ที่อยู่:
วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
โทรศัพท์:
085-0507207, 082-1693082, ติดต่อ คุณเอมอร คำนวณวิทย์ และคุณมัลลิกา เส็งเอี่ยม
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. **ยกเว้นวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดทำการตามปกติ **ยกเว้นวันจันทร์ช่วงปิดภาคเรียนอาจเปิดทำการตามความเหมาะสม
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ 40บาท เด็ก 20บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับภิกษุ สามเณร และนักบวช เข้าชมเป็นหมู่คณะ (20 คนขึ้นไป) 20 บาท
อีเมล:
Kam.emorn@gmail.com
ของเด่น:
ประวัติหลวงพ่อเดิม, จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องหลวงพ่อเดิม, ฉากจำลองร้านตลาดบ้านหนองโพ, เครื่องรางของคลังหลวงพ่อเดิม, คัมภีร์ต่างๆ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
“เดิมทีเป็นพระมหาธาตุเจดียที่ด้านล่างถูกปล่อยว่าง พอสร้างเสร็จ พื้นที่ด้านล่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ชุมชนคิดว่าน่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เราคิดว่าเรื่องราวของหลวงพ่อเดิม ศิลปวัฒนธรรมในบ้านหนองโพ น่าจะได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่คนหนองโพจะได้ทราบถึงที่มาของความเป็นหนองโพ และทราบบรรพชน หลวงพ่อเดิมทั้งเจ้าอาวาส ครู กรรมการ เห็นพ้องกัน เราเริ่มทำพิพิธภัณฑ์หลังนี้ตั้งแต่ปี 53 เริ่มทำ วัตถุประสงค์ต้องการให้เป็นสถานที่เพื่อการเผยแพร่กิตติคุณหลวงพ่อเดิม เพราะอยู่ในเขตวัดและท่านมีคุณานุคุณให้กับวัดต่างๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ และนอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของหนองโพ ความสำคัญอีกประการหนึ่ง เนื่องจากบ้านหนองโพเป็นบริเวณของโบราณคดี ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ จึงต้องการให้พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิมได้รวบรวมโบราณวัตถุไว้ด้วย”
อาจารย์เอมอร คำนวณวิทย์บอกเล่าถึงประวัติความเป็นของพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิมอย่างแม่นมั่น น้ำเสียงของอาจารย์สะท้อนให้เห็นความศรัทธาของชาวหนองโพที่มีต่อหลวงพ่อเดิม แม้ท่านจะมรณภาพมานานแล้ว หัวใจของการบอกเล่าเรื่องราวของหลวงพ่อเดิมนั้น คงปรารถนาให้สาธุชนที่เวียนเข้ามาสักการะหลวงพ่อเดิม มิใช่เพียงตามความเชื่อต่อพลังหรืออำนาจของวัตถุมงคลต่างๆ ของหลวงพ่อตามที่มักจะทราบกันทั่วไป แต่การได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของหลวงพ่อเดิม โดยเฉพาะคุณูปการในการหลวงในการพัฒนาบ้านหนองพ่อ การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามวัดวาอารามในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษาโดยการจัดตั้งโรงเรียนและใช้เงินจากศรัทธาของชาวบ้านเพื่อจ้างครูสอนแก่ลูกหลานของชาวหนองโพ
เนื้อหาจัดแสดงในสี่ห้องนิทรรศการประกอบด้วย (1) มาตุภูมิบ้านหนองโพ ถ่ายทอดเรื่องราวโบราณคดีตำบลหนองโพ โดยจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในบริเวณบ้านหนองโพ อายุราว 4000-800 ปีก่อน และการตั้งถิ่นฐานของชาวหนองโพ ที่แสดงให้เห็นการตั้งถิ่นฐานและประเพณีที่สืบทอดต่อกันมากว่า 200 ปี (2) ห้องพุทฺธสโร หลลวงพ่อเดิม จัดแสดงชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ บารมีหลวงพ่อเดิมในด้านต่างๆ เช่น การสร้างและการบูรณะเสนาสนะให้แก่วัดต่างๆ การสงเคราะห์ประโยชน์แก่ส่วนรวม (3) ห้องเพิ่มพูนศรัทธา นำเสนอความศรัทธาของชาวบ้านหนองโพและศิษยานุศิษย์ วัตถุมงคลที่ได้รับการถวายจากศิษยานุศษย์แสดงให้เห็นความศรัทธาต่อหลวงพ่อเดิม เพื่อทำให้การบอกเล่าถึงความเข้มขลังของหลวงพ่อเดิมมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น (4) ห้องกถาคัมภีร์ แสดงให้เห็นคัมภีร์ในวัดหนองโพจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับการจารไว้ในสมุดไทยดำ สมุดฝรั่ง ทั้งที่เป็นคัมภีร์วรรณคดี ตำราเรียน การปกครอง พระพุทธศาสนา กฎหมายฉบับราษฎร์
เนื้อหาทั้งหมดได้รับการจัดแบ่งไว้เป็นสัดส่วน และนำเสนอด้วยภาพ กราฟิก และข้อความที่ช่วยให้ผู้ชมติดตามเรื่องราวได้ตามลำดับได้อย่างง่ายดาย แต่เสน่ห์สำคัญคงอยู่ที่การถ่ายทอดความรู้ด้วยมัคคุเทศก์ มัลลิกา เส็งเอี่ยม ภัณฑารักษ์ ผู้ใช้ทวงทีและน้ำเสียงหนักเบาแสดงให้เห็นบรรยากาศของเหตุการณ์สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรยายถึงเหตุการณ์มรณภาพของหลวงพ่อเดิม ประกอบการนำชมจิตรกรรมฝาผนัง
“ตรงนี้เป็นภาพประวัติ หลวงพ่อเดิมท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2403 นามเดิม ‘นายเดิม ภูมณี’เมื่อ พ.ศ. 2423 ครบบวช ท่านอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดเขาแก้ว และใช้เวลาศึกษาความรู้เป็นเวลาเจ็ดปี จากนั้น หลวงพ่อเดิมเป็นปราชญ์นักเทศน์ จนกระทั่งท่านตัดสินใจเลิกเทศน์ เพราะเห็นว่า ‘มัวแต่สอนคนอื่น ไม่ได้สอนตัวเอง’
พ.ศ. 2435 ออกเดินทางจนมาจำวัดและต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ โดยมีพระสมุห์ชุ่มทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย เมื่อท่านออกเดินทางไปร่วมสงเคราะห์ประโยชน์แก่ส่วนร่วมในแห่งหนตำบลอื่น” เหตุการณ์สำคัญที่คุณมัลลิกาได้ชี้ชวนให้ดูคือเมื่อครั้นทหารจะออกรบ และมีจำนวนทหารมาขอผ้าจากรอยประทับของเท้าหลวงพ่อเดิม จึงมีการใช้หมึกทาที่เท้าและตบลงบนชิ้นผ้าซ้อนกันหลายชั้น
ในช่วงท้าย เมื่อท่านพระครูได้รับพัดยศเป็น ‘พระครูนิวาสธรรมขันธ์’แต่ท่านไม่ได้เดินทางมารับด้วยตนเอง ชาวบ้านแห่มาให้ แต่หลวงพ่อคงให้ชาวบ้านคงเรียกว่าหลวงพ่อเดิมเหมือนเดิม เหตุการณ์เมื่อครั้งท่านมรณภาพ พ.ศ. 2494 ท่านอาพาธในกุฏิ แต่แลเห็นระดับน้ำในสระเหลือเท่าไรแล้ว แล้วบอกว่าพระคนช่วยครองผ้า และตั้งภาวนา ฝนตกราวหนึ่งชั่วโมง จากนั้นไม่กี่ชั่วโมง หลวงพ่อเดิมมรณภาพ เวลานั้นช้างคู้บารมีทั้งสองเชือกไม่ยอมมาทำงานตามปกติ ได้แต่เอาหัวไปถูกุฏิไปมา เสมือนเป็นการลาหลวงพ่อเดิมเป็นครั้งสุดท้าย งานพระราชทานเพลิงศพจัดขึ้นในปีถัดมา พ.ศ. 2495”
ความวิจิตรของพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิมคงเป็นผลรวมของการจัดแสดง บรรยากาศของห้อง วัตถุทั้งจริงและจำลองเพื่อทำให้ประวัติศาสตร์กลับมามีชีวิต และการถ่ายทอดเรื่องราวจากมัคคุเทศก์ที่ผสานความตั้งใจเข้ากับสาระที่ต้องการสื่อสารเพื่อให้ผู้คนได้เห็นและซาบซึ้งกับคุณานุคุณของหลวงพ่อเดิมอยู่เป็นทุน
การจัดการพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิมยังนับว่าเป็นปัจจัยบวกอีกประการหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์แหล่งนี้ควรค่าแก่การเดินทางไปสักการะหลวงพ่อเดิมและปูชนียวัตถุอื่นๆ ในวัด และการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ การทำงานร่วมกันระหว่างวัดหนองโพ ชาวบ้านหนองโพ และบุคลากโรงเรียนหนองโพพิทยา สานพลังเข้าสู่การสร้างสรรรค์พิพิธภัณฑ์ในระดับท้องถิ่น ให้ทั้งคนหนองโพและผู้มาเยือนได้เข้าใจว่าเหตุใดวัดหนองโพ จึงต้องนำเสนอเรื่องราวของหลวงพ่อเดิมแม้ท่านมรณภาพเกินกว่ากึ่งศตวรรษ.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
วัตถุโบราณ วัตถุมงคล หลวงพ่อเดิม
พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเฮง
จ. นครสวรรค์
หอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
จ. นครสวรรค์
พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก และอาคารพิพิธภัณฑ์บริขารและหุ่นขี้ผึ้งพระครูนิติธรรมคุณ
จ. นครสวรรค์