ศูนย์อนุรักษ์ไทดำบ้านเนินสำราญ (รางระกำ)


ที่อยู่:
วัดเนินสำราญ บ้านเนินสำราญ ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
โทรศัพท์:
089 933 7885
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
เรือนไทดำ, งานประเพณีประจำปีชาวไทดำ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 04 มกราคม 2560

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์อนุรักษ์ไทดำบ้านเนินสำราญ (รางระกำ)

“บ้านเรามีสามกลุ่ม บ้านเราอยู่ทางนี้ รางระกำ ที่หมู่รางระกำเป็นไทดำทั้งนั้น ต่อไป หัวพวงน้อย หัวพวงน้อยเป็นลาวพวน และเนินสำราญเป็นไทยแท้ ทางฝั่งตะวันตกเป็นเนินสำราญ ส่วนทางตะวันออกเป็นรางระกำ และที่ต่อไปด้านนั้นหัวพวงน้อย” ลุงจริน สุขสม สมาชิกบ้านรางระกำอธิบายถึงความหลากหลายของคนในบ้านเนินสำราญ ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการ แต่สำหรับชาวไทดำที่มีอยู่ราวสามสิบหลังคาเรือนจะทราบดีว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านรางระกำ โดยอาศัยคลองที่ได้รับน้ำจากบึงบอระเพ็ดมาใช้เพื่อเกษตรกรรมของคนในหมู่บ้าน “คลองตะโก คลองรางระกำ คลองเนินสำราญ เป็นคลองเดียวกัน” ในแต่ละปีอาศัยน้ำจากทำนบที่เก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเพื่อทำการเกษตรเมื่อถึงฤดูกาล

ป้านารี ม่วงสาร ประธานชมรมไทดำบ้านเนินสำราญกล่าวถึงการย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากของชาวไทดำที่มากันหลายระลอก “เราย้ายมาจากบ้านลาด เพชรบุรี โตแล้วถึงย้ายมา มาได้ครอบครัวที่นี่ มีลูกหลาน เรียกได้ว่าขายแพงมาซื้อถูก ที่โน้นที่ดินมีน้อยราคาแพง มาเห็นที่นี่ แล้วทำมาหากินได้ ก็ตามกันมา” สำหรับการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการเพื่อตั้งเป็นชมรมไทดำบ้านเนินสำราญ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2553 โดยได้รับการชักชวนจากสมาชิกชมรมไทดำภาคเหนือที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านั้น

ในปีถัดมา ชมรมไทดำบ้านเนินสำราญเห็นพ้องกันในการสร้างเรือนไทดำ จากการได้มีโอกาสได้ช่วยงานในพื้นที่อื่นๆ “ในการสร้างบ้าน เกิดจากการระดมทุนกันหลายรอ ในครั้งแรกก็ตกครัวเรือนละพัน แต่ไม่เพียงพอที่จะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ จากนั้น เก็บกันเพิ่มอีกคนละ 500 บาท และอีกหลายครั้ง กว่าจะทำให้บ้านเสร็จ” ป้านารีอธิบาย ลุงจรินกล่าวสำทับด้วยว่า “เราไม่ได้เงินจากที่อื่นเลย เราทำกันเอง”

การก่อสร้างตกลงใช้ปูนเป็นส่วนล่างของเสาเรือนตั้งแต่เริ่มแรกส่วนต่อเป็นไม้เนื้อแข็งที่ได้จากการบริจาคด พื้นเรือนทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นกัน “เราทำตามสภาพปัจจุบัน ตอนนั้น จำนำข้าวได้ เงินพันไม่เยอะ เพราะจำนำข้าวได้ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์” การร่วมแรงร่วมใจในการสร้างเรือนไทดำจำลองที่มีหลังคาคลุมเรือน เป็นเรือนใต้ถุนสูงตามแบบที่รับรู้ร่วมกันของสมาชิกชาวไทดำ “เรือนนั้นจะหันทางทิศตะวันออก-ตะวันตก หรือทิศเหนือ-ใต้ นั่นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ แต่สำหรับหลังที่เป็นเรือนจำลองนี้หันทางทิศตะวันออก-ตะวันตก” ลุงจรินให้คำอธิบายถึงการสร้างเรือนดังกล่าว

สมาชิกต่างๆ ได้ร่วมกันช่วยทุบเปลือกไม้ยูคาลิปตัสและจ้างช่างไม้ให้มาเลื่อยไม้ไว้เป็นแผ่นสำหรับประกอบเป็นพื้นเรือน การตั้งเสาเอกเสาโทก็ทำตามพิธีกรรมที่ปฏิบัติในการปลูกเรือน “แม้เรือนหลังนี้จะไม่มีการกั้นเป็นกะล้อห่องหรือห้องผี แต่เสาที่เป็นตัวแทนก็ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเรือน” ทั้งป้านารี ลุงจริน และป้ามณีในฐานะรองประธานชมรมฯ ยังให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำขวัญเรือนที่มีการเซ่นผีบรรพบุรุษ โดยมีหมอเสนสองคนที่ทำให้แตกต่างกัน คนหนึ่งจะเดินเวียนพร้อมกับสมาชิกของหมู่บ้านรอบเรือน พร้อมสิ่งของต่างๆ เหมือนการย้านเข้าบ้านใหม่ และหมออีกคนหนึ่งจะยืนอยู่ที่บันไดทางขึ้นเรือน เพื่อสนทนาให้หมอคนแรกกล่าวถามว่าเรือนนี้เป็นของใครและอวยพรให้สิ่งดีนั้นเกิดขึ้นกับเรือนและผู้มาเยือน

ลุงจรินได้กล่าวถึงบทบาทของเรือนที่เป็นเสมือนกับสถานที่ชุมนุมของสมาชิกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การรับเบี้ยผู้สูงอายุ การเข้าประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การประกวดตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ต่างกรรมต่างวาระ แต่มีเรือนไทดำจำลองแห่งนี้เป็นเสาหลักให้กับความเป็นปึกแผ่นและความร่วมมือระหว่างสมาชิกในชุมชนบ้านเนินสำราญ

เมื่อเดินขึ้นเรือน ผู้เขียนต้องแปลกใจ เพราะแม้ผู้เขียนมีโอกาสเยี่ยมเยือนศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำหรือพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับไทยทรงดำและลาวโซ่งมาแล้วหลายแห่ง แต่เรือนหลังนี้ก็แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่มีการตีแฟกเพื่อทำเป็นผนังของเรือน ไม่มีการจัดแสดงที่มีก้อนเสาเตาไฟเพื่อบอกเล่าถึงครัวไฟและความเป็นอยู่ ไม่มีการกั้นส่วนที่เป็นชานเรือน เรือนหลัง และชานหลังเรือน สมกับที่ลุงป้าให้คำอธิบายไว้แล้วในเบื้องต้นว่า เรือนไทดำจำลองหลังนี้ทำกันขึ้นเอง “ทะเลาะกันไปก็หลายครั้ง” เพราะต่างใช้ความทรงจำในการสร้างเรือนให้แสดงความเป็นตัวตนคนไทดำบ้านเนินสำราญ

ส่วนการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไทดำเป็นเพียงการนำเสนอด้วยบอร์ดที่ทำขึ้นจากฟีเจอร์บอร์ดอย่างง่ายๆ ประกอบด้วยความเป็นมาของไทดำ ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีเกี่ยวกับพิธีศพ บุคคลและกิจกรรมของหมู่บ้านเนินสำราญ ตัวอย่างอักษรไทดำ บอร์ดต่างๆ ได้รับการติดไว้ตามเสาต่างๆ แต่เห็นจะไม่ใช่สาระหลักๆ ของการนำเสนอมากกว่าเรื่องราวที่ลุงป้าถ่ายทอดเกี่ยวกับการสร้างเรือนจากน้ำพักน้ำแรงของสมาชิกรางระกำ

กิจกรรมประจำปีที่เป็นการ “เอาแรง” เคยจัดขึ้นแล้วที่ศูนย์อนุรักษ์ไทดำแห่งนี้เป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยจัดงานเมื่อสร้างเรือนไทดำแล้วเสร็จเป็นการฉลองและประเพณีการรวมตัวกัน เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554 และงานที่จัดเวียนกันกับอีกสองหมู่บ้านในอำเภอท่าตะโก ที่จัดเมื่อ พ.ศ. 2558 นอกจากบ้านเนินสำราญแล้ว ยังมีหมู่บ้านของคนไทดำในอำเภอเดียวกันนี้อีกที่บ้านวังรอและบ้านขนดู่ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานในปี 60 หากยังคงมีการจัดงาน

ส่วนการเดินทางไปฉลองยังบ้านของชาวไทดำในตำบลอื่นๆ เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เมื่อเริ่มเข้าชมรมดังที่ได้กล่าวไว้แล้วเบื้องต้น ลุงจริน สุขสม กล่าวไว้เป็นตัวอย่างถึงการเดินทางไปประชุมสามหรือสี่เดือนครั้งในระหว่างสมาชิกชมรมไทดำภาคเหนือ “ผมภูมิใจของผม ในชมรมไทดำภาคเหนือ มีการจัดประชุมทุกสามเดือน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเดินทางไปประชุมยังจังหวัดพิษณุโลก แล้วแวะปั๊มระหว่างทาง มีคนมาทักทายว่า ‘แต่งตัวอย่างนี้ เขาเรียกว่าอะไร?’มีคนสนใจเรา ‘ผมเป็นไทดำ’”

ป้านารียังกล่าวถึงการเดินทางไปร่วมงานเมื่อจังหวัดนครสวรรค์จัดงานในงานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ และการจัดงานที่อำเภอศรีเทพ เพชรบูรณ์  หากได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานทั้งในพื้นที่นครสวรรค์หรือต่างถิ่น ก็เป็นได้ภูมิใจกับการใส่เครื่องแต่งกายที่สะท้อนอัตลักษณ์ไทดำ ไม่ต่างจากเรือนไทดำที่เป็นตัวแทนบรรพบุรุษของคนไทดำ

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-