เยาวราช: คุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม

หากพูดถึงเยาวราช หลายคนจะนึกถึงภาพบรรยากาศที่คราคร่ำไปด้วยสินค้าและผู้คนมากมายโดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ยิ่งช่วงใกล้เทศกาลสารทจีน หรือตรุษจีน ตลาดเก่าเยาวราชจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้ รวมไปถึงกระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป เทียน เพื่อเตรียมการสำหรับพิธีไหว้บรรพบุรุษ



ในยามค่ำคืน ถนนสายเยาวราชยังเต็มไปด้วยกลิ่นคละคลุ้งของอาหารหลากชนิด หลากรสชาติ ที่ตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวของถนนสายนี้ ตั้งแต่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว กระเพาะปลา ลูกเกาลัค จนถึงหูฉลาม รังนก ไก๋ตุ๋นยาจีนในภัตตาคารอันหรูหรา ทำให้ถนนสายเยาวราชแห่งนี้มีเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาชื่นชมและดื่มด่ำกับบรรยากาศแบบเดินไป ชิมไปได้เป็นอย่างดี



นอกจากถนนสายเยาวราชจะเป็นย่านธุรกิจที่มีเงินไหลเวียนเข้าออกอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวันแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังถือเป็นชุมชนที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่อาศัยมากที่สุด ตั้งแต่การอพยพมาจากโพ้นทะเลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่โดดเด่น ต่างไปจากกลุ่มสังคมอื่นในเมือง อีกทั้งการรวมกลุ่มในรูปขององค์กรการค้า และองค์กรทางสังคม โดยผ่านแซ่ ผ่านความเป็นท้องถิ่นเดียวกัน ผ่านสำเนียงพูด ผ่านองค์กรการกุศล ทำให้คำสั่งสอน ความเชื่อ ประเพณี ธรรมเนียม พิธีปฏิบัติถูกถ่ายทอดมายังชนรุ่นหลังรุ่นแล้วรุ่นเล่า



วัดจีนและศาลเจ้าจีนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อ เป็นที่พึ่งด้านจิตใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันทางสังคม ของชาวจีน โพ้นทะเลที่อพยพเข้ามา ตลอดรวมถึงเป็นองค์กรการกุศลสงเคราะห์ ที่ช่วยเหลือคนยากจนและผู้ประสบภัยต่างๆ ดังเช่น มูลนิธิเทียนฟ้า ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. 227 สามารถดำรงอยู่ได้จากการบริจาคของพ่อค้า นักธุรกิจ รวมทั้งยังเปิดเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย ทั้งทางแผนจีนและแผนปัจจุบัน



อนึ่ง การเกิดขึ้นของศาลเจ้ายังแฝงไปด้วยความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ มากมายที่ถูกเล่าขานและปฏิบัติต่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การเคารพนับถือเทพเจ้า การกราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่ปกปักรักษาให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข การกราบไหว้บูชาเทพทั้งหลาย ตลอดจนเครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ในการบูชา แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมาย นอกจากนี้ผลงานทางด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมได้สะท้อนพื้นฐานทางความเชื่อ และความเชื่อมโยงสอดคล้องกับตำนานในประวัติศาสตร์ของชาวจีน



หากพิจารณาในแง่คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของ UNESCO แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนย่านเยาวราชถือเป็นชุมชนที่มีคุณค่ามากมายในหลายแง่มุม อันได้แก่ คุณค่าทางวัตถุ (Materialistic Value) ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมายผ่านทางวัตถุต่างๆ เช่น รูปปั้นมังกรเป็นตัวแทนของความเป็นชาย โคมไฟสื่อถึงแสงที่ส่องสว่างในการส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์



คุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historical Value) หลักฐานจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยริมถนนและในตรอกซอกซอยสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน และวิถีชีวิตตั้งแต่ครั้งชาวจีนอพยพเข้ามาพร้อมกับเสื่อผืนหมอนใบในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีระยะเวลายาวนานนับร้อยปี คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึก (Spiritual Value) ซึ่งปรากฏในคำสั่งสอนและการปฏิบัติที่มีสืบทอดกันมายาวนาน ทำให้ชาวจีนมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือ มีความกตัญญู รู้คุณคน ขยัน พากเพียร หนักเอาเบาสู้ ประหยัด มัธยัสถ์ อดออม



คุณค่าทางศิลปะ (Artistic Value) และ คุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) ที่ดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก ถูกถ่ายทอดผ่านช่าง และศิลปินที่บรรจงสร้างงานศิลปะต่างๆ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง การออกแบบทางสถาปัตยกรรม ที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและตำนานทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวัฒนธรรม (Culture Value) ที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดออกมาผ่านธรรมเนียม ปฏิบัติ รวมถึงคติธรรม คำสอน การใช้ชีวิตประจำวันที่ยึดถือกันมาจวบจนทุกวันนี้ เพื่อความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพื่อลูกหลานได้อยู่รอดปลอดภัย



ดังนั้นชุมชนเยาวราช จึงถือได้ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ สังคม และวัฒนธรรม โดยสะท้อนผ่านทางธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี พิธีกรรม คำสอน ความเชื่อต่างๆ สถาปัตยกรรม ฯลฯ



การเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นศูนย์รวมอีกจุดหนึ่งที่แสดงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมภายในชุมชน ดั่งคำที่ว่า "สายสัมพันธ์ไทยจีน ถิ่นการค้าร่วมสมัย ไชน่าทาวน์เมืองไทย แหล่งประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจใหญ่รัตนโกสินทร์" จากการพูดคุยกับคุณรณวัฒน์ เอมะสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร คุณปรีดา ปรัตถจริยา และคุณปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ วิทยากรชาวจีนในท้องถิ่น

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ และความพร้อมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทำให้ยังคงมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ อยู่บ้าง เช่น ด้านงบประมาณบริหารจัดการ กิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสามารถถ่ายทอดและจัดแสดงเรื่องราวในอดีตได้เพียงบางส่วน

แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือชาวจีนในเยาวราชได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอด เรื่องราวในอดีตเพื่อเป็นเนื้อหาของนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ มิเพียงเท่านั้น คุณค่าทางวัฒนธรรมและความรู้นั้น ยังคงแฝงอยู่ตามตรอกซอกซอย ในที่ต่างๆ ของย่านเยาวราช ตลอดรวมถึงผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีก็คือ ผู้คนที่อยู่ในชุมชนที่สืบทอดความรู้ ความเชื่อ ผ่านการบอกเล่าและการกระทำกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เรื่องที่น่ายินดีสำหรับพิพิธภัณฑ์ก็คือ ชาวจีนเยาวราชมีความตั้งใจที่จะร่วมบริจาคเงินก้อนใหญ่ในการขยาย "พิพิธภัณฑ์เยาวราช" ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องราวของชาวจีนต่อไปในอนาคต



ปัจจุบันแม้เยาวราชจะเป็นถนนที่ทุกคนรู้จักกันดี มีความรุ่งเรืองทางด้านธุรกิจ การค้า และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์เมืองไทย ศิลปวัฒนธรรมของชาวจีนที่เกิดจาก การถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคนนั้นทรงคุณค่า แต่ขณะเดียวกันบางสิ่งบางอย่างกำลังจะจางหายไป หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย การอนุรักษ์ รักษาศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามเพื่อการเรียนรู้ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะสร้างคุณค่า ความหมาย และความงาม เพื่อสืบสานให้แก่ชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป



เอกสารและหนังสืออ้างอิง

ต้วนลี่เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ . (2543). ความเป็นมาของวัดจีนปละศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา : กรุงเทพ ฯ.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2540). "การรวมกลุ่มของจีนสยาม".ศิลปวัฒนธรรม , ปีที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ หน้า 104 - 109.

* กุมารี ลาภอาภรณ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

 

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 22 มีนาคม 2556