การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย ในบริบทของนโยบายรัฐ


การพิจารณาถึงประวัติการก่อตัวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย พยายามที่จะสื่อให้เห็นถึงเงื่อนไข และบริบทบางประการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการก่อเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอยู่ด้วยกันหลายรูปลักษณ์ ซึ่งไม่อาจที่จะแบ่งช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการเหลื่อมซ้อนในเรื่องของเวลาอยู่มาก แต่ก็พยายามที่จะลำดับภาพให้เห็นหลักเขตเด่น ๆ ในเชิงโครงสร้างว่า ในห้วงเวลาประมาณหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น “นโยบายของรัฐ” ผ่านหน่วยงานราชการและกลไกทางการต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจแก่การเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของในท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์การเรียนรู้ ขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค และในระดับชุมชนในท้องถิ่นอย่างไร  วัตถุประสงค์ของการนำเสนอก็เพื่อให้เป็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ระดับมหภาค ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรายละเอียดเฉพาะกรณีที่จะนำเสนอในส่วนต่อไป

 
การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในระยะเริ่มแรก: พิพิธภัณฑสถานในวังและวัด

เป็นการยากที่จะระบุอย่างชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในไทยเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด หากเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในความหมายที่เกี่ยวพันกับมิติของพื้นที่ ซึ่งหมายถึงพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ แล้ว มีประวัติย้อนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหัวเมืองมณฑลอยุธยาได้มีความเคลื่อนไหวในเรื่องพิพิธภัณฑสถานกล่าวคือ พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ผู้ซึ่งได้รับแนวคิดในเรื่องการสะสมอนุรักษ์สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงไว้ในแผ่นดินมิให้สูญสลายหายไป จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น พระยาโบราณราชธานินทร์เป็นผู้หนึ่งที่สนใจด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และเป็นผู้ที่ได้รวบรวมเก็บรักษาศิลปวัตถุและโบราณวัตถุในพื้นที่ไว้เป็นจำนวนมาก และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานขึ้นมา ณ พระราชวังจันทรเกษม เรียกว่า “โบราณพิพิธภัณฑ” เมื่อปี พ.ศ. 2445 28 ปี หลังก่อตั้ง “มิวเซียม” ณ ศาลาสหทัยสมาคม ต่อมาเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จทอดพระเนตร และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายสิ่งของมาจากโรงม้าพระที่นั่งไปจัดแสดงที่พลับพลาจตุรมุข และสร้างระเบียงตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและตะวันออก สำหรับจัดตั้งศิลาจารึกและประติมากรรมศิลาตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า “อยุธยาพิพิธภัณฑ”[1] พิพิธภัณฑสถานประจำท้องถิ่นที่เกิดขึ้นแห่งแรกนี้ กลายเป็นแบบอย่างของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ให้กับสมุหเทศาภิบาลอื่น ๆ ในเวลาต่อมา[2]

การรับรู้ความหมายและแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ในยุคนั้น จึงเป็นเรื่องของการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เป็น “ของมีค่าและของแปลก” เพื่อนำมาจัดแสดง การจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ได้ต้องมี “ของ” ก่อน ซึ่งแหล่งที่มีของมีค่าหรือโบราณวัตถุมากที่สุดในท้องถิ่นก็คือวัด เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแต่อดีต พุทธศาสนิกชนไทยมักจะบริจาคของให้วัด วัดจึงเป็นที่รวมของศิลปวัตถุและโบราณวัตถุในท้องถิ่น สิ่งของเครื่องใช้ ศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น สมุหเทศาภิบาลจึงไปหาวัดสำคัญที่มีการเก็บสะสมของมีค่าไว้แล้วสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ อาทิ วัดพระปฐมเจดีย์ วัดพระธาตุหริภุญไชย เป็นต้น[3] นอกจากนี้เป็นได้มากว่าการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในหัวเมืองต่าง ๆ อีกนัยหนึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนความพยายามของผู้ปกครองไทย ที่ต้องการแสดงถึงการเป็นชาติที่มีอารยะในยุคที่กำลังเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยม

เมื่อส่วนกลางส่งต่อแนวคิดและวิธีการจัดการพิพิธภัณฑ์ผ่านผู้ปกครองในท้องถิ่นเข้ามายังวัดสำคัญ ๆ ที่มีของมีค่าสะสม การก่อตัวและแพร่กระจายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในไทยในระยะแรกจึงเกิดขึ้นในวัด และได้แพร่ขยายต่อไปทั่วประเทศ อาทิ พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครปฐม (พ.ศ. 2454)[4] พิพิธภัณฑสถานวัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน (พ.ศ. 2470)[5] พิพิธภัณฑสถานวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ. 2472)[6] พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (พ.ศ. 2478)[7]  ศรีธรรมราชพิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2480)[8] พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก (พ.ศ. 2480)[9] พิพิธภัณฑ์วัดโบสถ์ จังหวัดสิงห์บุรี (พ.ศ. 2482)[10] พิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2483)[11] พิพิธภัณฑ์วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา (พ.ศ. 2497)[12] เป็นต้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์วัดเหล่านี้ ต่อมาได้ถูกประกาศเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2504 ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ด้านสังคมวัฒนธรรมและเงื่อนไขทางการเมือง ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าที่จะบรรยายในที่นี้ ทำให้เกิดนโยบายพัฒนาจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์วัฒนธรรมขึ้นในท้องถิ่น นโยบายการพัฒนาวัดของกรมศาสนาก็เป็นนโยบายหนึ่ง โดยการประกาศใช้ปี พ.ศ.2507 และปรับปรุงร่างโครงการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2513 ความหมายของการพัฒนาวัดคือ การปรับปรุงสภาพวัดและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด เพื่อสนับสนุนให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน เกณฑ์การจัดวัดเข้าสู่ทำเนียบ “วัดพัฒนาตัวอย่าง” การพัฒนาด้านศาสนวัตถุเป็นหนึ่งในหน้าที่ของวัดที่ต้องทำ พันธกิจหนึ่งก็คือ การพัฒนาเขตสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งเป็นบริเวณที่วัดกันไว้เพื่อสงเคราะห์แก่ประชาชน  การสร้างแหล่งเรียนรู้ของชุมชนนอกเหนือจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมและห้องสมุดแล้ว พิพิธภัณฑ์ก็อยู่ในขอบข่ายงานนี้[13]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2525 กรมการศาสนาได้ประกาศโครงการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยให้เริ่มเปิดดำเนินการภูมิภาคละหนึ่งแห่ง จำนวน 4 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ฯ แห่งแรกคือ ที่วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม[14] ชื่อว่า “ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ซึ่งวัดมหาชัยก็มีความพร้อมอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เนื่องจากเจ้าอาวาสได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2513[15]

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในสถานศึกษา

ราวต้นทศวรรษที่ 2520 เกิดปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นระลอกใหม่ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในสถาบันการศึกษา สืบเนื่องมาจากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) โดยหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งสวช. ตามพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2522 แล้ว ได้จัดให้มีการก่อตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม” ขึ้นในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาวัฒนธรรมของชาติดำเนินไปได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ โดยให้พิจารณาจัดตั้งขึ้นในสถาบันที่มีความพร้อมโดยเฉพาะควรเป็นสถาบันการศึกษา และมีบุคลากรพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้[16]

ต่อมาในปี 2524 ได้มีการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม พ.ศ. 2523 และประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2524 แทน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งตามระเบียบนี้มีผลให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วัฒนธรรม” และเพื่อให้ทราบว่าศูนย์วัฒนธรรมนั้น ๆ ตั้งอยู่ที่ใด การเขียนชื่อศูนย์วัฒนธรรม จึงใช้คำว่า ศูนย์วัฒนธรรมขึ้นต้น ตามด้วยจังหวัดหรืออำเภอ แล้วตามด้วยชื่อสถานศึกษาที่จัดตั้งเป็นศูนย์ฯ นั้น ๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี วิทยาลัยครูกาญจนบุรี เป็นต้น[17]

ที่มาของการใช้คำว่า “ศูนย์วัฒนธรรม” เนื่องมาจากสวช.พยายามจะนิยามความหมายและหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมให้แตกต่างจากความหมายพิพิธภัณฑ์ และสภาพของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอยู่ในตอนนั้นที่เป็นสถานที่หรือเป็นคลังสะสมวัตถุสิ่งของ ละเลยการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของประชาชน มุ่งรับใช้นักวิชาการมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้ง โดยศูนย์วัฒนธรรมนอกจากจะจัดแสดงของ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของจริงแต่อาจจะจำลองมา ทำให้ไม่ต้องผูกพันกับการมีคลังสะสมของและงานอนุรักษ์ และยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสารที่ทางศูนย์วัฒนธรรมต้องการจะสื่อ[18]

ในปี พ.ศ.2531 ได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2531 ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20กันยายน พ.ศ. 2531 โดยมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอำเภอขึ้นด้วยในอำเภอต่าง ๆ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม[19] ส่วนใหญ่จัดตั้งที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ เพื่อทำหน้าที่ทางด้านวิชาการในการเก็บข้อมูล วิจัย ศึกษา พัฒนา ส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมของท้องถิ่นต่าง ๆ ในอำเภอ[20]

ศูนย์วัฒนธรรมมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2531 ดังนี้

1)  ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรม

2)  อนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่วัฒนธรรม

3)  ฝึกอบรมและสนับสนุนการฝึกอบรมวิทยากรและบุคลากรวัฒนธรรม

4)  จัดนิทรรศการด้านวัฒนธรรมและหรือจัดดำเนินการหอวัฒนธรรม

5)  ประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานวัฒนธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน

6)  หน้าที่อื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจาก สวช. คณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัด หรือคณะกรรมการวัฒนธรรมอำเภอแล้วแต่กรณี[21]

แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะพยายามส่งเสริมและพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมมาโดยตลอด โดยมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรมหลายครั้ง และมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้มี 77 ศูนย์ครบทุกจังหวัด[22] แต่ศูนย์วัฒนธรรมกลับไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขหลายประการ ศูนย์วัฒนธรรมกลายเป็น “งานฝาก” ของสถาบันการศึกษา บุคลากรที่จะมารับผิดชอบโดยตรงไม่มี มีงบประมาณสนับสนุนน้อยมาก[23] สถานที่ที่จะจัดเป็นศูนย์วัฒนธรรมต้องอาศัยห้องเรียน ซึ่งบางแห่งมีปัญหาเนื่องจากจำนวนห้องเรียนไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอนอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงโครงสร้างของระบบราชการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการ[24] แม้ตอนก่อตั้งเริ่มแรก ศูนย์วัฒนธรรมพยายามจะนิยามความหมายของตนให้แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑสถานของรัฐที่เป็นเสมือนคลังสะสมของ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่หยุดนิ่ง ไม่มีชีวิต มีคนไปใช้บริการค่อนข้างน้อย แต่กาลต่อมาปรากฏว่าศูนย์วัฒนธรรมไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : ปฏิกิริยาต่อกระแสโลกาภิวัตน์

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเริ่มได้รับการกล่าวถึงขึ้นมาอีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2530 โดยความเคลื่อนไหวงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในครั้งนี้ไม่ได้มาจากกลไกภาครัฐ แต่เป็นกลไกนอกภาครัฐคือ ชาวบ้านและนักวิชาการ ปัญญาชนชั้นนำ กลุ่มของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งเข้าไปมีส่วนกระตุ้นและช่วยเหลือชาวบ้านในการตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รู้จักตนเอง โดยมีแนวคิดว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมิใช่เรื่องของอาคารสถานที่และบรรดาโบราณวัตถุแต่เพียงอย่างเดียวใด หากจะต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาทั้งในด้านประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม และชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน ทั้งนี้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคมและชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นจะเป็นตัวตั้งหรือเป็นสิ่งกำหนดว่า จะนำโบราณวัตถุชนิดใดมาแสดง ทิศทางและหัวข้อในการแสดง และเป็นสิ่งที่แสดงลักษณะเฉพาะที่มักเรียกกันว่า “เอกลักษณ์ท้องถิ่น” ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การแลเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม เมื่อมีการนำเอาเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละแห่งมาเปรียบเทียบกัน[25]

โดยเนื้อหาจะเน้นองค์รวม คือมองเห็นชุมชนเชื่อมโยงกันหลาย ๆ ส่วน กลายมาเป็นท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นคืออาณาบริเวณแห่งหนึ่งที่มีมนุษย์ พืช สัตว์ ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวเองกับสภาพแวดล้อมเพื่อมีชีวิตอยู่ร่วมกัน กระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทำให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นที่มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ที่จะเข้าใจรูปแบบวัฒนธรรมดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและลุ่มลึก คงไม่มีใครดีไปกว่าคนในท้องถิ่นนั้น การดำเนินการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในรูปแบบนี้ จึงยึดความต้องการจากคนในท้องถิ่นมาก่อน และการได้มาซึ่งเนื้อหาในเรื่องที่จะแสดงนั้นนับเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ

ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองวัฒนธรรมอย่างหยุดนิ่งว่าจะต้องอนุรักษ์ แต่มองในลักษณะเป็นการเคลื่อนไหว พิพิธภัณฑ์จะต้องเล่าเรื่องอดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย เพื่อให้เห็นพัฒนาการของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร[26]

แนวคิดดังกล่าวเป็นการหวนหาความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตอบโต้ต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ที่พยายามเปลี่ยนให้โลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับท้องถิ่นในการสร้างความมีตัวตนของตนเองขึ้นผ่านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองจากชาวบ้านและนักวิชาการในท้องถิ่น ที่ต้องการแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง ที่แตกต่างไปจากภาพของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นฉบับทางการที่ผลิตมาจากศูนย์กลาง

ตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดนี้ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จังหวัดราชบุรี ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2535 โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยศิลปากร[27] เป็นตัวอย่างแรก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดดังกล่าว และกลายเป็นแบบอย่างการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดนี้ที่เกิดขึ้นตามมา อาทิ พิพิธภัณฑ์วัดจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ (พ.ศ. 2538)[28] พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม (พ.ศ. 2539)[29] พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี (อยู่ในระหว่างดำเนินการ) เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเวลานี้ยังไม่พ้นที่จะเกิดขึ้นจากพระสงฆ์และวัด ในขณะที่สังคมมักเชื่อกันว่าวัดได้ถูกลดทอดบทบาทจากการเป็นศูนย์กลางในการสร้าง แลกเปลี่ยน และพัฒนาชีวิตทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมากว่าศตวรรษแล้ว

ในขณะเดียวกันการจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของหน่วยงานต่าง ๆ ก็มีส่วนทำให้บรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น อาทิ งานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (พ.ศ. 2539) “สัมมนาเชิงปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ (พ.ศ. 2539) “สัมมนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนบน” จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ (พ.ศ. 2540) “สัมมนาพิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษใหม่” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2544) เป็นต้น การสัมมนาดังกล่าวก่อให้เกิดบรรยากาศที่จะกระตุ้นให้นักวิชาการทั้งในส่วนกลาง นักวิชาการท้องถิ่น สถาบันการศึกษา รวมถึงชุมชน มีความตื่นตัวและสนใจงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น

 

อำนาจของท้องถิ่นในการจัดการพิพิธภัณฑ์

พลังของภาคประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่องานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อสังคมไทยมีการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญที่ยอมรับสิทธิของชุมชนมากขึ้น ทั้งพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2537 สาระสำคัญคือการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น โดยหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นข้อหนึ่งระบุไว้คือ บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2540 ตามมาตรา 46 ที่ให้สิทธิแก่ท้องถิ่นในการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตประเพณีท้องถิ่นด้วยตนเอง บริบทที่เปลี่ยนไปนี้เปิดช่องทางให้กับการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในรูปของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้สะดวกขึ้น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลายเป็นองค์กรที่ต้องเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปรไป ความอยากมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นรวมทั้งสำนึกร่วมของชุมชนที่อยากเป็นตัวของตัวเองนั้นมีมากจนกลายเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งเกิดขึ้นจากการได้รับงบสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้การให้งบประมาณสนับสนุนโครงการกิจกรรมต่าง ๆ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีงบประมาณหมวดที่เรียกว่าเงินอุดหนุน โดยการตั้งงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนนี้ ไม่ได้มีการกำหนดวงเงินเอาไว้ แต่คำนึงถึงฐานะการคลังขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และโครงการกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายประจำปี[30] พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจากเทศบาลตำบล เช่น ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ได้รับงบประมาณอุดหนุนการดำเนินงานจากเทศบาลตำบลกะทู้ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู จังหวัดสตูล ได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างอาคารจัดแสดงจากเทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ จังหวัดสงขลา ที่ดำเนินงานและบริหารจัดการโดยเทศบาลนครสงขลา[31]

ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางแห่งที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นอกจากจะการสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในท้องถิ่นแล้ว ยังคำนึงถึงผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวตามกระแสส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกระแสหลักของสังคมไทยในเวลานี้ อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู ชั้นล่างของอาคารทำเป็นศูนย์บริการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลกำแพง  พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์เป็นศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา เหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้คือ หน้าที่ข้อหนึ่งในบทบัญญัติตามกฎหมายของเทศบาลนคร คือการส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาล

หน้าที่อีกประการหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลข้อหนึ่งคือ ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้อบต.เข้าไปผูกพันกับงานด้านสร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนด้วย นั่นคือการจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542  “ศรช.” ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกลักษณะหนึ่ง โดยมี อบต.เป็นผู้กำกับดูแล และมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเป็นศูนย์กลางจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนในชุมชน เป็นสถานที่เสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิทยาการ ตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน

นอกจากนี้ยังมีกลไกใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐและนอกภาครัฐ เข้ามาเป็นเฟืองจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างแหล่งเรียนรู้ในรูปของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้แพร่กระจายลงสู่ท้องถิ่น อาทิ โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2545 อันเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มูลนิธิชุมชนไท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรชุมชนเมือง โดยเมืองน่าอยู่นั้นจะต้องมีลักษณะเป็นองค์รวมที่หลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกายภาพ[32]  ซึ่งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ “เมืองน่าอยู่” พิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ อาทิ พิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ชุมชน อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น[33]

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ได้มีแนวนโนบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมออกมา ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของรัฐ โดยส่วนไทยนิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดตั้ง “หอวัฒนธรรมนิทัศน์” ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 เพื่อสนองตอบนโยบายการกระจายอำนาจการบริหารงานวัฒนธรรม การขยายเครือข่ายการดำเนินงานวัฒนธรรมให้แพร่หลาย[34] โดยสวช. พยายามให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนโยบายที่ว่า

“…มีแนวนโยบายในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งต้องเกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นนั้นๆ และให้ท้องถิ่นได้รับผิดชอบการศึกษา การจัดตั้งและบริหารงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อเป็นแหล่งกลางในการเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม….”[35]

สวช.พยายามสร้างให้หอวัฒนธรรมนิทัศน์ เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมและถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยการสร้างความมั่นใจให้คนในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้รวมตัวกันทำการศึกษาค้นคว้า เก็บข้อมูล และนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจในการดำเนินชีวิตของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น[36]

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในรูปแบบของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ จึงเป็น “แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต” อันสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตราที่ 25 ที่รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬา และนันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งเรียนรู้อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ[37]

ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2544 เครือข่ายหอวัฒนธรรมนิทัศน์ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 44 แห่ง มีทั้งที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เช่น หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา หอวัฒนธรรมนิทัศน์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก จังหวัดเชียงราย หอวัฒนธรรมนิทัศน์ลุ่มน้ำโขง จังหวัดนครพนม เป็นต้น บางแห่งเป็นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด หรือเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเข้าร่วมโครงการอบรมผู้บริหารหอไทยนิทัศน์ จึงถือเป็นเครือข่ายหอวัฒนธรรมนิทัศน์ด้วย เช่น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดตราด โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง จังหวัดสมุทรปราการ พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม จังหวัดกระบี่ หอวัฒนธรรมบ้านละไม เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดฝั่งคลอง (ไทยพวน) จังหวัดนครนายก เป็นต้น[38]

ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชม เป็นอีกโครงการของสวช. ที่เชื่อมโยงกับงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โครงการดังกล่าวออกมาในปี พ.ศ. 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสืบค้น การถ่ายทอด การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหนึ่งในหกส่วนของศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมสายใยชุมชนนี้ สวช.ได้ตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากที่ตั้งศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนครบทุกจังหวัดแล้ว จะเตรียมขยายศูนย์ให้ครบทุกอำเภอ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มจัดตั้งแล้ว 5 ศูนย์ ใน 5 อำเภอของจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี และเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2548 เตรียมขยายไปทุกตำบล[39] ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนงานที่สวช.ตั้งไว้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากนี้จะกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย


 

[1] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532), หน้า 132.

[2] สมลักษณ์  เจริญพจน์, “พัฒนาการพิพิธภัณฑสถานตามแนวพระราชดำริ”, ใน พระมหากษัตริย์ไทยกับการพิพิธภัณฑ์, (กรุงเทพฯ: บริษัทกราฟิคฟอร์แมท(ประเทศไทย) จำกัด, 2539), หน้า 58.

[3] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 147,174.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 147.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 174.

[6] สมลักษณ์  เจริญพจน์, เรื่องเดิม, หน้า 78.

[7] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 209.

[8] พระสุทธิสารสุธี ศรีสงคราม, วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช, (มปพ.มปป.).

[9] สมลักษณ์  เจริญพจน์, เรื่องเดิม, หน้า 85.

[10] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 138.

[11] กรมศิลปากร, ประวัติวัดมัชฌิมาวาสและนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส(ภัทรศีลสังวร), (เอกสารประกอบเนื่องในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิสุทธิคุณ(เลี่ยม อลีนเถร) และพระราชศีลสังวร(ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส วันที่ 28 สิงหาคม 2525).

[12] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 195.

[13] กรมการศาสนา กองพุทธศาสนสถาน, วัดพัฒนา ’26, ( กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, 2526), หน้า 191–192.

[14] กรมการศาสนา กองพุทธศาสนสถาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 40–41.

[15] ข้อมูลจากการประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ระหว่างวันที่ 27–28ธันวาคม 2546 ณ จังหวัดมหาสารคาม.

[16] ดำรง ทองสม, “ศูนย์วัฒนธรรม”, ใน สู่โฉมหน้าใหม่ของวัฒนธรรมกับการพัฒนา, (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 2532), หน้า 91–92.

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 91.

[18] หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู, รายงานผลการสัมมนาเรื่อง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมในฐานะพิพิธภัณฑ์เมือง, (หอประชุมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ วันที่ 18–20 สิงหาคม 2536), หน้า 15–17.

[19] ดำรง  ทองสม, เรื่องเดิม, หน้า 92.

[20] พยุงศักดิ์  จันทรสุรินทร์, วิสัยทัศน์การดำเนินงานวัฒนธรรม, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2539), หน้า 27.

[21] ดำรง  ทองสม, เรื่องเดิม, หน้า 92.

[22] พยุงศักดิ์  จันทรสุรินทร์, เรื่องเดิม, หน้า 26.

[23] หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู, เรื่องเดิม, หน้า 12–13.

[24] ข้อมูลจากการประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคใต้) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธุ์ 2547 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช.

[25] ศรีศักร  วัลลิโภดม, “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน”, ใน เอกสารประกอบการสัมมนา พิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษใหม่, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544), หน้า 2.

[26] ศรีศักร  วัลลิโภดม. เอกสารรายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. (วันที่ 7-9 กันยายน 2539  จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์, 2539), หน้า 4.

[27] มหาวิทยาลัยศิลปากร, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ, (กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535).

[28] ข้อมูลจากการสัมมนาเนื่องในวาระขึ้นรอบปีที่ 5 พิพิธภัณฑ์จันเสน เรื่อง ความรู้และความเข้าใจใหม่จากการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ณ ศาลาประชาชนวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ วันที่ 28 ตุลาคม 2543 ณ ศาลาประชาชนวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์.

[29] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), สังคมและวัฒนธรรมชุมชนคนยี่สาร, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2545), หน้า 45.

[30] ว.สุวรรณ (นามแฝง), ไขปัญหาอบต, (ก
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 24 มิถุนายน 2556