ศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2 โรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว


ที่อยู่:
โรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว หมู่ 5 ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย
โทรศัพท์:
042-076119, 081-7293588
โทรสาร:
042-076119
วันและเวลาทำการ:
วันและเวลาราชการ (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
nitkhaoda@gmail.com
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2

“บ้านทรายขาว” หมู่บ้านริมแม่น้ำเลยในตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยตั้งแต่สมัยล้านช้างหรือราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ดังปรากฏร่องรอยทั้งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี 

ด้วยเหตุนี้ นายศักดา พุทซาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ จึงได้มีความคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ประวัติศาสตร์ของชุมชน โดยคาดหวังให้เป็นแหล่งรวบรวมและนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านทรายขาว รวบรวมและจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีตที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนบ้านทรายขาว เมื่อจัดสร้างศูนย์ประวัติศาสตร์ชุมชนสำเร็จ ทางเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 2 จังหวัดเลย ได้ยกให้เป็นศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษา

“ศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2” ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว หมู่ 5 ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ตรงข้ามวัดเทิง (ร้าง) โบราณสถานสมัยล้านช้าง

ลักษณะอาคารของศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ เป็นห้องก่ออิฐที่ใต้ถุนอาคารไม้ที่เป็นห้องเรียนระดับอนุบาล อาคารแห่งนี้เดิมเป็นอาคารไม้ใต้ถุนเตี้ยจนเกือบติดระดับพื้นดิน นายศักดา พุทซาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ดำเนินการจ้างดีดอาคารให้สูงขึ้น และจัดสร้างศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ และศูนย์ไอทีที่ใต้ถุนอาคาร

ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีประตูทางเข้า 2 ประตู คือประตูด้านซ้ายและขวา การจัดแสดงมีทั้งข้อมูลตัวหนังสือ ภาพถ่าย และวัตถุ โดยจัดวางเรื่องราวเป็นกลุ่มตามอายุสมัยและประเภทของวัตถุ แต่ภายในแต่ละกลุ่มมีทั้งที่เรียงตามสมัยและไม่เรียงตามสมัย วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านในพื้นที่

ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีประตูทางเข้า 2 ประตู คือประตูด้านซ้ายและขวา การจัดแสดงมีทั้งข้อมูลตัวหนังสือ ภาพถ่าย และวัตถุ โดยจัดวางเรื่องราวเป็นกลุ่มตามอายุสมัยและประเภทของวัตถุ แต่ภายในแต่ละกลุ่มมีทั้งที่เรียงตามสมัยและไม่เรียงตามสมัย วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านในพื้นที่

ส่วนถัดไปนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์พื้นที่บ้านทรายขาวที่ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อนเป็นส่วนหนึ่งของ“เมืองทรายขาว” (เมืองซายขาว, เมืองเซเลอลิว, เมืองเซไล) เมืองโบราณสมัยล้านช้าง ผ่านทางป้ายคำบรรยายและภาพถ่าย เช่น ประวัติและภาพถ่ายพระธาตุเฮือคำ (กู่คำ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองทรายขาว ประวัติและภาพถ่ายพระบางเมืองทรายขาว (พระพุทธรัตนมหณีศีเมืองซายขาว) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองทรายขาว ข้อมูลของประวัติเมืองทรายขาวและบ้านทรายขาว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ประวัติพระธาตุศรีสองรัก ประวัติโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว และประวัติบุคคลสำคัญของชุมชน โดยมีการจัดแสดงของใช้ในอดีตปะปนอยู่ในส่วนนี้ด้วย เช่น ขันกระหย่องและร่มกระดาษ

ส่วนสุดท้ายจัดแสดงแสดงหิน แร่ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของชาวบ้านทรายขาว เช่น พระพุทธรูปไม้ จักรเย็บผ้า ปืน วิทยุ ธนบัตร ภาชนะทองเหลือง กระโถนโลหะ เครื่องถ้วย เตารีดถ่าน  เป็นต้น รวมถึงข้อมูลพระเถระรูปสำคัญของจังหวัดเลย 

การเดินทางจากตัวอำเภอวังสะพุง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2016 มุ่งหน้าทางทิศใต้สู่ตำบลทรายขาว ประมาณ 11 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านทรายขาว (สังเกตป้ายวัดกู่คำและโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว) ประมาณ 100 เมตร จะพบโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาวและโบราณสถานวัดเทิง

ขอขอบคุณโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว และคณะคุณครูโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว สำหรับการต้อนรับและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล เขียน

ข้อมูลจากการสำรวจเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556
http://sac.or.th/databases/archaeology/
ชื่อผู้แต่ง:
-