พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ


ที่อยู่:
หมู่ 1 บ้านมอญ ต.บ้านแก่ง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทรศัพท์:
093 221 5522, ติดต่อนายรุ่งโรจน์ เลี้ยงสุข,ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ, ขั้นตอนในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ

“เขาเล่ากันว่าชาวมอญล่องขึ้นมาทางเหนือ แล้วมาแวะพักหุงหาอาหาร จากนี่ไปประมาณ 200 กว่าเมตร เป็นแม่น้ำปิง พอจากริมน้ำเป็นบึง เป็นแหล่งดินเหนียวมีคุณภาพ บางส่วนตั้งรกรากอยู่ที่นี่ สายตระกูลเรืองบุญ แก้วสุทธิ ช่างปั้น เลี้ยงสุข เป็นสี่ตระกูลแรกที่มาตั้งรกรากกันอยู่ที่นี่ สมัยนี้มีเป็นร้อยๆ ครอบครัว
...แต่เดิมเราปั้นโอ่งใส่น้ำเป็นหลัก และพวกหม้อหุงข้าวที่เป็นหม้อดิน อ่างรองข้าว กระปุกดับถ่าน หวดนึ่งข้าวเหนียว พอมีหม้ออะลูมิเนียม หม้อดินหายไป หม้อหุงข้าวไฟฟ้าก็มาแทนหม้อหุงข้าวหม้อดิน ไม่ต้องมาเช็ดมาดข้าว ส่วนเดี๋ยวนี้ผลิตโองในการประดับส่วนใหญ่ ไม่ได้ใส่น้ำจริงๆ และกระถางต้นไม้” 
 
ผู้ใหญ่รุ่งโรจน์ เลี้ยงสุข ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ และเป็นผู้มีส่วนในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาพร้อมๆ กับชาวชุมชน เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนบ้านมอญอย่างย่นย่อ เพื่อแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างมอญทางจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดนครสวรรค์ แม้ในปัจจุบันจะไม่มีชาวบ้านที่พูดภาษามอญได้ แต่ความรู้สึกของความเป็นมอญยังคงแสดงออกผ่านงานช่างเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน

“ผมเองเป็นช่างปั้น เติบโตมาจากตรงนี้ ช่วงประมาณ 2527 2528 ช่วงเปลี่ยนถ่าย เพราะเมื่อก่อน เวลาจะเตรียมดินสำหรับการปั้น จะต้องอาศัยการขนดินเอาเกวียนหาบ เอาควายย่ำ ขนกะเป๋งน้ำ ...แต่ก่อนปั้นแต่โอง ก็ขายได้ จนมีคนจากปากเกร็ดมาจ้างให้ปั้นกระถางเจาะรู ช่วงที่บอนว่านดัง กระถางก็ขายได้ เฟื่องฟ้าดัง จึงเปลี่ยนจากการปั้นเครื่องใช้ในครัวเรือน มาปั้นกระถาง

แต่ก่อนช่างปั้นต้องเตรียมดิน ผลิตและขาย แต่เดี๋ยวนี้ ช่างปั้นก็ปั้นไป คนขายก็เอาไปขาย หรือบางคนก็ส่งเองแถบนี้ บางคนไม่มีโรงผลิต ก็รับเอาไปขายแล้วเอาฟืนกลับมาขาย ตอนนี้เราได้เศษไม้จากโรงเลื้อย ไม้ค้ำจากการก่อสร้างที่หมดอายุ ไม้จากร้านผักชีที่หมดสภาพ เขาเราเป็นเตาช้าง”

เรื่องราวที่ผู้ใหญ่รุ่งโรจน์เล่าอย่างกระชับแสดงให้เห็นการเปลี่ยนรูปแบบของการผลิตชิ้นงานและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะเมื่อไฟฟ้าเข้ามาสู่หมู่บ้าน การทำงานโดยอาศัยเครื่องตีดินเข้ามาแทนที่การผลิตแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานสัตว์เลี้ยงและแรงงานคน และเมื่อถนนหนทางเชื่อมต่อหมู่บ้านเข้ากับส่วนอื่นๆ ของประเทศ การค้าอาศัยการคมนาคมทางบกแทนที่การคมนาคมทางน้ำอย่างคนรุ่นปู่ย่า เมื่อผู้เขียนสอบถามถึงพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ ผู้ใหญ่ให้คำตอบดังนี้

“เมื่อก่อนบริเวณแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งของสหกรณ์ แต่ที่ดินกลับถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ทิ้งไว้นานมาก แล้วเราขอสหกรณ์ มาปรับปรุงเริ่มต้นสร้างกันเมื่อประมาณปี 2548 เพราะว่าช่วงนั้นก่อตั้งรวบรวมเครื่องปั้นดินเผาและช่างปั้นอีกครั้ง ตั้งแต่สมัยผู้ใหญ่ชาติ ตอนนั้น ผมยังเป็น อบต. ความตั้งใจคือการสร้างเป็นกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา ทางพัฒนาชุมชนจังหวัดมีส่วนเข้ามาสนับสนุน

จากการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าว ทางจังหวัดเสนอให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ แล้วมีการพัฒนาโครงสร้างขึ้นใหม่บางส่วน ทางจังหวัดให้เงินมาสร้างอาคารเพิ่มเติม อาคารใหม่เป็นงบฯ ของพัฒนาจังหวัด และมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ อาคารเก่าจริงๆ ที่เคยอยู่ตรงนี้ [บริเวณที่นั่งสนทนากับผู้ใหญ่รุ่งโรจน์]เราย้ายไปไว้ด้านใน อาคารยกได้ประมาณห้าหกสิบคน”

ภายในอาคารในช่วงเวลานั้นมีการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา โอ่งใส่น้ำ อ่างล้างเท้า กระปุกดับถ่าน ฮวดนึ่งขาวเหนียว และบอกเล่าขั้นตอนต่างๆ ในการสร้างชิ้นงาน เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นและเข้าใจความสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาที่สะท้อนความเป็นบ้านมอญ จังหวัดนครสวรรค์ อย่างไรก็ดี สภาพที่ผู้เขียนในได้ในขณะที่เข้าเยี่ยมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญกลับแตกต่างไปจากภาพที่ผู้ใหญ่รุ่งโรจน์เท้าความ

“เมื่อน้ำท่วมเมื่อปี 53-54 จากนิทรรศการที่แต่เดิมมีการเขียนป้ายบอกเอาไว้ว่า อายุของเครื่องปั้นดินเผาประมาณกี่ปี ในตอนนั้นทางอำเภอ,จังหวัด และครูบาอาจารย์มาช่วยกันตามสมควร แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมสองปีซ้อนน้ำท่วม ข้าวของนั้นลอยน้ำและกระจัดกระจาย จากเหตุการณ์ในตอนนั้น ยังไม่ได้มีการปรับปรุงนิทรรศการขึ้นใหม่ และได้เพียงแต่จัดเก็บวัสดุต่างๆ จากน้ำท่วมรวมๆ กันไว้” ผู้ใหญ่รุ่งโรจน์บอกเล่าถึงสาเหตุของสภาพที่ผู้เขียนเห็นในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญในตอนนี้ประกอบด้วยอาณาบริเวณ 4 ส่วนด้วยกัน บริเวณด้านหน้าจะเห็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ที่มีการใช้กระถางใบเล็กๆ จำนวนมาก ซ้อนและดัดแปลรูปร่างให้เป็นซุ้มประตูและสัญลักษณ์อยู่ที่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ จากนั้น เมื่อเดินเข้าสู่ชั้นใน ทางขวามือจะโรงเรือนที่เปิดโล่ง แสดงให้เห็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีขนาดใหญ่ ใช้ในการต้อนรับผู้ที่มาเยือน ส่วนตรงกลางลานเป็นบริเวณที่ขนถ่ายวัสดที่ใช้ในการผลิตเครื่องปั้นหรือขนถ่ายสินค้าที่เป็นของกลุ่ม

ในส่วนที่สามเป็นโรงช่างปั้นที่ผลิตชิ้นงานอยู่หน้าอาคารที่เคยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ภายในอาคารในปัจจุบัน กลายเป็นบริเวณสำหรับการจัดวางเครื่องปั้นดินเผา เพื่อให้ดินพักตัวและรอสำหรับการเผาในเตา ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านหลังของอาคารพิพิธภัณฑ์ เมื่อเดินต่อไปยังส่วนที่สอง ผู้เขียนสังเกตเห็นเค้ารางของนิทรรศการที่ผู้ใหญ่รุ่งโรจน์ที่เล่าให้ฟัง แต่ภาพที่เห็นเป็นของจำนวนมากที่วางซ้อนกัน และไม่สามารถเข้าสู่บริเวณของการจัดแสดงได้ นอกจากนี้ ยังมีชิ้นงานที่รอการเผาอีกหลายสิบชิ้นวางอยู่กับพื้น

ในส่วนสุดท้ายเป็นเตาเผา ชิ้นงานที่ไม่สมบูรณ์ แตกจาก “การระเบิด” ของดินที่สุกไม่เท่ากัน วางระเกะระกะอยู่ที่พื้นที่ และชิ้นงานที่สมบูรณ์ที่เป็นจำนวนมากที่รอการขนส่งต่อไปยังตลาด ในวันนี้ หากใครมาเยือนพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ อาจไม่ได้ชมนิทรรศการที่มีเนื้อหาสมบูรณ์สวยงาม แต่หากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว การได้เยี่ยมชมการทำงานของกลุ่มที่รวมตัวในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา กลับทำให้ได้เรียนรู้ขั้นตอนการผลิต “ที่มีชีวิต”

ในบริเวณใกล้เคียงพิพิธภัณฑ์ ยังมีร้านค้าและบ้านของช่างปั้นอีกจำนวนไม่น้อยที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผา และพร้อมที่ให้ผู้มาเยือนได้เข้าไปเลือกซื้อสินค้า เยี่ยมชมสถานที่ โดยจะต้องขออนุญาตจากผู้ที่เป็นเจ้าของสถานที่ สำหรับผู้เขียนแล้ว ชุมชนบ้านมอญกลับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและน่าสนใจสำหรับผู้คนที่พิสมัย หรือเรียกได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เกี่ยวกับงานช่างที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน อย่างบ้านมอญ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์อย่างแน่แท้.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-