ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ วัดดอนมะเกลือ


ที่อยู่:
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านท่าตะเกียง ตำบลดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี 72220
โทรศัพท์:
0-3543-7356
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
ของเด่น:
เรือนกระดองเต่า
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ วัดดอนมะเกลือ

นับเป็นความท้าทายอย่างมากในการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำลาวัณย์ ตำบลดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่วัดดอนมะเกลือประสบกับวาตภัยเมื่อ พ.ศ. 2559 อย่างไรก็ดี ด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และความต้องการรักษาเอกลักษณ์ของไทยทรงดำ นางแสน มารูปหมอก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ ได้ให้ความกระจ่างตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำลาวัณย์ ณ วัดดอนมะเกลือในครั้งแรก และการก่อสร้างบ้านไทยทรงดำใหม่ จำนวน 3 หลัง ในปัจจุบัน แล้วเสร็จหนึ่งหลัง ตั้งอยู่ข้างหลังองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ ส่วนอีก 2 แห่ง แห่งหนึ่งตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 9 ใกล้กับศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยทรงดำ และอีกแห่งหนึ่งอยู่ในระหว่างการจัดการเกี่ยวกับเอกสารที่ดิน

ขอย้อนเริ่มต้นการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำลาวัณย์ในครั้งแรก ที่มีการจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2545 ลุงเสาร์ อัวคนซื่อ ผู้อาวุโสชุมชนดอนมะเกลือ กล่าวถึงการศึกษาดูงานหมู่บ้านไทยทรงดำตามจังหวัดต่าง ๆ “อย่างที่ราชบุรี เพชรบุรี เขาสร้างมาก่อน เราเองเป็นคนไทยทรงดำถึง 95-98% ถ้าจะเป็นต้องสร้างก็ต้องสร้าง ตอนนั้นเป็นงบฯ ของการท่องเที่ยว” และประสงค์ แร่ใจดี เลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า  “ตอนนั้น ได้งบประมาณมา อยากอนุรักษ์ประเพณีไทยทรงดำทุกอย่าง ต้องการให้พี่น้องต่างบ้านต่างตำบลมาศึกษาดูงาน พอมาศึกษาพิธีอะไรต่าง ๆ ก็จะทำที่บ้านไทยทรงดำหลังนั้น อะไรที่เขาอยากรู้ เราสามารถเอาประชาชนมาแสดง มาสาธิต ณ บ้านตรงนั้น”

ผู้เขียนติดตามภาพจากการบันทึกภาคสนาม ต้นปี พ.ศ. 2559 ได้จำนวน 14 ภาพ ซึ่งบันทึกศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำลาวัณย์ ณ วัดดอนมะเกลือ จึงทำให้สามารถเข้าใจรูปแบบการจัดแสดงที่เคยอยู่ภายในศูนย์ดังกล่าว รูปแบบของอาคารเป็นเฮือนกระดองเต่าดังที่พบในศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ไทดำ หรือลาวโซ่ง อีกหลายแห่ง เรือนไม้ยกพื้นสูง ใต้ถุนเรือนสามารถประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในเวลานั้นหลังคามุงแฟกเริ่มเห็นร่องรอยของความผุพัง แต่สิ่งที่จัดแสดงภายในยังคงมีความชัดเจน

บริเวณที่เป็นชานเรือนมีขนาดกว้าง สามารถวางจัดแสดงไห ซึ่งมีการเขียนระบุชื่อเรียกของไหด้วยภาษาไทยทรงดำที่เป็นตัวเขียนไทดำและตัวเขียนภาษาไทยกลาง ประกอบด้วยอุ๊น้ำเคย ไหกะปิ ไหหน่อส้ม ไหปลาร้า และไหปลาจ่อม ไหดังกล่าวแสดงให้เห็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารของชาวไทยทรงดำ และอยู่ในตำแหน่งของชานบ้านหรือ “เนาะจาน” ในภาษาไทยทรงดำ จึงนับว่ามีความสำคัญของครัวเรือนแต่เดิม

ภายในเรือนคงรูปแบบการจัดแสดงที่พบเห็นในบ้านไทยทรงดำอีกหลายแห่ง นั่นคือ ความพยายามจำลองวิถีชีวิต หุ่นรูปคนจำนวน 5 ตัวเป็นหุ่นสำเร็จแต่แต่งกายด้วยชุดไทยทรงดำ ทางซ้ายมือ เป็นหุ่นหญิงอุ้มลูกด้วยการใช้ผ้าผืนเดียวผูกหุ่นรูปเด็กไว้ที่ด้านหน้า ทางขวามือ ปรากฏหุ่นอีก 4 ตัว ชายแต่งกายด้วยส่วงก้อมหรือกางเกงขายาว และเสื้อไต ส่วนหุ่นอีก 3 ตัวนั่งอยู่บนแคร่ไม้ ถัดจากแคร่ มีการทำหิ้งด้วยไม้ไผ่ และเขียนภาษาไทยทรงดำด้วยตัวอักษรไทดำและอักษรไทยกลาง ระบุว่า “ห้องหมอนต้าว” และ “ถั่นแฮ้ง” แม้จะไม่มีการจัดวาง “เสื่อ” หรือฟูกดำของไทยทรงดำ แต่พออนุมานได้ว่า บริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นห้องนอน

ต่อจากบริเวณห้องนอน ระบุไว้ว่า กะล้อห่องหรือห้องบรรพชน ไม่มีสิ่งระบุว่าเป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษนอกจากหิ้งไม้ไผ่ และมีการเขียนภาษาไทยทรงดำด้วยอักษรไทดำและอักษรไทยกลาง “หิ้งต้าว” “หิ้งต้าวกวาน” จากนั้นเป็นโถงกลางบ้าน เขียนไว้ว่า “ห้องเปง” ซึ่งหมายถึงห้องที่พ่อและแม่ใช้นอน ส่วนผนังทางซ้ายมือ แสดงให้เห็นก้อนเส้าเตาไฟ ที่คงเน้นเรื่องของการทำกินแบบดั้งเดิมที่มีการตั้งครัวไฟไว้ในเรือน เขียนภาษาไทยทรงดำด้วยอักษรไทดำและไทยกลางว่า “ขอบจี้ไฟ” จากภายในเรือน มองทะลุไปยังด้านหลังจะเป็นห้องกว๊าน แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดของภาพแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานภาพถ่ายนั้น ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ เช่นปฏิทินของชาวไทยทรงดำที่ประดับผนังอีกหลายปีพุทธศักราช โดยรวม ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำลาวัณย์ ณ วัดดอนมะเกลือ คงได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาดูงานศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำในที่อื่น ๆ แต่ให้ความสำคัญกับภาษา ชื่อเรียกต่าง ๆ ที่มีการระบุด้วยภาษาไทยทรงดำไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ของการจัดแสดง

ย้อนกลับมายังช่วงเวลาในการสำรวจ นางแสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ กล่าวถึงเหตุการณ์ภายหลังจากที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำประสบวาตภัย

ทาง อบต. และพี่น้องประชาชน ไม่ต้องการให้บ้านนี้สูญหาย ได้จัดงบประมาณตั้งขึ้น โดยผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภาฯ จริง ๆ ต้องการให้เรือนซึ่งปัจจุบันสร้างในวัดดอนมะเกลือเช่นที่เคยเป็น แต่ด้วยใช้งบประมาณซึ่งเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้นค่อนข้างมาก และมีขั้นตอนหลายอย่างหากต้องการสร้างเรือนไทยทรงดำไว้ที่วัด สุดท้าย จึงให้มีการสร้างไว้ที่ข้างหลัง อบต. แห่งนี้ ด้วยงบประมาณของ อบต. ประมาณสามแสนกว่า

...ต่อมาเมื่อสร้างแล้ว ทาง ททท. การท่องเที่ยว มีงบประมาณในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละท้องถิ่นนั้น ให้ขอเราของบประมาณในการจัดสร้างบ้านไทยทรงดำเพิ่มไปอีก ตอนนี้ได้มาแล้วหนึ่งหลังกำลังก่อสร้างอยู่ ถ้าอยากรู้ว่าบ้านสร้างอย่างไร ก็ไม่มีตะปู เอาไม้วางใส่ เป็นบ้านที่มุงด้วยแฝก ตอนนี้ อยู่ที่ศูนย์การฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยทรงดำ

ประสงค์ แร่ใจดีกล่าวไว้วว่า การจัดทำบ้านไทยทรงดำไว้หลายแห่ง ก็เพื่อให้มีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมวัฒนธรรม
“เราอยากให้ลูกหลานบรรยายอะไรต่าง ๆ ที่ชาวบ้านทำขึ้นมา ให้ประชาชนมีการแสดง การแนะนำมัคคุเทศก์ ...ต้องการส่งเสริมให้ปราชญชาวบ้านถ่ายทอดเกี่ยวกับงานเย็บปักถักร้อน มาสอนให้กับนักเรียน ซึ่งในปัจจุบัน โรงเรียนวัดดอนมะเกลือได้ดำเนินโครงการในลักษณะดังกล่าวแล้ว โดยใช้งบประมาณของโรงเรียนเอง”

ในการเยี่ยมชมบ้านไทยทรงดำข้างหลังสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ ในปัจจุบัน รูปแบบการจัดสร้างเรือนใช้วัสดุดั้งเดิมเป็นหลัก หลังคาทำด้วยหญ้าคาและพื้นเป็นไม้แฟก หลังคาทรงกระดองเตานั้นคลุมตัวโครงสร้างหลักของเรือนทำหน้าที่เป็นผนังไปในตัว ภายใน คงไม่มีการจัดแสดงใด ๆ แต่ลุงเสาร์ อัวคนซื่อ และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ ได้อธิบายองค์ประกอบเรือนต่าง ๆ ในที่นี่จะยกตัวอย่างของการกล่าวถึงกะล้อห่องหรือห้องผีบรรพบุรุษ

      กะล้อห่องอยู่ทางบันไดไม่ได้ มีถ้วยสองชิ้น เสาต้นนี้ถูกไม่ได้ เขา [ผีบรรพบุรุษ] อยู่นี่

… แต่ไม่ใช่ว่าผีตายโหงจะมาอยู่ได้นะ เอาแต่ผีตายเจ็บป่วยไข้ หมาบ้ากัด งูชก คลอดลูกตาย ไม่เชิญขึ้นบ้าน ทำบุญอย่างเดียว แม้จะเป็นญาติเรา แต่เอดส์ขึ้นได้ ตายโหงมันเฮี้ยน เอดส์เป็นการเจ็บไข้

…กะล้อห่อง โดยทั่วไปมีการกั้นเพราะไม่ให้เด็กเข้าไป ทุกสิบวันมีการปาดตง ลูกสะใภ้เข้าไปไม่ได้ ถ้าจะเข้าไป ต้องมีเสื้อฮีคาดหน้าอก ต้องยกสำรับเข้าไป เขาให้แต่ลูกในบ้านนั้นทำ


แม้เฮือนกระดองเต่าที่สร้างขึ้นเบื้องหลังสำนักงาน จะไม่มีการจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการดังเช่นที่ปรากฏในศูนย์วัฒนธรรมหลังเก่า แต่เมื่อผู้อาวุโสของชุมชนอาศัยความทรงจำและขนบธรรมเนียมการปฏิบัติต่าง ๆ อธิบาย ทำให้เห็นว่าเรือนของไทยทรงดำไม่ใช่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น หากแต่การปฏิบัติในทางวัฒนธรรมยังคงได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

จากนั้น เมื่อเดินทางไปยังบริเวณที่จัดสร้างเรือนไทยทรงดำหลังที่สอง ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 ตำบลดอนมะเกลือบนพื้นที่ที่ได้รับการบริจาค เรือนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีอาคารปูนชั้นเดียวตั้งอยู่ข้าง ๆ ภายในจัดเก็บวัสดุที่เก็บได้จากเรือนของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำลาวัณย์หลังที่ประสบวาตะภัย หุ่นสวมใส่เสื้อผ้าไทยทรงดำจำนวน 3 ตัว และข้าวของเครื่องใช้อีกจำนวนหนึ่ง ป้ายระบุชื่อเรียกของสิ่งของต่าง ๆ ที่เคยอยู่บนเรือนได้รับการเก็บรวบรวมไว้ นายกฯ แสนกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หากมีส่วนได้ยังใช้การได้ก็จะได้รับการจัดแสดงอีกครั้งในเรือนหลังที่สอง และยังมีการจัดควายจำลองหนึ่งคู่และครกตำข้าวประกอบเอาไว้ด้วย ในช่วงส่งท้ายการสนทนา นายกฯ แสนกล่าวถึงภาพของศูนย์วัฒนธรรมในอนาคต

ดิฉันคิดว่าหากบ้านสองหลังนี้เสร็จ มองเอาไว้ว่า เราจะโปรโมตว่าหากมาบ้านไทยทรงดำ มีสถานที่เยี่ยมชมหลายแห่ง สอดคล้องกับนโยบาย “อู่ทองอู่อารยธรรม” เราก็รณรงค์ให้มาดูวัฒนธรรม มาดูอาหารการกิน แล้วปลูกฝังกับนักเรียนที่ยังเล็ก ๆ หากเราไม่ปลูกฝัง ...สื่อโทรศัพท์ชวนไปเด็ก ๆ ไปทางอื่นหมด

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เชียน
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม วันที่ 27 มกราคม 2561
ชื่อผู้แต่ง:
-