พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ วัดศรีจันทร์


ที่อยู่:
วัดศรีจันทร์ บ้านนาอ้อ ถ.เลย-เชียงคาน ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย 42100
โทรศัพท์:
0-4281-4562
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

หมู่บ้านวัฒนธรรมนาอ้อ จังหวัดเลย

ชื่อผู้แต่ง: สภาวัฒนธรรมบ้านนาอ้อ | ปีที่พิมพ์: 2547

ที่มา: เลย: สภาวัฒนาธรรมบ้านนาอ้อ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ย้อนรอย...สงครามยุคล่าอาณานิคม ผ่านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีจันทร์ จ.เลย

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 28 เมษายน 2554

ที่มา: ไทยโพสต์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ วัดศรีจันทร์

เดิมตำบลบ้านนาอ้อ มีเขตการปกครองไปถึงตำบลศรีสองรัก เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2530 จึงได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลศรีสองรักปัจจุบัน และเทศบาลตำบลนาอ้อ นาอ้อเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี ผู้คนสืบเชื้อสายมาจากเวียงจันทน์และหลวงพระบาง เดิมเรียกบ้าน “หนองวังขอน” เพราะมีหนองน้ำขนาดใหญ่และมีขอนไม้อยู่กลางหนอง ต่อมาราวปี 2226 ชาวบ้านได้อพยพลงมาทางใต้ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ คืออยู่ในบริเวณรอบๆ หนองอ้อ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านนาอ้อ” และได้ตั้งวัดศรีจันทร์ขึ้นเป็นวัดแรก 
 
ผู้เฒ่าผู้แก่ของบ้านนาอ้อ เล่าว่าในครั้งนั้น ได้นิมนต์เจ้าหัวพ่อเมืองขวาและเจ้าหัวพ่อรางคำ ชาวมุกดาหาร ที่จาริกธุดงค์เข้ามาในบ้านนาอ้อ พร้อมกับหอบหนังสือใบลาน ติดตัวมาเป็นจำนวนมาก เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ วัดศรีจันทร์จึงเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการทำกิจกรรมทางศาสนา รวมถึงการเรียนหนังสือของพระภิกษุสามเณรของวัดด้วย และหลังปี 2464 นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประถมศึกษามีผลบังคับทั่วประเทศให้เรียนภาษาไทยกลางเป็นหลัก บรรดาวัดต่าง ๆ ได้หันมาสอนอ่านและเขียนภาษาไทยกลางขึ้น รวมถึงวัดศรีจันทร์ ที่มีเจ้าครูวิจารณ์สังฆกิจ หรือ พระครูพา เจ้าอาวาสในขณะนั้น 
 
พระครูวิจารณ์สังฆกิจ (พ.ศ. 2428 - 2522) เป็นคนบ้านปากหมาก ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังวัดเลย โดยกำเนิด มีความรู้แตกฉานในวิชาความรู้หลายสาขา ทั้งภาษาขอม ลาว และอักษรไทยกลาง ทั้งยังมีพรสวรรค์ในการวาดภาพสัตว์  เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ตั้งแต่ปี 2457 และรั้งตำแหน่งเจ้าคณะเมืองเลย ท่านถือว่าเป็นพระนักพัฒนาคนสำคัญของบ้านนาอ้อในยุคนั้น ทั้งสร้างศาลาการเปรียญ ซ่อมแซมโบสถ์ สร้างพระประธาน สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ เข้มงวดในระเบียบวิจัยสงฆ์ ริเริ่มตั้งโรงเรียนวัดสอนภาษาไทยกลาง ชาวบ้านจึงต่างเคารพและศรัทธาท่านเป็นอันมาก 
 
ด้วยคุณูปการนานับประการที่ท่านสร้างให้กับบ้านนาอ้อ เมื่อทางบ้านนาอ้อ ภายใต้การสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย กรมศิลปากร สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นที่วัดศรีจันทร์ จึงได้อัญเชิญนามของท่านมาตั้งเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้กุฎิเดิมของพระครูวิจารณ์สังฆกิจเป็นอาคารจัดแสดง สถาปัตยกรรมของอาคารเป็นแบบเรือนพื้นถิ่นของจังหวัดเลย เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง การจัดแสดงภายในแบ่งเป็นสองส่วนหลัก คือ ห้องหนึ่งประดิษฐานรูปหล่อของท่านพระครูวิจารณ์สังฆกิจ เครื่องอัฐบริขาร ภาพถ่าย และประวัติของท่าน พระพุทธรูปเก่าโบราณ คัมภีร์ใบลาน และสมุดไทย ส่วนพื้นที่ด้านหน้าติดกับห้องแรก จัดแสดง ตู้พระธรรม รางรดน้ำรูปนาคตรงกลางรางแกะสลักเป็นนักหัสดีลิงค์
 
อีกส่วนเป็นห้องโถงกลาง จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ตรงกลางห้องมีหุ่นคุณตาคุณยายนั่งอยู่บนแคร่กำลังเหลาตอกสานหวด รายล้อมไปด้วยตู้ไม้ที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ที่มีผู้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ อาทิ เงินโบราณ เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือทอผ้า ผ้าทอพื้นบ้าน(ซิ่นหมี่) เครื่องดนตรีหมอลำไทเลย บุ่มใส่ผ้า(เครื่องจักสาน) เตารีด ตาชั่ง ตะเกียง เครื่องปั้นดินเผา ถาดใส่อาหารสังกะสี ชามตราไก่ 
 
ผนังด้านหนึ่งของห้องอุทิศให้กับ “วีรกรรมบ้านนาอ้อ” ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของบ้านนาอ้อ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคล่าอาณานิคม เมื่อบ้านนาอ้อถูกใช้เป็นสถานที่พักของทัพฝรั่งเศสที่จะยกมาตีเมืองเลย โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดศรีจันทร์ เป็นกองบัญชาการ และเกลี้ยกล่อมชาวบ้านนาอ้อให้เข้าร่วมด้วย แต่ไม่มีชาวบ้านคนใดร่วมมือด้วย จนเมื่อกองกำลังของราชการไทยยกเข้ามาตี ชาวบ้านาอ้อเข้าร่วมมือลุกฮือขึ้นต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสพ่ายไปในที่สุด ปัจจุบันยังหลงเหลือหลักฐานปรากฏมาจนทุกวันนี้คือ ที่เขี่ยบุหรี่ทองเหลืองของฝรั่งเศส ซึ่งจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ และ “ส้วมฝรั่งเศส” จำนวน 2 ห้อง ในบริเวณวัดศรีจันทร์ 
 
นอกเหนือจากการชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ผู้ที่สนใจสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน กุฏิพระสงฆ์ภายในวัดเอง เกือบทั้งหมดเป็นเรือนไทเลยที่สวยงาม ทั้งของเก่าและที่สร้างใหม่ ส่วนในหมู่บ้านใกล้ๆ วัด ยังพอมีเรือนแบบไทเลยให้เห็นบ้าง 
 
ที่มา:
สำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549
แผ่นพับประชาสัมพันธ์หมู่บ้านวัฒนธรรมนาอ้อ จังหวัดเลย จัดทำโดยสภาวัฒนธรรมบ้านนาอ้อ
http://intranet.m-culture.go.th/loei/Dataprovine29.html [accessed 20070809]
ชื่อผู้แต่ง:
-