บาดแผลของสงครามและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

ประวัติอันยาวนาน
 
ศาสตราจารย์ จอห์น รุซเซล ผู้ช่วยที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมอาวุโสขององค์กรความร่วมมือ Coalition Provisional Authority (CPA) พรรณนาถึงประเทศอิรักว่าเป็นประเทศอันดับหนึ่งในหลายอย่าง ทั้งการตั้งสร้างบ้านแปงเมือง วรรณกรรมและภาษา ศาสนาและศาสนสถาน การสงครามและอาวุธ รวมถึงเศรษฐกิจโลกและการแผ่อำนาจ พิพิธภัณฑ์อิรักในกรุงแบคแดดเป็นเสมือนแอ่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายนับหมื่นแสน ขนานไปกับการเป็นดินแดนอิรักยุคใหม่ เป็นพื้นที่วัฒนธรรมเมืองแรกๆ ของโลก มีเมืองหลายแห่งที่ล้อมด้วยป้อมปราการ ราชวังที่ซับซ้อน มหึมา และสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ที่ได้พัฒนาและวิวัฒน์ผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษ เหล่านี้ได้กลายเป็นถาวรสถานในภูมิทัศน์ของดินแดนระหว่างแม่น้ำ ความรู้มากมายที่เกี่ยวกับดินแดนเมโสโปเตเมียมาจากการค้นคว้าทางโบราณคดี หรือถ้าจะมองให้ดีแล้วอิรักทั้งประเทศเลยกระมังที่เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี แหล่งที่สำรวจแล้วมีจำนวนมากกว่า 10,000 แห่ง และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่รอคอยการค้นพบ การวิจัยแหล่งทางโบราณคดีขณะนี้ดำเนินการไปแล้วเพียง 1,500 แห่ง สิ่งที่ขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีเกือบทั้งหมดเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก ในกรุงแบกแดด จะมีเพียงชิ้นสำคัญบางชิ้นเท่านั้นที่เก็บรักษาและจัดแสดงในสถาบันใหญ่ๆ เช่น บริติช มิวเซียม ประเทศอังกฤษ และพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ประเทศฝรั่งเศส
 
พิพิธภัณฑ์ในอิรักกำเนิดขึ้นในปี 1923 โดยทำหน้าที่ในการรักษาดูแลโบราณวัตถุที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีอัสซีเรียน (Assyrian Site) บาบิโลเนียน (Babylonian Site) และสุมาเรียน (Sumerian Site) พิพิธภัณฑ์เป็นห้องใหญ่ที่ตั้งอยู่ภายใน al-Qushlah หรือทำเนียบรัฐบาลอิรัก อยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไทกริส เมื่อมีวัตถุจากการขุดค้นจำนวนมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอาคารที่แยกเป็นอิสระ อาคารใหม่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเดียวกัน ใกล้สะพาน al-Shuhada และได้รับการเรียกขานว่า พิพิธภัณฑ์ อิรัก (Iraq Museum) หญิงสาวอาหรับเชื้อสายอังกฤษ เกอร์ทรูด เบลล์ (Gertrude Bell) ผู้เป็นทั้งนักสำรวจและนักโบราณคดีสมัครเล่น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ จนกระทั่งการจากไปของเธอในปี 1926
 
พิพิธภัณฑ์รับวัตถุสะสมอีกจำนวนมาก จนในปี 1966 จึงสร้างอาคารเพิ่มเติมบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ และขนานนามว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก (Iraq National Museum) เป็นอาคารปูนสองชั้น พร้อมด้วยชั้นใต้ดิน ห้องจัดแสดงจำนวนมากมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้าง 13 - 18 เมตร มีสวนและสนามหญ้าโดยรอบ มีความยาวประมาณ 50 เมตร และยังมีเฉลียงทางเดินที่มีหลังคาคลุมโดยรอบ
 
20 ปีให้หลัง พิพิธภัณฑ์ก่อสร้างอาคารในลักษณะเดียวกันเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีห้องจัดแสดงเพิ่มเติมจำนวน 20 ห้อง เป็นพื้นที่ทั้งหมด 11,000 ตารางเมตร ห้องจัดแสดงจัดแบ่งตามเงื่อนไขของเวลา จากยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสุมาเรียนในชั้นแรก และชั้นใต้ดินจัดแสดงวัตถุที่ได้จากการขุดค้นพบในยุคของอาซิเรียนและอิสลาม ห้องจัดแสดงส่วนที่เกี่ยวข้องกับโบราณสมัยอาซิเรียน สร้างบรรยากาศด้วยการแสดงรูปสลักขนาดใหญ่ ซึ่งมีความยาว 15 เมตร และสูง 5 เมตร รูปสลักบอกเล่าเรื่องราวของพิธีกรรมในอดีตสมัยไนน์เวห์ (Nineveh) และ อเชอร์ (Ashur) รวมทั้งรูปสลักยักษ์ที่มีหัวเป็นมนุษย์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทวารบาลของอาซิเรียนนครในยุคไนน์เวห์และคอร์ซาแบด (Khorsabad) ตั้งตระหง่านอยู่บนฐานหินในห้องเช่นกัน
 
ส่วนห้องจัดแสดงที่เหลือนำเสนอวัตถุมากกว่า 10,000 ชิ้น จากตราประทับรูปทรงกระบอกชิ้นเล็กไปจนถึงรูปปั้น รูปสลักขนาดใหญ่ วัตถุต่างๆ เหล่านี้มีทั้งที่ทำด้วยดิน ดินเผา โลหะ กระดูก ผ้า กระ ดาษ แก้ว ไม้ หินปูน พยานวัตถุที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นอารยธรรมของมนุษยชาติกว่า 10,000 ปี จากช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่สมัยสุมาเรียน บาบิโลเนียน อาซิเรียน ฮาเทรอน์ (Hartrene) พาร์เธียน (Parthian) ซาซ์ซานิด (Sassanid) จนถึงยุคอิสลาม วัตถุที่จัดแสดงเป็นจำนวนเพียง 3 % ของมรดกอิรัก ทั้งอักษรดินปั้นคูนิฟอร์มกว่า 100,000 ชิ้น หมายรวมถึงระบบการเขียนคูนิฟอร์มเดิมจากอูรูค (Uruk) บัญญัติดั้งเดิมของมนุษยชาติ (ศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล) รวมทั้งจดหมายเหตุที่ประเมินค่ามิได้ของซิปปาร์ (Sippar) ซึ่งกอปรด้วยอักษรดินกว่า 800 ชิ้นจากยุคบาร์บิโลเนียนใหม่ (Neo-Babylonian ประมาณ 625 - 539 ปี ก่อนคริสตกาล) ทรัพย์สินทั้งหมดนี้ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก เป็นแอ่งมรดกทางวัฒนธรรมของตะวันออกใกล้อันเก่าแก่ และเป็นแหล่งที่จะพลาดไม่ได้เลยสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนาน
 
ในระหว่างที่มีสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 กระทรวงการสื่อสาร ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิด และส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์และวัตถุจัดแสดงจำนวนหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ปิดตัวลง เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเคลื่อนย้ายวัตถุสะสมไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันงานสะสมจากการทิ้งระเบิด ด้วยความคิดที่ว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อมากกว่า 2-3 เดือน เจ้าหน้าที่จัดเก็บวัตถุที่มีค่าไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคลือบดินเผา งาช้าง อักษรดินเผาคูนิฟอร์ม ไว้ในขนสัตว์และสำลี ส่วนวัตถุที่ทำด้วยโลหะห่อหุ้มด้วยยาง วัตถุทั้งหมดได้รับการบรรจุใส่หีบเหล็กที่มีการลงกุญแจ และนำไปเก็บไว้ที่ชั้นใต้ดินของอาคารคลังเดิมของพิพิธภัณฑ์
 
เป็นที่น่าเสียดายว่า เหตุการณ์มิได้เป็นอย่างที่คาดหมายไว้ ไม่เพียงแต่การทิ้งระเบิดยังคงดำเนินต่อไป การจ่ายไฟฟ้าเกิดขัดข้องเนื่องด้วยการทำลายแหล่งจ่ายไฟฟ้า จากนั้นเป็นการงดจ่ายไฟฟ้า ทำให้เครื่องปั๊มน้ำที่ติดตั้งไว้ที่ชั้นใต้พื้นดินไม่สามารถทำงานตามปกติ น้ำนองอยู่ที่พื้นชั้นใต้ดิน หีบเหล็กเริ่มเป็นสนิม เป็นเหตุให้ความชื้นแทรกเข้าไปยังหนังสัตว์และยางที่ปกป้องวัตถุที่เคลื่อนย้ายจากที่จัดแสดง ที่สุดกลายเป็นที่เพาะแบคทีเรีย แมลงกินผ้า และจุลินทรีย์อื่นที่เป็นอันตราย วัตถุจำนวนนับร้อยจัดส่งให้นักอนุรักษ์ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากขาดสารเคมีที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์ และสารเคมีเหล่านั้นเป็นสิ่งต้องห้าม ตามประกาศคณะกรรมการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในขณะนั้น
 
ในเดือนเมษายน 2000 หรือ 9 ปีให้หลังจากการปิดให้บริการ พิพิธภัณฑ์เปิดต้อนรับสาธารณชนอีกครั้ง วัตถุนับร้อยที่มีอายุกว่า 2,000 - 3,000 ปี ได้รับความเสียหาย และบ้างมีสภาพไม่สามารถซ่อมแซมได้ในสภาพดังเดิม ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 หรือประมาณ 3 ปี หลังจากที่การให้บริการใหม่ พิพิธภัณฑ์กลับตกอยู่ในสภาพที่จะต้องปิดตัวเองอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งการหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับวัตถุสะสม ผลกระทบในครั้งนี้สร้างความเสียหายต่องานสะสมมากกว่าครั้งที่แล้ว ภาวะภายหลังสงครามที่ขาดความเป็นระเบียบนำมาซึ่งโจรและการปล้น มิใช่แต่เพียงที่ทำงานของรัฐบาลหรือธุรกิจเอกชนที่เป็นเป้าของการแย่งชิงทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติของพิพิธภัณฑ์กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่มีคนขโมย บางชิ้นมีอายุเก่าถึง 7,000 ปี วันที่เกิดการขโมยทรัพย์สินมากที่สุด คือ วันพฤหัสบดีที่10 เมษายน พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องประจัญหน้ากลุ่มคนที่ต้องการเจ้ามาลักสิ่งของล้อรถไถ เกวียน รูปปั้นรูปหล่อที่ประเมินค่ามิได้ ภาชนะ และอักษรดิน ฯลฯ ห้องจัดแสดงว่างเปล่ายกเว้นเศษกระจกจากตู้จัดแสดง หรือเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่เรียงรายอยู่บนพื้น
 
วันที่ 3 กรกฎาคม กองกำลังรักษาความมั่นคงชั่วคราวจัดนิทรรศการ 1 วันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิ่งที่จัดแสดงเป็นเครื่องทองที่มาจากสุสานของกษัตริย์อูร์ (Ur) รวมทั้งของจำลองเช่นแจกันวาร์กา (Warka Vase) แต่ดาวเด่นของการแสดงครั้งนี้ คือ สมบัติของนิมรูด (Nimrud) เป็นเครื่องทองที่ขุดค้นโดยนักโบราณคดีชาวอิรักที่นิมรูดในช่วงปี 1988 ถึง 1990 ณ นครแห่งวัฒนธรรมอาซิเรียนใหม่นี้ ตั้งอยู่ทางตะวันตออกเฉียงใต้ของโมสุล (Mosul) ปรากฏที่ฝั่งพระศพจำนวน 4 แห่งอยู่ใต้ชั้นของพระราชวังตะวันตกเฉียงเหนือของกษัตริย์อชูร์นาซิปาลที่ 2 (883 - 859 ปีก่อนคริสตกาล) มรดกเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ธนาคารกลางของอิรักตั้งแต่เกิดสงครามอ่าวในปี 1991 เมื่อพิพิธภัณฑ์โรมิช-เยอรมนิชในเมนซ์ ประเทศเยอรมนีต้องการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมข้างต้น ไม่มีบริษัทประกันภัยใดรับเป็นนายประกัน เพราะค่าของมันที่สูงเกินไป
 
นิทรรศการเดือนกรกฎาคมเป็นสิ่งที่กองกำลังรักษาความมั่นคงชั่วคราวต้องการแสดงให้เห็นว่าสภาพสังคมทั่วไปกลับสู่สภาพปกติ แต่เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งว่าภายหลังจากที่ปิดนิทรรศการประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ทหารชาวอเมริกาถูกปลิดชีพโดยมือสังหารที่สุ่มยิงจากระยะไกล และ 2 - 3 วันต่อมานักข่าวชาวอังกฤษถูกฆาตกรรมในอีกฝากหนึ่งของถนน
 
ความสูญเสียของมวลมนุษยชาติทั้งมวล
 
ในวันนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก อยู่ภายใต้เงาทะมึนของความรุ่งเรืองในอดีต ตามข้อมูลล่าสุด วัตถุขนาดใหญ่ 30 ชิ้น และวัตถุเล็กจำนวนมากถึง 12,000 ชิ้นหายไป แต่ละชิ้นเป็นชิ้นเอกที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ แต่ละชิ้นมีลักษณะเฉพาะและมีเรื่องราวของมันเอง ประวัติความเป็นมาเหล่านั้นเป็นฐานรากหนึ่งของสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน มรดกโบราณคดีไม่ใช่ทรัพยากรทดแทนได้ และเมื่อส่วนใดถูกทำลายไป ส่วนนั้นก็จะสูญไปชั่วนิรันดร์
 
การทำงานร่วมกันเพื่อให้แอ่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแห่งนี้กลับมาทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิเป็นหน้าที่ของชุมชนโลก และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว องค์การยูเนสโกในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศแห่งเดียวที่มีศักยภาพทำหน้าที่เป็นกองหน้าป้องกันมรดกของมนุษยชาตินี้ ดำเนินงานมากมายทั้งในระหว่างที่มีการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก่อนการรบครั้งล่าสุด และจวบจนทุกวันนี้ ในปี 1999 องค์การยูเนสโกติดตั้งระบบปรับอากาศและรักษาความปลอดภัยภายในพิพิธภัณฑสถาน และยังจะดำเนินการอื่นๆ เพื่อสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มหาศาลของอิรักต่อไป
 
ปัจจุบัน องค์การยูเนสโกดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะซ่อมแซมพิพิธภัณฑ์ในทุกส่วนและทุกด้าน นอกจากส่วนพื้นที่จัดแสดงและสำนักงานที่ได้รับความเสียหายอย่างมากจากการขโมยแล้ว ส่วนห้องปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์ได้รับความเสียหายไม่น้อยไปกว่ากัน ช่วงปีที่เกิดวิกฤตดังกล่าวเป็นเงื่อนไขให้นักอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการใช้เครื่องมือและวัสดุที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ วัสดุโดยส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่จะต้องนำเข้า แต่กลับเป็นสิ่งต้องห้าม การบุกเข้าปล้นทั้งในระหว่างและภายหลังการต่อสู้ ทำให้สถานการณ์ของห้องปฏิบัติการแย่ลง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของพิพิธภัณฑ์ ระบบความปลอดภัยได้รับความเสียหายเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดกับงานมาตรการพื้นฐานเหล่านี้นำไปสู่การตัดสินในการวางระบบรักษาความปลอดภัยของวัตถุสะสม ทั้งความเสี่ยงต่ออัคคีภัย การลักลอบขโมย โจรผู้ร้าย ฯลฯ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจะได้รับการทบทวนและออกแบบใหม่ โดยคำนึงถึงคุณค่าของงานสะสมที่เฉพาะและมีความพิเศษเช่นนี้
 
ในขณะนี้ ทรัพยากรบุคคลกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากยิ่งกว่าที่เคยเป็น ผู้ปฏิบัติงานได้อุทิศตนเองเพื่อความปลอดภัยของมรดกทางวัฒนธรรม และเพื่อทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่สภาพปกติ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนความชำนาญการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศึกษา การสร้างความทันสมัยและการปรับเปลี่ยนการใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม
 
การปฏิสังขรณ์พิพิธภัณฑ์อิรักและงานสะสมที่ประเมินค่ามิได้จะต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างเร่งด่วน และเป็นความรับผิดชอบของชุมชนนานาชาติทั้งมวล ในปัจจุบัน การดำเนินงานดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีงจากองค์กรชำนาญการต่างๆ สถาบันทางวัฒนธรรม และด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศนี้จะผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ของแบคแดดกลับมาตั้งตระหง่าน และเปิดประตูต้อนรับกลุ่มผู้ชมอย่างภาคภูมิทัดเทียมกับพิพิธภัณฑสถานอื่นของโลก
 
แปลและเรียบเรียงจาก Usam Ghaidan and Anna Paolini, A Short History of the Iraq National Museum. (Museum International. No. 219-220. Vol. 55, 2003), pp. 97-101.
 
*ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 21 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 21 มีนาคม 2556