ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น (ไทดำบ้านหนองเนิน)


ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านหนองเนิน หมู่ที่ 4 บ้านหนองเนิน ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
โทรศัพท์:
0-5636-9238
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
ของเด่น:
ชั้นเรียนภาษาไทดำ, ประเพณีไทดำ, เรือนไทดำจำลอง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 04 มกราคม 2560

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น (ไทดำบ้านหนองเนิน)

บ้านหนองเนิน-บ้านสี่กั๋กเป็นชุมชนไทดำในตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก ชุมชนพยายามสืบทอดและฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมไทดำ แม้ในปัจจุบันลูกหลานจะออกเดินทางไปศึกษาต่อหรือทำมาหากินนอกชุมชน แต่งานสำคัญอย่างพิธีเสนเรือนและพิธีกรรมของของผู้วายชนม์ในครอบครัวและเครือญาติคงเป็นทำหน้าที่ในการผสานให้ผู้คนร่วมสืบสานวัฒนธรรมดังกล่าว ผู้เขียนไม่มีโอกาสในร่วมในพิธีสำคัญในระดับครอบครัวทั้งสองประเภท แต่จากการสังเกตการณ์ชั้นเรียนภาษาไทดำที่ชุมชนเริ่มต้นเมื่อสามปีก่อน ก็แสดงให้เห็นความพยายามของชุมชนกับการฟื้นฟูมรดกภาษาเขียนไทดำไว้เป็นสำคัญ

อาจารย์วิเชียร เชื่อมชิต ประธานชมรมไทดำภาคเหนือให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามในการส่งเสริมการเรียนรู้อักษรไทดำให้กับเด็กรุ่นใหม่ “คงต้องกล่าวย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2546 ที่มีการรวมตัวของผู้ที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำ มาจากการกินเลี้ยงกันในหมู่ชาวไทดำบ้านโพธิ์ประทับช้าง และทางผู้สูงอายุขอให้ตนทำหน้าที่เป็นประธานชมรม จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียง 3-4 แห่ง คนไม่มาก จากนั้น ได้ขอให้สมาชิกช่วยกระจายข่าวและเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกไทดำภาคเหนือ

พอปีหลังๆ เริ่มมีการจัดงานไทดำทั่วไป เริ่มรู้จักหมู่บ้านนั้น จนมีสมาชิกในปัจจุบันกว่า 30 กว่าชมรมทั่วภาคเหนือ การจัดตั้งเป็นไปตามข้อบังคับและมีการประชุมสามเดือนครั้ง ครั้งที่แล้วประชุมที่บ้านวังหยวก นครสวรรค์ ชมรมละ 3-5 คน กรรมการนิดหน่อย ร่วมแล้วกว่าร้อยคน เมื่อคนมาร่วมประชุม ต่างแต่งกายอย่างนี้ [เครื่องแต่งกายแบบไทดำ]โดยไม่ต้องนัดหมาย ไม่ต้องบอกการแต่งกายอย่างไร ก็รู้กันหมด ไม่เขินกันแล้ว ใครไม่แต่งก็ว่าแปลก การประชุมแต่ละครั้งจะมีประเด็นในการพูดคุยต่างๆ นานา รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรม ทั้งจากผมเองและผู้รู้ สำหรับผมแล้ว ผมเน้นเรื่องอักษรไทดำ ภาษาเขียน ภาษาพูดพอพูดได้แล้ว”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดินทางถึงศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น บ้านหนองเนิน เด็กๆ เดินแถวมายังเรือนไทดำจำลอง ใต้ถุนเรือนมีโต๊ะยาวที่ใช้เรียนภาษาทั้งจากอาจารย์วิเชียน เชื่อมชิต และจากผู้อาวุโสชุมชน ในครั้งนั้น ผู้เขียนมีโอกาสพบปะคุณลุงไทยแลนด์ เพชรต้อม และคุณลุงพลอย แซ่หุย ทำหน้าที่เป็นครูที่สอนภาษาเขียนไทดำให้เด็ก และทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในการนำชมศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับผู้เขียน
อาคารศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งอยู่ด้านหน้าเรือนไทดำจำลอง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสนามด้านหน้าโรงเรียนบ้านหนองเนิน ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ อาคารร่วมรุ่นเงินทุนสนับสนุนจากจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดียวกับศูนย์อนุรักษ์ไทดำบ้านวังหยวก แต่ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น (ไทดำบ้านหนองเนิน) สร้างขึ้นก่อน ในราว พ.ศ. 2553 แบบแปลนอาคารมีความเหมือนกัน นั่นคือทางเข้าอยู่กึ่งกลาง เมื่อเข้าสู่ภายในอาคาร ผู้ชมจะพบห้องกั้นย่อยอยู่เบื้องหน้า ที่นี่ไม่ได้จัดแสดงอะไรและมีห้องน้ำที่ให้บริการแก่ผู้มาเยือนติดกัน ส่วนพื้นที่ปีกซ้ายและขวาของอาคาร ใช้สำหรับจัดแสดง

ในเวลาที่ผู้เขียนไปเยือนสภาพของอาคารอยู่ในระหว่างการรอปรับปรุง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้น เกิดฝนตกหนัก น้ำฝนรั่วเข้าสู่ชั้นในอาคารทำให้สภาพของศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่พร้อมให้บริการกับผู้มาเยือนเสียทีเดียว อย่างไรก็ดี พ่อไทยแลนด์และพ่อเพชรต่างขันแข็งในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวไทดำ และการตั้งถิ่นฐานของคนในบ้านหนองเน้นและบ้านสี่กั๊ก “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับการแจ้งให้ทราบว่า ลาวโซ่งนี่อยู่เวียดนาม อยากได้มาเป็นพลเมืองของตน พื้นที่กว้าง แต่ประชากรน้อย ไทดำนั้นอยู่เป็นอิสระไม่ได้อยู่ในความควบคุมเวียดนาม ไปทางโน้น ไม่มีล่าม ก็ใช้ภาษาใบ้ บอกว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ สมัยนั้นไม่มีรถลา ลูกเต้าใส่กระบุงตะกร้า ตกลง มาครั้งแรกร้อยกว่าคน มาบางกอกก็อยู่ไม่ได้ เพราะไทดำนั้นทำมาหากินบนเขา จนมาอยู่ที่ท่าแร้ง บ้านแหลม เพชรบุรี เลื่อนไปอีก ก็อยู่เขาวังเขาย้อยมีห้วยมีลำธาร อยู่ได้เหมือนบ้านเรา

ต่อมารัชกาลที่ 2 ที่ 3 ก็ส่งคนไปที่เก่าอีก ได้มาอีก เขาเลยตั้งไว้เป็นศูนย์กักกัน กำนันผู้ใหญ่บ้านไม่มี ลูกเกิดมาเป็นคนไทย เรียนหนังสือไทย ส่งส่วย ไม่ได้เสียภาษี ต่อมารัชกาลที่ 4 รับมาเยอะ ต่อมา ร.5 ปฏิรูปการปกครอง เรามีอิสระ ทำมาหากินที่ไหนก็ได้ ขึ้นเหนือไม่ลงใต้ เดินทางมายังนครปฐม สุพรรณบุรี ความจริงอยากกลับบ้านเก่า มีอิสระแล้ว พอถึงพิจิตร พิษณุโลก เห็นว่าอุดมสมบูรณ์ดี จึงทำมาหากินอยู่เมืองไทย

กลุ่มที่มาบ้านหนองเนิน มาจากเพชรบุรีทั้งนั้น ตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์ เป็นคำบอกเล่าแบบปากต่อปาก ผมไม่ได้เกิดตรงนี้ พ่อเกิดเพชรบุรี แล้วผมเกิดที่บางเลน นครปฐม ผมมาเมื่อ พ.ศ. 2494 มาที่หนองเนิน ปู่เจ้านี่ [ปู่ของลุงเพชร แซ่หุย] มาอยู่ก่อน ตาโอนยายเปรือ เพราะได้ยินว่าในเขตบึงบอระเพ็ด ข่าวลือ ‘เกล็ดปลาใส่ข้าวกินได้ เม็ดข้าวตกดินก็ได้กินแล้ว’ตอนแรกมาอยู่ในทุ่ง ต่อมาในฤดูฝน น้ำท่วมทุกปี จึงได้อพยพมาบนเนิน เรียกว่า ‘หนองเนิน’” ลุงไทยแลน์ เพชรต้อม เล่าประวัติของการย้ายครัวมาแต่บรรพชนได้เป็นอย่างดี ประวัติของบ้านหนองจึงมีที่มาเช่นนี้

ในส่วนการจัดแสดงภายในศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น การนำเสนอยังพอสะท้อนให้เห็นความตั้งใจของคนที่จัดการในเบื้องแรกอยู่บ้าง เนื้อหาจากการบอกเล่าของลุงทั้งสอง พอจะจับความสำคัญได้สองเรื่องสำคัญนั่นคือเรื่องพิธีกรรมงานศพ “นี่เตรียมตัวก่อนตาย [เครื่องประกอบในพิธีศพเพื่อบอกดวงวิญญาณผู้ตายกลับเมืองแถน]ผู้เฒ่าเตรียมก่อนตายไว้ล่วงหน้า ถ้าคนไม่เตรียม ก็หาซื้อ อันนี้เป็นผู้ชายขี่หงส์ เขยหรือหมอทำหน้าที่บอกทางให้ไปแถน มีเรือนอยู่ [จัดแสดงไว้ที่พื้นที่ปีกขวาของอาคาร] ไว้หลังหนึ่ง แต่ถ้าเป็นผู้หญิง จะเป็นรูปหัวปลี ส่วนนั่นเรียกว่าร่ม” ในส่วนของพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายพอแสดงให้เห็นความซับซ้อน และความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในครัวเรือนที่ต่างจะต้องทำหน้าที่ในการส่งผู้ตายกลับยังเมืองกำเนินของบรรพชน

อีกส่วนหนึ่งเป็นการกั้นพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 6 x4 เมตร มีไม้ไผ่ตีไว้เป็นแผงกั้น โดยลุงไทยแลนด์บอกว่านี่เป็นการจำลองการนับถือผีหรือที่เรียกว่า “กะล้อห่อง” (การถอดเสียงเป็นตามที่ผู้เขียนได้ยิน) “คนโซ่งนับถือผีเรือน กะล้อห่อง อันนี้เป็นปานเผื่อน (ลักษณะคล้ายถาดที่ทำจากไผ่สานตาห่างๆ ขนาดใหญ่ให้พอใส่ใส่อาหารเป็นแครื่องเซ่น) เวลา “เสน” หรือการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษจะมีหมู ผลไม้ หมอเซ่นเป็นผู้ประกอบพิธี” พ่อไทยแลนด์ได้ชี้ให้เห็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัวลักษณะคล้ายกับไม้รวกที่เหลาเป็นด้ามขนาดเล็กเท่าไม้ลูกชิ้น และที่ปลายของไม้จับมีเชือกห้อยผูกติดกับไม้ไผ้ที่ตัดเป็นแว่นขนาดเล็ก “นี่เรียกว่าไต้” เป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ชายในครอบครัว “ชายหนึ่งคน มีหนึ่งชุด มีสิบคน ก็มีสิบชุด ส่วนของผู้หญิงจะเรียก ‘หอหย้า’(ไม่มีตัวอย่างในศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น)”

จากนั้น ลุงไทยแลนด์อธิบายต่อเนื่องด้วยไว้การเสนหรือการเซ่นผีบรรพบุรุษไม่ได้ทำทุกปีขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละครอบครัว “ถึงเวลาจะต้องเสน เซ่นบรรพบุรุษ ผีเรือนแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน เป็นสิบ เป็นร้อยก็มี แล้วแต่พร้อม ทำทุกปีไม่ไหว เพราะใช้เงินเยอะ สองปีสามปี แล้วแต่พร้อม ต้องใช้เงินสามหมื่นขึ้นไป”

สิ่งที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนแม้การจัดแสดงในศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นจะไม่ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจมากนัก แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว หากฟังการถ่ายทอดความรู้ที่ผู้รู้ทั้งสามพยายามบอกเล่ากับคนนอกอย่างผู้เขียน นั่นคือความภาคภูมิใจวัฒนธรรมของกลุ่มลูกหลานไทดำ วัฒนธรรมไทดำคงแตกต่างไม่น้อยเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมเมื่อครั้นที่บรรพบุรุษจากเมืองแถนมาตั้งรกรากในไทย แต่วันนี้คนเชื้อสายไทดำยังคงมีความพยายามต่างๆ นานา เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตน.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-