ที่อยู่:
หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
โทรศัพท์:
086-2297626, 081-6128853
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ค่าเข้าชมคนละ 50 บาท (เริ่มเก็บวันที่ 15 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป)
อีเมล:
karbstudio1@yahoo.com;
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ
พิพิธภัณฑ์มีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ก่อตั้งโดยคุณสุทธิพงษ์ สุริยะ(ขาบ) ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดัง ปัจจุบันเป็นเจ้าของ KARB STUDIO บริษัทให้คำปรึกษาและออกแบบสร้างภาพลักษณ์ให้ธุรกิจอาหารและสินค้าการเกษตร คุณสุริยะที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดในอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ และมีความมุ่งมั่นที่ต้องการกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ด้วยความรู้และประสบการณ์ทำงานที่สะสมมาค่อนชีวิตในเมืองกรุงเขาบอกเล่าที่มาของพิพิธภัณฑ์ในหนังสือ “Life Community Museum พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ” ไว้ว่า
“จวบจนเมื่อปี พ.ศ. 2560 คุณแม่ของผมได้จากไปแบบกระทันหัน การจากไปของคนที่เราเคารพรัก ก็ทำให้เข้าใจอะไรหลายอย่างในชีวิต...จนกระทั่งวันหนึ่งบ่ายๆ ใต้ต้นไม้สองพ่อลูกได้นั่งคุยกัน ผมอยากจะนำบ้านไม้อีสานเก่าแก่ที่ครอบครัวอาศัยอยู่มาปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ เนื่องจากบ้านไม้ทรงอีสานนับวันจะหายาก”
สำหรับเงินงบประมาณในการทำงาน เขาบอกเล่าในfbของพิพิธภัณฑ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ผู้ประสงค์ดีมักจะถามและเอาไปพูดว่าได้เงินมาจากไหน มาสร้างอะไรมากมาย คำตอบคือ 90% มาจากทุนส่วนตัว และที่เหลือคือจากผู้ให้การสนับสนุนที่รักและเคารพนับถือกัน อ้าว....แล้วไม่ไปขอเงินจากหน่วยงานราชการเหรอ อยากบอกว่า ทำจดหมายจนเหนื่อย และหน่วยงานเอกชนหละ ก็คุยจนนับครั้งไม่ถ้วน งานแบบนี้ต้องได้ลงมือทำ ถึงจะเข้าใจ”
เขาให้เหตุผลว่าที่ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แบบนี้ เพราะคุณพ่อของเขายังพักอาศัยอยู่ชั้นล่าง แต่ชั้นบนได้ปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งอยู่ในท่ามกลางชุมชนซึ่งคุ้นเคยกันดี และมีพื้นที่โดยรอบบริเวณประมาณ 3 ไร่ ซึ่งบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันออกไป คือ
ส่วนแรก “อาคารพิพิธภัณฑ์” เป็นเรือนไม้อีสานเก่าแก่ อายุกว่า 60 ปี ที่ค่อนข้างหาชมได้ยากในปัจจุบัน เขาต้องการอนุรักษ์ให้ลูกหลานชาวอีสานได้ศึกษาค้นคว้า การจัดแสดงภายใน คุณสุทธิพงษ์ใช้ความรู้เรื่องดีไซน์ของตนเองมาใช้อย่างเต็มที่ ทำให้เรือนไม้ดูร่วมสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ลักษณะทั่วไปของบ้านอีสานคือ การมีระเบียงกว้างสำรวจทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เมื่อเปิดประตูเข้าไปในบ้าน จะมีห้องโถงกลางใหญ่ และมีห้องปีกซ้ายและขวา แต่ละห้องประดับประดาด้วยภาพขาวดำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนชาวอีสานและชาวไทย และตามมุมห้องยังตกแต่งด้วยด้วยผ้าซิ่นไหมของคนอีสาน
อีกฝั่งของบ้านที่เชื่อมติดกันจัดแสดงครัวอีสานในอดีต อีกฟากด้านหลังห้องครัวได้ปรับเป็นมุมรับแขกโทนสีขาวเขียวและน้ำตาล ดอกพุดตูมสีขาวที่ประดับตกแต่งในบายศรีถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ ด้วยสมัยก่อนพิธีบายศรีถือเป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสาน
ส่วนที่สอง “ลานกิจกรรมพื้นทีสีเขียว” อยู่ติดกับอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นลานเอนกประสงค์ที่มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนชุมชน ให้มุ่งหวังให้ชุมชนมีส่วนร่วมและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น เปิดพื้นที่ให้ชุมชนนำสินค้ามาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว เช่น งานจักสาน ผ้าทอ งานหัตถกรรมต่างๆ
เปิดเวทีให้ศิลปินและนักออกแบบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องการบริการวิชาการแก่สังคม มาแลกเปลี่ยนผลงาน หรือเป็นวิทยากรแนะนำอาชีพหรือทำโครงการพัฒนาร่วมกับชมุชน
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมวาดภาพระบายสีกับเยาวชนหรือเด็กๆ ทิ่ติดตามพ่อแม่มาขายอาหารหรือคนที่มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ผลงานทั้งหมดจะถูกนำมาจัดแสดงให้ผู้เยี่ยมชมได้ชมด้วย
ส่วนที่สาม “ตลาดชุมชนพอเพียง” ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ เป็นสวนยางพาราที่ประดับประดาด้วยสุ่มไก่ เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำอาหารอีสานท้องถิ่น พืชผลทางการเกษตร มาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว จุดเด่นของตลาดคือ ภาพวาดศิลปะบนกำแพงสังกะสีผืนยาวที่นำเสนอเรื่องราวของวิถีผู้คนในชุมชนอีสาน เช่น ปิ้งข้าวจี่ กระโดดเล่นน้ำในคลอง เลี้ยงไก่ชน เลี้ยงควาย ยิงหนังสติ๊ก และบริเวณตลาดยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมร่วมกันของชุมชน เช่น งานสงกรานต์ ตักบาตร เป็นต้น
ส่วนที่สี่ “ลานศิลปะ” เป็นส่วนต่อเนื่องกับตลาด เป็นพื้นที่ยาวติดริมทุ่งนา ถูกปรับเป็นลานแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย ผลงานที่จัดแสดงคือจักรยานเก่าที่นำมาทาสีม่วง สีประจำจังหวัดบึงกาฬ และสีเขียวซึ่งเป็นสีประจำพิพิธภัณฑ์ และประดับธงแขวนที่ดัดแปลงจากผ้าขาวม้า ติดบนไม้ไผ่แบบในวัดอีสานที่คุ้นตากันเวลามีงานบุญ
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์กำลังร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาช่วยสร้างพื้นที่ศิลปะ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดทำโครงการประติมากรรมเพื่อสังคม “จากมิลานสู่บึงกาฬ” โดยนักศึกษาและคณาจารย์ในหลักสูตรประติมากรรมเพื่อสังคม
ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ มีวัดโพธิ์ศรี วัดเล็กๆ ของชุมชน ที่คุณสุทธิพงษ์ได้ปรึกษากับหลวงปู่เพื่อซ่อมแซมศาลาเอนกประสงค์และกุฏิร้างที่ปล่อยที่ไว้ ให้เป็นสถานที่เผยแพร่พุทธหัตถศิลป์อีสาน ให้นักท่องเที่ยวมาชมศิลปะในธีม “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ของผู้คนอีสานที่ไม่เหมือนใคร
ล่าสุดพิพิธภัณฑ์ยังได้ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำโครงการ “วาดบ้าน แปลงเมือง” โดยการวาดภาพเขียนสีตามบ้านเรืนอในตรอกซอกซอยของหมู่บ้านประมาณ 50 หลังคาเรือน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน
ปณิตา สระวาสี เรียบเรียง
ข้อมูลจาก:
Life Community Museum พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ
Fb พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชิวต จังหวัดบึงกาฬ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
อีสาน ขวดน้ำมะเน็ด โซ่พิสัย