ที่อยู่:
หน้าโรงเรียนเกาะแก้ว หมู่ที่ 2 ตำบลบ้างแก่ง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000
โทรศัพท์:
086 205 6664 นายเฉลิม ทองแพง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
เครื่องจักสาน เรือนไทดำจำลอง เครื่องทำกิน ประเพณีการฉลองประจำปีวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านวังหยวก
“...มีหลายหน่วยงานได้ใช้ประโยชน์ศูนย์วัฒนธรรมไทดำร่วมกัน ส่วนมากมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ขอชมที่อยากดูว่า เกียรติประวัติไทยทรงดำของเรา มีวัดบ้าง โรงเรียนบ้าง อยากให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการจักสาน การแต่งกายไทดำของเด็กนักเรียนมีเฉพาะเด็กเล็กหนึ่งวันต่อสัปดาห์”ผู้ใหญ่เฉลิม ทองแพง เล่าถึงความตั้งใจในการสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านวังหยวก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ “ผมได้เป็นผู้ใหญ่บ้านวันที่ 10 ตุลาคม 2553 แต่งบประมาณได้มาจริงๆ ในปี 2554 วัฒนธรรมจังหวัดจัดสร้างโดยออกแบบเหมือนสีกักหนองเนิน เริ่มตั้งแต่ 2554 ใช้เวลา 5-6 เดือน ...ส่วนนิทรรศการในอาคาร เป็นส่วนที่ อบต. บ้านแก่งโดยท่านนายก นายพิทักษ์ ตั้งแต่ง เป็นผู้ดูแลในการจัดนิทรรศการการจัดรูปแบบ อบต. บ้านแก่ง ในขณะที่เครื่องจักสานเป็นของหมู่บ้านเราเอง”
ผู้ใหญ่ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการใช้ประโยชน์ของศูนย์วัฒนธรรมฯ นอกจากสำหรับการเผยแพร่ความรู้และวัฒนธรรมเกี่ยวกับชาวไทดำแล้ว โรงเรียนยังได้ใช้ประโยชน์ เช่นในกรณีของช่วงฤดูร้อน เด็กๆ จะได้เข้ามาอาศัยเครื่องปรับอากาศในการเรียนการสอนสำหรับช่วงเวลาที่มีอากาศร้อน หรือเป็นสถานที่สำหรับการจัดประชุมของหมู่บ้าน และหน่วยงานจากภายนอกสามารถใช้ในการประชุมด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยรัฐบาล ทางตำรวจ “ไม่ใช่เฉพาะศูนย์วัฒนธรรมเท่านั้น ทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกัน” ผู้ใหญ่เฉลิมกล่าวย้ำ
การนำเสนอภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมไทดำ บ้านวังหยวกประกอบด้วยการนำเสนอใน 2 ลักษณะ หนึ่ง บ้านไทดำ ซึ่งเป็นบ้านที่มีทรงหลังคาครอบหรือที่มักจะเรียกว่าทรงกระดองเตา โดยมีการปรับเปลี่ยนเสาไม้ให้เป็นเสาปูนเพื่อเสริมความแข็งแรงและลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา การก่อสร้างอาศัยช่างก่อสร้างในหมู่บ้าน เป้าหมายสำคัญคือ
“ต้องการแสดงให้เห็นวิถีชีวิต บนเรือนเป็นไม้กระดานธรรมดา ประกอบด้วยห้องนอน ห้องผีที่เราไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่าเป็นการอยู่ง่ายๆ บ้านเป็นโล่งๆ ตอนสร้างเรือนไทดำนี้ มีการขึ้นบ้านใหม่และการไหว้บรรพบุรุษ
...เพิ่งเปลี่ยนหลังคาไปเมื่อปีใหม่ งบประมาณสองหมื่น โดยใช้งบฯ ของศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งเหลือจากการจัดงานประจำปี ส่วนที่เห็นภาษาไทดำ เคยมีความพยายามในการสอนภาษาไทดำ เรายังให้เด็กมาเรียนตัวหนังสือ แต่ไม่เป็นผลนัก”
ส่วนที่สองในอาคารศูนย์วัฒนธรรมไทดำ จัดแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน บริเวณที่เล่าถึงประวัติความเป็นมาและลักษณะสำคัญของไทดำ ประกอบด้วย ประวัติ การแต่งกายชาวไทยทรงดำ เรือนไทยทรงดำสมัยก่อน การละเล่น “เพื่อให้ลูกหลานได้ดู” เป็นประโยคที่ผู้ใหญ่เฉลิมกล่าวซ้ำๆ ในขณะที่พาผู้เขียนเยี่ยมชมบริเวณต่างๆ ส่วนประกอบส่วนที่สอง เป็นการจัดแสดงเครื่องจักสานโดยการแสดงการระดมวัตถุและขอบริจาคจากชาวบ้าน ให้นำข้าวของเครื่องใช้ “ใช้การประกาศหอกระจายข่าว”
เมื่อสอบถามว่าเหตุใดเครื่องจักสานจึงมีความสำคัญกับการบอกเล่าเรื่องราวของชาวไทดำ ผู้ใหญ่เฉลิมกล่าวว่า “เด็กๆ สอบถามว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เรียกอะไร อย่างลอบ อย่างอีแอบ จากนั้นมีการเขียนป้ายเพื่อให้เด็กๆ ที่อ่านหนังสือได้ นอกจากนี้ วัตถุบางส่วนมาจากการจัดเก็บจัดหา แต่ยังคงมีอีกบางส่วนที่ยังไม่ได้รวบรวมเข้ามาในนี้”
กะเหล็บเป็นวัตถุที่ผู้ใหญ่เฉลิมแสดงลักษณะการจักสารที่มีประณีตและขนาดใหญ่ เป็นเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะใส่เสื้อผ้า “เวลาชาวบ้านจะย้ายบ้าน จะวางกะเหล็บไว้บนหลังวัวหลังควาย เอาใส่เสื้อผ้า ส่วนสิ่งนี้เรียกว่ากะหลอมใส่ของกับข้าว ห่อข้าวห่อปลา ใส่ตังค์ ใส่เงิน” ผู้ใหญ่เล่าเรื่องราวได้อย่างมีชีวิตชีวา แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าในปัจจุบัน ไม่มีคนที่สานเครื่องใช้ต่างๆ เหล่านี้ได้อีกแล้ว เพราะไม่ได้เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอีกต่อไป
กิจกรรมสำคัญที่ผู้ใหญ่เฉลิม ทองแพง กล่าวไว้ในช่วงสุดท้ายของการเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านวังหยวกคือ งานประจำปีที่จัดขึ้นในวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี ผู้ใหญ่อธิบายไว้ว่าก่อนที่จะมีการรวมตัวอย่างเป็นทางการ
“การรวมตัวไม่ได้ยิ่งใหญ่ เป็นการรวมตัวด้วยการบอกกล่าว ว่าให้มางานบ้านนั้นบ้านนี้ แต่เมื่อมีการพัฒนาเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทดำที่วัดเกาะแก้วนี้ ทำให้มีการส่งเสริมการจัดงานที่ใหญ่โต มีการประกาศทางเอฟเอ็ม มีการสื่อสารในระดับจังหวัด ตอนนี้ในการจัดงานมีการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง ปีหนึ่งให้งบประมาณ 65,000 บาท จังหวัดมอบให้หนึ่งแสนบาทถ้วน ทั้งหมด 165,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวนำมาใช้จัดงานในแต่ละปี บางปีอาจได้งบฯ น้อยบ้าง แต่เงินที่เหลือจากการจัดงานจะเก็บไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์วัฒนธรรมฯ ดังเช่นค่าน้ำค่าไฟฟ้า”
ผู้ใหญ่เฉลิม ทองแพงแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและเนื้อหาในการนำเสนอวัฒนธรรมไทดำไว้อย่างน่าสนใจ และคงเป็นโอกาสที่ลูกหลานของหมู่บ้านจะได้สัมผัสกับอดีตที่หลงเหลือกลิ่นอายผ่านวัตถุข้าวของ แม้จะเป็นศูนย์วัฒนธรรมฯ ขนาดเล็ก แต่ก็เต็มไปด้วยความตั้งใจของคนทำงานและชาวชุมชนที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรม.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมือวันที่ 25 ตุลาคม 2559
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องจักสาน ไทดำ
พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเฮง
จ. นครสวรรค์
หอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
จ. นครสวรรค์
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดหนองกลับ
จ. นครสวรรค์