อาคารแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี โรงเรียนบ้านไร่ประชาสรรค์


ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านไร่ประชาสรรค์ ตำบลโพธิ์ประสาท อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ 60220
โทรศัพท์:
ติดต่ออาจารย์ณรงค์ศักดิ์ สนิทม่วง โทร. 087-8488468
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน เวลา 8.30 – 16.30 น. (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของอาคารแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี โรงเรียนบ้านไร่ประชาสรรค์

พื้นที่ในอำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ที่เคยมีการสำรวจทางโบราณคดีเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว พบว่า มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีตั้งแต่ช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี พบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญมากมาย เช่นภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ ที่มีรูปแบบร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ภาคกลาง ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และโบราณวัตถุในสมัยทวารวดี เป็นต้น
 
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ณรงค์ สนิทม่วง อาจารย์ประจำโรงเรียนบ้านไร่ประชาสรรค์ ผู้มีความสนใจศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในพื้นที่ จึงทำการรวบรวมและสะสมโบราณวัตถุประเภทต่างๆ ซึ่งพบในพื้นที่อำเภอไพศาลีไว้ และนำมาจัดเก็บในห้องเรียนในอาคารของโรงเรียน จากนั้นช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 จึงได้รับงบประมาณจากทางจังหวัดนำมาสร้างอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุ โดยตั้งชื่อว่า “อาคารแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี” และมีแผนในการย้ายวัตถุมาจัดแสดงในอาคารหลังใหม่ เพื่อเปิดให้ชาวบ้านเข้าชมได้ง่ายขึ้น
 
อาคารแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เป็นอาคารชั้นเดียว ขนาดใหญ่ ภายในแบ่งเป็นห้องจัดแสดง 2 ห้อง ห้องคลังจัดเก็บโบราณวัตถุ 1 ห้อง ซึ่งในระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2554 คณาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เข้าไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นภายใต้โครงการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดทำพิพิธภัณฑสถาน “การอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์เบื้องต้นสำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและบุคคลทั่วไป ณ โรงเรียนบ้านไร่ประชาสรรค์ ตำบลโพธิ์ประสาท อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์”
 
การอบรมในครั้งนั้นนอกจากเป็นการให้ความรู้ในเรื่องโบราณวัตถุที่พบบริเวณพื้นที่ภาคกลาง และการทำความสะอาด การอนุรักษ์ การทำทะเบียนโบราณวัตถุแล้ว ยังมีการนำโบราณวัตถุจากอาคารเก่ามาจัดแสดงในอาคารหลังใหม่อีกด้วย โดยห้องจัดแสดงห้องแรกจัดแสดงวัตถุประเภทภาชนะดินเผา เครื่องประดับที่ผลิตจากหิน แก้ว และกระดูกสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตจากหินและดินเผา ส่วนห้องจัดแสดงที่ 2 จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตจากโลหะ แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังไม่มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้เปิดให้นักเรียนในโรงรียน  ชาวบ้านในท้องถิ่นและจากต่างถิ่น เข้ามาชมได้แล้ว ซึ่งเมื่อมีการปรับปรุงเรื่องราวในการจัดแสดงเพิ่มมากขึ้น ทางโรงเรียนก็จะได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการต่อไป
 
นอกจากอาคารหลังนี้จะเป็นอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุแล้ว ยังมีการใช้การจัดแสดงโบราณวัตถุ และนิทรรศการภายในเป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในโรงเรียน ช่วยสร้างความสนุกสนานและความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้อีกด้วย 
 
อย่างไรก็ตาม ชื่ออาคารแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ก็เป็นชื่อที่เฉพาะเจาะจงเรื่องยุคสมัยมากเกินไป เพราะวัตถุที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์นั้นมีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งทางโรงเรียนก็จะได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อีกทั้ง เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในพื้นที่แห่งนี้ยังไม่สมบูรณ์นัก เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โดยอาจารย์ณรงค์ศักดิ์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ได้วางแผนขอความร่วมมือจากทางภาควิชาโบราณคดีเพื่อดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีและนำข้อมูลมาพัฒนาพิพิธภัณฑ์ต่อไป
 
ผุสดี  รอดเจริญ เขียน/ถ่ายภาพ
ชื่อผู้แต่ง:
-