บ้านกำนันดิน


ที่อยู่:
บ้านกำนันดิน ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 72180
โทรศัพท์:
035-595023
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
ของเด่น:
เสาไม้ขนาดใหญ่ที่ใช้รองรับโครงสร้างบ้านทั้ง 204 ต้น และเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักประดับมุก
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 17 กรกฎาคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของบ้านกำนันดิน

อำเภอด่านช้างตั้งอยู่ปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี อาณาเขตด้านทิศเหนือติดจังหวัดอุทัยธานี ด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ติดจังหวัดกาญจนบุรี (เขตเทือกเขา) จึงอาจจะเรียกได้ว่าอำเภอด่านช้างเป็นบริเวณชายขอบรอยต่อระหว่างแนวเทือกเขาด้านตะวันตกติดกับจังหวัดกาญจนบุรี และที่ราบทางด้านทิศใต้
 
จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่พบในเขตอำเภอด่านช้างแสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบริเวณนี้มาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคหินใหม่เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีร่องรอยการถลุงโลหะในสมัยอยุธยา ก่อนที่พื้นที่แห่งนี้จะถูกทิ้งร้างไป หลงเหลือเพียงหลักฐานการบันทึกและคำบอกเล่าถึงกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตนี้ก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวพื้นราบ (ชาวสุพรรณ) คือ ชาวกะเหรี่ยง ละว้า และลาวครั่ง โดยกลุ่มหลังนี้เพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เมื่อคราวรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้ยกทัพไปทำสงครามกับเวียดนาม ขากลับก็ได้กวาดต้อนผู้คนเมืองภูครัง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (เขตประเทศลาวในปัจจุบัน) และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองนครชัยศรี จ.นครปฐม
 
ความเป็นมาบ้านกำนันดิน
กำนันดิน จันทร์สุวรรณ เป็นคหบดีเก่าแก่ของอำเภอด่านช้างและเป็นกำนันของ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เมื่อมี อายุ 29 ปี ปัจจุบัน (พ.ศ.2556) กำนันมีอายุ 83 ปี แล้วก็ได้ทยอย ส่งมอบกิจการที่กำนันได้เคยริเริ่มไว้ให้กับทายาท อาทิ กิจการการค้าไม้ (ปัจจุบันคือบริษัทศรีเด่นชัย ทำการค้าไม้ระหว่างประเทศพม่า และกัมพูชา) กิจการฟาร์มวัวเนื้อ และการค้าข้าว
 
กิจการค้าไม้เป็นจุดเริ่มต้นของการสานฝันการสร้างบ้านกำนันดินในทุกวันนี้นับตั้งแต่ พ.ศ.2517 ที่กำนันดินได้รับสัมปทานตัดไม้ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และมีโรงเลื่อยอยู่ที่วัดน้ำตก (ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี) กำนันเริ่มสะสมไม้ท่อนใหญ่สมบูรณ์ มีลักษณะลวดลายงดงามมาเก็บไว้ที่บ้านในจังหวัดสุพรรณบุรีเรื่อยมา ระหว่างนั้นก็แปรรูปไม้ส่งขายตามที่ได้รับสัมปทานไปพร้อมๆ กันด้วยจนกระทั่งสิ้นสุดสัมปทานในปี  พ.ศ.2538 ก็เริ่มมีประชาชนเริ่มขอเข้าชมไม้ที่กำนันสะสมไว้ ในช่วงเวลาเดียวกันกำนันก็เริ่มออกแบบบ้านหลังใหม่ที่จะใช้ไม้ที่สะสมมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ส่วนใหญ่กำนันจะเป็นคนออกความคิดเรื่องแบบบ้านจากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวจากหลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ และให้ช่างไม้ที่ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ครั้งทำโรงเลื่อยที่วัดน้ำตกช่วยเขียนแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ นายรุ่งเรือง ใยละยา (ปัจจุบันอายุ 64 ปี) การก่อสร้างใช้เวลาเพียง 2 ปี ก็เสร็จสิ้นในส่วนโครงสร้างหลักๆ (ไม่รวมการตกแต่งที่ต่อเติมเพิ่มมาเรื่อยๆ) ในพ.ศ. 2540
 
รูปแบบอาคารเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 หลัง หันหน้าเข้าหากัน มีระเบียงทางเดินอยู่ด้านหน้า เชื่อมต่อทางเดินของอาคารทั้ง 2หลังเข้ากับโถงทางเข้าติดกับประตูทางเข้า ดังนั้น แผนผังอาคารส่วนที่เปิดให้เข้าชมจึงมีลักษณะเป็นตัว U ที่ด้านปลายทั้ง 2 ข้างชนกับสระน้ำ และทางเดินเล็กๆ ที่คั่นระหว่างส่วนบ้านเสาใหญ่ กับส่วนบ้านที่อยู่อาศัยปัจจุบันของกำนันดินและครอบครัว และบริเวณที่ว่างระหว่างปีกอาคารทั้ง 2 อาคาร เป็นศาลาทรงไทยไม้สัก จัดวางเก้าอี้รับแขกทำจากไม้ไว้ 1 ชุด
 
จุดเด่นของอาคารนี้คือเสาไม้ขนาดใหญ่จำนวน 204ต้น ความสูงประมาณ 10เมตร เสาต้นที่ใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณโถงทางเข้าเมื่อเดินผ่านประตูด้านหน้าเข้าไป ก่อนเข้าห้องทางด้านซ้ายมือซึ่งมีขนาดประมาณ 7คนโอบ ส่วนเสาต้นอื่นๆ ก็มีขนาดลดหลั่นกันลงไป แต่ล้วนแล้วไม่ต่ำกว่า 3 คนโอบทั้งสิ้น ทั้งเสา ไม้กระดาน (พื้นและฝา) ที่อยู่ในอาคารส่วนนี้เป็นไม้ที่ได้จากการสะสมระหว่างการทำสัมปทานทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงเฟอร์นิเจอร์ประดับมุข และเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักที่เพิ่งสั่งทำ นำเข้ามาจากต่างประเทศหลังจากที่บ้านสร้างเสร็จแล้ว
 
การจัดแสดง
ทายาทของกำนันดินให้สัมภาษณ์ว่าแต่เดิมนั้นกำนันดินไม่มีเจตนาจะจัดทำบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์หรือเปิดให้เข้าชมจริงจัง แต่เริ่มจากคนที่รู้ข่าวติดต่อขอเข้าชมมาเรื่อยๆ จนขยายเป็นวงกว้าง ส่วนที่เปิดให้เข้าชมคืออาคาร 2 ปีกด้านหน้า ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้นแต่เปิดให้เข้าชมเพียงชั้นล่างเท่านั้น
 
1. ห้องปีกด้านซ้าย เป็นห้องรับแขก จุดเด่นอยู่ที่ชุดรับแขกจำนวน 2 ชุดในห้องนี้ ชุดแรกเป็นเครื่องไม้ประดับมุกนำเข้าจากประเทศจีน และอีกชุดเป็นชุดไม้แกะสลักนำเข้าจากประเทศจีนเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นตามตู้จะเป็นชุดเครื่องกระเบื้องของสะสมจากทั้งในไทยและต่างประเทศที่กำนันดินซื้อสะสม นอกจากนี้ยังมีชุดสังข์รดน้ำมีจำนวน 4  ชุด ที่ซื้อไว้เนื่องในโอกาสงานแต่งงานของลูกหลานกำนัน ซึ่งใช้พื้นที่ในอาคารปีกขวามือจัดมาแล้วถึง 4 คู่ ส่วนปีกซ้ายนี้จะเปิดเพื่อรับรองแขกคนสำคัญ และจัดงานทำบุญฉลองวันเกิดของกำนันในวันที่ 11 สิงหาคมของทุกปี
 
2. ห้องปีกด้านขวา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งตามปกติเปิดให้เข้าชมในห้องส่วนแรกด้านหน้า เคยใช้เป็นห้องจัดงานรดน้ำแต่งงานมาแล้วถึง 4 คู่ มีชุดโต๊ะรับแขกไม้ประดับมุก (ขนาดย่อมกว่าห้องปีกด้านซ้าย) 2 ชุด และตู้โชว์แสดงเครื่องแก้วที่เป่าเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ ตุ๊กตา ฯลฯ ซึ่งคุณยุพิน (ภรรยาของกำนันดิน) เป็นผู้สะสม และเครื่องถ้วยลายรดน้ำหรือเครื่องถ้วยลวดลายแปลกตาจากต่างประเทศของสะสมของกำนันดิน  และห้องส่วนที่อยู่ด้านในนั้นอยู่ในสถานะกึ่งๆ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของลูกชายกำนันดินและครอบครัว จึงไม่ได้มีตู้โชว์จัดแสดงข้าวของ มีเพียงส่วนที่เป็นแพนทรี่สำหรับชงเครื่องดื่มและเตรียมอาหารที่จ้างช่างฝีมือดีมาต่อเติมเพื่อใช้ในการรับแขกคนสำคัญ และสนิทสนมกับครอบครัว (รวมไปถึงจัดให้เป็นห้องรับแขกเป็นครั้งคราวในชั้นบน)
 
3. ศาลากลางลานระหว่างปีกอาคารทั้ง 2 ปีก ศาลาหลังนี้ออกแบบโดยกำนันดิน โครงสร้างคือเสาและพื้นเป็นไม้ของกำนันเอง แต่ส่วนของไม้แกะสลัก (คันทวย) และเฟอร์นิเจอร์เป็นส่วนที่กำนันสั่งซื้อมาจากที่อื่น
 
การจัดการดูแล
ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือตัวกำนันดินเริ่มมีวัยที่สูงขึ้นและขณะที่เก็บข้อมูลก็เป็นโรคชราทำให้ไม่สามารถออกมาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ดังเดิม การบรรยายหรือนำชมต้องอาศัยผู้ดูแลบ้านคือคุณอำนวยซึ่งอยู่กับกำนันมาตั้งแต่เริ่มทำสัมปทานป่าไม้ ที่สำคัญคือหลังจากที่กำนันป่วยก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงทิศทางในการจัดการบ้านกำนันดินในอนาคต
 
ปัญหาถัดมาในแง่ของการดูแลรักษาคือค่าใช้จ่ายในการดูแลกำจัดและป้องกันปลวก ที่ต้องตรวจสอบกันทุกๆ  2-3 เดือน แต่ก็ยังพบปัญหาปลวกที่เข้ามาทำรังใต้ฝาผนังหรือเสาไม้บางต้นส่วนที่มีสีเคลือบอยู่ยากแก่การมองเห็นนอกจากต้องเคาะหรือลูบดูอย่างละเอียด ในขณะที่คนดูแลมีอยู่เพียงไม่กี่คน จึงถือว่าเป็นงานหนักทีต้องดูแลนอกเหนือจากการทำความสะอาดประจำวัน
 
การเดินทาง
การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพใช้ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) เมื่อพ้นจากเขตอำเภอบางบัวทองจะพบถนนแยกไปทางซ้าย เป็นถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ประมาณ 63  กม. จะพบป้ายบอกทางไปกาญจนบุรี/นครปฐม แยกไปทางซ้ายมือก่อนเข้าตัวเมืองสุพรรณบุรี เข้าสู่ถนนหมายเลข 357 ตามป้ายบอกทางไป อ.ดอนเจดีย์ และ อ.ศรีประจันต์ เป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบทางเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 322 ไปประมาณ 4 กม. จนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำ ให้เตรียมเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 3460 ไปประมาณ 13 กม. เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 333 วิ่งต่อไปประมาณ 45 กม.จนพบสี่แยกที่มีหอนาฬิกาอยู่ตรงกลาง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 3350 ทิศทางที่ออกนอกตัว อ.ด่านช้าง ตรงไปประมาณ 300 เมตร เลี้ยวขวาที่บริเวณกลับรถ (U-tern)แห่งแรกที่เห็นเข้าซอยที่ตรงกับจุดกลับรถ จะผ่านสถานีขนส่งอำเภอด่านช้าง (ด้านขวามือ) ตรงไปจนสุดถนน จะพบกำแพงบ้านขนาดใหญ่เมื่อมองเข้าไปเห็นบ้านไม้ขนาดใหญ่พร้อมบริเวณที่กว้างขวางคือบ้านกำนันดิน 
 
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 4 เมษายน 2556
 
อ้างอิง
สัมภาษณ์คุณอำนวย ใยละยา อายุ 59 ปี ผู้ดูแลบ้านกำนันดินในปัจจุบัน
เว็บไซต์ http://www.suphan.biz/Kumnundin.htm (วันที่ 14 เมษายน 2556)
 
ชื่อผู้แต่ง:
-