พิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ภูเก็ต


ที่อยู่:
บริษัท เพอรานากัน ภูเก็ต จำกัด เลขที่ 124/4 หมู่ที่ 1 ถนนเทพกษัตรี ตำบลสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 83110
โทรศัพท์:
0-7631-3556, 09-2224-4574
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 150 บาท, คนไทย ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
เว็บไซต์:
อีเมล:
info@peranakanphuketmuseum.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2560
ของเด่น:
เสื้อเกอบายา, เครื่องเรือนเพอรานากัน, อุปกรณ์ช่างทอง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล


พิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ต หรือPeranakan Phuket Museum นับเป็นพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ของจังหวัดภูเก็ตที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึงปี (สำรวจเมื่อกลางปี  2560) แต่กิจการของครอบครัว สุวัณณาคาร ซึ่งดำเนินธุรกิจเครื่องประดับมาแล้วถึงสี่ชั่วอายุคน ชาวภูเก็ตที่สนใจเครื่องประดับจะรู้จักกันในนาม “ทวีสุวัณณ์” เพราะเป็นธุรกิจเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงผลิตเครื่องประดับเพอรานากัน ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์และมีความวิจิตรงดงาม ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณภาวดี สุวัณณาคาร เป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ทวีสุวัณณ์ จำกัด โดยทำหน้าที่ดูแลทั้งกิจการเครื่องประดับและพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ภูเก็ต ร่วมกับพี่ชาย หรือคุณภัทร สุวัณณาคาร

จุดเริ่มต้น

เมื่อสอบถามถึงแรงบันดาลใจและความตั้งใจในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ภูเก็ต ภาวดี สุวัณณาคาร ให้คำอธิบายเกี่ยวกับโครงการพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ภูเก็ต ไว้ว่า

เครือบริษัทที่คุณพ่อสร้างขึ้นมา ทุก ๆ สิบปีจะมีการสร้างโครงการบางอย่าง จากหน้าร้านเล็กๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน สิบปีผ่านมา สร้างเป็นร้านที่เซ็นทรัล อีกสิบปีผ่านมา นี่เป็นโครงการใหญ่ของเขา ตอนแรกเราสร้างเป็นพื้นที่ให้เช่า แต่ว่า เราก็มีร้านเครื่องประดับของเราขายด้วย แล้วก็มีการขายเสื้อผ้าแนวเพอรานากันไปด้วย เสื้อบาบ๋า ย่าหย๋า ผ้าถุง ได้รับ feedback ที่ค่อนข้างดีจากผู้คน เพราะว่าไปที่เดียวแล้วได้ครบหมด ทั้งเครื่องประดับทั้งเสื้อผ้า ...แล้วการขายของอย่างเดียว เหมือนกับไม่มี story เราเลยเริ่มค้นคว้าไปทั้งปีนัง สิงคโปร์ มะละกา เราคิดว่ามาสร้างพิพิธภัณฑ์กันดีกว่า จากตอนแรกที่นี่มีเฉพาะร้านเครื่องประดับทวีสุวัณณ์ ด้านบน แล้วก็ขยับขยายให้มีร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า แล้วก็มีส่วนของพิพิธภัณฑ์อยู่ด้านบน

โครงการพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ภูเก็ต จึงเป็นเสมือนการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าของธุรกิจครอบครัว แต่มากไปกว่านั้น ด้วยบรรพบุรุษที่เป็นลูกหลานเพอรานากันเอง ย่อมเป็นเครื่องกระตุ้นให้ครอบครัว “สุวัณณาคาร” ใช้พื้นฐานดังกล่าวในการค้นคว้าและรวบรวมจนกลายเป็นเนื้อหาและนำเสนอเรื่องราวของชนชาวเพอรานากัน ภูเก็ตอย่างน่าสนใจ มากไปกว่านั้น ขั้นตอนในการเตรียมการก่อนการออกแบบและการสร้างสรรค์นิทรรศการนับเป็นวิธีการที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาความรู้สึกร่วมของพิพิธภัณฑ์ให้กับผู้คนในบริษัท

ภาวดี สุวัณณาคาร กล่าวถึงจุดตั้งต้นการค้นคว้าเรื่องราวเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ที่สนับสนุนให้พนักงานและลูกจ้างของบริษัทร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการค้นคว้าเรื่องของเพอรานากัน ภูเก็ต แต่ละฝ่ายจะพบปะกันหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลที่อาศัยการค้นคว้า ทั้งจากหนังสือ เอกสาร สื่อออนไลน์ หรือการไถ่ถามจากผู้รู้ จนทำให้ผู้คนของบริษัทตระหนักถึงโครงการพิพิธภัณฑ์ ที่มีบทบาทสำคัญต่อทั้งบริษัทและความภาคภูมิใจของประวัติงานฝีมือช่างทองที่เป็นของทุกคน

เนื้อหาในการจัดแสดง

พื้นที่นิทรรศการแบ่งออกเป็น 11 หัวข้อ โดยมีหัวข้อที่ 1 และ 2ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของเพอรานากัน ภูเก็ต และสถาปัตยกรรมเก่าภูเก็ต ตามลำดับ เนื้อหาในทั้งสองส่วนนี้ ให้ความอธิบายถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของภูเก็ตที่ปรากฏอยู่ในผู้คน นั่นคือชาวจีนทางตอนใต้ โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยนที่เคลื่อนย้ายมาตั้งรกราก ณ เมืองสำคัญหลายแห่ง ในช่องแคบมะละกา รวมถึงภูเก็ต ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมลูกผสม ทั้งนี้ ผู้นำชมให้คำอธิบายว่า โดยทั่วไปแล้ว คนภูเก็ตรุ่นลูกหลานที่เป็นลูกของชาวจีนอพยพกับคนพื้นถิ่นภูเก็ตนี้จะเรียกโดยรวมว่า บาบ๋า แต่มีการให้คำอธิบายต่อเนื่องด้วยว่า บาบ๋า ยังใช้เป็นชื่อเรียกผู้ชายชาวเพอรานากัน ส่วนผู้หญิงจะใช้ชื่อเรียกว่า ย่าหย๋า

ความเป็นลูกผสมสะท้อนผ่านภาษา อาหาร เครื่องแต่งกาย และสถาปัตยกรรม ดังที่ปรากฏให้เห็นในย่านเมืองเก่าภูเก็ตในปัจจุบัน เนื้อหาในส่วนที่สอง จึงสะท้อนให้เห็นรูปแบบของเรือนที่แตกต่างกันใน4ยุคสมัย ตั้งแต่อาคารที่ใช้บ้านดิน สู่อาคารตึกแถวและอังมอหลาว หรือคฤหาสน์ของเจ้าสั่ว การนำเสนออาศัยตัวแบบจำลองที่สะท้อนให้เห็นพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน ตั้งแต่บริเวณหน้าบ้านหรือทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคารที่เรียกว่า หงอคากี่ โถงรับแขก จนถึงซิมแจ้ที่เป็นบริเวณพื้นที่กลางบ้าน ที่เปิดให้น้ำและอากาศไหลเวียนอยู่ภายใน ส่วนพื้นที่ชั้นสุดคือครัว ที่นับว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อของชาวเพอรานากัน เพราะเปรียบเสมือนกับท้องมังกร

จากนั้น ในส่วนการจัดแสดงห้องที่  3-6เป็นรูปแบบของการจำลองเรือน เพื่อประกอบการอธิบายในการนำชม ทั้งเครื่องเรือนและรูปแบบการใช้สอยประโยชน์ภายในเรือน ประกอบด้วยห้องรับแขก ชิมแจ้ ห้องรับประทานอาหาร-ห้องครัว และห้องนอน รูปแบบการจำลองทำกับสัดส่วนของห้องจริง โดยได้รับการอธิบายเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ด้วยเรื่องเล่าชั้นดีจากมัคคุเทศก์ผู้นำชม เช่น ทางเข้าของบ้านสู่ห้องรับแขก หน้าต่างสองข้างประตูและช่องระบายลมเหนือหน้าต่าง เปรียบเสมือนตา คิ้ว และปาก เพื่อนำสิ่งดี ๆ เข้าสู่ภายในเรือน ภายในห้องรับแขกมีการประดับกระจกสะท้อนกันทั้งซ้ายและขวาของห้อง เพื่อแสดงให้เห็นความมั่งคั่งที่ไม่รู้จบ ภายในชิมแจ้ มีการติดตั้งสื่ออินเตอร์แอคทีฟ คล้ายกับบ่อน้ำที่อยู่ในสถานที่จริง ๆ ผู้ชมโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะสนุกสนานกับการเดินไปบนผิวน้ำเสมือน และปลาจะว่ายหนีไปยังบริเวณข้างเคียง เครื่องเรือนต่าง ๆ ที่ปรากฏในห้องจำลองมาจากทั้งมรดกตกทอดของครอบครัว สิ่งที่จัดซื้อมาใหม่ เพื่อทำให้การเล่าเรื่องภายในนิทรรศการนั่นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ห้องจัดแสดง 7 หรือ เดอะ แกลลอรี่ เป็นการนำเสนอภาพเก่าของเมืองภูเก็ต ผ่านรูปแบบการนำเสนอที่น่าชวนให้ผู้ชมได้ข้ามกาลเวลาไปเรียนรู้สถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิต ผู้ชมสามารถขี่จักรยานและปั่นไปตามถนนเสมือนบนหน้าจอเพื่อเรียนรู้สถานที่สำคัญ อีกจุดหนึ่ง ผู้ชมสามารถชมภาพเก่าด้วยการมุดศีรษะเข้าไปดูภาพนิ่งที่หมุนเวียนในกล้องถ่ายภาพสมัยก่อน ความต่อเนื่องของเรื่องราวยังดำเนินมาสู่ห้องจัดแสดง 8หรือ เมืองเก่าภูเก็ต ด้วยตัวแบบจำลองย่านเก่าภูเก็ต สะท้อนให้เห็นถนนสำคัญ เช่น ถนนถลาง ถนนดีบุก อันเป็นสถานที่ที่ผู้มาเยือนภูเก็ตในปัจจุบันสามารถสัมผัสกับเรือนแถวที่สร้างขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเมืองภูเก็ตยังผูกกับธุรกิจเหมืองแร่ ร้านรวงต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นโฮสเทล ร้านกาแฟ เพื่อเปิดรับกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้น นอกเหนือจากการท่องเที่ยวธรรมชาติดังที่ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วก่อนหน้านี้

จากนั้น ผู้ชมจะเดินข้ามมีอีกส่วนการจัดแสดงในส่วนท้าย 9 10และ 11ที่กล่าวถึงห้องช่างทอง หรือประวัติของธุรกิจเครื่องทอง ทวีสุวัณณ์ ห้องโบตั๋น หรือการบอกเล่าเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของบาบ๋าและย่าหย๋า ที่นำเสนอแบบแผนการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของเพอรานากัน และห้องดั้งเดิม หรือ ในชื่อภาษาอังกฤษว่า The Heritage ที่ถ่ายทอดประเพณีสำคัญ ๆ ของชุมชนเพอรานากันและจีนภูเก็ต ห้องช่างทองนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะจัดแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์ของช่างทอง แม้จะไม่มีช่างฝีมือมาสาธิตให้เห็นขั้นตอนการทำงาน แต่วีดิทัศน์บอกเล่าขั้นตอนที่ใช้ทั้งความอุตสาหะและความประณีต ในการผลิตเครื่องทองและเครื่องประดับเพอรานากันที่เป็นเอกลักษณ์ เครื่องประดับที่จัดแสดงในส่วนนี้เป็นเพียงวัตถุจำลองด้วยเหตุผลในเรื่องความปลอดภัยของเครื่องประดับที่มีมูลค่าสูง

ในส่วนของห้องโบตั๋น หุ่นที่แต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มเป็นตัวแทนสะท้อนเรื่องราวการแต่งกายของเพอรานากัน แม้ผ้านุ่งปาเต๊ะจะเป็นรูปแบบการนุ่่งผ้าของหญิงที่พบเห็นได้ทั่วไปในคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะ แต่เสื้อที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน 2-3แบบของเพอรานากัน ชวนให้เห็นความงดงามของหญิงเพอรานากัน เช่น เคบายา หรือ เกอบาญา นั้นเป็นเสื้อผ้าบางที่ลวดลายของพรรณพฤกษาและการปักลายที่ชายเสื้อ อวดรูปร่างที่งดงามของย่าหย๋า นอกจากนี้ กรอสังข์ หรือ kerosangมีลักษณะคล้ายเข็มกลัดที่ใช้ในการกลัดเสื้อเกอบาญา ยังเป็นเครื่องประดับที่แสดงให้เห็นถึงฐานะของสามี และความวิจิตรของลวดลายเครื่องประดับที่มีความละเอียดอ่อน

ห้องดั้งเดิมเป็นห้องจัดแสดงสุดท้ายบอกเล่าประเพณีสำคัญ ๆ เช่น ประเพณีการกินผัก ที่จะมีเครื่องประกอบพิธีจำลองให้เห็นโต๊ะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวีดิทัศน์บันทึกรูปแบบของการจัดงาน ประเพณีพ้อต่อในช่วงสารทจีนที่เป็นการทำบุญให้กับบรรพบุรุษ มีพิธีในช่วงเดือน 7 ของจีนหรือเดือน 9 ของไทย โดยมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องบวงสรวง เป็นขนมชนิดหนึ่งทำด้วยแป้ง เป็นรูปเต่าขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ทาสีแดง ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน ดังนั้นการไหว้เต่า จึงเป็นการต่ออายุให้ตนเองและถือกุศลที่ยิ่งใหญ่

ห้องทวีสุวัณณ์เป็นห้องที่อยู่ในบริเวณชั้น2 ซึ่งเป็นขายเครื่องประดับอันเป็นผลิตภัณฑ์หลักของธุรกิจที่มีมาแต่ดั้งเดิม นับเป็นรูปแบบของการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์อย่างยิ่ง เพราะเมื่อผู้ชมชมที่มาที่ไปของวัฒนธรรม ซึ่งมีเครื่องประดับเพอรานากันเป็นส่วนหนึ่ง ย่อมได้ทั้งความชื่นชมและยังส่งผลต่อการขายผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในบริเวณของพิพิธภัณฑ์ ยังมีส่วนของร้านค้าเครื่องแต่งกาย ครัวย่าหย๋า และร้านกาแฟให้บริการกับผู้ชม พิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ภูเก็ต จึงได้ว่าเล็งเห็นทั้งความสำคัญของความรู้ให้การถ่ายทอดให้กับผู้เข้าชม และบริการต่าง ๆ ที่ทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถดำเนินกิจการไปควบคู่ไปกับธุรกิจที่มีมาแต่ดั้งเดิม และนับเป็นทางเลือกทางการท่องเที่ยวให้กับภูเก็ต ที่ไม่เฉพาะการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่ยังมีการท่องเที่ยงเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้เรียนรู้สำหรับแขกผู้มาเยือนและคนในภูเก็ตเอง.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ์ เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 20 ธันวาคม 2560
 
ชื่อผู้แต่ง:
-