พิพิธภัณฑสถานโบราณคดีเขางาม


ในพื้นที่ตามถ้ำและเพิงผาต่างๆ ในตำบลบ้านกลาง ชาวบ้านได้ขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ต่อมาองค์กรในท้องถิ่นร่วมกับกรมศิลปากรได้สำรวจและรวบรวมโบราณวัตถุมาเก็บรักษาไว้และจัดทำพิพิธภัณฑ์เพื่อดูแลรักษาแหล่งโบราณคดี ภายใต้แนวคิด ชุมชนท้องถิ่นคือเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรม จึงต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันดูแลรักษา จึงได้มีการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑสถานโบราณคดีเขางาม” ขึ้นที่โรงเรียนบ้านเขางาม พิพิธภัณฑสถานโบราณคดีเขางามได้ดัดแปลงมาจากห้องเรียน นำเสนอแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ ต.บ้านกลาง ที่มีจำนวนมากกว่า 20 แหล่ง เช่น เขางาม เขาหัวกระทิง เขาป่าปก และเขาหน้ามันแดง เป็นต้น จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบที่แหล่งโบราณคดี เช่น เครื่องมือหิน เครื่องประดับจากเปลือกหอย ภาชนะดินเผา ภาชนะทรงพาน เป็นต้น แต่ก็มีบางส่วนที่จำลองมาให้ชม เช่น หม้อสามขา

ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านเขางาม หมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
โทรศัพท์:
0862671230 (ในเวลาราชการ)
วันและเวลาทำการ:
วันและเวลาราชการ (โปรดติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2558
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑสถานโบราณคดีเขางาม

ความเป็นมา

จังหวัดกระบี่ตั้งอยู่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตกติดกับทะเลอันดามัน ภูมิประเทศส่วนใหญ่ประกอบด้วยภูเขาหินปูนลูกโดดกระจายอยู่ทั่วไป ภูเขาแหล่งนี้เป็นที่ตั้งของถ้ำและเพิงผา ซึ่งเกือบทุกแห่งได้ค้นพบร่องรอยการอยู่อาศัย และกิจกรรมของมนุษย์โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน แหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาโต๊ะช่อง-เขาหน้าวังหมี และแหล่งโบราณคดีถ้ำผีหัวโต เป็นต้น

เมื่อ พ.ศ.2530 ชาวบ้านได้พบเครื่องใช้ของคนโบราณ เช่น เครื่องมือหิน ภาชนะดินเผา กระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย ตามถ้ำและเพิงผาต่างๆ ในภูเขาหินปูนที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ ต.บ้านกลาง

ต่อมา พ.ศ.2555 นายสุพจน์ มาตย์บุตร ผู้ใหญ่บ้านเขางามในขณะนั้น แจ้งข่าวพบโบราณวัตถุที่เขางาม สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการสำรวจ รวบรวมโบราณวัตถุ นำมาเก็บรักษา ดำเนินกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดี

พ.ศ.2558 กรมศิลปากรสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และดูแลรักษาแหล่งโบราณคดี ภายใต้แนวคิด ชุมชนท้องถิ่นคือเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรม จึงต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันดูแลรักษา จึงได้มีการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑสถานโบราณคดีเขางาม” ขึ้นที่โรงเรียนบ้านเขางาม

แหล่งเรียนรู้รากเหง้าบรรพชน

พิพิธภัณฑสถานโบราณคดีเขางามได้ดัดแปลงมาจากห้องเรียน กว้างประมาณ 3X6 ม. ให้มีลักษณะเหมือนถ้ำ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน

ในส่วนแรก กล่าวถึงแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ ต.บ้านกลาง เป็นแหล่งโบราณคดีประเภทถ้ำและเพิงผากระจายตัวอยู่ตามภูเขาต่างๆ จำนวนมากกว่า 20 แหล่ง เช่น เขางาม เขาหัวกระทิง เขาป่าปก และเขาหน้ามันแดง เป็นต้น

แหล่งโบราณคดีเหล่านี้จัดอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินเก่าต่อเนื่องถึงสมัยหินใหม่ เป็นสังคมขนาดเล็กมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ดำรงชีพด้วยการหาของป่า-ล่าสัตว์ อาศัยอยู่ตามถ้ำและเพิงผา มีการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นมา เช่น เครื่องมือหิน เครื่องมือกระดูกสัตว์ เครื่องประดับหอย ภาชนะดินเผา ยังไม่มีศาสนาแต่เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ อีกทั้งยังปรากฏร่องรอยพิธีกรรมการฝังศพ ภาพเขียนสีซึ่งมีทั้งภาพเล่าเรื่องและภาพสัญลักษณ์ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมด้วย

นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบที่แหล่งโบราณคดี เช่น เครื่องมือหิน เครื่องประดับจากเปลือกหอย ภาชนะดินเผา ภาชนะทรงพาน เป็นต้น แต่ก็มีบางส่วนที่จำลองมาให้ชม เช่น หม้อสามขา เป็นต้น

ส่วนที่สอง จำลองถ้ำเล็กๆ ออกมา 4 ถ้ำ ถ้ำแรก แสดงตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีและภาพเขียนสีใน จ.กระบี่ ถ้ำที่สอง ชีวิตหลังความตาย ด้วยความเชื่อว่าผู้ที่ตายไปแล้วจะเดินทางไปอยู่อีกโลกหนึ่ง จึงทำให้เกิดพิธีกรรมการอุทิศสิ่งของให้แก่ผู้ตาย เช่น การนำของมีค่า เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และอาวุธ ฝังร่วมไปกับศพเพื่อให้ผู้ตายนำติดตัวไปใช้ในโลกหน้า โดยจำลองหลุมฝังศพมาไว้ให้ชมด้วย ถ้ำที่สาม วิถีชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 3 ยุคย่อย คือ การดำรงชีวิตแบบล่าสัตว์และหาของป่า การดำรงชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรม และการดำรงชีวิตแบบชุมชนเมือง และถ้ำที่สี่ คัดลอกภาพเขียนสีชื่อดังจากหลายๆ ที่ไว้ เช่น มิสเตอร์อ่าวลึกจากถ้ำผีหัวโต มิสเตอร์ดิงดองจากถ้ำช้างนอก ภาพวาดรูปหมูจากเกาะกาโรส เป็นต้น

นิสา เชยกลิ่น เขียน

ข้อมูลจาก:
การสำรวจวันที่ 1 มิถุนายน 2560
http://sac.or.th/databases/archaeology/
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ:
-
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ:
-