โลโก้ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรLogo
logo
  • รายชื่อพิพิธภัณฑ์
    • รายชื่อพิพิธภัณฑ์
    • List view
    • Map view
  • Online Exhibits
    • Online Exhibits
    • มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้
    • มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง
    • มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ
  • Research & learning
    • Research & learning
    • พิพิธภัณฑ์วิทยา
    • Research & Report
    • บทความวิชาการ
    • บล็อก
    • อินโฟกราฟฟิก
  • สื่อสิ่งพิมพ์
    • สื่อสิ่งพิมพ์
    • หนังสือ
    • จุลสาร
  • เทศกาล และข่าวสาร
    • เทศกาล และข่าวสาร
    • เทศกาล
    • ข่าวสาร
  • เกี่ยวกับโครงการ
    • เกี่ยวกับโครงการ
    • เกี่ยวกับโครงการ
    • ทีมงาน
    • ติดต่อเรา
    • สถิติพิพิธภัณฑ์
    • สถิติเว็บไซต์
  • กระบี่
  • กรุงเทพมหานคร
  • กาญจนบุรี
  • กาฬสินธุ์
  • กำแพงเพชร
  • ขอนแก่น
  • จันทบุรี
  • ฉะเชิงเทรา
  • ชลบุรี
  • ชัยนาท
  • ชัยภูมิ
  • ชุมพร
  • ตรัง
  • ตราด
  • ตาก
  • นครนายก
  • นครปฐม
  • นครพนม
  • นครราชสีมา
  • นครศรีธรรมราช
  • นครสวรรค์
  • นนทบุรี
  • นราธิวาส
  • น่าน
  • บึงกาฬ
  • บุรีรัมย์
  • ปทุมธานี
  • ประจวบคีรีขันธ์
  • ปราจีนบุรี
  • ปัตตานี
  • พระนครศรีอยุธยา
  • พะเยา
  • พังงา
  • พัทลุง
  • พิจิตร
  • พิษณุโลก
  • ภูเก็ต
  • มหาสารคาม
  • มุกดาหาร
  • ยะลา
  • ยโสธร
  • ระนอง
  • ระยอง
  • ราชบุรี
  • ร้อยเอ็ด
  • ลพบุรี
  • ลำปาง
  • ลำพูน
  • ศรีสะเกษ
  • สกลนคร
  • สงขลา
  • สตูล
  • สมุทรปราการ
  • สมุทรสงคราม
  • สมุทรสาคร
  • สระบุรี
  • สระแก้ว
  • สิงห์บุรี
  • สุพรรณบุรี
  • สุราษฎร์ธานี
  • สุรินทร์
  • สุโขทัย
  • หนองคาย
  • หนองบัวลำภู
  • อำนาจเจริญ
  • อุดรธานี
  • อุตรดิตถ์
  • อุทัยธานี
  • อุบลราชธานี
  • อ่างทอง
  • เชียงราย
  • เชียงใหม่
  • เพชรบุรี
  • เพชรบูรณ์
  • เลย
  • แพร่
  • แม่ฮ่องสอน
  • กฎหมายและราชทัณฑ์
  • การทหาร / สงคราม
  • การสื่อสาร / ไปรษณีย์
  • การแพทย์และสาธารณสุข
  • งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม
  • ชาติพันธ์ุ
  • ธรรมชาติวิทยา
  • บุคคลสำคัญ
  • บ้านประวัติศาสตร์
  • ประวัติศาสตร์
  • ผ้า / สิ่งทอ
  • พระป่า
  • วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา
  • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
  • ศิลปะ / การแสดง
  • อื่น ๆ
  • เครื่องปั้นดินเผา
  • เงินตรา / การเงินธนาคาร
  • โบราณคดี

  • บทความวิชาการ

บทความวิชาการ:

นวลพรรณ บุญธรรม

  • เรียงตามข้อมูลนำเข้าล่าสุด
  • เรียงตามการอ่านมากที่สุด
บทความทั้งหมด 3 บทความ

เล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายเก่า เรื่องเล่าของชาวลุ่มน้ำนครชัยศรี

07 กุมภาพันธ์ 2557

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด อ.สามพราน จ.นครปฐม  เก็บสะสมภาพถ่ายเก่าของชุมชนท่าพูดและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงไว้จำนวนหนึ่ง มีทั้งภาพขาวดำ และภาพสี เจ้าของภาพบางคนเสียชีวิตแล้ว ลูกหลานจึงนำภาพมามอบให้พิพิธภัณฑ์ เจ้าของภาพบางรายยังมีชีวิตอยู่แต่อยากมอบภาพให้กับพิพิธภัณฑ์เก็บรักษา  ภาพเก่าชุดนี้ถูกเก็บรักษามาระยะหนึ่ง และเคยนำจัดแสดงให้ผู้ชมดูบ้างแล้วเมื่อ พ.ศ. 2549  ในนิทรรศการ “เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก” งานบุญประจำปีวัดท่าพูด ซึ่งได้รับความสนใจจากคนในชุมชนและคนที่มาเที่ยวชมงานเป็นอย่างมาก ...ใครเป็นใครในภาพ ฉันรู้จักคนโน้น คนนี้ คนนี้ยังอยู่ คนนี้ตายแล้ว  ที่ตรงนี้คือ  อันนี้ยังอยู่ อันนี้ย้ายไปแล้ว รื้อไปแล้ว...  เพียงภาพไม่กี่ภาพ แต่มีผลทำให้เกิดประเด็นการสนทนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตผู้คน ประวัติศาสตร์ และความเปลี่ยนแปลงของคนและพื้นที่ในแถบนี้   ดังนั้น ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ในฐานะที่คุ้นเคยและทำงานร่วมกันมาหลายปี จึงร่วมกันหาเรื่องเล่าจากภาพ เพื่อให้ภาพถ่ายเก่าของพิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ในการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน   และจัดกิจกรรม “เล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายเก่า เรื่องเล่าของชาวลุ่มน้ำ (นครชัยศรี)”  เพื่อรวบรวมและบันทึกเรื่องราวของชุมชนลุ่มน้ำนครชัยศรี โดยใช้ภาพถ่ายเก่าของชุมชน เป็นสื่อในการเล่าเรื่อง  เปิดตัว นิทรรศการภาพถ่ายเก่า เปิดตัวภาพถ่ายครั้งแรก ด้วยนิทรรศการภาพเก่า ที่เป็นภาพงานรื่นเริง เช่น ภาพการแสดง วงดนตรี ขบวนแห่  งานบวช  การเชิดสิงโต  แฟชั่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย  เพราะทีมงาน ได้แก่นักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของศูนย์ฯ และผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด คือคุณมานะ เถียรทวี และคุณวิรัตน์ น้อยประชา คิดว่าเป็นเรื่องที่คนในชุมชนน่าจะสนใจ  โดยเลือกวันสำหรับจัดงานที่มีคนมาทำบุญที่วัดมากที่สุด  เช่น วิสาขบูชา มาฆบูชา และเทศกาลต่างๆ   การเปิดตัวครั้งแรกของนิทรรศการภาพถ่ายเก่า คือ เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีคนมาวัดท่าพูดมากที่สุดช่วงหนึ่ง จึงเป็นโอกาสที่คนจะได้มาดู มาเห็นนิทรรศการชุดนี้ด้วย เมื่อเลือกภาพจากภาพ ภายใต้แนวคิดว่า เป็นภาพที่สอดคล้องกับงานสงกรานต์ คือ งานบุญ งานรื่นเริง แล้ว จึงอัดขยายภาพเป็นขนาด 8 × 12นิ้ว   เพื่อให้เห็นรายละเอียดภาพชัดเจนขึ้น  ภาพบางภาพ คุณมานะและคุณวิรัตน์ หาข้อมูลไว้บ้างแล้ว โดยพริ้นท์ภาพลงในกระดาษ เอ 4 แล้วเขียนชื่อไว้ว่าใครเป็นใครในภาพ  ทีมงานจึงแสกนภาพและระบุข้อมูลดังกล่าว แล้วติดภาพลงบนแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด โดยติดคู่ไปกับภาพที่อัดขยายมา เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นของภาพนั้นๆ  เป็นการตรวจเช็คข้อมูล และกระตุ้นให้คนดูเข้ามาดู อ่าน และเขียนข้อมูลที่อาจจะรู้เพิ่มเติม  หลังจากนั้นนำชุดนิทรรศการติดลงบนนิทรรศการจำนวน 2 บอร์ด แล้วตั้งนิทรรศการไว้ในเต็นท์ ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายที่ทางวัดจัดไว้ ทั้งการทำบุญพระประจำวันเกิด การก่อเจดีย์ทราย และเวทีรำวงต้อนยุค  นิทรรศการตั้งแสดงตั้งแต่วันที่ 10 – 17เมษายน  เพื่อเปิดโอกาสให้คนผ่านไปผ่านมาได้เห็น นิทรรศการภาพถ่ายบริเวณลานบุญวัดท่าพูด ในวันที่ 17เมษายน มีงานสรงน้ำพระที่วัดท่าพูด ทีมงานลงเก็บข้อมูลเบื้องต้น คนมาร่วมงานสนใจภาพเก่าพอสมควร มีการเติมชื่อคนที่รู้จักในภาพ  ซึ่งทีมงานจะสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของคนในภาพ เพื่อจะได้ติดตามต่อในภายหลัง บางรายขออัดภาพที่มีรูปพ่อของตัวเองตอนสมัยยังหนุ่ม เพราะไม่เคยเห็นและไม่มีเก็บไว้ เช่น ภาพของคุณช้ง(ถาวร  งามสามพราน)  ที่ลูกสาวมาขออัดรูป และเล่าว่าพ่อเป็นช่างทำสิงโตของคณะสิงโตท่าเกวียน  ตอนนี้พ่ออายุประมาณ 90 ปีแล้ว และย้ายไปอยู่ที่บางเลน  หลายคนตื่นเต้นที่เห็นตัวเองอยู่ในภาพและไม่เคยเห็นภาพของตัวเองมาก่อนเลย เช่น คุณหมอแน่งน้อย ลิมังกูร ที่มาร่วมรำวงย้อนยุคและได้มาเห็นภาพถ่ายของตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ได้ไปร่วมงานบวชของญาติ  บางคนเกิดความสนใจในวิธีการทำงานของทีมงานก็ให้ภาพมาเพิ่มเติม ซึ่งทีมงานขอยืมภาพไปแสกน พร้อมกับนัดวันเวลาที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลภายหลัง หลังจากนั้นทีมงานลงเก็บข้อมูลหลายครั้ง แต่ละครั้งจะได้ข้อมูลมาเติมภาพเสมอ ทั้งใครเป็นใครในภาพ เราจะไปถามใครต่อ  รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจ    จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล 5-6 ครั้ง เริ่มเห็นประเด็นใหญ่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องสิงโตท่าเกวียนและตลาดท่าเกวียน ตลาดท่าเกวียนเมื่อประมาณ 70ปีทีแล้ว ที่มาภาพ: พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม “ย้อนเวลาหา ... ตลาดท่าเกวียน และสิงโตท่าเกวียน”  หลังจากทีมงาน ได้เข้าไปสืบค้นเรื่องราวของภาพเก่าชุมชนท่าพูดเป็นระยะตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2556   และมีโอกาสได้พบและพูดคุยทั้งกับเจ้าของภาพถ่าย  คนที่อยู่ในภาพ คนที่รู้จักคนในภาพ คนเหล่านี้ยังจำเรื่องราว เหตุการณ์ในภาพได้อย่างดี  ปัจจุบันผู้คนบางส่วนโยกย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่นๆ ทำให้ไม่มีโอกาสได้มาร่วมคุยกันบ่อยนัก  ทีมงานจึงจัดเวทีเล่าเรื่องภาพเก่าขึ้น เพื่อให้คนในชุมชนที่เคยมีประสบการณ์-ความทรงจำในภาพและเรื่องราวของชุมชน มาร่วมกันรื้อฟื้นความทรงจำ เล่าเรื่องราวโดยใช้ภาพถ่ายเก่าเป็นสื่อ โดยจะจัดเวทีเป็นระยะ ซึ่งเวทีแต่ละครั้งจะมีประเด็นของเรื่องต่างกัน ครั้งนี้ จัดเวทีเล่าเรื่อง “ย้อนเวลาหา ... ตลาดท่าเกวียน และสิงโตท่าเกวียน”  เพราะได้รับฟังคำบอกเล่าจากชาวชุมชนมาว่าตลาดท่าเกวียนในอดีต ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของคนในแถบนี้ เป็นตลาดใหญ่ที่คึกคักและมีชีวิตชีวา  มีความสำคัญและความสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง แต่ปัจจุบันตลาดท่าเกวียนไม่มีอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องราวของตลาดท่าเกวียนจึงเหลือแค่ความทรงจำของคนในวัย 40-50 ปีขึ้นไป   ตลาดท่าเกวียนเจ้าของเดิมคือนายจำปี สร้อยทองกับนางเลื่อน  สร้อยทอง สร้างห้องแถวให้คนมาเช่าขายของ  แต่สร้างขึ้นเมื่อไหร่ยังไม่รู้แน่ชัด คุณยายประทุม สร้อยทอง ปัจจุบันอายุ 78 ปี ลูกสาวของนายจำปีเจ้าของตลาดเล่าว่าเดิมที่ดินเป็นของแม่เลื่อน เตี่ยของแม่เลื่อนเป็นหลงจู๊ค้าข้าว มีที่ดินเยอะและยกที่แถบนี้ให้กับแม่เลื่อน ต่อมานายจำปี(เป็นคนบางเตย) แต่งงานกับแม่เลื่อน และได้สร้างเป็นตลาดขึ้น  ตอนเป็นเด็กตอนจำความได้ ก็เห็นว่ามีตลาดแล้ว เมื่อก่อนตลาดท่าเกวียนเจริญมาก มากกว่าดอนหวาย ใครๆ ก็มาตลาดท่าเกวียน เป็นตลาดใหญ่ มีเกวียนข้าวมาลง “สมัยก่อนจะมีเกวียนลากข้าวมาขายให้คนจีนในตลาด และซื้อของจากตลาดกลับไป ไม่มีใครเคยเห็นสมัยที่มีเกวียนลากข้าวมาขาย แต่รู้ว่าท่าจอดเกวียนอยู่ตรงไหน” (เทียนบุ๊น พัฒนานุชาติ) “ ลักษณะตลาดท่าเกวียนเป็นห้องแถวสองข้าง ติดริมแม่น้ำ น้ำเข้าใต้ถุนได้ มีหลังคาคลุม คนเดินตลาดจะไม่เปียกฝน ในตลาดมีร้านขายยา 2 ร้าน ร้านห้างทอง 2 ร้าน ร้านทองร้านหนึ่งอยู่ติดกับบ้านแม่ทองดี” (ประทุม สร้อยทองและแน่งน้อย ลิมังกูร) ผังตลาดท่าเกวียนจากความทรงจำของชาวตลาดท่าเกวียน ตัวอาคารห้องแถวตลาดเป็นไม้ หลังคามุงสังกะสี สร้างขนาบ 2 ข้างทางเดินที่ขึ้นมาจากท่าน้ำ ระหว่างทางเดินจะมีหลังคาสังกะสีคลุมตลอด พื้นเป็นดินอัดแน่น มีร่องน้ำเล็กๆ ขนาบทางเดิน  ร้านค้าในตลาดได้แก่ (จากท่าน้ำ) ..ฝั่งขวามือ บ้านตาจำปีเจ้าของตลาด  ร้านทำทองของนายเสถียร  กรุงกาญจนา ห้องเช่าของนายเลี้ยง (เช่าเป็นห้องพักแต่ไปขายก๋วยเตี๋ยวที่วัดท่าพูด) ร้านขายของชำของตาง้วน นอกจากนี้ขายเสื้อผ้าและปล่อยเงินกู้ ร้านขายยาสมุนไพรไทยของยายทองดี ร้านขายน้ำมันเรือ น้ำมันก๊าด น้ำมันตะเกียงของนายหอย  ร้านตัดเสื้อของตากือ  ร้านขายก๋วยเตี๋ยวและกาแฟของนายเฮี้ยง แซ่เอี๊ยว ร้านขายของชำของตาเส็ง และขายหมากแห้ง   ร้านขายของชำและผ้าของน้าวาด  ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ของลูกนายเทียนสื่อ… ฝั่งซ้ายมือ..บ้านใหญ่ของนายเปี๊ยะค้าข้าว ร้านขายผ้าดำ และเย็บเสื้อในของยายกวย ร้านหมอสมพงษ์  ร้านขายของชำและยาไทยของหมอหนอม นางเหรียญ สร้อยทอง พี่ชายนายจำปี ขายสมุนไพร.....ร้านตัดเสื้อกางเกงของเจ๊เปี้ยงตาเจิม ... ร้านตัดผมของตาบุญธรรมยายกลุ่ม ยุ้งข้าวของนายหอย (เปิดเป็นร้านเย็บเสื้อผ้า  เลี้ยงหมู  และนายหอยยังเป็นเถ้าแก่ไปตวงข้าวด้วย)  ยุ้งข้าวของตายิ้ม ยุ้งข้าวของตาเอี๊ยง ร้านขายของจากเมืองจีน และรับสีข้าวของเจ๊กโต  ยายปทุมเล่าว่า ตอนเป็นเด็กชอบไปขโมยขนมเกี้ยมซันจาของร้านเจ๊กโตกิน   ร้านโอตือ เลี้ยงหมู และหาปลามาขายด้วยเรือผีหลอก ร้านขายก๋วยเตี๋ยวของเจ๊กมุ้ย บ้านเจ๊กจง(หาบของไปขายตามทุ่งนา) ริมน้ำมีคนมาเช่าที่ทำโรงสี เรียกกันว่าโรงสีตาเซี้ยงบ้านแป๊ะตีเหล็ก ..... คลีนิกหมอสมพงษ์ บริเวณหน้าตลาด(ริมแม่น้ำนครชัยศรี) เปิดทำการเมื่อประมาณ พ.ศ.2520     ที่มาภาพ : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม ความคึกคักของตลาดท่าเกวียน นอกจากจะแป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยสินค้าบริโภค อุปโภคแล้ว ยังเป็นจุดสำคัญของการคมนาคม เพราะมีท่าเรือโดยสารของบริษัทสุพรรณขนส่ง เป็นเรือ 2 ชั้น  รับส่งผู้คนตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพ ฯ แน่งน้อย ลิมังกูรเล่าว่า “เรือสุพรรณ มี 2 ชั้น เป็นเรือเมล์โดยสาร บางทีก็เรียกเรือไฟ เรือไอ เรือจะทาสีแดงและมีชื่อเรือ เช่น เรือศรีประจัน เรือขุนช้าง เรือขุนแผน”  “...เรือมาเป็นเวลา  เช้าวิ่งจากสุพรรณลงไปสมุทรสาคร เย็นจากสมุทรสาครขึ้นมาสุพรรณ ขากลับจะมีสินค้ามาขาย  ที่ได้กินบ่อยคือปลาทู  แม่จะเลี้ยงลูกด้วยปลาทูต้ม...”  ประทุม สร้อยทอง กล่าว ตลาดท่าเกวียนจึงคึกคักไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยและมารอเรือโดยสาร คุณประทุมและคุณเทียนบุ๊น ย้อนให้เห็นบรรยากาศตลาดท่าเกวียนเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยใบหน้าที่มีรอยยิ้ม  “ตาดวง ตายู้ ตาเอิ๊ก ชอบมานอนอยู่หน้าเรือนนายจำปีที่อยู่ติดริมแม่น้ำ หน้าเรือนของนายจำปีเป็นลานกว้าง มีหลังคาคลุม เด็กๆ ชอบมานั่งเล่นตอนกลางวัน ส่วนคนโตชอบมาสังสรรค์ตอนกลางคืน หน้าเรือนลมเย็นมาก”   คุณเทียนบุ๊นเล่าว่า  “สมัยยังหนุ่ม ชอบไปนอนถอนขนจั๊กแร้กันที่หน้าเรือนนายจำปี และเอาแผ่นกอเอี๊ยะไปแปะด้วย...”   นอกจากนี้ยังเป็นที่พบปะของคนหนุ่มสาวเพราะเป็นที่ร่ำรือกันว่าสาวๆท่าเกวียนสวยและหน้าตาดี จึงมักมีคนมาขอแรงให้ไปช่วยงานต่างๆ เสมอ ทั้งงานประจำปีวัดไร่ขิง อุ้มเทียนในงานบวช...  “แต่ก่อนเวลาใครจะมาดูสาว ต้องมาที่ตลาดท่าเกวียน คนชอบมาดูสาวๆ ขายของ โดยเฉพาะช่วงงานประจำปีวัดไร่ขิง กลางเดือน 5 คนจะมารอเรือไปวัดไร่ขิง หนุ่มๆ ที่จะมาเที่ยวงานวัดไร่ขิง  ก็จะไปดูสาวๆ ซึ่งเป็นสาวจากตลาดท่าเกวียนที่ผลัดเปลี่ยนกันไปขายทอง ขายดอกไม้ไหว้พระ .." (นงเยาว์ สร้อยทอง) ภายในตลาดมีศาลเจ้า เรียกว่าศาลอากง เป็นที่นับถือของคนในตลาด  เมื่อถึงช่วงตรุษจีน เจ้าของตลาดจะทำบุญตลาดในช่วงนี้จะนำเป็ดไก่มาไหว้ ตอนกลางวันจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ คนห้องแถวนำข้าวปลาอาหาร ขนม (ขนมแปะก้วย แตงโม(ที่แข่งกันแต่ละบ้านในเรื่องความใหญ่) และจ้างละครชาตรีและงิ้วเล็ก มาเล่นกลางตลาด เวจ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้สำหรับที่ทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในตลาดแห่งนี้ คือห้องส้วม หรือที่ชาวตลาดท่าเกวียนเรียกกันว่าเวจขี้ เป็นสถานที่ที่กล่าวถึงแล้วหลายคนทำจมูกย่น เหมือนกับย้อนได้กลิ่นและเห็นภาพแต่หนหลัง ส้วมของตลาดท่าเกวียนตั้งอยู่ท้ายตลาด เป็นส้วมรวมที่ทุกบ้านในตลาดจะต้องมาใช้ถ่ายของหนักของเบา เพราะในห้องแถวไม่มีส้วม ส่วนห้องน้ำที่จะใช้อาบน้ำชำระร่างกายนั้น ชาวตลาดอาศัยอาบในแม่น้ำตรงท่าน้ำหน้าบ้าน เวจขี้ตลาดท่าเกวียน เป็นอาคารปลูกสร้างด้วยไม้ ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร ด้านบนมีหลังคา ด้านล่างเปิดโล่ง ห้องส้วมมีสองข้าง ด้านหนึ่งเป็นของผู้หญิงอีกด้านเป็นส้วมชาย แต่ละด้านมีส้วม  4 ห้อง มีฝากั้นแต่ละห้อง แต่มักมีคนเอาตะปูเจาะข้างฝาเพื่อแอบดูกัน เวลาคนขี้ที่เวจจะมีหมูมากินขี้ บางคนก็ขี้ไปโดนหูหมู หมูจะสลัดขี้มาโดนคน บางคนจึงเอาไม้ยาวๆ เข้าเวจด้วย เพื่อใช้ไล่หมู ส่วนอุปกรณ์เช็ดก้น คือ กาบมะพร้าวที่ตัดเป็นชิ้น แต่ละบ้านจะตัดกาบมะพร้าวสำหรับเช็ดก้นใส่กระบอกเก็บไว้ เวลาใช้ก็หยิบไปใช้ได้เลย บางคนก็ใช้ใบสะแกเช็ดก้น บางคนก็ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ เมื่อกระดาษหนังสือพิมพ์เช็ดก้นแห้งจะปลิวออกมา ตาหน่ำเซ้งจะคอยเก็บกระดาษไปเผา เพราะเห็นว่าหนังสือเป็นของสูง ไม่ควรนำมาใช้เช็ดก้น นายหน่ำเซ้งชอบอ่านหนังสือมาก หลายคนบอกว่าในเวจขี้ ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่เฉอะแฉะ เพราะหมูกินขี้จนหมด หมูที่กินขี้จะเป็นหมูเล็ก(ลูกหมู) พอหมูอายุรุ่นๆ คนเลี้ยงก็จะผูกไว้ จึงไม่ต้องกังวลว่าเนื้อหมูจะเปื้อนขี้  คุณเทียนบุ๊นเล่าเรื่องให้ฟังอย่างเห็นภาพและแทบจะได้กลิ่นกันเลยทีเดียว เวจขี้เลิกใช้ในสมัยกำนันสมควร (กำนันเหงี่ยม) เพราะกำนันสมควรให้สร้างส้วมในบ้านแทน แต่พอสร้างส้วมในบ้านก็ลำบาก เพราะบ้านมีเนื้อที่ไม่มาก และไม่มีถังเก็บขนาดใหญ่ เวลาส้วมเต็มก็ต้องเปิดถังและตักขี้ไปทิ้งแม่น้ำ เพราะไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหน เวลาตักขี้ไปทิ้งจะส่งกลิ่นเหม็นทั่วตลาด เมื่อสร้างส้วมในบ้าน เวจขี้ที่ตลาดก็ปล่อยเป็นที่ว่าง มีต้นมะขามเทศและต้นไม้อื่นๆ ขึ้น  ด้านหลังวัดท่าพูดก็เป็นเวจขี้เหมือนกัน แต่สร้างมิดชิด เป็นป่ารกทึบ น่ากลัว และเดินไปยากกว่าเวจขี้ที่ตลาดท่าเกวียน ปัจจุบันที่ตั้งเวจขี้วัดท่าพูดกลายเป็นพื้นที่สร้างสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลไร่ขิง  (จุไรรัตน์,  2556)  คณะสิงโตท่าเกวียน นอกจากตัวตลาด และผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยแล้ว ความมีชีวิตชีวาของตลาดท่าเกวียนที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ คณะสิงโตท่าเกวียน ตามปกติสิงโตจะเล่นในช่วงตรุษจีน คณะสิงโตจะแห่ไปในตลาดตามบ้าน เพื่ออวยพรในเทศกาลปีใหม่ของคนจีน  “พอเขาเห็นสิงโตมาที่บ้านเขาจะดีใจ เราก็จะอวยพรให้ บางทีก็ให้ส้มกับเจ้าของบ้านเพื่ออวยพรให้โชคดีปีใหม่ แล้วเจ้าของบ้านก็จะให้อั่งเปามา คณะก็จะเอาอั่งเปาไปมอบให้โรงเรียนบ้าง เก็บไว้ใช้จ่ายบ้าง ก่อนตรุษจีน คณะสิงโตก็จะมาซ้อมกัน ใช้พื้นที่ทุ่งนากว้างๆ ตอนนั้นเขาเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว ตอนเย็นๆ อากาศดี ก็ไปซ้อมกัน ซ้อมทุกเย็นกลางทุ่งนา  ...” คุณช้ง เล่าถึงคณะสิงโตท่าเกวียนในอดีต คณะสิงโตท่าเกวียน นอกจากจะเล่นช่วงตรุษจีนแล้ว การเชิดสิงโตยังรับเล่นในงานบวชเพราะในขบวนแห่นาคที่มีสิงโต จะคึกคักมาก ทำให้งานสนุก เด็กๆ ชอบมาก  เจ้าภาพจะมาขอแรงให้คณะสิงโตไปช่วยงาน  คนในคณะก็จะช่วยงานทุกอย่างนอกเหนือจากการเชิดสิงโต เช่นยกอาหาร จัดเตรียมสถานที่   บางทีคณะก็จะขอของตอบแทนจากเจ้าภาพเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เอาไปมอบให้โรงเรียน บางทีก็จะขอเป็นเสื้อสีขาว กลอง รองเท้า สำหรับใช้ในการเล่นสิงโต และในช่วงหลังมีการเชิดสิงโตเพื่อเรี่ยไรเงินไปซื้อกระเบื้องปูรอบโบสถ์วัดท่าพูด ระยะหลังตลาดท่าเกวียนรวมทั้งดอนหวายก็เริ่มซบเซา ช่วงหลัง พ.ศ. 2510 เรือของบริษัทสุพรรณขนส่งเลิกกิจการไปแล้ว เพราะมีการตัดถนนสายมาลัยแมนทำให้การเดินทางด้วยเรือระหว่างสุพรรณ-นครปฐม-กรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็วขึ้น  คนจึงหันไปเดินทางด้วยรถมากขึ้น ท่าเรือที่ตลาดท่าเกวียนจึงปิดลง ส่วนในชุมชนก็เริ่มมีถนน ถนนสายแรกในชุมชนคือถนนสายไร่ขิงประชาร่วมใจตัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517-2518 และมีการตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสายเพื่อเชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษม  หลังจากนั้นจึงเริ่มมีรถจักรยาน มอเตอร์ไซค์ ใช้เป็นยวดยานพาหนะในการเดินทางแทนเรือมากขึ้น การเดินทางออกไปภายนอกสะดวกรวดเร็วขึ้น   และคนในตลาดก็เริ่มย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ พอคนย้ายไป นายจำปีซึ่งอายุมากแล้วก็แบ่งที่ดินให้ลูกหลาน เลิกทำตลาดและรื้อตลาดในที่สุด นอกจากเรื่องเล่าของตลาดจากความทรงจำแล้ว ทีมงานและชาวชุมชนยังได้ช่วยกันทำผังตลาดอย่างง่ายๆ  จากคำบอกเล่า ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้ว่ารูปร่างหน้าตาของตลาดท่าเกวียนในอดีตเป็นอย่างไร ใครเป็นใครบ้างในตลาด มีร้านค้าอะไรอยู่ตรงไหน ใครบ้างที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับตลาด เช่น คนมาซื้อของ คนมาลงเรือ ฯลฯ    ความสัมพันธ์ของคนในตลาด สถานที่ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของชุมชอยู่ที่ใดบ้าง เช่น ท่าเรือ ระเบียงบ้านนายจำปี ศาลเจ้า เวจขี้ ลานซ้อมสิงโต ท่าน้ำ ฯลฯ แล้ว  ที่สำคัญการทำผังตลาดยังเป็นการช่วยสร้างบรรยากาศของการช่วยกันคิด ช่วยกันให้ข้อมูล และเห็นถึงความผูกพันของคนกับพื้นที่ ประสบการณ์ที่มีร่วมกัน ความเป็นเพื่อน ชีวิตในวัยเยาว์ และนำไปสู่การพบปะเยี่ยมเยือนกัน บริเวณที่เคยเป็นห้องแถวตลาดท่าเกวียน ปัจจุบันเป็นห้องแถวสร้างใหม่ ภาพโดยธัญลักษณ์ ศรีสง่า ถ่ายเมื่อ 28 สิงหาคม 2555 เรือนของนายจำปี สร้อยทอง อาคารเดิมที่เหลือเพียงหลังเดียวของตลาดและพังทลายลงมา เนื่องจากพายุฝนเมื่อ พ.ศ.2556 ปัจจุบันจึงไมม่มีอยู่แล้ว ภาพโดยธัญลักษณ์ ศรีสง่า ถ่ายเมื่อ 28 สิงหาคม 2555 การนำภาพเก่ามาเป็นสื่อในการเล่าเรื่อง จึงไม่ได้เพียงก่อให้เกิดเรื่องเล่าที่น่าสนใจของชุมชน แต่ยังช่วยย้อนอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนในชุมชน  และที่สำคัญคือเกิดพลังในการฟื้นความสัมพันธ์ของผู้คน  สร้างความรู้สึกเป็นคนบ้านเดียวกันของคนในชุมชนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดพลังความคิดในการผลักดันให้เกิดความสนใจและเห็นความสำคัญในการศึกษา การบันทึก และการถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนมากขึ้น ตอนนี้ขอชวนทุกท่านนั่งหลับตาจินตนาการถึงตลาดท่าเกวียน ที่คึกคักไปด้วยผู้คน ทั้งคนที่มาค้าขาย จับจ่าย แม่ค้าสาวสวยนั่งหน้าร้าน ท่าเรือที่มีผู้โดยสารคอยขึ้นเรือนั่งๆ นอนๆ พูดคุย มีเรือมาเทียบท่าเป็นระยะ แต่ยังจินตนาการไปไม่ถึงตอนที่เกวียนเข้ามาเพราะไม่มีใครเกิดทัน  เสียงเครื่องยนต์เรือ เสียงทักทาย เสียงพูดคุย เสียงตีเหล็ก เสียงซ้อมของคณะเชิดสิงโต เสียงชวนกันไปส้วม ลูกหมูวิ่งกรูกันไปใต้เวจขี้ ........................ เอกสารอ้างอิง   จุไรรัตน์ ปิยะวัชร์.  บันทึกสรุปการเสวนา “ย้อนเวลา...ตลาดท่าเกวียนและสิงโตท่าเกวียน” . เวทีเล่าเรื่อง ผ่านภาพถ่ายเก่า เรื่องเล่าของชาวลุ่มน้ำ(นครชัยศรี) วันที่ 12 มิถุนายน 2556.   นวลพรรณ บุญธรรม. บันทึกสรุปการเสวนา “เล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายเก่า เรื่องเล่าของชาวลุ่มน้ำ (นครชัยศรี)". โครงการอบรม/สร้างเวที เพื่อสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พ.ศ.2556 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด  อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม.   สัมภาษณ์ ถาวร งามสามพราน นงเยาว์  สร้อยทอง ปทุม สร้อยทอง แน่งน้อย ลิมังกูร เทียนบุ๊น พัฒนานุชาติ วีรศักดิ์  เพ่งศรี เรืองทิพย์  จันทิสา ธนศักดิ์  พัฒนานุชาติ มานะ  เถียรทวี วิรัตน์ น้อยประชา สมพิศ นิ่มประยูร

ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม: ประวัติศาสตร์(ที่อยาก)บอกเล่า

01 พฤษภาคม 2557

หากพูดถึงข้าวของที่หลายๆ วัดเก็บดูแลรักษา และเก็บสะสมทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจที่จะเก็บ อาจมีรายชื่อของผ้าห่อคัมภีร์อยู่ใน ลำดับต้นๆ ประโยชน์ใช้สอยของผ้าห่อคัมภีร์ก็ตรงตามชื่อ คือเป็นผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ และหนังสือธรรม เพื่อปกป้องพระธรรมคำสอนตามพระพุทธศาสนา ที่บันทึกอยู่บนเนื้อวัสดุที่บอบบางไม่ให้เกิดริ้วรอยความเสียหาย  วัสดุที่ใช้ทำผ้าห่อคัมภีร์นั้นมีหลากหลาย แตกต่างกันทั้งฐานะของผู้สร้าง พื้นที่  และยุคสมัย ในสมัยที่การพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย คัมภีร์ใบลานมีบทบาทมากในการเผยแผ่พุทธศาสนา ผู้ชายสามารถบวชเรียนได้ มีโอกาสอุทิศตนตามหลักศาสนา ส่วนผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญที่จะทำนุบำรุงศาสนาในทุกๆ ด้าน เช่น การเป็นโยมอุปปัฏฐายิกา  การทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ  การสร้างศาสนสถาน-วัตถุ ฯลฯ  การทำผ้าห่อคัมภีร์ก็เป็นโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ด้วยการอุทิศแรงกายและความตั้งใจจริงในการถักทอ และตัดเย็บผ้าห่อคัมภีร์ให้เป็นเครื่องปกป้องพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา นอกจากคุณค่าทางด้านพุทธศาสนาแล้ว ผ้าห่อคัมภีร์ยังสะท้อนให้เห็นศรัทธาความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คน โครงการอบรม/สร้างเวทีเพื่อสร้างพลังท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พ.ศ. 2554 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม และชาวบ้าน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี  ในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ และได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากอาจารย์ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าซึ่งศึกษาผ้ามาเป็นเวลากว่า 20 ปี มาร่วมกันรื้อค้น สำรวจ และบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม  ขณะเดียวกันอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และชาวชุมชนวัดคงคารามเกี่ยวกับผ้าชนิดต่างๆ (ที่เราแทบจะไม่มีความรู้ด้านนี้เลย) เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ ความสำคัญ และคุณค่าที่แฝงอยู่เบื้องหลังของผ้า  ผ้ากว่า 200 ผืนที่เราแก้ห่อออกมา จึงไม่ได้มีเพียงร่องรอยความชำรุดความเก่าคร่ำที่ปรากฏให้เห็นบนผืนผ้าแต่แฝงให้เห็นร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชุมชนที่สัมพันธ์กับบ้านเมือง รอบข้าง และพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ผ้าห่อคัมภีร์ที่พบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม มีมากมายหลายชนิด และมีแหล่งผลิตจากหลายประเทศ เรียกได้ว่าเป็นผ้านานาชาติ แต่ที่มีจำนวนมากที่สุด คือผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากประเทศอินเดีย รองลงมาคือผ้าพิมพ์จากญี่ปุ่น ผ้าพื้นเมือง ผ้าจากยุโรป อินโดนีเซียและจีน มีทั้งแบบมีโครงไม้ไผ่และแบบที่ไม่มีโครงไม้ไผ่ ผ้าแบบที่มีโครงไม้ไผ่นี้เป็นผ้าที่ทำขึ้นสำหรับใช้ห่อคัมภีร์โดยเฉพาะ โครงไม้ไผ่จะช่วยรับน้ำหนักคัมภีร์ที่มีน้ำหนักมากได้  อาจารย์ประภัสสร บรรยายให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของผ้านานานาชนิด ที่น่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกับผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม ให้กับทีมพิพิธภัณฑ์และชาวชุมชนวัดคงคารามว่า  วัดคงคารามมีผ้าที่ในอดีตถือว่าเป็นผ้าชั้นสูงอยู่จำนวนมาก  ซึ่งผ้าชั้นสูง ผ้าชั้นดีแบบนี้พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานให้เท่านั้น  เพราะข้าราชการสมัยก่อนไม่ได้รับเงินเดือนประจำ ดังนั้นค่าตอบแทนความดีความชอบ จึงเป็นผ้าบ้าง ของใช้มีค่าบ้าง มีหลักฐานว่ามีการให้ผ้าลักษณะพิเศษที่ใช้เฉพาะราชสำนักและจะพระราชทานให้เป็นค่าเบี้ยหวัดข้าราชการเท่านั้น เช่น ผ้าสมปัก   ผ้าสมปักเป็นเครื่องแบบของข้าราชการไทยสมัยก่อน คำว่าสมปักเป็นมาจากคำว่าสมพจ (ภาษาเขมร แปลว่าผ้านุ่ง) มี 2 ชนิดคือ สมปักปูม และสมปักลาย สมปักปูม เป็นผ้าไหมทอแบบมัดหมี่ สมปักลายเป็นผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากอินเดีย ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามก็พบผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะสมปักปูม หรือเรียกสั้นๆ ว่าผ้าปูม ผ้าปูมที่พบในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามมีหลายสี ทั้งสีม่วง สีแดง-ชมพู และสีเขียวส่วนผ้าสมปักลาย กษัตริย์จะพระราชทานให้กับข้าราชการสำหรับนุ่งเข้าเฝ้า ในจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วิหาร รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม มักจะมีภาพของลูกน้อง/ข้ารับใช้ ยื่นผ้าให้เจ้านายเพื่อเปลี่ยนก่อนเข้าเฝ้า ซึ่งในสมัย ร.4  เริ่มมีประกาศให้ข้าราชการนุ่งเสื้อเข้าเฝ้าแล้ว   ผ้าลายจากอินเดียเป็นที่นิยมมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5  ผ้าแบบนี้ไม่ค่อยซักกันบ่อย เพราะค่อนข้างมีราคาจึงจะนุ่งเฉพาะตอนเข้าเฝ้าเท่านั้น พอออกมาก็เปลี่ยนเป็นผ้าธรรมดา  ผ้าสมปักบางผืนมีเชิงหลายชั้นส่วนใหญ่ผู้นุ่งคือผู้ชายและเป็นข้าราชการ ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าเชิงเดียว จึงมีคนพูดกันว่าผู้ชายมีชั้นเชิงมากกว่าผู้หญิง  ผ้าลายของผู้หญิงจะดอกเล็ก ถ้ามีหลายเชิงก็จะใช้นุ่งในโอกาสสำคัญ ในสมัยรัชกาลที่ 5 กฎระเบียบเรื่องการใช้ผ้าของราชสำนักก็เริ่มลดลง ผ้าลายจึงเริ่มออกจากราชสำนักสู่สามัญชน โดยเฉพาะสมัย ร. 6 นิยมแต่งกายแบบฝรั่ง นุ่งซิ่น สำหรับการทำผ้าลายมีหลักฐานว่าไทยออกแบบลวดลายแล้วส่งไปให้ประเทศอินเดียผลิตเรียกว่าผ้าลายอย่าง (มาจากผ้าลายอย่างไทย)  บริษัทที่ส่งผ้าเข้ามาขาย เช่น มัสกาตี ที่วัดคงคารามยังพบหลักฐานสำคัญของผ้าจากอินเดีย คือผ้าที่ใช้ห่อผ้าจากอินเดียมาขาย เป็นผ้าฝ้ายสีแดงเนื้อหยาบ พิมพ์อักษรสีดำเป็นภาษาอินเดีย  ซึ่งอาจารย์ประภัสสรดั้นด้นไปให้เจ้าของวัฒนธรรมอ่านได้ว่า "ผ้าลายมัสกาตี" ปัจจุบันบริษัทนี้เลิกนำผ้าอินเดียเข้ามาขายแล้วตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไทยจึงผลิตผ้าลายไทยขึ้นใช้ ผ้าลายอินเดียก็เลยหมดไป ผ้าอินเดียเข้ามาได้อย่างไร และกระจายตัวมาตามหมู่บ้านได้อย่างไร อ.ประภัสสรสันนิษฐานว่า อาจมาตามตลาดใหญ่ๆก่อน  แล้วแพร่จากตลาดไปยังชุมชน โดยแขกและคนจีนจะหาบผ้ามาขายตามบ้าน  สมัยรัชกาลที่ 4 ไทยส่งข้าวเป็นสินค้าออก ช่วงนั้นคนหันไปปลูกข้าว และทอผ้าน้อยลง ผ้าตลาด และผ้าอินเดีย จึงเข้ามาตีตลาด และมีหลักฐานว่ามีการนำข้าวไปแลกกับผ้าด้วย การพบผ้าชั้นสูงที่เป็นผ้าของระดับเจ้าพระยาจำนวนมากที่วัดคงคาราม อาจเป็นเพราะบริเวณบ้านคงคารามเป็นศูนย์กลางชุมชนเดิมที่มีคนมอญเป็นข้าราชการอยู่มาก ซึ่งตอนหลังทายาทคงมอบให้กับทางวัด ซึ่งทางวัดนำมาใช้เป็นผ้าห่อคัมภีร์ จากการสำรวจผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์พบว่า ผ้าบางผืนเป็นผ้านุ่งที่มีขนาดยาวมาก แต่ยาวเกินไปสำหรับห่อคัมภีร์ก็มีการตัดแบ่ง ซึ่งสามารถนำมาต่อกันได้  บางผืนเป็นเสื้อ  ผ้าบางผืนมีการซ่อมแซมรอยชำรุดรอยขาดก่อนที่จะนำมาถวายวัด   คุณภุชงค์ ยกกระบัด ชาวชุมชนวัดคงคาราม เล่าให้ฟังว่า ท่านได้มอบผ้าของบรรพบุรุษให้กับพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ผ้านี้เมื่อก่อนเป็นของ.... ได้จากการทำค้าขายกับคนมอญแถบเมืองสังขละบุรี เมื่อ....เสียชีวิต ก็นำมามอบให้พิพิธภัณฑ์   ผ้าห่อคัมภีร์จากผ้าพื้นเมืองพื้นบ้าน  นอกจากผ้าต่างประเทศแล้ว ยังพบผ้าห่อคัมภีร์แบบมอญโบราณ คือจะมีแกนไม้ไผ่อยู่ด้านในแล้วถักทอด้วยเส้นด้ายเป็นลวดลายต่างๆ  ผ้าแบบนี้พบนอกจากจะพบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามลัว ยังพบที่บ้านม่วง เป็นชุมชนชาวมอญใน อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลุ่มคนยองทางภาคเหนือ และในพม่า ส่วนผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ผ้าลายตาราง   พบเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่ใช้เป็นผ้าห่อจริงกับผ้าที่ใช้เป็นผ้าดามพื้นหลังเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผ้าห่อคัมภีร์ มีทั้งทำจากผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ผ้าโสร่งไหมอาจไม่ใช่ของชาวมอญ  เพราะที่นี่ไม่เลี้ยงไหม แต่อาจมาจากภาคอีสานโดยมีผู้ซื้อมาถวาย หรือมีคนอีสานเข้ามาขายผ้าแถบนี้ เพราะในสมัยก่อนเมื่อหมดฤดูทำนา คนจากภาคอีสาน เช่นจากปักธงชัย โคราช จะหาบผ้ามาขาย  ผ้าแบบนี้มีลักษณะเหมือนสไบ หน้าแคบมีลายขวาง ซึ่งพบที่เดียวคือที่วัดคงคาราม          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอินเดียก็ไม่ส่งผ้ามาขายแล้ว แต่มีผ้าลายจากญี่ปุ่นและยุโรป ที่ผลิตจากโรงงานด้วยวิธีใช้แม่พิมพ์แบบลูกกลิ้งพิมพ์ลาย ซึ่งผลิตได้ง่ายและราคาถูกกว่า ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามเราพบผ้าห่อคัมภีร์ที่น่าจะเป็นผ้าจากญี่ปุ่นจำนวนมาก ผ้าญี่ปุ่นจะเป็นลายเล็กๆ น่ารัก บางทีก็ลอกเลียนแบบลายของอินเดีย ผ้าเหล่านี้บ้างก็ใช้เป็นผ้ารองด้านใน  บ้างก็เย็บเป็นผ้าสำหรับห่อคัมภีร์โดยตรง และบางผืนก็มีลักษณะคล้ายกับผ้าห่อกล่องข้าวแบบญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนญี่ปุ่นได้มาเปิดร้านขายผ้าในจังหวัดกาญจนบุรีและในพื้นที่จ.ราชบุรี ซึ่งทั้งอำเภอโพธาราม และอำเภอบ้านโป่ง ก็เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณยายฉลาด ชาวชุมชนวัดคงคาราม เล่าว่าในสมัยที่คุณยายยังเด็ก เคยเห็นทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านบริเวณนี้ด้วย   นอกจากการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องผ้าชนิดต่างๆ ให้กับชาวชุมชนแล้ว ศูนย์ฯ และชาวชุมชน ยังได้ร่วมกันอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์เพื่อยืดอายุของผ้าในฐานะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางด้านศิลปะและพลังศรัทธาของชุมชน อาจารย์ประภัสสรได้เสริมความรู้และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ผ้าอย่างง่ายให้กับชาวบ้าน ทั้งการเก็บรักษาผ้าให้คงสภาพดีด้วยวิธีการม้วนผ้ากับแกนเพื่อไม่ให้เส้นใยผ้าหักงอ การจัดแสดงผ้าด้วยการตรึงผ้ากับกรอบไม้ และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผืนผ้าด้วยการทำผ้าดามหลัง รวมทั้งการซ่อมแซมผ้าซึ่งมีทั้งวิธีการตามหลักการอนุรักษ์ และวิธีแบบพื้นบ้านผสมผสานกัน โดยได้ความร่วมมือร่วมใจจากลุงป้าน้าอาชาวคงคาราม และพระวัดคงคาราม มาช่วยกันอย่างแข็งขัน กิจกรรมอนุรักษ์ผ้าวัดคงคาราม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องผ้าให้กับชาวชุมชนเพื่อให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ให้คงอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น การสร้างโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ การดูแลรักษาข้าวของในพิพิธภัณฑ์ ยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่าง พิพิธภัณฑ์ วัด และชุมชนมากขึ้น นับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์กับชุมชนเกิดการเรียนรู้และได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ และจะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ ชุมชน รวมถึงหน่วยงานทั้งในและนอกชุมชนในรูปแบบต่างๆ ในอนาคต   อ้างอิง: เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่องผ้า โดยประภัสสร โพธิศรีทอง ในกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ณ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี  และการเก็บข้อมูลในชุมชน โครงการอบรม/ สร้างเวทีเพือสร้างพลังชุมชนท้องถินและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ชุมชนวัดคงคาราม จ.ราชบุรี พ.ศ.2554.

ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

02 ตุลาคม 2558

วัตถุหรือข้าวของ เป็นหลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต และเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนความทรงจำ ให้ย้อนระลึกถึงเรื่องราวที่เคยเกี่ยวข้องกับมัน ไม่เพียงเล่าถึงชีวิตของคนที่เคยใช้หรือวิถีชุมชนในอดีต แต่วัตถุยังสามารถบอกเล่าปรากฏการณ์บางอย่างของสังคม  กิจกรรมร้อยของร้อยเรื่องร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดขึ้นในพ.ศ. 2558  จึงเป็นการชวนให้ชาวพิพิธภัณฑ์ได้ค้นหาเรื่องราวและความหมายของวัตถุในมุมมองที่หลากหลาย นอกจากจะเป็นการเพิ่มเรื่องเล่าให้กับวัตถุในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังเชื่อมโยงคนกับคน คนกับข้าวของ คนกับชุมชน ทั้งในท้องถิ่นเดียวกันและท้องถิ่นอื่นๆ  ที่แม้ไม่ได้อยู่ใกล้เคียง แต่มีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกัน ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จึงไม่ใช่การแสดงจำนวนแต่เป็นการเชื่อมโยงร้อยเรียงระหว่างคน เรื่องราว และวัตถุ  ที่ทำให้เห็นชีวิตคนทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกระบวนการที่ศูนย์ฯ นำมาใช้ในการ ร้อยของ ร้อยเรื่อง และร้อยคน  หรือที่เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์ หนึ่งในทีมงานเรียกว่า recollection คือการสร้างพื้นที่ให้คน ของ และเรื่องมาเจอกัน เพื่อร่วมกันทบทวนความรู้ แชร์เรื่องเล่าและประสบการณ์  รวมถึงการร่วมกันสร้างเรื่องเล่าใหม่ ทำให้เกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ ความรู้ใหม่ ประสบการณ์ใหม่  ความรู้ที่ได้จากการสืบค้น แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการบันทึกเรื่องราว  และกระบวนการการร่วมกันสร้างความรู้ดังกล่าว ปลายทางคือต้นฉบับหนังสือ “ร้อยของ ร้อยเรื่อง เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น”  เพื่อเป็นพื้นที่หนึ่งในการบันทึกและถ่ายทอดความรู้ท้องถิ่น - เวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์รวมภาค:ชี้แจงโครงการและหาผู้ร่วมก่อการ -กระบวนการเริ่มจากการชักชวนชาวพิพิธภัณฑ์ให้เลือกวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในชุมชน โดยแบ่งหมวดหมู่วัตถุเพื่อเป็นกรอบกว้างๆ ในการคัดเลือกวัตถุมาเล่าเรื่องใน 6 หมวดหมู่  คือ การทำมาหากิน การแต่งกาย  การรักษาโรค ของใช้ในบ้าน  การละเล่น/บันเทิงเริงรมย์ และศาสนาและความเชื่อ  แล้วให้ชาวพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวของวัตถุชิ้นนั้น โดยมีแบบบันทึกข้อมูลวัตถุ เพื่อช่วยให้ผู้สืบค้นข้อมูลนึกออกว่ามีวัตถุแต่ละชิ้นจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง  และนำข้อมูลนั้นมานำเสนอในการประชุมเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั้งประเทศที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2557  เวทีนี้มีพิพิธภัณฑ์ส่งวัตถุและเรื่องเล่ามามากว่า 180 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ 70 แห่ง โดยแบ่งกลุ่มนำเสนอแบบคละภาค  และพยายามจัดให้พิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุในหมวดหมู่เดียวกันมาอยู่เวทีนำเสนอกลุ่มเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัตถุคล้ายกันแต่อาจใช้งานต่างกัน คำเรียกชื่อวัตถุต่างกัน  การให้ความหมายหรือคุณค่าแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ภูมิภาค นอกจากนี้การแลกเปลี้ยนในเวทียังทำให้ขอบเขตหรือนิยามความหมายของหมวดหมู่ชัดเจนขึ้น เพราะชาวพิพิธภัณฑ์ได้ช่วยกันกำหนดนิยามของแต่ละหมวดหมู่ เช่น “ของใช้ในบ้าน” จะหมายถึงอะไรได้บ้าง ใช้นอกบ้านถือเป็นของใช้ในบ้านหรือไม่ อย่างไร การทำมาหากินจะหมายถึงอะไรบ้าง  ข้อท้าทายประการหนึ่ง ที่ทีมงานมักจะถูกถามว่าทำไมต้องเป็นของที่ยังใช้งานอยู่  เพราะของในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นของที่ไม่ใช้แล้ว และมักจะกล่าวว่าพิพิธภัณฑ์มีของเก่าแก่ทรงคุณค่ามากมายน่าจะหยิบมานำเสนอ ดีกว่าวัตถุที่ยังมีการใช้งานอยู่ซึ่งดูเป็นวัตถุธรรมดาสามัญ  ซึ่งก็เป็นความจริงที่แต่ละพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุศิลปวัตถุที่มีความเก่าแก่ หาดูได้ยาก บางชิ้นมีความลวดลายวิจิตร งดงาม เป็นที่ภาคภูมิใจเป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แต่เหตุที่ทีมงานเสนอว่าให้เป็นวัตถุที่ยังใช้งานอยู่เพราะเรา(ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ทีมงานศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และผู้สนใจ) สามารถหาที่มาที่ไปได้ของวัตถุได้  ไปพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องได้ เห็นบริบทของวัตถุ ความสัมพันธ์ของคนกับวัตถุ  ทำให้เรื่องเล่ามีชีวิตชีวา  และเห็นความหมาย หน้าที่ ความสำคัญของวัตถุที่ยังคงใช้สืบมาถึงปัจจุบันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง   แบ่งกลุ่มนำเสนอข้อมูลวัตถุ ในเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เดือนธันวาคม - แบบบันทึกข้อมูลวัตถุ : เครื่องมือช่วยคิดว่าเราจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง -หลังจากการประชุมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เมื่อเดือนธันวาคม ทีมงานนำข้อมูลที่ได้จากวงแลกเปลี่ยนและข้อมูลวัตถุเบื้องต้นที่ชาวพิพิธภัณฑ์นำเสนอ มาพัฒนาแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลเพื่อเพิ่มมุมมองและครอบคลุมเรื่องเล่าบางอย่าง  และเชื่อว่าแบบบันทึกข้อมูลชุดใหม่จะช่วยให้ผู้เล่าเรื่องหรือผู้สืบค้นข้อมูลมีมุมมองในการเล่าเรื่องมากขึ้น  เห็นเรื่องเล่าเฉพาะวัตถุแต่ละชิ้นมากขึ้น และที่สำคัญคือมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนกับวัตถุ ในช่วงเวลาต่างๆแบบบันทึกข้อมูลวัตถุที่ทีมพัฒนาขึ้น พยามนำเสนอมุมมองให้ผู้ที่ไปสืบค้นข้อมูลมีมุมมองวัตถุในมิติต่างๆ ทั้งที่เห็นเป็นรูปธรรมและนามธรรม ความเป็นรูปธรรมเช่นลักษณะวัตถุอันประกอบด้วยวัสดุ รูปทรง สีสัน ลวดลาย บางชิ้นอาจมีคำจารึก ร่องรอยการใช้งาน และสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่จะรู้ได้จากประสบการณ์ และคำบอกเล่าจากความทรงจำ เช่น ชื่อเรียกท้องถิ่น วิธีผลิต ผู้สร้าง ผู้ผลิต   วิธีการใช้งาน  ประวัติความเป็นมา ความเชื่อ การได้มาของวัตุ ความสำคัญ  เป็นต้น  ทีมงานนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกและเล่าเรื่องของชาวพิพิธภัณฑ์ที่ได้นำเสนอในครั้งแรก กรอกในแบบบันทึกข้อมูลชุดใหม่ แล้วส่งกลับให้ชาวพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ชาวพิพิธภัณฑ์ค้นคว้าข้อมูลที่ยังไม่ได้เล่า  หรือมุมมองที่ยังสามารถค้นคว้าเรื่องราวของวัตถุนั้นได้อีก เพื่อให้ค้นคว้าต่อ แล้วนำมาคุยแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนาระดับภูมิภาค ในการประชุมเครือข่าย 4 ภูมิภาค- เวทีเครือข่าย 4 ภูมิภาค : กระชับพื้นที่วงสนทนา -เวทีเครือข่ายระดับภูมิภาค ที่จัดขึ้น อีก 4 ครั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้และภาคเหนือ เป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูลที่ชาวพิพิธภัณฑ์ได้ไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม โดยมีแนวคำถามให้ชาวพิพิธภัณฑ์ไปค้นคว้าต่อจากแบบบันทึกข้อมูลที่ส่งกลับไปให้ เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลที่วัตถุ  นอกจากนำเสนอข้อมูลเพิ่มแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกันในระดับภูมิภาค ซึ่งมีจุดร่วมกันบางอย่างที่จะช่วยกันเพิ่มมุมมองในการเล่าเรื่องให้กับวัตถุในระดับลึกขึ้น ในเวทีนี้เราเห็นการนำเสนอของเรื่องจากผู้เล่าหลายกลุ่ม บางเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของคนที่เคยใช้  บางคนเป็นช่างทำวัตถุนั้นๆ เรื่องเล่าบางเรื่องมาจากการเคยเห็นเคยพบหรือมีผู้ถ่ายทอดให้ฟัง ข้อมูลวัตถุในเวทีนี้จึงมีจุดร่วมบางอย่างและความแตกต่างกันในรายละเอียด  เช่น ชื่อเรียก วัสดุ วิธีผลิต วิธีใช้ ผู้ใช้ ผู้ผลิต ความต่อเนื่องในการใช้งานในแต่ละท้องถิ่น  ความต่างกันมีปัจจัยหลายอย่างทั้งภูมิประเทศ ทรัพยากร  เศรษฐกิจ ความเชื่อ  ฯลฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่า การเปรียบเทียบ เชื่อมโยงเรื่องเล่าและข้าวของของพิพิธภัณฑ์ตนเองกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง หลากหลาย เช่นกวัก อุปกรณ์หนึ่งในการปั่นด้ายสำหรับทอผ้า มีการใช้งานในหลายพื้นที่ทั้งในภาคเหนือ และภาคกลาง นอกจากใช้ในการปั่นฝ้ายแล้ว กวักยังถูกนำมาใช้ในการละเล่นเช่นการเล่นผีบ่ากวัก คุณยงยุทธ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านมณีทอง จังหวัดลำพูน เล่าว่า ช่วงปีใหม่เมือง(สงกรานต์) เขาจะเล่นผีบ่ากวัก เป็นผีอะไรก็ได้ อุปกรณ์ที่ใช้เล่นมีกวัก (บางแห่งแต่งตัวให้เป็นคน โดยส่วนหัวทำจากน้ำเต้า) ใช้ไม้ฮวกทำเป็นแขน เอาเสื้อใส่ และมีไม้ส้าวยาวๆ มีสวยดอกไม้ ดอกไม้จะใช้ดอกซอมพอหรือหางนกยูง มีน้ำขมิ้นส้มป่อย เวลาเล่นจะเล่นตามลานบ้าน เล่นตอนกลางคืนส่วนใหญ่ผู้เล่นเป็นหญิงสูงอายุ(เป็นแม่เฮือน) มีคำร้องเช่น  “.. เอาไม้ส้าวตีไปที่ดาวสุกใส..” การถามจะมีคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”  ถ้าใช่ก็แกว่ง ไม่ใช่ก็นิ่ง  ถามไม่ดี พิเรนทร์ ก็จะไปโขกหัว สนุกสนาน เป็นผีที่สนุกสนาน  ก่อนผีจะออกจะเอาน้ำขมิ้นส้มป่อย รดที่ตัวบ่ากวัก และจะออกไป  คนที่มาดูเมื่อก่อนจะเป็นหนุ่มสาวทั้งในหมู่บ้านเดียวกัน และหมู่บ้านใกล้เคียง  หนุ่มสาวถามเรื่องแฟน ส่วนการสานกวักที่ใช้ทอผ้าเชื่อว่าเวลาสาน ต้องไปสานนอกบ้าน ถ้าสานในบ้านเขาบอกว่ามันขึด ต้องไปสานในวัดในห้วย  คุณนเรนทร์จากมิกกี้เฮ้าส์ จังหวัดลำพูนกล่าวว่าที่ทาขุมเงิน จังหวัดลำพูน มีผีหม้อนึ่ง จะเล่นตอนกลางคืนวันที่พระจันทร์เต็มดวง คุณสุทัศน์ จากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ จังหวัดเชียงรายช่วยเสริมว่าการห้ามสานกวักในบ้าน ต้องใช้ไม้ผิว ซึ่งมีความคม ซึ่งในบ้านอาจมีเด็กเล็กซุกซน คมไม้ไผ่อาจบาดได้   คุณวินัย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแผ่นดินล้านนา จ.พะเยาเล่าว่าเคยเห็นการเล่นผีหม้อนึ่ง  เป็นหม้อที่นึ่งข้าวเหนียว  เป็นต้นนอกจาก ”ผีบ่ากวัก” ในภาคเหนือที่นำเสนอโดยบ้านมณีทองยังมีการเล่น “นางกวัก” ที่นำเสนอโดยศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย จังหวัดลพบุรี ซึ่งจะเล่นกันในช่วงสงกรานต์ และช่วงประเพณีกำฟ้าของชาวพวน โดยกวักและข้าวของที่ใช้ทำนางกวักต้องเป็นของแม่หม้าย ส่วนคนจับกวัก(คนอัญเชิญ) ต้องเป็นแม่หม้าย เดิมมักเล่นตามทางสามแพร่ง เชิญผีทางหลวง ผีทั่วไป คนที่เพิ่งตาย  ปัจจุบันเชิญเจ้าพ่อสนั่นเพราะเชิญผีอื่นอาจเป็นผีที่ไม่ดีมาเข้ากวัก จึงเชิญเฉพาะเจ้าพ่อสนั่นซึ่งเป็นที่นับถือของคนในชุมชน เมื่อเชิญวิญญาณมาแล้วก็จะถามคำถาม มีทั้งเวลาเรื่องธรรมชาติ การเล่าเรียน เรื่องลูกหลาน เรื่องทั่วไป เมื่อก่อนเขียนคำตอบบนดิน ต่อมาเขียนในกระด้งใส่ทรายเพราะต้องไปแสดงที่อื่น ถาม-ตอบ ใช่ -ไม่ใช่ เมื่อก่อนจะเล่นตอนกลางคืน ปัจจุบันเล่นได้ทั้งกลางวันและการคืน ส่วนมากเป็นการเล่นสาธิตในงานประเพณีข้อมูลเรื่องนางกวักหรือผีบ่ากวักจากการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์สองแห่ง การนำเสนอในเวทีภูมิภาคทำให้เห็นจุดร่วมถึงความเชื่อบางอย่าง เช่น การละเล่นเกี่ยวกับผีเรื่องผีที่มีหลากหลาย การใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวมาสื่อถึงผี บางแห่งอาจใช้วัสดุอุปกรณ์การเล่นต่างกัน ความเชื่อในเรื่องขึด หากเปรียบเทียบข้ามภาค(ภาคเหนือกับภาคกลาง) การเล่นนางกวักของมีทั้งความเหมือนและแตกต่าง โดยที่ใช้กวักเป็นอุปกรณ์การเล่นเหมือนกันคือกวักทอผ้า  แต่ต่างกันที่รายละเอียด เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาทำนางกวัก ของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทรายต้องเป็นกวักของแม่หม้าย (ของบ้านมณีทองไม่ต้องแต่งตัวให้กวักก็ได้หรือแต่งตัวก็ได้แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นของแม่หม้าย)  ผู้เล่นของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย ต้องเป็นแม่หม้าย แต่ของบ้านมณีทองเป็นผู้หญิงใครก็ได้ และผีที่เชิญพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากผีทั่วไป มาเป็นผีดี “เจ้าพ่อสนั่น” ที่เป็นที่นับถือของชุมชน  ส่วนเรื่องที่ถามในกรณี ของบ้านทรายมักจะเป็นเรื่องทั่วไป เรื่องลูกหลาน ส่วนของบ้านมณีทองการเล่นผีบ่ากวักเป็นพื้นที่หนึ่งของการพบปะกันของคนหนุ่มสาว เป็นต้น   ร้อยเรื่อง และร้อยของ : หลังจากพิพิธภัณฑ์นำเสนอข้อมูลแล้ว ทีมงานได้ชักชวนให้ชาวพิพิธภัณฑ์ลองดูว่า จากวัตถุจากเรื่องที่แต่ละแห่งนำเสนอ  ถ้าจะลองเล่าเรื่องที่แสดงวิถีชีวิตของคนในแต่ละภูมิภาค จากวัตถุที่มี จะเล่าเรื่องอะไรบ้าง ที่แสดงถึงวิถีชีวิตท้องถิ่น (กระบวนการนี้ทำในภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ) การเล่าเรื่องของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ นำมาผูกโยงกับงานประเพณี เช่นงานพระธาตุ งานลากพระ โดยสมมุติให้มีตัวละครดำเนินเรื่อง และพบเจอวัตถุต่างๆ อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เช่น ชายหนุ่มหญิงสาวควงคู่ไปดูการแสดงชายหนุ่มแต่งตัวด้วยผ้าจวนตานี เหน็บกริช พกกล้องยาสูบ หญิงสาว แต่งตัวด้วยชุดยะหยา ก่อนสวมใส่ชุดต้องรีดผ้าให้เรียบ ด้วยเตารีด ไปดูการแสดงหนังตะลุงแก้บนทวด ใช้รูปแสดงยักษ์ผู้ ฤาษี  ข้างโรงหนังตะลุง ขายขนมครก  ขนมก้อ ดูเสร็จกลับบ้าน จุดไต้ หุงข้าว แล้วไปอาบน้ำที่บ้อน้ำใช้ติมาตักน้ำ เป็นต้น บางแห่งเล่าเรื่องขนม โดยใช้วัตถุที่เป็นอุปกรณ์ทำขนม เช่น เบ้าหนมก้อ รางหนมครก ป้อยตวงสาร   ส่วนพิพิธภัณฑ์ภาคอีสานเชื่อมโยงวัตถุ 1 ชิ้นกับบริบทต่างๆ ในชุมชน ซึ่งทำให้เห็นความสัมพันธ์กับคนที่เกี่ยวข้อง เช่น แหเปิดจอม เป็นเครื่องมือจับปลาของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ที่สามารถทำแหที่ใช้ได้แม้ในสภาพแหล่งน้ำที่มีสิ่งกีดขวาง เช่น สวะ หนาม ใช้กับแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง และตื้น จับปลาตัวใหญ่ได้  คนหว่านแหต้องแข็งแรง ต้องไปกันเป็นทีม ปลาที่ได้ ทั้งเอาไปทำปลาร้า ขาย เป็นต้น ทำให้เห็นว่าวัตถุไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวหรือเล่าเฉพาะเรื่องของตัวเองแต่ยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนลักษณะพื้นที่ สภาพแหล่งน้ำ การดำรงชีพ ส่วนพิพิธภัณฑ์ภาคเหนือ เช่น พิพิธภัณฑ์ไหล่หินเล่าวิถีชีวิตของเกษตรกรบ้านไหล่หินที่ทำนาโดยใช้แรงงานจากวัวควาย ก๊างป๋อเป็นเครื่องมือ ที่ใช้ในการถักเชือกสำหรับร้อยจมูกวัวควาย เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาจะร่วมกันเกี่ยวข้าวและนวดข้าว การนวดข้าวจะใช้ไม้ม้าวข้าว คีบข้าวแล้วตีเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง และหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะมีงานบุญคือการตานข้าวใหม่ซึ่งจะมีการประดับตุงที่วัดที่เป็นสถานที่จัดงาน  เป็นต้นกระบวนการร้อยของและร้อยเรื่องดังกล่าวทำให้เห็นวิธีการเล่าเรื่อง ตามความถนัด ธรรมชาติและชีวิตประจำวันของคนแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งอาจแตกต่างกับการเล่าเรื่องของนักวิชาการหรือคนในอาชีพอื่นๆ  อย่างไรก็ตามการเล่าเรื่องของแต่ละแห่งสะท้อนให้เห็นสีสัน และลักษณะของผู้คนในแต่ละถิ่นได้อย่างน่าสนใจ  และอาจสื่อสารกับคนในท้องถิ่นเดียวกันได้เข้าใจมากกว่า เพราะมีวัฒนธรรมร่วมกัน ติดตั้งเครื่องมือบางอย่าง: เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ต่อ กระบวนการสำคัญที่ทีมงานคำนึงถึงคือการเพิ่มทักษะหรือการให้เครื่องมือบางอย่างกับผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำไปใช้ต่อได้ ขั้นต่อไปของการพัฒนาต้นฉบับคือชาวพิพิธภัณฑ์จะต้องกลับไปเขียนบทความและถ่ายภาพวัตถุแล้วส่งมาให้กับทีมงานเพื่อใช้ทำต้นฉบับหนังสือ การเรียนรู้วิธีการเขียนและการถ่ายภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความรู้และความมั่นใจในการสร้างเรื่องเล่าที่มาจากคนท้องถิ่นเอง เครื่องมือดังกล่าวนอกจากจะนำมาใช้ในการเขียนบทความในครั้งนี้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้สื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ เช่น ใบความรู้ แผ่นพับ ป้ายนิทรรศการ ฯลฯสร้างภาพ    จะถ่ายภาพอย่างไรให้สวยและสื่อ ทีมงานจัดให้มีการพูดคุยเพื่อแนะนำวิธีการถ่ายภาพอย่างง่ายเพื่อถ่ายภาพให้สวย และสื่อความหมาย โดยช่างภาพมือสมัครเล่นแต่ชอบการถ่ายภาพ มาแนะนำวิธีการถ่ายรูปเพื่อนำมาใช้ในสิ่งพิมพ์ โดยใช้กล้องธรรมดาๆ แบบที่ใครก็มี   โดยใช้แสง มุมมอง ฉากถ่ายภาพ  ทั้งการถ่ายเฉพาะวัตถุ และการถ่ายวัตถุกับบริบทการใช้งานเพื่อสื่อหน้าที่การใช้งานของวัตถุ โดยให้ชาวพิพิธภัณฑ์เห็นตัวอย่างภาพถ่ายวัตถุที่มีการใช้แสง มุมกล้องแบบต่างๆ  เพื่อให้เห็นตัวอย่าง และ รู้วิธี เพื่อนำไปใช้ได้ สร้างเรื่อง : เรื่องเล่าที่เขียนและเล่าโดยชาวพิพิธภัณฑ์  การบันทึก/การเขียนเป็นอุปสรรคของหลายคน รวมถึงชาวพิพิธภัณฑ์บางคน  บางคนถนัดที่จะเล่าเรื่อง เวลาเล่าจะเล่าได้อย่างออกรส และมีลีลาการเล่าที่น่าสนใจ แต่เวลาที่จะลงมือเขียนอาจไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จะเขียนอะไร หรือกังวลว่าเขียนแล้วจะไม่เป็นวิชาการ ข้อจำกัดนี้หลายคนอาจบอกว่าปัจจุบันมีวิธีการบันทึกเรื่องราวได้หลายรูปแบบทั้งการบันทึกเสียง ภาพเคลื่อนไหว  อย่างไรก็ตามการเขียนก็ยังคงมีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการบันทึกเรื่องเล่า และความรู้สึกของผู้คน นิทรรศการบางนิทรรศการ หนังสือบางเล่ม ใช้คำบรรยายและภาพมาช่วยสื่อเรื่องเล่าได้อย่างมีพลังและน่าสนใจโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอื่นๆ  เราจึงอยากให้ชาวพิพิธภัณฑ์ทดลองเขียน ไม่ต้องมากมายหรือจะต้องคำนึงเรื่องความเป็นวิชาการ แต่เขียนโดยใช้คำพูดของตนเองเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว โดยเชิญผู้มีประสบการณ์ในการเขียนมาช่วยแนะนำและชักชวนให้เขียนแบบง่ายๆ แต่ได้ใจความ และแสดงถึงหัวใจของสิ่งที่เราอยากสื่อได้จริงๆ แล้วเราก็พบว่า ทุกคนกำลังจะก้าวข้ามพ้นอุปสรรค หลายคนพบว่าการเขียนไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป - เก็บข้อมูลภาคสนาม ล้อมวงสนทนากลุ่มย่อย -หลังการประชุมเครือข่ายภูมิภาคเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม  ชาวพิพิธภัณฑ์กลับไปทำงานต่อโดยเลือกเรื่องที่จะเล่าของวัตถุชิ้นนั้น เขียนเป็นบทความหรือข้อมูลกลับมาให้กับทีมงาน ซึ่งทีมงานได้นำมาร่วมกันอ่าน  รวบรวมเนื้อหาและวางเค้าโครงหนังสือคร่าวๆ หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมบางเรื่อง การลงพื้นที่ ทำให้ทีมงานซึ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยจะมีความรู้อะไรเกี่ยวกับวัตถุเลย ได้เห็นและเข้าใจวัตถุและบริบทวัตถุมากขึ้น ขณะเดียวกันการเก็บข้อมูลก็ทำให้เกิดวงสนทนาเล็กๆ โดยมีผู้ร่วมสนทนาคือนักวิชาการศูนย์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ คนในชุมชนที่มีมีประสบการณ์โดยตรงกับวัตถุชิ้นนั้นๆ ยกตัวอย่างวงสนทนาเรื่องชุดเซิ้งหรือชุดเจยที่บ้านขี้เหล็กใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ที่นี่ทั้งชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่ในอาคารใดอาคารหนึ่ง วัตถุจึงเก็บรักษาไว้ที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของ  แม่นันทาซึ่งเป็นเจ้าของชุดเซิ้งและเป็นนางเซิ้ง เล่าว่าพ่อของแม่นันทาเป็นคนริเริ่มการทำชุดเซิ้งและขบวนเซิ้งบั้งไฟขึ้นในชุมชนเพื่อใช้เซิ้งบั้งไฟในงานบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล ซึ่งเมื่อก่อนขบวนเซิ้งเป็นผู้ชายทั้งหมดแต่แต่งตัวเป็นผู้หญิง สวมเสื้อและนุ่งผ้าซิ่นสีดำ สวมกวยหัวและกวยนิ้วที่สานจากไม้ไผ่  ซึ่งทางผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์กล่าวว่าเพิ่งได้รู้ว่าเมื่อก่อนเซิ้งเป็นผู้ชายเพราะรุ่นของตัวเองก็เห็นมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  แต่เคยเห็นภาพถ่ายเก่าที่ผู้ชายสวมชุดผู้หญิง แต่ยังไม่เคยหาข้อมูลว่าคืออะไร  วงสนทนาดังกล่าวจึงเป็นการเติมและทบทวนความรู้เกี่ยวกับการเซิ้ง นอกจากนี้ มีข้อแลกเปลี่ยนกันในการเรียกชื่อ ว่า “เซิ้ง “ หรือ “เจย” แม่นันทา และคณะไม่เคยได้ยินคำว่าเจย แต่ได้ยินคำว่า เซิ้ง และในบทกลอนที่ร้อง ก็มีคำว้าเซิ้ง ส่วนเจยเคยได้ยินแต่เจยป๊กล๊ก ซึ่งไม่มีขบวนมีแต่การเต้น ส่วนทางพ่อสุทธิและพี่นันทวรรณซึ่งเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ เชื่อว่าเป็น เจย เพราะมีบทเจยและเป็นคำเรียกที่มีเฉพาะพื้นที่ที่อยู่รอบเมืองหามหอกซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเดิมของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ การเจยมีหลายแบบ แต่ส่วนมากจะเป็นคำสอน ส่วนนักวิชาการศูนย์ฯ ในฐานะผู้ร่วมวงสนทนาได้ เสริมว่าเคยได้ยิน “เจี้ย” ซึ่งมีทางภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคำสอน  ซึ่งดูคล้ายกับเจยซึ่งเป็นคำสอนเช่นกัน  ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ แม้จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้แต่สร้างความอยากรู้ที่ทำให้ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านขี้เหล็กใหญ่ สนใจที่จะค้นคว้าหาความหมายต่อ เป็นต้น วงสนทนากลุ่มย่อย พื้นที่การแลกเปลี่ยน และสร้างความรู้เราได้อะไรจากกระบวนการร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์หรือ  recollection   1. เกิดพื้นที่ในการร่วมกันสร้างความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมีผู้ร่วมสนทนาจากหลายกลุ่ม และขยับจากผู้มีความรู้(ความรู้ที่อยู่ในตัวคน) มาเป็นผู้สร้าง(ลงมือเขียน บันทึก)ความรู้ ด้วยตนเอง2. ความรู้ (ที่อยู่ในของ+คน และความรู้จากการแลกเปลี่ยน) ความรู้ดังกล่าว เช่น ความรู้เกี่ยวกับนิเวศ พืชพรรณ กระบวนการผลิต วิธีการใช้งาน การหาอยู่หากิน ภูมิปัญญา ความเชื่อ ความศรัทธา ฯลฯ  การค้นหาเรื่องราววัตถุในแง่ต่างๆ ทำให้เกิดการทบทวนความรู้ ข้อมูลใหม่ มุมมองใหม่ เรื่องเล่าใหม่ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชุมชน  วัฒนธรรม   การร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราว เติมเต็มข้อมูล และเชื่อมโยงเรื่องราววัตถุกับผู้อื่น รวมถึงการเล่าเรื่องร่วมกัน เกิดเรื่องราวใหม่ ความรู้ใหม่ และแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน  3. กระบวนการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันพัฒนาต้นฉบับหนังสือ ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่การเลือวัตถุ การเล่าเรื่อง การเขียน การตรวจสอบข้อมูล  ต้นฉบบับหรือหนังสืออาจเป็นปลายทางที่บันทึกความสำเร็จและความรู้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้สร้างพื้นที่การทำงานของเครือข่าย พัฒนาความสัมพันธ์ และการสร้างความรู้ร่วมกันของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ กระบวนการร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ หลังจากนี้ทีมและเครือข่ายจะร่วมกันวางเค้าโครงเรื่องราวที่ได้ รวบรวมและเรียบเรียง ให้อ่านเข้าใจง่าย น่าสนใจ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ฯลฯ พิพิธภัณฑ์แห่งไหนหยิบวัตถุอะไรมาเล่า  วัตถุแต่ละชิ้นจะมีความน่าสนใจอย่างไร แต่ละขั้นตอนจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม

20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม
2021 © ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
www.sac.or.th

วันจันทร์-ศุกร์ : 08.00-17.00 น.

TELEPHONE
0-2880-9429
E-MAIL
webmaster@sac.or.th
FAX
0-2880-9332

Content Manager

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
นักวิชาการ

ช่องทางการรับฟังความคิดเห็น
Application : Smart SAC
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  • รายชื่อพิพิธภัณฑ์
  • Online Exhibits
  • Research & learning
  • สื่อสิ่งพิมพ์
  • เทศกาล และข่าวสาร
  • ศมส.
  • เพิ่มพิพิธภัณฑ์ใหม่
เกี่ยวกับเว็บไซต์
  • เกี่ยวกับโครงการ
  • ทีมงาน
  • ติดต่อเรา
  • สถิติพิพิธภัณฑ์
  • สถิติเว็บไซต์
ช่วยเหลือ
  • กฎ กติกา และมารยาท
  • คำถามที่พบบ่อย
  • แนะนำและแจ้งปัญหา
เกี่ยวกับโครงการ
  • เกี่ยวกับโครงการ
  • ทีมงาน
  • ติดต่อเรา
  • สถิติพิพิธภัณฑ์
  • สถิติเว็บไซต์