พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัฒนธรรมไทยวน คนเมืองล้านนา


ที่อยู่:
121/7 หมู่ 13 หมู่บ้านเอกรินทร์ ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย 57210
โทรศัพท์:
08-1530-5704 นายมานิษย์ เจริญเกษมทรัพย์
วันและเวลาทำการ:
โปรดติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
ของเด่น:
การแสดงฟ้อนเจิง, ผ้าทอ, ภาพเก่าผู้นำชุมชน, เครื่องแต่งกายคนเมืองล้านนา
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 15 ตุลาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัฒนธรรมไทยวน คนเมืองล้านนา

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยวนคนเมืองล้านน หรือ “ข่วงวัฒนธรรม” ที่จัดตั้งโดยพ่อครูมานิตย์ เจริญเกษมทรัพย์ ตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ด้วยกิจกรรมและรูปแบบการนำเสนอวัฒนธรรมไทยวนหรือพื้นเมืองล้านนา ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้ศิลปหัตถกรรมและการแสดงทางวัฒนธรรม พ่อครูมานิตย์เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมงานเทศกาลวิถีชาวบ้าน สถาบันสมิธโซเนียน เมื่อ พ.ศ.2550ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันสมิธโซเนียนกับสถาบันทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

จากประสบการณ์การมีส่วนร่วมในงานเทศกาลวิถีชาวบ้านและความสนใจส่วนบุคคลในการสะสมสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นครู พ่อมานิตย์ เจริญเกษมทรัพย์ ตัดสินใจใช้เงินเก็บส่วนตัวซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาเป็น “ข่วงวัฒนธรรม” หรือลานวัฒนธรรมสำหรับการถ่ายทอดศิลปะการแสดงล้านนาที่เป็นทั้งเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็ก ๆ ในการเติบโตขึ้นเป็นสมาชิกในสังคม

ในปัจจุบัน พื้นที่สำคัญในบริเวณของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัฒนธรรมไทยวนคนเมืองล้านนาประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ หอวัฒนธรรม ข่วงวัฒนธรรม และหอซิ่น สำหรับหอวัฒนธรรม เดิมทีเป็นเรือนยกพื้นสูงมุงหลังคาด้วยฟากและเปลี่ยนแปลงสู่หลังคากระเบื้อง ส่วนพื้นที่ด้านล่างปรับเป็นห้องนอนสำหรับผู้มาเรียนรู้วัฒนธรรม และต้องการอยู่ค้างคืน ชั้นบนที่จัดแสดงนั้นมีบริเวณการจัดแสดงสองส่วน ได้แก่ ส่วนหมุนเวียนภาพเก่าและผ้าทอมือ กับส่วนครัวไฟ พ่อครูมานิตย์กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้เนื้อหาสำคัญ ๆ นั่นคือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ “คนยวน” หรือคนเมืองโยนก ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน คนเมืองโยนกหรือคนยวนประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น คนยอง คนลื้อ แต่ด้วยการเคลื่อนย้ายของประชากรจากหลาย ๆ สาเหตุจากเรื่องของสงครามบ้าง จากเรื่องของความแห้งแล้งบ้าง จึงทำให้ในที่สุดมีกลุ่มครอบครัวย้ายมาอยู่ที่อำเภอเวียงชัย ซึ่งเดิมคืออำเภอเมืองเชียงราย กลายเป็นกลุ่มคนยวนที่ลงรากปักฐานในตำบลเวียงชัยดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

การถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติของบ้านและผู้นำ อาศัยการบอกเล่าของพ่อครูมานิตย์และภาพถ่ายเก่า ๆ ที่สะสมมาหลายสิบปี เพื่อให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้เรียนรู้ความเป็นมาเป็นไปของผู้คนในท้องถิ่น นอกเหนือจากภาพเก่าแล้ว ผ้าทอมือและเครื่องแต่งกายที่จัดแสดงในพื้นที่เดียวกันยังมีส่วนในการบอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนยวนในอดีต ที่สำคัญกว่านั้น หิ้งครู หรือมุมสำหรับการบูชาครูนับเป็นส่วนหนึ่งทางประเพณีการสืบทอดศิลปะการแสดงและการบอกเล่าถึงวัฒนธรรมของการนับถือผู้มีพระคุณ พ่อครูมานิตย์กล่าวถึงเครื่องไหว้สำคัญประกอบด้วยข้าวสาร ข้าวเปลือก และน้ำ

“ข้าวสารนั้นเปรียบเหมือนการนำเครื่องบูชามาให้ครูที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับผู้ที่มาเรียน และในสมัยก่อนเอง ครูใช้ข้าวสารดังกล่าวสำหรับการบริโภคในชีวิตประจำวัน ข้าวเปลือกเป็นสิ่งมงคล นับเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญงอกงาม เพราะเมื่อข้าวสารไปตกบนผืนดินใด ก็จะงอกเงย เฉกเช่นชีวิตของศิษย์ที่จะเจริญงอกงาม ส่วนน้ำนับเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ เดิมทีใช้เหล้าเป็นเครื่องสักการะครู แต่ในปัจจุบัน เราหลีกเลี่ยง จึงใช้น้ำเปล่าที่มีความใสไม่ต่างจากเหล้าในความหมายของความบริสุทธิ์”

ในขันครู ยังมีจ้องหรือ “ที” ทำจากกระดาษพับเป็นลักษณะคล้ายร่ม พ่อครูมานิตย์ อธิบายถึงความหมายของการปกปักรักษา หากศิษย์หรือผู้ที่มาไหว้ครูนั้นให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์และปฏิบัติตนตามครรลองครองธรรม นับได้ว่า ในส่วนแรกของการนำเสนอ แม้จะไม่ได้เป็นรูปแบบของนิทรรศการที่ชัดเจน เพราะอาศัยการจัดวางวัตถุ แต่ด้วยเรื่องเล่าของพ่อครูมานิตย์ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจถึงความเป็นมาของผู้คนและประเพณีที่สำคัญ ๆ ของชุมชน

ในส่วนหลังเป็นการแสดงครัวไฟ ข้าวของและเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากไม้ไผ่และไม้เนื้อแข็ง จัดเรียงเพื่อให้พ่อครูหยิบใช้วัตถุประกอบการเล่าเรื่องได้อย่างสะดวก เช่น กั๊วข้าว ที่ใช้ในการเกลี่ยนข้าวที่นึ่งสุกก่อนนำเก็บไว้ในภาชนะ ก้อนเส้าเตาไฟที่ใช้บอกเล่าถึงความเรียบง่ายในการดำเนินชีวิต วัตถุบางชิ้นยังมีอายุนับเป็นร้อยปี เพราะได้รับมอบมาจากรุ่นครู เช่น ขันโตกหรือขันครู ที่มีลักษณะคล้านถาดไม้กลมมีขาตั้ง และทาด้วยสีแดง หอวัฒนธรรมจึงไม่ใช่เพียงการบอกถึงภาพของอดีตเท่านั้น แต่ยังใช้เรื่องราวดังกล่าวเป็นบทเรียนสอนใจให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท รวมถึงการธำรงรักษาประเพณี

พื้นที่ที่สอง ข่วงวัฒนธรรม ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนการสอนศิลปะการแสดง ทั้งการฟ้อน การตีกลอง และในบางโอกาส ยังเป็นบริเวณที่ใช้แสดงเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน ข่วงวัฒนธรรม ใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดเก็บเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ เครื่องแต่งกายของเหล่านักแสดง พ่อครูมานิตย์บอกเล่าประวัติของกลองสะบัดชัย ซึ่งมีความสำคัญต่อคนเมืองล้านนา

“กลองสะบัดชัยนั้น เดิมทีใช้เป็นกล่องในยามรบเพื่อสร้างความหึกเหิมให้กับไพร่พลในกองทัพ ครั้นเมื่อบ้านเมืองยังปกครองกันเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆ เมื่อรูปแบบการปกครองเปลี่ยนแปลง กลองเริ่มเปลี่ยนหน้าที่เป็นเครื่องสัญญาณและเครื่องเล่นเพื่อการบูชาพระพุทธภายในอาราม จึงมีการเรียกว่า ‘กลองปูจา’ หรือหมายถึงกลองที่ใช้ประกอบการบูชา และในปัจจุบัน กลองกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง สำหรับการสืบสานประเพณี หรือที่เรียกกันว่า กลองสะบัดชัย ท่าร่ายรำประกอบการตีกลอง จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เด็กและเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ในข่วงวัฒนธรรมแห่งนี้”

ในส่วนสุดท้าย หอซิ่น จัดแสดงผ้าปักและผ้าทอที่เป็นงานสะสมที่พ่อครูมานิตย์ใช้เป็นตัวแบบให้เด็ก ๆ เข้ามาเรียนรู้งานฝีมือ ภายในหอซิ่นผ้าทอมือและผ้าปักได้รับการจัดเรียงแยกตามประเภทของผ้า ผ้าปัก ผ้าทอของชาวลื้อ ด้วยการแขวนผ้าและแสดงลวดลายเป็นแถบจากบนสู่ล่าง เพื่อให้ผู้ชมสามารถเปรียบเทียบลวดลาย และอำนวยให้พ่อครูบอกเล่าเอกลักษณ์ของลวดลายผ้า นอกเหนือจากผ้าที่เป็นงานสะสมแล้ว ยังปรากฏเครื่องแต่งกายในหุ่นชายและหญิง เพื่อบอกเล่าถึงวิถีการแต่งงาน แม่หญิงนุ่งซิ่นและเสื้อปั๊ดหรือเสื้อแขนกระบอก ส่วนพ่อชายนุ่งฝ้ายทอมือสีครึมเป็นโทนสีเดียวกันทั้งเสื้อและกางเกง

นอกเหนือจากเนื้อหาต่าง ๆ ในการเรียนรู้ในแต่ละฐานแล้ว รวมถึงการสอนการแสดงไม่ว่าจะเป็นการตีกลอง การฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนยอง ฯลฯ พ่อครูมานิตย์ยังทำหน้าที่เป็น “ครูภูมิปัญญา” ถ่ายทอดความรู้และทักษะทางการแสดงให้กับนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ภายในจังหวัดเชียงราย และเป็นวิทยากรรับเชิญทั้งในพิพิธภัณฑ์ต่างจังหวัดและสถานศึกษาอีกหลายแห่ง นับได้ว่า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัฒนธรรมไทยวนคนเมืองล้านนาเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์คนเมืองและทำหน้าที่ในเชิงการศึกษานอกสถานที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการจัดตั้งเมื่อทศวรรษที่แล้ว พ่อครูมานิตย์ เจริญเกษมทรัพย์ยังคงทำหน้าที่ของครูและส่งต่อมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพให้กับคนรุ่นต่อไปตราบเท่าที่เรี่ยวแรงของครูผู้นี้ยังคงมีอยู่.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
สำรวจภาคสนามวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560
ชื่อผู้แต่ง:
-