พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อน


ที่อยู่:
วัดพุน้ำร้อน ม.4 ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 72180
โทรศัพท์:
087-902-7308 (เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน), 035-596-137 (อบต.ด่านช้าง), 086-168-7574 (อบต.ด่านช้าง)
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน 9.00 – 16.00 น.
ปีที่ก่อตั้ง:
2555
ของเด่น:
กระดิ่งสำริดรูปหน้าคน (วัฒนธรรมดองซอน), เครื่องใช้สำริดในวัฒนธรรมดองซอน, ใบมีดหินที่พบในเขตสุพรรณบุรี, หมอมีเขา
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 24 กรกฎาคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อน

อำเภอด่านช้างตั้งอยู่ปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี อาณาเขตด้านทิศเหนือติดจังหวัดอุทัยธานี ด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ติดจังหวัดกาญจนบุรี (เขตเทือกเขา) จึงอาจจะเรียกได้ว่าอำเภอด่านช้างเป็นบริเวณชายขอบรอยต่อระหว่างแนวเทือกเขาด้านตะวันตกติดกับจังหวัดกาญจนบุรี และที่ราบทางด้านทิศใต้
 
จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่พบในเขตอำเภอด่านช้างแสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบริเวณนี้มาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคหินใหม่เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีร่องรอยการถลุงโลหะในสมัยอยุธยา ก่อนที่พื้นที่แห่งนี้จะถูกทิ้งร้างไป หลงเหลือเพียงหลักฐานการบันทึกและคำบอกเล่าถึงกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตนี้ก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวพื้นราบ (ชาวสุพรรณ) คือ ชาวกะเหรี่ยง ละว้า และลาวครั่ง โดยกลุ่มหลังนี้เพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เมื่อคราวรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้ยกทัพไปทำสงครามกับเวียดนาม ขากลับก็ได้กวาดต้อนผู้คนเมืองภูครัง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (เขตประเทศลาวในปัจจุบัน) และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองนครชัยศรี จ.นครปฐม
 
พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อน
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2555 โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดแสดงวัตถุข้าวของโบราณวัตถุที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาอันยาวนานของอำเภอด่านช้าง ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชาติพันธุ์ ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย คือ
 
1) ฝ่ายชุมชนบ้านพุน้ำร้อน มีแกนนำสำคัญคือพระอาจารย์เสน่ห์ (พระครูวิสิฐสุวรรณคุณ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัดพุน้ำร้อน ฝ่ายชุมชนนี้สนับสนุนด้านแรงงาน และอำนวยความสะดวกต่อการศึกษาข้อมูลในเชิงวิชาการ รวมไปถึงมีส่วนร่วมในการออกแบบการจัดวางในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์อย่างมาก
 
2) กรมศิลปากร มีแกนนำคือคุณสุภมาศ ดวงสกุล นักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เป็นนักวิจัยที่ทำงานในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรีมากว่า 10 ปี งานรับผิดชอบเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการสนับสนุนด้านการอบรม ให้ความรู้ ข้อมูลเชิงวิชาการ และการทำกระบวนการร่วมกับชุมชน
 
3) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ให้ความร่วมมือด้านการจัดสร้างอาคาร จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างผู้ดูแล)
 
4) หน่วยงานราชการ คือนายอำเภอไพฑุรย์ รักประเทศ นายอำเภอด่านช้างช่วยจัดสรรงบประมาณบางส่วนจากกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าด่านช้าง เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์
 
จุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดแสดงวัตถุที่บอกเล่าประวัติอันยาวนานของอำเภอด่านช้าง นั้นเริ่มมาตั้งแต่การสำรวจทางโบราณคดีในปี พ.ศ.2546 ซึ่งดำเนินการโดยกรมศิลปากร แต่ในยุคแรกนั้นให้ความสนใจอยู่ที่ ต.หนองราชวัตร ที่สันนิษฐานว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี และในปี พ.ศ.2551-52 ทางกรมศิลปากรจึงได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเก่าและที่เกี่ยวข้อง”พื้นที่วิจัยส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่เขตลุ่มแม่น้ำแควใหญ่ แควน้อย ลำน้ำกระเสียว ซึ่งเป็นเขตรอยต่อของ จังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ทำให้ขณะทำงานคุณสุภมาศ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของทางกรมศิลปากรเดินทางมาพบกับพระอาจารย์เสน่ห์เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน ได้รับการบอกเล่าและแสดงโบราณวัตถุจากเขตอำเภอด่านช้าง (โดยเฉพาะ ต.พุน้ำร้อน) ที่พระอาจารย์สะสมไว้ในวัด พบว่าที่บริเวณใกล้ๆ กันนั้นมีทั้งแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหิน เรื่อยมาถึงแหล่งโบราณคดีเกี่ยวกับการถลุงโลหะ สมัยอยุธยา แหล่งฝังศพที่พบไห 4 หู จากเตาแม่น้ำน้อย การทำงานร่วมกันแรกๆ จึงเป็นการที่กรมศิลปากรเขามาให้คำแนะนำกับทางวัดซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บโบราณวัตถุจำนวนมาก เริ่มทำทะเบียนวัตถุที่พบและแหล่งที่มาของวัตถุแต่ละชิ้น พร้อมๆ กับการให้ความรู้ การทำความเข้าใจมุมมองในเรื่องการจัดเก็บอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ มากกว่าจะเป็นเพียงการเสาะแสวงหาแบบเดิมๆ
 
จากการได้ทำงานร่วมกันครั้งนั้นจึงเริ่มเกิดความคิดที่อยากจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของชุมชนขึ้นมาทั้งด้วยความประสงค์ของเจ้าอาวาสที่ต้องการอนุรักษ์ข้าวของเก่าแก่ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา และทางกรมศิลปากรที่ต้องการจัดให้มีการอบรม สร้างสำนึกในท้องถิ่นให้มีการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดีไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงเริ่มมีการพูดคุยที่ขยายวงกว้างไปสู่ทางองค์การบริหารส่วนตำบล นายอำเภอ จนเป็นที่มาของการจัดตั้งงบประมาณก่อสร้างอาคาร และการจัดแสดงมาตั้งแต่ พ.ศ.2552 กระทั่งเปิดให้เข้าชมได้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2555
 
การจัดแสดงและการบริหารจัดการ
โบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่ชาวบ้านนำมาถวาย และเป็นของที่พระอาจารย์เสน่ห์เก็บสะสม รวมถึงได้มาจากการสำรวจร่วมกันระหว่างชุมชนและกรมศิลปากร ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุ มีเพียง 2 ตู้เท่านั้นที่เป็นวัตถุเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ในเขตอำเภอด่านช้าง ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องใช้และเสื้อผ้า วัตถุที่จัดแสดงสามารถแบ่งได้เป็น
 
1. โบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหินขัด ใบมีดหิน ซึ่งเป็นวัตถุเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตามที่นักโบราณคดีให้ข้อมูลคือ เป็นรูปแบบที่พบในเขตอำเภอด่านช้างจำนวนมาก และยังไม่เคยพบในเขตจังหวัดอื่น เชื่อว่าในเขตด่านช้างน่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหิน (มีดหิน) ประเภทนี้และน่าจะมีส่งไปภายนอกด้วย
 
2. ภาชะดินเผา มีทั้งประเภทหม้อดินเผาแบบก่อนประวัติศาสตร์ เป็นหม้อที่มีเดือยคล้ายกับเขาขนาดเล็กยื่นออกมาเป็นวัตถุเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพราะเป็นรูปทรงที่พบน้อยไม่ค่อยพบที่อื่น และหม้อแบบต่างๆ
 
3. ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเขียนลายแบบต่างๆ มีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากจีน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านสมัยประวัติศาสตร์ (อายุสมัยอยุธยา) พบตามแหล่งฝังศพบนภูเขา และในแหล่งชุมชนที่อยู่ใกล้กับแหล่งถลุงโลหะ
 
4. เครื่องใช้สำริดที่สันนิษฐานว่าเป็นของนำเข้ามาจากเวียดนาม ในวัฒนธรรมดองเซิน หรือยุคสำริด (อายุประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว) วัตถุเด่น คือระฆังสำริดมีรูปหน้าคน จัดแสดงไว้ในตู้แรกด้านหน้าทางเข้า

5.  เครื่องมือเหล็กสมัยอยุธยา เจอในแหล่งถลุงโลหะใกล้บ้านโป่งคอม
 
6. เสื้อผ้าและเครื่องประดับ (ลูกปัด และเครื่องเงิน) ของกลุ่มชาติพันธุ์ในอำเภอด่านช้าง
 
ปัจจุบันยังมีโบราณวัตถุและวัตถุอีกจำนวนมาก (โดยเฉพาะเครื่องมือหินยุคหินใหม่ และผ้าพื้นเมือง) ที่ยังไม่ได้นำออกมาจัดแสดงและยังเก็บรักษาไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มมีการทำทะเบียนเบื้องต้นไปแล้ว ในส่วนของการจัดการดูแลพิพิธภัณฑ์ปัจจุบันผู้ถือกุญแจหลักๆ คือพระอาจารย์เสน่ห์ (เจ้าอาวาส) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ส่วนใหญ่แล้วพระอาจารย์เสน่ห์จะมอบหมายการเปิด-ปิด ให้ข้อมูล และการบริการต่างๆ ให้กับทางอบต. เป็นหลัก ด้วยเห็นว่าการจัดการควรมีผู้รับผิดชอบคนใดคนหนึ่งเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ สำหรับทิศทางในการดูแลเรื่องการอนุรักษ์และการอบรม การอัพเดตข้อมูลทางวิชาการต่างๆ นั้น ทางกรมศิลปากรได้มีการประสานงานกับทางชุมชนมาโดยตลอด และมีแนวโน้มว่าจะจัดการอบรมมัคคุเทศก์ให้กับเจ้าหน้าที่และนักเรียนในท้องถิ่นในอนาคตอันใกล้ ทำให้ทิศทางการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คงจะสามารถจัดการอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานในท้องถิ่นอย่างค่อนข้างยั่งยืน และมั่นคง (ด้วยมีทั้ง วัด อบต. และโรงเรียนที่ให้ความสำคัญ)
 
การเดินทาง
การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพใช้ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) เมื่อพ้นจากเขตอำเภอบางบัวทองจะพบถนนแยกไปทางซ้าย เป็นถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ประมาณ 63 กม. จะพบป้ายบอกทางไปกาญจนบุรี/นครปฐม แยกไปทางซ้ายมือก่อนเข้าตัวเมืองสุพรรณบุรี เข้าสู่ถนนหมายเลข 357 ตามป้ายบอกทางไป อ.ดอนเจดีย์ และ อ.ศรีประจันต์ เป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบทางเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 322 ไปประมาณ 4 กม. จนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำ ให้เตรียมเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 3460 ไปประมาณ 13 กม. เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 333วิ่งต่อไปประมาณ 42 กิโลเมตร จะพบสี่แยกขนาดเล็กมีจุดสังเกตอยู่ที่ป้ายบอกทางเข้าอุทยานแห่งชาติพุเตย  เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 3086 (ไปทางอุทยานแห่งชาติพุเตย) วิ่งตรงไปประมาณ 14 กิโลเมตร จะเห็นวัดน้ำพูร้อนอยู่ทางขวามือ เลี้ยวเข้าบริเวณวัดไปจนสุดถนนจะเห็นอาคารกุฏิเจ้าอาวาสทางซ้ายมือและทางโค้งไปทางขวา เส้นทางขวามือจะพาไปสุดที่อาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ในบริเวณวัด
 
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 4 เมษายน 2556
 
อ้างอิง
สัมภาษณ์ คุณสุภมาศ ดวงสกุล อายุ 36 ปี นักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-