ที่อยู่:
วัดดอนมะนาว เลขที่ 801 ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี 2066 ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี 72110
โทรศัพท์:
098-3908522 คุณรวิพร โพธิ์สุวรรณ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลดอนมะนาว
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ (โปรดประสานงานล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
เฮือนกระดองเต่า, แบบจำลองพิธีกรรมสำคัญของไทยทรงดำ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ดอนมะนาว
สมัยปู่สมัยย่า ที่ย้ายมาอยู่ ปลูกบ้านแบบนี้ ความทันสมัยเริ่มเข้ามา บ้านเมืองเริ่มแปรเปลี่ยน หลังคามุงจาคที่ต้องเปลี่ยนปีต่อปี เราต้องเปลี่ยนตามยุคสมัย ว่าอันไหนที่ว่าสะดวกกว่า แต่เราก็ยังมีอนุรักษ์ไว้ คือ ภาษาพูด ภาษาโซ่งกับลูกหลาน ที่โรงเรียนวัดดอนมะนาว แต่ก่อนมีการสอนภาษาและตัวหนังสือ เพราะไทดำมีตัวหนังสือของตนเอง แล้วคนรุ่นเก่าก็เริ่มหาย ไม่มีใครมาสอน สอนได้ไม่นานคนที่สอนเสียชีวิตศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ดอนมะนาว ตั้งอยู่ภายในวัดดอนมะนาว แม้จะเป็นการยืนยันถึงปีที่ก่อตั้ง แต่รวิอร โพธิ์สุวรรณ ประธานสภาวัฒนธรรมไทยทรงดำ ดอนมะนาว คนปัจจุบัน กล่าวว่าน่าจะอยู่ในช่วงประมาณไม่เกิน 20 ปี “เพราะว่ากว่าจะสร้างได้ก็ต้องใช้งบประมาณ และต้องพร้อมใจกันช่วย ต้องมีคนเก่าแก่สอนว่าต้องทำแบบนี้ ๆ เพราะเรือนคนโซ่ง ไม่เหมือนเรือนคนไทย เรือนกระดองเต่า สร้างแบบสมัยโบราณ ต้องช่วยกันสร้าง กว่าจะเสร็จ ต้องช่วยเหลือกัน”
แม้รูปแบบของเรือนกระดองเต่า เอกลักษณ์บ้านของคนไทยทรงดำที่มักได้รับการกล่าวขานถึงรูปแบบที่เฉพาะ เรือนนั้นยกสูงจากพื้น พื้นที่ใต้ถุนเรือนสามารถประกอบกิจกรรมได้หลายอย่าง หลังคารูปทรงที่คล้ายกระดองเต่าคลุมตัวบ้านเอาไว้ทั้งหมด แต่เฮือนกระดองเต่าของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ดอนมะนาวแห่งนี้ ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก เพื่อให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งาน การปูกระเบื้องพื้นเพื่อให้สะดวกกับการทำความสะอาดและการต้อนรับคณะศึกษาดูงาน หรือการใช้ในกิจกรรมการฟื้นฟูประเพณีไทยทรงดำ วันที่ 14 เมษายน ทุกปี
พื้นที่ด้านบนคงได้รับการรักษารูปแบบของอาคารไว้ โดยแบ่งพื้นที่ของชานเรือน ภายในตัวเรือน และกว๊าน สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในพื้นที่ส่วนบนคือ ประตูบานเลือน แม้จะทำด้วยไม้ไผ่เพื่อให้ใกล้เคียงกับวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้าง แต่ประตูบานเลี่อนได้รับการติดตั้งเพื่อความปลอดภัยของสิ่งจัดแสดงภายในอาคาร ส่วนของชานเรือนหรือที่เรียกในภาษาไทยทรงดำ “เนาะจาน” เป็นบริเวณกว้างขวางปูด้วยไม้เนื้อแข็ง ตู้หนังสือเหล็กสมัยใหม่จัดเก็บหนังสือเพื่อให้คนที่สนใจสามารถหยิบใช้ในการอ่าน
เมื่อเดินเข้าสู่ภายใน ส่วนการจัดวางสิ่งจัดแสดงประกอบด้วยพื้นที่ด้านซ้ายและขวา บรรยากาศภายในเรือนนั้นแตกต่างจากศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำที่พบเห็นในที่อื่น ๆ เพราะไม่จำลองสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยทรงดำแต่เดิม หากแต่มีอาณาบริเวณคล้ายพิพิธภัณฑ์ที่มีห้องจัดแสดง พื้นที่ทางซ้ายจัดแสดงรูปจำลอง (model) เป็นหุ่นปั้นมืออยู่ในตู้กระจก ขนาดเมตรคูณเมตรโดยประมาณ มีจำนวน 4ชุด นำเสนอพิธีการการแต่งงาน พิธีศพ และเรือนกระดองเต่าจำลองพร้อมบรรยากาศโดยรอบเรือนตามจินตนาการ ส่วนรูปจำลองพิธีเสนตัวนั้นอยู่ในตู้กระจกที่มีความสูงจากพื้นประมาณสองเมตร รวิอร ให้คำอธิบายประกอบการชี้ชวนให้ดูแบบจำลอง
บนกองฟอน จะต้องเป็นโรงศพที่ทำเอง บนโรงศพมีร่ม คือคนตายต้องมีร่มกางให้ไป คนที่เดินตามศพจะไม่กางร่ม ส่วนด้านบนนั้น เป็นฉากจำลองเกี่ยวกับเสนตัว คนเฒ่าคนแก่อายุมาก ไม่ค่อยสบาย จะต้องมีการเสนตัว มีหมู เหมือนเป็นการเรียกขวัญ ให้หาย เครื่องพิธี มีหัวหมู ผลไม้ทุกอย่าง ไข่ กระบุงข้าว แต่ที่บ้านดอนมะนาว แม้จะมีแม่มด [ผู้ประกอบพิธี]แต่ทำไม่ไหวแล้ว ต้องหาแม่มดบ้านอื่นมา ใครจะเป็นแม่มดขึ้นอยู่กับว่ามดจะเลือกเอาคนไหน หากเลือกคนไหน ก็จะทำให้คนนั้น พูดได้ ท่องได้ เป็นไปโดยปริยาย ไม่ใช่อยู่ ๆ จะไปเรียนไม่ได้ ต้องเป็นตามสายเลือด
นอกเหนือจากแบบจำลองพิธีกรรมแล้ว ยังมีตู้กระจกที่จัดเก็บเครื่องจักสานที่จัดทำขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่เป็นภาชนะใส่ของ เช่น กะเหล็บ ป้ารวิอรแนะนำว่าเป็นเครื่องจักสานที่คงมีความสำคัญจวบจนปัจจุบัน กะเหล็บมีลักษณะคล้ายกับกระเป๋ามีฝาปิด สูงประมาณหนึ่งไม้บรรทัด เพราะยังคงเป็นสิ่งของที่ใช้ในพิธีการแต่งงาน หากครอบครัวใดเป็นผู้ต้าวจะต้องใช้กะเหล็บ 4 ตัว ส่วนผู้น้อยใช้กะเหล็บ 2 ตัว ภายในจะบรรจุห่อหมากพลู “เริ่มต้นจากพิธีการ ‘ส่อง’ คล้ายกับการทำพิธีสู่ขอในวันแต่งงาน เมื่อทำพิธีส่องเสร็จแล้วก็ ‘พิธีเข้า’ คล้ายกับคนไทย แต่จะต้องแต่งกายแบบไทยทรงดำ มีการไหว้ผีบรรพบุรุษ แต่ละบ้านมีผีประจำตระกูล ซึ่งสถิตอยู่ในกะล้อห่อง หรือห้องบรรพบุรุษ โดยฝ่ายชายจะไปไหว้ทางผีบรรพบุรุษทางบ้านเจ้าสาว”
จากทางซ้ายสู่ทางขวา ปานเผื่อนหรือภาชนะกลมขนาดใหญ่มีขาสูงราว 10 เซนติเมตร จำนวนสี่ห้าชิ้นวางเรียงเรียบอยู่กับผนังและยังมีเครื่องจักสานขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของชาวไทยทรงดำวางเรียงต่อเนื่องกันไป จากแถวผนังขวามือ เป็นตู้กระจกบรรจุหนังสือจำนวนหนึ่งไว้ภายใน ต่อเนื่องจากตู้หนังสือดังกล่าว เป็นตู้กระจกสูงบรรจุเสื้อฮี ซึ่งเป็นเสื้อผ้าในพิธีกรรมของชายและหญิงแยกไว้คนละตู้
ในส่วนนี้ สมาชิกของชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำสาธิตการคาดหน้าอกสำหรับสะใภ้ที่จะต้องแต่งกายอย่างเหมาะสม ให้เกียรติกับครอบครัวทางสามี เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ในวันเสนเรือน หรือเรียกว่าเป็นการเซ่นไหว้ที่แต่ละครอบครัวจะมีการกำหนดในระยะเวลาต่างกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่จะไม่ทิ้งระยะเวลานานมากกว่าสิบปี ส่วนกรณีที่มีการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางเขยหรือทางสะใภ้ก็ต้องสวมเสื้อฮี โดยเอาส่วนที่มีการปักลายที่งดงามของลายขอกุดหรือดอกเปียวไว้ภายใน คุณป้ารวิอรย้ำว่า เสื้อฮีของผู้ใดเผยให้เห็นข้างที่สวยงามนั่นหมายถึงผู้นั่นได้เสียชีวิตลงแล้ว เสื้อฮีจะคลุมอยู่เหนือโล่งศพ
นอกเหนือจากการจัดแสดงภายในศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ดอนมะนาวแล้ว กิจกรรมที่น่าสนใจที่โรงเรียนวัดดอนมะนาวได้ร่วมกับชุมชนนั่นคือ การสอนงานประดิษฐ์จากลวดลายของขอกุดและดอกเปียวที่ใช้การต่อชิ้นผ้า แม้กิจกรรมการสอนประดิษฐ์ชิ้นงานนั้นจะเกิดขึ้นในโรงเรียน แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นคงทำให้เด็ก ๆ ลูกหลานของไทยทรงดำได้ใกล้ชิดกับสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยทรงดำไม่มากก็น้อย และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะจำหน่ายในงานสำคัญ ๆ เช่นงานฟื้นฟูประเพณีไทยทรงดำที่จัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ทุกปี ปัจจุบันยังมีการประยุกต์ งานกระเป๋าสะพายหลัง งานกระเป๋าขนาดเล็ก งานประดิษฐ์ขนาดเล็กเท่าลูกเต๋าที่คงใช้ลวดลายของผ้าปักไทยทรงดำเป็นการสืบสานวัฒนธรรมให้กับลูกหลานสืบต่อไป
ดร.แหลม ศรีนุ้ย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะนาว กล่าวถึงแผนงานที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตเพื่อให้ วัฒนธรรมไทยทรงดำได้รับการสืบสานต่อไป
สำหรับตำบลดอนมะนาว เห็นว่าเป็นประเพณีไทยทรงดำที่จะต้องมีการสืบทอดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีชีวิตอยู่ หนึ่ง วางแผนส่วนการสะสมตั้งแต่เด็ก ให้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำ ภาษาพูดของตำบลดอนมะนาวต้องพูดลาวโซ่งได้ เพราะเป็นภาษาพูดที่ไม่เหมือนใคร เสร็จแล้วมีภาษาเขียน แล้วก็เป็นหลักสูตรที่จะต้องมีการเรียนพยัญชนะ สระ เป็นหลักสูตรการสอน แล้วเสียงเพลงดนตรี แคน เราก็ให้เด็กมาเรียนรู้วงแคนของตำบลดอนมะนาว ในการต่อยอด ...ผู้เฒ่าเองก็ต้องถ่ายทอดการเย็บดอกเปียวต่าง ๆ ให้กับเยาวชน อบต. ดอนมะนาว ต้องการให้เรียนรู้ องค์ประกอบของไทยทรงดำ นั้นมีความหมายทั้งนั้น
ที่ผ่านมา ผมร่วมกับการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี มีโรดโชว์ (road show) ผมไปในส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองคาย ได้นำเอาเสื้อผ้า ของกิน ของใช้ ไปเผยแพร่ และนำไปขาย แล้วเมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมา ผมไปโชว์ที่จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช หลายคนไม่เคยเห็นว่าวัฒนธรรมไทยทรงดำเป็นอย่างไร เราโชว์วัฒนธรรมไป สิ่งที่เราได้คือ เมื่อขายสินค้าได้ แหล่งที่ผลิตสินค้า ก็ได้เป็นตัวเงิน สามารถอยู่ในชีวิตประจำวันได้
ฉะนั้นแล้วความหมายของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านดอนมะนาว จึงให้ความหมายกับการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันและตามความเชื่อ เท่าที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ แต่ในส่วนของงานฝีมือต่าง ๆ ก็จะต้องพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็น “สิ่งประชาสัมพันธ์” ให้สังคมภายนอกรู้จักไทยทรงดำดอนมะนาวมากยิ่งขึ้น.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
สำรวจวันที่ 15 มกราคม 2561
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ไทดำ โซ่ง ไทยทรงดำ
พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อน
จ. สุพรรณบุรี
ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ วัดดอนมะเกลือ
จ. สุพรรณบุรี
บ้านกำนันดิน
จ. สุพรรณบุรี