รายชื่อพิพิธภัณฑ์

มณเฑียร อาเตอลิเยร์

มณเฑียร บุญมา เป็นศิลปินไทยคนสำคัญที่บุกเบิกงานศิลปะสื่อผสม งานจัดวาง และงานเชิงความคิดเข้าด้วยกัน หลังจากเขาเสียชีวิต บ้านที่เคยพำนักและสร้างสรรค์ผลงานถูกชุบชีวิตขึ้นอีกคร้ัง จัดแสดงในลักษณะ “idea storage” โดยมีแนวคิดว่า ต้องการนำงานทดลองของอาจารย์มณเฑียร งานสเก็ตซ์ บันทึก ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยได้เห็น มาจัดแสดง คล้ายกับเป็นจดหมายเหตุบริบทการสร้างงาน และเบื้องหลังแนวคิดการทำงานของมณเฑียร บุญมา ในช่วงชีวิตต่างๆ วิธีการนำเสนอและเล่าเรื่องใช้วิธีแบ่งเป็นช่วงชีวิต(time line) ของอาจารย์มณเฑียรในการสร้างงานศิลปะ ออกเป็น 5 ช่วง คือ 1.เด็กจิตรกรรมฯ รั้วศิลปากร 2.สอนที่วิทยาลัยช่างศิลป์/สมาชิกกลุ่มไวท์/นักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร 3.ศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศส 4..สอนที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5..ย้ายกลับมาพำนักที่กรุงเทพฯและวาระสุดท้ายของชีวิต พิพิธภัณฑ์เปิดประตูต้อนรับสาธารณชนในปี 2559 ภายใต้ชื่อ “408 Art Space” โดยให้บริการสามส่วน ส่วนแรกคือร้านอาหารบริเวณชั้นล่าง ส่วนที่สองคือพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์บริเวณด้านหน้า และส่วนสุดท้ายคือ “มณเฑียร อาเตอลิเยร์” เปิดตัวครั้งแรกเมื่อกุมภาพันธ์ 2560

จ. นนทบุรี

พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส

พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ตั้งอยู่ภายในศาลากลางจังหวัดนราธิวาส หลังเก่า ริเริ่มโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ตลอดจนประชาชน เด็ก และเยาวชน ในเรื่องราวของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ในสังคมพหุวัฒนธรรม ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส มีห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 จำนวน 6 ห้อง เช่น ห้องโถงทอภูมิผูกนรา เป็นห้องโถงต้อนรับ ห้องบรรยายสรุป ห้องจำลองบรรยากาศเมือง เป็นต้น ส่วนชั้นที่ 2 จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น การตั้งถิ่นฐานและชุมชนเก่า การจัดแสดงเรื่องราวความหลากหลายทางชาติพันธุ์ศาสนา และสถาปัตยกรรม

จ. นราธิวาส

ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณ

ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณก่อตั้งด้วยความตั้งใจ ที่จะอนุรักษ์สืบทอดฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม ทั้งสถาปัตยกรรม ต่อลมหายใจให้กับงานผ้าของชาวไทยทรงดำในชุมชนตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยนายอธิป ย้อนเพชร ลูกหลานชาวไทยทรงดำหรือไตดำบ้านดอน เป็นผู้รวบรวมองค์ความรู้จากรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย พร้อมศึกษาองค์ความรู้จากที่ต่าง ๆ ที่เก็บสะสม ผ้าเครื่องแต่งการของชาวไทยทรงดำ และวิธีการทอแบบโบราณเอาไว้ ด้วยที่เล็งเห็นว่านับวันภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเริ่มเลือนหายไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม เช่น เฮือนกระดองเต่า ที่ตำนานความเป็นมาต่าง ๆ ที่มาที่ไป ทั้งขนบธรรมเนียม การปลูกสร้างบ้าน และวิธีการปลูกสร้าง จึงมีแรงบันดาลใจให้สร้างเฮือนกระดองเต่าขึ้นมา โดยตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนหมู่บ้าน

จ. สุพรรณบุรี

พิพิธภัณฑ์ชาวเขา(พีดีเอ)

พิพิธภัณฑ์ชาวเขา ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2545 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับชนบนพื้นที่สูงในจังหวัดเชียงราย และยังเป็น “เวที” ในการประชาสัมพันธ์ผลงานต่าง ๆ ในการทำงานของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ) ส่วนจัดแสดงตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคารสมาคมฯ พีดีเอ ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ห้องฉายสไลด์ประกอบคำบรรยายนำเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่ นิทรรศการ และร้านขายของที่ระลึก ส่วนจัดแสดงนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรม วัตถุสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เครื่องจักสาน เครื่องมือล่าจับดักสัตว์ เครื่องดนตรี ชุดแต่งกายประจำเผ่า รวมทั้งข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับชนบนพื้นที่สูง 6 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ อาข่า ลีซอ กะเหรี่ยง มูเซอ เย้า และม้ง

จ. เชียงราย

พิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร

พิพิธภัณฑ์เมืองขุนควรตั้งอยู่ ณ วัดธรรมิการาม หรือวัดสบเกี๋ยง ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งอยู่ภายในชุมชนบ้านสบเกี๋ยง ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา บ้านสบเกี๋ยงเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ปัจจุบันมีครัวเรือนรวมกันทั้งหมด 121 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 395 คน แบ่งเป็นเพศชาย 207 คน เพศหญิง 188 คน จากสถิติการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ปรากฏมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 341 คน บริเวณที่ตั้งบ้านสบเกี๋ยง เป็นชุมชนโบราณมาก่อน มีหลักฐานปรากฏในหลายยุคหลายสมัยทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหิน ยุคโลหะ และยุคอาณาจักรล้านนา โดยมีหลักฐานปรากฏในแต่ละยุคสมัย ดังนี้ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏมีการพบทั้งซากฟอสชิลช้างงาจอบอายุประมาณ 13-15 ล้านปีในบริเวณป่าชุมชน ซึ่งปัจจุบันซากฟอสชิลดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ นอกจากนี้ยังพบซากฟอสซิลต้นไม้โบราณ อีกหลายต้น ยุคหิน พบหลักฐานเครื่องมือมนุษย์ยุคหิน เช่น ขวานหิน ลูกตุ้มหิน กระจายอยู่ทั่วไปตามไร่ ตามสวนของชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านที่พบได้นำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร ยุคโลหะ พบหลักฐานเครื่องมือยุคโลหะหลายชนิดที่ชาวบ้านขุดพบในไหตามไร่ตามสวน เช่น จอบ ขวาน อุปกรณ์ทางการช่าง ยุคอาณาจักรล้านนา อำเภอปง มีชื่อปรากฏอยู่ในพื้นตำนานเมืองพะเยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.1639 สมัยพ่อขุนจอมธรรมแยกตัวจากเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน มาตั้งเมืองพะเยาและให้ทำการสำรวจหัวเมืองน้อยใหญ่ ปรากฏชื่อเมืองปง เมืองควร อันเป็นที่ตั้งตำบลขุนควรในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าเป็นเมืองหน้าด่านหรือเส้นทางติดต่อระหว่างเมืองน่าน ตั้งแต่ในอดีต แต่หลักฐานที่พบ ส่วนใหญ่อยู่ในยุคล้านนา ดังหลักศิลาจารึกที่พบบริเวณวัดเค้าราชฐาน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ ซึ่งวัดดังกล่าวตั้งอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านสบเกี๋ยงมากนัก ซึ่งหลักฐานส่วนใหญ่ที่พบตามวัดร้างอยู่ในยุคล้านนา เช่น ซากวัดร้าง ซากอิฐ และพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา โดยในบริเวณรอบหมู่บ้านพบวัดร้างถึง 3 วัด ที่ยังปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบัน บ้านสบเกี๋ยง มีประวัติความเป็นมาที่ชัดเจนตามหลักฐานคำบอกเล่าของคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในยุคหลังสุดประมาณ 103 ปี จากการสอบถามประวัติความเป็นมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในหมู่บ้าน คำว่าสบเกี๋ยง มาจากการที่หมู่บ้านตั้งอยู่ตรงปากน้ำห้วยเกี๋ยง ซึ่งเป็นลำห้วยที่มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ต้นเกี๋ยง” หรือต้นลำเจียก ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่าห้วยเกี๋ยง ซึ่งลำห้วยดังกล่าวได้ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำควร ตามภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “สบเกี๋ยง” โดยชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ได้ย้ายครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสบเกี๋ยง” ตามลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน พิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่โดย พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดธรรมิการาม, ประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้าน เริ่มจากการที่ได้ศึกษาเอกสารตำราคัมภีร์พับสาที่ได้รับการถ่ายทอดจากพระครูรัตนบุญญากร อาจารย์ที่สอนอักษรล้านนาและตำรายันต์ต่าง ๆ ให้ตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณร และได้เก็บสะสมยันต์ล้านนาเอาไว้ตามความเชื่อของชาวล้านนา ต่อมาเมื่อปี 2559 ได้ย้ายจากวัดศรีโคมคำ มาจำวัดอยู่ที่ วัดธรรมิการาม ตำบลขุนควร อำเภอปง ก็ได้เริ่มปรับกุฏิไม้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ยันต์ และได้ทำการเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มุ่งจัดเก็บรักษายันต์ล้านนาในแต่ละประเภทไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดองค์ความรู้ ความเชื่อ ของชาวล้านนาผ่านยันต์ ภายในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงยันต์ในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งเอกสารโบราณ และเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวล้านนา โดยภายในพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งการจัดแสดงไว้ ดังนี้ ห้องที่ 1 ห้องครู ภายในห้องจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาครู มีเศียรครูต่าง ๆ และเป็นห้องคลังเก็บยันต์และตำรายันต์ต่าง ๆ ไว้ ห้องที่ 2 ห้องยันต์ผ้า ภายในจัดแสดงผ้ายันต์แบบต่าง ๆ เช่น ยันต์พุทธสิหิงค์หลวง ซึ่งถือว่าเป็นจักรพรรดิแห่งยันต์ล้านนา เป็นยันต์มงคลสูงสุด, ยันต์เมตตามหานิยม , ยันต์เสริมดวงชะตา, เสื้อยันต์ – กางเกงยันต์แบบต่าง ๆ , ยันต์ข่าม/คงกระพันชาตรี และยันต์ป้องกันภัย ห้องที่ 3 ห้องเครื่องรางของขลัง ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของชาวล้านนาในแบบต่าง ๆ รวมถึงจัดแสดงพระเครื่องที่หาชมได้ยาก เช่น พระสิงห์หนึ่งทองคำ , พระสังกัจจายทองคำ, พระงาแกะ, พระไม้ล้านนา และยังจัดแสดงตะกรุดล้านนาในแบบต่าง ๆ ด้วย ห้องที่ 4 ห้องยันต์เทียน จัดแสดงตำรายันต์เทียนรูปแบบต่าง ๆ การสาธิตการลงยันต์เทียน และจัดแสดงเกี่ยวกับยันต์ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนาไทย เช่น ยันต์ปาทะ / รอยเท้ารอยมือครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นต้น ห้องที่ 5 ห้องพระ ได้แก่ห้องโถงด้านนอกเป็นสถานที่จัดแสดงผ้ายันต์ขนาดใหญ่พร้อมทั้งข้อมูลยันต์ล้านนา และเป็นสถานที่ตั้งพระแก้วมรกตจำลองเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้บูชา บริเวณด้านล่างของอาควรพิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร จัดเป็นห้องสมุดสำหรับค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และหนังสืออ่านทั่วไป

จ. พะเยา