาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก และยังเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับท้องถิ่นใน Mannheim เขาเขียนบันทึกราชการประจำวันเกี่ยวกับกองทัพในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่ REM พร้อมกับภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของ Bumiller ในช่วงที่เขาบังคับการในอาณานิคม นอกจากนี้เขายังนำวัตถุจำนวนมหาศาลจากแอฟริกาตะวันออกกลับมา ซึ่งต่อมาเขาและภรรยาได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ วัตถุชิ้นหนึ่งคืองาช้างสีขาวใหญ่ยักษ์ที่ยังไม่ได้แกะสลัก ที่สามารถอธิบายอีกแง่มุมของระบอบอาณานิคมนั่นคือ เรื่องของผู้กระทำการที่เป็นชนพื้นเมืองในอาณานิคมและกลยุทธ์ต่างๆ ของพวกเขาที่จะดีลกับอำนาจยุโรปและบรรดาตัวแทน  งาช้างดังกล่าวเป็นของขวัญที่ Bumiller ได้รับจากมือของ Tippu Tip พ่อค้าซื้อขายทาสและงาช้างที่สร้างตัวเองจากการค้าผูกขาดทั่วแอฟริกาตะวันออก เมื่อเกิดสงครามอาณานิคมและเกิดความระส่ำระสายในสถาบันทางสังคมและอำนาจของแอฟริกาตะวันออก เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในช่วงสุญญากาศ และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลสูงที่สุดและร่ำรวยที่สุดในสังคมอาณานิคมแอฟริกาตะวันอก ของขวัญชิ้นล้ำค่า เช่นงาช้าง สื่อถึงความมั่งคั่งและอำนาจ ในเวลาเดียวกันทำให้เข้าใจถึงการกระชับมิตรของผลประโยชน์ของผู้ให้ในความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตของเขา


Tippu Tip พ่อค้าทาสและงาช้างผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก

ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tippu_Tip_1889.jpg


            คอลเล็กชั่นยังประกอบด้วยวัตถุที่หลากหลายจากคณะผู้เดินทางของ Franz และ Pauline Thorbecke ที่เมือง Bamender Grassfields ในแคเมรูน ซึ่งเป็นอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตก ในปี ค.ศ. 1912-13 รวมถึงคอลเล็กชั่นภาพสีน้ำของ Pauline Thorbecke ที่เป็นภาพกษัตริย์ Njoya แห่งอาณาจักร Bamum และพระมารดา Niapundunke ท่ามกลางสมาชิกสภาขุนนาง และยังมีวัตถุอีกราว 1,300 ขิ้น เช่น หน้ากากหมวกเหล็กจากคลังสมบัติของกษัตริย์  กษัตริย์ Njoya ใช้นโยบายที่เอาอกเอาใจเจ้าอาณานิคมเยอรมัน โดยการยอมรับอำนาจของเจ้าอาณานิคมและยอมรับกฎทางการค้าใหม่ เขาหวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์อย่างสันติ ที่จะไม่ทำให้โลกศาสนา การเมือง และสังคมของอาณาจักร Bamum ถูกรบกวน จากการบุกรุกของเจ้าอาณานิคม

            เหตุการณ์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมในนามิเบีย อดีตอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ที่รู้จักกันในนาม Herero and Nama uprising นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สองกลุ่มชาติพันธุ์ มีผู้ล้มตายเป็นพันคน  คอลเล็กชั่นของ REM เก็บรักษาลายมือของ Samuel Maharero และจดหมายของ Jacob Morenga ผู้นำของเผ่า Herero และ Nama ระหว่างการลุกฮือต่อต้านเจ้าอาณานิคม และวัตถุทางวัฒนธรรมของชาว Herero ซึ่งได้มาจากทหารเยอรมันที่ตั้งกองทัพระหว่างการทำสงครามในปี ค.ศ. 1904 และ 1908

            นอกจากนี้การบอกเล่าเรื่องราวของอาณานิคมเยอรมัน คอลเล็กชั่นและนิทรรศการเผยให้เห็นการพัวพันของเจ้าอาณานิคมเยอรมันและเครือข่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากเขตแดนของประเทศตนเองเช่น การเกี่ยวข้องในการปราบปรามกบฎนักมวยในเมืองจีนระหว่างปี ค.ศ. 1899 และ 1901 ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกบอกเล่าด้วยวัตถุที่มาจากพระราชวังต้องห้ามในปักกิ่งและที่อื่นๆ

            ท้ายสุด  กระบวนวิธีในการสะท้อนย้อนตนเองของคอลเล็กชั่นและนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ REM เมือง Mannheim ก็สามารถเริ่มขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การค้นคว้าบันทึกข้อมูลของนิทรรศการเกี่ยวกับอาณานิคมในปี ค.ศ. 1937 เพื่ออธิบายให้เห็นวิธีการที่นิทรรศการสนับสนุนเป้าหมายของการล่าอาณานิคมอย่างไร โดยวิธี “การขุดค้นคอลเล็กชั่น” และการย้อนหาเรื่องราวของสถานการณ์ในอาณานิคมซึ่งผูกติดกับวัตถุต่างๆ ชีวประวัติ และความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่สำคัญ  วัตถุจึงมิได้ใช้เป็นเพียงภาพแทนของชาวยุโรปที่เหนือกว่า หรือมีความเป็นวัฒนธรรมที่มีขอบเขตชัดเจนตายตัวและแช่แข็งอยู่ในกาลเวลาอีกต่อไป

ความเป็นมานุษยวิทยาของนิทรรศการศิลปะ

                ในปี ค.ศ. 2010 คอลเล็กชั่น Staatliche Ethnographische Sammlungen Sachsena (SES, คอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ของเมืองแซกโซนี) กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Staatliche Kunstsammlungen Dresden (SKD) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างการทำงานกัอย่างในกล้ชิดระหว่างศิลปะและคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ สิ่งหลักที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันดังกล่าวคือ โครงการความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วาติกันในการทำ “พิพิธภัณฑ์อินเดียน” ของ Ferdinand Pettrich(1798-1872) ศิลปินประติมากรที่กำเนิดในเมืองเดรสเดน ผลงานประติมากรรมของเขาได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิก  ช่วงทศวรรษ 1830  Pettrich อาศัยและทำงานในวอชิงตันดีซีและฟิลาเดลเฟีย เขาผลิตงานปูนปั้นชนพื้นเมืองอเมริกันผู้ซึ่งเป็นตัวแทนเพื่อไปต่อรองสนธิสัญญาเรื่องที่ดินและสันติภาพ พิพิธภัณฑ์วาติกันเป็นเจ้าของผลงานเหล่านี้ โดยจัดแสดงที่ Albertinum ในเมืองเดรสเดน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก็บรักษาผลงานศิลปะโมเดิร์นและร่วมสมัยและคอลเล็กชั่นรูปปั้นที่มีชื่อเสียง    โดยทำนิทรรศการชื่อ “Tecumseh, Keokuk, Black Hawk: Portrayals of Native American in Times of Treaties and Removal”  จะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อลักษณะนี้ ไม่ใคร่จะเกี่ยวกับศิลปะหรือตัวศิลปินแต่อย่างใด

            ประติมากรรมชนพื้นเมืองอเมริกันของ Pettrich ถูกตีความว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะสกุลนีโอคลาสสิก เป็นกลาง และแปลกตาในฉบับศิลปะยุคอาณาจักรโรมัน ภัณฑารักษ์ต้องการแสดงถึงบริบททางการเมืองระหว่างที่ Pettrich สร้างผลงานและนำเอาเสียงชนพื้นเมืองอเมริกันในตอนนั้นออกมาให้เห็น  โดยในปี ค.ศ. 1830 กฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกันเพิ่งผ่านสภาคองเกรส ตัดสินว่าชนพื้นเมืองที่อาศัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของชาติสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นิทรรศการ Cherokee Trail of Tears เป็นผลพวงมาจากการบังคับย้ายถิ่นครั้งนั้นซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของชนพื้นเมือง ผลงานศิลปะในตัวมันเองไม่ได้ส่งผ่านหรือแสดงถึงบริบททางการเมือง ดังนั้นวิธีการที่เราเอามาใช้จัดแสดงคือการให้ผู้ชมเข้าใจบริบทในการสร้างงาน

            ทางเข้านิทรรศการนำเสนอตัวบทกฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกัน จัดแสดงติดกันต่อจากภาพวาดลายเส้นของ Pettrich ที่วาดชนพื้นเมืองกำลังต่อสู้กับปิศาจแห่งท้องทะเล ทั้งนี้มีมุมมองสองอย่างที่นำเสนอไปพร้อมกันในผลงานศิลปะนี้  คือมองศิลปะในแง่ความเก่าแก่และแปลกตา และความเป็นจริงทางการเมืองไปพร้อมกัน   ส่วนต่อมาเป็นผลงานประติมากรรมที่นำเสนอในโถงนิทรรศการหลัก เน้นรูปแบบความงาม  ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ถึงความงดงาม ความแปลกตาต่อชิ้นงาน ขณะที่ฝาผนังโดยรอบจะโค้ดคำพูดของชนพื้นเมืองที่ปรากฏในงานของ Pettrich รวมถึงคำพูดนักการเมืองอเมริกัน-ยุโรปและบรรดาศิลปินด้วย คล้ายกับเป็นแนวนำเรื่องเพื่อให้เห็นบริบทการเมือง ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ถูกคุกคามของชนพื้นเมืองในตอนนั้นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ป้ายคำอธิบายผลงานรายชิ้นจะสนทนากับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นแบบปั้น โดยแทบจะไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะเลย

            การจัดแสดงในส่วนการดำเนินชีวิตของ Pettrich เป็นรูปปั้นครึ่งตัวเขา หนึ่งในวัตถุส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียง บ่งบอกความเป็นชนชั้นกลางไปจนถึงระดับบน แสดงถึงสถานภาพในสังคมและความสำเร็จในชีวิตของเขา คู่ขนานไปความหมายดังกล่าวเป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมและศิลปะของชนพื้นเมือง เราเลือกวัตถุจากช่วงเวลาเดียวกันจากชนพื้นเมืองเฉพาะกลุ่มที่สื่อความหมายไปในทางเดียวกัน คือเรื่องของการประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น สถานภาพทางสังคม, อำนาจ, และชื่อเสียงในสังคมของชนพื้นเมือง  นำเสนอวัตถุที่ตกทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกันกับรูปปั้นครึ่งตัวในบริบทสังคมยุโรปที่มักเป็นมรดกในครอบครัว วัตถุพื้นเมืองในนิทรรศการดังกล่าวยังรวมถึงเสื้อคลุมที่ทำจากหนังควายที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของเจ้าของและสร้อยคอที่ทำจากอุ้งตีนหมี

            ผลงานชิ้นเอกของนิทรรศการนี้คือ งานประติมากรรมที่ชื่อ “Dying Tecumseh”  Shawnee Tecumseh เป็นทั้งผู้นำทางการเมือง นักรบ นักคิด ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองอเมริกัน-ยุโรป เขาพยายามจะรวมกลุ่มพันธมิตรชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยวิธีการสู้รบ เขาตายในสงครามบริติช-อเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1813  Pettrich ปั้นเขาในฐานะวีรบุรุษที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด  ทั้งนี้การหลอมรวมความเป็นชนพื้นเมืองร่วมสมัยและการให้มุมมองที่ไม่สิ้นหวังของเขาถูกนำเสนอไปพร้อมๆ กันผ่านการนำเสนอหนังเรื่อง “Tecumseh’s Vision”  ซึ่งฉายในห้องแยกต่างหากออกไป ในหนังเล่าถึง Shawnee และนักคิดชนพื้นเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงความหมายของ Tecumseh ที่มีต่ออัตลักษณ์ชนพื้นเมืองอเมริกันในปัจจุบัน

            Black Hawk เป็นหัวหน้าอีกชนเผ่าหนึ่งที่ Pettrich ปั้นขึ้น ความทรงจำในชีวิตของเขาถูกเล่าและให้ล่ามบันทึกตามคำพูดของเขา ซึ่งทุกวันนี้บันทึกดังกล่าวถือเป็นอัตชีวประวัติชิ้นแรกของชนพื้นเมืองอเมริกัน คล้ายกับการจัดแสดงของ Tecumseh คือมีการติดตั้งห้องสี่เหลี่ยมดำที่เปิดเสียงของผู้ที่อ่านบันทึกของ Black Hawk ขณะที่เขาเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังวอชิงตัน ซึ่งเป็นบริบทสำคัญของชิ้นงานนี้ของ Pettrich

ผลงาน Dying Tecumseh

ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ferdinand_Pettrich_-_The_Dying_Tecumseh_-_Smithsonian.jpg


            ท้ายสุดคือการนำเสนอผลงานร่วมสมัยชื่อ “Ghost in the machine” เป็นรูปปั้นเทพีอาเธนาของไมรอนที่ถูกผูกติดอยู่กับตู้เย็น โดยศิลปินชื่อ Jimmie Durham ซึ่งตั้งแสดงอยู่บริเวณทางออกนิทรรศการ หากภาพตัวแทนของชนพื้นเมืองโดยผลงานของ Pettrich ได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิกที่หยังรากลึกในประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรป ผลงานของ Durham ก็ได้นำเอาพื้นฐานรากศิลปะของยุโรปดังกล่าวมาบิดอย่างเย้ยหยัน

            ตลอดข้อเขียนข้างต้น ผู้เขียนมองความพัวพันในสองลักษณะ คือ ทั้ง “วัตถุชาติพันธุ์” และผลงานศิลปะ พัวพันอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์อาณานิคมกระแสหลักและประวัติส่วนบุคคล ซึ่งสามารถนำเสนอความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาในศิลปะในการจัดแสดงนั้น แต่สิ่งที่เป็นความพัวพันระหว่างกระบวนการวิจัยและการจัดแสดงวัตถุเหล่านี้เป็นมุมมองเชิงหลักวิชาต่างๆ ที่ต้องมองวัตถุด้วยการตั้งคำถาม  ทั้งนี้ด้วยการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากหลายสาขาวิชา เราสามารถแสดงให้เห็นความต่าง ทั้งจากมุมผู้สร้างสรรค์ผลงานและจากผู้ใช้งาน.


วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 19 กุมภาพันธ์ 2563
วันที่แก้ไข: 11 เมษายน 2562