ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม: ประวัติศาสตร์(ที่อยาก)บอกเล่า

หากพูดถึงข้าวของที่หลายๆ วัดเก็บดูแลรักษา และเก็บสะสมทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจที่จะเก็บ อาจมีรายชื่อของผ้าห่อคัมภีร์อยู่ใน ลำดับต้นๆ ประโยชน์ใช้สอยของผ้าห่อคัมภีร์ก็ตรงตามชื่อ คือเป็นผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ และหนังสือธรรม เพื่อปกป้องพระธรรมคำสอนตามพระพุทธศาสนา ที่บันทึกอยู่บนเนื้อวัสดุที่บอบบางไม่ให้เกิดริ้วรอยความเสียหาย  วัสดุที่ใช้ทำผ้าห่อคัมภีร์นั้นมีหลากหลาย แตกต่างกันทั้งฐานะของผู้สร้าง พื้นที่  และยุคสมัย

ในสมัยที่การพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย คัมภีร์ใบลานมีบทบาทมากในการเผยแผ่พุทธศาสนา ผู้ชายสามารถบวชเรียนได้ มีโอกาสอุทิศตนตามหลักศาสนา ส่วนผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญที่จะทำนุบำรุงศาสนาในทุกๆ ด้าน เช่น การเป็นโยมอุปปัฏฐายิกา  การทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ  การสร้างศาสนสถาน-วัตถุ ฯลฯ  การทำผ้าห่อคัมภีร์ก็เป็นโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ด้วยการอุทิศแรงกายและความตั้งใจจริงในการถักทอ และตัดเย็บผ้าห่อคัมภีร์ให้เป็นเครื่องปกป้องพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา นอกจากคุณค่าทางด้านพุทธศาสนาแล้ว ผ้าห่อคัมภีร์ยังสะท้อนให้เห็นศรัทธาความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คน

โครงการอบรม/สร้างเวทีเพื่อสร้างพลังท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พ.ศ. 2554 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม และชาวบ้าน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี  ในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ และได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากอาจารย์ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าซึ่งศึกษาผ้ามาเป็นเวลากว่า 20 ปี มาร่วมกันรื้อค้น สำรวจ และบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม  ขณะเดียวกันอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และชาวชุมชนวัดคงคารามเกี่ยวกับผ้าชนิดต่างๆ (ที่เราแทบจะไม่มีความรู้ด้านนี้เลย) เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ ความสำคัญ และคุณค่าที่แฝงอยู่เบื้องหลังของผ้า  ผ้ากว่า 200 ผืนที่เราแก้ห่อออกมา จึงไม่ได้มีเพียงร่องรอยความชำรุดความเก่าคร่ำที่ปรากฏให้เห็นบนผืนผ้าแต่แฝงให้เห็นร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชุมชนที่สัมพันธ์กับบ้านเมือง รอบข้าง และพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย





ผ้าห่อคัมภีร์ที่พบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม มีมากมายหลายชนิด และมีแหล่งผลิตจากหลายประเทศ เรียกได้ว่าเป็นผ้านานาชาติ แต่ที่มีจำนวนมากที่สุด คือผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากประเทศอินเดีย รองลงมาคือผ้าพิมพ์จากญี่ปุ่น ผ้าพื้นเมือง ผ้าจากยุโรป อินโดนีเซียและจีน มีทั้งแบบมีโครงไม้ไผ่และแบบที่ไม่มีโครงไม้ไผ่ ผ้าแบบที่มีโครงไม้ไผ่นี้เป็นผ้าที่ทำขึ้นสำหรับใช้ห่อคัมภีร์โดยเฉพาะ โครงไม้ไผ่จะช่วยรับน้ำหนักคัมภีร์ที่มีน้ำหนักมากได้ 

อาจารย์ประภัสสร บรรยายให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของผ้านานานาชนิด ที่น่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกับผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม ให้กับทีมพิพิธภัณฑ์และชาวชุมชนวัดคงคารามว่า  วัดคงคารามมีผ้าที่ในอดีตถือว่าเป็นผ้าชั้นสูงอยู่จำนวนมาก  ซึ่งผ้าชั้นสูง ผ้าชั้นดีแบบนี้พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานให้เท่านั้น  เพราะข้าราชการสมัยก่อนไม่ได้รับเงินเดือนประจำ ดังนั้นค่าตอบแทนความดีความชอบ จึงเป็นผ้าบ้าง ของใช้มีค่าบ้าง มีหลักฐานว่ามีการให้ผ้าลักษณะพิเศษที่ใช้เฉพาะราชสำนักและจะพระราชทานให้เป็นค่าเบี้ยหวัดข้าราชการเท่านั้น เช่น ผ้าสมปัก  

ผ้าสมปักเป็นเครื่องแบบของข้าราชการไทยสมัยก่อน คำว่าสมปักเป็นมาจากคำว่าสมพจ (ภาษาเขมร แปลว่าผ้านุ่ง) มี 2 ชนิดคือ สมปักปูม และสมปักลาย สมปักปูม เป็นผ้าไหมทอแบบมัดหมี่ สมปักลายเป็นผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากอินเดีย ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามก็พบผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะสมปักปูม หรือเรียกสั้นๆ ว่าผ้าปูม

ผ้าปูมที่พบในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามมีหลายสี ทั้งสีม่วง สีแดง-ชมพู และสีเขียวส่วนผ้าสมปักลาย กษัตริย์จะพระราชทานให้กับข้าราชการสำหรับนุ่งเข้าเฝ้า ในจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วิหาร รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม มักจะมีภาพของลูกน้อง/ข้ารับใช้ ยื่นผ้าให้เจ้านายเพื่อเปลี่ยนก่อนเข้าเฝ้า ซึ่งในสมัย ร.4  เริ่มมีประกาศให้ข้าราชการนุ่งเสื้อเข้าเฝ้าแล้ว


 

ผ้าลายจากอินเดียเป็นที่นิยมมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5  ผ้าแบบนี้ไม่ค่อยซักกันบ่อย เพราะค่อนข้างมีราคาจึงจะนุ่งเฉพาะตอนเข้าเฝ้าเท่านั้น พอออกมาก็เปลี่ยนเป็นผ้าธรรมดา  ผ้าสมปักบางผืนมีเชิงหลายชั้นส่วนใหญ่ผู้นุ่งคือผู้ชายและเป็นข้าราชการ ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าเชิงเดียว จึงมีคนพูดกันว่าผู้ชายมีชั้นเชิงมากกว่าผู้หญิง  ผ้าลายของผู้หญิงจะดอกเล็ก ถ้ามีหลายเชิงก็จะใช้นุ่งในโอกาสสำคัญ ในสมัยรัชกาลที่ 5 กฎระเบียบเรื่องการใช้ผ้าของราชสำนักก็เริ่มลดลง ผ้าลายจึงเริ่มออกจากราชสำนักสู่สามัญชน โดยเฉพาะสมัย ร. 6 นิยมแต่งกายแบบฝรั่ง นุ่งซิ่น

สำหรับการทำผ้าลายมีหลักฐานว่าไทยออกแบบลวดลายแล้วส่งไปให้ประเทศอินเดียผลิตเรียกว่าผ้าลายอย่าง (มาจากผ้าลายอย่างไทย)  บริษัทที่ส่งผ้าเข้ามาขาย เช่น มัสกาตี ที่วัดคงคารามยังพบหลักฐานสำคัญของผ้าจากอินเดีย คือผ้าที่ใช้ห่อผ้าจากอินเดียมาขาย เป็นผ้าฝ้ายสีแดงเนื้อหยาบ พิมพ์อักษรสีดำเป็นภาษาอินเดีย  ซึ่งอาจารย์ประภัสสรดั้นด้นไปให้เจ้าของวัฒนธรรมอ่านได้ว่า "ผ้าลายมัสกาตี" ปัจจุบันบริษัทนี้เลิกนำผ้าอินเดียเข้ามาขายแล้วตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไทยจึงผลิตผ้าลายไทยขึ้นใช้ ผ้าลายอินเดียก็เลยหมดไป

ผ้าอินเดียเข้ามาได้อย่างไร และกระจายตัวมาตามหมู่บ้านได้อย่างไร อ.ประภัสสรสันนิษฐานว่า อาจมาตามตลาดใหญ่ๆก่อน  แล้วแพร่จากตลาดไปยังชุมชน โดยแขกและคนจีนจะหาบผ้ามาขายตามบ้าน  สมัยรัชกาลที่ 4 ไทยส่งข้าวเป็นสินค้าออก ช่วงนั้นคนหันไปปลูกข้าว และทอผ้าน้อยลง ผ้าตลาด และผ้าอินเดีย จึงเข้ามาตีตลาด และมีหลักฐานว่ามีการนำข้าวไปแลกกับผ้าด้วย

การพบผ้าชั้นสูงที่เป็นผ้าของระดับเจ้าพระยาจำนวนมากที่วัดคงคาราม อาจเป็นเพราะบริเวณบ้านคงคารามเป็นศูนย์กลางชุมชนเดิมที่มีคนมอญเป็นข้าราชการอยู่มาก ซึ่งตอนหลังทายาทคงมอบให้กับทางวัด ซึ่งทางวัดนำมาใช้เป็นผ้าห่อคัมภีร์ จากการสำรวจผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์พบว่า ผ้าบางผืนเป็นผ้านุ่งที่มีขนาดยาวมาก แต่ยาวเกินไปสำหรับห่อคัมภีร์ก็มีการตัดแบ่ง ซึ่งสามารถนำมาต่อกันได้  บางผืนเป็นเสื้อ  ผ้าบางผืนมีการซ่อมแซมรอยชำรุดรอยขาดก่อนที่จะนำมาถวายวัด

 
คุณภุชงค์ ยกกระบัด ชาวชุมชนวัดคงคาราม เล่าให้ฟังว่า ท่านได้มอบผ้าของบรรพบุรุษให้กับพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ผ้านี้เมื่อก่อนเป็นของ.... ได้จากการทำค้าขายกับคนมอญแถบเมืองสังขละบุรี เมื่อ....เสียชีวิต ก็นำมามอบให้พิพิธภัณฑ์
 
ผ้าห่อคัมภีร์จากผ้าพื้นเมืองพื้นบ้าน  นอกจากผ้าต่างประเทศแล้ว ยังพบผ้าห่อคัมภีร์แบบมอญโบราณ คือจะมีแกนไม้ไผ่อยู่ด้านในแล้วถักทอด้วยเส้นด้ายเป็นลวดลายต่างๆ  ผ้าแบบนี้พบนอกจากจะพบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามลัว ยังพบที่บ้านม่วง เป็นชุมชนชาวมอญใน อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลุ่มคนยองทางภาคเหนือ และในพม่า ส่วนผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ผ้าลายตาราง   พบเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่ใช้เป็นผ้าห่อจริงกับผ้าที่ใช้เป็นผ้าดามพื้นหลังเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผ้าห่อคัมภีร์ มีทั้งทำจากผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ผ้าโสร่งไหมอาจไม่ใช่ของชาวมอญ  เพราะที่นี่ไม่เลี้ยงไหม แต่อาจมาจากภาคอีสานโดยมีผู้ซื้อมาถวาย หรือมีคนอีสานเข้ามาขายผ้าแถบนี้ เพราะในสมัยก่อนเมื่อหมดฤดูทำนา คนจากภาคอีสาน เช่นจากปักธงชัย โคราช จะหาบผ้ามาขาย  ผ้าแบบนี้มีลักษณะเหมือนสไบ หน้าแคบมีลายขวาง ซึ่งพบที่เดียวคือที่วัดคงคาราม 


       
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอินเดียก็ไม่ส่งผ้ามาขายแล้ว แต่มีผ้าลายจากญี่ปุ่นและยุโรป ที่ผลิตจากโรงงานด้วยวิธีใช้แม่พิมพ์แบบลูกกลิ้งพิมพ์ลาย ซึ่งผลิตได้ง่ายและราคาถูกกว่า ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามเราพบผ้าห่อคัมภีร์ที่น่าจะเป็นผ้าจากญี่ปุ่นจำนวนมาก ผ้าญี่ปุ่นจะเป็นลายเล็กๆ น่ารัก บางทีก็ลอกเลียนแบบลายของอินเดีย ผ้าเหล่านี้บ้างก็ใช้เป็นผ้ารองด้านใน  บ้างก็เย็บเป็นผ้าสำหรับห่อคัมภีร์โดยตรง และบางผืนก็มีลักษณะคล้ายกับผ้าห่อกล่องข้าวแบบญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนญี่ปุ่นได้มาเปิดร้านขายผ้าในจังหวัดกาญจนบุรีและในพื้นที่จ.ราชบุรี ซึ่งทั้งอำเภอโพธาราม และอำเภอบ้านโป่ง ก็เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณยายฉลาด ชาวชุมชนวัดคงคาราม เล่าว่าในสมัยที่คุณยายยังเด็ก เคยเห็นทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านบริเวณนี้ด้วย
 
นอกจากการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องผ้าชนิดต่างๆ ให้กับชาวชุมชนแล้ว ศูนย์ฯ และชาวชุมชน ยังได้ร่วมกันอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์เพื่อยืดอายุของผ้าในฐานะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางด้านศิลปะและพลังศรัทธาของชุมชน อาจารย์ประภัสสรได้เสริมความรู้และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ผ้าอย่างง่ายให้กับชาวบ้าน ทั้งการเก็บรักษาผ้าให้คงสภาพดีด้วยวิธีการม้วนผ้ากับแกนเพื่อไม่ให้เส้นใยผ้าหักงอ การจัดแสดงผ้าด้วยการตรึงผ้ากับกรอบไม้ และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผืนผ้าด้วยการทำผ้าดามหลัง รวมทั้งการซ่อมแซมผ้าซึ่งมีทั้งวิธีการตามหลักการอนุรักษ์ และวิธีแบบพื้นบ้านผสมผสานกัน โดยได้ความร่วมมือร่วมใจจากลุงป้าน้าอาชาวคงคาราม และพระวัดคงคาราม มาช่วยกันอย่างแข็งขัน




กิจกรรมอนุรักษ์ผ้าวัดคงคาราม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องผ้าให้กับชาวชุมชนเพื่อให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ให้คงอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น การสร้างโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ การดูแลรักษาข้าวของในพิพิธภัณฑ์ ยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่าง พิพิธภัณฑ์ วัด และชุมชนมากขึ้น นับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์กับชุมชนเกิดการเรียนรู้และได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ และจะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ ชุมชน รวมถึงหน่วยงานทั้งในและนอกชุมชนในรูปแบบต่างๆ ในอนาคต
 
อ้างอิง:
เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่องผ้า โดยประภัสสร โพธิศรีทอง ในกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ณ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี  และการเก็บข้อมูลในชุมชน โครงการอบรม/ สร้างเวทีเพือสร้างพลังชุมชนท้องถินและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ชุมชนวัดคงคาราม จ.ราชบุรี พ.ศ.2554.
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 30 เมษายน 2557
วันที่แก้ไข: 01 พฤษภาคม 2557