รายชื่อพิพิธภัณฑ์

ศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้านเชียงคาน

ศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้านเชียงคาน ก่อกำเนิดจากการทำงานวิจัยไทบ้านของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเชียงคาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จากนั้นกลุ่มได้เริ่มเก็บไม้ลอยน้ำเพื่อนำมาสร้างศูนย์เรียนรู้ฯ ต่อมาองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) เข้ามาสนับสนุนงบประมาณการสร้างศูนย์เรียนรู้ วัตถุประสงค์ของศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้านเชียงคานคือ ต้องการรักษาวิถีวัฒนธรรมการดำรงชีพของบรรพบุรุษ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน บอกถึงปัญหาอุปสรรคที่มากระทบกับวิถีชุมชน เช่น การขึ้นลงของแม่น้ำโขงไม่ปรกติเมื่อครั้นอดีต ในรูปแบบของนิทรรศการวิถีชีวิตแม่น้ำโขง โมเดลปลาชนิดต่างๆ รวมถึงมีการแสดงเครื่องมืออุปกรณ์หาปลาที่ใช้งานได้ เช่น มอง (ข่าย) เบ็ด ซ้อน และเอกลักษณ์การหาปลาที่ไม่เหมือนใครคือการหาปลาด้วย “นาม”

จ. เลย

บ้านพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์(พ.ค.ม.) หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 11

หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 11 หรือในชื่อเดิมคือหมู่บ้านรัตนกิตติ 3 ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากาบัง โดยกองทัพบก (แม่ทัพภาคที่ 4) ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จากกรมป่าไม้ จัดสรรให้แก่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(กลุ่มคอมมิวนิสต์มลายา) เพื่อให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติ ไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยอันเป็นหลักประกันชีวิตและครอบครัว เป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เพื่อให้ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมด้านป่าไม้และน้ำ ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย โครงการหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนาฯ ดังกล่าวอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ การจัดทำพิพิธภัณฑ์คือการรวบรวมและจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์ อาวุธ เครื่องแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ ภาพถ่าย เอกสาร ของกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาที่ต่อสู้กับรัฐบาล เพื่อการเรียนรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่

จ. ยะลา

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอาจารย์ศรี ธมฺมปาโล วัดโคกเหรียง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อาจารย์ศรี ธมฺมปาโล ตั้งอยู่ที่วัดโคกเหรียง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ตัวพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่อุโบสถหลังเก่าวัดโคกเหรียง ซึ่งก่อสร้างในสมัย พระอธิการศรี ธมฺมปาโล ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสสมัยนั้น ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2479 ในการก่อสร้างได้รับความร่วมมือจากพระ ชาวบ้าน ช่วยกันจัดหาเช่น หิน ทราย ไม้ ส่วนเหล็ก ซื้อจากตัวเมืองอำเภอหาดใหญ่ ส่วนกระเบื้องสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น สร้างโดยนายช่างชื่นและนายช่างชม บ้านควนเพ็ง จังหวัดพัทลุง สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2482 ในปี พ.ศ.2528 พระครูกิติยารักษ์สมัยนั้นได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ เพราะหลังเก่าทรุดโทรมมากแล้วเป็นอันตรายต่อพระสงฆ์และบุคคลทั่วไป ต่อมาพระครูโสภณคณาภิบาลได้ดำเนินการสร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2549 ได้มีการประชุมเกี่ยวกับอุโบสถหลังเก่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงใช้เป็นที่ทำการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอาจารย์ศรี ธมฺมปาโล”

จ. สงขลา

โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ที่ตั้งอยู่หน้าวัดป่าแดด มีเหตุจำเป็นบางประการต้องปิดตัวลงในสถานที่ทำการเดิม คณะผู้ก่อตั้งนำโดยคุณวีรวัฒน์ กังวานนวกุล ได้หาพื้นที่ใหม่ที่ไม่ไกลจากที่เดิม และได้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ในชื่อใหม่ที่เรียกว่า "โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้" แต่ยังคงแนวคิดเดิมคือการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ผ่านของเล่นที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และของเล่นพื้นบ้านที่ผลิตโดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ด้วยเชื่อว่า ของเล่นสร้างการเรียนรู้ได้ และการเล่นทำให้เกิดการค้นพบ โดยนำบทเรียนจากการทำงานในพิพิธภัณฑ์เล่นได้กว่าสิบปี มาปรับรูปแบบใหม่เป็นโรงเล่น มีสามเรื่องที่สนใจคือ "สร้างพื้นที่เล่น รักษาของเล่นเก่า และพัฒนาของใหม่" ซึ่งโจทย์ใหม่ในการทำงาน จากทีมงานรุ่นใหม่ในนาม "young maker" ที่ต้องการนำความรู้ด้านการประดิษฐ์และงานกลไกที่สนใจ มาพัฒนาต่อยอด ทำให้ของเล่นที่คุ้นเคยแบบเดิมมีชีวิตชีวา และตื่นตาตื่นใจมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ของเล่นอยู่ได้ยั่งยืน ไม่สูญหายไปพร้อมคนเฒ่าคนแก่ โรงเล่นยังจัดกิจกรรมเวิร์คช้อปหลากหลายผ่านการเล่น และการประดิษฐ์ของเล่น

จ. เชียงราย

พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ สงขลา

เมื่อกรมธนารักษ์มีนโยบายขยายงานการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ในภูมิภาค โดยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์จังหวัดสงขลาและโอนภารกิจด้านการรับจ่าย-แลกเหรียญกษาปณ์สังกัดสำนักบริหารเงินตราไปสังกัดสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สงขลา รวมทั้งย้ายที่ทำการไปตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันที่ศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์จังหวัดสงขลาแห่งใหม่ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินจึงมีโครงการที่จะปรับปรุงพื้นที่บริเวณศาลาธนารักษ์ 2 และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สงขลาเดิม เพื่อจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินเพิ่มเติม รวมทั้งมีการคัดเลือกทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินพร้อมเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทยโดยเฉพาะที่พบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ออกมาหมุนเวียนจัดแสดง ณ ศาลาธนารักษ์ 2 เพื่อให้เยาวชนและประชาชนที่อยู่ในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสเข้าชม รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์เงินตรา เหรียญกษาปณ์ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน โดยพิพิธภัณฑ์จะพาย้อนกลับไปสู่เรื่องราวของผู้คนบนคาบสมุทรภาคใต้ ตั้งแต่เมื่อครั้งดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ของไทยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าโบราณสำคัญเมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว ที่เรียกว่า "เส้นทางสายไหมทางทะเล" เป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้าของซีกโลกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่เรียกกันว่า "สุวรรณภูมิ" พัฒนาการต่อเนื่องมาถึงยุคที่มีการผลิตเงินตราท้องถิ่นขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ก่อนจะยกเลิกเงินตราท้องถิ่นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเปลี่ยนมาใช้เงินตราที่ผลิตจากส่วนกลาง ซึ่งมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และเป็นเงินตราซึ่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระบบสากล

จ. สงขลา

พิพิธภัณฑ์สมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

พิพิธภัณฑ์สมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานในสังกัดสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข รวบรวมตัวอย่างสมุนไพรแห้งและดอง (herbarium specimens) ตัวอย่างเครื่องยา (crude drug collections) ประมาณ 5,000 หมายเลข จัดทําข้อมูลลักษณะทางพฤกศาสตร์จํานวน 120 ชนิด ภาพวาดลายเส้นสมุนไพรจํานวน 5 ตํารับ 72 ชนิด และเอกลักษณ์ โครมาโทรกราฟี แบบชั้นบางของสมุนไพร (TLC fingerprint) จํานวน 60 ชนิด นอกจากนี้ยังได้จัดทําระบบฐานข้อมูลตัวอยาง สมุนไพรออนไลน์ทางเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน นักวิจัย และผู้สนใจทัวไป ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์สมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีตัวอย่างสมุนไพรมากกว่า 3,000 ชนิด 5,000 หมายเลข เป็นแหล่งศึกษา วิจัย สํารวจ รวบรวมตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้ในตํารับยาแผนไทย สมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาสามัญประจําบ้าน สมุนไพรหายาก ใกล้สูญพันธุ์ ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัยและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยจัดเก็บในรูปแบบตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ดอง และตัวอย่างเครื่องยา ตามรูปแบบพิพิธภัณฑ์พืชสากล จัดทํามาตรฐานและพิสูจน์เอกลักษณ์สมุนไพรด้วยวิธีการทางอนุกรมวิธานพืช (plant taxonomy) กายวิภาคศาสตร์ (plant anatomy) พฤกษเคมี (plant phytochemicals) และชีวโมเลกุลของพืช (plant molecular biology) เพื่อรองรับการอ้างอิงมาตรฐานสมุนไพรเพื่อการวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ

จ. กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอมือหริภุญชัย

สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ผู้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาการทอผ้าของคนลำพูน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และด้วยเกรงว่าจะสูญหายไปกับกาลเวลา อบจ.ลำพูนจึงได้จัดตั้งสถาบันนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการทอผ้าด้วยมือและสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าของจังหวัดลำพูน เพื่อพัฒนาตลาดผ้าทอ สร้างอาชีพที่มั่นคงและมีคุณค่าของจังหวัดลำพูน ภายในมีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมการทอผ้าของคนลำพูน เป็นสถานที่จัดแสดงความเป็นมาของผ้าทอ ผ้าทอที่โดดเด่นและมีชื่อเสียง คือผ้าไหมยกดอกลำพูน ซึ่งถือเป็นราชินีของผ้าไหมยกดอกแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีความสวยงาม มีประวัติความเป็นมาแต่ครั้งเจ้าดารารัศมีได้คิดค้นวิธีการทอผ้ายกดอก และถ่ายทอดศิลปะผ่านลายผ้าให้เป็นเครื่องแต่งกายของคนชั้นสูง และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI)

จ. ลำพูน

หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 150 ปี พระราชสมภพสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และ 120 ปี พระราชสมภพสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ใน พ.ศ. 2555 คณะพยาบาลศาสตร์จึงได้จัดสร้าง “หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี” และ “หอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ” ณ บริเวณชั้น 1 ของอาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทั้งสามพระองค์ทรงมีต่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และวิชาชีพการพยาบาล และเพื่อเผยแผ่พระเกียรติคุณให้เกิดแรงบันดาลใจแก่อนุชนรุ่นหลังในการมีจิตวิญญาณของการเป็น “ผู้ให้” โดยยึดถือประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และถ่ายทอดแนวพระราชดำริและพระราชจริยวัตรอันงดงามอันเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตแก่นักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพ นอกจากนี้ ยังมี ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “นราธิวาสกัลยาณวัฒน์” จัดแสดงนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีต่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิชาชีพการพยาบาล และการสาธารณสุขไทย

จ. นครปฐม

พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งวิถีชีวิตชาวชนบทอีสาน วัดป่าแสงอรุณ

วัดป่าแสงอรุณ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2473 โดยพระอาจารย์เทสก์ เทศรังสี (หลวงปู่เทสก์) วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย และพระอาจารย์ปิ่น ปัญญาพโล เริ่มแรกยังมิได้มีการตั้งชื่อวัด เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "วัดป่าพระคือ" เนื่องจากชาวบ้านพระคือให้ความอุปถัมภ์วัดมาก่อน ต่อมาหมู่บ้านเลิงเปือยให้การอุปถัมภ์บำรุงวัด และมีการตั้งชื่อวัดใหม่ว่า "วัดป่าแสงอรุณ" ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2528 ทางวัดได้รับพระราชทาวิสุงคามสีมา มีสิ่งปลูกสร้างที่น่าสนใจคืออุโบสถ ที่เป็นสิมอีสานประยุกต์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบอีสานตอนบนผสมผสานกับสถาปัตยกรรมภาคกลาง ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งวิถีชาวชนบทอีสาน เป็นลักษณะเป็นซุ้มมีหลังคา แต่ละซุ้มจัดแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวชนบทอีสาน โดยนำเสนอเป็นลักษณะหุ่นปั้นเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรม การหาอยู่หากินของชาวชนบทอีสาน

จ. ขอนแก่น