พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือก


ที่อยู่:
ตรงข้ามวัดหนองเงือก บ้านหนองเงือก หมู่ 5 ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
โทรศัพท์:
089--1922056 ติดต่อผู้ใหญ่บ้าน ปิติพงศ์ ปันเจริญ
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2552
ของเด่น:
ปั๊บสา, คัมภีร์ใบลาน, ของใช้พื้นบ้าน, เครื่องมือการเกษตร
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือก

บ้านหนองเงือก ตั้งอยู่ในตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเชื้อสายยอง “ยอง” เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทและมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่เมืองยอง ซึ่งอยู่ในประเทศเมียนม่าร์ในปัจจุบัน ในประวัติศาสตร์คนยองถูกกวาดต้อนเข้ามาในดินแดนไทยเมื่อสองร้อยกว่าปีล่วงมาแล้ว

หนังสือคนยองย้ายแผ่นดิน ของแสวง มาละแซม ให้ข้อมูลว่า ชาวยองถูกกวาดต้อนลักษณะเทครัวในสมัยพระเจ้ากาวิละเพื่อการฟื้นฟูบ้านเมือง หลังจากที่อิทธิพลของพม่าเริ่มหมดไปจากที่ราบเชียงใหม่ ลำพูน  แบ่งได้ 3 ช่วงเวลา ช่วงแรกระหว่างปี พ.ศ. 2325-2339 ช่วงที่สองระหว่าง พ.ศ. 2339-2348 และช่วงที่สามระหว่าง พ.ศ. 2348-2356  โดยจากการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง เข้ามาตั้งถิ่นในเมืองลำพูน  จากนั้นคนยองได้ขยายตัวออกไปตั้งชุมชนในที่ต่างๆ และได้กลายเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของเมืองลำพูน

สำหรับคนยองบ้านหนองเงือกนั้น แผ่นพับประชาสัมพันธ์ของหมู่บ้านให้ข้อมูลว่า ช่วงปี พ.ศ. 2348 – 2356 มีชาวยอง 5 ครอบครัว อพยพมาจากบ้านม่อน เมืองยอง ประเทศเมียนม่าร์ เข้ามาตั้งรกราก ณ บ้านหนองเงือกปัจจุบัน โดยสามครอบครัวตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศเหนือหมู่บ้านเรียกชื่อว่า “บ้านม่อน” ตามชื่อหมู่บ้านเดิมของตนในเมืองยอง ในช่วงแรกบ้านม่อนเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน มีการสร้าง “ใจบ้าน” ไว้ที่จุดนี้ อีกหนึ่งครอบครัวตั้งรกรากอยู่นอกรั้วนาทิศตะวันตกของวัด ปัจจุบันเรียกว่า “ค้อป่ามะหุ่ง” และอีกหนึ่งครอบครัว ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของวัด บริเวณตลาดสดในปัจจุบัน

เดิมห้าครอบครัวต่างเรียกชื่อบ้านตามที่ตนตั้งชื่อขึ้นซึ่งไม่เหมือนกัน ถัดออกไปทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีหนองน้ำที่มีน้ำไหลออกมาจากตาน้ำตลอดปี ชาวบ้านเรียกว่า “หนองออกรู” เป็นต้นกำเนิดลำน้ำเหมืองกลาง จากตำนานและคำบอกเล่าสืบต่อกันมากล่าวว่า หนองน้ำแห่งนี้ มีเงือกตัวหนึ่งขนาดเท่าตัวคน มักผุดขึ้นมาและเคยฉุดลากเอาวัวเป็นๆ ของชาวบ้านแถวนั้นจมหายไป ด้วยเหตุนี้บุคคลทั้งห้าครอบครัว จึงเรียกชื่อหมู่บ้านอีกชื่อหนึ่งว่า “บ้านบวกเงือก” (บวกในภาษาล้านนาแปลว่าหนองน้ำ) ต่อมาจึงเรียกเป็น “บ้านหนองเงือก”

          พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2552 ตามดำริของคณะกรรมการโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนบ้านหนองเงือก มีอาจารย์บุญสุ่ม อินกองงาม เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร อาจารย์สนั่น ศรีกอก รองประธาน และอาจารย์บังอร ลังการ์พินธุ์ เลขานุการ และมีท่านพระครูโพธิโสภณ เจ้าคณะอำเภอป่าซาง เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก เป็นผู้สนับสนุน โดยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ธรณีสงฆ์เป็นสถานที่ก่อสร้าง  ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัด

          เริ่มแรกมีการขอรับบริจาคโบราณวัตถุในรูปแบบผ้าป่าของเก่า จากชาวบ้านในหมู่บ้าน ทำพิธีมอบถวายเพื่อให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ในวันที่ 15 เมษายน 2553 โดยได้วัตถุข้าวของเครื่องใช้มาเป็นจำนวนมาก ต่อมานายเอกพงศ์ ทุนอินทร์ นายกเทศบาลตำบลแม่แรงได้ประสานของบประมาณ เพื่อก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์จากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยก่อสร้างเป็นอาคารสูงสองชั้น ใต้ถุนโล่ง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2554

          ในวันที่ผู้เขียนไปสำรวจ ได้พบกับผู้ใหญ่บ้าน ปิติพงษ์ ปันเจริญ  ซึ่งเป็นผู้ถือกุญแจและดูแลพิพิธภัณฑ์   และเรียกได้ว่าเป็นผู้รับช่วงดูแลต่อจากคณะกรรมการรุ่นแรกที่ก่อตั้ง  ทั้งนี้บ้านหนองเงือกมักเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เป็นหมู่บ้านที่ผลิตผ้าฝ้ายส่งขายและส่งออกไปต่างประเทศ ถนนสองข้างทางที่เข้ามายังตัวหมู่บ้านจะมีร้านรวงและโรงงานขนาดเล็กที่ผลิตผ้าฝ้ายขาย ติดกับอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นร้านค้าของคนในชุมชนที่ขายผ้าฝ้ายทอมือทั้งเป็นผืนและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปในราคาย่อมเยาว์ คุณป้าที่ขายของอยู่ตรงนั้นก็ช่วยแนะนำและต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ด้วย

ผู้ใหญ่บ้านให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บ้านหนองเงือกเป็นหมู่บ้านที่ผลิตผ้าฝ้ายที่ใหญ่ที่สุด ที่บ้านดอนหลวงจะเป็นร้านค้าขายผ้า หนองเงือกจะเป็นผู้ผลิตส่งออก และจะเป็นการทอผ้าฝ้ายมากกว่าเป็นผู้ตัดเย็บ และในวันที่ 9-12 เมษายน ของทุกปี หมู่บ้านจะจัดงานสืบสานตำนานฝ้ายงามหนองเงือก มีทั้งคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมงานอย่างคับคั่ง

          ใต้ถุนอาคารพิพิธภัณฑ์ทำเป็นที่นั่งพักและเป็นสถานที่จุดแรกเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือคณะที่มาดูงาน ก่อนที่พาไปชมสถานที่อื่นๆ ในชุมชน  ใกล้กันจัดแสดงเกวียนของชาวบ้านที่นำมาบริจาค และ “กี่คู่รัก” เป็นกี่ทอผ้าที่สามารถทอผ้าได้สองคน ซึ่งมีที่เดียวที่หมู่บ้านหนองเงือกแห่งนี้

          ชั้นบนแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรก “พระศาสนา” วัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของวัดหนองเงือก อาทิ ตู้พระธรรม  ปั๊บสา คัมภีร์ใบลาน ชั้นวางคัมภีร์ พระพุทธรูปดินเผา

          ห้องที่สอง “โบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้” จัดแสดงข้าวของในตู้ไม้โบราณของวัดและตู้ที่ชาวบ้านบริจาคที่มีเอกลักษณ์งดงาม  ข้าวของที่จัดแสดงด้านในได้แก่ เครื่องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา ถ้วยตีนช้าง เครื่องเขิน ขันโอ หมอนหก เหรียญและธนบัตรเก่า

          ห้องที่สาม “วิถีชีวิต กระบวนการผลิตผ้าฝ้ายทอมือ” จัดแสดงภาพถ่ายเก่าที่ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้านในชุมชน มีทั้งภาพที่เป็นสถานที่สำคัญ วัด โรงเรียน พระสงฆ์ งานบุญประเพณี ของใช้ในครัวเรือนอาทิ กัวะข้าว วี ปิ่นโต เครื่องโม่แป้ง กระจาด กระป๋องน้ำสังกะสี เชิงเทียนทำจากไม้ เครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น คันไถ คราด อุปกรณ์ที่ใช้ทอผ้า เครื่องมือช่างจำพวกกบไสไม้   กระเป๋ายาของหมอคนสุดท้ายประจำหมู่บ้าน ป้านลมไม้แกะสลักประดับกระจกของวิหารหลังเก่า

          อย่างไรก็ดีข้าวของบางอย่างในพิพิธภัณฑ์ ยังถูกหยิบยืมจากพิพิธภัณฑ์ไปใช้ในงานประเพณีของหมู่บ้าน เช่น งานสงกรานต์ มีการยืมเชิงเทียนที่ทำจากไม้ มีเอกลักษณ์เฉพาะทำจากไม้ท่อนใหญ่ทำเป็นก้อนรูปสี่เหลี่ยม รอบจุดวางแทนทำเป็นร่องล้อมรอบเติมน้ำใส่ไว้กันเทียมล้มและไฟไหม้ เป็นของใช้แต่ดั้งเดิมของชาวบ้าน

“แอ่วหนองเงือก เลือกของดี ดูวีถีคนยอง”  คำขวัญบนป้ายผ้าในชุมชน น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการพัฒนาและบอกเล่าวิถีตัวตนคนยองบ้านหนองเงือกให้คนนอกได้รับรู้ผ่านการท่องเที่ยว โดยหลังจากที่การท่องเที่ยวในหมู่บ้านหนองเงือกได้รับความสนใจจากทั้งกลุ่มคณะดูงานจากหน่วยงานต่างๆ   และกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ  ล่าสุดอยู่ในโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย   ผู้ใหญ่บ้านจึงมีแนวคิดปรับพื้นที่ใต้ถุนพิพิธภัณฑ์ให้เป็นจุดแรกที่จะรับนักท่องเที่ยว มีการบรรยายสรุปและนำชมพิพิธภัณฑ์ จากนั้นจึงจะนำกลุ่มคณะดูงานและนักท่องเที่ยวไปตามเส้นทางท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ชมสถานที่สำคัญต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น วัดหนองเงือก หนองออกรู้ เรือนยองโบราณ และชมการสาธิตงานหัตถกรรมชุมชน อาทิ การทอผ้าฝ้าย การทำกระเป๋านกฮูก การทำรองเท้าจากยางรถยนต์ การจักสานตาเหลว และยังมีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวประมาณ 7 หลัง มีการตรวจคุณภาพจากภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ

          หากชมพิพิธภัณฑ์แล้ว เพียงเดินข้ามถนนจะเป็นวัดหนองเงือก ความน่าสนใจอยู่ที่ “คะตึก” หรือหอไตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2447 สมัยครูบาไชยสิทธิ สถาปัตยกรรมพื้นเมืองผสมตะวันตก ชั้นล่างบนฝาผนังมีจิตรกรรมที่วาดเรื่องพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์ในเมืองคน ชั้นฟ้า และเมืองนาค วาดขึ้นราวปี พ.ศ. 2460 แบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ด้านทิศตะวันออกเป็นภาพเรือนซุ้มฉากหลังพระประธาน(พระเจ้าขาว) ปัจจุบันย้ายไปประดิษฐานในศาลาการเปรียญหลังเก่า ส่วนที่ 2 ด้านทิศใต้เป็นภาพเสด็จไปโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนที่ 3 เสด็จโปรดชาวเมืองพาราณสี ส่วนที่ 4 เสด็จโปรดสัตว์เมืองนาค และส่วนที่ 5 ผนังด้านทิศตะวันตกเป็นภาพชาดกพื้นเมืองเรื่องพรหมจักก์ชาดก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ในจารึกระบุว่า ค่าจ้างวาดเป็นเงิน 40 แถบ(รูปีอินเดีย)

          บ้านเลขที่ 95 เรือนยองโบราณอายุร้อยกว่าปี เป็นบ้านเก่าแก่ที่หลงเหลือเพียงหลังเดียวในหมู่บ้านหนองเงือก และกลายเป็นจุดที่คนนอกที่มาเยี่ยมชมหมู่บ้านให้ความสนใจ และผู้ใหญ่บ้านได้แนะนำและพาเรามาเยี่ยมชม  คุณลุงบัณฑิต บุญมาลัย เจ้าของบ้านเล่าว่า

          “บ้านอายุสามชั่วคนแล้ว ร้อยกว่าปี เป็นเฮิน(สำเนียงยอง-เฮือน)โบราณ  เท่าเดิมไม่มีการต่อเติม ยังอาศัยในครอบครัว ลุงเกิดที่บ้านหลังนี้ พ่อก็เป็นหมอตำแย ทุกตำบลเขารู้จักแกหมด หมอตำแยเป็นพ่อเล้ง(สำเนียงยอง-พ่อเลี้ยง) ข้างบนมีห้องนอนห้องพระมีครัวอยู่ด้านหลัง...”

          เอาเข้าจริงหลายคณะที่มาดูงานที่นี่ ไม่ได้มาดูเรือนเก่าแต่อย่างใด แต่มาดูงานเรื่องการทำเกษตรผสมผสาน เพราะเนื้อที่รอบบ้านเต็มไปด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ ที่คุณลุงบัณฑิตปลูกไว้ และคุณลุงยินดีให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำเกษตรผสมผสาน  ส่วนเรือนโบราณนั้นยินดีให้ชมและถ่ายรูปแต่เพียงด้านนอก ไม่สามารถให้เข้าไปด้านในได้ เพราะเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่คุณลุงและครอบครัวยังพักอาศัยอยู่

ข้อมูลจาก:

รัตนาพร  เศรษฐกุล, 2537. การคงอยู่และการปรับเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท : กรณีศึกษาหมู่บ้านยอง ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

แสวง มาละแซม, 2540. คนยองย้ายแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สัมภาษณ์ปิติพงษ์  ปันเจริญ วันที่ 13 สิงหาคม 2562.

 

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี