ที่อยู่:
เลขที่ 630 หมู่ 1 ถนนพลับผือ ซอย 7 บ้านหัวคู หมู่ 1 ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 41160
โทรศัพท์:
0629054140, 0896186551
วันและเวลาทำการ:
วันและเวลาราชการ (โปรดติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
ผ้าขาวมามงคลอีโป้ 9 สี เครื่องมือเกษตรกรรม เครื่องแต่งกาย (ผ้านุ่งลายต้นผือและลายต้นข้าว – คิดค้นใหม่)
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ในการสำรวจ เดือนตุลาคม พ.ศ.2560ผู้เขียนพบว่าพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านผืออยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เงื่อนไขหลายประการที่ส่งผลให้ชมรมไทยพวนบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จะต้องจัดการโยกย้ายข้าวของที่รับการบริจาคและป้ายการจัดแสดง จากวัดลุมพินีวันซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านผือ (เดิม) ไปสถานที่แห่งใหม่ ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ อุดรธานี สถานที่จัดแสดงชั่วคราวดังกล่าว อยู่ในโรงเรือนชั่วเดียวภายในโรงเรียน และจัดแสดงวัตถุข้าวของใน 2ห้อง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจและเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจกับกระบวนการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยพวน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่อาจารย์บุญถม เจริญชนม์ ข้าราชการบำนาญ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานชมรมไทยพวนบ้านผือตั้งแต่การบุกเบิก และอาจารย์พรพิตร พิมพิศาล ข้าราชบำนาญ เลขานุการชมรวม ร่วมกันถ่ายทอดให้เห็นแนวคิดสำคัญ ๆ ในการฟื้นฟูและการถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยพวนให้กับลูกหลายและผู้สนใจจากภายนอกชุมน
การก่อตัวและพัฒนาการชมรมไทยพวน บ้านผือ
เมื่อ พ.ศ.2518 พระครูพระพิทักษ์พิชคามเขต อดีตเจ้าอาวาสของวัดลุมพินีวัน บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มีโอกาสเดินทางและร่วมกิจกรรมของชมรมไทยพวนแห่งประเทศไทย เห็นกิจกรรมและความเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูของชมรมที่มีสถานที่ตั้งอยู่ที่วัดอัมรินทราราม กรุงเทพมหานคร จึงได้นำเสนอเรื่องราวของกิจกรรมดังกล่าวให้กับสมาชิกในชุมชนร่วมกันฟื้นฟูและถ่ายทอดประวัติและภูมิปัญญาของชาวไทยพวนให้กับลูกหลาน ตั้งแต่นั้นมาชมรมไทยพวน บ้านผือ ได้ก่อตัวและดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมในวาระต่าง ๆ ของทางอำเภอบ้านผือและจังหวัดอุดรธานี การเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมไทยพวนแห่งประเทศไทย รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมของชมรมไทยพวนแห่งประเทศไทย เวียนกันเป็นเจ้าภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเงินที่ได้รับบริจาคใช้ในกิจการของชมรมและเป็นเงินอุดหนุนให้กับวัดและทุนการศึกษาให้กับลูกหลานชาวไทยพวนหากกล่าวถึงขอบเขตของกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูและถ่ายทอดภูมิปัญญาของไทยพวน บ้านผือ แล้ว ประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญใน 6 ส่วนหลัก คือ ด้านภาษา ซึ่งเป็นด้านที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทยพวนอย่างชัดเจน ด้านอาหาร ด้านการแต่งกาย ด้านวิถีชีวิต ด้านความเชื่อและศาสนพิธี และด้านศิลปะการแสดง ในเอกสารของชมมไทยพวนบ้านผือ กล่าวถึงตำนานการตั้งถิ่นฐานที่สืบค้นจากผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อ พ.ศ. 2550กล่าวไว้ว่า
ชาวไทยพวนที่อาศัยอยู่ในอำเภอบ้านผือได้อพยพถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่มาอยุ่ทางภาคกลางของไทย และถูกกวาดต้อนไปอยู่ประเทศลาว จากนั้นอพยพกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง โดยมุ่งหน้ามาทางลุ่มแม่น้ำโขง มีขุนจางวาง ขุนหมื่นศรีครุฑราช พ่อตู้เพียร นางเสม่นบัง แม่ตู้พวง นางตุ้น ชาวบ้าน ทหาร เด็ก ต่อมามีจุนหมื่นศรีรัตนไตรเวช พ่อเฒ่าแท่ง พร้อมด้วยทหารและชาวบ้าน อพยพมาจากบ้านหมี่จังหวัดลพบุรี ต้องคอยหลบหนีการปล้นฆ่าของฮ่อ จนมาพบกับกลุ่มของขุนขางวาง อาศัยอยู่ที่ป่าผือมีหนองน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยต้นผือ ดินอุดมสมบูรณ์ จึงพากันมาต้ังบ้านเรือนถิ่นฐาน และเรียนชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านผือ”
ประเพณีของชาวไทยพวนบ้านผือนั้น ประกอบกิจกรรมและพิธีตามความเชื่อฮีต12 คลอง 14ของพื้นบ้านอีสาน แต่ประเพณีที่สำคัญที่คงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเพณีทำบุญปราสาทผึ้ง ที่เป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ โดยมีเจ้าภาพจะกำหนดวันและจะเชิญชวนให้คนมาช่วยทำปราสาทโดยกลุ่มผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะช่วยกันในการทำอาหาร ในตอนเย็น จะเป็นการนิมนต์พระสวดบังสุกุล และมีปราสาทผึ้งวางไว้หน้าบ้าน พร้อมทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่จะทำทานให้กับผู้ล่วงลับ เสร็จพิธี เจ้าภาพจะนำสารทไปถวายตามวัด และมีการลั่นกลองเพื่อแสดงความผู้ตายมารับเอากองบุญจากลูกหลานที่ทำบังสุกุลอุทิศให้
การจัดแสดงของนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ไทยพวน ณ สถานที่ชั่วคราว
สำหรับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นั้น ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ.2554ซึ่งนายหาญชัย ทีฆธนานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเวลานั้นจัดสรรงบประมาณ จนสามารถสร้างเรือนไทยพวนบ้านผือ เป็นอาคารเรือนไม้ 3 หลัง มีชานเรือนเชื่อมตัวอาคารเข้าด้วยกัน ใค้ถุนสูง หลังคามุงกระเบื้ิองดินเผา จนสามารถเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง มีนักเรียนจากโรงเรียนในเขตอำเภอบ้านผือเข้าเรียนรู้วัฒนธรรม ประกอบด้วยนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุดรธานี โรงเรียนบริบาลภูมิเขตต์ และโรงเรียนอนุบาลบ้านผือพิทยาภูมิ อย่างไรก็ดี ด้วยไม้เก่าที่ใช้ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นไม้เก่าและโครงสร้างส่วนบนที่เป็นกระเบื้องดินเผา ยังผลโครงสร้างอาคารไม่เหมาะสมกับการต้อนรับผู้มาเยือนหลังจากเปิดดำเนินการแล้ว 3ปี องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีรื้อถอนอาคารเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560หลังจากที่มีประกาศขายอาคารมาราวหนึ่งปีก่อนหน้านั้นชมรมชาวไทยพวนบ้านผือย้ายสิ่งของภายในพิพิธภัณฑ์ไทยพวนไปยังโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เมื่อวันที่ 4สิงหาคม 2560 ในที่นี้ ผู้เขียนมีโอกาสเยี่ยมชมการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ไทยพวน (สถานที่ชั่วคราว ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุดรธานี) ในภาพรวมแล้ว เป็นการจัดแบ่งตามสาระสำคัญของกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทั้งหกด้านดังที่ได้กล่าวไว้ เช่น ในด้านวิถีชีวิต สะท้อนให้เห็นผ่านเครื่องใช้และอุปกรณ์ทางการเกษตรและเครื่องมือดักจับสัตว์ ห้องจัดแสดงชั่วคราวแบ่งเป็น 2 ห้องอย่างชัดเจน
ในห้องแรก บอกเล่าถึงวิถีชีวิตทางด้านการเกษตร เช่นเครื่องมือที่ใช้ในการนวดข้าวพิงกับผนังของห้อง เครื่องดักจับสัตว์ที่วางอยู่บนโต๊ะ ส่วนเครื่องดนตรีแขวนอยู่ที่สุดห้องจัดแสดงแรก มีลักษณะเป็นวงแคนคล้ายกับดนตรีอีสานทั่วไป ในด้านเครื่องแต่งกาย จัดแสดงอุปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การสาวฝ้าย การทอ และรูปแบบการแต่งกายทั้งหญิงและชาย ความน่าสนใจของการทอผ้าคือลวดลายที่มีการคิดค้นใหม่ ได้แก่ ลายต้นผือ และลายต้นข้าว และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าข้าวม้าที่เป็นผ้าทอสำคัญและเป็นผลิตภัณฑ์ของชมรมชาวไทยพวนบ้านผือ เรียกว่า “ผ้าขะม้าอีโป้มงคลเก้าสี” ประกอบด้วย สีแดง (ลาภยศ) จากเปลือกประดู่ สีทอง (ความมั่นคง) จากเปลือกงิ้วป่า สีเขียว (ความสดชื่น) จากเปลือกมะม่วง สีเหลือง (ความร่าเริง) จากเปลือกขมิ้น สีส้ม (ความสนุกสนาน) จากดอกจาน สีม่วง (ความรุ่งโรจน์) จากเปลือกประดู่ สีชมพู (ความอ่อนโยน) จากเปลือกงิ้วป่า สีน้ำตาล (ความจริงใจ) จากเปลือกมะขาม และสีเทา (ศักดิ์ศรี) จากเปลือกมะพร้าวอ่อนผสมเกลือ นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นสัญลักษณ์ หรือlogoของผลิตภัณฑ์ “พวนกะเลอ”
ในห้องสอง แสดงให้เห็นวัฒนธรรมอาหารผ่านการจัดสำรับและครัวไฟ ไว้ที่มุมทางเข้า อีกมุมหนึ่งจัดแสดงในลักษณะของห้องนอน มีเตียงไม้และตู้ไม้ภายในมีหนังสือให้บริการกับผู้เข้ามาใช้บริการ ทั้งส่วนการจัดแสดงมีการกั้นพื้นที่ไว้อย่างเป็นสัดส่วน ในอีกส่วนหนึ่งคือ วัฒนธรรมในด้านภาษา อาจารย์จรัสศรี เริ่มรักษ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ในภาควิชาภาษาไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุดรธานี ร่วมพัฒนาหลักสูตรภาษาไทยพวนกับสมาชิกชมรมตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานชาวไทยพวน ซึ่งเป็นนักเรียนในโรงเรียนได้เรียนรู้และใช้ภาษาไทยพวน รูปแบบของการนำเสนอในห้องนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ไทยพวน ณ สถานที่ชั่วคราวภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แสดงด้วยบอร์ดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางภาษา เช่น เสียวรรณยุกต์ เสียงพยัญชนะ ที่แตกต่างจากภาษาไทยกลางและภาษาอีสาน
แม้ในภาพรวมการจัดแสดงจะมีรูปแบบที่จำกัดในการสื่อสาร เพราะหากไม่มีคนเล่าเรื่องแล้ว การเรียนรู้ก็อยู่ในลักษณะที่จำกัดเช่นกัน แต่ด้วยการชมนิทรรศการพร้อมกับสมาชิกชมรมไทยพวนบ้านผือ เรื่องเล่าเต็มด้วยความทรงจำและประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวา ความภาคภูมิใจต่ออดีตคงชัดเจน และเป้าหมายปลายทางให้ลูกหลานไทยพวนเรียนรู้ความเป็นมาและเป็นไปยังคงชัดเจน มากไปกว่านั้น การถ่ายทอดเรื่องราวให้กับอาจารย์และนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ยิ่งเป็นเสมือน “ยาชูกำลัง” ให้กับชาวชมรม เพราะโอกาสในการถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้ที่สนใจ สิ่งที่น่าชื่นชมคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือของผู้ศึกษาเรื่องผ้าทอในการพัฒนาลวดลายให้กลายเป็นเอกลักษณ์ ยิ่งเปิดโอกาสให้ชมรมสามารถดำเนินกิจกรรม พร้อม ๆ กับการแสวงหาเงินทุนหมุนเวียนตามสมควร
ในอนาคต ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุดรธานีเตรียมพื้นที่สำหรับการจัดสร้างอาคารถาวรไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านผือแห่งใหม่ โดยจะต้องมีการขออนุญาตใช้ที่ดินในบริเวณโรงเรียน ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และการจัดหางบประมาณในการจัดสร้างอาคาร นายสาส์นลิขิตชัย พลไธสง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุดรธานี กล่าวถึงโอกาสและความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ไทยพวน เพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้ของไทยพวนในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งเป็นสถานที่ที่สมาชิกชมรมไทยพวนบ้านผือ และชาวบ้านสามารถร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมให้สืบทอดต่อไป.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 31 ตุลาคม 2560
หมายเหตุ สืบเนื่องจากสถานที่โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการอุดรธานี ไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ คณะกรรมการบริหารชมรมไทยพวนอำเภอบ้านผือ จึงขออนุญาตใช้ที่ดินป่าช้า (สาธารณประโยชน์) บ้านหัวคู หมู่ที่ 1 จำนวน 10 ไร่ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารและดำเนินกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านผือต่อไป โดยใช้งบประมาณและวัสดุจากการขอรับบริจาค (1 เมษายน 2563)
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ชาติพันธุ์ ไทยพวน ลาวพวน
พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง
จ. อุดรธานี
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร
จ. อุดรธานี
พิพิธภัณฑ์หมี่ขิดธานี
จ. อุดรธานี