มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน

มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานอาจเรียกได้ว่าเป็นงานมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ หรือมานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑ์ แต่ละชื่อเรียกมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกัน และมาจากความแตกต่างของทฤษฎีและการปฏิบัติ
 
นานมาแล้วที่มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานหมายถึงนักมานุษยวิทยาที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาย่อยของมานุษยวิทยา อันได้แก่ นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (นักชาติพันธุ์วิทยาและนักชาติพันธุ์วรรณา) นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยากายภาพ และนักภาษาศาสตร์ บุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
 
วัฒนธรรมวัตถุเป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่ว่าจะเรียกว่า "ศิลปะวัตถุ" หรือ "วัตถุ" โดยทั่วไป ทั้งสองคำย่อมสื่อถึงความหมายว่า เป็นสิ่งของที่ประดิษฐ์หรือใช้โดยมนุษย์ และแสดงออกถึงความหมายและการใช้ประโยชน์เช่นไร กระแสการศึกษาในปัจจุบันคือ การตรวจสอบว่าวัตถุเหล่านั้นนำเสนอวัฒนธรรมอย่างไร ในต้นทศวรรษ 1970 นักวิชาการในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยพยายามคิดค้นทฤษฎีและวิธีการวิเคราะห์ที่อธิบายการสื่อความหมายของวัฒนธรรม (วัตถุและการตีความที่เกี่ยวข้อง) จุดนี้เองเป็นแนวทางการศึกษาที่แตกต่างจากงานที่นักมานุษยวิทยาปฏิบัติกันมาในพิพิธภัณฑ์ ในช่วงทศวรรษ 1980 การศึกษายิ่งแตกต่างมากขึ้น รวมทั้งความสนใจที่มีต่อกลุ่มผู้ชมของพิพิธภัณฑ์เป็นประเด็นการศึกษาเช่นกัน
 
การประชุมเพื่ออภิปรายในประเด็นดังกล่าวจัดขึ้นโดยสภาการมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน (the Council for Museum Anthropology - CMA) พร้อมการจัดนิทรรศการที่เนื้อหาบางส่วนมาจากวารสาร American Anthropologists การประชุมดังกล่าวนำเสนอข้อมูลใหม่ๆในการทำความเข้าใจกับมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ และมานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑสถาน อย่างไรก็ดี สมาคมการพิพิธภัณฑ์อเมริกาสนใจต่อประเด็นดังกล่าวตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970
 
มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีลักษณะการพัฒนาคู่ขนานกัน อย่างไรก็ดี งานพิพิธภัณฑ์ของทั้งสองทวีปขยายตัวสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาของกระแสลัทธิทุนนิยมและการล่าอาณานิคม ด้วยสภาวการ์ณเช่นนี้จึงนำไปสู่การวิพากษ์พิพิธภัณฑ์และมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน ภายใต้แนวคิด "การแก้ไขข้อผิดพลาดทางการเมือง" ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา อันถือว่าเป็นการตอบโต้แนวคิดชาติพันธุ์นิยมและลัทธิการล่าเมืองขึ้น
 
พิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมที่ได้รับการจัดตั้งในประเทศที่สถาปนาขึ้นใหม่ พิพิธภัณฑ์ในประเทศเหล่านั้นได้สร้างนิยามและความหมายของงานพิพิธภัณฑ์ในบริบทของตนเอง นอกจากนี้ยังเปิดมิติการทำงานพิพิธภัณฑ์ไปสู่เรื่องของสาธารณสุขเฉกเช่นเดียวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มรดกจึงกลายเป็นเครื่องหลอมรวมความรู้สึก อัตลักษณ์กลุ่ม และความเป็นชาติที่นอกเหนือไปจากความต้องการใหม่ๆ บ้างประดิษฐ์ธรรมเนียมประเพณี บ้างรวบรวมเรื่องเล่าและเสียงผู้คนไว้ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์
 
การวิพากษ์งานพิพิธภัณฑ์เป็นข้อที่สร้างความตระหนักประเด็นการเมืองร่วมสมัย ทั้งการแบ่งแยกดินแดนของชุมชนชาติพันธุ์ การสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มชนดั้งเดิมของอเมริกา เช่นข้อกฎหมาย NAGPRA - Native American Grave Protection and Repatriation Act ในปี 1990 George H.J. Abrams ได้ทำการศึกษากรณีการส่งวัตถุแทนเงินของอินเดียนในอเมริกาเหนือจากพิพิธภัณฑ์อินเดียนในกรุงนิวยอร์ก กลับคืนให้แก่กลุ่มสมาพันธ์หกชาติ (Six Nations Confederacy) ใน Brantford Ontario Canada หรือกรณีการส่งวัตถุคืนถิ่นข้ามประเทศในแอฟริกาโดย Ekpo Eyo ตามสนธิสัญญายูเนสโกฉบับเดิม (1970) ทั้งสองกรณีนำเราไปสู่ข้อสรุปที่ว่าการแก้ปัญหาไม่ควรจะคำนึงเฉพาะข้อกฎหมาย แต่ต้องพิจารณาเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม
 
การส่งวัตถุคืนถิ่นยังเป็นประเด็นการถกเถียงต่อไป W. Richard West, Jr. (1990) ในฐานะผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อเมริกันอินเดียน วอชิงตัน ดี.ซี. วางนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง William C. Sturtevant ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสมิธโซเนียน นิยามปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นการหลุดพ้นจาก "หลักปรัชญาพิพิธภัณฑ์ การจัดการวัตถุ และการบริหารที่เคยยอมรับกัน" และนำไปสู่ข้อนิยามใหม่
 
ประวัติพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (ธรรมชาติวิทยา)
 
สมาคมและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแรกๆ ที่จัดตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วย Charleston Museum ใน South Calorina (1783) Peale’s Museum ใน Philadelphia (1785) และ East India Marine Society ซึ่งในปัจจุบันคือ Peabody Museum of Salem (1799) จากนั้น พิพิธภัณฑ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี งานพิพิธภัณฑ์ในยุโรปขยายตัวและพัฒนาก่อนหน้านั้นมาก ในประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแรก หรือ Ashmolean Museum ตั้งขึ้นในปี 1683 ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอรด์ ห้องสมุดและวัตถุสะสมหลายประเภทที่เป็นของราชบัณฑิตนักฟิสิกส์และนักธรรมชาติวิทยา เซอร์ ฮานส์ ซโลแอน (Sir Hans Sloane) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นกำเนิดของ บริติช มิวเซียม (1753) และก่อนหน้านั้น งานสะสมและ "ห้องแห่งความอยากรู้อยากเห็น" (cabinet of curiosities) ของนักวิชาการมือสมัครเล่นและพวกมนุษย์นิยมในศตวรรษที่ 15 อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นงานพิพิธภัณฑสถาน
 
พิพิธภัณฑ์เคยเป็นผลผลิตของการหาความรู้และข้อมูล เนื่องจากการสำรวจ การค้า การประดิษฐ์คิดค้น การพิมพ์ ของศตวรรษที่ 15 และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในยุโรป รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคมบางแห่งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกา งานมานุษยวิทยาและโบราณคดีในงานพิพิธภัณฑ์ของทั้งสองทวีปสามารถอ่านได้จากรายงานและสิ่งพิมพ์ของสถาบันต่างๆ ในอเมริกา เช่น Bureau of Ethnology, the Smithsonian Institution, the American Museum of Natural History, the Peabody Museum of Salem, the Peabody Museum at Harvard University, the University of Pennsylvania Museum, the Academy of Natural Sciences of Philadelphia, the Brooklyn Museum และสถาบันอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากในทวีปอเมริกาและยุโรป
 
George W. Stocking, Jr. (1985) เสนอข้อมูลความเป็นมาของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน และยังแสดงให้เห็นความสำคัญ รวมทั้งตั้งคำถามสำหรับอนาคต จากปี 1980 งานศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ งานสะสม นักสะสม งานจัดแสดงระดับนานาชาติ และเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุ โดยนักมานุษยวิทยา นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ มีจำนวนมากขึ้น และนำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และการจัดแสดงอย่างจริงจัง รวมทั้งยังสร้างความสนใจใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับวัตถุ ให้แก่นักมานุษยวิทยา (Appadurai 1986)
 
งานเขียนของ Susan Pearce (1989) แสดงให้เห็นถึงประวัติของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน โบราณคดีพิพิธภัณฑสถาน (Museum Archaeology) ในประเทศอังกฤษ และขบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกิดขึ้นบนทวีปทั้งสองแห่งของมหาสมุทรแอตแลนติค นอกจากนี้ งานศึกษาของ Ian Hodder, Christopher Tilley, Michael Shanks และนักโบราณคดีคนอื่นๆ เพิ่มความตระหนักว่า นักโบราณคดีและมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานควรแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างมหาวิทยาลัย และ สาธารณชนทั่วไป เพื่อการสนับสนุนทางวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อนึ่ง ในการจัดประชุมประจำปีครั้งที่ 59 ของสมาคมโบราณคดีอเมริกา The Plenary Session of the American Society for Conservation Archaeology (1994) เน้นถึงการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเป็นเส้นทางที่มองไปสู่อนาคตร่วมกัน
 
ประเด็นวิจารณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน กลายเป็นแนวทางการศึกษาของมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน และปรากฎงานวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรมในปี 1991 ในหนังสือ "จัดแสดงวัฒนธรรม" (Exhibiting Cultures) บรรณาธิการโดย Ivan Karp และ S. D. Lavine ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่วัตถุเป็นแก่นแกนของงานศึกษาของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกมาช้านาน ตอนนี้ทั้งนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ นักรัฐศาสตร์ และผู้สนใจจากสาขาอื่นๆ ให้ความสนใจกับการศึกษาวัตถุเช่นกัน Eilean Hooper-Greenhill ศึกษาธรรมชาติของนิทรรศการและการสื่อสารร่วมกับผู้เขียนบทความ 25 คนในหนังสือ พิพิธภัณฑสถาน สื่อ สาร (Museum, Media, Message - 1994)
 
Anna Laura Jones ได้แสดงข้อคิดเห็นของเธอในงานเขียน "กัมปนาทปืนใหญ่: มานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑสถาน" (Exploding Canons: The Anthropology of Museums) ในวารสาร Annual Review of Anthropology (1993) เป็นการวิเคราะห์ข้อวิพากษ์วิจารณ์และการถกเถียงเกี่ยวกับมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดแสดงวัตถุ Jones ได้ศึกษามานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานอย่างเป็นศาสตร์เฉพาะ และอภิปรายการจัดแสดงศิลปะและวัตถุวัฒนธรรมของสังคมที่มิใช่ตะวันตกในพิพิธภัณฑสถาน ประเด็นการวิจารณ์ยังเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและความชอบธรรมของมานุษยวิทยาและผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ ในฐานะผู้ตีความวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑสถานและในสายงานวิชาการ
 
Jones ได้กะเทาะปัญหาการยึดติดกับการตีความจากรูปทรงภายนอก (formalism’s persistence in interpretation) และชี้ให้เห็นปัญหาของการปฏิบัติต่อวัตถุที่ซับซ้อนอย่างง่ายๆ ในนิทรรศการ โดยเลือกงานของ Susan Vogel, Center for African Art (ปัจจุบันคือ the Museum for African Art) เป็นตัวอย่าง เธอกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการวิเคราะห์ของสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ทั้งนั้น วัตถุประสงค์ของเธอคือ การสร้างความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ควรเกิดขึ้นกับมานุษยวิทยาที่ปฏิบัติในพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในแคนนาดา และหลายประเทศในยุโรป ได้ตระหนักถึงผลพวงที่เกิดขึ้นในมุมมองเกี่ยวกับประเทศอาณานิคม สำนึกชาติพันธุ์ และ ชนชั้น
 
Michael Amies ในบทความ "ทวิวัฒนธรรมนิยมในนิทรรศการ" (Biculturalism in Exhibitions in Museum Anthropology - May 1991) ได้ทดลองวิเคราะห์นิทรรศการในประเทศแคนนาดาโดยใช้มุมมองมานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถาน เขาพยายามนำเสนอความคิดต่างๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของความหลากหลายในโลกปัจจุบัน และย้ำถึงความร่วมมือเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอันเกิดจากสิ่งที่นำเสนอ (representing) และสิ่งที่ถูกนำเสนอ (represented) Aimes ขยายความคิดของสิ่งที่เขาเรียกว่า "การขโมยเสียง" (theft of voice) ของนักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์ศิลปะ Aimes ยังชี้ให้เห็นประเด็นการเมืองในการเรียกร้องดินแดนกับรัฐบาลแคนานาดา และเชื่อมโยงกับเวลาที่ใช้ในการจัดนิทรรศการ ซึ่งตรงกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว ที่ Glenbow Museum ใน Calgary
 
เฉกเช่นเดียวกับนิทรรศการเรื่อง "สู่ใจกลางแอฟริกา" ของ the Royal Ontario Museum ที่หยิบยกประเด็นประวัติศาสตร์การล่าเมืองขึ้นของแคนนาดา นิทรรศการนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย ในกลุ่มบางกลุ่มของชุมชนแอโฟร-แคนานดา และนักวิชาการบางคน คำอธิบายของภัณฑารักษ์ว่า ใคร อะไร อย่างไร เกี่ยวกับนิทรรศการ กลายเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับการศึกษามานุษยวิทยาพิพิธภัณฑสถานร่วมสมัย
 
การวิเคราะห์พิพิธภัณฑ์ในเชิงวิชาการและทั่วไป เป็นทั้งบทสะท้อนและความตระหนักต่อผลกระทบของประวัติศาสตร์ความคิด ต่อการศึกษาข้ามสาขาวิทยาการ และต่อการรับรู้สาธารณะ นอกจากนี้ ยังเป็นเสียงที่เรียกร้องให้พึงระวังการนำเสนอวัฒนธรรมที่บอกเล่าโดย "ผู้อื่น"
 
ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อีกประการคือ ผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และบุกเบิกการศึกษาวัฒนธรรมวัตถุ และวิธีวิทยาต่างๆ การศึกษาในประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์มานุษยวิทยา อย่างในกรณี Margot Blum Schevill ที่ทำการศึกษาชีวิตและผลงานของ Lila M. O’Neale ในบทความที่ลงใน Museum Anthropology (มิถุนายน 1993) หรือบทความต่างๆ ของ Kroeber Anthropological Society, University of California at Berkeley (1986) และในบางบทตอนของหนังสือ The Early Years of Native American Art History: the Politics of Scholarship and Collecting, บรรณาธิการโดย J.C. Berlo (1992)
 
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างงานวิชาการที่ว่าด้วยชีวประวัติของ Isabell Kelly เขียนโดย Grace W. Buzalijko ใน Museum Anthropology (มิถุนายน 1993) งานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมวัตถุในพิพิธภัณฑสถาน และกลายเป็นสนามการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ขยายตัวมากขึ้นในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 การวิเคราะห์ยังสร้างความตระหนักในบทบาทของเพศสภาวะในสายงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานในช่วงเริ่มแรกเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่ายินดีคือ เรื่องราวของผู้หญิงที่ได้รับการมองข้ามในงานพิพิธภัณฑ์กลับได้รับการศึกษา (Babcock and Parezo 1988) และบอกเล่าชีวประวัติ (Glaser and Zenetou 1994)
 
ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองเป็นเชื้อไฟให้เกิดการทบทวนบทบาทของนักมานุษยวิทยา และการนำเสนอภาพแทนของ "ผู้อื่น" ที่หลากหลายในพิพิธภัณฑ์ (ทั้งประเด็นเชื้อชาติ ชนชั้น สำนึกชาติพันธุ์ กลุ่ม และเพศสภาวะ) แนวการศึกษาที่กล่าวมานี้ ยังผลให้มานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑสถาน และทฤษฎีเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถานในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมที่เติบโตในสังคมตะวันตกมีความตื่นตัวมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ศึกษาและพิพิธภัณฑ์วิทยากลายมาเป็นสาขาวิชาใหม่ หรือเป็นสาขาวิชาย่อยของสังคมศาสตร์ และ/หรือ มนุษยศาสตร์ เฉกเช่น มานุษยวิทยา (พิพิธภัณฑสถาน) สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะ และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสาขาวิชา อย่างที่ปรากฎในมหาวิทยาลัยและพิพิธภัณฑ์ (Kaplan 1992)
 
แปลและเรียบเรียงจาก Kaplan, Flora Edouwaye S. "Museum Anthropology", in David Levinson and Melvin Ember. Encyclopedia of Cultural Anthropology.Vol.3 (New York: Henry Helt and Company, 1996), pp. 813 - 816.
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 21 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 09 พฤษภาคม 2556