พิพิธภัณฑ์การเกษตรวัดบ้านกร่าง


ที่อยู่:
วัดบ้านกร่าง ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน เลขที่ 252 หมู่ 2 ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี 72140
โทรศัพท์:
035-581234,086-5608110
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์การเกษตรวัดบ้านกร่าง

แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งซึ่งไหลผ่านที่ราบลุ่มภาคกลางประเทศไทย เมื่อไหล ผ่านที่ใดก็เปลี่ยนชื่อเรียกตามสถานที่นั้นๆ เช่นแม่น้ำสุพรรณบุรี แม่น้ำนครชัยศรี และชุมชนริมสอง ฝั่งแม่น้ำสายนี้ก็มักจะเป็นแหล่งรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ประเพณี และการค้า 
 
อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ก็เช่นกันเป็นเมืองท่าค้าขายที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีต สมัยที่การคมนาคมทางน้ำยังนำหน้าการคมนาคมทางบก ใครสัญจรทางเรือผ่านไปมาต้องเห็นที่ว่าการอำเภอ ศรีประจัญซึ่งตั้งหันหน้าลงแม่น้ำสุพรรณบุรี และสถานที่สำคัญที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับที่ว่าการอำเภอก็คือ วัดบ้านกร่าง วัดชื่อดังที่ใครๆ รู้จัก โดยเฉพาะนักเลงพระทั้งหลายคงจะคุ้นชื่อกันดี ในนาม “พระขุนแผน วัดบ้านกร่าง” วัตถุมงคลชื่อดัง ของแท้และของจริงต้องที่ อ.ศรีประจันต์แห่งนี้เท่านั้น วัดบ้านกร่างนอกจากจะมีวัตถุมงคลชื่อดังแล้ว ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายที่คนเราอาจจะยังไม่ทราบ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะลอยน้ำ และสุขา?
 
เรื่องแรกคือประวัติศาสตร์ วัดบ้างกร่าง วัดแห่งนี้สันนิษฐานกันว่ามีอายุราว 400 ปีมาแล้ว สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีกรุพระขุนแผนบ้านกร่าง เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี และทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่องซึ่งเล่ากันว่า มีจำนวนถึง 84,000 องค์ บรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต พระพิมพ์บ้านกร่างคู่เป็นพระที่มีความหมายมาก ในการสร้างพระครั้งนี้แม่พิมพ์แกะเป็นสององค์คู่กัน โดยสมมติให้เป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระรูปแบบนี้หายากในกรุอื่นๆ ทั่วประเทศไทย  พระเครื่อง กรุวัดบ้านกร่าง แตกกรุจากเจดีย์หลังพระวิหารเก่าในบริเวณ วัดบ้านกร่าง เมื่อราว พ.ศ. 2447 มีเรื่องเล่ากันว่า ตอนที่พระแตกกรุออกมาใหม่ๆ พวกพระสงฆ์และชาวบ้าน ได้นำพระทั้งหมด มากมายหลายพิมพ์ มาวางไว้ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ใกล้วิหาร เด็กวัดในสมัยนั้นได้นำ พระที่วางไว้มาเล่นร่อนแข่งขันกันในลำน้ำสุพรรณบุรี เป็นที่สนุกสนาน เนื่องจากว่า ในสมัยนั้น พระวัดบ้านกร่าง ยังไม่มีมูลค่า และ ความนิยมมากมายเหมือนปัจจุบัน
 
พระอุโบสถและวิหาร เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยอู่ทอง ใบเสมาที่เรียงรายรอบพระอุโบสถมีที่มาจากการนำพระวัดกร่างพิมพ์ทรงพลใหญ่มาจำลองให้มีขนาดเท่าใบเสมา  ใบเสมาของวัดนี้จึงมีลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนวัดใด ส่วนวิหารมีอายุราว 450 ปี ประดิษฐานหลวงพ่อแก้วเป็นพระประธานภายในวิหาร นอกจากนี้ยังมีพระสาวกที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยาของแท้ รูปทรงวิหารก็เป็นแบบมหาอุต คือเข้าออกได้ทางเดียวตามความนิยมในสมัยอยุธยา
มณฑป อยู่ถัดจากวิหาร ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ด้านหลังวิหาร ประดิษฐาน เจดีย์ ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ จากองค์เดิมที่สร้างในสมัยอยุธยาซึ่งชำรุด ความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์ราว 5.70 เมตรสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง(พระขุนแผน) และภายในพระเจดีย์ เคยพบพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์จำนวน 20-30 องค์ และพระเครื่องซึ่งมีลักษณะเป็นแก้วสีเขียว 
บริเวณริมแม่น้ำประดิษฐาน เจดีย์กลางน้ำ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอายุราว 150 ปี มีลักษณะย่อมุมไม้สิบสองแต่เดิมองค์พระเจดีย์ตั้งอยู่กลางแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นไว้สำหรับคนทั่วไปสักการะบูชาในวันลอยกระทง แต่เนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ เป็นเหตุให้พระเจดีย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จทรงนมัสการเจดีย์กลางน้ำองค์นี้ คราวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2451 และตั้งพลับพลาที่ตำบลบ้านกร่าง
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์การเกษตรวัดบ้านกร่างนั้น อยู่ภายในอาณาบริเวณของกุฏิสงฆ์ ซึ่งเป็นกุฏิทรงปั้นหยาสร้างด้วยไม้ อาคารยาวเชื่อมต่อกันโอบล้อมทั้งสองข้างเป็นสัดส่วนชัดเจน บริเวณทางเข้ามีศาลาทรงไทย ตรงกลางมีศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้สองชั้น และด้านหลังสุดเป็นกุฏิเจ้าอาวาส ริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยการขอบริจาคจากชาวบ้านในเขต อ.ศรีประจัญ ผ่านทางวิทยุชุมชน หรือเมื่อมีกิจนิมนต์ไปที่บ้านใดมีของเก่าที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร ก็ขอบริจาคมาจัดแสดง จนได้ข้าวของมาหลายร้อยชิ้น
 
บริเวณที่ใช้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์คือระเบียงของศาลาการเปรียญ สิ่งที่จัดแสดงได้เด่นชัดและมีจำนวนมากก็คือ แอกและคันไถทำจากไม้ ระหัดวิดน้ำทำจากไม้ ในส่วนจัดแสดงนี้ป้าย และคำอธิบายต่างๆ หลุดหายและค่อนข้างเก่าซีด สำหรับผู้ที่เคยรู้จักอุปกรณ์ทำนาเก่าแก่เหล่านี้มาก่อนย่อมจะทราบวิธีการใช้งานต่างๆ ได้ดี แต่สำหรับคนรุ่นใหม่หากไม่มีป้ายอธิบายหรือมีผู้บรรยายให้ฟัง ก็ยากที่จะเข้าใจวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ และเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษ 
 
ส่วนจัดแสดงถัดมาก็คือด้านข้างของกุฏิเจ้าอาวาส มีสีฝัด หรือสีโบก ที่ชาวนาสมัยก่อนใช้สีแยกเมล็ดข้าว ฟาง และแยกข้าวเมล็ดลีบออกจากกัน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้วเพราะมีเครื่องเกี่ยวและมีโรงสีข้าวที่ทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีครกตำข้าวโบราณสากตำข้าว กระบุงตำข้าว เครื่องมือการเกษตรอีกส่วนอยู่บนกุฏิ ชั้นสองด้านซ้ายมือจากกุฏิเจ้าอาวาส มีข้าวของจำพวก โอ่ง ไห ถังไม้ วางอยู่เหมือนห้องเก็บของมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพระที่มีหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์อธิบายว่า ข้าวของส่วนนี้เคยจัดแสดงอยู่ด้านล่าง แต่มีปัญหาก็คือมีผู้มักง่ายหยิบฉวยของชิ้นเล็กๆ กลับไปเป็นของที่ระลึกเป็นประจำ กุฏิก็เปิดโล่งและกว้างขวางจนดูแลไม่ทั่วถึงเมื่อของหายญาติโยมที่เคยบริจาคสิ่งของมาก็ไม่พอใจ จึงจำเป็นต้องเก็บของบางส่วนขึ้นมาไว้บนกุฏิ ซึ่งก็ยังมีปัญหาของสูญหายอยู่เป็นประจำ แม้แต่พระพุทธรูปโบราณในวัดก็ต้องคอยดูแลให้ดีเพราะช่วงนี้โจรขโมยพระโบราณชุกชุมมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกวัด ด้านหลังกุฏิทางขวามือมีเกวียนโบราณหลังใหญ่ๆ อยู่หลายหลัง ส่วนที่กุฏิเจ้าอาวาสนั้นเป็นสถานที่บูชาพระขุนแผนบ้านกร่างของผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย และมีเครื่องใช้เก่าๆ ของวัดจัดแสดงอยู่ในตู้ด้วย หากใครต้องการดูเครื่องไม้เครื่องมีทำการเกษตรแบบเก่าๆ ก็สามารถมาศึกษากันได้ที่วัดบ้านกร่าง แต่อาจจะต้องทำการบ้านหาความรู้มาก่อน 
 
สถานที่น่าสนใจในวัดบ้านกร่างอีกอย่างก็คือสวนสาธารณะลอยน้ำบริเวณหน้าวัด เป็นโป๊ะ ลอยน้ำหลังคาทรงไทยขนาดใหญ่หลายหลังเรียงติดกันสามารถเดินพักผ่อนหย่อนใจให้อาหารปลา ทำบุญที่หน้าวัดได้ ส่วนที่น่าสนใจและเป็นหน้าเป็นตาที่สุดของวัดบ้านกร่างก็คือสุขาที่สะอาดจนได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้ว ใครอยากพิสูจน์ห้องน้ำวัดที่สะอาดที่สุด เชิญได้ที่วัดบ้านกร่าง  หรืออยากหาความรู้เรื่องพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง ก็เชิญทัศนาได้ที่วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
 
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 29 ธ.ค.2552
ชื่อผู้แต่ง:
-