พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด่านช้าง


ที่อยู่:
โรงเรียนอนุบาลด่านช้าง ม.1 ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 72180
โทรศัพท์:
035-595316
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์-ศุกร์ 8.00-16.00 น. กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
ของเด่น:
เครื่องมือหินที่พบจากจังหวัดสุพรรณบุรี
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 พฤศจิกายน 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด่านช้าง

อำเภอด่านช้างตั้งอยู่ปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี อาณาเขตด้านทิศเหนือติดจังหวัดอุทัยธานี ด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ติดจังหวัดกาญจนบุรี (เขตเทือกเขา) จึงอาจจะเรียกได้ว่าอำเภอด่านช้างเป็นบริเวณชายขอบรอยต่อระหว่างแนวเทือกเขาด้านตะวันตกติดกับจังหวัดกาญจนบุรี และที่ราบทางด้านทิศใต้
 
จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่พบในเขตอำเภอด่านช้างแสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบริเวณนี้มาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคหินใหม่เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีร่องรอยการถลุงโลหะในสมัยอยุธยา ก่อนที่พื้นที่แห่งนี้จะถูกทิ้งร้างไป หลงเหลือเพียงหลักฐานการบันทึกและคำบอกเล่าถึงกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตนี้ก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวพื้นราบ (ชาวสุพรรณ) คือ ชาวกะเหรี่ยง ละว้า และลาวครั่ง โดยกลุ่มหลังนี้เพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เมื่อคราวรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้ยกทัพไปทำสงครามกับเวียดนาม ขากลับก็ได้กวาดต้อนผู้คนเมืองภูครัง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (เขตประเทศลาวในปัจจุบัน) และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองนครชัยศรี จ.นครปฐม
 
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด่านช้างมีจุดประสงค์เพื่อจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และเทคโนโลยี (เครื่องมือเครื่องใช้ตั้งแต่อดีต) ของผู้คนในอำเภอด่านช้าง
 
ประวัติพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด่านช้าง
พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในโรงเรียนอนุบาลด่านช้าง การก่อตั้งเริ่มขึ้นจากความสนใจของผู้อำนวยการโรงเรียนคนก่อน (ผอ.นพรัตน์ พิมพ์จุฬา) และอาจารย์สิทถาพร ป้อมทอง มีความสนใจสะสมโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้เก่าๆ ที่พบในเขตอำเภอด่านช้าง ประจวบกับใน พ.ศ. 2549 ทางโรงเรียนได้รับนโยบายจากเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สปถ.) สุพรรณบุรี เขต 3 ให้มีการจัดกิจกรรมในวาระครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้เริ่มมีโครงการจัดนิทรรศการและศูนย์การเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของอำเภอด่านช้างขึ้นภายในโรงเรียนอนุบาลด่านช้าง ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนใหญ่ในเขตนี้
 
การดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ.2549 เป็นการรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านของชาวไร่ ชาวนา ในท้องถิ่น และการขอรับบริจาคจากผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลด่านช้าง ทำให้ปริมาณข้าวของที่ได้รับเข้ามามีเป็นจำนวนมากและหลากหลายประเภท ในปี พ.ศ.2550 จึงได้เริ่มนำมาจัดแสดงโดยการกำหนดเนื้อหา การจัดทำป้ายบรรยาย และการจำแนกวัตถุเพื่อใช้ในการจัดแสดงทั้งหมดดำเนินงานโดยคณะครูโรงเรียนอนุบาลด่านช้างเอง โดยเฉพาะการจำแนกและป้ายคำบรรยายดำเนนินการโดย ผอ.นพรัตน์ และครูสิทถาพร ซึ่งเป็นหัวแรงหลักเอง ในปีแรกมีห้องจัดแสดงเพียงห้องเดียว และทางโรงเรียนได้มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพิพิธภัณฑ์มาโดยตลอดนับตั้งแต่เปิดจัดแสดง อาทิ การเรียนการสอนแบบบูรณาการในหลายๆ วิชา เช่น คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เป็นต้น การเป็นแหล่งศึกษาดูงานของโรงเรียน หน่วยงานราชการในพื้นที่ใกล้เคียง การจัดตั้งชมรมมัคคุเทศก์น้อยจากชั้น ประถมศึกษาที่ 4-6 ทำให้มีการขยับขยายพื้นที่และเนื้อหาในการจัดแสดงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
 
การจัดแสดง
ในปัจจุบันมีอาคารจัดแสดงจำนวน 3 อาคาร มีรายละเอียดการจัดแสดง ดังนี้
       
ศูนย์การเรียนรู้ที่ อาคารนี้จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งประดิษฐ์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  วัตถุจัดแสดง ประกอบด้วย 1) เครื่องมือหินขัดที่พบจากเขตอำเภอด่านช้าง อายุประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว บางชิ้นก็เป็นเครื่องมือหินที่ได้มาจากประเทศลาว (เป็นของบริจาคจากคณะครูในโรงเรียนให้เป็นที่ระลึกในโอกาสที่เดินทางไปประเทศลาว) และ กรามช้าง  2) ภาชนะดินเผาทั้งแบบเนื้อดิน เนื้อแกร่ง เครื่องถ้วย ภาชนะโลหะสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (หม้อสนามของทหารญี่ปุ่น)  3) รูปเคารพ พระพุทธรูป พระพิมพ์ ศิวลึงค์และฐานโยนี  4)  เครื่องใช้สมัยใหม่ เช่น นาฬิกาปลุก เครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ โทรศัพท์มือถือ วิทยุ กล้องถ่ายรูปแบบใช้ฟิล์ม พัดลม เครื่องพิมพ์ดีด จักรเย็บผ้า เครื่องปรับระบบเสียง (บนเวที) วัตถุเด่นในอาคารแสดงส่วนนี้คือเครื่องมือหินขัดที่พบในเขตอำเภอด่านช้าง โดยผู้จัดแสดงให้ความข้อมูลว่าเป็นหลักฐานแสดงถึงการตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ของมนุษย์ในแถบนี้
       
ศูนย์การเรียนรู้ที่ เป็นอาคารขนาดเล็กจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในอำเภอด่านช้าง ภายในมีบ้านเรือนจำลองของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และลาวครั่ง เครื่องแต่งกายที่สวมอยู่บนหุ่นของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ละว้า ลาวครั่ง และชาวสุพรรณบุรี (คนพื้นราบ) เครื่องใช้ของกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีรูปลอยตัวของจตุคามรามเทพ ที่ได้รับมอบมาจากวัดในอำเภอด่านช้าง ตั้งแต่ครั้งเปิดให้เช่ารูปจำลองจตุคามรามเทพ เมื่อเสร็จจากงานแล้วทางวัดได้มอบมาให้โรงเรียน และสุดท้ายคือ วัตถุเกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลด่านช้างรุ่นเก่า ๆ เช่น ระฆังเรียกเข้าแถว ภาพถ่ายโรงเรียนในอดีต
 
ศูนย์การเรียนรู้ที่ จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และวิถีชีวิต ประกอบด้วยเครื่องสีโบก (เครื่องสีข้าวแบบโบราณที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน) ไหหมักน้ำปลา (จากปลาน้ำจืดในเขื่อนที่อยู่ใกล้เคียง) หรือใช้ดองผักเสี้ยน  ภาชนะดินเผาหลากหลายประเภท (หม้อ ไห) เครื่องจักสานพื้นบ้าน (กระบุง ตะกร้า) เครื่องมือในการทำเกษตร (เครื่องสีข้าว พร้อมสำหรับเก็บข้าวในยุ้ง ตัวโกยที่หาบข้าว)
 
การบริหารจัดการ
ผู้รับผิดชอบหลักคือโรงเรียนอนุบาลด่านช้างแม้จะมีปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ไม่สามารถจัดสรรเงินให้กับพิพิธภัณฑ์ได้สม่ำเสมอ แต่ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมระดมทุนพิเศษเป็นครั้งคราว และรายได้จากการแสดงทางวัฒนธรรมของนักเรียนนอกสถานที่ การบริจาควัตถุจัดแสดงจากชาวบ้านและผู้ปกครอง ทำให้งบประมาณในการดูแลส่วนจัดแสดงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้คือวัตถุที่จัดแสดงหลายส่วนได้รับบริจาคมาจากหลากหลายบุคคลและวัตถุบางชิ้นก็ไม่สามารถบอกถึงที่มา หรือหน้าที่การใช้งานได้แน่ชัด และบางชิ้นก็ไม่มีคำบรรยาย เนื่องจากผู้ดูแลไม่ทราบหน้าที่การใช้งาน
 
ในส่วนของการปฏิสัมพันธ์กับชุมชนพิพิธภัณฑ์มีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการจัดตั้งให้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์ ใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลด่านช้างและโรงเรียนอื่นในเขตใกล้เคียง เป็นห้องเรียนสำหรับศึกษาค้นคว้า และการเรียนรู้จากประสบการณ์ การเป็นห้องสมุด และเป็นที่ฝึกอบรมของชมรมมัคคุเทศก์น้อยซึ่งดำเนินงานมาประมาณ5-6ปีแล้ว ทำให้มีการเข้ามาใช้พื้นที่ห้องจัดแสดงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเกือบทั้งวัน
 
การเดินทาง
การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพใช้ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) เมื่อพ้นจากเขตอำเภอบางบัวทองจะพบถนนแยกไปทางซ้าย เป็นถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ประมาณ 63 กม. จะพบป้ายบอกทางไปกาญจนบุรี/นครปฐม แยกไปทางซ้ายมือก่อนเข้าตัวเมืองสุพรรณบุรี เข้าสู่ถนนหมายเลข 357 ตามป้ายบอกทางไป อ.ดอนเจดีย์ และ อ.ศรีประจันต์ เป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบทางเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 322 ไปประมาณ 4 กม. จนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำ ให้เตรียมเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 3460 ไปประมาณ 13 กม. เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 333 วิ่งต่อไปประมาณ 45 กม.จนพบสี่แยกที่มีหอนาฬิกาอยู่ตรงกลาง เลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 3350 มุ่งหน้าสู่ตัว อ.ด่านช้าง เลี้ยวขวาที่บริเวณกลับรถ (U-tern)แห่งที่สองเพื่อเข้าสู่ประตูโรงเรียนอนุบาลด่านช้างซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ
 
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 4 เมษายน 2556
 
อ้างอิง
สัมภาษณ์ อาจารย์สิทถาพร ป้อมทอง อาจารย์ประจำโรงเรียนอนุบาลด่านช้าง อายุ 59 ปี
สัมภาษณ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลด่านช้าง อาจารย์ศิริชัย ศิลป์สาคร อายุ 56 ปี
 
ชื่อผู้แต่ง:
-