หอพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสา วัดศรีภูมิ


ที่อยู่:
วัดศรีภูมิ บ้านนาหอ ต.นาหอ อ.ด่านซ้าย จ.เลย
โทรศัพท์:
0-4289-1571 ติดต่อผู้ใหญ่ทวี จันทพินิจ 0-4289-1047 ติดต่ออ.สมภาร แสงเพชร
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสา วัดศรีภูมิ

พระแก้วอาสา เป็นวีรบุรุษท้องถิ่นของเมืองด่านซ้าย เล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านเป็นเจ้าเมืองด่านซ้าย เป็นบุตรของพระมหาณรงค์กับนางกำตา ศึกษาเล่าเรียนทั้งการต่อสู้และคาถาอาคมจากผู้มีความรู้สมัยนั้น พร้อมกับศึกษาอักษรธรรมจากวัด จนเชี่ยวชาญทั้งสองวิชา เมื่อถึงวัยสร้างครอบครัวได้แต่งงานกับนางท้วม บุตรของหัวหน้าแสน มีบุตรธิดากับนางท้วมด้วยกัน 4 คน สายตระกูลที่สืบทอดจนปัจจุบันคือ สิงห์ประเสริฐ และ ศรีณรงค์ฤทธิ์ 
พ.ศ.2417 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกฮ่อเข้ามาตีเมืองหลวงพระบาง รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่ไปปราบฮ่อ มีการระดมพลในเขตเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย และพิชัย เข้ามาสมทบ ทหารเมืองด่านซ้ายซึ่งขึ้นตรงต่อพิษณุโลกจึงถูกเกณฑ์เข้าสมทบกับกองทหาร โดยการนำของพระแก้วอาสา(ท้าวกองแสง) เมื่อพระแก้วอาสาเคลื่อนพลไปปราบฮ่อ ขณะกำลังจะขี่ช้าง ท่านให้ทหารนำหอกและง้าวเสียบหามตนเองขึ้นคอช้าง เพื่อแสดงความเป็นผู้อยู่ยงคงกระพันให้เห็นเพื่อสร้างขวัญกำลังให้แก่ทหารจนที่เป็นที่ร่ำลือมาก ภายหลังปราบฮ่อได้สำเร็จ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระแก้วอาสา
กระทั่งพระแก้วอาสา(ท้าวกองแสง) เป็นเจ้าเมืองด่านซ้ายเอาใจใส่ปกครองบ้านเมือง ทำนุบำรุงพุทธศาสนาในเขตปกครองให้เจริญรุ่งเรือง ได้พาชาวบ้านร่วมกันโบสถ์ เจดีย์ กุฏิ และกำแพง ตามวัดต่าง ๆ มากมาก เช่น วัดโพนชัยบ้านเดิ่น วัดศรีสะอาดบ้านหนามแท่ง วัดศรีภูมิบ้านนาหอ เป็นต้น เนื่องจากถูกกล่าวหาว่านำเงินหลวงไปส่งไม่ครบ ท่านจึงอพยพไปอยู่ที่เมืองแก่นท้าว ประเทศลาวจนถึงแก่อนิจกรรมที่นั่น
 
วัดศรีภูมินาหอ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วอาสา เนื่องจากเป็นวัดที่ท่านสร้าง และติดกับวัดศรีภูมิยังเป็นที่ตั้งหอโรงของเจ้าเมืองด่านซ้ายคือพระแก้วอาสา บ้านนาหออยู่ทางทิศเหนือของอำเภอด่านซ้าย เดิมชื่อบ้านนาเหาะ  เนื่องจากเป็นที่ตั้งของหอโรงของเจ้าเมืองด่านซ้ายนี่เอง ชาวบ้านจึงพาเรียกชื่อหมู่บ้านบ้านตามว่า บ้านหอ ต่อมาพากันเติมคำว่า นา ลงข้างหน้าหอโรงเพราะมีที่นาอยู่ใกล้บ้าน นอกจากนี้บ้านนาหอยังเป็นที่พำนักก่อนที่พระแก้วอาสาจะอพยพไปอยู่ ณ เมืองแก่นท้าว ประเทศลาว 
 
ปัจจุบันหอโรงไม่หลงเหลือซากให้ได้เห็นแล้ว มีเพียงเนินดินติดกับบริเวณวัดที่ชาวบ้านเล่าว่าเป็นที่ตั้งของหอโรง ส่วนข้าวของเครื่องใช้ส่วนหนึ่งของพระแก้วอาสา ทางวัดศรีภูมิได้เก็บรักษาไว้ที่ศาลา หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ขาดคนดูแล ข้าวของต่าง ๆ เริ่มผุกร่อน โดนหนูกัดทำความเสียหายไปบ้าง ชาวบ้านจึงคิดที่สร้างที่เฉพาะเก็บรักษาข้าวของดังกล่าวไว้ จึงกลายเป็นที่มาของหอพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสา ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดศรีภูมินาหอ
 
หอพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสาเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง สร้างขึ้นปี 2547 ภายในจัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วอาสา ที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ ได้แก่ เตียงนอนไม้แกะสลัก หอพระจำลองฝีมือช่างชั้นสูง นอกจากนี้ลูกหลานของตระกูลพระแก้วอาสาได้ถวายเครื่องแต่งกายของพระแก้วอาสาให้แก่ทางวัดมาให้จัดแสดงด้วย  ฝาผนังมีภาพวาดของพระแก้วอาสาพร้อมประวัติและวีรกรรมที่ท่านทำไว้โดยสังเขป 
 
หอพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดทำขึ้นเองโดยชาวบ้านที่เคารพนับถือพระแก้วอาสา แม้สิ่งของจะมีไม่กี่ชิ้น แต่แสดงถึงความพยายามในการจัดทำ และความเลื่อมใสของชาวบ้านที่มีต่อวีรบุรุษท้องถิ่น ท่านสามารถเข้าชมหอพิพิธภัณฑ์ได้ทุกวัน โดยติดต่อกับทางเจ้าอาวาสหรือกรรมการวัด ซึ่งจะมาไขกุญแจเปิดประตูให้ท่านเข้าชม ติดกันกับหอพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสา เป็นศูนย์วัฒนธรรมตำบลนาหอ สามารถเข้าชมได้เช่นกัน
 
ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนามวันที่ 20 ธันวาคม 2549
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ(บรรณาธิการ). ผีกับพุทธ ศาสนาและความเชื่อในสังคมด่านซ้าย ดุลยภาพทางจิตวิญญาณของชาวบ้านในลุ่มน้ำหมัน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 2550.
ชื่อผู้แต่ง:
-