รายชื่อพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นบ้านไม้สองชั้น ตั้งอยู่บนเนินเขาที่เรียกว่าควนหน้าค่าย ทายาทได้อนุญาตให้จังหวัดในนามของโรงเรียนกันตังพิทยากรเข้ามาปรับแต่งพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เมื่อราวปี พ.ศ. 2535 ภายในบ้านจัดแต่งไว้เช่นเดียวกับเมื่อพระยารัษฎาฯยังอาศัยอยู่ ชั้นล่างมีหุ่นขี้ผึ้งของพระยารัษฎาฯ ชั้นบนเป็นห้องนอน โถงชั้นบนมีโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ นอกจากนี้ภายในบ้านยังมีภาพถ่ายเก่าแก่กว่าร้อยปี ทั้งภาพถ่ายของพระยารัษฎาฯ ที่ติดมากับตัวบ้าน ภาพถ่ายภรรยาและครอบครัว รวมถึงภาพเหตุการณ์สำคัญของเมืองตรังและหัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยรัชกาลที่ 6 โรงเรียนกันตังพิทยากรได้อบรมและฝึกให้นักเรียนของโรงเรียนกันตังพิทยากรเป็นมัคคุเทศก์เพื่อนำชม

จ. ตรัง

บ้านศรีบูรพา

ศรีบูรพา นามปากกาของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักมนุษยธรรม และนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ได้รับการยกย่อง ผลงานมีทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล บทกวี สารคดีและบทความ หลายเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา ยูเนสโกได้พิจารณาและมีมติยกย่องเป็นบุคคลสำคัญเมื่อปี 2546 และมีการฉลองครบรอบชาตกาล 100 ปีของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 ศรีบูรพาถูกจับในเหตุการณ์กบฏสันติภาพ หลังจากออกจากคุกก็ลี้ภัยไปอยู่เมืองจีนตราบจนสิ้นชีวิต ที่ดินของบ้านศรีบูรพาได้รับประทานจากพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ศรีบูรพาออกแบบและปลูกบ้านอยู่กับคู่ชีวิตคือคุณชนิด สายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นนักเขียนเช่นเดียวกัน จนเมื่อถูกจับที่บ้านหลังนี้และเมื่อลี้ภัย บ้านก็ไม่มีคนอยู่อย่างถาวร ให้เช่าบ้าง บางช่วงเวลาก็ปิดตายไปกว่า 30 ปี จนเมื่อปี พ.ศ. 2531 คุณชนิด และบุตร ได้กลับเข้ามาอาศัย จนเมื่อศรีบูรพาได้รับการยกย่องจากยูเนสโก จึงร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คิดจัดต่อเติมบ้านส่วนหนึ่งให้เป็นห้องสมุด จัดแสดงผลงานของศรีบูรพา โต๊ะทำงาน บันทึก จดหมายต่างๆ บ้านศรีบูรพา ทุกวันที่ 31 มีนาคม จะจัดงานชาตกาลศรีบูรพา มีการทำบุญเลี้ยงพระ นำชมบ้าน และเสวนาระลึกถึงศรีบูรพา

จ. กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ในวาระครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของชาติ โดยมีภารกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ อาคารที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเคยเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยความสามารถของคนไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งหวังให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นพื้นที่เปิด ที่จะสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจ จุดประกายแห่งการเรียนรู้และการค้นคว้าด้วยตนเอง ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การระดมพลังสร้างสรรค์ความรู้ เพื่อสร้างนิสัยรักการเรียนรู้และการแบ่งปัน โดยมุ่งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบบูรณาการมีสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย มีกิจกรรมด้านการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตลอดจนมีพิพิธภัณฑ์ที่อนุรักษ์มรดกสำคัญของชาติ และพื้นที่จัดนิทรรศการให้ความรู้ต่างๆ เช่น นิทรรศการเงินตราที่ชวนเดินทางย้อนอดีต และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเงินตราในช่วงอารยธรรมต่างๆ รวมถึงเงินตราในอนาคต

จ. กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ตั้งขึ้นเพื่อร่วมอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ่ในโอกาสเฉลิมฉลอง 700 ปีเมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่ความรู้ทางด้านเงินตราและผ้าโบราณในเขตภาคเหนือ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายและหลายองค์กร อาทิ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้เชี่ยวชาญผ้าโบราณจาก Victoria and Albert Museum ประเทศอังกฤษ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าโบราณ และเงินตราโบราณ ภายในมีห้องจัดแสดงสามส่วนได้แก่ ห้องเงินตราโบราณ ห้องผ้าโบราณ และห้องนิทรรศการหมุนเวียน อย่างไรก็ดี พิพิธภัณฑ์ได้แจ้งยุติการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้ส่งมอบกลุ่มผ้าชิ้นเด่น ผ้าเขมร 470 รายการ แก่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ส่งมอบผ้ากลุ่มชาติพันธุ์ 451 รายการ แก่กรมศิลปากร และส่งมอบผ้ากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง 79 รายการ แก่พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง

จ. เชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย วังเทวะเวสม์

วังเทวะเวสม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เพื่อเป็นที่ประทับในยามมีพระชันษาแล้ว เริ่มสร้างในปี 2457 เสด็จขึ้นวังในปี 2461 วังเทวะเวสม์ประกอบด้วยอาคาร 8 หลัง โดยตำหนักใหญ่ที่ประทับออกแบบและก่อสร้างโดย เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ ส่วนอาคารหลังอื่น ๆ รวมทั้งเรือนแพริมน้ำออกแบบและก่อสร้างโดย เอมิลโย โจวันนี อูเจนโย กอลโล วิศวกรชาวอิตาลี วังเทวะเวสม์มีสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก  โดยปัจจุบันยังคงปรากฏอาคารให้ชมความงดงาม จำนวน 4 อาคาร คือ ตำหนักใหญ่ เรือนแพริมน้ำ เรือนหม่อมลม้าย และเรือนหม่อมจันทร์

จ. กรุงเทพมหานคร