ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 2 (นครสวรรค์)


ที่อยู่:
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์ ถ.นครสวรรค์-ชุมแสง ต.แควใหญ่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทรศัพท์:
0-5627-4502
โทรสาร:
0-5627-4502-3
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ (ยกเว้นวันพุธ)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2534
ของเด่น:
สายพันธุ์ปลาน้ำจืด, การเพาะพันธุ์จระเข้, ระบบนิเวศบึงบอระเพ็ด
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดงของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 2 (...

โดย: -

วันที่: 27 ธันวาคม 2559

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 2 (นครสวรรค์)

“บึงบอระเพ็ดมีการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2466 ดร.สมิธ ที่รัฐบาลสมัยนั้นจ้างมาสำรวจ
โครงการสำรวจประกอบด้วย บึงหนองหาญ ซึ่งเป็นตัวแทนภาคอีสาน กว๊านพะเยา
ซึ่งตัวแทนภาคเหนือ และบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเหนือตอนล่าง-ภาคกลางตอนบน
บึงบอะเพ็ดที่ยังสมบูรณ์ทุกวันนี้เพราะเชื่อมต่อกับแม่น้ำใหญ่ เพราะมีพื้นที่ 132,370 ไร่ 56 ตารางวา
กินพื้นที่สามอำเภอ อำเภอเมือง อำเภอชุมแสง อำเภอท่าตะโก พื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 4,000 ตารางกิโลเมตร
กินพื้นที่ นครสวรรค์ ลพบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ บึงบอระเพ็ดเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา”


คุณสมศักดิ์ ทองหนุน นักวิชาการประมงเล่าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับระบบนิเวศของบึงบอระเพ็ดที่ปรากฏในปัจจุบัน “จากการสำรวจในครั้งนั้น ปรากฏรายงาน พ.ศ. 2476เสนอไปยังรัฐบาลโดยเจ้าพระยาพลเทพ อภิรัฐมนตรีเกษตรในสมัยนั้น จากนั้น พ.ศ. 2469 เริ่มก่อสร้างบึงบอระเพ็ดเป็นบึงสร้างที่รวบรวมบึงและคลองต่างๆ พ.ศ. 2470 เริ่มสร้างประตูน้ำ หนึ่งปีต่อมา เริ่มเก็บน้ำ และในหลวง ร.7 พระราชทานให้บึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ

เวลาน้ำไหลเข้ามายังบึงบอระเพ็ดจะพัดพาลูกปลาไข่ปลามาเจริญเติบโตในบึงบอระเพ็ด ถึงเวลาจะเดินทางออกแม่น้ำ วัฏจักรเช่นนี้ยังทำให้เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารโปรตีน เรียกได้ว่า ‘น้ำท่วมมีความจำเป็น’ต่อมา พ.ศ. 2473 มีการตั้งสถานีประมงบึงบอระเพ็ดแห่งแรกในประเทศไทย และเมื่อพ.ศ. 2510 บึงบอระเพ็ดเป็นสถานีประมงแห่งแรกเพาะพันธุ์ปลาสวายสำเร็จ”

คุณสมศักดิ์ให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 2 “เราทำงานด้านทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นหลัก มีงานวิจัยทางด้านเพาะเลี้ยง งานวิจัยแหล่งน้ำ ผลิตพันธุ์ปลาป้อนแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มอาหารโปรตีนในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลานิล ที่กล่าวมานี้เป็นภารกิจที่ทำมาตั้งแต่การก่อตั้งกรมประมง

หากกล่าวในรายละเอียด หน้าที่ของเรามีการสำรวจพันธุ์ปลาและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณปลาและจำหน่ายให้กับเกษตรกร และต่อมา พ.ศ. 2559 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในกรมประมงให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ศูนย์ฯ นครสวรรค์จึงดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ภาคกลางและตะวันออก แต่ในการทำงาน เรามีเครือข่ายอีกสี่ห้าศูนย์ฯ เราเองดูแลและสำรวจทรัพยากรแม่น้ำสี่สายและแม่น้ำเจ้าพระยา”

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการความรู้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 2 ให้ความรู้แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูงานหรือการฝึกงานในการเพาะพันธุ์ปลาให้กับชาวบ้าน และยังเป็นสถานที่สำหรับการฝึกงานของนักศึกษาจากคณะวิชาที่เกี่ยวข้อง ส่วนการให้ความรู้กับนักเรียนและนักศึกษา รวมถึงประชาชนผู้สนใจทั่วไป จากโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นการถ่ายทอดเนื้อหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นปีที่มีการปรับปรุงการให้บริการสาธารณะขนานใหญ่ จึงมีการจัดสร้างอะควอเรียมและบ่อเพาะพันธุ์จระเข้เพื่อให้บริการความรู้ ความหลากหลายของพันธุ์ปลาและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติของจระเข้ช่วยให้ผู้ที่สนใจเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายธรรมชาติ และธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับสังคม คุณสมศักดิ์กล่าวย้ำว่า “ภารกิจไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว บทบาทของสถานที่เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการเสริมสร้างความรู้อีกแขนงหนึ่ง”

ในบริเวณที่ให้บริการสาธารณชนเพื่อการเยี่ยมชม แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย “อะควอเรียม” หรืออาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกับบ่อจระเข้ สำหรับบ่อจระเข้ที่เพาะพันธุ์และเลี้ยงไว้ เพื่อแสดงให้เห็นวิถีชีวิตเป็นอย่างไร การวางไข่ของจระเข้แบบไหน คุณสมศักดิ์อธิบายถึงการวางไข่ของจระเข้ “เวลาจระเข้วางไข่แถวนี้ [บริเวณที่เป็นตลิ่งขนาดเล็กในบ่อ] โดยเอาฟางข้าวมาให้ทำเป็นรัง กองพูนๆ มีการนอนเฝ้าจน 70-90 วัน เมื่อตัวอ่อนฟักเป็นตัว ก็จะส่งเสียงร้อง ให้แม่จระเข้เอาตัวออกจากเปลือกไข่ แต่เราจะไม่ปล่อยให้ไข่ฟักตามธรรมชาติ หากเราปล่อยไว้ตามธรรมชาติ ไข่เน่า เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงกว่า”

ภายในบริเวณอาคาร ผู้ชมจะได้พบกับตู้แสดงพันธุ์ปลาจำนวนมากเรียงรายอยู่สองข้างทางเดิน โดยการจัดแสดงเน้นความเหมาะสมเกี่ยวกับขนาดของพันธุ์ปลาในแต่ละตู้ ไม่ได้กำหนดให้ตำแหน่งของตู้ปลาอธิบายความหมายใดๆ เพิ่มเติม ในช่วงเริ่มต้นของบอร์ดอธิบายความรู้ แสดงให้เห็นภาพส่วนต่างๆ ของปลาเพื่อเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสรีระภายนอก ในบอร์ดถัดมาแสดงให้เห็นลักษณะการวางไข่ที่แตกต่างกันของปลาในแต่ละประเภท และบอร์ดสุดท้ายเป็นภาพแสดงให้เห็นองค์ประกอบภายในตัวปลา

คุณสมศักดิ์ให้คำอธิบายเรื่องการวางไข่เป็นตัวอย่าง “การวางไข่มีทั้งที่เป็นขุดดินวางไข่ ครึ่งจมครึ่งลอยเป็นปลาไข่ทิ้งไม่ดูแล 6-8 ชม.จะฟักเป็นตัว และไข่ที่อยู่ผิวน้ำ เช่น ปลาแรดมีการสร้างรังฟักไข่ ส่วนพวกขุดหลุมวางไข่ ได้แก่ ปลานิล ตัวเมียปล่อยไข่ ตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อ ปลานิลตัวเมียอมไข่ไว้ในปาก ลูกอยู่ในปากแม่ พอมีศัตรูลูกปลาจะหลบเข้าไปในปากแม่ปลา เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ปลา เป็นต้น”

เมื่อเดินชมมาจนถึงตู้จัดแสดงปลาสร้อย คุณสมศักดิ์อธิบายว่าเป็นปลาที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน “ปลาสร้อย ในช่วงเดือนธันวาฯ เดินทางออกแม่น้ำ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ในอดีต ปลามีจำนวนมาก ขนาดลอยเป็นแพ ปลาสร้อยเป็นปลาที่วางไข่ครึ่งจมครึ่งลอย” ใกล้กันนั้นมีตู้จัดแสดง “ปลากะดำซึ่งเป็นปลากินซาก เช่น พันธุ์ไม้น้ำ ซากพืช แมลง ส่วนอีกตู้เป็นปลากะสูบฉีดที่มีวิวัฒนาการเป็นปลากินเนื้อ” ชื่อเรียกปลานั้น เป็นชื่อไทยที่เรียกปลามาแต่โบราณ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์เป็นชื่อสากลที่เรียกกันในการศึกษาทางชีววิทยา “มีเพียงปลาสิวหางแดง ที่มีการค้นพบที่บึงบอระเพ็ด จึงมีชื่อท้ายในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘บอระเพ็ดเตนซิส’”

ยังมีพันธุ์ปลาอีกเป็นจำนวนมากที่นำเสนอในอาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลากระเบน ปลาลิ้นควาย ปลาลิ้นวัว ซึ่งเป็นประเภทปลาที่ลำตัวแบนบนลงล่าง “เพราะตัวเองต้องอยู่ข้างล่าง กระเบนเป็นกระดูกอ่อน มีช่องเปิดเหงื่อมากกว่าหนึ่งคู่” คุณสมศักดิ์ให้คำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้รู้จักสังเกตลักษณะภายนอกที่สัมพันธ์กับธรรมชาติของการหากินของปลาประเภทนี้

ในช่วงท้ายของการเยี่ยมชม คุณสมศักดิ์กล่าวสรุปเกี่ยวกับการอนุรักษ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับความหลากหลายทางชีวภาพ “ในบึงบอระเพ็ด แบ่งเป็นสองเขตใหญ่คือ เขตที่อนุญาตให้ทำประมงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ หนึ่งในสี่ของพื้นที่บึงบอระเพ็ด หากจะให้ประมาณการคร่าวๆ คือจากจุดนี้ [ศูนย์วิจัยและพัฒนาฯ] ไปสามหมื่นตารางเมตร ส่วนพื้นที่ที่เลยไปจากนั้นอนุญาตให้ทำการประมง พื้นที่ในการอนุรักษ์จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อทำให้มีทรัพยากรออกไปทดแทน เพราะสัตว์น้ำมีการเดินทางเรียกได้ว่ามีการเคลื่อนที่ นำความอุดมสมบูรณ์กลับออกไปยังชุมชน”

นอกจากนี้ คุณสมศักดิ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ปลาหน้าวัด” ที่เราๆ คุ้นชินเมื่อไปเที่ยววัดวาต่างๆ และนำอาหารปลาหรือขนมปังให้ปลาที่อยู่อย่างชุกชุมหน้าวัด นั่นเองเป็นแลห่งช่วยทดแทนความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละแหล่งนี้ พื้นที่เหล่านั้นมีกฎหมายคุ้มครอง สถานที่ราชการบางแห่งสามารถขอให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ได้เช่นกัน “ยิ่งมีพื้นที่ปลาหน้าวัด เวลาน้ำหลาก ปลากลับไปยังแต่ละแม่น้ำ หากประชาชนช่วยกันรักษาให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ปลาอย่าง ‘ปลาหน้าวัด’ คนไทยไม่อดปลา”. 

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 26 ตุลาคม 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดบึงบอระเพ็ด

กรมประมงได้มีโครงการพัฒนาและบูรณะบึงบอระเพ็ด ตามโครงการแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการประมง ซึ่งได้ทำการปรับปรุงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534 จนถึงเดือนเมษายน 2536 จึงแล้วเสร็จ โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย การขุดลอกพื้นที่บางส่วนที่ตื้นเขินเพื่อปรับปรุงการไหลของน้ำ ก่อสร้างประตูระบายน้ำและฝายน้ำล้นอันใหม่ เพื่อเก็บกักน้ำให้เก็บกักน้ำได้มากกว่าเดิม มีระดับน้ำ + 24 ร.ท.ก. (เดิมระดับน้ำ + 23.8 ร.ท.ก.) มีปริมาตรความจุในการเก็บกักน้ำประมาณ 206,527,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์ บ่อจระเข้และอาคารแสดงพันธุ์ปลา

วัตถุประสงค์ในการจัดทำเพื่อ จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดและพรรณไม้น้ำจืดของไทย รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้ด้านวิชาการประมงแก่นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน เสริมสร้างและปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำจืด และเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ภายในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืด นครสวรรค์ จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดที่หาดูยากและใกล้สูญพันธุ์ พันธุ์ปลาที่พบในบึงบอระเพ็ด และพันธุ์ปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นต้น ตู้ปลาที่จัดแสดงมีจำนวนทั้งสิ้น 34 ตู้ จัดแสดงพันธุ์ปลามากกว่า 50 ชนิด ประกอบด้วย 1. มีตู้ปลาในผนังตัวอาคาร ทั้งหมด 34 ตู้ ประกอบด้วย ตู้ขนาด 1.1x3.8x1.0 เมตร จำนวน 2 ตู้ ตู้ขนาด 0.8x1.8x1.0 เมตร จำนวน 30 ตู้ ตู้กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร สูง 1.2 เมตร จำนวน 2 ตู้ 2. มีตู้ปลาเสริม ทั้งหมด 6 ตู้ ประกอบด้วย ตู้กระจกขนาด 48 นิ้ว จำนวน 6 ตู้ 3. ตู้จัดแสดงพรรณไม้น้ำจืดสวยงาม จำนวน 2 ตู้

ข้อมูลจาก: http://www.fisheries.go.th/fisheries/aq/webplace1.php?hidAQCode=00000013 [accessed 2009-01-29]
ชื่อผู้แต่ง:
-