ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณ


ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณก่อตั้งด้วยความตั้งใจ ที่จะอนุรักษ์สืบทอดฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม ทั้งสถาปัตยกรรม ต่อลมหายใจให้กับงานผ้าของชาวไทยทรงดำในชุมชนตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยนายอธิป ย้อนเพชร ลูกหลานชาวไทยทรงดำหรือไตดำบ้านดอน เป็นผู้รวบรวมองค์ความรู้จากรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย พร้อมศึกษาองค์ความรู้จากที่ต่าง ๆ ที่เก็บสะสม ผ้าเครื่องแต่งการของชาวไทยทรงดำ และวิธีการทอแบบโบราณเอาไว้ ด้วยที่เล็งเห็นว่านับวันภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเริ่มเลือนหายไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม เช่น เฮือนกระดองเต่า ที่ตำนานความเป็นมาต่าง ๆ ที่มาที่ไป ทั้งขนบธรรมเนียม การปลูกสร้างบ้าน และวิธีการปลูกสร้าง จึงมีแรงบันดาลใจให้สร้างเฮือนกระดองเต่าขึ้นมา โดยตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนหมู่บ้าน

ที่อยู่:
173 ม.1 ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
โทรศัพท์:
088-4582266 คุณอธิป ย้อนเพชร
วันและเวลาทำการ:
ทุกวันตั้งเเต่ 8:00-18:00 น
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2557
ของเด่น:
เฮือนกระดองเต่า, วิถีชีวิตไตดำในอดีต, เครื่องแต่งกายไตทำ, ผ้าทอมือย้อมนิล
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 09 มกราคม 2561

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณ

เริ่มแรก เราชอบเรื่องผ้าและสะสมผ้าเก่า จากการเห็นของคนต่างหมู่บ้าน ต่างวัฒนธรรม ต่างประเทศเข้ามาสนใจเรื่องผ้า มาซื้อผ้าเก่า ๆ ในหมู่บ้านเราไป เลยเกิดความคิดว่า หากเขามาซื้อ แล้วคนบ้านเราขายของเก่า ลูกหลานต่อไปคงไม่ได้เห็น เราเกิดความคิดว่าต้องซื้อบ้าง แล้วอีกอย่างหนึ่ง ใจเราชอบ อย่างเสื้อ ของใช้ในพิธีกรรม พวกนี้ เราเห็นเหมือนมีมนต์ขลัง เรามีเงินเท่าไรก็ซื้อเก็บไว้เป็นที่ละเล็กละน้อย ตอนนี้ ผมอายุ 28 ย่าง 29ปี ผืนแรกที่ซื้อน่าจะอยู่ในช่วงอายุ 18 ปี

อธิป ย้อนเพชร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของบรรพชน “ไตดำ” การตั้งชื่อ พิพิธภัณฑ์ว่า ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณ นั้น อธิปให้คำอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ “เรากลับไปสืบถามคนรุ่นเก่า ๆ สืบไปสืบมา เป็นคำว่า ผู้ไต ผู้ไตดำ แล้วมาเปลี่ยนเป็น ‘ลาวโซ่ง’ ส่วนคำว่า ‘ไทยทรงดำ’ เท่าที่จำความได้  ราว 20-30 ปีที่เขาบอกเล่าว่ามีการเรียกกัน แต่ถ้าในประเทศไทย เป็นร้อยปี คำว่า ‘ลาวโซ่ง’ ส่วนคำว่า ‘ไทดำ’ เพิ่งมาเรียกกันในช่วงหลัง ๆ ประมาณ 10-20 ปี ...แต่ถ้าใช้คำว่า ‘ผู้ไต’ หรือ ‘ไตดำ’ ไม่ว่าทั้งข้างในและข้างนอก [ในหรือนอกประเทศไทย] จะรู้กัน เพราะว่าเป็นชื่อเดิม เราอยากฟื้นฟู พร้อมด้วยอนุรักษ์ สืบสานต่อลมหายใจบรรพบุรุษ เราจึงใช้คำว่า ‘ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรม’ แล้วใช้คำว่า ‘ไตดำ’ ให้เป็นของเดิม แล้วคำว่า ‘โบราณ’ สื่อว่า gเป็นของดั้งเดิม และให้ทุกคนเข้ามาถาม เราจึงมีคำอธิบายให้เขาได้รับฟัง”

สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เฮือนกระดองเต่าอันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมของคนไตดำ ตั้งอยู่ในที่ดินส่วนของของอธิป ย้อนเพชร เรือนดังกล่าวแสดงความโดดเด่นทางวัฒนธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นเรือนที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน

ผมตระเวนไปทุกจังหวัดที่เป็นหมู่บ้านไทยทรงดำ แล้วก็ไปดูลักษณะตาม คำบอกเล่าว่า ต้องแบบนั้น แบบนี้ รวมองค์ความรู้ การจะทำแบบนี้ เราก็ต้องมีช่าง ช่างไม่สามารถจะทำได้ เราต้องไปหาต้นแบบ พาเขาไปดูทางเพชรบุรี ออกมาเป็นรูปแบบนี้ เราจะจัดสรรหาให้เป็นแบบไหนเป็นคนกำหนดและบอกช่างว่า ต้องการแบบนั้น แบบนี้ ...ในใจผม สามารถสร้างบ้านหลังนี้เป็นแบบโบราณดั้งเดิม ประมาณ 70-80%

เฮือนกระดองเต่าของศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณนั้นเป็นเรือนยกจากพื้น ใต้ถุนใช้ในการทอผ้า อันเป็นสถานที่ที่อธิป ย้อนเพชรใช้ย้อมและทอผ้าของไตดำ สำหรับเป็นสินค้าเพื่อเป็นรายได้ให้กับตนเองและสำหรับการประกอบกิจกรรมของศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมดังกล่าว นอกเหนือจากกี่ทอผ้าจำนวน 2 หลังที่ปรากฏอยู่ใต้ถุนเรือนแล้ว ผู้ที่มาเยี่ยมจะได้เห็นครกกระเดื่อง ซึ่งเป็นวัตถุสำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตในอดีตของชาวไตดำบ้านดอน และหม้อย้อมนิล ที่เป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายถึงการผลิตผ้าทอมือได้เข้าใจถึงขั้นตอนในการถักทอเส้นฝ้ายให้กลายเป็นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของไตดำ

ผมศึกษาและยังมาทำอยู่ เพราะว่าไตดำ เดี๋ยวนี้ ไม่เห็นเรื่องการย้อมผ้าแบบนี้ ก็กลัวหาย ก็ศึกษาเอาไว้ วัสดุการย้อมในพื้นบ้านจริง ๆ แล้วมีครบ แต่ส่วนมากใช้ความสะดวกสบาย อย่างต้นครามพบตามไร่นาริมคลอง หากทำใช้เอง ก็จะเพียงพอ แต่ปัจจุบัน เรามีการทำกลุ่มทอผ้าขายด้วย ต้องสั่งจากทางอีสานเข้ามา เพราะอีสานปลูกเป็นไร่
เมื่อขึ้นเรือนชั้นบน บ้านจะแบ่งออกเป็น 3 ด้วยกัน ได้แก่ ชาน ภายในเรือน และกว๊าน โดยมีการให้คำอธิบายที่มาของเฮือนกระดองเต่าที่เกี่ยวข้องกับตำนานของชาวไตดำ เต่าที่ช่วยชีวิตมนุษย์เอาไว้จึงได้มีการจำลองเรือนที่พักให้มีลักษณะคล้ายกระดองเต่า ส่วนขอกุดซึ่งประดับอยู่บนหลังคาเรือนเกี่ยวข้องกับตำนานของวัวควายที่มนุษย์ได้มาจากพญาแถนในการทำกิน เพราะได้ช่วยชีวิตของเต่าเอาไว้ เมื่อเข้าสู่ภายในเรือน อธิป ย้อนเพชร กล่าวถึงโครงสร้างของเรือน ที่จะต้องประกอบด้วยห้อง (ระหว่างเสา) เป็นจำนวนเลขคี่

ภายในตัวเรือน ตามหลักของบ้านไตดำ ต้องลงด้วยเลขคี่ ใช้ระหว่างเสาบอกห้อง หนึ่ง สอง สาม นี่คือ หลักทั่วไป คือสามห้อง แล้วมีห้องกว๊านและจาน ชานบ้าน (จาน) กว๊าน เป็นส่วนที่ออกจากตัวบ้าน ทั้งหมดหากนับห้องแล้วได้ 5 ห้อง ถ้าเกิดลงด้วยเลขคู่ ประเพณีหรือวัฒนธรรมของเราเรียกว่า ห้องหรือบ้านผี อย่างบ้านที่ปลูกให้ผีอยู่ ตอนที่ทำการเผาศพ พิธีเฮือนแฮ้ว จะมีอยู่สองห้อง

ฉะนั้น ตัวบ้านคนจึงต้องมีสามห้อง เพื่อให้แยกออกจากผี บางทีที่ตัวบ้านแค่สองห้อง ซึ่งผิดหลัก อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเสียชีวิต หากผู้ตายเป็นผู้ชาย จะต้องตั้งศพไว้อยู่ใต้ขื่อที่ติดกับห้องผี หรือ กะล้อห่อง ส่วนขื่อถัดไป สำหรับตั้งศพผู้ตายที่เป็นผู้หญิง

เมื่อพิจารณาโดยรอบแล้ว โครงสร้างของเฮือนกระดองเต่าหลังนี้ใช้การปลูกเรือนด้วยเทคนิคและวัสดุที่ใกล้เคียงกับเรือนดั้งเดิม “จั่วนั้นจะต้องขึ้นเหนือและลงใต้ เป็นบ้านขวางตะวัน ในคำว่า บ้านขวางตะวัน บ้านจะบังแดด เวลาตกก็จะบังแดด และบ้านก็จะรับลมเหนือและใต้ เขาสร้างบ้านตามหลักภูมิศาสตร์ด้วย ให้บังแดด ให้รับลม เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษ เขาตั้งเป็นกฎเกณฑ์ไว้เพื่อให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้” การสร้างเฮือนกระดองเต่านั้นไม่ใช้ตะปูในการตอก แต่ใช้หวายในการมัดตั้งแต่โครงหลังคาและปูด้วยหญ้าคา ส่วนโครงสร้างหลักก็อาศัยการเข้าไม้ตามแบบโบราณ

บริเวณที่เป็นกะล้อห่องหรือห้องบรรพบุรุษ มีผนังไม้ไผ่กั้นไว้อย่างเป็นสัดส่วน สมาชิกผู้ชายและผู้อาวุโสจะเข้าไปเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษตามรอบวันที่กำหนดไว้แตกต่างกันระหว่างครอบครัวที่สืบทอดจากผู้ต้าว (บรรพชนเป็นท้าว) กับผู้น้อย (บรรพชนเป็นคนสามัญ) และบริเวณที่ใกล้กั้นนั้น ปรากฏมุ้งและ “เสื่อ” หรือฟูกที่เป็นสีดำ มีการทำลวดลายอยู่ที่ด้านข้าง แสดงให้เห็นทิศทางการนอนของสมาชิกภายในครัวเรือน

อีกฟากหนึ่งเป็นส่วนของการบอกเล่าเกี่ยวกับ “ห้องครัว” โดยห้องครัวจะอยู่กลางบ้าน “ทำไมอยู่กลางบ้าน เพราะแถบที่อยู่ในอดีตนั้น อากาศค่อนข้างจะเย็น ครัวไฟจึงมีส่วนสำคัญในการให้ความอบอุ่นกับบ้าน คนอาศัย บ้านแบบนี้ทำจากไม้ไผ่ ฟาก หญ้าคา ดังนี้น ควัน ละอองจากการจุดไฟเป็นสารช่วยให้แมลงไม่เข้ามาอยู่ในบ้าน และรักษาบ้านให้คงทน และมีการถนอมอาหารไว้บนที่ต้มปิ้งย่างที่เรียกว่า ‘ส่า’

พวกนี้เป็นไห ที่ใช้ถนอมอาหาร หน่อส้มหรือหน่อไม้เปรี้ยว ปลาร้า เกลือ ไหมะขาม กะปิใส่ที่อ่าง และได้รวบรวมของใช้เล็กน้อยบางส่วน ตรงนี้เป็นหม้อที่ไว้สาวไหม แสดงถึงวัฒนธรรมในการเลี้ยงไหม ตัวนี้ใช้มาสามชั่วคน เป็นหม้อที่ใช้สาวไหม ค่อนข้างหายาก ไหมเนี่ยส่วนมากใช้ในพิธีกรรมสำคัญ อย่างทำเสื้อในพิธีกรรม ตัวลวดลายเป็นพวกไหมทั้งหมด แล้วเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของคนไตดำ” อธิป ย้อนเพชร ให้คำอธิบายเกี่ยวกับส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในเรือน
นอกเหนือจากเรื่องของโครงสร้างเรือนและพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านแล้ว หุ่นจัดแสดงเครื่องแต่งกายทั้งชายและหญิงได้รับการนำเสนอเอาไว้ เริ่มจากการแต่งกายของหญิง เสื้อฮีของผู้หญิงที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เสื้อก้อมเป็นเสื้อที่ใช้ในชีวิตประจำวันกับผ้าซิ่นลายแตงโม ชุดแต่งกายของผู้ชาย ชุดแต่งกายที่ให้ชมเน้นพิธีกรรม กางเกงขายาวเป็นกางเกงปัจจุบัน อย่างนี้เรียกเสื้อฮี ชาย เสื้อผ้าดังกล่าวได้รับการสวมใส่ไว้ที่หุ่นพร้อมป้ายการจัดแสดงให้คำอธิบายเกี่ยวกับการแต่งกายเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ส่วนสุดท้าย อธิปให้คำอธิบายว่าเป็นหน้าบ้าน หรือเรียกว่า “กว๊านต้าว” หรือสถานที่ที่หลับนอนของบรรพบุรุษในบ้าน “ในสมัยก่อน อาจจะทำกว้างกว่านี้ แขกสำคัญหรือแขกที่มาหาเรื่องงานพิธี ทางการ จะต้องมาหาด้วยการขึ้นลงทางนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นทางขึ้นของผู้ชาย ส่วนฝั่งชานบ้านหรือ ‘เนาะจาน’ ถือว่าเป็นทางขึ้นของผู้หญิง ตรงนั้นไม่เป็นทางการก็เรียกกันฝั่งโน้น ผู้หญิงจะขึ้นกันฝั่งโน้น ส่วนบันไดที่อยู่ในบริเวณกว๊านต้าวนั้น สามารถยกขึ้นมาเก็บไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนขึ้น”

อธิปกล่าวว่า ตั้งแต่เปิดศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยจากภายนอกมาก โดยเฉพาะการให้ความสนใจเกี่ยวกับผ้าทอมือ แต่สำหรับคนในแล้ว อาจจะไม่ได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไตดำอย่างเป็นนิจ แต่เมื่อมีกิจกรรมสำคัญที่ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณพยายามประกอบขึ้นนั้น ก็ได้รับความสนใจ “ป๊าดตงข้าวใหม่” นับเป็นประเพณีเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่และวัฒนธรรมเกษตร

พอถึงในช่วงหนึ่ง เดือนสิบสอง เดือนหนึ่ง เดือนสอง ในช่วงปลายฤดูกาล นำข้าวปลาอาหารจากการทำเกษตร มาเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่อยู่บนบ้าน เราไม่เคยลืมเขา ให้เขามาช่วยอุ้มชูเรา ให้การเกษตรในฤดูต่อไปดีขึ้น

เราไม่ได้ลืมพ่อแม่บรรพบุรุษที่เขาทิ้งทรัพยากรเหล่านี้ไว้ให้เรา พอถึงในช่วงนั้น นำข้าวเม้ามาตำแล้วมาทำการบูชาและบอกกล่าว เกิดเป็นประเพณีเรียกว่า “ป๊าดตงข้าวใหม่” หนึ่งปีมีการทำป๊าดตงข้าวเม้า ข้าวใหม่ แต่ประเพณีสำคัญนี้มักลืมไป

เราให้ทุกคนช่วยกัน ให้เกี่ยวข้าวมาเตรียมหม้อ เตรียมครก มาตำจนได้ข้าวเม้า มาแบ่งกันกิน อาจจะมีแคนให้สนุกสนาน ให้ดึงดูดคนเข้ามาร่วมงาน แล้วตำจนเลิกงาน แล้วอีกอย่างการตำข้าว เด็ก ๆ รุ่นใหม่ก็ไม่มีใครได้เห็น กิจกรรมจึงกลายเป็นการตำข้าว ทำให้เกิดความรู้ ข้าวเจ้าตำแบบไหน ข้าวเหนียวตำแบบไหน การฝัดข้าวทำแบบไหน ถึงจะได้กิน เป็นสีสันของงานที่ประสบความสำเร็จ

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
สำรวจวันที่ 15 มกราคม 2561
ชื่อผู้แต่ง:
-