ความหมายสากลของพิพิธภัณฑ์ และพัฒนาการของ "พิพิธภัณฑ์แห่งกรุงสยาม"

(ตอนที่ 1)

“พิพิธภัณฑ์” ในความรับรู้ของคนทั่วไปอาจจะหมายถึง สถานที่หนึ่ง ๆ ซึ่งจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม แต่อย่างไรก็ตาม ในทางพิพิธภัณฑวิทยาที่ยอมรับกันในปัจจุบันแล้ว “พิพิธภัณฑ์” มีความหมายกว้างขวางมากกว่าสถานที่และการจัดแสดง แต่เทียบเท่าได้กับคำว่า“แหล่งเรียนรู้” เลยทีเดียว กล่าวคือ สภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ[1] (International Council of Museum) หรือICOMได้ให้คำจัดของคำว่า“พิพิธภัณฑ์”[2] ไว้ดังนี้

“พิพิธภัณฑ์ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เปิดเป็นสถานที่สาธารณะ และเป็นสถาบันถาวรที่ให้บริการแก่สังคมและมีส่วนในการพัฒนาสังคม มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดง วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการค้นคว้า การศึกษา และ ความเพลิดเพลินใจ”

คำจำกัดความข้างต้น ได้แจงหน้าที่หลัก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ไว้ 5 ประการ คือ 1. รวบรวม 2. สงวนรักษา 3. ค้นคว้าวิจัย  4. เผยแพร่ความรู้ และ 5. จัดแสดงวัตถุ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนทางด้านสถานภาพว่าองค์กร หรือสถาบันใด มีคุณสมบัติของ “พิพิธภัณฑ์”หรือไม่  ดังนั้น ICOM จึงได้อธิบายเงื่อนไข และจำแนก “สถาบัน” ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติของ “พิพิธภัณฑ์” ไว้อีก 8 ข้อ ดังนี้คือ

(ก)  คำจำกัดความข้างต้นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้โดยปราศจากข้อจำกัดใด ๆ ที่เกิดจากรูปแบบของคณะบริหาร ลักษณะของพื้นที่ โครงสร้างหน้าที่ หรือวิธีการศึกษาสิ่งของสะสมของสถาบันนั้นๆ ที่เกี่ยวข้อง

(ข)  นอกจากสถาบันที่ถูกระบุว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์” แล้ว สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ จัดได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นพิพิธภัณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของคำนิยามนี้ ซึ่งได้แก่

I.           แหล่งและอนุสรณ์สถานทางธรรมชาติ โบราณคดี และชาติพันธุ์วรรณา แหล่งและอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเก็บรวบรวม สงวนรักษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์

II.      สถาบันที่รวบรวมและจัดแสดงตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตวศาสตร์ สถานที่แสดงสัตว์น้ำ และศูนย์ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์

III.    ศูนย์วิทยาศาสตร์ และท้องฟ้าจำลอง

IV.    หอศิลปที่จัดแสดงงานโดยไม่แสวงหาผลกำไร

V.      สถานที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่สงวน

VI.    องค์กรพิพิธภัณฑ์ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น กระทรวง หรือกรม หรือหน่วยงานเอกชนใดก็ตามทั้งที่มีส่วนในการรับผิดชอบพิพิธภัณฑ์ หรือมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดนี้

VII.      สถาบัน หรือองค์กร ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา การฝึกอบรม การจัดทำเอกสารวิชาการ และกิจกรรมอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ และวิชาพิพิธภัณฑ์วิทยา

VIII.     ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ การสืบสาน และการบริหารจัดการทรัพยากรอันเป็นมรดกที่จับต้องได้ และมรดกที่จับต้องไม่ได้ (มรดกที่มีชีวิต และกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดยเทคโนโลยีดิจิตอล)

IX.    สถาบันใด ๆ อย่างเช่น สภาบริหาร ซึ่งหลังจากการร้องขอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการที่ปรึกษาแล้ว ได้รับการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติบางส่วนหรือทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์ หรือมีส่วนในการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ และบุคลากรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์เป็นอาชีพ ตลอดจนการสนับสนุนงานวิจัย การศึกษา หรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์

 
ความหมายตามรูปศัพท์ของ “มิวเซียม” และ “พิพิธภัณฑ์”

อันที่จริงคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ถ้าแปลตามรูปศัพท์แล้ว จะมีความหมายเพียง “สิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงสถานที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของแต่อย่างใด คำที่ถูกต้องตามความหมายนั้น ต้องเป็นคำว่า “พิพิธภัณฑ-สถาน” ซึ่งหมายถึง “สถานที่สำหรับสิ่งของนานาชนิด” และจากรูปศัพท์นี้ ถ้านำไปเปรียบเทียบกับ คำว่า “มิวเซียม” แล้ว จะเห็นว่า รูปศัพท์ทั้ง 2 นั้น มีความหมายไม่ตรงกัน

คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” แสดงออกแค่เพียงเป็นสถานที่เก็บของ ในขณะที่คำว่า “มิวเซียม” กลับมีความหมายว่าเป็นสถานที่สิงสถิตของคณะเทพธิดามูซา[3] (Musa) คณะเทพธิดามูซานี้ เป็นคณะแห่งสรรพวิชาด้านต่าง ๆ ดังนั้น คำว่า “มิวเซียม” จึงมีความหมายอยู่ในตัวเองว่า “หอแห่งสรรพวิชา” หรือ “แหล่งเรียนรู้”

ด้วยเหตุแห่งความต่างกันนี้ ก่อนจะกล่าวถึงพัฒนาด้านความหมายของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” จะขอกล่าวถึงความหมายของ“มิวเซียม” เสียก่อนเพื่อจะได้เข้าใจเกี่ยวกับความแตกแต่งทางด้านความหมายระหว่างคำว่า “มิวเซียม” กับ “พิพิธภัณฑ์” ดังนั้น ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกำหนดของ ICOM ที่จะนำเสนอให้เห็นพัฒนาการของความหมายนั้น จะขอใช้คำทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” เพื่อที่จะแยกสายพัฒนาการของความหมายให้ชัดเจนระหว่างโลกตะวันตกที่ใช้ “มิวเซียม” กับ ประเทศไทย ที่ใช้ “พิพิธภัณฑ์”

ความหมายตามรูปศัพท์ของ “มิวเซียม”

“มิวเซียม” เป็นคำยืมมาจากภาษาละติน ว่า “มูเซอุม”[4] มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า “มูเซออน” (Mouseion) ซึ่งหมายถึง“สถานที่สิงสถิตของหมู่เทพธิดามูซา” คณะเทวีนี้มีอยู่ด้วยกัน 9 องค์[5] ทั้งหมดล้วนเป็นพระธิดาของเทพเจ้าเซอุส ราชาแห่งเทพทั้งมวล กับเทวีเนโมซีเน เทวีแห่งความทรงเจ้า กล่าวกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นตัวแทนของดนตรี บทเพลง และ นาฏศิลป์ โดยมีอำนาจดลใจให้กวีสามารถแต่งกวีนิพนธ์ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงถือกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นผู้อุปถัมภ์เหล่านักปราชญ์และกวีให้สามารถแต่งตำราและบทประพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นมาได้ และเป็นเหล่าเทพแห่งสรรพวิชาด้วยเช่นกัน โดยในช่วงยุคคลาสสิกตอนปลาย ได้มีการจำแนกหน้าที่อุปถัมภ์ให้แก่เทพธิดาแต่ละองค์ แทนด้วยสรรพวิชาต่าง ๆ ดังนี้คือ

 

                ๑.  คลีโอ (Cleo) เทพธิดาแห่งประวัติศาสตร์นิพนธ์

                ๒. ยูเตอร์เป (Euterpe) เทพธิดาแห่งกวีนิพนธ์และทำนองเสนาะ

                ๓. ธาเลีย (Thalia) เทพธิดาแห่งบทร้อยกรอง และสุขนาฏกรรม

                ๔. เมลโปเมเน (Melpomene) เทพธิดาแห่งโศกนาฏกรรม

                ๕. เติร์ปซิโคเร (Terpsichore) เทพธิดาแห่งการขับรำและฟ้อนรำ

                ๖. เอราโต (Erato) เทพธิดาแห่งกวีนิพนธ์เรื่องรักใคร่ และการล้อเลียนท่าทาง

                ๗. โปลิฮิมเนีย (Polyhymnia) เทพธิดาแห่งบทเพลงสรรเสริญอันศักดิ์สิทธิ์

                ๘. ยูราเนีย (Eurania) เทพธิดาแห่งดาราศาสตร์ หรือ งานนิพนธ์ด้านดาราศาสตร์

                ๙. คาลลิโอเป (Calliope) เทพธิดาแห่งบทประพันธ์ประเภทมหากาพย์

 

พัฒนาการทางด้านความหมายของ “มิวเซียม” ในโลกตะวันตก

                “มูเซออน” ในสมัยกรีกโบราณเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติสมาธิ เป็นสถาบันด้านปรัชญา หรือ เป็นวิหารสำหรับคณะเทพธิดามูซา ต่อมาในสมัยโรมันเรืองอำนาจ “มิวเซียม” หมายถึงสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านปรัชญาซึ่งกันและกัน และคงความหมายในลักษณะนี้เรื่อยมาจนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) ซึ่งเป็นยุคเรเนสซองส์ ความหมายของ “มิวเซียม” จึงเริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยที่เมืองฟลอเรนส์ “มิวเซียม” จะหมายถึง “สถานที่ที่มีสิ่งสะสมต่างๆ” ซึ่งก็จะมีความแฝงว่าเป็นสถานที่แห่งความรู้ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23) เป็นต้นมา กลับเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไปในความหมายที่ว่า “สถานที่สำหรับเก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยาและประวัติศาสตร์”[6] แนวความคิดเช่นนี้ ได้สืบต่อมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (กลางพุทธศตวรรษที่ 25) จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งสภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ หรือ ICOM จึงได้เริ่มสร้างนิยามของคำว่า“มิวเซียม” ขึ้นเพื่อให้เป็นที่เข้าใจตรงกันระหว่างประเทศสมาชิก และได้มีการปรับปรุงนิยามเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน

เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า “มิวเซียม” สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่าชาติ หรือ ICOM จึงได้ให้คำนิยามไว้ในเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ.1946)[7] ว่า

“คำว่า มิวเซียม มีความหมายรวมไปถึงงานเก็บสะสมทุกประเภทที่เปิดบริการแก่สาธารณะ ซึ่งได้แก่วัตถุทางศิลปะ งานช่าง วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี รวมไปถึงสวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ แต่ไม่รวมถึงห้องสมุด ยกเว้นเสียแต่ว่าห้องสมุดเหล่านั้น จะมีส่วนจัดแสดงถาวรอยู่ในความดูแล”

ในการประชุมครั้งต่อมา ได้มีการเพิ่มเติมคำนิยามข้างต้นนี้ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นกล่าวคือ ในปี พ.ศ.2499 (ค.ศ.1956) ได้นิยามว่า“มิวเซียม” คือสถานที่ใดก็ตามที่มีรูปแบบการบริหารที่มีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ การศึกษา และการส่งเสริม ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยวิธีการจัดแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ด้านสาระและความบันเทิง ที่จะได้รับจากวัตถุต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ได้แก่ สิ่งสะสมประเภทงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และยังรวมไปถึงสวนสัตวศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์ และสถานที่แสดงสัตว์น้ำ  นอกจากนี้ ห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุที่มีห้องจัดแสดงถาวรก็จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ด้วยเช่นกัน ต่อมาในปี พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) ได้มีการเพิ่มเติมอนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และสถานที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่สงวนเข้าไปด้วย เช่น อุทยาน หรือ วนอุทยาน

ปี พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) เริ่มระบุเป็นครั้งแรกว่า “มิวเซียม” คือองค์กรก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นครั้งแรกที่ระบุถึงหน้าที่ 5 ประการของ “มิวเซียม” คือ รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงวัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งเป็นคำนิยามที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมให้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และท้องจำลองเป็น “มิวเซียม” ได้ด้วยเช่นกัน

ปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) เป็นครั้งแรกที่เริ่มนิยามมิให้ “มิวเซียม” ผูกติดกันรูปแบบของการบริหาร ขอเพียงเป็นสถานที่ถาวรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และให้ความรู้ความบันเทิงแก่สาธารณะก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมศูนย์ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ และ หน่วยงานที่ทำงานด้านบริหารที่มีคุณสมบัติบางส่วนสอดคล้องกับนิยามที่ ICOM ตั้งไว้ หรือ มีส่วนในการสนับสนุนงาน”มิวเซียม”และบุคลากรของ “มิวเซียม” ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านการวิจัย การศึกษา และ การฝึกอบรม ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ได้เช่นกัน

ปี พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีก 2 ประเภทคือ หน่วยงานใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับ “มิวเซียม” และมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของ ICOM ก็จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” และ สถาบันหรือองค์กรใดก็ตาม ที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงผลกำไร และทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัย ให้การศึกษา จัดการฝึกอบรม จัดทำเอกสารวิชาการ และจัดกิจกรรมเกี่ยวข้องกับงาน “มิวเซียม”และ วิชา “มิวเซียมศึกษา” ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม”

คำนิยามล่าสุดที่ใช้ในขณะนี้ เป็นคำนิยามของปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีกประเภทหนึ่ง คือ ศูนย์วัฒนธรรม หรือ นิติบุคคลใด ที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ สืบสาน และ บริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นถ้าพิจารณาจากนิยามของ ICOM ในช่วงเวลากว่า 55 ปี (พ.ศ. 2489 – 2544) แล้วจะเห็นว่า ICOM พยายามที่จะนิยามคำว่า“มิวเซียม” ให้ครอบคลุมให้มากที่สุด ในชั้นแรกนั้น คงเน้นไปยังกลุ่มองค์กรที่สะสมวัตถุและจัดแสดงวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนั้นรวมไปถึงสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ด้วย ด้วยเหตุว่าเป็นสถานที่ “สะสม” พืชและสัตว์ (จากนิยามปี พ.ศ. 2489 และ 2499) อีก 5 ปี ต่อมาได้เพิ่มเติมหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจได้ โดยที่เนื้อหาของสถานที่เองก็จะให้ความรู้เรื่องของธรรมชาติวิทยาและโบราณคดี เช่น อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ (จากนิยามปี พ.ศ.2504)  ต่อมาอีก 13 ปี คือปี พ.ศ.2517 คำนิยามเริ่มมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานของคำนิยามในการประชุมครั้งต่อ ๆ มาของ ICOM ในครั้งนี้ และได้นิยามเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดแสดงนั้นว่า “วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำนิยามที่กว้างและครอบคลุมวัตถุหรือหลักฐานทุกประเภทที่จัดแสดงอยู่ใน “มิวเซียม” นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตรวมเอาอนุสรณ์สถานที่มีเนื้อหาในเชิงชาติพันธุ์วรรณา และองค์กรต่างๆ ที่จัดแสดงให้ความรู้เรื่องราวที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น (จากนิยามปี พ.ศ. 2517) จากนั้นต่อมาอีก 15 ปี คือ เริ่มต้นแต่ ปี พ.ศ. 2532 - 2544 ดูเหมือนว่า ICOM จะขยายขอบเขตคำนิยามออกไปอีก โดยในช่วงเวลานี้ มีการประชุมกัน 3 ครั้ง คือ พ.ศ. 2532, 2538 และ 2544 ทั้ง 3 ครั้งนี้ มีการพูดถึงองค์กรที่มีอำนาจบริหาร องค์กร หรือสถาบันที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่หวังผลกำไร หน่วยงานทั้งของภาครัฐ และ เอกชน ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลใดก็ตาม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน การค้นคว้าวิจัย การอนุรักษ์ และการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม และมีคุณสมบัติบางประการ หรือทั้งหมดตามข้อกำหนดของ ICOM ก็ถือได้ว่า องค์กรเหล่านี้ เป็น ”มิวเซียม” ทั้งสิ้น

ดังนั้น ความหมายตามรูปคำของ “มิวเซียม” จึงอาจพิจารณาตามแต่ยุคสมัยได้ว่า ในสมัยอาณาจักรอิยิปต์โบราณยุคราชวงศ์ปโตเลมีตอนต้นนั้น การตั้ง “หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย” (Museum of Alexandria) น่าจะหมายถึง “สถานที่เก็บรวบรวมองค์ความรู้และสรรพวิชาต่าง ๆ” ซึ่งโดยมากแล้วสิ่งของสะสมนั้นมาจากรูปแบบของหนังสือ ดังนั้นในบางครั้งก็จะเรียกว่าหอสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรียก็มี แต่สำหรับในยุคปัจจุบันนั้น ความหมายของ “มิวเซียม” ได้ขยายความออกไปเป็นอย่างมาก  โดยการนิยามของ ICOM กล่าวคือ จากกรอบแนวคิดที่ว่า “มิวเซียม” เป็น “แหล่งเรียนรู้ที่ได้รับความเพลิดเพลินจากการศึกษาของสะสม” พัฒนามาจนเป็น “แหล่งเรียนรู้และองค์กรที่สนับสนุนการเรียนรู้ ที่มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้า เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงเรื่องราวอันเป็นเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่ทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้และความเพลิดเพลินใจ” จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในอนาคต ICOM จะมีการเพิ่มเติมนิยามนี้อีกหรือไม่

 
แรกใช้คำว่า “มิวเซียม” ในความหมายของ “หอสรรพวิชา”

คำว่า “มิวเซียม” ได้ถูกนำมาใช้เรียกสถานที่เก็บสะสมหนังสือและสิ่งของต่าง ๆ ครั้งแรกที่เมืองอเล็กซานเดรียของอาณาจักรอิยิปต์โบราณ เมื่อราว ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยพระเจ้าปโตเลมีที่ ๒ โซเตอร์ ได้ทรงสร้าง “หอสรรพวิชา”[8] แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (Museum of Alexandria) เพื่อเก็บงานวรรณกรรมในสมัยไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ดังนั้น อีกนัยหนึ่งหอสรรพวิชาในที่นี้ก็ทำหน้าที่เป็นหอสมุดด้วยเช่นกัน

แนวความคิดสะสมหนังสือนี้ เกิดขึ้นมาจากพระราชดำริของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๑ ด้วยความปรารถนาที่จะรวบรวมงานวรรณกรรมของโลกไว้ในเดียวกันคือ ที่เมืองอเล็กซานเดรีย  ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๒ โซเตอร์ จึงทรงสร้างสถานที่เก็บหนังสือที่พระเจ้าปโตเลมีที่ ๑ ทรงสะสมไว้ โดยเรียกสถานที่นั้นว่า “หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย” จนถึงในรัชสมัยของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๓  เล่ากันว่าพระองค์มีวิธีการสะสมหนังสือคือ การยืมมาแล้วคัดลอก โดยทรงส่งพระราชสาสน์ไปยังพระราชาแห่งเมืองต่าง ๆ เพื่อขอยืมหนังสือมาคัดลอก เมืองเอเธนส์เป็นเมืองแรกที่ส่งเอกสารมาให้ ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะถูกคัดลอกโดยเจ้าหน้าที่ของหอสมุดและหอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย เมื่อคัดลอกแล้วเสร็จ หอสมุดและหอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรียจะเก็บต้นฉบับไว้ที่หอสมุด และจะส่งสำเนาที่คัดลอกขึ้นมาใหม่กลับคืนไปให้กับเมืองเอเธนส์ เล่ากันว่า เนื่องจากเมืองอเล็กซานเดรีย เป็นเมืองท่าสำคัญของอาณาจักรอิยิปต์โบราณ ดังนั้นจึงมีเรือมาจากทั่วทุกสารทิศ เรือเหล่านี้ ก็ไม่เว้นที่จะถูกสำรวจว่ามีหนังสือหรือบันทึกอะไรที่น่าสนใจพอที่จะคัดลอกเก็บไว้บ้างหรือไม่ และด้วยเหตุที่เป็นสถานที่สะสมหนังสือมากมายหลากหลายสาขาวิชาที่ได้มาจากเมืองต่าง ๆ นี้เอง จึงทำให้เมืองอเล็กซานเดรีย เป็นที่กล่าวขวัญกันว่าเป็นเมืองแห่งวิทยาการ หอสรรพวิชาจึงเป็นที่พบประสังสรรค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเหล่านักปราชญ์และนักเรียน[9] ด้วยเหตุนี้ หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย จึงได้กลายเป็นสถาบันทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกยุคโบราณ

 

ความเข้าใจคำว่า “มิวเซียม” ในโลกตะวันออก

ด้วยเหตุที่คำว่า “หอสรรพวิชา” หรือ “มิวเซียม” ของกรีก-โรมัน มีใช้กันมานานแล้วในโลกตะวันตก ในความหมายที่เน้นไปยังเรื่องของสถานที่อันเป็นที่สถิตแห่งความรู้ และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนกันระหว่างนักปราชญ์กับลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาปรัชญา คำว่า “หอสรรพวิชา” หรือ “มิวเซียม” จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในการเรียกชื่อสถานที่อันทำหน้าที่เสมือนคลังแห่งความรู้ ที่ถ่ายทอดโดยการเก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยาตั้งแต่ยุคเรเนสซองส์เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “มิวเซียม” จะถูกจำกัดให้หมายถึง “สถานที่จัดเก็บและแสดงสิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น และความคิดเช่นนี้เองได้ส่งผ่านมายังมายังประเทศต่าง ๆ ทางโลกตะวันออก โดยพิจารณาได้จากความหมายของคำว่า “มิวเซียม” ที่ได้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ โดยที่คำที่ผูกขึ้นมาใหม่นี้ ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงกรอบความคิดที่ว่า “มิวเซียม” คือ “สถานที่จัดเก็บและจัดแสดงสิ่งของนานาชนิด”ตัวอย่างเช่น ภาษาจีนกลางบัญญัติว่า “โป๋อู้ก่วน”[10] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันมีสิ่งของมากมาย” ภาษาฮินดีบัญญัติว่า “วัสตุสังครหาลัย”[11] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันเป็นที่เก็บรักษาวัตถุต่าง ๆ” หรือในภาษาเวียดนามบัญญัติว่า “เวียนบ๋าวตั่ง”[12] ตามรูปศัพท์แปลว่า“เรือนอันเป็นที่เก็บรักษา” หรือในภาษาไทยบัญญัติว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันมีสิ่งของมากมาย” จะเห็นได้ว่าชื่อเหล่านี้อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “มิวเซียม” หมายถึง สถานที่เก็บหรือรวบรวมวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ทั้งสิ้น ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาพม่าบัญญัติว่า “เปี๊ยะไต๊”[13] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนสำหรับจัดแสดง” หรือ ภาษามอญบัญญัติว่า “ตั๊กปละ”[14] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนสำหรับจัดแสดง” เช่นกัน ก็ยังคงให้ความรู้สึกว่าเป็นสถานที่สำหรับ “จัดแสดงสิ่งของ” แต่อย่างไรก็ตาม ในภาษาเขมรได้บัญญัติคำว่า “มิวเซียม” ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “สารมณเฑียร”[15] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับความหมายดั้งเดิมของ “มิวเซียม” มากที่สุด

 

ความหมายตามรูปศัพท์ของ “พิพิธภัณฑ์”

ถ้าพิจารณาถึงความหมายตามรูปศัพท์แล้ว “พิพิธภัณฑ์” มิได้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “มิวเซียม” แต่ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า “มิวเซียม” คือ “พิพิธภัณฑ์” และ “พิพิธภัณฑ์” คือ “มิวเซียม” ประกอบกับนิยามของ ICOM จึงทำให้กรอบแนวคิดในการนิยามความหมายให้กับคำว่า “พิพิธภัณฑ์” เปลี่ยนแปลงไปจากยุคแรก ๆ ที่เริ่มปรากฏคำนี้เป็นอย่างมาก

“พิพิธภัณฑ์” ตามรูปศัพท์แปลว่า “สิ่งของนานาชนิด” คำนี้เป็นการสมาสกันระหว่างคำว่า “พิพิธ” ซึ่งแปลว่า นานาชนิด กับคำว่า“ภัณฑ์” ซึ่งแปลว่าสิ่งของ รากศัพท์ของ ”พิพิธภัณฑ์” มาจากภาษาบาลีคือ คำว่า “วิวิธ” กับคำว่า “ภณฺฑ” รวมกันเป็น “วิวิธภณฺฑ” แปลว่า สิ่งของนานาชนิด อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นราว 140 ปีเท่านั้น จากพจนานุกรมไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่ชื่อ “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท – Dictionarium Linguae Thai” แต่งโดยชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว เมื่อปี พ.ศ. 2397ไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่อย่างใด จะมีก็เพียงคำว่า “พิพิธ” ซึ่งหมายถึง สิ่งต่าง ๆ มากมาย[16]

 

“วัดโพธิ์” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นแรกแห่งกรุงสยาม

(ราว พ.ศ. 2337 – 2400)

ถึงแม้จะยังไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในช่วงก่อน พ.ศ.2400 แต่สิ่งก่อสร้างที่ทำหน้าเสมือน “มิวเซียม” ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ตั้งแต่ที่ยังไม่มีคนไทยรู้จักคำว่า “มิวเซียม” และ “พิพิธภัณฑ์” กล่าวคือ ถ้า “มิวเซียม” ในรูปแบบที่ง่ายที่สุดคือ สถานที่สะสมสิ่งของ จัดแสดงสิ่งของ ให้ความรู้ และความเพลิดเพลินใจแล้ว “มิวเซียม” แห่งแรกของประเทศไทยเท่าที่ยังมีหลักฐานเหลืออยู่คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” แม้ว่า “วัดโพธิ์” จะเป็นที่กล่าวถึงกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย[17] หรือเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย[18] แต่อันที่จริงถ้าพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของวัดโพธิ์แล้ว ดูเหมือนว่าจะเข้าได้ดีกับคำว่า “มิวเซียม” หรือ “พิพิธภัณฑสถาน” ได้ด้วยเช่นกัน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2332 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการบูรณะวัดโพธิ์ (สมัยนั้นเรียกวัดโพธาราม) เนื่องจากยามนั้น วัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือได้รับผลกระทบจากสงครามทำให้วัดบางแห่งถูกทิ้งร้างไปบ้าง หรือไม่ก็ขาดการบำรุงรักษาบ้าง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2337จึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ อัญเชิญพระพุทธรูปสำริดกว่า 1,248 องค์ มาจากเมืองเหนือ เพื่อมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ ดังที่ปรากฏเรื่องราวอยู่ใน “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 1” ความว่า

 

“… แลในพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้น เชิญพระพุทธปติมากรอันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพังอยู่ ณะ เมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุกโขไท เมืองลพบุรี เมืองกรุงเก่า วัดศาลาสี่หน้าใหญ่น้อย พันสองร้อยสี่สิบแปด พระองค์ลงมา ให้ช่างหล่อต่อพระสอ พระเศียร พระหัตถ์ พระบาท แปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลาสี่หน้า น่าตักห้าศอก คืบสี่นิ้ว เชิญมาบุณะปติสงขรณเสรจ์แล้ว ประดิษถานเปน พระประธานในพระอุโบสถ บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวปติมากร…”[19]

 

นอกจาก “การสะสม” พระพุทธรูปดังกล่าวแล้ว ที่วัดโพธิ์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตกแต่งบริเวณภายในวัดให้เกิด “ความรื่นรมย์” แก่ผู้มาเยือน โดยขุดสระน้ำ ปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ และ มีการเขียนเรื่องชาดก 550 ชาติ ตำรายา และฤๅษีดัดตน ไว้ตามศาลาต่าง ๆ ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ “ไว้เป็นทาน” แก่ผู้เข้ามาที่วัดโพธิ์[20]  แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของ “การสะสม” ดังที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะให้คนในกรุงเทพฯ มาดูเพื่อชื่นชมความสวยงามของพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว แต่เป็น “การสะสม” เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กล่าวคือ พระพุทธรูปเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากความคิดที่สะสมความสวยงาม แต่เป็นความคิดที่สะสมสิ่งยึดเหนี่ยวจิตของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ในช่วงเวลาแห่งการสร้างชาติ ดังนั้น พระพุทธรูปเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นวัตถุที่จัดแสดงอยู่ที่วัดโพธิ์ แต่เนื่องจากเป็นพระพุทธรูป ดังนั้นจึงยังคงได้รับความเคารพกราบไหว้จากผู้ที่มาวัดโพธิ์อยู่เสมอมา เปรียบเสมือนพระพุทธรูปเหล่านั้นยังคงทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชนอยู่นั่นเอง ซึ่งแตกต่างพระพุทธรูปต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันนี้ ที่ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ โดยได้รับการปฏิบัติเหมือน “วัตถุจัดแสดงชนิดหนึ่ง” แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจเป็นเพราะวัตถุประสงค์ในเรื่องความปลอดภัยของตัวโบราณวัตถุเองก็เป็นได้

คำที่น่าสนใจในจารึกดังกล่าวคือ คำว่า “ไว้เป็นทาน” ซึ่งแสดงว่า รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้วัดแห่งนี้ เป็นสถานที่สำหรับประชาชนได้มีโอกาสเข้ามากราบนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ของประเทศไทยกว่า 1,248 องค์ และได้เข้ามาแสวงหาความรู้ทางด้านวรรณกรรมทางพุทธศาสนาและวรรณกรรมสมัยนิยม โดยผ่านทางโคลงกลอน และภาพจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ คือจากนิทานชาดกและรามเกียรติ์ และยังสามารถเข้ามาศึกษาวิชาแพทย์แผ่นโบราณได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับความรื่นรมย์และความเพลิดเพลินใจ เมื่อเดินชมพรรณไม้และสระน้ำที่สร้างไว้ภายในวัดโพธิ์ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ วัดโพธิ์ จึงสมควรที่จะถูกขนานนามว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของกรุงสยาม”

ถึงแม้จะพ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มาแล้วก็ตาม แต่การทำหน้าที่สะสมความรู้ของวัดโพธิ์นั้น ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ โดยมีพระราชประสงค์คือ ทรงต้องการให้วัดโพธิ์เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน ไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการมีการรวบรวมและเลือกสรรตำรับตำราต่าง ๆ มาชำระแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้บนแผ่นศิลา แล้วนำไปประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ[21] โดยมีเนื้อหาวิชาการต่าง ๆ ที่จำแนกได้พอสังเขปเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้คือ ตำรายา ตำราฉันท์-กลอน-กลบท ประวัติวัดพระเชตุพน สุภาษิต ศาสนา การปกครองอาณาจักรและศาสนจักร วรรณคดี อนามัย เบ็ดเตล็ด และประเพณี[22] หรือ ถ้าจะจำแนกตามหลักวิชาบรรณารักษศาสตร์ระบบดิวอี้แล้ว ก็อาจจำแนกได้เป็น หมวดปรัชญา หมวดพุทธศาสนา หมวดสังคมศาสตร์ หมวดมานุษยวิทยา หมวดสัตววิทยา หมวดการแพทย์ หมวดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม และ หมวดวรรณกรรม[23] ดังนั้น ถ้าอาศัยนิยามของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในปัจจุบันแล้ว วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์ ถือได้ว่า เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของกรุงสยาม” ถึงแม้ว่าในสมัยนั้น ยังไม่มีคำว่า “มิวเซียม” หรือ“พิพิธภัณฑ์" ใช้กันก็ตาม และที่สำคัญคือ วัดโพธิ์เปิดเป็นที่สาธารณะ ซึ่งจะต่างจาก “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ที่เป็น “พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

 

 

“พระที่นั่งราชฤดี” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 2 แห่งกรุงสยาม

(ราว พ.ศ. 23?? – 2400)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเสด็จประทับเป็นที่รโหฐาน และจัดตั้งสิ่งของต่างๆ ขึ้นที่ริมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางด้านตะวันออก ชื่อว่า “พระที่นั่งราชฤดี”[24] จึงกล่าวได้ว่า พระที่นั่งราชฤดีนี้คือ “พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 2 แห่งกรุงสยาม”

เมื่อเซอร์จอห์น เบาริง อัครราชฑูตอังกฤษเดินทางมาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี เมื่อ พ.ศ.2398 รัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ที่พระที่นั่งราชฤดีแห่งนี้[25] หลังจากที่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งราชฤดีแล้ว จึงได้บันทึกสิ่งที
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 20 มีนาคม 2556